คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมจิตร์ ทองศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 941 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4138/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งการครอบครองที่ดิน, สิทธิการครอบครอง, การเช่าที่ดิน, และอายุความฟ้องขับไล่
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ตนเองมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทดีกว่าโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การต่อมาว่า โจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาปี 2555 โจทก์รับโอนที่ดินมาจากมารดา การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเห็นได้ว่าคำให้การในตอนต้นของจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ส่วนคำให้การในตอนหลังกลับยอมรับสิทธิของโจทก์เรื่องจำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ คำให้การของจำเลยจึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ที่ดินส่วนนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ก็เพียงทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน การที่จำเลยเช่าที่ดินส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเนื้อที่ 23 ไร่ 96 ตารางวาจากโจทก์ โดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนนี้ดีกว่าจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4137/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่: สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทกรณีมีหนังสือรับรอง-คำสั่งเพิกถอน และการเช่าที่ดิน
โจทก์และเจ้าของรวมเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396, 1397 และ 2289 ซึ่งทางราชการออกให้เมื่อปี 2516 จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2555 โดยเสียค่าเช่ามาตลอด ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิแทนโจทก์ แม้ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินจะมีคำสั่งให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินทั้งสามแปลงอันเป็นคำสั่งทางปกครองมีผลทำให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่โจทก์ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว แม้ในที่สุดผลคดีเป็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินชอบแล้ว ทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็เพียงแต่ทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยเช่าที่ดินพิพาทโดยยอมรับสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย
จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกา ส่วนโจทก์แก้ฎีกาโดยยื่นระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมเช่นกัน โดยโจทก์และจำเลยต่างก็มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมสำเนาเอกสารภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 วรรคสอง และมาตรา 90 วรรคสอง แต่เอกสารตามที่ระบุพยานเพิ่มเติมต่างเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นในคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ทั้งเอกสารดังกล่าวเพิ่งมีขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วและมิได้อยู่ในความครอบครองของคู่ความมาแต่ต้น พฤติการณ์จึงไม่เปิดช่องให้โจทก์และจำเลยยื่นบัญชีระบุพยานและสำเนาเอกสารดังกล่าวภายใน 15 วัน นับแต่วันสืบพยาน เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และเอกสารดังกล่าวแม้เป็นเพียงสำเนาเอกสาร แต่เมื่อมีเจ้าพนักงานรับรองสำเนาถูกต้อง จึงฟังได้ว่า เอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างเป็นของแท้จริงและถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 127

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3771/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างเนื่องจากกระทำผิดซ้ำหลังตักเตือน การพิสูจน์ความผิดซ้ำและความชอบธรรมในการเลิกจ้าง
หนังสือเตือนตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) จะต้องประกอบด้วยข้อความซึ่งแสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน หรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างให้เพียงพอที่ลูกจ้างจะเข้าใจการกระทำของตนและต้องมีข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำเช่นนั้นซ้ำอีก หากทำผิดซ้ำอีกจะถูกลงโทษ หนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2559 มีข้อความเฉพาะในส่วนที่แสดงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่ง โดยไม่มีข้อความที่ระบุในทำนองว่า โจทก์ยังให้โอกาสจำเลยที่ 2 มีโอกาสปรับปรุงตัวอีกครั้ง และไม่ได้ระบุว่าโจทก์ได้ลงโทษทางวินัยสำหรับการกระทำความผิดครั้งนี้ของจำเลยที่ 2 อย่างไร ส่วนข้อความว่า "...ทั้งนี้พนักงานเคยมีประวัติการทำผิดกฎระเบียบของบริษัทฯ ดังกล่าว และบริษัทฯ ได้ดำเนินการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว แต่ลูกจ้างยังคงกระทำผิดซ้ำคำเตือนในเรื่องเดิม ซึ่งถือว่าบริษัทฯ ให้โอกาสพนักงานในการแก้ไขปรับปรุงตัวแล้ว แต่พนักงานยังคงกระทำผิดซ้ำคำเตือนเรื่องเดิมในเรื่องการขาดความรับผิดชอบในการบริหาร ซึ่งบริษัทฯ ได้แจ้งเตือนแล้วว่า หากพนักงานกระทำผิดซ้ำคำเตือนอีก บริษัทฯ จะพิจารณาตามกฎหมายแรงงาน คือการเลิกจ้างทันทีโดยไม่มีการจ่ายค่าชดเชยหรือค่าบอกกล่าวใด ๆ ทั้งสิ้น..." หาได้เป็นข้อความที่มีลักษณะเป็นการเตือนโดยห้ามมิให้ลูกจ้างกระทำเช่นนั้นซ้ำอีก หากทำผิดซ้ำอีกจะถูกลงโทษด้วยไม่ ทั้งไม่มีข้อความในส่วนใดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นกรณีที่โจทก์ได้ลงโทษจำเลยที่ 2 ทางวินัยด้วย จึงไม่เป็นหนังสือเตือนตามมาตรา 119 วรรคหนึ่ง (4) แห่งพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และไม่ใช่การลงโทษทางวินัยด้วยเช่นเดียวกัน หนังสือตักเตือนดังกล่าวจึงเป็นเพียงหนังสือที่โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำการฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานซ้ำกับที่โจทก์เคยมีหนังสือเตือนจำเลยที่ 2 และโจทก์มีสิทธิลงโทษสถานหนักด้วยการเลิกจ้างจำเลยที่ 2 โดยไม่จ่ายค่าชดเชยได้ตามที่เคยเตือนไว้เท่านั้น การที่โจทก์มีหนังสือเลิกจ้างจำเลยที่ 2 ในวันที่ 16 มีนาคม 2559 จึงไม่ใช่การลงโทษทางวินัยจำเลยที่ 2 ซ้ำซ้อนกับการออกหนังสือตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ฉบับลงวันที่ 15 มีนาคม 2559

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3121/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างคนประจำเรือมีกำหนดระยะเวลา สิทธิการได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
โจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ 2 ฉบับ ฉบับแรกตกลงว่าจ้างโดยเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 ถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2559 สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ตกลงว่าจ้างโดยเริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 ถึงวันที่ 16 มีนาคม 2560 ตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรก จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ทำงานบนเรือในตำแหน่งต้นกล มีหน้าที่หลักด้านเทคนิคของเรือ ตรวจซ่อมเครื่องจักร วางแผนงานกำหนดหน้าที่งานให้แก่คนประจำเรือแผนกช่างกล ประจำอยู่บนเรือกลเดินทะเลระหว่างประเทศของจำเลย โดยสัญญาดังกล่าวมีข้อความระบุว่า "...สัญญาว่าจ้างฉบับนี้เป็นไปตามมาตรฐาน MLC A2.1.4...." กับระบุรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและชื่อสกุล วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิดและที่อยู่ปัจจุบันของโจทก์ ชื่อและที่อยู่ของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเรือ สัญชาติของเรือ สถานที่และวันเดือนปีที่ทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ ตำแหน่งหน้าที่ของโจทก์ในการจ้างงาน อัตราค่าจ้างและค่าตอบแทนอื่น ๆ วันเริ่มการว่าจ้างและวันสิ้นสุดการว่าจ้าง เงื่อนไขการสิ้นสุดของสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือ รวมทั้งสิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองการประกันสังคมและสุขภาพที่จำเลยเป็นผู้จัดหาให้โจทก์และสิทธิของโจทก์ในการได้รับการส่งตัวกลับ ซึ่งมีลักษณะและรายละเอียดทำนองเดียวกับหลักเกณฑ์เรื่องสภาพการจ้างงานของคนประจำเรือตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 ที่กำหนดให้ข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือจะต้องมีรายการดังกล่าว อันเป็นมาตรฐานสากลของการทำงานบนเรือเดินทะเล ประกอบกับเหตุผลประการหนึ่งในการประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว คือ การทำงานของลูกจ้างและคนประจำเรือเกี่ยวข้องกับกิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศที่ต้องนำมาตรฐานสากล คือ อนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) มาปฏิบัติต่อแรงงานทางทะเลเป็นกรณีเฉพาะ จึงแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยว่าประสงค์ให้สัญญาดังกล่าวมีมาตรฐานการทำงานทางทะเลสอดคล้องกับมาตรฐานสากลของการทำงานของคนประจำเรือตามอนุสัญญาว่าด้วยแรงงานทางทะเล พ.ศ. 2549 (Maritime Labour Convention, 2006) ด้วย
โจทก์เริ่มต้นทำงานกับจำเลยตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2558 และประเทศไทยได้มีการอนุวัติการกฎหมายภายในประเทศให้สอดคล้องกับข้อกำหนดมาตรฐานทางทะเลแห่งอนุสัญญาดังกล่าวโดยการตรา พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ขึ้นมาใช้บังคับสำหรับแรงงานทางทะเลเป็นกรณีเฉพาะ แม้ขณะวันเริ่มต้นทำงานของโจทก์ตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกไม่อาจนำ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาใช้บังคับต่อกันได้ก็ตามแต่เมื่อระหว่างที่สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกยังมีผลผูกพันคู่สัญญาอยู่นั้น พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ได้มีผลใช้บังคับแล้ว การที่จำเลยตกลงว่าจ้างโจทก์ให้ทำงานในตำแหน่งต้นกลประจำอยู่บนเรือของจำเลยและได้รับค่าจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรก จึงถือเป็นการทำข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือตามบทนิยามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว
โจทก์ฟ้องเรียกร้องสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้ากับค่าชดเชยอันเป็นการเรียกร้องตามสิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างซึ่งจะต้องพิจารณาตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เลิกจ้าง ข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับการเลิกจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับแรกจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับพ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ส่วนสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 นั้น โจทก์เริ่มต้นทำงานตามสัญญาดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2559 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มีผลใช้บังคับแล้ว สิทธิและหน้าที่ที่จะพึงมีตามกฎหมายในการเลิกจ้างตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 เช่นกัน
เมื่อ พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การจ้างงานระหว่างเจ้าของเรือกับคนประจำเรือตามพระราชบัญญัตินี้ไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน" และไม่ปรากฏว่า พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติในส่วนของค่าชดเชยไว้เป็นการเฉพาะ หรือบัญญัติให้คนประจำเรือได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน หรือมีบทบัญญัติอื่นที่ยกเว้นไม่ให้นำพระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับแก่ข้อตกลงจ้างงานของคนประจำเรือที่ได้ทำไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติดังกล่าวใช้บังคับ ดังนั้น จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558
การที่โจทก์กับจำเลยทำสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นการทำงานและระยะเวลาสิ้นสุดไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 43 วรรคหนึ่งและวรรคสอง และมาตรา 44 วรรคหนึ่ง กับก่อนที่จำเลยจะตกลงจ้างคนประจำเรือทุกครั้งจำเลยจะต้องจัดทำการอบรมทดสอบร่างกายจิตใจและความรู้ความสามารถในการทำงานบนเรือรวมถึงความรู้เกี่ยวกับกฎข้อบังคับระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับเรือเดินทะเลเพื่อคัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อม หากพิจารณาแล้วเห็นว่า บุคคลใดมีความพร้อมผ่านเกณฑ์ จำเลยจะตกลงว่าจ้างให้ทำงานในครั้งต่อไป ประกอบกับการทำงานบนเรือเดินทะเลที่มีลักษณะและสภาพของงานแตกต่างจากการทำงานของลูกจ้างทั่วไป การที่จำเลยต้องทำการอบรมทดสอบร่างกายจิตใจและความรู้ความสามารถในการทำงานบนเรือก่อนที่จะตกลงจ้างคนประจำเรือทุกครั้ง แสดงให้เห็นว่าจำเลยประสงค์ที่จะจ้างคนประจำเรือมีกำหนดระยะเวลาเป็นคราว ๆ ไป
สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ข้อ 4 ที่กำหนดว่า หากสัญญาว่าจ้างสิ้นสุดลงในขณะที่เรือมิได้อยู่ในเมืองท่า ให้ถือว่าสัญญาฉบับนี้ได้รับการต่ออายุออกไปอีกเป็นระยะเวลาไม่เกินสามเดือน และบริษัทจะดำเนินการจัดส่งคนประจำเรือกลับยังภูมิลำเนาเดิมในเมืองท่าที่สะดวกในการเดินทางกลับ ไม่ได้เป็นข้อบ่งชี้ว่าสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 เป็นสัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน แต่คงหมายความเพียงว่าเมื่อสัญญาจ้างที่กำหนดระยะเวลาไว้สิ้นสุดลงในขณะที่เรือมิได้อยู่ในเมืองท่า ก็ให้ต่ออายุสัญญาว่าจ้างออกไปอีกระยะหนึ่งเพื่อจำเลยจะได้ดำเนินการจัดส่งคนประจำเรือกลับภูมิลำเนาเดิมของคนประจำเรือเท่านั้น อันเป็นการคุ้มครองคนประจำเรือว่าก่อนที่จะส่งคนประจำเรือซึ่งอยู่ในระหว่างการเดินเรือกลับภูมิลำเนานั้น คนประจำเรือมีสิทธิได้รับค่าจ้างต่อไปอีกระยะหนึ่งแต่ไม่เกินสามเดือน ดังนี้ สัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระหว่างโจทก์กับจำเลยฉบับที่ 2 จึงไม่ใช่สัญญาจ้างที่ไม่มีกำหนดระยะเวลาแน่นอน
เมื่อสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือฉบับที่ 2 ระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างและมีการสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนดระยะเวลาในข้อตกลงการจ้างงานของคนประจำเรือ หรือสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ตาม พ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ. 2558 มาตรา 44 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1775/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำพิพากษาศาลแรงงานต้องแสดงข้อเท็จจริง คำวินิจฉัย และเหตุผลประกอบการวินิจฉัยอย่างครบถ้วน
จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยระบุเหตุแห่งการเลิกจ้างไว้หลายประการ แต่ศาลแรงงานกลางกลับวินิจฉัยโดยมิได้นำเหตุผลทั้งหมดในหนังสือเลิกจ้างมาประกอบการพิจารณาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 49 ทั้งการอ้างหนังสือของจำเลยในเรื่องการปรับเงินเดือนประจำปี 2552 ถึงปี 2559 ก็เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น เพราะมิได้เป็นเหตุที่ปรากฏในหนังสือเลิกจ้างของจำเลย การรับฟังข้อเท็จจริงของศาลแรงงานกลางก็ขัดกับพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบจึงเป็นการรับฟังพยานหลักฐานที่ไม่ชอบ จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 อุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว จึงเป็นการอุทธรณ์ที่ขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ อุทธรณ์ของจำเลยจึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลแรงงานให้ทำเป็นหนังสือและต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปและคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยนั้น ซึ่งหมายความว่าคำพิพากษาของศาลแรงงานจะต้องมีส่วนสำคัญ คือ ประการแรกต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปเพื่อให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษหรือศาลฎีกาจะได้นำข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานได้ฟังมาวินิจฉัยข้อกฎหมายต่อไปหากมีการอุทธรณ์หรือฎีกาในประเด็นนั้น ประการที่สองต้องแสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดี และประการที่สามคำวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีนั้นจะต้องมีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเพื่อให้ทราบว่าศาลแรงงานได้นำข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายใดเป็นหลักในการวินิจฉัยคดีและถูกต้องตามหลักเกณฑ์ในการรับฟังพยานหลักฐานและการแปลความบทบัญญัติของกฎหมายหรือไม่ คดีนี้เฉพาะในประเด็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมจำเลยให้การว่าโจทก์จงใจหรือประมาทเลินเล่อทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ขัดคำสั่งและละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งของจำเลยเป็นอาจิณ กระทำความผิดอย่างร้ายแรง และกระทำประการอื่นอันไม่สมแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตจำเลยเคยตักเตือนและโจทก์เพิกเฉยไม่ปรับปรุงตนเอง เป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหาย การที่คำพิพากษาศาลแรงงานกลางอ้างถึงเหตุในหนังสือเลิกจ้าง แล้วนำคำเบิกความพยานโจทก์และพยานจำเลยมาเรียงต่อกัน แล้ววินิจฉัยคลุมไปทีเดียวว่า จากข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของโจทก์ยังไม่อาจถือได้ว่าฝ่าฝืนข้อบังคับหรือคำสั่งของจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกรณีร้ายแรง การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงไม่ได้แสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุป และไม่ได้แสดงคำวินิจฉัยให้ปรากฏตามประเด็นแห่งคดี ทั้งไม่มีเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ทั้งที่โจทก์และจำเลยต่างได้นำสืบทั้งพยานบุคคลและพยานเอกสารในประเด็นดังกล่าวมาแล้ว จึงเป็นคำพิพากษาที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 701-813/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการจ่ายค่าชดเชยพิเศษกรณีพิพาทแรงงาน ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นการหักเงินช่วยเหลือจากค่าชดเชย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ไม่ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า "เทคโนโลยี" ไว้เป็นการเฉพาะ จึงต้องพิจารณาตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ซึ่งให้คำจำกัดความของคำว่า "เทคโนโลยี" ไว้ว่า "วิทยาการที่นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรม เป็นต้น" จึงต้องพิจารณาว่าการที่จำเลยเปลี่ยนแปลงระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัลเป็นการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ อุตสาหกรรม หรือไม่ เมื่อการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกและระบบดิจิทัล คือ การรับส่งสัญญาณผ่านอุปกรณ์ไมโครเวฟหรือผ่านสัญญาณไฟเบอร์ออปติกไปยังเสาส่งสัญญาณของสถานีเครือข่ายเพื่อส่งสัญญาณต่อไปจนถึงผู้รับชมทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด อันเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ในกิจการโทรทัศน์ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้และความบันเทิงอย่างทั่วถึง การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกและระบบดิจิทัลจึงเป็นเทคโนโลยีประเภทหนึ่ง ตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และเมื่อพิจารณาประกอบกับแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติแล้ว ก็แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัลเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง ทั้งเมื่อพิจารณาประกอบกับข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ระบบดิจิทัลมีการพัฒนาขึ้นจากเดิมในระบบแอนะล็อกทั้งในด้านคุณภาพการส่งสัญญาณกับภาพและเสียงในการรับชมมีความคมชัดมากขึ้น ทำให้มีการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ได้จำนวนช่องรายการที่มากกว่า อันถือเป็นความก้าวล้ำทางวิทยาการอีกระดับหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยเปลี่ยนแปลงขั้นตอนการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในส่วนของสถานีเครือข่ายจากเดิมในระบบแอนะล็อกที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการเองในสถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี เป็นระบบดิจิทัลด้วยวิธีการไปใช้บริการโครงข่ายจาก ททบ.5 แทน เพื่อให้ระบบรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลที่สามารถรับส่งสัญญาณได้มากขึ้นและคุณภาพดีขึ้น จึงถือเป็นการปรับปรุงการบริการในธุรกิจรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ของจำเลยโดยการเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีตามมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และเมื่อมาตรา 121 มิได้บัญญัติว่า กรณีจะปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องลดจำนวนลูกจ้างนั้นจะต้องเกิดจากความประสงค์หรือริเริ่มของนายจ้างเท่านั้น ประกอบกับเจตนารมณ์ของมาตรา 121 ประสงค์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี ดังนั้น แม้นายจ้างจะไม่ได้เป็นผู้คิดหรือริเริ่มที่จะปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ โดยการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยี แต่หากต่อมานายจ้างเป็นผู้กระทำให้เกิดการปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการ อันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีและเป็นเหตุให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างด้วยเหตุดังกล่าวก็ย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 121 โดยไม่จำกัดว่ามีสาเหตุมาจากนายจ้างต้องการปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการด้วยตนเอง หรือเกิดจากสาเหตุอื่นใด
แม้โจทก์ที่เป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีลักษณะงานซึ่งรับผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวกับอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมต่างกับลักษณะงานในตำแหน่งงานช่างเทคนิคก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่า เมื่อจำเลยเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีระบบการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกเป็นระบบดิจิทัล ทำให้จำเลยไม่อาจดำเนินการในส่วนของสถานีเครือข่ายต่อไปและต้องส่งมอบคืนหรือรื้อถอนอาคารสถานที่สถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี และเลิกจ้างลูกจ้างทั้งหมดที่ทำงานในสถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี ซึ่งเป็นช่างเทคนิคและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ย่อมทำให้ลูกจ้างในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อมาตรา 121 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์ที่จะคุ้มครองลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการที่นายจ้างนำเครื่องจักรมาใช้หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาใช้แทนการทำงานของลูกจ้างดังกล่าว การพิจารณาว่าลูกจ้างคนใดได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่นั้น จึงหาได้พิจารณาแต่เฉพาะหน้าที่ความรับผิดชอบของลูกจ้างว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหรือการใช้อุปกรณ์เครื่องรับส่งสัญญาณโทรทัศน์แต่เพียงอย่างเดียวไม่ การพิจารณาว่าลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่ต้องพิจารณาเป็นรายกรณีไป เมื่อปรากฏว่าในคดีนี้จำเลยเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์เป็นระบบดิจิทัลในส่วนของสถานีเครือข่ายจากเดิมที่จำเลยเป็นผู้ดำเนินการเองเป็นการเช่าใช้บริการโครงข่ายจาก ททบ.5 แทน มิใช่การนำเฉพาะเครื่องจักรหรืออุปกรณ์เกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลมาใช้แทนเครื่องจักรหรืออุปกรณ์การรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกในสถานีเครือข่ายของจำเลย อันจะส่งผลกระทบกับลูกจ้างที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับเครื่องจักรหรืออุปกรณ์รับส่งสัญญาณโทรทัศน์เท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดังกล่าวทำให้จำเลยไม่ต้องดำเนินการในส่วนของสถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี ด้วยตนเองอีกต่อไป แล้วเปลี่ยนไปใช้สถานที่อื่นซึ่งเป็นสถานีโครงข่ายของ ททบ.5 แทน และส่งมอบคืนหรือรื้อถอนอาคารสถานที่ สถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี แล้วเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานในสถานีเครือข่ายทุกคนรวมทั้งลูกจ้างที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยด้วย ลูกจ้างทุกคนที่ทำงานในสถานีเครือข่ายไม่ว่าจะทำงานในตำแหน่งใด หรือมีหน้าที่ใด ย่อมได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งสิ้น การที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างที่ทำหน้าที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยถือว่าเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างลูกจ้างเพราะเหตุที่นายจ้างปรับปรุงหน่วยงาน กระบวนการผลิต การจำหน่าย หรือการบริการอันเนื่องมาจากการนำเครื่องจักรมาใช้ หรือเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีด้วย
แม้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 121 วรรคหนึ่ง จะบัญญัติให้นายจ้างแจ้งวันที่จะเลิกจ้าง เหตุผลของการเลิกจ้างและรายชื่อลูกจ้างต่อพนักงานตรวจแรงงาน และลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้างก็ตาม แต่มาตรา 121 วรรคสอง บัญญัติว่า "ในกรณีที่นายจ้างไม่แจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้า หรือแจ้งล่วงหน้าน้อยกว่าระยะเวลาที่กำหนดตามวรรคหนึ่ง นอกจากจะได้รับค่าชดเชยตามมาตรา 118 แล้ว ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหกสิบวัน..." ซึ่งตามมาตรานี้บัญญัติให้นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าก็ต่อเมื่อนายจ้างไม่ได้แจ้งให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าหรือแจ้งล่วงหน้าให้ลูกจ้างทราบน้อยกว่าระยะเวลาหกสิบวันก่อนวันที่จะเลิกจ้างเท่านั้น มิได้บัญญัติไว้ให้รวมถึงการแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบด้วย ดังนั้น เมื่อจำเลยแจ้งการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าก่อนวันที่จะเลิกจ้างไม่น้อยกว่าหกสิบวันแล้ว ย่อมถือว่าจำเลยได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ในมาตรา 121 วรรคหนึ่งแล้ว จึงไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายเงินดังกล่าวตามมาตรา 121 วรรคสอง การที่กฎหมายกำหนดให้นายจ้างแจ้งให้ลูกจ้างที่จะเลิกจ้างทราบล่วงหน้าตามมาตรา 121 วรรคหนึ่ง ก็เพื่อให้ลูกจ้างที่จะถูกเลิกจ้างรับรู้เพื่อเตรียมตัววางแผนในการดำเนินชีวิต ส่วนการกำหนดให้นายจ้างแจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบล่วงหน้านั้น ก็เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เข้าไปดูแลและรับรู้การเลิกจ้างเพื่อที่จะช่วยคุ้มครองสิทธิของลูกจ้าง แม้การที่นายจ้างไม่ได้แจ้งการเลิกจ้างดังกล่าวให้พนักงานตรวจแรงงานทราบตามมาตรา 121 วรรคหนึ่ง จะเป็นความผิดตามมาตรา 146 ก็ตาม แต่ก็เป็นบทลงโทษในทางอาญาแก่นายจ้าง การที่นายจ้างไม่แจ้งให้พนักงานตรวจแรงงานทราบหาทำให้ลูกจ้างเกิดสิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยพิเศษแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าด้วยไม่
การที่จำเลยต้องเลิกจ้างโจทก์กับพวกซึ่งเป็นลูกจ้างประจำสถานีเครือข่ายทั้งหมดเป็นผลจากการปฏิบัติตามนโยบายของหน่วยงานของรัฐที่ควบคุมโดยตรงจึงมีเหตุจำเป็นตามสมควร ทั้งเมื่อศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ทั้งระบบแอนะล็อกและระบบดิจิตอลคู่ขนานกันมาตั้งแต่ปี 2557 ก่อนยุติการส่งสัญญาณระบบแอนะล็อกในปี 2560 จำเลยประกาศแจ้งแผนการยุติการส่งสัญญาณผ่านสถานีเครือข่ายทั้ง 37 สถานี ตามนโยบายและที่ได้รับอนุมัติจาก กสทช. ให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าแล้ว และมีการเลิกจ้างลูกจ้างโดยบอกกล่าวล่วงหน้านานพอสมควร ย่อมถือว่าจำเลยเปิดโอกาสให้โจทก์กับพวกรับรู้สถานการณ์และเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทั้งจำเลยได้เลิกจ้างลูกจ้างที่ทำงานประจำสถานีเครือข่ายทั่วประเทศทั้งหมด โดยไม่มีลักษณะเป็นการกลั่นแกล้งหรือเจาะจงเลิกจ้างคนใดคนหนึ่ง การเลิกจ้างโจทก์ทั้งหมดจึงมิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4245-4248/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายเดือน จำเลยผิดนัดชำระ มีหน้าที่จ่ายเงินเพิ่มตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน
โจทก์ทั้งสี่เป็นลูกจ้างได้รับค่าจ้างรายเดือนในอัตราที่แน่นอน โดยจำเลยมีหน้าที่โอนค่าจ้างเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสี่ทุกวันสิ้นเดือน อันเป็นการกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทิน จำเลยจึงมีหน้าที่จ่ายค่าจ้างสำหรับเดือนมกราคม 2560 โดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ทั้งสี่ในวันที่ 31 มกราคม 2560 เมื่อจำเลยไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคสอง ไม่ปรากฎว่ากิจการของจำเลยขาดทุนจนไม่มีเงินหมุนเวียนที่จะนำมาจ่ายค่าจ้าง เมื่อจำเลยได้จ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้แก่ลูกจ้างอื่นทุกคนแล้วแสดงว่าจำเลยมีความพร้อมที่จะจ่ายค่าจ้างเดือนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่ได้ด้วย ทั้งจำเลยมิได้โต้แย้งเรื่องจำนวนค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ที่จำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งสี่ก่อนหรือภายในวันที่ 31 มกราคม 2560 อันเป็นวันที่ครบกำหนดจ่ายค่าจ้าง การที่จำเลยเพิ่งอ้างเหตุไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสี่ในภายหลังว่า ยังมีปัญหาว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้แก่โจทก์ทั้งสี่หรือไม่ก็ดี โจทก์ทั้งสี่จะต้องคืนทรัพย์สินและเอกสารของจำเลยหรือไม่ก็ดี และจะนำค่าจ้างดังกล่าวไปหักกลบลบหนี้ตามที่โจทก์ทั้งสี่ทำให้จำเลยเสียหายได้หรือไม่ก็ดี เป็นข้ออ้างที่ไม่สุจริตเพราะจำเลยมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าจ้างเดือนมกราคม 2560 ให้โจทก์ทั้งสี่ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2560 อยู่แล้ว ส่วนเรื่องการคืนทรัพย์สินหรือเอกสารกับการหักกลบลบหนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2560 อันเป็นวันที่โจทก์ทั้งสี่ออกจากงานไปแล้ว ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ที่จำเลยไม่จ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสี่จึงเป็นการจงใจไม่จ่ายค่าจ้างโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยจึงต้องจ่ายเงินเพิ่มร้อยละสิบห้าของเงินที่ค้างจ่ายทุกระยะเวลาเจ็ดวัน เมื่อพ้นกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันถึงกำหนดจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ทั้งสี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 9 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4185-4186/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำสั่งเรียกค่าสินไหมทดแทนที่ไม่สมบูรณ์: จำเป็นต้องให้โอกาสผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงก่อนออกคำสั่ง
โจทก์ที่ 1 เพียงแต่ได้ให้ปากคำต่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย ส. ซึ่งไม่ใช่กระบวนการหาตัวผู้รับผิดในทางแพ่งที่จำเลยจะมาอ้างว่าโจทก์ที่ 1 มีโอกาสชี้แจงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนแล้ว เมื่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดไม่ได้เรียกหรือให้โอกาสโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหาได้มีโอกาสให้ถ้อยคำชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตน จึงเป็นกรณีที่คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 30 วรรคหนึ่ง และข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มีผลทำให้คำสั่งของจำเลยที่เรียกให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งจำเลยอาจแก้ไขให้สมบูรณ์ในภายหลังได้ โดยเรียกให้โจทก์ที่ 1 รับทราบข้อกล่าวหาและชี้แจงพยานหลักฐานของตนก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 41 การที่จำเลยแจ้งคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้มีหนังสือถึงองค์การสะพานปลาโต้แย้งหนังสือบอกกล่าวให้ชำระค่าสินไหมทดแทน จึงเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 อุทธรณ์คำสั่งทางปกครองดังกล่าว หาใช่โจทก์ที่ 1 ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนไม่ และการที่จำเลยได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเห็นโต้แย้งหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ที่ 1 ก็เป็นกระบวนการที่จำเลยพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 1 เมื่อคณะกรรมการดังกล่าวพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดเกิดขึ้นมาใหม่ที่จะมาเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยเดิมของกรมบัญชีกลาง และจำเลยเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าว กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์จึงได้สิ้นสุดแล้ว ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่า หลังจากจำเลยมีคำสั่งเรียกให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์ จำเลยได้ดำเนินการโดยให้โอกาสแก่โจทก์ที่ 1 ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานของตนอย่างเพียงพอและเป็นธรรม คำสั่งทางปกครองดังกล่าวจึงหากลับมาสมบูรณ์ในภายหลังไม่ คำสั่งที่จำเลยเรียกให้โจทก์ที่ 1 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงยังเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ และทำให้คำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1756/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตความรับผิดทางแพ่งในคดีอาญา: การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำกัดเฉพาะการกระทำผิดของจำเลยตามฟ้อง
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 วรรคท้าย ผู้ร้องชอบที่จะยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้เฉพาะค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดอาญาของจำเลยที่ 3 ตามที่ถูกฟ้องเท่านั้น ไม่สามารถยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของบุคคลอื่นได้ เมื่อโจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 3 ร่วมกันพรากผู้เสียหายที่ 1 ไปจากผู้ร้อง โดยไม่ได้บรรยายว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งขณะกระทำความผิดเป็นผู้เยาว์นั้นมีจำเลยที่ 3 เป็นมารดาของจำเลยที่ 1 ด้วย จึงถือว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพียงกรณีที่ร่วมกันกระทำละเมิดฐานพรากผู้เสียหายที่ 1 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 3 มิได้ร่วมกระทำความผิดตามฟ้อง การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดของจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 429 ในฐานะมารดาซึ่งไม่ได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแล ปล่อยให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรผู้เยาว์พรากผู้เสียหายที่ 1 ไปเสียจากความปกครองของผู้ร้อง จึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องของพนักงานอัยการและคำร้องของผู้ร้อง เป็นการนอกฟ้องนอกประเด็น ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 40

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1010/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ งานล่วงเวลา: การพิจารณาลักษณะงานเพื่อกำหนดสิทธิค่าล่วงเวลาในรัฐวิสาหกิจ
ลูกจ้างที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาและค่าล่วงเวลาในวันหยุด แต่มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามชั่วโมงที่ทำนั้น ต้องพิจารณาว่างานที่ลูกจ้างทำล่วงเวลาหรือล่วงเวลาในวันหยุดเป็นงานที่กำหนดไว้ตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2549 ข้อ 40 (1) ถึง (7) ซึ่งอาจจะเป็นงานที่มีลักษณะและสภาพของงานเช่นเดียวกับงานที่ลูกจ้างทำในวันและเวลาทำงานปกติหรือไม่ก็ได้ ประกาศข้อดังกล่าว หาได้กำหนดให้งานที่ลูกจ้างทำในวันและเวลาทำงานปกติกับงานที่ลูกจ้างทำล่วงเวลาหรือล่วงเวลาในวันหยุดต้องต่างกันแต่อย่างใดไม่ ทั้งงานใดจะเป็นงานตามข้อ 40 (1) ถึง (7) ต้องพิจารณาที่ลักษณะและสภาพของงานนั้น ๆ เป็นสำคัญ นายจ้างหามีสิทธิกำหนดให้งานหนึ่งงานใดเป็นงานที่ลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาหรือค่าล่วงเวลาในวันหยุดให้แตกต่างไปจากที่กฎหมายกำหนดไว้ได้ไม่
งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็น หมายถึงลักษณะหรือสภาพงานที่ลูกจ้างทำนั้น ลูกจ้างต้องประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่ เมื่อมีงานตามหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นขึ้นแล้ว ลูกจ้างจึงจะมีหน้าที่ไปปฏิบัติงานดังกล่าว หากไม่มีงานที่เป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเกิดขึ้น ลูกจ้างก็ไม่มีหน้าที่ต้องปฏิบัติงาน คงเพียงแต่ประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่เท่านั้น เมื่อแผนกสื่อสารมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการติดต่อสื่อสารและประสานงานกับเรือสินค้าที่เข้ามาใช้บริการในเขตร่องน้ำเจ้าพระยาให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล การตรวจสอบความถูกต้องและบันทึกข้อมูลเรือสินค้า ควบคุมข่ายการสื่อสารของ กทท. เฝ้าฟังและติดต่อสื่อสารกับเรือสินค้า และให้บริการข้อมูลในระบบบริการเรือทางโทรศัพท์แก่หน่วยงานเกี่ยวข้องในระบบบริการเรือ เช่นนี้ลักษณะงานและสภาพงานของแผนกสื่อสารและที่โจทก์ปฏิบัติในเวลาทำงานปกติและในเวลาทำงานล่วงเวลาเป็นงานที่ต้องให้บริการท่าเรือตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ใช่งานที่ลูกจ้างต้องอยู่ประจำการ ณ สถานประกอบกิจการหรือสถานที่ที่นายจ้างกำหนดเพื่อรองานตามหน้าที่ เมื่อมีงานตามหน้าที่ซึ่งเป็นเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเกิดขึ้นแล้ว ลูกจ้างจึงจะมีหน้าที่ไปปฏิบัติงาน งานที่โจทก์ทำจึงมีลักษณะเป็นงานทั่วไป หาใช่งานที่ต้องอยู่ประจำการเพื่อเหตุฉุกเฉินและจำเป็นไม่
of 95