คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 72

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8143/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทิ้งฟ้องอุทธรณ์เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล และความรับผิดของผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกัน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์โดยมีคำสั่งว่า "รับอุทธรณ์ของโจทก์สำเนาให้จำเลยแก้ภายใน 15 วัน ให้โจทก์นำส่งภายใน 5 วัน ไม่มีผู้รับโดยชอบให้ปิด หากส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงเพื่อดำเนินการต่อไปภายใน 15 วัน นับแต่วันส่งไม่ได้ หากไม่แถลงให้ถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์" และในวันเดียวกันโจทก์แถลงขอให้ส่งหมายและสำเนาอุทธรณ์ให้แก่จำเลยที่ 1 ข้ามเขตศาลโดยแนบตั๋วแลกเงินไปรษณีย์จำนวน 300 บาท เป็นค่าส่งหมาย ต่อมาศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งคำสั่งให้ทนายโจทก์ทราบว่าอัตราค่าส่งหมายให้จำเลยที่ 1 ยังขาดค่าพาหนะอีก 100 บาท ให้นำเงินค่าพาหนะมาวางเพิ่ม โจทก์มีหน้าที่ต้องนำค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง เนื่องจากศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้โจทก์เป็นผู้จัดการนำส่ง ดังนั้น นอกจากโจทก์จะต้องเสียค่าธรรมเนียมในการส่งแล้ว โจทก์ยังมีหน้าที่จัดการนำส่งสำเนาอุทธรณ์ด้วย ซึ่งในคดีนี้เป็นการส่งสำเนาอุทธรณ์ข้ามเขตศาลและโจทก์ไม่ไปจัดการนำส่ง จึงต้องเสียเงินค่าพาหนะในการนำส่งให้เจ้าหน้าที่ศาลให้ครบถ้วน การที่โจทก์ไม่นำเงินค่าพาหนะเพิ่มมาวางศาลตามที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง จึงเป็นการไม่ดำเนินการภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นกำหนด ซึ่งนับแต่วันที่โจทก์ทราบคำสั่งจนถึงวันที่เจ้าหน้าที่ศาลรายงานว่าโจทก์ไม่ได้วางเงินค่าพาหนะเพิ่มและศาลชั้นต้นสั่งให้ส่งรายงานเจ้าหน้าที่ไปยังศาลอุทธรณ์เป็นเวลา 2 เดือนเศษ และเมื่อนับถึงวันที่นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ครั้งแรกเป็นเวลา 1 ปีเศษ โจทก์ก็ยังมิได้ดำเนินการตามคำสั่งศาลแต่อย่างใด ถือว่าโจทก์เพิกเฉยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนด ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2) ประกอบมาตรา 246 ที่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 72,947.44 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยทั้งสองชำระเต็มตามฟ้อง แต่เมื่อโจทก์ทิ้งฟ้องอุทธรณ์สำหรับจำเลยที่ 1 ความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงยุติเพียงเท่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษาไว้ ดังนั้น จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันซึ่งผูกพันตนต่อโจทก์เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น จึงไม่ต้องรับผิดชำระหนี้เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ แม้จำเลยที่ 2 จะทำสัญญาค้ำประกันระบุว่ายอมรับผิดชอบร่วมกับผู้เช่าซื้อทุกประการก็หมายความเพียงว่ากรณีทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หรือยอมรับผิดร่วมกับลูกหนี้ นั้น ป.พ.พ. มาตรา 691 ได้บัญญัติถึงความรับผิดของผู้ค้ำประกันประเภทนี้ว่า "ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดังกล่าวไว้ในมาตรา 688, 689 และ 690" คือไม่มีสิทธิที่จะเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ก่อน ไม่มีสิทธิขอให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อนและไม่มีสิทธิร้องขอให้เจ้าหนี้เอาทรัพย์ของลูกหนี้ที่ยึดถือไว้เป็นประกันมาชำระหนี้ก่อน เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ 132,947.44 บาท เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ จึงเป็นการไม่ชอบ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 837/2538 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิผ่านทางจำเป็นและค่าทดแทน: เงื่อนไขการใช้สิทธิและการกำหนดค่าเสียหาย
ที่ดินของโจทก์ติดกับลำรางสาธารณะ แต่ลำรางไม่มีน้ำที่จะใช้เป็นทางสัญจรทางเรือตลอดเวลา เพราะบางฤดูน้ำแห้งและเป็นโคลน มีสภาพตื้นเขินประชาชนที่อาศัยอยู่ตามริมลำรางไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรมาประมาณ 10 ปีแล้ว จึงไม่เป็นทางสาธารณะตาม ป.พ.พ.มาตรา 1349 ที่ดินของโจทก์มีที่ดินแปลงอื่นล้อมอยู่จนไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะได้ โจทก์จึงมีสิทธิผ่านที่ดินของจำเลยในฐานะเป็นทางจำเป็นเพื่อออกไปสู่ทางสาธารณะที่ใกล้ที่สุดได้ โดยให้โจทก์มีสิทธิในทางเพียงเพื่อความจำเป็นในการเข้าออกที่ดินตามปกติที่มิใช่การค้า
จำเลยฎีกาว่าทางในที่ดินของจำเลยเป็นถนนส่วนบุคคลไม่ใช่ที่ดินว่างเปล่า จึงไม่มีกฎหมายในเรื่องทางจำเป็นที่จะบังคับให้จำเลยยินยอมให้โจทก์ใช้ถนนของจำเลยได้ โดยจำเลยมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และมิใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามฎีกาตามป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ฟ้องขอให้บังคับจำเลยเปิดทางจำเป็น และได้เสนอค่าทดแทนความเสียหายให้แก่จำเลยและจำเลยให้การต่อสู้ในข้อนี้ แต่คำขอท้ายฟ้องของโจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยรับเงินค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยและจำเลยก็มิได้ฟ้องแย้งเรียกร้องค่าทดแทนดังกล่าวว่าควรจะเป็นจำนวนเท่าใดที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าทดแทนความเสียหายที่โจทก์ใช้ที่ดินของจำเลยตามที่โจทก์เสนอมาพอสมควรหรือไม่ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าค่าทดแทนที่โจทก์เสนอมาเป็นจำนวนน้อยไม่คุ้มกับความเสียหายที่จำเลยจะได้รับและข้อเท็จจริงยังไม่เพียงพอที่จะกำหนดค่าทดแทนนั้น ศาลฎีกาจึงยังไม่วินิจฉัยให้ ชอบที่จำเลยจะว่ากล่าวเอาแก่โจทก์ในเรื่องค่าทดแทนความเสียหายเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก
แม้ ป.พ.พ.มาตรา 1352 จะบัญญัติว่าเจ้าของที่ดินต้องยอมให้ผู้อื่นวางท่อน้ำ ท่อระบายน้ำ สายไฟฟ้า หรือสิ่งอื่นซึ่งคล้ายกันผ่านที่ดินของตนเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินติดต่อก็ตาม แต่ความในมาตรานี้ก็บัญญัติไว้ด้วยว่าเจ้าของที่ดินจะต้องยอมก็ต่อเมื่อได้รับค่าทดแทนตามสมควรแล้ว ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้ที่จะวางต้องบอกกล่าวเสนอจำนวนค่าทดแทนให้เจ้าของที่ดินทราบก่อน ตามคำฟ้องไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์เคยบอกกล่าวเสนอค่าทดแทนแก่จำเลย ทั้งคำขอท้ายฟ้องโจทก์ก็มิได้ขอให้จำเลยรับเงินค่าทดแทนจากโจทก์ คดีจึงไม่มีประเด็นว่าโจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิตาม ป.พ.พ.มาตรา 1352 ได้หรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 627/2502

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การระบุพยานเพิ่มเติมในคดีแพ่ง: การยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมเพียงอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องส่งสำเนาคำแถลง
การระบุพยานเพิ่มเติมก่อนเสร็จการสืบพยานของฝ่ายที่นำสืบก่อนทำได้โดยยื่นบัญชีพยานเพิ่มเติมเท่านั้น หาจำต้องทำโดยมีสำเนาคำแถลงให้แก่คู่ความอีกฝ่ายไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1144/2493 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคล: กรรมการ/ผู้จัดการไม่ต้องรับผิดหากการกระทำผิดเกิดจากความรับผิดของบริษัท
บริษัทจำกัดมีลวดเก็บไว้ในโกดังของบริษัท โดยมีแขกยามเฝ้ารักษา ย่อมถือว่าลวดอยู่ในความครอบครองของบริษัท ซึ่งเป็นนิติบุคคล เมื่อไม่มีการแจ้งปริมาณและสถานที่เก็บอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศของคณะกรรมการควบคุมเครื่องอุปโภคบริโภค ฯลฯ ในกรณีเช่นนี้ต้องถือว่า บริษัทเป็นผู้กระทำผิดกรรมการหรือผู้จัดการไม่มีความผิดเป็นส่วนตัว
ข้อเท็จจริงได้ความไม่ตรงกับที่บรรยายฟ้องหรือไม่นำสืบให้สมฟ้อง ก็ไม่จำต้องวินิจฉัยในเรื่องของกลางและเรื่องจ่ายเงินรางวัล ให้คืนของกลางไป