คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปริญญา ดีผดุง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 328 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10878/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขยายเวลาการยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ: การใช้ดุลพินิจของศาลเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการครั้งแรกต่อศาลแพ่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับสำเนาคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคสอง และเป็นการยื่นคำร้องภายในกำหนดเวลา 3 ปี นับแต่วันที่อาจบังคับตามคำชี้ขาดได้ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดี ต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดอีกครั้งต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ซึ่งยังไม่ล่วงเลยระยะเวลา 3 ปี ตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แต่ล่วงเลยระยะเวลา 90 วัน ตามมาตรา 40 วรรคสอง ดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขออีกครั้งเพราะเหตุที่การยื่นครั้งแรกมีข้อบกพร่องในเรื่องอำนาจศาลถือว่าข้อบกพร่องในการยื่นคำร้องขอแต่แรกต่อศาลหนึ่งแต่ในที่สุดศาลนั้นไม่รับคำร้องขอ เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลนั้นจนต้องยื่นคำร้องขออีกครั้งหนึ่งต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น ไม่เป็นเหตุให้ผู้ร้องขอต้องเสื่อมเสียสิทธิ นอกจากนี้กำหนดระยะเวลาเช่นนี้ก็เป็นกำหนดระยะเวลาที่ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ขยายได้ตามหลักเกณฑ์ ป.วิ.พ. มาตรา 23 หรือ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ด้วย เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ภายหลังศาลแพ่งมีคำสั่งจำหน่ายคดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอฉบับแรกเพียง 60 วัน แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องยังประสงค์จะขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาตามคำร้องขอของผู้ร้องอยู่ และจำเป็นต้องทำคำร้องขอยื่นใหม่ต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาภายในเวลาพอสมควร อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาไปตามความจำเป็นโดยสุจริต จึงมีเหตุสมควรอย่างยิ่งที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จะใช้อำนาจตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 37 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.พ. มาตรา 23 สั่งให้ขยายกำหนดระยะเวลาการยื่นคำร้องขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่ง และการรับผิดในฐานะนายจ้าง กรณีสินค้าเสียหาย
จำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งและมอบหมายให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกของตนนำสินค้าไปส่งตามสัญญารับขน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขับรถบรรทุกพลิกคว่ำระหว่างทาง ทำให้สินค้าได้รับความเสียหาย การที่จำเลยที่ 2 อ้างเหตุสุดวิสัยเพื่อไม่ให้ตนต้องรับผิดจากความเสียหายดังกล่าว จำเลยที่ 2 จึงมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าการเสียหายนั้นเกิดจากเหตุสุดวิสัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 616
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นอกจากจำเลยที่ 3 จะดำเนินการพิธีการศุลกากรแล้ว ยังได้จองรถและออกค่าเช่ารถให้แก่จำเลยที่ 2 แทนบริษัท อ. ผู้เอาประกันภัยไปก่อน รวมทั้งเป็นผู้ออกใบตราส่งด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะเป็นการกระทำเพื่อประสานงานอำนวยความสะดวกให้ทั้งบริษัท อ. และจำเลยที่ 2 ด้วยเพื่อให้การขนส่งสินค้าลุล่วงไป ดังนี้ จำเลยที่ 2 ย่อมเป็นผู้ขนส่งตามสัญญาขนส่งตามฟ้อง แม้จำเลยที่ 3 จะเป็นผู้ออกใบตราส่ง แต่ก็ได้ความว่าจำเลยที่ 3 ทำหน้าที่ติดต่อจัดหาผู้ขนส่งให้แก่บริษัท อ. โดยทำธุรกิจเช่นนี้มานานแล้ว แสดงว่าการจองรถของจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 2 เป็นการติดต่อว่าจ้างผู้ขนส่ง แทนบริษัท อ. ผู้ส่งนั่นเอง จำเลยที่ 3 จึงไม่ใช่ผู้ว่าจ้างจำเลยที่ 2 เมื่อพนักงานของจำเลยที่ 3 ได้ทำใบจองรถบรรทุกโดยขีดเครื่องหมายในช่องเลือกแบบการขนส่งที่คุ้มครองความเสียหายในวงเงิน 20,000 บาท ต่อครั้ง ย่อมถือได้ว่าบริษัท อ. ในฐานะตัวการเลือกแบบการขนส่งโดยตัวแทนแล้ว จึงถือได้ว่าบริษัท อ. ได้แสดงความตกลงชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งไว้ไม่เกิน 20,000 บาท ซึ่งมีผลบังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 625 และเมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้ขนส่งซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 616 และ 617 บัญญัติให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า รวมถึงความเสียหายอันเกิดแต่ความผิดของบุคคลอื่นที่ตนได้มอบหมายของไปอีกทอดหนึ่งด้วย การที่ของสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้าอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ขนส่งหรือลูกจ้างของผู้ขนส่ง ย่อมเป็นการผิดสัญญารับขนและเป็นการละเมิดด้วย แต่เมื่อมีการทำสัญญาตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งไว้ก็เท่ากับว่าผู้ส่งและผู้ขนส่งมีเจตนาที่จะถือเอาความรับผิดต่อกันให้เป็นไปตามสัญญารับขนแล้ว ย่อมต้องบังคับกันไปตามเจตนาของคู่สัญญาตามที่ได้ตกลงกันจำกัดความรับผิดกันไว้ ผู้ส่งย่อมไม่อาจขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ให้รับผิดในมูลละเมิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดให้ผิดไปจากข้อตกลงได้ สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ไม่ได้ความว่าเหตุใดจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ใช่คู่สัญญาจึงได้รับประโยชน์จากสัญญาขนส่งด้วยแต่อย่างใด ย่อมเป็นอุทธรณ์ไม่ชัดแจ้งตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10648/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความผิดหลายกรรมต่างกันในคดีกระทำชำเราและพรากเด็ก การฎีกาในข้อเท็จจริงที่ต้องห้าม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปีกับฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจารเป็นกรรมเดียวกัน ลงโทษจำคุกจำเลย กระทงละ 4 ปี 8 เดือน รวม 2 กระทง จำคุก 8 ปี 16 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากมารดาเพื่อการอนาจาร กับความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบสามปี เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อย และยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9602/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์เพลง การชดใช้ค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายในการบังคับสิทธิ
การฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทจำเลยที่ 2 หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1272 ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ดนตรีกรรม ว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือทำนองอย่างเดียว และให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานไว้แล้ว ดังนั้น งานดนตรีกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมแล้ว โดยไม่นำคุณค่าของงานดนตรีกรรมมาเป็นเงื่อนไขแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะหากผู้แต่งเพลงได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นเองด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่างานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นจะเป็นที่นิยมของผู้ฟังเพียงใดหรือไม่ หรือผู้แต่งเพลงนั้นอาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นให้แก่ผู้ใดได้เพียงใดหรือไม่ก็ตาม งานเพลงนั้นก็ได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานเพลงนั้นเสร็จ เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงโดยเป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงหนุ่มดอย งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ย่อมเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การใช้สิทธิป้องกันลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมโดยเป็นผู้สร้างสรรค์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงชื่อเพลง "หนุ่มดอย" ซึ่งเพลงหนุ่มดอยของโจทก์มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า "ผม ผม ผม ผม ผม ผมเอาแครอตมาฝาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยากให้เธอได้กิน กิน กิน กิน แครอต ร่างกาย ๆ แข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ซึ่งการเปิดครั้งหนึ่งจะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 4 ครั้ง ตอนท้ายของเพลงจะเล่นซ้ำท่อนสร้อยเฉพาะข้อความว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ส่วนเพลง "เด็กดอยใจดี" ของจำเลยทั้งสามที่จำเลยที่ 3 ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอได้กิน ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอแข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต ลา... ลันลา ลันลา ลัน ลัน ลันลา ลันลา ลันลา" และในการเปิดเพลงเด็กดอยใจดี 1 ครั้ง จะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 3 ครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า "ลา ลันลา" ต่อท้ายทุกครั้ง ซึ่งการมีทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจำนวน 3 ถึง 4 ครั้ง ย่อมทำให้ผู้ฟังจดจำเพลงดังกล่าวได้ง่ายจากท่อนสร้อย คำร้องและทำนองในท่อนสร้อยหรือท่อนฮุกของเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดีจึงเป็นสาระสำคัญของเพลง เมื่อเพลงเด็กดอยใจดีมีเนื้อร้องคำว่า "แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต" ในท่อนสร้อยและคำว่า "ลา ลันลา" ในตอนท้ายเช่นเดียวกับเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ให้การปฏิเสธว่าการแต่งทำนองเพลงท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีมิได้เลียนแบบและมิได้ทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าการประพันธ์เพลงเด็กดอยใจดีของจำเลยที่ 3 เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์และผู้จัดจำหน่ายอัลบัมเพลงที่ประกอบด้วยเพลงเด็กดอยใจดีโดยว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิตสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ จัดจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยนซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ รวมทั้งงานอื่นใดอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจัดสร้างและจำหน่ายภาพยนตร์ ละคร เนื้อร้องทำนองแพร่ภาพแพร่เสียงแทนผู้ผลิตในสื่อต่าง ๆ แก่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมรู้จักเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และทราบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมแต่งคำร้องในเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์ และทราบเป็นอย่างดีว่าเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ไม่ประสบผลสำเร็จด้านการตลาด จึงต้องการให้จำเลยที่ 3 ช่วยแก้ไขปรับปรุงเพลงหนุ่มดอยให้เป็นเพลงเด็กดอยใจดีและให้เด็กหญิง ช. ขับร้อง แล้วจัดทำเป็นซีดีออกจำหน่ายจนประสบผลสำเร็จในด้านการตลาด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีลักษณะเป็นการร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผลิตออกจำหน่ายซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจึงเป็นการทำซ้ำและนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกขายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1) และ 31 (1) ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์
โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังด้วยข้อความต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเพลงของผู้ใดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นความเสียหายในเชิงการประกอบธุรกิจจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ ซึ่งความเสียหายด้านชื่อเสียงตามฟ้องดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพราะค่าเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำละเมิดได้บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือกระทำอื่นใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธินั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามจำนวนที่เห็นสมควร รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมีเจตนารมณ์จะเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการละเมิดลิขสิทธิ์ มิได้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเท่านั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าจ้างทนายความและว่าความแทนโจทก์ในการฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ในความหมายของมาตรานี้
เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนและอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนในงานดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง การที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมของโจทก์เพื่อแสวงหากำไรจากการขายซีดีและวีซีดีซึ่งมีเพลงที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และได้กำไรจากการอนุญาตให้ผู้อื่นนำเพลงไปให้บริการริงก์โทนแก่บุคคลทั่วไปเป็นผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ถือเป็นการแสวงหากำไรจากการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่สุจริต มีผลเสียหายต่อการตลาดของโจทก์ ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะถือว่าผลประโยชน์ที่เป็นกำไรซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในลักษณะที่ให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ในทำนองซึ่งจะมีผลหรือสภาพบังคับเช่นเดียวกับให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 75 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ซึ่งใช้เฉพาะคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่งโจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9600/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำละเมิดลิขสิทธิ์โดยผู้รับมอบอำนาจช่วง: ผู้เสียหายต้องมีอำนาจร้องทุกข์เอง พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบใช้ไม่ได้
ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายว่าจ้างจำเลยให้บันทึกเพลงของผู้เสียหายลงแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะอันเป็นการก่อให้จำเลยทำซ้ำซึ่งงานดนตรีกรรม สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จำเลยมิได้กระทำความผิดโดยทำซ้ำงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามที่โจทก์ฟ้องอยู่ก่อนแล้วและนำแผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายนั้นออกขายแก่ ร. ผู้ล่อซื้ออันจะถือเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (1) เมื่อ ร. ผู้รับมอบอำนาจช่วงจากผู้เสียหายเป็นผู้ก่อให้จำเลยกระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) เพื่อให้เจ้าพนักงานจับจำเลยมาดำเนินคดีนี้ ผู้เสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยที่มีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดดังกล่าวได้ แผ่นซีดีและวีซีดีคาราโอเกะ ที่ ร. ว่าจ้างจำเลยให้ทำขึ้นและวิดีโอที่บันทึกภาพเหตุการณ์การบันทึกเพลงลงแผ่นซีดีของจำเลยที่ ร. แอบถ่ายไว้เป็นพยานหลักฐานที่เกิดขึ้นโดยมิชอบและเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาเนื่องจากการกระทำโดยมิชอบต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยตามที่โจทก์ฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9513/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้ชื่อทางการค้าคล้ายกันจนสับสน และการละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา อายุความไม่ขาด
คดีนี้มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์หรือไม่ ส่วนคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 มีประเด็นวินิจฉัยว่า จำเลยกับพวกละเมิดสิทธิบัตรของโจทก์ โดยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงที่มีรูปทรง สัณฐาน ขนาดและสีอันเป็นการใช้การประดิษฐ์ที่โจทก์ยื่นขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้ก่อนแล้วหรือไม่ และในคดีหมายเลขดำที่ ทป. 120/2548 มีข้ออ้างตามคำฟ้องของโจทก์เป็นประเด็นให้ศาลวินิจฉัยว่า จำเลยผลิต ขาย และเสนอขาย ผลิตภัณฑ์ลูกบอลดับเพลิง โดยละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์ตามสิทธิบัตรเลขที่ 18966 ของโจทก์หรือไม่ เห็นได้ว่าประเด็นในคดีนี้กับคดีหมายเลขแดงที่ ทป. 79/2547 และคดีหมายเลขดำที่ ทป.120/2548 ข้างต้นมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยถึงการละเมิดต่อสิทธิของโจทก์คนละสิทธิแตกต่างกัน มูลเหตุแห่งการละเมิดสิทธิอันเป็นการโต้แย้งสิทธิที่ก่อให้โจทก์มีอำนาจฟ้องย่อมแตกต่างกัน มิได้อาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ชอบที่โจทก์ใช้สิทธิฟ้องเป็นคนละคดีกันได้ ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำและฟ้องซ้อนกับคดีทั้งสอง
ปัญหาว่า จำเลยละเมิดสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า สิทธิในการใช้นามหรือชื่อของบุคคลนั้น แม้บุคคลอื่นอาจใช้ชื่อคล้ายกันได้ก็ตามแต่ก็ต้องไม่ทำให้ผู้ที่ใช้อยู่ก่อนต้องเสื่อมเสียประโยชน์โดยมิชอบโดยไม่ได้รับความยินยอม มิฉะนั้นย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในการใช้ชื่อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 และ 420 หรือ 421 และกรณีผู้มีสิทธิในการใช้ชื่อทางการค้าก็มีลักษณะอันควรอนุโลมใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวเพื่อการรับรองและคุ้มครองสิทธิในชื่อทางการค้าด้วย คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเป็นยุติว่า เมื่อปี 2542 โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดโดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซพตี้ พรีเมียร์ จำกัด ใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า SIAM SAFETY PREMIER CO., LTD. และโจทก์ได้ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ดับเพลิงโดยเฉพาะลูกบอลดับเพลิง ซึ่งกรรมการผู้จัดการบริษัทโจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์ขึ้นและมีการดำเนินการขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ จนได้รับสิทธิบัตรโดยให้โจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรทั้งในประเทศไทยและประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งโจทก์ได้ใช้ชื่อดังกล่าวประกอบกิจการดังกล่าวและนำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งประกอบกับรูปประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายบริการและเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนในราชอาณาจักรแล้ว ดังนี้จึงฟังได้ว่าชื่อดังกล่าวมีลักษณะเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์ ส่วนจำเลยจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัดในภายหลังเมื่อปี 2546 โดยใช้ชื่อว่า บริษัทสยาม เซฟตี้ เทคโนโลยี จำกัด หรือ SIAM SAFETY TECHNOLOGY CO., LTD. ซึ่งนอกจากจะคล้ายกับชื่อทางการค้าของโจทก์แล้วยังได้นำคำที่เป็นส่วนสำคัญในชื่อทางการค้าของโจทก์คือคำว่าสยามเซฟตี้ หรือ SIAM SAFETY มาใช้เป็นส่วนสำคัญในชื่อบริษัทจำเลย การใช้คำที่เป็นส่วนสำคัญของชื่อทางการค้าของโจทก์เช่นนี้อาจทำให้ผู้ที่จะซื้อสินค้าสับสนหลงผิดว่าเป็นบริษัทเดียวกันได้ โดยแม้ชื่อของโจทก์จะมีคำว่า "พรีเมียร์" ต่อท้ายคำดังกล่าวและชื่อของจำเลยจะมีคำว่า "เทคโนโลยี" ต่อท้ายคำดังกล่าวด้วยก็ตาม แต่ก็เป็นคำที่ไม่มีลักษณะเด่นที่มีความสำคัญสำหรับสังเกตจดจำได้ดังเช่นคำว่า สยาม เซพตี้ หรือแม้ผู้ซื้อจะสังเกตโดยละเอียดเห็นความแตกต่างดังกล่าวได้ก็อาจเข้าใจได้ว่าจำเลยเป็นบริษัทเครือเดียวกับโจทก์หรือมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงถือได้ว่าจำเลยใช้คำว่า สยามเซพตี้ หรือ SIAM SAFETY ของโจทก์ และจำเลยยังใช้ชื่อเช่นนี้ในการประกอบกิจการค้าอย่างเดียวกับโจทก์ การกระทำของจำเลยเช่นนี้ย่อมเป็นการใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ที่มีโอกาสทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์ในการประกอบกิจการค้าของตนได้ และเมื่อปรากฏว่าจำเลยผลิตและจำหน่ายลูกบอลดับเพลิงเช่นเดียวกับโจทก์ ซึ่งโจทก์เป็นผู้ทรงสิทธิบัตรจนเกิดมีคดีพิพาทในเรื่องการละเมิดสิทธิบัตรการประดิษฐ์กันมาแล้ว หากปรากฏว่าทำให้เกิดผลเสียต่อการประกอบกิจการของโจทก์ก็ย่อมถือว่าการกระทำของจำเลยทำให้โจทก์ต้องเสื่อมเสียประโยชน์
แม้จำเลยจะทำกล่องบรรจุสินค้าให้มีสีแตกต่างกับของโจทก์และมีการพิมพ์ชื่อบริษัทจำเลยรวมทั้งโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและชื่อบริษัทจำเลยหรือสำนักงานของจำเลยอยู่ห่างจากโจทก์มากก็ตาม แต่ลักษณะการขายสินค้าของโจทก์และจำเลยเป็นไปในลักษณะกระจายการขายไปทั่วประเทศ เมื่อมีชื่อในส่วนสำคัญเหมือนกันก็ย่อมทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดได้อยู่นั่นเอง จากเหตุผลดังวินิจฉัยมาข้างต้นจึงเชื่อได้ว่า การที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์ดังกล่าวในการประกอบกิจการของจำเลยเช่นนี้ทำให้โจทก์ต้องเสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ อันเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อทางการค้าของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 ประกอบด้วยมาตรา 420 และ 421 โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้ศาลบังคับห้ามจำเลยใช้ชื่อโดยละเมิดต่อโจทก์ และชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ได้
การที่จำเลยนำคำว่า สยาม เซพตี้ หรือ SIAM SAFETY อันเป็นชื่อทางการค้าของโจทก์มาใช้อันจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ด้วยเหตุที่การใช้ชื่อนั้นทำให้โจทก์เสียหายเสื่อมเสียประโยชน์ซึ่งเมื่อจำเลยใช้ชื่อจนทำให้โจทก์เสียหายดังกล่าวซึ่งมีการใช้และการเสียหายเกิดขึ้นตลอดเวลาที่จำเลยใช้ชื่อทางการค้าดังนั้น ตราบที่จำเลยยังคงใช้ชื่อทางการค้าของโจทก์อยู่จนถึงวันฟ้อง การกระทำของจำเลยย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ตลอดเวลาเรื่อยมา มิใช่เป็นการละเมิดครั้งเดียวในวันที่จำเลยใช้ชื่อนี้แต่อย่างใด สิทธิเรียกร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9240/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ลักษณะบ่งเฉพาะ รูปร่าง/รูปทรงสินค้า ไม่สามารถคุ้มครองหากไม่โดดเด่นและแยกจากสินค้าทั่วไปได้
รูปร่างหรือรูปทรงของเครื่องยนต์ของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุนั้น แม้โจทก์จะกล่าวอ้างและนำสืบว่าโจทก์ได้ประดิษฐ์โดยออกแบบให้มีเอกลักษณ์โดดเด่นในตัวแตกต่างจากเครื่องยนต์ประเภทเดียวกันของผู้อื่นมาก ทั้งอุปกรณ์แต่ละชิ้นใช้สีที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากสีเครื่องยนต์ของผู้อื่น ซึ่งโจทก์ใช้สีเช่นนี้ตั้งแต่ปี 2526 ตลอดมาจนปัจจุบัน แต่เมื่อพิจารณาภาพเครื่องยนต์ของโจทก์เปรียบเทียบกับภาพเครื่องยนต์ของผู้อื่นอีก 5 ราย เห็นว่า ลำพังรูปร่างหรือรูปทรงหรือลักษณะของเครื่องยนต์ของโจทก์และของผู้อื่นเหล่านี้ หากไม่ติดชื่อหรือเครื่องหมายการค้า หรือใช้สีแตกต่างกันย่อมไม่อาจทำให้ผู้ซื้อทั่วไปใช้เป็นที่สังเกตแยกได้ว่า เครื่องยนต์เครื่องใดเป็นของเจ้าของรายใด และชื่อก็ดี เครื่องหมายการค้าก็ดี รวมทั้งสี่ที่มีการใช้แตกต่างกันนั้นไม่อาจถือได้ว่าเป็นรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุและไม่ได้ใช้เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุที่โจทก์ขอจดทะเบียน จึงเห็นได้ว่าลำพังลักษณะรูปร่างเครื่องยนต์ของโจทก์ซึ่งมีลักษณะเหมือนเครื่องยนต์ของผู้อื่นทั่วไปไม่มีลักษณะเด่นเป็นพิเศษ บุคคลทั่วไปเห็นแล้วก็มีแต่จะนึกถึงลักษณะของสินค้าเครื่องยนต์ประเภทนี้เท่านั้น การที่โจทก์ใช้สีที่อ้างว่ามีลักษณะเฉพาะและใช้มานานไม่เปลี่ยนแปลงก็อาจจะเป็นสิ่งที่บุคคลใช้เป็นที่สังเกตแยกแยะ ทั้งที่สีนี้ไม่ใช่ส่วนที่เป็นเครื่องหมายรูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุ นอกจากนี้ยังเห็นว่าเครื่องยนต์ของโจทก์ใช้เครื่องหมายคำว่า HONDA ติดอยู่ ไม่ปรากฏว่าโจทก์นำเครื่องยนต์รุ่นนี้ออกจำหน่ายโดยไม่ใช้เครื่องหมายคำว่า HONDA จึงน่าเชื่อว่า โจทก์ประสงค์จะขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปร่างหรือรูปทรงของเครื่องยนต์ดังกล่าวเพียงเพื่อใช้หวงกันไม่ให้ผู้อื่นผลิตเครื่องยนต์ที่มีลักษณะคล้ายของโจทก์ได้ตลอดไปในฐานะเป็นเครื่องหมายการค้าอันเป็นการจำกัดสิทธิของบุคคลอื่นมากเกินสมควร และเห็นได้ว่าเครื่องหมายที่โจทก์ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 ส่วนที่บางประเทศรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้ให้โจทก์ก็ขึ้นอยู่กับสภาพสังคมและรายละเอียดของกฎหมายของแต่ละประเทศ ไม่เป็นเหตุผลให้ควรรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านี้แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8724/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งทางทะเลต่อความเสียหายของสินค้า และการชดใช้ค่าเสียหายตามกรมธรรม์ประกันภัย
ปัญหาว่า โจทก์เป็นผู้รับช่วงสิทธิจากบริษัท น. ผู้รับตราส่ง มาฟ้องจำเลยทั้งสี่โดยชอบและมีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ เมื่อพิจารณาตามกรมธรรม์ประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเล ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญาประกันภัยทางทะเลระหว่างโจทก์ผู้รับประกันภัยกับบริษัท ย. ผู้เอาประกันแล้ว แม้กรมธรรม์ไม่ได้ระบุชื่อผู้รับประโยชน์ไว้โดยตรงหรือมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้ใด แต่ในการตีความสัญญาประกันภัยนี้ไม่อาจพิจารณาเฉพาะเพียงข้อความหรือลายลักษณ์อักษรที่ปรากฏอยู่ในสัญญาเท่านั้น ต้องตีความให้เป็นไปตามความประสงค์ในทางสุจริต โดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วย ตามหลักการตีความสัญญาใน ป.พ.พ. มาตรา 368 กรณีนี้จึงต้องพิจารณาจากเอกสารหลักฐานอื่นๆ สำหรับกรมธรรม์นี้ในส่วนตารางด้านหน้าของเอกสารเกี่ยวกับเนื้อหาของการประกันภัยระบุอ้างถึงใบกำกับสินค้าซึ่งตรงกับใบกำกับสินค้าที่ระบุรายละเอียดของสินค้าที่เอาประกันภัย ชื่อผู้ส่งสินค้าหรือผู้ส่งของว่า คือ บริษัท ย. ผู้เอาประกันภัย และผู้รับตราส่ง คือ บริษัท น. กับระบุว่ามีการขนส่งสินค้าจากท่าเรือศรีราชาไปยังปลายทางที่ประเทศอิตาลี เมื่อพิจารณาข้อความตามตารางในด้านหน้าของกรมธรรม์ก็ปรากฏว่ามีการระบุถึงการใช้สิทธิเรียกร้อง (หากมี) หรือการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าให้ทำที่ประเทศอิตาลี และยังระบุอีกว่าในการใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยนี้ในกรณีที่เกิดการสูญหายหรือเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีการแจ้งเหตุในทันทีเพื่อให้มีการสำรวจความเสียหายที่เกิดแก่สินค้าดังกล่าวและมีรายงานการสำรวจความเสียหายจากหรือที่ได้รับการอนุมัติจาก ก. ซึ่งอยู่ที่ประเทศอิตาลี และเมื่อพิจารณากรมธรรม์ประกอบกับใบตราส่งแล้วปรากฏว่าใบตราส่งได้ระบุรายละเอียดของสินค้าที่ขนส่งและระบุชื่อบริษัท ย. เป็นผู้ส่งของกับบริษัท น. เป็นผู้รับตราส่ง ตรงกับที่ระบุในใบกำกับสินค้า จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีเหตุผลให้เชื่อว่า โจทก์ผู้รับประกันภัยมีเจตนาตกลงให้การใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการชำระค่าสินไหมทดแทนทำกันที่ประเทศอิตาลีซึ่งเป็นปลายทางในการขนส่งสินค้าที่เป็นวัตถุที่เอาประกันภัยเนื่องจากผู้ที่จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายเช่นผู้รับตราส่งมักจะพบการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเมื่อมีการเรียกและรับสินค้านั้นที่ปลายทางแล้ว ทั้งเมื่อพิจารณาทุนประกันภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยแล้วจะเห็นได้ว่ามีจำนวนร้อยละ 110 ของราคาสินค้าตามใบกำกับสินค้าที่ระบุเป็นราคาเทียบข้างเรือที่ท่าเรือต้นทาง (FAS) ซึ่งเป็นจำนวนทุนประกันภัยตามปกติของการประกันภัยสินค้าในการขนส่ง จึงมีเหตุผลให้เชื่อได้ว่าจำนวนทุนประกันภัยดังกล่าวได้รวมค่าระวางการขนส่งสินค้าและหรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ไว้ด้วย ซึ่งอาจไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายที่เป็นภาระของผู้เอาประกันภัย ด้วยหลักฐานเอกสารที่มีความเชื่อมโยงกันดังกล่าว ประกอบกับได้ความตามที่พยานโจทก์เบิกความตอบคำถามติงใจความว่า การประกันภัยการขนส่งสินค้าทางทะเลมีระเบียบวิธีปฏิบัติในการชำระค่าสินไหมทดแทนว่าจะชำระแก่ผู้ได้รับความเสียหาย โดยความเสียหายตามลักษณะในคดีนี้จะชำระให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียตามสัญญาซื้อขายคือผู้รับตราส่ง ซึ่งได้แก่ บริษัท น. ผู้ซื้อสินค้าในประเทศอิตาลี จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบหักล้างความถูกต้องแท้จริงของพยานเอกสารของโจทก์ดังกล่าวและไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าการประกันภัยกับการชำระค่าสินไหมทดแทนเพื่อการสูญหายหรือเสียหายของสินค้าที่ขนส่งมีวิธีปฏิบัติอย่างอื่นมิได้เป็นไปตามที่โจทก์นำสืบมาแต่อย่างใด จำเลยโต้แย้งในคำให้การเพียงว่าไม่มีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัยเท่านั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าในการทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวได้เป็นที่ทราบและมีการตกลงระหว่างบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยและโจทก์ผู้รับประกันภัยโดยปริยายแล้วว่าให้บริษัท น. ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งในประเทศอิตาลีเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประกันภัยนั้น บริษัท น. จึงเป็นผู้มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายเนื่องจากวินาศภัยตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยไม่จำต้องมีการสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ประกันภัย ทั้งกรณียังถือได้ว่า บริษัท น. เป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งเป็นวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย อันเป็นเงื่อนไขในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ข้อ 11.1 ที่กำหนดว่า ในการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยฉบับนี้ ผู้เอาประกันภัยต้องมีส่วนได้เสียในวัตถุที่เอาประกันภัยในขณะเกิดวินาศภัย (In order to recover under this insurance the Assured must have an insurable interest in the subject - matter insured at the time of loss) ซึ่งผู้เอาประกันภัย (the Assured) ในความหมายของการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยทางทะเลฉบับนี้ย่อมหมายความรวมถึงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาที่ไม่ได้เป็นผู้เอาประกันภัยด้วยตามเจตนาของโจทก์ผู้รับประกันภัยและบริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยที่ได้ตกลงกันโดยปริยายดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าบริษัท ย. ในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าดังกล่าวและเป็นผู้ส่งสินค้าที่ขายให้แก่บริษัท น. ในประเทศอิตาลีกับเป็นผู้เอาประกันภัยสำหรับความเสียหายและสูญหายของสินค้านั้นระหว่างการขนส่งไว้แก่โจทก์ตามกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าทางทะเล โดยผู้ขายว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้า 14 หีบห่อ จำเลยที่ 1 ตกลงรับขนส่งสินค้าดังกล่าวโดยใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้จัดการและควบคุมดูแลการเดินเรือและใช้เรือเดินทะเลของจำเลยที่ 4 เป็นยานพาหนะ จำเลยที่ 1 ได้รับชำระค่าระวางการขนส่งแล้วออกใบตราส่งในนามของจำเลยที่ 1 และในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้แก่ผู้ส่งไว้เป็นหลักฐานโดยระบุให้บริษัท น. ผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งตามใบตราส่ง และใบตราส่งนี้ได้โอนไปยังบริษัท น. ผู้รับตราส่งแล้ว เมื่อสินค้าถึงปลายทาง ผู้รับตราส่งพบว่าสินค้าได้รับความเสียหาย 3 หีบห่อ บริษัท น. ผู้รับโอนใบตราส่งจึงเป็นผู้ทรงใบตราส่งและเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งอันถือได้ว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในสินค้าที่ขนส่งซึ่งได้เอาประกันภัยไว้ในขณะเกิดวินาศภัยโดยไม่จำต้องให้บริษัท ย. ผู้เอาประกันภัยสลักหลังโอนสิทธิตามกรมธรรม์ดังกล่าวก่อน การที่โจทก์ผู้รับประกันภัยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวให้บริษัท น. จึงเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนไปโดยชอบด้วยข้อ 11.1 ในกรมธรรม์ประกันภัยแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะเข้ารับช่วงสิทธิจากบริษัท น. ผู้รับตราส่งได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสี่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8405/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลักษณะบ่งเฉพาะของเครื่องหมายการค้า: ชื่อบริษัทต้องมีลักษณะพิเศษและไม่สื่อถึงคุณสมบัติสินค้า
เครื่องหมายการค้าที่ประกอบด้วยชื่อนิติบุคคลจะมีลักษณะบ่งเฉพาะตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (1) ได้ต่อเมื่อเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นชื่อเต็มของนิติบุคคลที่แสดงโดยลักษณะพิเศษและไม่เล็งถึงลักษณะ หรือคุณสมบัติของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้านั้นโดยตรง
เครื่องหมายการค้าคำว่า "" เป็นชื่อเต็มของบริษัทโจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประกอบด้วยภาษาโรมันเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทั้งหมด แม้โจทก์อ้างว่าได้มีการออกแบบลายเส้นของตัวอักษรให้มีลักษณะโค้งมน โดยคำว่า "" ออกแบบให้ฐานของตัวอักษร EAS เกาะเกี่ยวเชื่อมต่อกันและอักษร "A" ไม่มีขีดกลางตัวอักษรก็ตาม แต่ก็เป็นเพียงการดัดแปลงลายเส้นเฉพาะตัวอักษรโรมัน "EAS" เพียงเล็กน้อย โจทก์มิได้ทำให้เห็นถึงลักษณะพิเศษของตัวอักษรดังกล่าวในเครื่องหมายการค้า คำว่า "" โดยยังคงมีลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ธรรมดาทั่วไป เมื่อมองภาพรวมเห็นได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่ใช้อักษรโรมันเป็นตัวพิมพ์ใหญ่เท่านั้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเพียงชื่อเต็มของนิติบุคคลบริษัทโจทก์ที่ยังมิได้แสดงลักษณะพิเศษ
เครื่องหมายดังกล่าวมีคำว่า "CO., LTD." ซึ่งย่อมาจากคำว่า "Company Limited" ที่แปลว่า บริษัทจำกัดอยู่ตอนท้าย ทำให้ผู้พบเห็นเครื่องหมายดังกล่าวไม่อาจทราบได้ทันทีว่าคำว่า "" เป็นเครื่องหมายการค้า มิใช่เป็นเพียงแต่ชื่อบริษัทเท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวเป็นชื่อเต็มของนิติบุคคลที่แสดงโดยลักษณะพิเศษ อันมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเอง ตามความหมายของมาตรา 7 วรรคสอง (1) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
เครื่องหมายใดจะมีสภาพเป็นเครื่องหมายการค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4 หรือไม่ จะต้องพิจารณาว่าได้มีการใช้เครื่องหมายดังกล่าวเป็นที่หมายหรือเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือไม่ สินค้าที่โจทก์นำเข้าที่บรรจุในถังได้มีการจำหน่ายต่อให้โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยถังที่บรรจุสินค้าจะมีเครื่องหมายการค้าคำว่า "" ปรากฏอยู่ชัดเจนที่ด้านข้างตัวถัง ฝาถังและใช้ร่วมกับเครื่องหมายอื่น เห็นได้ว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของโจทก์ได้ถูกใช้เป็นที่หมายของสินค้าเพื่อแสดงว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวนั้นแตกต่างจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นแล้ว คำว่า "" ย่อมเป็นเครื่องหมายการค้าไม่ใช่เป็นเพียงชื่อนิติบุคคลซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8195/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าและข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม ศาลฎีกาตัดสินว่าข้อจำกัดความรับผิดที่ตกลงกันได้ไม่ถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
ผู้ส่งเป็นลูกค้าประจำของจำเลยที่ทำธุรกรรมร่วมกันมาโดยตลอดแม้กระทั่งหลังเกิดเหตุคดีนี้จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าผู้ส่งทราบถึงเงื่อนไขการรับขนสินค้าของจำเลย ทั้งเมื่อพิจารณาใบรับขนทางอากาศด้านหน้า มีผู้ลงลายมือชื่อใต้ตัวพิมพ์ที่มีข้อความชัดเจนว่า ผู้ส่งตกลงตามเงื่อนไขข้อจำกัดความรับผิดที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศด้านหลัง ช่องให้สำแดงสินค้าเพื่อการศุลกากร (TOTAL VALUE FOR CUSTOMS) ซึ่งใช้ในการคำนวณภาษีศุลกากรระบุว่า 7,168.17 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนช่องสำแดงมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่ง (TOTAL DECLARED VALUE FOR CARRIAGE) ไม่ระบุจำนวนเงิน ซึ่งหากระบุจำนวนในช่องนี้ก็จะต้องเสียค่าขนส่งเพิ่ม แสดงว่าผู้ส่งเจตนาที่จะไม่แจ้งมูลค่าสินค้าเพื่อการขนส่งเพื่อจะไม่ต้องเสียค่าระวางเพิ่ม จึงฟังได้ว่าผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดของจำเลยตามที่ระบุไว้ในใบรับขนทางอากาศตาม ป.พ.พ. มาตรา 625
สัญญารับขนระหว่างจำเลยซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าให้บริการรับขนสินค้าทางอากาศกับผู้ส่งซึ่งเป็นผู้ประกอบการค้าขายสินค้าเครื่องประดับให้แก่ผู้ซื้อในต่างประเทศเป็นสัญญาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจการค้าด้วยกัน แม้ข้อสัญญาในใบรับขนทางอากาศที่จำเลยทำในลักษณะแบบพิมพ์ข้อตกลงสำเร็จรูปโดยให้จำกัดความรับผิดกรณีสินค้าที่รับขนส่งสูญหายหรือเสียหายไว้เพียง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อน้ำหนักสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน ซึ่งต่ำกว่าราคาสินค้าของผู้ส่งมากอันทำให้ผู้ส่งต้องรับภาระมากหากสินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหายก็ตาม แต่ตามข้อสัญญานี้ก็ให้โอกาสผู้ส่งตกลงให้จำเลยรับผิดสูงขึ้นได้โดยต้องระบุแจ้งราคาสินค้าเพื่อการขนส่งให้จำเลยทราบและเสียค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ไม่ได้บังคับให้ผู้ส่งต้องยอมรับจำนวนจำกัดความรับผิดตามที่ระบุไว้นั้นโดยเด็ดขาด ขณะที่ผู้ส่งสินค้าก็สามารถเอาประกันภัยได้ กรณีย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบหรือทำให้คู่สัญญาอีกฝ่ายต้องรับภาระเกินกว่าที่คาดหมายตามปกติได้ ข้อสัญญาจำกัดความรับผิดของจำเลยจึงมิใช่ข้อสัญญาที่ทำให้จำเลยได้เปรียบผู้ส่งซึ่งเป็นคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเกินสมควรอันจะถือเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม
of 33