คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมจิตร์ ทองศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 941 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5501-5502/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิลูกจ้างพักงาน-ค่าจ้าง-วันหยุดพักผ่อนประจำปี กรณีเลิกจ้าง-ความผิดร้ายแรง-เจตนาของระเบียบ
ขณะจำเลยที่ 1 เลิกจ้างโจทก์มีระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 บังคับใช้ โดยข้อ 21 กำหนดว่า "ถ้ารัฐวิสาหกิจเลิกจ้างพนักงานโดยพนักงานมิได้มีความผิดตามข้อ 46 ให้รัฐวิสาหกิจจ่ายเงินเดือนค่าจ้างแก่พนักงานสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามส่วนที่พนักงานมีสิทธิได้รับตามข้อ 8 และข้อ 20 ด้วย" และข้อ 46 ตามระเบียบดังกล่าวกำหนดกรณีรัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยไว้หลายกรณีรวมทั้งการฝ่าฝืนข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการทำงานกรณีร้ายแรง ดังนั้นกรณีการเลิกจ้างที่รัฐวิสาหกิจไม่ต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีต้องเป็นกรณีที่พนักงานรัฐวิสาหกิจทำผิดร้ายแรงเท่านั้น เมื่อคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวด 3 ข้อ 2.3.2 กำหนดว่า "ไม่ว่ากรณีใด ๆ บริษัทจะไม่จ่ายเงินตอบแทนให้แก่พนักงานผู้ซึ่งสมัครใจไม่หยุดพักผ่อนประจำปีเว้นแต่ในกรณีที่พนักงานออกจากงานระหว่างปีโดยไม่มีความผิดและยังมิได้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี" จึงต้องแปลให้สอดคล้องกับระเบียบดังกล่าวว่าการออกจากงานโดยไม่มีความผิดตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 นั้น หมายถึงไม่มีความผิดร้ายแรงนั่นเอง
ตามคู่มือและระเบียบการพนักงานของจำเลยที่ 1 หมวดที่ 8 วินัย การลงโทษ และการร้องทุกข์ ข้อ 2.9 กำหนดแนวทางพักงานระหว่างสอบสวนไว้ว่า "การพักงานระหว่างสอบสวนก็เพื่อให้บริษัทสืบสวนและสอบสวนโดยอิสระว่าพนักงานกระทำผิดตามที่กล่าวหาหรือไม่ซึ่งโดยปกติจะใช้เมื่อมีความผิดร้ายแรง พนักงานซึ่งถูกสั่งพักระหว่างสอบสวนแม้ว่าจะยังไม่ถือเป็นการลงโทษ แต่บริษัทจะพิจารณาจ่ายเงินเดือนให้เพียงร้อยละห้าสิบของค่าจ้างในขณะพักงานพร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปีจนกว่าจะทราบผลการสอบสวนแน่ชัดว่าพนักงานไม่มีความผิดแล้วจึงจะจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบของค่าจ้างสำหรับระยะเวลาที่ถูกพักงานให้" จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์หลักของการพักงานระหว่างสอบสวนก็เพื่อให้การสอบสวนกระทำโดยอิสระป้องกันไม่ให้พนักงานที่ถูกกล่าวหาไปยุ่งกับพยานหลักฐาน สำหรับการจ่ายเงินเดือนส่วนที่เหลืออีกร้อยละห้าสิบนั้น คู่มือและระเบียบการพนักงานดังกล่าว หมวดที่ 9 ข้อ 2.9 กำหนดว่าจะจ่ายให้เมื่อพนักงานไม่มีความผิดอันมีความหมายอยู่ในตัวว่าพนักงานผู้นั้นไม่มีความผิดใดเลยไม่ว่าจะร้ายแรงหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5477/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การถอนฟ้องคดีแรงงานและการดำเนินคดีฟ้องแย้ง ศาลมีอำนาจอนุญาตถอนฟ้องได้หากสุจริต คดีฟ้องแย้งไม่ตกไปตามฟ้องเดิม
การถอนฟ้องภายหลังจำเลยยื่นคำให้การแล้วตาม ป.วิ.พ. มาตรา 175 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 เพียงแต่บัญญัติให้ศาลฟังจำเลยเท่านั้น มิได้บัญญัติห้ามไม่ให้ศาลอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง การอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลซึ่งพิจารณาถึงความสุจริตและคำนึงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในเชิงคดีด้วย โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่สั่งให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกรมบัญชีกลาง ตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 โจทก์ขอถอนฟ้องโดยอ้างว่าได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเอกสารที่โจทก์ไม่เคยทราบมาก่อนและโจทก์เข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับคำสั่งของจำเลยซึ่งถ้าทราบมาก่อนก็จะไม่ฟ้องคดีนี้ เห็นได้ว่าเมื่อโจทก์ถอนฟ้องคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ต้องรับผิดยังคงมีอยู่จึงไม่ทำให้โจทก์ได้เปรียบในเชิงคดีอันแสดงว่าโจทก์ขอถอนฟ้องโดยสุจริต
ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 บัญญัติให้สิทธิจำเลยจะฟ้องแย้งโจทก์มาในคำให้การได้ถ้าคำฟ้องแย้งเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมเท่านั้น เมื่อจำเลยฟ้องแย้งโจทก์มาในคำให้การ โจทก์ก็คือจำเลยในฟ้องแย้ง คดีตามฟ้องแย้งจึงมีคู่ความครบถ้วนที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ การที่ศาลแรงงานภาค 1 อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเดิม ก็คงมีผลเฉพาะคดีโจทก์ว่าไม่มีฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หามีผลให้ฟ้องแย้งของจำเลยตกไปด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4577/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฆ่าโดยบันดาลโทสะและการไตร่ตรองไว้ก่อน พิจารณาจากเหตุการณ์ต่อเนื่องและระยะเวลา
จำเลยที่ 1 เดินออกจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกลับถึงห้องพัก ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 2 ถึง 3 กิโลเมตร แล้วจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ได้พูดเกลี้ยกล่อมจำเลยที่ 1 ไม่ให้กลับไปอีก ทั้งได้ความว่าจำเลยทั้งสี่ออกไปจากร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุได้ประมาณ 30 นาที ก็กลับมาอีก เมื่อหักเวลาเดินทางไปและกลับระหว่างร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุกับห้องพักของจำเลยทั้งสี่เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ใช้เวลาพูดเกลี้ยกล่อมไม่ให้จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที ซึ่งจำเลยที่ 1 น่าจะสามารถระงับสติอารมณ์ทำให้โทสะหมดสิ้นไปแล้วและกลับมามีสติสัมปชัญญะดีเหมือนเดิม การที่จำเลยที่ 1 กลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุแล้วทำร้ายผู้ตายจึงหาใช่เป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับที่จำเลยที่ 1 ยังมีโทสะอยู่ แต่เป็นเหตุการณ์ที่ขาดตอนไปแล้ว จำเลยที่ 1 จะอ้างว่ากระทำโดยบันดาลโทสะไม่ได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ตระเตรียมอาวุธมีดของกลางกลับไปที่ร้านคาราโอเกะที่เกิดเหตุ ไล่ตามผู้ตายที่วิ่งหนีไปเป็นระยะทางถึง 50 เมตร และใช้อาวุธมีดของกลางที่เตรียมมาฟันแทงผู้ตายอย่างแรงหลายครั้งจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1987-2026/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างเหมาบริการมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เช่นลูกจ้างประจำ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานเป็นพนักงานขับรถและพนักงานคลังสินค้าซึ่งเป็นธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 กรณีจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ หมายความว่าผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของผู้ประกอบกิจการโดยไม่เลือกว่าเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงหรือลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง อันเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับตามมาตรา 11/1 วรรคสอง จึงเป็นสิทธิตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติไว้โดยตรง ผู้ประกอบกิจการก็ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงนั้นได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเช่นเดียวกัน และการกำหนดวันเวลาทำงานอันมีผลกระทบต่อการได้รับเงินค่าตอบแทนถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบกิจการจะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการจึงต้องดำเนินการให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ซึ่งเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินค่าตอบแทนดังกล่าวให้ถูกต้องตามที่จำเลยที่ 1 จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 โดยต้องดำเนินการให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ได้รับในส่วนที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างโดยตรงไม่จัดให้หรือจัดให้น้อยกว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งหากจำเลยที่ 1 มีหลักเกณฑ์การกำหนดวันเวลาทำงานและการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน
สำหรับเงินโบนัสนั้น แม้เป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ แต่จำเลยทั้งสองจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามการประเมินผลงานซึ่งมีการแบ่งเกรด เอ บี ซี และดี และขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกิจการ ถือเป็นการวางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสที่เหมือนกัน ส่วนที่ปรากฏว่าในปี 2553 จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงมากกว่าที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับจากจำเลยที่ 2 แต่ในปี 2554 จำเลยที่ 1 ก็จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงต่ำกว่าที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับจากจำเลยที่ 2 จึงหาใช่ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับเงินโบนัสประจำปีในอัตราที่ต่ำกว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงทุกปีไม่ แต่เป็นการได้รับตามหลักเกณฑ์การจ่ายที่จำเลยทั้งสองกำหนดไว้เหมือนกันโดยดูจากผลงานของลูกจ้างและจากฐานผลประกอบการของแต่ละบริษัท ดังนั้นที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึง ที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ได้รับเงินโบนัสประจำปีในช่วงดังกล่าวตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสประจำปีที่เหมือนกันจากจำเลยที่ 2 ถือเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
มาตรา 11/1 วรรคสอง บัญญัติให้เฉพาะผู้ประกอบกิจการเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น เฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 11/1 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 และเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้จัดหาโจทก์ดังกล่าวมาทำงานในธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1597/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย: การพิสูจน์ตัวการร่วมและการสนับสนุน
จำเลยลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยเป็นผู้รับคำสั่งซื้อและจัดหาเมทแอมเฟตามีนไว้ วันเกิดเหตุจำเลยมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้ จ. และ ส. นำไปส่งให้ ว. ลูกค้าของจำเลยที่อยู่กรุงเทพมหานครทางไปรษณีย์และจำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามไปดูการส่งเมทแอมเฟตามีนของ จ. และ ส. จำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกับ จ. และ ส. ในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย หาใช่เป็นกรณีที่จำเลยใช้ให้ จ. และ ส. กระทำความผิดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1327/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคืนเงินค่าตอบแทน ส.ว. กรณีถูกศาลวินิจฉัยว่าเลือกตั้งไม่สุจริตและออกจากตำแหน่ง
ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวเป็นผู้ช่วยในการทำหน้าที่ของจำเลยในการเป็นวุฒิสมาชิก ค่าตอบแทนที่โจทก์จ่ายให้ผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวก็เพื่อช่วยเหลือการทำหน้าที่ของจำเลยอันเป็นประโยชน์โดยตรงแก่จำเลย จำเลยเป็นผู้เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญและผู้ปฏิบัติงานประจำตัวให้โจทก์แต่งตั้ง กรณีดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยได้รับประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นอันเนื่องมาจากการเป็นวุฒิสมาชิกตามความหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 แล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินส่วนนี้แก่โจทก์
คณะกรรมการการเลือกตั้งวินิจฉัยว่า จำเลยได้รับเลือกตั้งมามิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีมติเอกฉันท์ให้มีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดศรีสะเกษใหม่แทนจำเลย ทำให้จำเลยพ้นจากสมาชิกภาพก่อนที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) จะยึดอำนาจการปกครองและประกาศฉบับที่ 3 ให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 สิ้นสุดโดยไม่มีประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คมช.) หรือกฎหมายฉบับใดหลังจากนั้นบัญญัติห้ามมิให้ โจทก์เรียกคืนเงินดังกล่าว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 97 บัญญัติว่า การออกจากตำแหน่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา ภายหลังวันที่สมาชิกภาพสิ้นสุดลง หรือวันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า สมาชิกภาพของสมาชิกคนใดคนหนึ่งสิ้นสุดลง ย่อมไม่กระทบกระเทือนกิจการที่สมาชิกผู้นั้นได้กระทำไปในหน้าที่สมาชิก รวมทั้งการได้รับเงินประจำตำแหน่งหรือประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นก่อนที่สมาชิกผู้นั้นออกจากตำแหน่ง หรือก่อนที่ประธานแห่งสภาที่ผู้นั้นเป็นสมาชิกได้รับแจ้งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แล้วแต่กรณี เว้นแต่ในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ให้คืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่ผู้นั้นได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 145 (3) (4) และมาตรา 147 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2541 มาตรา 10 (7) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2541 มาตรา 95 (1) ทำการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่ากรณีมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีบุคคลให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย จึงมีคำสั่งให้เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาใหม่แทนจำเลย ตามคำวินิจฉัยสั่งการคณะกรรมการการเลือกตั้ง จึงฟังได้ว่าการที่จำเลยออกจากตำแหน่งวุฒิสภาก็เพราะเหตุที่ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา ดังนั้น แม้ว่าจำเลยจะมีส่วนรู้เห็นกับการให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลยหรือไม่ และแม้ว่าศาลจังหวัดศรีสะเกษพิพากษายกฟ้องบุคคลที่ถูกกล่าวว่าให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่จำเลย ก็ไม่เป็นเหตุให้การได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของจำเลยชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด จำเลยจึงต้องคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่จำเลยได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งดังกล่าว
การเรียกคืนเงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่วุฒิสมาชิกได้รับมาเนื่องจากการดำรงตำแหน่งในกรณีที่ออกจากตำแหน่งเพราะเหตุที่ผู้นั้นได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภานั้น เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกคืนเงินที่จำเลยได้ไปโดยไม่ชอบและโจทก์ในฐานะผู้มีสิทธิในเงินดังกล่าวย่อมมีสิทธิติดตามเอาคืนจากผู้ไม่มีสิทธิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีกำหนดอายุความ คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1268/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง: คำสั่งประทับฟ้องมีผลเด็ดขาดห้ามทบทวน
ในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนั้น ป.วิ.อ. มาตรา 167 บัญญัติว่า "ถ้าปรากฏว่าคดีมีมูล ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณาต่อไปเฉพาะกระทงที่มีมูล ถ้าคดีไม่มีมูล ให้พิพากษายกฟ้อง" และมาตรา 170 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "คำสั่งของศาลที่ให้คดีมีมูลย่อมเด็ดขาด แต่คำสั่งที่ว่าคดีไม่มีมูลนั้น โจทก์มีอำนาจอุทธรณ์ฎีกาได้ตามบทบัญญัติว่าด้วยลักษณะอุทธรณ์ฎีกา" ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีโจทก์มีมูลและให้ประทับฟ้องสำหรับข้อหาดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามขั้นตอนในชั้นพิจารณา ศาลอุทธรณ์ภาค 4 จึงไม่มีอำนาจหยิบยกข้อเท็จจริงในข้อหาที่ศาลชั้นต้นสั่งว่ามีมูลแล้วขึ้นมาทบทวนและวินิจฉัยยกฟ้องข้อหาดังกล่าวในชั้นไต่สวนมูลฟ้องได้อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1032/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีอาญาและ พ.ร.บ.สมาคมฯ ต้องมีรายละเอียดการกระทำความผิดชัดเจน และการกระทำต้องเข้าข่ายความผิดตามกฎหมาย
คดีนี้โจทก์ทั้งสี่บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 23 กับพวกอีก 2 คน ทำหนังสือขอให้โจทก์ที่ 1 ในฐานะนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรเรียกประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการสมาคมชุดใหม่ โดยร่วมกันลงลายมือชื่อในหนังสือดังกล่าวในฐานะสมาชิกสามัญของสมาคม ทั้งๆ ที่บุคคลที่ลงลายมือชื่อในหนังสือขอให้เรียกประชุมและผู้เข้าร่วมประชุมใหญ่บางคนมิได้เป็นสมาชิกสามัญของสมาคม แล้วนำเอกสารที่เกี่ยวข้องไปขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการสมาคมต่อนายทะเบียน แต่เมื่อหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ถึง 23 กับพวกได้จัดทำขึ้นเองและลงลายมือชื่อของตนเอง นอกจากนั้นบัญชีรายชื่อร่วมการประชุมใหญ่วิสามัญก็มีผู้เข้าร่วมประชุมลงลายมือชื่อของตนเอง กรณีจึงเป็นการที่โจทก์ทั้งสี่ฟ้องกล่าวอ้างว่า จำเลยทั้งแปดสิบสามได้ร่วมกันจัดทำเอกสารที่มีข้อความอันเป็นเท็จเกี่ยวกับฐานะของผู้จัดทำหนังสือขอให้เรียกประชุมใหญ่วิสามัญและผู้เข้าร่วมประชุมว่าเป็นสมาชิกสามัญ โดยที่บางคนมิได้เป็นสมาชิกสามัญ ซึ่งอาจมีผลให้การประชุมใหญ่วิสามัญของสมาคมไม่ชอบด้วยข้อบังคับของสมาคมเท่านั้น หาใช่เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ ทั้งมิใช่การลงลายมือชื่อปลอมหรือประทับตราปลอมลงในเอกสาร เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง นอกจากนี้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยที่ 39 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในทะเบียนสมาชิกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรวิทยา อันเป็นการรับรองเอกสารที่มีข้อความเป็นเท็จโดยไม่มีต้นฉบับอยู่จริงนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสี่กล่าวอ้างว่า จำเลยที่ 39 มีหน้าที่รักษาการแทนนายทะเบียนสมาคม มีหน้าที่รับและจำหน่ายสมาชิก รักษาทำเนียบกับทำทะเบียนต่างๆ ของสมาคม ดังนั้นแม้จำเลยที่ 39 จัดทำทะเบียนสมาชิกของสมาคมอันเป็นความเท็จเพราะมีบุคคลจำนวนหนึ่งที่มิได้เป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์หรือสมาชิกสามัญมีรายชื่ออยู่ในทะเบียนของสมาคม ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งสี่กล่าวหาว่าจำเลยที่ 39 ซึ่งมีหน้าที่จัดทำทะเบียนสมาชิกของสมาคม ได้จัดทำและรับรองเอกสารอันมีข้อความเป็นเท็จเช่นกัน หาใช่เป็นการทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งมิใช่การลงลายมือชื่อปลอมหรือประทับตราปลอมลงในเอกสาร เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงไม่
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งแปดสิบสาม ในความผิดฐานแจ้งความเท็จต่อเจ้าพนักงานและแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จ โดยโจทก์ทั้งสี่มิได้ระบุรายละเอียดในฟ้องว่า จำเลยทั้งแปดสิบสามได้แจ้งข้อความอันเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงานว่าอย่างไร และแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือเอกสารมหาชนว่าอย่างไร เมื่อฟ้องของโจทก์ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานแจ้งความเท็จและฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการหรือเอกสารมหาชน จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ศาลจึงต้องยกฟ้องตามมาตรา 161
โจทก์ทั้งสี่ฟ้องจำเลยทั้งแปดสิบสาม เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 49, 50, "และ 51 ซึ่งบทบัญญัติแห่งมาตรา 49 เป็นกรณีที่ผู้กระทำผิดใช้ชื่อซึ่งมีอักษรไทยประกอบคำว่า สมาคม"ในดวงตรา ป้ายชื่อ จดหมาย ใบแจ้งความหรือเอกสารอย่างอื่นเกี่ยวกับธุรกิจโดยมิได้เป็นสมาคม เมื่อโจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าจำเลยทั้งแปดสิบสามร่วมกันกระทำการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมการของสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรวิทยา โดยกระทำการในนามสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนเสริมมิตรซึ่งเป็นสมาคมตาม ป.พ.พ. การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามย่อมไม่เป็นความผิดตามมาตรา 49 และเมื่อสมาคมดังกล่าวเป็นสมาคมตามกฎหมาย การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามจึงไม่เป็นการกระทำให้บุคคลอื่นหลงเชื่อว่าเป็นสมาคมที่ได้จดทะเบียนตาม ป.พ.พ. การกระทำของจำเลยทั้งแปดสิบสามจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคมและมูลนิธิ พ.ศ.2499 มาตรา 50 และ 51

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18235/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าเสียหายเบื้องต้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นส่วนหนึ่งของค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. จึงต้องหักออกจากค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิด
แม้สิทธิในการได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 มาตรา 20 เป็นสิทธิทางแพ่งที่ผู้ประสบภัยหรือทายาทโดยธรรมของผู้ประสบภัยจะได้รับเพื่อเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมาแล้วก็ตาม แต่มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติไว้ชัดแจ้งว่า ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. และมาตรา 4 บัญญัติว่า ค่าเสียหายเบื้องต้น หมายความว่า ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล ค่าปลงศพ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดการศพ รวมทั้งค่าเสียหายและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยในเบื้องต้น... เมื่อคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเฉพาะค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพ ช. กับค่าเสียหายของรถจักรยานสองล้อเท่านั้น โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์เรียกร้องค่าเสียหายอย่างอื่นหรือต้องนำค่าเสียหายเบื้องต้นไปชดใช้ค่าเสียหายอย่างอื่นอันเกิดขึ้นจากการที่จำเลยกระทำละเมิดจนเป็นเหตุให้นายชิ้นถึงแก่ความตาย จึงต้องนำเงินค่าเสียหายเบื้องต้น 200,000 บาท ที่โจทก์ได้รับไปแล้วและถือว่าเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่งตาม ป.พ.พ. ไปหักออกจ่าค่าเสียหายดังกล่าวด้วย และเมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้ว่า เงินค่าเสียหายเบื้องต้นที่โจทก์ได้รับไปแล้วมีจำนวนเท่ากับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยรับผิดต่อโจทก์จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นเกี่ยวกับการจัดการศพแก่โจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18033/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ดูแลผู้เยาว์ต่อความเสียหายจากเหตุไฟไหม้ จำเป็นต้องพิสูจน์การละเลยในการดูแล
จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้เยาว์ จำเลยที่ 4 ที่ 5 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 7 ที่ 8 เป็นผู้ดูแลจำเลยที่ 2 โดย ป.พ.พ. มาตรา 430 บัญญัติว่าให้ผู้รับดูแลผู้เยาว์จำต้องร่วมรับผิดกับผู้เยาว์ในการละเมิดซึ่งผู้เยาว์ได้กระทำลงในระหว่างที่อยู่ในความดูแล ถ้าหากพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้น ๆ มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร เมื่อโจทก์กล่าวอ้างจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ซึ่งดูแลจำเลยที่ 2 มิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส ซึ่งบุคคลอื่นในวัยผู้เยาว์ไม่อาจเล่นได้ จึงเป็นหน้าที่โจทก์ต้องนำสืบพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควร โดยปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส จนเกิดเพลิงไหม้ลุกลามทรัพย์สินของโจทก์ได้รับความเสียหาย แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบได้ความเพียงว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้พากันมาเล่นอยู่บริเวณโรงจอดรถภายในลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัสของโจทก์จนเป็นเหตุให้เกิดไฟไหม้ถังน้ำมันและเศษผ้าที่กองอยู่บริเวณด้านหน้ารถบรรทุกสิบล้อ หมายเลขทะเบียน 83 - 0776 อุดรธานี และไฟลุกลามไหม้รถบรรทุกสิบล้อดังกล่าว รวมทั้งรถพ่วงบรรทุกท้าย หมายเลขทะเบียน 81 - 9686 อุดรธานี กับรถแบ็คโฮ ของโจทก์ซึ่งจอดไว้ในโรงจอดรถได้รับความเสียหาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามสมควรหรือปล่อยปละละเลยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊ส แม้ได้ความว่า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สจากร้านค้าและนำมาจุดเล่นกันบริเวณที่เกิดเหตุ แต่ข้อนี้จำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 ต่อสู้ว่า ได้ใช้ความระมัดระวังดูแลตามสมควรแก่หน้าที่แล้ว โดยจำเลยที่ 4 ที่ 5 นำสืบว่า ไม่เคยปล่อยให้จำเลยที่ 1 เล่นไฟ ไม่เคยใช้ให้ไปจุดไฟเผาขยะหรือใช้ให้ไปซื้อไฟแช็กแก๊สที่ร้านค้า วันเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ไปเล่นที่ลานรับซื้อไม้ยูคาลิปตัส เนื่องจากบุตรเขยของจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นลุงของจำเลยที่ 1 ทำงานที่ลานดังกล่าว และจำเลยที่ 7 และที่ 8 นำสืบว่าวันเกิดเหตุ จำเลยที่ 7 และที่ 8 ออกจากบ้านไปงานศพตั้งแต่เช้า จึงพาจำเลยที่ 2 ไปฝากกับนางฉุยซึ่งเป็นพี่สาวของจำเลยที่ 6 โดยโจทก์มิได้คัดค้านข้อเท็จจริงที่นำสืบว่าไม่เป็นความจริง ประกอบกับโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าวันเกิดเหตุจำเลยที่ 4 ที่ 5 และจำเลยที่ 7 ที่ 8 มิได้ใช้ความระมัดระวังดูแลจำเลยที่ 1 ที่ 2 อย่างไร หรือรู้เห็นกับการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อไฟแช็กแก๊สและนำมาจุดเล่นจนเกิดเพลิงลุกไหม้ทรัพย์สินโจทก์หรือเคยรู้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 เล่นไฟแช็กแก๊สแล้วไม่ดูแลห้ามปราม ลำพังโจทก์เพียงปากเดียวที่เบิกความลอย ๆ จึงยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จำเลยที่ 4 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 8 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
of 95