คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 121 วรรคสอง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 42 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 404/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ผิดกฎหมาย: สมาชิกไม่ใช่ผู้เสียหาย, ไม่มีอำนาจฟ้องฐานยักยอก
กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. มีวัตถุประสงค์ให้สมาชิกออมเงินแล้วนำเงินฝากของสมาชิกไปให้สมาชิกกู้ยืม โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 บาท ต่อเดือน แล้วนำดอกเบี้ยมาจ่ายเป็นสวัสดิการให้แก่สมาชิก ดอกเบี้ยดังกล่าวคิดเป็นร้อยละ 24 บาท ต่อปี เกินกว่าร้อยละ 15 บาท ต่อปี ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ในขณะนั้น และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ที่ใช้บังคับภายหลัง ดังนี้ วัตถุประสงค์ในการดำเนินการกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. จึงต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 สมาชิกทุกรายที่เข้าร่วมฝากเงินและกู้ยืมรวมทั้งชำระดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าว หรือเมื่อผิดนัด ยินยอมให้ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ด้วยการนำต้นเงินและดอกเบี้ยค้างชำระที่ฝ่าฝืนกฎหมายรวมเข้ากันแล้วคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ต่อไปซึ่งเกินกว่าระเบียบข้อบังคับกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ว. (ฉบับปรับปรุง 2549) ข้อ 23 รวมถึงการส่งมอบเงินฝาก รับเงินกู้ยืม เงินกำไรหรือปันผล ดอกเบี้ยของสมาชิกในทุกขั้นตอนตามวัตถุประสงค์ดังกล่าว เป็นการร่วมกันกระทำการอันต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ทั้งขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซ้ำซ้อน โจทก์ร่วมและผู้เสียหายซึ่งเป็นสมาชิกจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ไม่มีสิทธิร้องทุกข์ในความผิดฐานร่วมกันยักยอกทรัพย์ดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวอันยอมความกันได้ตาม ป.อ. มาตรา 356 พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง และพนักงานอัยการโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ซึ่งศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3578/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีทำให้เสียทรัพย์: เจ้าของทรัพย์ต้องเป็นผู้แจ้งความ หากไม่ใช่ ผู้เสียหายไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้
ป.อ. มาตรา 358 บัญญัติถึงความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ว่า "ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์" เห็นได้ว่า องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้น ต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ซึ่งคำว่า "ทรัพย์ของผู้อื่น" นั้น ย่อมหมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น
เมื่อรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุเป็นของ ล. และผู้เสียหายยืมจากเพื่อนรุ่นน้องมาใช้ โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า ล. ซึ่งเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษารถจักรยานยนต์คันดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์ได้ ผู้เสียหายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ เมื่อ ล. ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ การที่พนักงานสอบสวนสอบสวนจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ และผู้เสียหายไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในการซ่อมรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุแก่ผู้เสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 29/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญาแผ่นดิน: การสอบสวนโดยไม่มีคำร้องทุกข์ และการวินิจฉัยพยานหลักฐาน
ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง บัญญัติเพียงว่า เฉพาะคดีความผิดต่อส่วนตัวเท่านั้นที่พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนได้จะต้องมีคำร้องทุกข์เสียก่อน เมื่อคดีความผิดที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอาญาแผ่นดินทุกฐานความผิด พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจสอบสวนโดยลำพังตนเองหากพบว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น โดยเฉพาะคดีนี้ ผู้เสียหายโทรศัพท์แจ้งเหตุต่อพนักงานสอบสวน เท่ากับว่าได้มีการกล่าวโทษซึ่งทำให้พนักงานสอบสวนทราบว่ามีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้นแล้ว พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจเริ่มต้นการสอบสวนได้ในทันทีด้วยการออกไปตรวจสถานที่เกิดเหตุและรวบรวมพยานหลักฐานต่าง ๆ ตามที่ ป.วิ.อ. มาตรา 130 บัญญัติไว้ ถือได้ว่าคดีนี้มีการสอบสวนในความผิดตามฟ้องโดยชอบแล้ว พนักงานอัยการจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11732/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การร้องทุกข์, ผู้แทนผู้เสียหาย, การสอบสวนที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ในการพิจารณาคดีของศาลในคดีอาญาว่ามีการกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องเป็นไปตามคำบรรยายฟ้องที่บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด บทกฎหมายที่บัญญัติว่าการกระทำนั้นเป็นความผิด และบทกฎหมายที่โจทก์ประสงค์ขอให้ลงโทษ คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 341 ซึ่งตามมาตรา 348 บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว โจทก์จึงไม่อาจฎีกาว่าทรัพย์ที่สูญเสียไปจากการกระทำความผิดเป็นทรัพย์ของแผ่นดิน จึงไม่เป็นความผิดอันยอมความ เพื่อให้ผิดแผกไปจากฟ้องได้ โจทก์ร่วมเป็นเพียงกรรมการตรวจรับงานจ้างของเทศบาลนครลำปางผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งมิใช่ผู้แทนของนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 ย่อมไม่มีอำนาจร้องทุกข์แทนผู้เสียหายที่ 1 การที่นายกเทศมนตรีนครลำปางผู้แทนนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 ไม่แจ้งความร้องทุกข์เพราะมีส่วนร่วมกระทำผิดกับจำเลยทั้งสองนั้น มิใช่เหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อยกเว้นบทบัญญัติในเรื่องผู้มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหายได้หากการไม่ร้องทุกข์ของนายกเทศมนตรีนครลำปางก่อให้เกิดความเสียหาย หรือผู้แทนนิติบุคคลผู้เสียหายที่ 1 มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดอย่างใด ก็ชอบที่จะดำเนินคดีจากการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของผู้แทนนิติบุคคลเป็นอีกส่วนหนึ่ง ดังนี้ เมื่อนายกเทศมนตรีนครลำปางผู้แทนผู้เสียหายที่ 1 มิได้ร้องทุกข์ดังนี้ ก็ต้องถือว่าไม่มีการสอบสวนโดยชอบด้วยกฎหมายและต้องห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11658/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีอาญา: การมอบอำนาจที่ไม่ชัดเจน ทำให้โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจฟ้องคดี
บ. ทำหนังสือมอบอำนาจให้ ร. ร้องทุกข์ดำเนินคดีแก่จำเลยตามหนังสือมอบอำนาจโดยไม่ได้ระบุว่า บ. เกี่ยวข้องกับโจทก์ร่วมอย่างไร และไม่มีข้อความว่า บ. กระทำในนามโจทก์ร่วม อีกทั้งไม่ปรากฏรอยตราของโจทก์ร่วม จึงไม่อาจแปลเจตนาได้ว่า บ. ทำหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวในนามโจทก์ร่วม ต้องฟังข้อเท็จจริงว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย เมื่อความผิดฐานยักยอกเป็นความผิดต่อส่วนตัว แต่โจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์โดยชอบด้วยกฎหมาย พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนและโจทก์ก็ไม่มีอำนาจฟ้อง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120 ประกอบมาตรา 121 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6608-6609/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจการฟ้องคดีอาญาต่อแผ่นดิน: การสอบสวนและการดำเนินคดีโดยพนักงานอัยการ
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157, 162 (1) (4) ที่โจทก์ฟ้องและศาลลงโทษจำเลยที่ 10 เป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน อันมิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น หรืออ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น และก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนหรือหน่วยงานของรัฐ ย่อมเป็นหน้าที่โดยตรงของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องสืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเพื่อเอาความผิดแก่ผู้กระทำความผิดอาญาทั้งปวงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 18, 19 ประกอบมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะมีผู้เสียหายร้องทุกข์หรือมีผู้กล่าวโทษผู้กระทำความผิดหรือไม่ ดังนั้น แม่ทัพภาค 2 จะมีอำนาจในการมอบอำนาจให้บุคคลใดไปทำการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เมื่อมีการสอบสวนในความผิดที่ได้ฟ้องซึ่งเป็นคดีอาญาต่อแผ่นดินแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20395/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นความผิดต่อแผ่นดิน ผู้เสียหายยินยอมไม่กระทบอำนาจสอบสวน/ฟ้อง และกรรมเดียวผิดหลายบท
ความผิดตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 เป็นคดีอาญาความผิดต่อแผ่นดิน มิใช่ความผิดต่อส่วนตัวที่ห้ามพนักงานสอบสวนทำการสอบสวน เว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง พนักงานสอบสวนจึงมีอำนาจสอบสวนโดยมิพักต้องมีผู้เสียหายตามกฎหมายมาร้องทุกข์กล่าวโทษ การที่ผู้เสียหายจะเป็นผู้เสียหายโดยนิตินัยหรือไม่ จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญของการสอบสวน ดังนี้ แม้ผู้เสียหายจะยินยอมให้ดอกเบี้ยแก่จำเลยในอัตราที่ขัดต่อกฎหมาย พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสอบสวนและพนักงานอัยการย่อมมีอำนาจฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 120

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14351/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีเช็ค: ผู้เสียหายคือห้างหุ้นส่วนจำกัด ไม่ใช่เจ้าของห้างหุ้นส่วน โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
เช็คพิพาททั้งสองฉบับ เช็คที่ออกเพื่อชำระเงินค่าเสื้อแจกเกตให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กรณีจึงถือว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. เป็นผู้ทรงเช็คพิพาท เมื่อเช็คดังกล่าวธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ย่อมเป็นผู้เสียหายที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายเช็คพิพาท มิใช่โจทก์ร่วม ถึงแม้จำเลยจะได้สั่งซื้อเสื้อแจกเกตจากโจทก์ร่วมและโจทก์ร่วมจะมีส่วนเป็นเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ด้วยก็ตาม แต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ก็เป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมในฐานะส่วนตัวจึงไม่อยู่ในฐานะผู้ทรงเช็คพิพาท และมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจร้องทุกข์ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยได้ การที่โจทก์ร่วมเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย โดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ได้มอบอำนาจให้โจทก์ร่วมดำเนินการแทน จึงถือได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจทำการสอบสวนการกระทำความผิดของจำเลย การที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนมานั้น จึงเป็นการสอบสวนที่มิชอบ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9368/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องหมิ่นประมาทต้องมีการร้องทุกข์ชัดเจนในแต่ละกรรมความผิด หากไม่มีโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายฟ้องว่าจำเลยใส่ความโจทก์ร่วมต่อบุคคลที่สามโดยประการที่น่าจะทำให้โจทก์ร่วมเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชังตามฟ้องข้อ 1.1 ถึง 1.3 แต่ละข้อวันเวลาเกิดเหตุต่างกันและบุคคลที่สามต่างรายกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามฟ้องข้อ 1.1 ซึ่งความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 326 ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้ตาม ป.อ. มาตรา 333 โจทก์ร่วมอ้างว่ามีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น แม้จำเลยผู้เดียวกระทำความผิด แต่กระทำความผิดหลายกรรม โจทก์ร่วมต้องร้องทุกข์ทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อโจทก์ร่วมไม่ได้ร้องทุกข์ในความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 ห้ามมิให้ทำการสอบสวนเว้นแต่จะมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ และห้ามมิให้พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีใดต่อศาล โดยมิได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 121 วรรคสอง, 120 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องตามฟ้องข้อ 1.1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7409/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีละเมิดลิขสิทธิ์: การพิพากษาเฉพาะของกลางที่มีผู้ร้องทุกข์ และการแก้ไขค่าปรับ
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานยึดแผ่นวีซีดี และ ซีดีคาราโอเกะ เพลงที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสอง 430 แผ่น และที่ไม่ปรากฏเจ้าของลิขสิทธิ์อีก 21 แผ่น เป็นของกลาง ตามคำฟ้องแสดงว่าของกลาง 21 แผ่น ดังกล่าวยังไม่มีผู้เสียหายไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลย พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับของกลาง 21 แผ่น นี้ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้ และโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในส่วนนี้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีอาญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 120 และ 121 วรรคสอง จึงฟังไม่ได้ว่าของกลางทั้ง 21 แผ่น เป็นสิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งต้องพิพากษาให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 75 ให้คืนของกลาง 21 แผ่น แก่เจ้าของ
of 5