คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปริญญา ดีผดุง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 328 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1577/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้อง ศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจได้หากไม่ทำให้คู่ความเสียหาย
แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่า จำเลยที่ 5 ยังมิได้รับสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของผู้ร้อง โดยผู้ร้องมิได้ส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 แต่เมื่อไม่มีกฎหมายกำหนดหน้าที่ให้ผู้ร้องต้องนำส่งสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่คู่ความ ทั้งศาลก็มิได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องมีหน้าที่นำส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยทั้งหก การที่ผู้ร้องมิได้ส่งสำเนาคำร้องดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องเพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลเห็นสมควรกำหนด ถือไม่ได้ว่าผู้ร้องทิ้งคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
การที่จำเลยที่ 5 ร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยอ้างว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตโดยมิได้ไต่สวนก่อนอันเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้น จำเลยที่ 5 ต้องยกขึ้นคัดค้านหรือโต้แย้งภายใน 8 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 5 ได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 27 ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 5 ได้รับสำเนาทราบคำสั่งและสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยวิธีปิดหมายและสำเนาคำร้องเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2545 จำเลยที่ 5 เพิ่งมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 ล่วงเลยเวลามากว่า 7 ปีแล้ว ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 5 ในส่วนนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามพิพากษาแทนบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยยังไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องให้จำเลยที่ 5 และมิได้ไต่สวนคำร้องก่อนเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่ชอบที่สมควรเพิกถอนหรือไม่ เห็นว่า ตาม พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 มาตรา 41 นั้น เห็นได้ว่า แม้การที่ผู้ร้องจะเข้าสวมสิทธิดังกล่าวได้ จะต้องได้ความว่าผู้ร้องได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันได้แก่สิทธิเรียกร้องของสถาบันการเงินหรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่มีต่อลูกหนี้แล้ว แต่เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาคำร้องซึ่งประกอบด้วยสำเนาเอกสารแสดงการ โอนและรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพแนบมาท้ายคำร้อง ก็ถือว่าสามารถกระทำได้โดยไม่ต้องไต่สวนพยานหลักฐานอื่นอีก เพียงแต่การที่ยังไม่ได้ส่งสำเนาคำร้องแก่จำเลยที่ 5 เพื่อให้มีโอกาสคัดค้านก่อนเท่านั้นที่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ถูกต้องอันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ แต่การที่ศาลจะมีคำสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบหรือไม่ย่อมต้องพิจารณาว่าเรื่องที่ผิดระเบียบนั้นทำให้คู่ความฝ่ายใดต้องเสียหายหรือไม่ประกอบด้วย หากไม่เป็นเหตุให้คู่ความฝ่ายใดเสียหายหรือเสียความเป็นธรรม และการเพิกถอนกระบวนพิจารณานั้นไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจไม่เพิกถอนได้ตามที่เห็นสมควร คดีนี้ปรากฏว่า ทนายจำเลยที่ 5 ยื่นขอสำเนาคำร้องขอสวมสิทธิของผู้ร้องตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน 2552 เจ้าหน้าที่ศาลถ่ายสำเนาให้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2552 ต่อมาวันที่ 21 กันยายน 2552 ทนายจำเลยที่ 5 ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา เมื่อศาลมีคำสั่งยกคำร้องวันที่ 23 กันยายน 2552 แล้ว จำเลยที่ 5 ก็ยื่นอุทธรณ์คำสั่งเมื่อ วันที่ 22 ตุลาคม 2552 ตลอดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยที่ 5 มีโอกาสทราบเนื้อหาคำร้องของผู้ร้องและคำสั่งศาลแล้ว แต่ก็ไม่เคยโต้แย้งคัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพอันได้แก่สิทธิเรียกร้องต่อจำเลยคดีนี้แต่อย่างใด ทั้งยังปรากฏว่าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 5 ร่วมชำระหนี้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 5 มีหน้าที่ชำระหนี้ดังกล่าว แม้ต่อมา บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแทนโจทก์เดิม และผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอีกต่อหนึ่งก็ตาม จำเลยที่ 5 ก็ยังมีหน้าที่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาและอาจถูกบังคับคดีได้เช่นเดิม หากมีข้อโต้แย้งในการบังคับคดีต่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาอย่างใดก็ยังมีสิทธิอยู่เช่นเดิม ไม่ปรากฏเหตุที่จะทำให้จำเลยที่ 5 ต้องเสียหายในอันที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ และไม่มีเหตุอื่นใดอันสมควรเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนี้ ซึ่งนอกจากจะไม่เป็นประโยชน์แล้วยังเป็นเหตุให้เกิดการล่าช้าเป็นประโยชน์ต่อการประวิงคดีสืบต่อไปอีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ 5 นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายจากการทำละเมิดจำกัดเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิที่กฎหมายคุ้มครอง การดำเนินคดีอาญาไม่ใช่ละเมิด
ค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกจากจำเลยผู้ทำละเมิดได้ตามกฎหมายเป็นความเสียหายดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 420 เท่านั้น โดยเฉพาะความเสียหายต่อสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งนั้น หมายถึงสิทธิที่กฎหมายรับรองคุ้มครองให้ถูกทำให้เสียหาย และจำเลยจะต้องทำให้สิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดที่โจทก์มีอยู่เสียหายไป การที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงาน แสดงว่าโจทก์มีความประสงค์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษทางอาญา ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีอาญาและค่าจ้างว่าความของทนายความที่โจทก์จ่ายไปเกิดจากการใช้สิทธิของโจทก์ตามกฎหมาย จึงเป็นความเสียหายจากการใช้สิทธิไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดจากการกระทำละเมิดให้โจทก์เสียสิทธิหรือทำให้สิทธิของโจทก์ที่กฎหมายรับรองว่ามีอยู่เสียหายไป ไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะเรียกค่าสินไหมทดแทนในเหตุละเมิดตามกฎหมายได้ ถือไม่ได้ว่าเป็นความเสียหายที่เกิดจากการทำละเมิดโดยตรง ส่วนค่าใช้จ่ายและค่าทนายความในการดำเนินคดีนี้ เป็นค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งศาลต้องสั่งลงในคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 167 วรรคหนึ่ง อยู่แล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 377/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำโฆษณาเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาแฟรนไชส์ จำเลยต้องปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามถือเป็นการผิดสัญญา
เหตุที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิแฟรนไชส์กับจำเลยเป็นเพราะโจทก์ที่ 1 เชื่อในคำโฆษณาของจำเลยว่า โจทก์ที่ 1 จะได้ซื้อสินค้าในราคาถูกกว่าทั่วไปและได้รับการส่งสินค้าตรงเวลา เป็นสินค้าที่เป็นที่นิยม 4 ยี่ห้อ เป็นอะไหล่แท้จากโรงงาน รายได้ของแต่ละสาขาต่อเดือนอยู่ที่จำนวน 500,000 บาท ถึง 1,000,000 บาท อัตราส่วนกำไรโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว และมีการบริหารจัดการแฟรนไชส์ที่ดี แม้ในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจะมิได้ระบุข้อตกลงเกี่ยวกับราคาสินค้า ความหลากหลายของสินค้าและการส่งสินค้าให้ถูกต้องก็ตาม แต่การโฆษณาของจำเลยดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ที่ 1 เข้าใจได้ในขณะเข้าทำสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิกับจำเลยว่าจำเลยผู้ให้สิทธิตกลงจะดำเนินการตามคำโฆษณานั้นเพื่อเป็นการตอบแทนที่โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญาเป็นผู้รับสิทธิจนเป็นมูลเหตุจูงใจให้โจทก์ที่ 1 เข้าทำสัญญากับจำเลย ดังนี้ จึงต้องถือว่าคำโฆษณาดังกล่าวเป็นข้อตกลงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิผูกพันจำเลยให้มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำโฆษณานั้นด้วย เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการตามคำโฆษณาก็ย่อมเป็นฝ่ายผิดสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ เมื่อโจทก์ที่ 1 บอกเลิกสัญญาดังกล่าวแล้ว จำเลยก็จำต้องให้โจทก์ที่ 1 คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม และโจทก์ที่ 1 มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในฐานะผิดสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11840/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ พยายามฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อนจากความโกรธแค้นส่วนตัว ศาลยืนตามอุทธรณ์ให้จำคุกตลอดชีวิต
ว. เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย อยู่กินด้วยกันที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพรต่อมาเลิกกันโดยมิได้จดทะเบียนหย่า ว. ย้ายไปอยู่จังหวัดภูเก็ต ได้รู้จักกับผู้เสียหายและได้อยู่กินฉันสามีภริยากับผู้เสียหาย จำเลยตามไปจังหวัดภูเก็ตและขู่ว่าหากแต่งงานใหม่จะฆ่า ว. กับผู้เสียหาย ต่อมาปี 2547 ว. กับผู้เสียหายได้มางานศพบิดา ว. ที่อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร จำเลยขู่จะฆ่า ว. และผู้เสียหายอีก จน ว. ได้แจ้งความไว้กับเจ้าพนักงานตำรวจ แสดงว่าจำเลยมีความโกรธแค้น ว. และผู้เสียหายและก็คงหาโอกาสที่จะฆ่าบุคคลทั้งสองมาตลอด จนวันเกิดเหตุเมื่อจำเลยทราบว่า ว. และผู้เสียหายมาที่อำเภอหลังสวน จำเลยก็ได้เดินทางจากบ้านจำเลยไปที่บ้านพักของ ว. และผู้เสียหาย เมื่อไปถึงจำเลยก็ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายแล้วหลบหนีไป การที่จำเลยนำอาวุธติดตัวไปด้วยแสดงว่าจำเลยเตรียมอาวุธปืนเพื่อที่จะฆ่าผู้เสียหายไว้แล้ว ทั้งบ้านจำเลยและบ้านที่เกิดเหตุซึ่งอยู่คนละหมู่บ้านกันย่อมมีระยะทางห่างกันพอสมควร ระหว่างที่จำเลยเดินทางไปจำเลยย่อมคิดทบทวนหลายครั้งแล้วว่าจะฆ่าผู้เสียหาย เมื่อไปถึงจำเลยก็ได้ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายไปเลยโดยไม่ได้พูดคุยอะไรกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการพยายามฆ่าผู้เสียหายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11699/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งสินค้าทางทะเล: ความรับผิดของผู้ขนส่งต่อความเสียหายของสินค้า และการพิสูจน์เหตุสุดวิสัย
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในฐานะที่เป็นผู้ขนส่งสินค้าตามสัญญารับขนสินค้าตามฟ้อง ไม่ได้ฟ้องให้รับผิดในมูลละเมิด คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว การที่จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ว่า ผู้กระทำละเมิดทำให้สินค้าเสียหายเป็นคนขับเรือลากจูง จำเลยที่ 1 ไม่ใช่ผู้ทำละเมิด โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่ปัญหาข้อกฎหมายซึ่งข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อที่ไม่ได้ยกว่ากันมาแล้วโดยชอบ จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225
จำเลยที่ 1 รับจ้างขนส่งสินค้าเหล็กม้วนรีดเย็นให้กับบริษัท ท. จากท่าเรือกรุงเทพไปยังโรงพักสินค้าของบริษัทดังกล่าวที่จังหวัดสมุทรปราการ อันเป็นการขนส่งภายในประเทศ ที่ต้องใช้บทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 บังคับ ซึ่งมาตราดังกล่าวบัญญัติให้ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัย เมื่อปรากฏว่าสินค้าที่รับขนส่งได้รับความเสียหาย จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 จะต้องพิสูจน์นำสืบพยานหลักฐานแสดงข้อเท็จจริงให้รับฟังได้ว่าความเสียหายของสินค้าเกิดจากเหตุสุดวิสัย
แม้ข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องว่า เรือมีรูรั่วบริเวณด้านบนกาบขวาเรือ แต่โจทก์นำสืบรับว่าเรือของจำเลยทั้งสองมีรูรั่วอยู่บริเวณใต้น้ำ ซึ่งแตกต่างไปจากคำฟ้อง ก็ไม่ใช่เป็นการคลาดเคลื่อนในสาระสำคัญแต่อย่างใด ไม่เป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 เพราะสาระสำคัญของข้อเท็จจริงที่จะมีผลให้จำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดอยู่ที่เรื่องเหตุสุดวิสัยเท่านั้น เมื่อรับฟังไม่ได้ว่ารูรั่วเกิดจากเหตุสุดวิสัยแล้ว จำเลยทั้งสองก็ยังคงต้องรับผิดตาม ป.พ.พ. 616 อยู่ดี
ลักษณะความเสียหายของสินค้าเหล็กม้วนรีดเย็นเกิดเป็นสนิมทั้งหมด ซึ่งเหล็กดังกล่าวจะนำไปจำหน่ายแก่ลูกค้าที่ซื้อไปผลิตส่วนประกอบชิ้นส่วนเครื่องยนต์หรือตัวถังรถยนต์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ หากเกิดสนิมหรือเกิดความชื้นเพียงเล็กน้อยก็ไม่สามารถนำไปใช้ได้ ถือว่าเป็นความเสียหายโดยสิ้นเชิง การเรียกร้องค่าเสียหายของโจทก์ จึงไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11439/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริตก่อนจดทะเบียน และการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 27
ในการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้ามีความเหมือนหรือคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวทั้งหมด ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และสำเนียงเรียกขานว่าเหมือนกันหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันแต่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่
โจทก์ได้ใช้คำว่า "ANNA SUI" ซึ่งเป็นชื่อสกุลนักออกแบบสินค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้ลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้ใด จึงเป็นการใช้โดยสุจริตตลอดมาก่อนที่โจทก์จะยื่นคำขอจดทะเบียนทั้ง 3 คำขอนั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์กับ ส. และก. ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าทั้งสามต่างคนต่างได้ใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าที่ขอจดทะเบียนและได้รับการจดทะเบียนดังกล่าวมาแล้วด้วยกันโดยสุจริตในประเทศไทย นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงชอบที่จะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ โดยอาจกำหนดเงื่อนไขและข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการใช้และเขตแห่งการใช้เครื่องหมายการค้าตามคำขอทั้ง 3 คำขอของโจทก์นั้นหรือกำหนดข้อจำกัดอื่นที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นสมควรก็ได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 27

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11285/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การงดการพิจารณาคดีแพ่งเมื่อลูกหนี้ขอฟื้นฟูกิจการ และการคืนค่าขึ้นศาล
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยและตั้งจำเลยเป็นผู้ทำแผนแล้วย่อมมีผลต่อการดำเนินคดีแพ่งแก่ลูกหนี้โดยต้องบังคับตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 90/12 (4) ได้ความเพียงว่า ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของจำเลยหลังวันที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เท่านั้น จึงต้องด้วยกรณีที่ศาลที่พิจารณาคดีแพ่งซึ่งลูกหนี้ในคดีขอฟื้นฟูกิจการถูกฟ้องเป็นจำเลยไว้แล้วต้องงดการพิจารณาไว้ อันได้แก่การรอหรือหยุดการพิจารณาคดีนั้นไว้ก่อนจนกว่าจะถึงวันครบกำหนดระยะเวลาดำเนินการตามแผน หรือวันที่ดำเนินการเป็นผลสำเร็จตามแผน หรือวันที่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอ หรือจำหน่ายคดีหรือยกเลิกคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ หรือยกเลิกการฟื้นฟูกิจการหรือพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด มิใช่กรณีที่จะถือว่าจะไม่ต้องดำเนินคดีนี้ต่อไปอีกเสียทีเดียว ชอบที่จะปฏิบัติไปตามบทกฎหมายดังกล่าวโดยมีคำสั่งให้งดการพิจารณาไว้ ไม่สมควรที่จะสั่งจำหน่ายคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 132 และนอกจากที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะให้จำหน่ายคดีแล้ว ยังสั่งคืนค่าขึ้นศาลทั้งหมดและโจทก์ได้รับคืนไปแล้วด้วย ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศมีคำสั่งใหม่ซึ่งไม่ทำให้คดีเสร็จไป โจทก์จึงต้องนำเงินค่าขึ้นศาลตามจำนวนที่รับคืนไปมาชำระต่อศาล และในระหว่างงดการพิจารณาคดีอาจมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการ อันมีผลทำให้ต้องยกคดีแพ่งขึ้นพิจารณาต่อไปได้ จึงให้โจทก์ไปแถลงความคืบหน้าต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทุก 6 เดือน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11252/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถือกรรมสิทธิ์แทนกันในที่ดิน กรณีตัวการ ตัวแทน และการบังคับจำหน่ายที่ดินของคนต่างด้าว
โจทก์เป็นคนสัญชาติเบลเยี่ยมเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย ได้รู้จักกับ ธ. พี่สาวของจำเลยและได้อยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรส โจทก์ตกลงซื้อที่ดินพิพาทจาก น. เงินที่ซื้อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ธ. ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทและจำเลยทำสัญญาแบ่งขายที่ดินพิพาทโดยจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท เป็นการทำแทนโจทก์ ต่อมาที่ดินพิพาทออกโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยถือกรรมสิทธิ์ ถือว่าเป็นการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนโจทก์ โจทก์เป็นตัวการฟ้องเรียกทรัพย์สินคืน จำเลยซึ่งเป็นตัวแทนต้องส่งคืนให้แก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 810
การจะให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้นใช้เฉพาะกรณีการทำนิติกรรมสัญญา และจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ต้องทำนิติกรรมสัญญานั้น แต่คดีนี้จำเลยไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติด้วยการนำที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดแต่อย่างใด แต่เป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 ที่บัญญัติให้คนต่างด้าวจัดการจำหน่ายที่ดินภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด ทั้งการบังคับให้จำหน่ายดังกล่าวก็หมายความเฉพาะที่ดินเท่านั้น ไม่รวมถึงสิ่งปลูกสร้างด้วย เพราะคนต่างด้าวไม่ต้องห้ามมิให้ถือกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง แต่อย่างไรก็ดี ตามคำฟ้องของโจทก์แปลความได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกเอาทรัพย์คืน ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง กับให้จำหน่ายที่ดินพิพาทให้เป็นไปตามกฎหมายได้ ไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11073/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดอากรแสตมป์หนังสือสัญญากู้เงินและค้ำประกัน การใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่ง
โจทก์ปิดอากรแสตมป์ด้านที่เป็นแบบพิมพ์หนังสือสัญญากู้เงินถึง 550 บาท ทั้งที่ต้องปิดอากรแสตมป์เพียง 285 บาท แสดงว่าโจทก์ปิดอากรแสตมป์ตามหนังสือสัญญากู้เงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันที่เป็นแบบพิมพ์ด้านหลังครบถ้วนแล้ว หนังสือสัญญาค้ำประกันจึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11059/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญา: การบรรยายฟ้องฐานพรากผู้เยาว์ที่ไม่ครบองค์ประกอบ และขอบเขตการลงโทษตามฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกับพวกได้บังอาจร่วมกันพา ก. ผู้เยาว์อายุ 16 ปีเศษยังไม่เกิน 18 ปีไปเสียจาก ข. ผู้เป็นบิดาเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือใช้วิธีการข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด สำหรับองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา 319 เป็นการพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี โดยปราศจากเหตุอันสมควร แม้ฟ้องโจทก์จะระบุว่าพา ก. ไปเสียจาก ข. ก็ตาม ก็เป็นเพียงการบรรยายรายละเอียดโดยปราศจากองค์ประกอบของการพรากไปโดยปราศจากเหตุอันสมควร คำว่า "พาไป" กับคำว่า "พรากไป" มีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง แม้คำขอท้ายฟ้องจะอ้างมาตรา 319 มาด้วยก็ตาม กรณีจะแปลรวมไปถึงว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องฐานพรากผู้เยาว์ตามมาตรา 319 ด้วยหาได้ไม่ จึงไม่อาจลงโทษในความผิดฐานนี้ได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง คงแปลได้เพียงว่าโจทก์ฟ้องและประสงค์ให้ลงโทษตามมาตรา 284 เท่านั้น
พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาว่า ร่วมกันโดยใช้อุบายหลอกลวงพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาพรากผู้เยาว์ตาม ป.อ. มาตรา 319 อันเป็นข้อหาหลัก แม้ทางสอบสวนปรากฏว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 284 ด้วยซึ่งเป็นข้อหาเพิ่มเติม ถือว่าได้สอบสวนในความผิดดังกล่าวโดยชอบและได้ทำการสอบสวนทั้งความผิดตามมาตรา 284 และ 319 ครบถ้วนแล้ว เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามมาตรา 284 ศาลย่อมลงโทษจำเลยตามความผิดมาตรา 284 ตามที่พิจารณาได้ความได้
of 33