คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 173 วรรคสอง(1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9654/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องคดีล้มละลายกับฟ้องเรียกค่าเช็คไม่เป็นฟ้องซ้อน เพราะมีวัตถุประสงค์และวิธีการต่างกัน
ฟ้องเรื่องเดิมเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีล้มละลายเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยตกเป็นคนล้มละลายเพื่อที่จะให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของจำเลยที่มีอยู่ทั้งหมดแบ่งปันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ของจำเลยทุกคนที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้และการที่ศาลจะต้องมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยตกเป็นคนล้มละลายนั้นก็ต่อเมื่อปรากฏว่าจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวและเป็นหนี้เจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า50,000บาทและหนี้นั้นอาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอนไม่ว่าหนี้นั้นจะถึงกำหนดชำระโดยพลันหรือหนี้ในอนาคตก็ตามอีกทั้งกระบวนพิจารณาต่างๆที่ก่อนศาลจะพิพากษาคดีและภายหลังที่พิพากษาคดีไปแล้วมีการกำหนดวิธีการแตกต่างไปจากบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อย่างมากซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช2483ที่กำหนดไว้หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าการฟ้องคดีล้มละลายเป็นกรณีที่โจทก์ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์สินของจำเลยโดยเจ้าพนักงานของรัฐที่เรียกว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าจัดการทรัพย์สินของจำเลยเพื่อประโยชน์ของบรรดาเจ้าหนี้ทั่วๆไปของจำเลยและเป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของจำเลยเสียใหม่โดยมิได้เป็นการฟ้องหรือเรียกร้องให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามมูลหนี้ที่ฟ้องโดยเฉพาะเจาะจงอันเป็นเรื่องของบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อันเป็นการฟ้องให้ศาลบังคับให้จำเลยชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง2ฉบับด้วยจำนวนเงิน550,000บาทพร้อมอัตราดอกเบี้ยตามฟ้องให้แก่โจทก์คนเดียวเท่านั้นโดยต้องวินิจฉัยตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงเห็นว่าการฟ้องคดีนี้เป็นคนละเรื่องกับการฟ้องคดีล้มละลายดังกล่าวดังนั้นฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงมิได้เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173วรรคสอง(1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 801/2538

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนสิทธิบัตร: คดีมีประเด็นเดียวกัน จำเลยซ้ำ และความรับผิดของกรรมการ
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยที่1ที่2ที่5และที่6ในคดีนี้ว่าร่วมกันผลิตม่านเหล็กบังตาตามสิทธิบัตรของโจทก์และร่วมกันขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของโจทก์เป็นละเมิดต่อโจทก์ดังนี้เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในขณะที่คดีก่อนอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นโดยที่คดีก่อนกับคดีนี้มีประเด็นอย่างเดียวกันว่าจำเลยได้ร่วมกันผลิตและขายหรือไม่มีไว้เพื่อขายซึ่งม่านเหล็กบังตาอันเป็นการกระทำเทียมหรือเลียนแบบละเมิดสิทธิ์บัตรของโจทก์หรือไม่แม้คดีนี้โจทก์จะมีคำขอเพิ่มเติมโดยเรียกค่าเสียหายมาด้วยแต่มูลคดีที่โจทก์ฟ้องก็เป็นเรื่องเดียวกันมีประเด็นเกี่ยวข้องกันโดยตรงจำเลยผลิตและขายม่านบังตาก่อนเกิดเหตุและตลอดมาการที่จำเลยต้องหยุดการผลิตเนื่องจากถูกโจทก์แจ้งความกล่าวหาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดทางอาญาและเจ้าพนักงานตำรวจได้ยกเครื่องจักรไปต่อมาเมื่อได้รับคืนเครื่องจักรที่ยึดจำเลยก็ได้ใช้เครื่องผลิตม่านบังตาตามปกติต่อมาต้องถือว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน จะถือว่าขาดตอนแล้วและเริ่มนับใหม่หาได้ไม่ฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่1ที่2ที่5และที่6เป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173วรรคสอง(1)และกรณีที่จะเป็นฟ้องซ้อนนอกจากคดีจะต้องมีประเด็นอย่างเดียวกันแล้วจำเลยยังจะต้องเป็นจำเลยที่ถูกฟ้องในคดีก่อนด้วย โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่3ที่4เป็นกรรมการของจำเลยที่1ร่วมกับจำเลยที่1และจำเลยอื่นกระทำละเมิดต่อสิทธิบัตรของโจทก์แม้จะมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่3ที่4กระทำในฐานะส่วนตัวก็หาใช่ว่าจะไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัวเพราะหากฟังได้ว่าจำเลยที่3และที่4ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์เมื่อศาลล่างทั้งสองยังมิได้วินิจฉัยว่าจำเลยที่3และที่4ร่วมกันทำ ละเมิดต่อโจทก์หรือไม่และโจทก์เสียหายเพียงใดศาลฎีกาเห็นสมควรย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาตามลำดับชั้นศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา243(1),247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4500/2528

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าจ้างวันหยุดต่างรายกับการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ไม่ถือเป็นฟ้องซ้อน
คดีก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวอ้างว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม และมีคำขอเรียกเงินจากโจทก์หลายรายการที่เกี่ยวเนื่อง หรือเป็นผลที่เกิดจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมโดยมิได้มีคำขอเรียก ค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณีด้วย คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาโจทก์ยื่นฟ้องจำเลย เป็นคดีนี้เรียกค่าจ้างในวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตาม ประเพณีได้ เพราะค่าจ้างทั้งสองประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นค่าจ้างค้างจ่าย ที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องจากจำเลย แม้โจทก์จำเลยจะยังมีสภาพจ้างกันอยู่ ก็ตามจึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกับมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้อง เกี่ยวกับการเลิกจ้าง แม้โจทก์ได้เคยร้องขอเพิ่มเติมฟ้องในคดีก่อนและ ศาลแรงงานกลางได้มีคำสั่งให้ยกคำร้องแต่ในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ในคดีก่อนนั้นโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ไว้ด้วยคำสั่งดังกล่าว จึงเป็นอันยุติในชั้นศาลแรงงานกลางแล้วหาใช่อยู่ในระหว่างพิจารณา ของศาลฎีกาไม่คำฟ้องของโจทก์คดีนี้จึงมิใช่เป็นฟ้องซ้อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2579/2525

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีใหม่ แม้ถูกฟ้องในคดีก่อน และคดีก่อนยังไม่ถึงที่สุด
การที่โจทก์ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีก่อนแล้วขาดนัดยื่นคำให้การ และคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นนั้น หาได้มีกฎหมายห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ เพราะไม่ใช่เป็นกรณีฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1)เนื่องจากโจทก์ในคดีนี้มิได้เป็นโจทก์ในคดีก่อน และมิใช่เป็นการฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 เพราะคดีก่อนยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
จำเลยฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในคดีก่อนว่า ที่พิพาทในคดีนี้เป็นมรดกของบิดามารดา และขอส่วนแบ่งจากโจทก์ เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตามกฎหมายแพ่งแล้วเพราะโจทก์อ้างว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์ มิใช่ทรัพย์มรดกที่จำเลยจะมาขอแบ่ง ดังนี้โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2410/2523

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน – ฉ้อโกง vs. ความผิดตาม พ.ร.บ. เช็ค – กรรมเดียวกัน
การที่จำเลยนำเช็คมาแลกเงินสดกับโจทก์โดยจำเลยกล่าวหลอกลวงโจทก์ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จฯ นั้น ความผิดฐานฉ้อโกงกับความผิดตาม พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเป็นการกระทำกรรมเดียวกัน เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คจนศาลประทับฟ้องแล้วโจทก์จะมาฟ้องจำเลยฐานฉ้อโกงอีกไม่ได้ เป็นฟ้องซ้อนต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173วรรคสอง (1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 817/2519

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อนและอายุความครอบครองที่ดิน: จำเลยฟ้องโจทก์ได้ แม้ศาลยกฟ้องคดีก่อน และสิทธิครอบครองใช้ยันคู่ความในคดีเดิมไม่ได้
ในเรื่องฟ้องซ้อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา173 วรรคสอง (1) นั้น กฎหมายห้ามแต่โจทก์มิให้ฟ้องจำเลยหาได้ห้ามจำเลยมิให้กลับมาฟ้องโจทก์ด้วยไม่ ไม่เหมือนกับเรื่องฟ้องซ้ำตามมาตรา 148 ซึ่งห้ามทั้งโจทก์และจำเลยมิให้ฟ้องคดีขึ้นใหม่
การที่จำเลยครอบครองที่พิพาทในระหว่างที่ศาลพิจารณาคดีที่จำเลยฟ้องโจทก์ ขอให้ห้ามเกี่ยวข้องกับที่พิพาทโดยอ้างว่าเป็นของจำเลยนั้น จำเลยจะยกเอาสิทธิแห่งการครอบครองมายันโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนั้นหาได้ไม่ (อ้างฎีกาที่1273/2500)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2606/2518

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้อน: การฟ้องคดีใหม่โดยโจทก์ต่างจากคดีเดิม แม้ประเด็นคล้ายกัน ไม่ขัดมาตรา 173 วรรคสอง(1)
การที่จำเลยในคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา กลับเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ในคดีนั้นเป็นจำเลยในคดีใหม่ด้วยเรื่องเดียวกัน ก็ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง(1) เพราะโจทก์ในคดีหลังนี้ไม่ใช่โจทก์คนเดียวกันกับคดีก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 298-299/2510

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนเครื่องหมายการค้าที่แคปซูลยาเจตนาให้หลงเชื่อเป็นของผู้อื่นเป็นความผิด แม้จะมีการจดทะเบียนหรือไม่
ผู้ว่าคดีฟ้องจำเลยหาว่าเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทโจทก์ ซึ่งปรากฏที่กล่องบรรจุยา และใช้กับสินค้ายาปฏิชีวนะ
บริษัทโจทก์เข้าร่วมเป็นโจทก์กับผู้ว่าคดี แล้วบริษัทโจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีขึ้นมาอีกในข้อหาว่าเลียนเครื่องหมายการค้าอันเดียวกันนี้ที่กล่องบรรจุยาและที่สินค้ายา ดังนี้ บริษัทโจทก์ต้องห้ามไม่ให้ยื่นฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นอีก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 173 วรรคสอง(1) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15 ศาลชั้นต้นรับฟ้องไว้ไม่ชอบ ให้ยกฟ้องที่บริษัทโจทก์ยื่นแต่บริษัทโจทก์ดำเนินคดีกับจำเลยในฐานะโจทก์ร่วมได้
ไม่ว่าจำเลยจะควบคุมผู้ขายปลีกหรือผู้ซื้อได้หรือไม่ จะลงทุน มากหรือไม่ เจ้าพนักงานจะยอมรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้ จำเลยหรือไม่จะมีประชาชนซื้อโดยหลงผิดหรือยังเมื่อจำเลยเลียน เครื่องหมายการค้าโดยเจตนาเพื่อจะให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นของ บริษัทโจทก์ ก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274(ปัญหาแรกประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2510)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 728/2494

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเข้าร่วมเป็นโจทก์ vs. การฟ้องเองในคดีเดียวกัน
ผู้เสียหายร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับอัยการซึ่งได้ฟ้องจำเลยหาว่ากระทำผิดฐานหนึ่งอยู่แล้ว ผู้เสียหายจะมาเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในเรื่องการกระทำของจำเลยอันเดียวกันนั้นอีกไม่ได้