คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ปริญญา ดีผดุง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 328 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8149/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาเดิม โดยเน้นประเด็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทต้องเป็นไปตามที่คู่ความยกขึ้น และอายุความในการเรียกค่าเช่า
แม้จำเลยที่ 1 อ้างว่ามีสถานีบริการอื่นมาเปิดใกล้เคียงกับสถานีบริการน้ำมันบางจากของจำเลยที่ 1 ก็เป็นวิสัยของการประกอบการที่จะต้องมีการแข่งขัน ไม่ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 กลายเป็นพ้นวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 1 หลุดพ้นจากหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์
การกำหนดประเด็นข้อพิพาทต้องกำหนดตามที่คู่ความยกขึ้นกล่าวอ้างในคำฟ้องและคำให้การเท่านั้น คดีนี้ไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์ขาดอายุความ 5 ปี ในการเรียกค่าเช่าที่ได้ชำระล่วงหน้าจากจำเลยที่ 2 หรือไม่ แม้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจะกำหนดประเด็นข้อพิพาทข้อนี้ตามที่คู่ความแถลงรวมทั้งวินิจฉัยประเด็นข้อนี้ไว้ด้วย ก็เป็นประเด็นข้อพิพาทและข้อวินิจฉัยที่นอกเหนือไปจากคำฟ้องและคำให้การ ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 183 อุทธรณ์ข้อนี้จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7339/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาซื้อขาย และการคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยเมื่อสัญญาเดิมไม่สามารถบังคับได้
โจทก์ทั้งสองทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมอาคารในโครงการเมืองทองสุขสวัสดิ์กับจำเลย และได้ผ่อนชำระเงินดาวน์ให้แก่จำเลยแล้ว 24 งวด แต่จำเลยยังมิได้ก่อสร้างอาคารตามสัญญา อันเป็นการผิดสัญญาต่อโจทก์ทั้งสองซึ่งโจทก์ทั้งสองอาจใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อโจทก์ทั้งสองขอรับเงินที่ชำระไปแล้วคืนจากจำเลย แต่จำเลยอ้างว่าไม่อาจคืนเงินได้และเสนอขอชำระหนี้เป็นที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี ต่อมาโจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าในโครงการเมืองทองธานี โดยให้นำเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระไว้แล้วตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมรวมทั้งเงินรางวัลส่วนลดถือเป็นเงินค่าจองมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่จึงเป็นการตกลงเปลี่ยนวัตถุแห่งหนี้ที่จำเลยพึงกระทำเพื่อปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ในขณะนั้น หากจำเลยสามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเปล่าให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ก็ไม่มีเหตุผลใดที่โจทก์ทั้งสองจะไม่ไปรับโอนที่ดินดังกล่าว ประกอบกับคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมโดยมิได้กล่าวถึงสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ และมิได้นำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่มาอ้างอิงต่อศาล เพราะโจทก์ทั้งสองได้คืนต้นฉบับสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่จำเลยไปแล้วเนื่องจากจำเลยขอคืนโดยจำเลยแจ้งว่าไม่สามารถโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ให้แก่โจทก์ทั้งสองได้เพราะติดจำนองกับธนาคารตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างจริง พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาไม่ประสงค์จะบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ต่อกันด้วยต่างล่วงรู้ในข้อเท็จจริงว่าทรัพย์ที่เป็นวัตถุแห่งหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่สามารถโอนทางทะเบียนให้แก่โจทก์ทั้งสองได้ ประกอบกับข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ ไม่มีข้อความใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่ามูลหนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมให้เป็นอันระงับสิ้นไป การทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่เช่นนี้จึงมิใช่การแปลงหนี้ใหม่อันจะทำให้หนี้ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมเป็นอันระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมแล้วตามหนังสือบอกเลิกสัญญา คู่สัญญาจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 จำเลยจึงต้องคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยและค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง สำหรับเงินรางวัลส่วนลดซึ่งจำเลยยินยอมให้ถือเอาส่วนลดนี้เป็นเงินค่างวดที่โจทก์ทั้งสองได้ชำระแล้วเป็นสิทธิอันพึงมีของโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องมาจากการทำสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม แม้โจทก์ทั้งสองได้แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์ตามสิทธินั้นแล้ว และต่อมามีการถือเอาเงินส่วนลดเป็นส่วนหนึ่งของเงินมัดจำตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ แต่เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับใหม่ไม่อาจบังคับได้ โจทก์ทั้งสองย่อมได้สิทธิตามส่วนลดนี้ก็ต่อเมื่อมีการโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์ตามสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิม เมื่อสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมถูกบอกเลิกแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม สิทธิในเงินรางวัลส่วนลดอันสืบเนื่องมาจากสัญญาจะซื้อจะขายฉบับเดิมจึงหมดไปและไม่อาจถือเป็นค่าเสียหายอันเกิดแต่พฤติการณ์พิเศษ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7278-7279/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแต่งตั้งทรัสตี: ผู้มีส่วนได้เสีย, ความเหมาะสม, และการดูแลทรัพย์สินตามวัตถุประสงค์ของทรัสต์
ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเป็นที่ดินที่ชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนที่มาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ร่วมกันออกเงินซื้อมาก่อตั้งเป็นทรัสต์เพื่อใช้เป็นสถานที่ฝังศพของชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยน เมื่อทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าจัดตั้งขึ้นก่อน ป.พ.พ. บรรพ 6 มาตรา 1686 ประกาศใช้ย่อมมีผลใช้บังคับกันได้ต่อไปไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด เว้นแต่ผู้รับประโยชน์ทุกคนตกลงให้เลิกกันเมื่อ ล ทรัสตีคนเดิมถึงแก่ความตาย ผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการย่อมร้องขอต่อศาลให้ตั้งทรัสตีคนใหม่แทนเพื่อให้ทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋ามีผู้ดูแลจัดการได้ต่อไป
ผู้ร้องเป็นทายาทของ ต ชั้นหลานและศพของ ต ได้ฝังอยู่ในป่าช้าจีนบ้าบ๋า ซึ่งผู้ร้องและญาติได้มาเคารพกราบไหว้ตามประเพณี เมื่อที่ดินดังกล่าว ต ล และชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนที่มาจากสาธารณรัฐสิงคโปร์ร่วมกันออกเงินซื้อมาจัดตั้งเป็นทรัสต์ป่าช้าจีนบ้าบ๋าเพื่อใช้เป็นสถานที่ฝังศพของชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยนมิใช่เพื่อชาวจีนกลุ่มอื่น ผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอให้ศาลตั้งผู้ร้องเป็นทรัสตีของทรัสต์ป่าช้าบ้าบ๋าได้
ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 เป็นชาวจีนแคะ แม้มีบิดาเลี้ยงเป็นชาวจีนบ้าบ๋าหรือฮกเกี้ยน ผู้คัดค้านที่ 3 ก็มิได้เกี่ยวข้องกับบิดาเลี้ยงทางสายโลหิต ย่อมไม่มีบรรพบุรุษฝังอยู่ในป่าช้าจีนบ้าบ๋า และเมื่อผู้คัดค้านที่ 3 เคยยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ครอบครองปรปักษ์ที่ดินป่าช้าจีนบ้าบ๋าซึ่งศาลฎีกาตัดสินว่า การดำเนินคดีของผู้คัดค้านที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 3 ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ก็ไม่อาจบังคับได้ ผู้คัดค้านที่ 3 ซึ่งเป็นคู่ความย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 3 จึงมิใช่ผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินที่จะขอให้ศาลตั้งผู้คัดค้านที่ 3 เป็นทรัสตีป่าช้าจีนบ้าบ๋าแทน ล ทรัสตีคนเดิม ปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาแต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7203/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่สุจริต และสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยใช้ก่อน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ประกอบด้วยรูปสุนัข และคำว่า "BULLDOG" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมก็เป็นรูปสุนัข เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงต่างมีรูปสุนัขเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบก็เห็นได้ว่าเป็นรูปสุนัขยืนหันหน้าในท่าเดียวกัน รูปร่างลักษณะของสุนัขเป็นสุนัขพันธ์เดียวกันและคล้ายกันมากจนอาจเรียกได้ว่าเกือบเหมือนกัน ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบความแตกต่าง แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีคำว่า "BULLDOG" ประกอบอยู่ด้วย ก็เห็นได้ชัดว่ารูปสุนัขเป็นสาระสำคัญและมีลักษณะโดดเด่นยิ่งกว่าคำประกอบ ทั้งรูปสุนัขก็ชัดเจนว่าเป็นสุนัขพันธุ์บูลด็อก สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยร่วมเช่นเดียวกันว่า "ตราสุนัข" หรือ "ตราหมา" หรือ "ตราหมาบูลด็อก" เมื่อนำมาใช้กับสินค้าชนิดเดียวกัน ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกันหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้าจากแหล่งเดียวกัน เมื่อได้ความว่าจำเลยร่วมเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายของต่างประเทศ เป็นผู้เชี่ยวชาญประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผงขัดหรือผงทรายแบบยืดหยุ่น โดยใช้รูปสุนัขที่ผู้ก่อตั้งบริษัทจำเลยร่วมได้คิดประดิษฐ์เป็นเครื่องหมายการค้าใช้กับสินค้าของจำเลยร่วมมาตลอด และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปี 2529 ในปี 2532 จำเลยร่วมได้นำสินค้าของจำเลยร่วมเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ผ่านบริษัทในประเทศไทยเป็นตัวแทนจำหน่ายโดยในขณะนั้นมีโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการผู้มีอำนาจในบริษัทดังกล่าว ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่โจทก์จะนำเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในปี 2535 แสดงว่าจำเลยร่วมได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขบูลด็อกในประเทศไทยมาก่อนโจทก์ ทั้งการที่โจทก์เคยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทตัวแทนจำหน่ายสินค้าของจำเลยร่วม โจทก์ย่อมรู้จักเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมมาก่อนที่โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เชื่อว่าโจทก์จงใจนำเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วมมาขอจดทะเบียน เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต แม้โจทก์จะเคยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแต่ขาดต่ออายุก็ตาม ก็ไม่ทำให้โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าจำเลยร่วม จึงไม่มีเหตุสมควรที่โจทก์จะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวตามคำขอได้ กรณีไม่ถือว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะขัดต่อรัฐประศาสโนบาย อันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตามมาตรา 8 (9) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าฯ เพราะการพิจารณาว่าเครื่องหมายการค้าใดขัดต่อรัฐประศาสโนบายตามบทบัญญัติมาตรานี้ต้องพิจารณาจากลักษณะที่ปรากฏอยู่ในตัวเครื่องหมายซึ่งเป็นภาพถ่าย ภาพวาด ภาพประดิษฐ์ ตรา ชื่อ คำ ข้อความ รูปร่างหรือรูปทรงของวัตถุนั้นเอง ที่ทำให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าเห็นได้อย่างชัดเจนว่าขัดต่อบทบัญญัติของมาตราดังกล่าวในอนุมาตราหนึ่งมาตราใดหรือไม่ มิใช่เป็นกรณีของการนำเครื่องหมายการค้ามาขอจดทะบียนโดยไม่ชอบหรือโดยไม่สุจริตเพราะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่อาจเห็นจากลักษณะของตัวเครื่องหมายที่นำมาขอจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7202/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า ต้องพิจารณาภาพรวมทุกด้าน ไม่ใช่แค่รูปคำหรือข้อความ
การพิจารณาเปรียบเทียบว่าเครื่องหมายการค้าใดคล้ายกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ไม่ใช่พิจารณาเปรียบเทียบเฉพาะรูปหรือคำหรือข้อความที่ปรากฏให้เห็นด้วยสายตาเท่านั้น แต่ต้องพิจารณาดูภาพรวมทุกส่วนของเครื่องหมายนั้น ทั้งสำเนียง เสียงเรียกขาน รายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนหรือที่จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนกลุ่มผู้ซื้อสินค้า ใช้เครื่องหมายการค้า และความสุจริตในการขอจดเครื่องหมายการค้า โดยสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความคล้ายนั้นถึงขนาดที่อาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ สำหรับเครื่องหมายการค้าคำว่า "PROTO" ของจำเลยเปรียเทียบกับคำว่า "proton" ของโจทก์ เห็นได้ว่า คำว่า "PROTO" ประกอบด้วยอักษรโรมันที่เหมือนกัน 5 ตัวแรก นับว่าเครื่องหมายการค้าทั้งสองคล้ายกันระดับหนึ่ง แต่ก็มีความแตกต่างกันหลายประการ กล่าวคือ ต่างจดทะเบียนโดยใช้ตัวอักษรประดิษฐ์ที่มีลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เครื่องหมายการค้าคำว่า "PROTO" อาจเรียกขานได้ว่า โปร-โต หรือ โปร-โต้ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "proton" อาจเรียกขานได้ว่า โปร-ตอน หรือ โปร-ตัน สำเนียงเรียกขานจึงแตกต่างกัน เมื่อพิจารณารายการสินค้าที่ขอจดทะเบียนของเครื่องหมายการค้าทั้งสอง คือ "PROTO" ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า ผ้าเบรก แผ่นคลัตซ์ คลัตช์ออโตเมติก ดุมล้อ ก้ามเบรก วงล้อ ซี่ลวดสำหรับรถจักรยานยนต์ ส่วน "proton" ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 12 รายการสินค้า รถยนต์ แล้ว เห็นได้ว่า แม้จะเป็นสินค้าจำพวกเดียวกัน แต่ก็มีข้อแตกต่างกันที่รายการสินค้าของจำเลยเป็นชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ ซึ่งสาธารณชนผู้ซื้อสินค้าเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะเป็นช่างซ่อมหรือตกแต่งรถจักรยานยนต์ หรือผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่มีความสนใจในการซ่อมหรือตกแต่งรถจักรยานยนต์ สาธารณชนอื่นที่ไม่ใช่บุคคลในกลุ่มผู้ใช้สินค้าดังกล่าวโดยตรง แม้จะเป็นผู้ใช้รถจักรยานยนต์ภายใต้เครื่องหมายการค้านี้ มักไม่ได้เป็นผู้ซื้อชิ้นส่วนอะไหล่หรืออุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ด้วยตนเอง กลุ่มคนที่ซื้อสินค้าเหล่านี้มักจะเป็นผู้คลุกคลี มีความคุ้นเคยและมีความรู้เข้าใจเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ ชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์เป็นอย่างดีพอสมควร บุคคลเหล่านี้ย่อมแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถจักรยานยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "PROTO" ของจำเลยกับสินค้ารถยนต์หรือชิ้นส่วนอะไหล่และอุปกรณ์ของรถยนต์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "proton" ของโจทก์ ซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาสูงกว่าสินค้าของจำเลยมาก เครื่องหมายการค้าคำว่า "PROTO" ของจำเลย จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "proton" ของโจทก์ จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) ประกอบมาตรา 13 และ มาตรา 6 (2) ประกอบมาตรา 8 (10)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7195/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกอบกิจการให้เช่า/จำหน่ายภาพยนตร์ทางอินเทอร์เน็ต ต้องได้รับใบอนุญาตตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ สถานที่ประกอบการไม่ใช่องค์ประกอบความผิด
ความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง มีองค์ประกอบเพียงการกระทำด้วยการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายภาพยนตร์ในลักษณะที่ทำเป็นธุรกิจหรือได้รับประโยชน์ตอบแทน และการไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนเท่านั้น สถานที่ประกอบกิจการไม่ใช่องค์ประกอบความผิดฐานนี้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแสดงข้อเท็จจริงในความผิดนี้ว่า จำเลยกระทำการประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายแผ่นดีวีดีภาพยนตร์ โดยทำเป็นธุรกิจทางอินเทอร์เน็ต และระบุถึงเว็บไซต์หรือเว็บเพจเพื่อการติดต่อซึ่งได้รับประโยชน์ตอบแทน โดยจำเลยไม่ได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียน มีสถานที่เกิดเหตุในแขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร และตำบลบางแก้ว อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เกี่ยวพันกัน การบรรยายฟ้องจึงครบองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 38 วรรคหนึ่งดังกล่าวแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6475/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความชอบด้วยกฎหมายของคำฟ้องชิงทรัพย์ แม้ไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหาย
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนสั้นชิงทรัพย์สร้อยคอทองคำราคา 7,000 บาท พระเครื่องเลี่ยมทองคำราคา 1,800 บาท โทรศัพท์เคลื่อนที่ราคา 4,000 บาท กระเป๋าสตางค์ราคา 1,300 บาท ภายในบรรจุบัตรประจำตัวประชาชน ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ บัตรเอทีเอ็ม ธนบัตร 4,400 บาท รวมเป็นเงิน 18,100 บาท ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต โดยจำเลยใช้อาวุธปืนจี้ขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อาวุธปืนยิงให้ตายหากขัดขืน เพื่อความสะดวกแก่การลักทรัพย์ พาทรัพย์นั้นไป ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์และให้พ้นจากการจับกุม อันเป็นการกล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุชื่อผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของทรัพย์ แต่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์องค์ประกอบแห่งความผิดดังกล่าวอยู่ที่การเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริต ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยตลอดแล้ว ที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตย่อมเข้าใจได้ว่าจำเลยลักเอาทรัพย์ของผู้อื่นซึ่งไม่ใช่ทรัพย์ของจำเลยหรือเป็นทรัพย์ไม่มีเจ้าของไปโดยทุจริต เช่นนี้ฟ้องของโจทก์จึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับบุคคลและสิ่งของพอสมควรที่จำเลยจะต่อสู้คดีได้แล้ว โดยไม่จำต้องระบุชื่อผู้เสียหาย มิฉะนั้นหากไม่ทราบชื่อของผู้เสียหายก็จะทำให้ไม่มีทางที่จะฟ้องคดีในความผิดฐานลักทรัพย์หรือชิงทรัพย์ได้ซึ่งไม่ใช่เป็นเจตนารมณ์ของกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5479/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำร้ายร่างกายจนเป็นอันตรายสาหัส: การกระทำร่วมกันและเจตนาในการทำร้าย
จำเลยทั้งสามกับพวกร่วมกันทำร้ายโจทก์ร่วมต่อเนื่องกัน เมื่อ ร. พวกของจำเลยนำมีดหัวตัดที่นำติดตัวมาฟันโจทก์ร่วมจนเป็นอันตรายสาหัส จำเลยทั้งสามต้องรับผลในสิ่งที่ตนเองกับพวกกระทำลงไป จะอ้างว่ามีเจตนาเพียงทำร้ายร่างกายเท่านั้นหาได้ไม่ เมื่อโจทก์ร่วมได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัส จำเลยทั้งสามจึงมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสตาม ป.อ. มาตรา 297 (8) ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5017/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าปลอม และการคุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ
การเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้สำหรับสินค้านมข้นหวานในจำพวก 29 มาใช้โดยทำให้ปรากฏที่กล่องหรือลังกระดาษสำหรับบรรจุ ซึ่งเท่ากับเป็นการใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้านมกระป๋องดังกล่าวโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าที่อยู่ในกล่องกระดาษหรือลังดังกล่าวเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมถือได้ว่าเป็นการปลอมเครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรตามที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นความผิดโดยเฉพาะแล้ว ดังนั้น การเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อบรรจุสินค้าโดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้อื่นอันจะเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 271 (1) นั้น จึงต้องเป็นการเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในราชอาณาจักรมาใช้เท่านั้น เพราะหากเป็นเครื่องหมายการค้าที่ได้รับการจดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร การกระทำดังกล่าวจะเป็นความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าดังที่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 บัญญัติไว้เป็นบทเฉพาะซึ่งมีระวางโทษหนักกว่า
เมื่อการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่เป็นเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์ร่วมมาใช้โดยทำให้ปรากฏที่หีบห่อเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ร่วมเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 108 ซึ่งเป็นบทเฉพาะแล้ว การกระทำดังกล่าวจึงไม่อาจเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) ได้อีก แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์ฟ้องก็ตาม ไม่ใช่เรื่องการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทตาม ป.อ. มาตรา 90
เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มีวัตถุประสงค์ในการควบคุมคุณภาพของอาหารเพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ความผิดฐานจำหน่ายอาหารปลอมตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 59 ประกอบมาตรา 25 (2) และ 27 จึงเป็นความผิดต่อรัฐ รัฐเท่านั้นที่เป็นผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานนี้ ไม่อาจอุทธรณ์ในข้อหาความผิดฐานนี้ได้
แม้ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรปลอมได้ ก็ต้องริบนมกระป๋องตรามะลิปลอมของกลางตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4862/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสนอขายสินค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้า จำเลยต้องพิสูจน์ว่าได้รับอนุญาตจากเจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจะไม่มีความผิด
โจทก์ร่วมเป็นเจ้าของชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ที่ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ที่โจทก์ร่วมใช้กับสินค้าต่างๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์ร่วมและได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าหลายชนิดของโจทก์ร่วมในราชอาณาจักร การที่มีบุคคลอื่นผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นำมาให้จำเลยจำหน่ายโดยที่สินค้า กล่องบรรจุสินค้า และสมุดคู่มือการใช้สินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวใช้คำว่า "BOSCH HID" ติดอยู่กับสินค้า ซึ่งคำดังกล่าวมีตัวอักษรเป็นตัวพิมพ์ใหญ่สีแดงเช่นเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วม อีกทั้งข้างกล่องบรรจุสินค้ายังติดสติกเกอร์ระบุคำว่า "GERMANY BOSCH" เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นผลิตภัณฑ์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายประเทศเยอรมนี แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในราชอาณาจักร แต่สินค้าดังกล่าวก็เป็นสินค้าชนิดเดียวกับสินค้าไฮดรอลิก ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของยานพาหนะของโจทก์ร่วมที่ได้จดทะเบียนไว้ในราชอาณาจักร ย่อมถือได้ว่าเจ้าของสินค้าที่ผลิตสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์ดังกล่าวเอาเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมทุกตัวอักษรที่ยังไม่ได้จดทะเบียนไว้กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์มาใช้โดยเจตนาให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าดังกล่าวหลงเชื่อว่าสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์นั้นเป็นสินค้าของโจทก์ร่วม และแม้จะปรากฏว่าคำที่ใช้กับสินค้าดังกล่าวมีคำว่า "HID" ต่อจากคำว่า "BOSCH" ด้วยก็ตาม คำว่า "HID" เป็นเพียงสิ่งบ่งบอกถึงคุณสมบัติของสินค้าที่หมายถึงให้ความเข้มข้นของแสงไฟสูงเท่านั้น ไม่ใช่การเพิ่มเติมในส่วนสาระสำคัญเพียงพอที่จะทำให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" และ คำว่า "BOSCH HID" จึงหาทำให้ประชาชนผู้ซื้อสินค้าไม่อาจหลงเชื่อว่าสินค้านั้นไม่ใช่สินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" ของโจทก์ร่วมไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏจากพยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า บริษัท บ. เจ้าของสินค้าได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมให้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "BOSCH" กับสินค้าชุดหลอดไฟติดรถยนต์หรือไม่ ซึ่งหากได้รับอนุญาตจากโจทก์ร่วมแล้ว การที่จำเลยเสนอจำหน่ายสินค้าดังกล่าวย่อมไม่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 272 (1) ได้ เพราะเป็นการเสนอขายสินค้าที่มิได้มีการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีความสงสัยตามสมควร ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
of 33