คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ม. 5

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,606 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำเหน็จลูกจ้างสถาบันศึกษาเอกชนภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันศึกษาเอกชน: ระเบียบของสถาบันมีผลเหนือข้อตกลงสภาพการจ้าง
ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างประเภทสถาบันอุดมศึกเอกชนมีการคุ้มครองแรงงานไว้โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 23 กิจการของจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เพียงแต่ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549 อันเป็นกฎกระทรวงที่คุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5
การที่จำเลยออกระเบียบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ 2549 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิกระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 ไม่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 หรือจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 จำเลยมีอำนาจออกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (2) แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 โดยไม่จำต้องตกลงกับโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลย หรือโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลยต้องยินยอมโดยชัดแจ้ง
แม้โจทก์จะเข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยในขณะที่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 ใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 129 บัญญัติให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตาม พ.ร.บ.นี้ โจทก์จึงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาจำเลย และต้องอยู่ภายใต้บังคับระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ที่ออกมาโดยชอบ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงยังคงใช้บังคับแก่ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบดังกล่าวชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เมื่อย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว ศาลแรงงานกลางไม่ต้องพิพากษาคดีใหม่หากเห็นว่าไม่เป็นให้ผลคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่เป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ต้องพิพากษาคดีใหม่ การย้อนสำนวนในกรณีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่จำต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เพราะหากศาลแรงงานกลางไม่ได้พิพากษาคดีนั้นใหม่ ก็เท่ากับว่าไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตรวจสอบเพราะถูกยกไปเสียแล้ว ดังนั้น ในส่วนของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาคดีใหม่ จึงไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8986-8997/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างที่ชุมนุมประท้วงไม่ชอบด้วยกฎหมาย นายจ้างมีสิทธิเลิกจ้างได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย
ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 คำว่า "การนัดหยุดงาน" หมายความว่า การที่ลูกจ้างร่วมกันไม่ทำงานชั่วคราวเนื่องจากข้อพิพาทแรงงาน แสดงว่าการนัดหยุดงานเป็นวิธีการของฝ่ายลูกจ้างที่ได้กระทำเพื่อบังคับฝ่ายนายจ้างให้ยอมรับตามข้อเรียกร้องของตนในการเจรจาต่อรองโดยวิธีการร่วมกันไม่ทำงานให้แก่นายจ้างพร้อมกันเท่านั้น แต่การกระทำอย่างอื่น เช่น การปิดกั้นหรือการชุมนุมโดยละเมิดสิทธิของผู้อื่นนั้นย่อมมิใช่การนัดหยุดงานหรือเป็นส่วนหนึ่งของการนัดหยุดงานแต่อย่างใด และเมื่อมิใช่การนัดหยุดงานและไม่มีกฎหมายระบุให้กระทำได้โดยไม่ต้องรับผิด ดังเช่นที่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 แล้ว ผู้กระทำย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับพวกมีการใช้กำลังฝ่าฝืนดึงดันเข้าไปในพื้นที่ชุมนุมโดยไม่ฟังการห้ามปรามของพนักงานรักษาความปลอดภัยของจำเลยและบริษัท จ. มีการนำเต็นท์ขนาดใหญ่ เครื่องขยายเสียงและสุขาเคลื่อนที่เข้าไปติดตั้ง นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์เข้าไปจอด ใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยส่งเสียงรบกวนการทำงานของพนักงานจำเลยและบริษัท จ. ที่ไม่ได้หยุดงานต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับพวกร่วมกันชุมนุมโดยไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 99 (4) โจทก์ที่ 1 และที่ 2 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายดังกล่าว เมื่อการชุมนุมก่อให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยถือว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่นายจ้าง จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7362/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การปิดงานโดยจงใจเลือกปฏิบัติขัดขวางสหภาพแรงงาน มิใช่การปิดงานตามกฎหมาย
แม้ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 และมาตรา 22 วรรคสาม ไม่มีข้อความตอนใดอันมีลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิของนายจ้างว่า เมื่อมีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้แล้ว นายจ้างจะต้องใช้สิทธิปิดงานทั้งหมด นายจ้างย่อมมีสิทธิปิดงานบางส่วนเฉพาะลูกจ้างที่มีข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้ แต่สำหรับคดีนี้การที่โจทก์ปิดงานเฉพาะลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน บ. และผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้าง โดยอ้างว่าโจทก์ไม่สามารถทราบได้ว่าลูกจ้างโจทก์คนใดบ้างที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. หรือเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องหรือข้อพิพาทแรงงานนั้น เมื่อข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกิดจากการแจ้งข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน บ. ซึ่งแจ้งข้อเรียกร้อง โดยสหภาพแรงงาน บ. มีสมาชิกประมาณ 125 คน จากลูกจ้างของจำเลยทั้งหมดประมาณ 200 คน ซึ่งเกินกว่าหนึ่งในห้าของลูกจ้างทั้งหมด การที่จะตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าลูกจ้างของจำเลยคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ที่ถือว่าเป็นผู้ร่วมแจ้งข้อเรียกร้องด้วยนั้น โจทก์สามารถกระทำได้โดยยื่นคำร้องเป็นหนังสือให้พนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานตรวจรับรองลูกจ้างซึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ได้ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 15 วรรคสาม โจทก์จึงมีหนทางที่จะทราบว่าลูกจ้างคนใดที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน บ. ได้ แต่โจทก์ก็หาได้ขวนขวายที่จะตรวจสอบไม่ และการที่โจทก์อ้างว่าเหตุที่โจทก์ปิดงานเฉพาะผู้แทนการเจรจาของสหภาพแรงงาน บ. เนื่องจากไม่ทราบว่าลูกจ้างคนใดเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานดังกล่าวนั้น ก็ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในการเจรจาสหภาพแรงงาน บ. ส่งผู้แทนการเจรจาฝ่ายลูกจ้างรวม 7 คน แต่โจทก์กลับเลือกปิดงานเฉพาะกับลูกจ้าง 5 คน ซึ่งเป็นกรรมการสหภาพแรงงาน บ. แสดงว่าโจทก์มิได้มีเจตนาปิดงาน เนื่องจากข้อพิพาทแรงงานอันถือเป็นการปิดงานตามนิยามคำว่า "การปิดงาน" ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 แต่เป็นการจงใจเลือกปฏิบัติใช้การปิดงานโดยมีเจตนากลั่นแกล้งให้ลูกจ้างทั้ง 5 คน ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถทนทำงานอยู่ต่อไปได้เพราะเหตุที่สหภาพแรงงาน บ. ได้ยื่นข้อเรียกร้องและเป็นการขัดขวางการดำเนินการของสหภาพแรงงานตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 (1) และ (4) การกระทำของโจทก์จึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1306/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงการจ้างงานรับเหมาช่วงมีผลเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หากมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างโดยตรง
ข้อตกลงข้อที่ 5 ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ระบุว่าจำเลยมีนโนบายจ้างแรงงานจากบริษัทรับเหมาช่วงในอัตราไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวนพนักงานจำเลยในหน่วยงานนั้น แต่ถ้ามีความจำเป็นจำเลยว่าจ้างเพิ่มขึ้นได้ไม่เกินร้อยละ 30 ของจำนวนพนักงานจำเลยในหน่วยงานนั้น เป็นเงื่อนไขการจ้างหรือประโยชน์อื่นของจำเลยหรือลูกจ้างตามความหมายของคำว่า "ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง" และ "สภาพการจ้าง" ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 เนื่องจากหากจำเลยจ้างแรงงานรับเหมาช่วงโดยไม่อยู่ในข้อตกลงข้อที่ 5 จำเลยจะจ้างแรงงานรับเหมาช่วงไปเรื่อย ทำให้สัดส่วนลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยน้อยลงไปเรื่อยโดยไม่มีข้อจำกัด ย่อมส่งผลกระทบต่อลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยในเรื่องค่าจ้างและสวัสดิการให้หยุดอยู่กับที่ไม่มีการพัฒนาต่อไป ข้อตกลงข้อที่ 5 มีผลบังคับเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงผูกพันจำเลยให้ต้องปฏิบัติตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13889/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สถานะนายจ้าง-ลูกจ้างซ้อน: กรรมการลูกจ้างต้องไม่มีสถานะขัดแย้งกับนายจ้าง
โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลยแต่ในขณะเดียวกันโจทก์ก็ได้รับมอบอำนาจจากจำเลยให้มีอำนาจลงนามในหนังสือสัญญาจ้าง เลิกจ้าง อนุมัติ ระงับทดลองงาน และแต่งตั้งโยกย้ายพนักงาน พิจารณาลงโทษพนักงานที่กระทำผิดระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง และลงนามในหนังสือคำเตือนห้ามพนักงานกระทำผิดซ้ำคำเตือน ซึ่งอำนาจดังกล่าวของโจทก์ไม่ปรากฏว่าโจทก์ต้องได้รับความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากผู้ใดอีก โจทก์ย่อมมีอำนาจกระทำการแทนตามที่ได้รับมอบโดยเด็ดขาด โจทก์จึงมีฐานะเป็นนายจ้างด้วยตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ซึ่งฐานะนายจ้างและลูกจ้างย่อมมีผลประโยชน์บางส่วนขัดกัน การที่สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงขัดต่อเจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของการประชุมระหว่างนายจ้างและคณะกรรมการลูกจ้างตาม มาตรา 50 สหภาพแรงงานแต่งตั้งโจทก์เป็นกรรมการลูกจ้างจึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีฐานะเป็นกรรมการลูกจ้างและไม่ได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 52 จำเลยไม่จำต้องได้รับอนุญาตจากศาลแรงงานในการเลิกจ้างโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10786/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อบังคับบริษัทจำกัดสิทธิลูกจ้างในการแต่งกายเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ขัดต่อกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
ผู้ร้องประกอบธุรกิจผลิตอัญมณี เครื่องประดับที่ทำด้วยทองเคและเงินเพื่อการส่งออก จึงเป็นเหตุผลให้ต้องมีข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ระบุว่า "พนักงานต้องไม่สวมใส่เครื่องประดับ หรือประดับกายด้วยสิ่งที่เป็นโลหะ รวมถึงการสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่มีโลหะตกแต่ง หรือยึดเกาะ เข้า - ออกอาคารผลิต หากพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจพบถือเป็นความผิดร้ายแรง" เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานนำชิ้นงานอัญมณีรวมทั้งเศษทองเคและเงินซุกซ่อนออกจากโรงงาน ซึ่งหากพนักงานสวมใส่สิ่งที่มีโลหะประกอบอยู่ด้วยก็จะเป็นการยากต่อการตรวจสอบ การที่ผู้คัดค้านสวมสร้อยคอเชือกสายร่มและห้อยพระเนื้อดิน แม้จะไม่มีสิ่งที่เป็นโลหะประกอบอยู่ด้วย แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการสวมใส่เครื่องประดับที่อาจใช้ซุกซ่อนอัญมณีหรือชิ้นงานมีค่าอื่น ๆ ของผู้ร้องออกไปได้ จึงเป็นการขัดต่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อดังกล่าว
ข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานข้อดังกล่าวเป็นการกำหนดให้ลูกจ้างปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายในการทำงาน ในระหว่างเวลาทำงานและเฉพาะในสถานประกอบการของนายจ้างเท่านั้น มิได้จำกัดหรือห้ามลูกจ้างไปถึงนอกเวลาทำงานหรือในพื้นที่ทั่วไปแต่ประการใด และมิได้มีส่วนที่จำกัดเสรีภาพของลูกจ้างในการนับถือศาสนาแต่ประการใด จึงมิได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6135-6137/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างและการเลิกจ้าง: การลดค่าจ้างโดยไม่ยินยอม
จำเลยยุบแผนก ย้ายโจทก์ทั้งสามไปทำงานอีกแผนกหนึ่งแล้วแจ้งการลดค่าจ้างโจทก์ทั้งสามและลดค่าจ้างโจทก์ที่ 2 และที่ 3 โดยโจทก์ทั้งสามไม่ยินยอม เป็นเรื่องเกี่ยวกับค่าจ้าง เงื่อนไขการจ้างหรือการทำงาน จึงเป็นสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 จำเลยจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงในลักษณะไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างไม่ได้แม้จะเป็นคำสั่งทางบริหารก็ตาม จะกระทำได้ต่อเมื่อลูกจ้างตกลงยินยอมด้วย
การเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างโดยลูกจ้างไม่ยินยอมเป็นคนละกรณีกับการที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปอันเป็นการเลิกจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสอง
การที่จำเลยแจ้งลดค่าจ้างโจทก์ทั้งสามและลดค่าจ้างโจทก์ที่ 2 ที่ 3 มิใช่การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้อันเป็นการเลิกจ้าง ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง การแจ้งลดค่าจ้าง หรือการลดค่าจ้างเป็นการเลิกจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12888-12893/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแสดงเจตนาในการผูกพันตามประกาศนายจ้าง ลูกจ้างต้องแสดงความยินยอมชัดเจน การลงลายมือชื่อรับทราบอย่างเดียวไม่ถือเป็นการผูกพัน
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ลูกจ้างเพียงแต่ลงลายมือชื่อเพื่อรับทราบประกาศของโจทก์นายจ้างซึ่งห้ามมิให้พนักงานทั่วไปลาออกจากงานแล้วไปประกอบกิจการอย่างหนึ่งอย่างใดอันมีสภาพเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ หรือเข้าทำงานกับบุคคลใดอันมีสภาพการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างเดียวกันและเป็นการแข่งขันกับกิจการของโจทก์ภายในระยะเวลา 2 เดือน โดยไม่มีข้อความส่วนใดในประกาศฉบับดังกล่าวที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ยินยอมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว การลงลายมือชื่อลักษณะนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาให้ความยินยอมของลูกจ้าง เมื่อนายจ้างออกประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียวโดยไม่ได้รับความยินยอมจากลูกจ้าง จึงไม่มีผลให้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 7 ต้องปฏิบัติตาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7773-7776/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การย้ายหอพักของพนักงาน: ไม่ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง หากข้อตกลงไม่ได้ระบุสถานที่เฉพาะ และการฝ่าฝืนคำสั่งย้ายถือเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับทำงาน
ตามบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ระบุไว้แต่เพียงว่าให้จำเลยจัดหอพักให้แก่พนักงานที่อยู่ต่างจังหวัด มิได้ระบุไว้ว่าต้องจัดให้พักเฉพาะที่หอพักจุด 8 เท่านั้น แม้หอพักจุด 10 จะเปลี่ยนแปลงสภาพความเป็นอยู่ แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องความสะดวกสบายเท่านั้นโดยข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมิได้ระบุรายละเอียดไว้ จึงมิใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง
เมื่อข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน ระบุเรื่องสวัสดิการหอพักไว้ ดังนั้นการจัดให้มีหอพักจึงเป็นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน การฝ่าฝืนคำสั่งเกี่ยวกับหอพักจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6863-6879/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง จ่ายดอกเบี้ยสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สิทธิสมาชิกกองทุนโจทก์มีอำนาจฟ้อง
ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ทั้งสิบเจ็ดในข้อ 1 ขอให้จำเลยชำระเงินเป็นจำนวนเท่ากับผลต่างของดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ที่จำเลยจะต้องจ่ายกับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้ ซึ่งคิดคำนวณเป็นรายเดือนจากยอดเงินยกมาของโจทก์แต่ละคน ณ วันที่ 1 มกราคม 2549 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2549 และให้จำเลยชำระเงินซึ่งคำนวณผลประโยชน์ตอบแทนงวดต่อไปในอัตราร้อยละ 13 นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2549 จึงเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสิบเจ็ดขอให้จำเลยชำระดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนที่จำเลยไม่ได้ชำระ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2549 และวันที่ 31 ธันวาคม 2549 และเนื่องจากตามคำขอท้ายฟ้องข้อ 2 ขอให้จำเลยปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ อันเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเกี่ยวกับการจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จึงฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดขอให้จำเลยจ่ายดอกเบี้ยเงินทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวตลอดไป ดังนั้น การที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้ตลอดไปจนกว่าโจทก์ทั้งสิบเจ็ดจะพ้นจากการเป็นลูกจ้างของจำเลยนั้น จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
จำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้นเมื่อประมาณปี 2511 เงินกองทุนฝากไว้กับธนาคารจำเลย โดยจำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนในอัตราคงที่ร้อยละ 13 ต่อปี ต่อมามีการจดทะเบียนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อ. จำกัด เป็นนิติบุคคลและมอบเงินกองทุนให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด เป็นผู้จัดการในปี 2535 หากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด นำเงินกองทุนไปลงทุนหาผลประโยชน์ได้ไม่ครบในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี จำเลยยอมรับภาระจ่ายส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 13 ต่อปี กับผลประโยชน์ที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ท. จำกัด หาได้เข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยการที่จำเลยจ่ายเงินดอกเบี้ยเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคาร อ. จำกัด นั้นสืบเนื่องมาจากจำเลยเคยจ่ายเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารจำเลยก่อนที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจะจดทะเบียน การที่ต่อมากองทุนสำรองเลี้ยงชีพดังกล่าวจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ก็หาทำให้เสียสิทธิผู้ที่เป็นสมาชิกของกองทุนอยู่ก่อนที่จะจดทะเบียนไม่ โจทก์ทั้งสิบเจ็ดซึ่งเป็นสมาชิกของกองทุนดังกล่าวอยู่ก่อนที่จะจดทะเบียนจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้
จำเลยจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานจำเลยขึ้นเมื่อประมาณปี 2511 จำเลยจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนเป็นดอกเบี้ยเข้ากองทุนในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี ถึงแม้จะไม่ปรากฏว่าจำเลยตกลงจ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13 ต่อปี สมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นลายลักษณ์อักษรก็ตาม แต่ตามเอกสารมีข้อความระบุว่าจำเลยเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 13 ต่อปี โดยจ่ายให้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน และ 31 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งข้อความดังกล่าวสืบเนื่องจากผู้แทนของจำเลยแถลงประกอบเหตุผลที่ไม่สามารถจ่ายโบนัสให้แก่พนักงานเป็นจำนวน 4 เท่าของค่าจ้างตามข้อเรียกร้องของสหภาพของจำเลยได้ ดังนั้น การจ่ายดอกเบี้ยสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพของจำเลยดังกล่าวจึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง
of 161