คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมจิตร์ ทองศรี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 941 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9049/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างขัดต่อกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ นายจ้างไม่อาจอ้างเหตุลาป่วย/ลากิจเป็นเหตุเลิกจ้างได้
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 123 เป็นบทบัญญัติที่มีเจตนารมณ์คุ้มครองลูกจ้างซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องโดยห้ามมิให้นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างดังกล่าวในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นตามที่บัญญัติไว้ใน (1) ถึง (5) ดังนั้นในการตีความบทบัญญัติขยายข้อยกเว้นดังกล่าวว่ากรณีใดเป็นเหตุจำเป็นที่นายจ้างจะยกขึ้นเลิกจ้างลูกจ้างนอกเหนือจาก (1) ถึง (5) ได้นั้นต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง ทั้งต้องเป็นกรณีที่มีเหตุผลและความจำเป็นที่สำคัญซึ่งต้องพิจารณาแต่ละกรณีไป เมื่อโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 อ้างเหตุว่ามีวันลาป่วยและลากิจจำนวนมาก โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 11 ปรับปรุงพฤติกรรมแล้วแต่จำเลยที่ 11 ไม่ปรับปรุงพฤติกรรม แต่ปรากฏว่าในการลาป่วยและลากิจของจำเลยที่ 11 ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาทุกครั้ง ซึ่งตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ก็กำหนดว่า โจทก์อาจไม่อนุญาตให้ลาป่วยโดยถือเป็นการขาดงานได้ หากเป็นการลาป่วยโดยปราศจากพยานหลักฐานและเหตุผลที่น่าเชื่อถือ และในการลากิจให้ยื่นใบลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 2 วัน โดยโจทก์จะอนุมัติหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้างาน การที่โจทก์รู้อยู่แล้วว่า จำเลยที่ 11 ลาป่วยและลากิจจำนวนมากแต่ก็อนุมัติให้ลาทุกครั้งโดยไม่นำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการลามาใช้บังคับอย่างเคร่งครัดทั้งที่โจทก์เคยมีหนังสือเตือนให้จำเลยที่ 11 ปรับปรุงพฤติกรรมการลาป่วยและลากิจ เหตุที่จำเลยที่ 11 ไม่ปรับปรุงพฤติกรรมการลาส่วนหนึ่งจึงเกิดจากการบริหารจัดการของโจทก์ด้วย โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุการลาของจำเลยที่ 11 ว่าเป็นเหตุจำเป็นอื่นที่อยู่นอกเหนือเหตุเลิกจ้างตามมาตรา 123 (1) ถึง (5) ได้ การที่โจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 11 ซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อเรียกร้องในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับจึงเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา 123 แห่งพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 41 (4) ไม่ได้จำกัดอำนาจของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่าจะมีคำสั่งได้เพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้นเพราะข้อความตอนท้ายบัญญัติให้อำนาจคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์สั่งให้ผู้ฝ่าฝืนปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ดังนั้นเมื่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์เห็นว่าสมควรเยียวยาจำเลยที่ 11 โดยให้โจทก์รับจำเลยที่ 11 กลับเข้าทำงานและใช้ค่าเสียหายเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายนับแต่วันเลิกจ้างถึงวันรับกลับเข้าทำงานจึงกระทำได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8882-8883/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการเลือกตั้งสหภาพแรงงาน: การไม่รับสมัครไม่กระทบกระบวนการเลือกตั้งโดยรวม
ตามระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2555 แบ่งการดำเนินการเลือกตั้งออกเป็นสองขั้นตอน คือขั้นตอนก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกับขั้นตอนตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนประกาศผลการเลือกตั้ง กล่าวคือขั้นตอนก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งกำหนดไว้ในหมวดที่ 2 คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง หมวดที่ 3 การยื่นใบสมัครรับการเลือกตั้ง และหมวดที่ 4 หลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนขั้นตอนตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนประกาศผลการเลือกตั้งกำหนดไว้ในหมวดที่ 5 การลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง หมวดที่ 6 การนับคะแนนและการเปิดหีบบัตรลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และหมวดที่ 7 ผู้ที่ได้รับการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่าขั้นตอนก่อนการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งคือขั้นตอนการรับสมัครเลือกตั้งนั่นเอง ซึ่งขั้นตอนนี้หากคณะกรรมการการเลือกตั้งของจำเลยไม่รับสมัครบุคคลใดก็ย่อมกระทบสิทธิเฉพาะบุคคลนั้นและผู้ถูกกระทบสิทธิอาจฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้คณะกรรมการการเลือกตั้งรับสมัครตนได้เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการลงคะแนนต่อไป แต่การไม่รับสมัครเลือกตั้งหาได้กระทบถึงขั้นตอนกระบวนการตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนประกาศผลการเลือกตั้งซึ่งเป็นอีกขั้นตอนหนึ่งแต่อย่างใดไม่ ดังนั้น แม้การไม่รับสมัครโจทก์ทั้งสองจะเป็นการไม่ชอบด้วยข้อบังคับและระเบียบของจำเลย แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าขั้นตอนกระบวนการตั้งแต่การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจนประกาศผลการเลือกตั้งไม่ชอบด้วยระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2555 หรือกฎหมาย จึงหามีผลให้การเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทยชุดที่ 5 ปี 2555 ถึงปี 2558 ไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย ส่วนการที่จำเลยไม่รับสมัครโจทก์ทั้งสองก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองอย่างไร โจทก์ทั้งสองชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นอีกคดีหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8491/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สวัสดิการบริษัท (ค่าอาหาร/กระดาษทิชชู) ไม่ถือเป็นค่าจ้าง แม้จ่ายเป็นตัวเงิน
ตามข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างในหมวดสวัสดิการกำหนดว่า นายจ้างจะให้เงินช่วยเหลือเป็นค่าอาหารแก่พนักงานทุกคนที่เป็นพนักงานประจำตามสภาพการจ้าง ยกเว้นพนักงานทดลองงานและพนักงานระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไปจะไม่ได้รับเงินช่วยเหลือค่าอาหารนั้น เดิมนายจ้างเคยมอบคูปองค่าอาหารให้แก่ลูกจ้างคนละ 1 ใบ ต่อวัน เป็นมูลค่าวันละ 5 บาท และปี 2535 นายจ้างมอบกระดาษทิชชูให้แก่ลูกจ้างคนละ 2 ม้วน ต่อเดือน แสดงให้เห็นว่านายจ้างมีเจตนาแต่แรกที่จะให้ค่าอาหารเป็นสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือพนักงานประจำยกเว้นพนักงานทดลองงานและพนักงานระดับผู้จัดการแผนกขึ้นไป จึงกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวดสวัสดิการ และเห็นเจตนาชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อระยะแรกนายจ้างจ่ายค่าอาหารในรูปคูปองและจ่ายกระดาษทิชชูให้ลูกจ้าง แม้ต่อมานายจ้างเปลี่ยนการจ่ายค่าอาหารในรูปคูปองและการจ่ายกระดาษทิชชูมาเป็นตัวเงิน โดยจ่ายให้พนักงานที่มีสิทธิได้รับทุกคนเป็นประจำทุกเดือนและไม่มีเงื่อนไขว่าพนักงานจะขาดลามาสายหรือไม่ ก็เพื่อความสะดวกในการปฏิบัติของบริษัทนายจ้างเท่านั้น มิได้แสดงว่าเมื่อนายจ้างเปลี่ยนการให้สวัสดิการจากรูปแบบอื่นมาเป็นตัวเงินแล้วจะทำให้สวัสดิการดังกล่าวกลายเป็นค่าจ้าง สวัสดิการจึงเป็นตัวเงินได้ ไม่จำต้องเป็นแต่สิ่งของหรือบริการที่นายจ้างจัดให้ลูกจ้าง ดังนั้นเงินค่าอาหารและค่ากระดาษทิชชูที่นายจ้างจ่ายให้ลูกจ้างประจำทุกเดือนจึงเป็นสวัสดิการ ไม่ใช่ค่าจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8381/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้จ้างให้ทำงานตำแหน่งอื่นแล้วลูกจ้างไม่ยอมทำงาน
การที่ผู้ร้องว่าจ้างบริษัทรับเหมาภายนอกดำเนินการจัดหาพนักงานขับรถเพื่อทำหน้าที่แทนพนักงานขับรถของผู้ร้องเป็นเรื่องการบริหารจัดการซึ่งผู้ร้องในฐานะผู้ประกอบการย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้เพื่อให้การบริหารงานมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ร้อง ส่วนการว่าจ้างบริษัทรับเหมาภายนอกดำเนินการจัดหาคนมาทำงานแทนลูกจ้างตำแหน่งใด นายจ้างหาจำต้องประกาศยกเลิกตำแหน่งนั้นเสียก่อนแล้วจึงจะสามารถกระทำได้ไม่
ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านไปแล้ว ต่อมาคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีคำสั่งให้ผู้ร้องรับผู้คัดค้านกลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่ไม่ต่ำกว่าเดิม มิได้มีคำสั่งให้ผู้ร้องรับผู้คัดค้านกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้ร้องทำสัญญาจ้างผู้คัดค้านเฉพาะตำแหน่งพนักงานขับรถ ผู้ร้องในฐานะนายจ้างมีอำนาจให้ลูกจ้างทำงานในตำแหน่งอื่นได้ เมื่อผู้ร้องมีนโยบายว่าจ้างบริษัทรับเหมาภายนอกหาคนมาทำงานตำแหน่งพนักงานขับรถแล้ว การให้ผู้คัดค้านทำงานในแผนกโลจิสติคส์หรือฝ่ายผลิตย่อมกระทำได้หากสภาพการจ้างไม่ต่ำกว่าเดิม หาใช่ว่าหากผู้คัดค้านไม่สมัครใจแล้วผู้ร้องย่อมไม่มีอำนาจสั่งได้ตามที่ผู้คัดค้านอุทธรณ์ มูลเหตุที่ผู้ร้องประกาศยกเลิกตำแหน่งพนักงานขับรถประจำก็เพื่อให้ผู้คัดค้านเห็นว่าต่อไปไม่มีตำแหน่งงานที่ผู้คัดค้านประสงค์จะทำต่อไปแล้วและยินยอมเข้าทำงานในตำแหน่งใหม่เท่านั้น ซึ่งหลังจากผู้ร้องออกคำสั่งดังกล่าวผู้ร้องยังมีหนังสือแจ้งและมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านกลับเข้าทำงานอีกหลายครั้ง การออกประกาศยกเลิกตำแหน่งพนักงานขับรถจึงหาใช่เหตุผลที่จะให้สอดคล้องกับคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ผู้คัดค้านอ้างในทำนองว่าผู้ร้องนำเรื่องการไม่มีตำแหน่งพนักงานขับรถมาอ้างเพื่อขออนุญาตศาลเลิกจ้างผู้คัดค้าน ไม่ใช่เป็นการกระทำที่ไม่สุจริตและฉ้อฉลต่อผู้คัดค้าน
ผู้คัดค้านได้รับค่าจ้างก่อนถูกเลิกจ้างเป็นเงินเดือน ค่าล่วงเวลา ค่าอาหารกลางวัน และรายได้อื่น ซึ่งค่าล่วงเวลา ค่าอาหารกลางวัน และรายได้อื่นจะมากน้อยย่อมขึ้นอยู่กับลักษณะของงานแต่ละแผนก เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้ร้องลดเงินเดือนผู้คัดค้าน การให้ผู้คัดค้านไปทำงานตำแหน่งใหม่ไม่ถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้คัดค้าน
การที่ผู้ร้องมีอำนาจสั่งผู้คัดค้านไปทำงานตำแหน่งใหม่ได้และไม่ใช่การกลั่นแกล้งผู้คัดค้าน แต่ผู้คัดค้านไม่ยอมเข้าทำงานตามคำสั่งของผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างรวมเวลากว่า 10 เดือน และตลอดเวลาดังกล่าวผู้คัดค้านเข้าไปยังสถานประกอบการของผู้ร้องทุกวันแต่ไปนั่งในห้องพักพนักงานขับรถอยู่เฉย ๆ นอกจากจะประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ร้องซึ่งเป็นนายจ้างแล้วยังเป็นการละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุอันสมควรอีกด้วย กรณีจึงมีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้านได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8259/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การบังคับคดีต้องพิจารณาพฤติการณ์โดยรวม
โจทก์กับจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ซึ่งศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยตกลงกันว่าจำเลยยอมชำระเงินจำนวนหนึ่งน้อยกว่ายอดเงินเต็มตามฟ้องแก่โจทก์ โดยแบ่งชำระ 6 งวด ตามกำหนด และจะชำระโดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของโจทก์ หากจำเลยผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันทีในยอดเงินเต็มตามฟ้องพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ การตีความว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระยอดเงินเต็มตามฟ้องจะต้องเป็นไปตามความประสงค์หรือเจตนาอันมีร่วมกันของคู่สัญญาซึ่งเป็นเจตนาที่คาดหมายในทางสุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปกติประเพณีด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 368 ดังนั้น คำว่า "จำเลยผิดนัดงวดใดงวดหนึ่ง" จึงหมายถึงกรณีจำเลยจงใจหรือเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์
จำเลยชำระเงินให้แก่โจทก์ครบทั้ง 6 งวด ตามสัญญาประนีประนอมความที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาตามยอม โดยการชำระเงินงวดที่ 1 ถึงที่ 4 ตรงตามกำหนด การชำระเงินงวดที่ 5 ถึงกำหนดวันอาทิตย์ จำเลยจึงชำระเงินแก่โจทก์โดยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของโจทก์ในวันจันทร์ และการชำระเงิน งวดสุดท้ายถึงกำหนดสิ้นเดือนเมษายน 2556 วันที่ 1 พฤษภาคม 2556 เป็นวันแรงงานแห่งชาติอันเป็นวันหยุดของสถานประกอบการของจำเลย จำเลยจึงโอนเงินงวดสุดท้ายให้โจทก์ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2556 อันเป็นโอกาสแรกที่ทำได้ ซึ่งล่วงเลยเวลาที่กำหนดมาเพียง 2 วัน ดังนี้เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์การผ่อนชำระหนี้ของจำเลยโดยตลอดแล้ว ยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจงใจหรือมีเจตนาผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะบังคับคดีในยอดเงินเต็มตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8054/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกหมู่บ้านจัดสรรในการชำระค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค แม้ยังไม่มีการโอนทรัพย์สิน
เมื่อนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจัดตั้งขึ้นแล้ว ย่อมมีอำนาจหน้าที่จัดการและบำรุงรักษาสาธารณูปโภคได้ และมีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บเงินค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคจากสมาชิก จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรจัดการและบำรุงรักษาสาธารณูปโภค จึงมีอำนาจหน้าที่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคจากสมาชิกของจำเลย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและเป็นสมาชิกของจำเลย มีหน้าที่ต้องออกค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคสำหรับที่ดินที่ตนซื้อแก่จำเลย ตามความในมาตรา 49 แห่ง พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ส่วนการที่ผู้จัดสรรที่ดินยังไม่จดทะเบียนโอนที่ดินและทรัพย์สินอื่นอันเป็นสาธารณูปโภคแก่จำเลยนั้น เป็นคนละกรณีที่โจทก์ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธหน้าที่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการจัดการสาธารณูปโภคแก่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7810/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรในการลงโทษทางวินัยพนักงาน ต้องเป็นไปตามข้อบังคับขององค์การ
พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 บัญญัติว่า "ผู้อำนวยการมีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย คือ (1) บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อนขั้น เลื่อนเงินเดือนและค่าจ้าง ตลอดจนลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง ทั้งนี้ ต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้..." ตามบทบัญญัติดังกล่าวให้อำนาจผู้อำนวยการจำเลยเป็นผู้ลงโทษทางวินัยแก่พนักงานและลูกจ้าง และการลงโทษทางวินัยต้องเป็นไปตามข้อบังคับที่คณะกรรมการกำหนดไว้ ซึ่งข้อบังคับของจำเลยเกี่ยวกับการลงโทษทางวินัย คือ ข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544 ตามข้อบังคับดังกล่าวกำหนดเรื่องการสอบสวนและการลงโทษไว้ในหมวด 9 ตั้งแต่ข้อ 59 ถึงข้อ 70 โดยข้อ 62 กำหนดเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนและการเสนอรายงานการสอบสวนและความเห็นพร้อมสำนวนการสอบสวนต่อผู้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนโดยเร็วเท่านั้น ส่วนอำนาจในการสั่งลงโทษทางวินัยพนักงานหรือลูกจ้างโดยทั่วไปก็มิได้จำกัดอำนาจผู้อำนวยการจำเลยไว้ คงมีข้อบังคับข้อ 66 กำหนดว่าในกรณีที่ผู้อำนวยการจำเลยจะลงโทษทางวินัยพนักงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการ ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการฝ่าย หรือตำแหน่งซึ่งเทียบเท่า ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อน ผู้อำนวยการจำเลยจึงสั่งได้เท่านั้น อันแสดงว่าตามข้อบังคับให้อำนาจผู้อำนวยการใช้ดุลพินิจลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างทั่วไปได้โดยลำพัง เว้นแต่กรณีเป็นพนักงานหรือลูกจ้างระดับสูงต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการก่อนตามข้อ 66 เท่านั้น ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่ใช่พนักงานที่ดำรงตำแหน่งตามที่กำหนดในข้อ 66 และข้อบังคับไม่ได้กำหนดถึงกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเสนอรายงานและความเห็นต่อผู้อำนวยการแล้วต่อมาผู้อำนวยการได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพิ่มเติมและมีการเสนอรายงานการสอบสวนโดยมีความเห็นในครั้งแรกกับครั้งหลังไม่ตรงกันดังเช่นกรณีของโจทก์ว่าให้ผู้อำนวยการดำเนินการอย่างไร การที่ อ. รักษาการแทนผู้อำนวยการจำเลยในขณะนั้นพิจารณาสำนวนการสอบสวนทั้งหมดแล้วเห็นว่าโจทก์ทุจริตและฝ่าฝืนระเบียบโดยเจตนาเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้ลงโทษไล่ออกและลดโทษเป็นให้ออก โดยไม่ได้เสนอให้คณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกรพิจารณาก่อนจึงชอบด้วย พ.ร.ฎ.จัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 21 และข้อบังคับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ฉบับที่ 1 ว่าด้วยพนักงานและลูกจ้าง ประกาศ ณ วันที่ 16 มีนาคม 2544

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5923/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีขับรถเมาแล้วชนจนผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ศาลฎีกาพิพากษาลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าและขับรถโดยประมาท
การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา ซึ่งเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 และจำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสองอันเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นนั้น เป็นการกระทำความผิดที่มีเจตนาแยกต่างหากจากกัน ถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุราเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการที่จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน
ความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุรา ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี นั้น โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า จำเลยขับรถยนต์คันเกิดเหตุในขณะเมาสุรา โดยโจทก์มิได้บรรยายอ้างเหตุว่า การที่จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา อันเป็นการไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2) นั้น เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส คดีจึงไม่อาจลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสาม แต่คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 160 ตรี วรรคหนึ่ง เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา และความผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราจะต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4727/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างฝากงานเพื่อวิ่งเต้นเข้ารับราชการมีวัตถุประสงค์ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรม จึงเป็นโมฆะ
การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาโดยมอบเงินจำนวนมากถึง 400,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ก็เพราะเชื่อมั่นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นข้าราชการทหารมียศสูงถึงพลโทสามารถวิ่งเต้นหรือดำเนินการช่วยเหลือให้ อ. เข้ารับราชการทหารในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีได้ โดยผ่านช่องทางหรือกระบวนการพิเศษที่มิได้เป็นไปอย่างเที่ยงธรรมตรงไปตรงมาเหมือนกรณีการสอบเข้ารับราชการตามปกติทั่วไป หาใช่มอบเงินให้เพื่อตอบแทนหรือเป็นค่าใช้จ่ายการพา อ. ไปสมัครสอบ พาไปติวและดำเนินการสอบดังที่โจทก์ฎีกาไม่ พฤติการณ์แสดงให้เห็นว่าที่โจทก์มอบเงินให้จำเลยที่ 1 เป็นจำนวนมากก็โดยมุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำเงินดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขัน เพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อเอื้ออำนวยให้ อ. ได้เข้ารับราชการ หรือโจทก์ย่อมคาดหมายได้ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะต้องนำเงินดังกล่าวไปให้พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อกระทำการอันมิชอบ อันเป็นการสนับสนุนให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการเป็นการส่งเสริมระบบอุปถัมภ์ ในขณะเดียวกันก็ทำลายระบบคุณธรรมอย่างสิ้นเชิง ก่อให้เกิดผลเสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง สัญญาฝากเข้าทำงาน ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และแม้ตามสัญญาฝากเข้าทำงานจะระบุไว้ว่า "ผู้ให้สัญญา (จำเลยที่ 1) ยอมรับว่าเงินที่ผู้รับสัญญา (โจทก์) จ่ายให้ตามข้อ 4 ไม่ใช่เงินที่ผู้รับสัญญาให้เพื่อนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อจูงใจให้กระทำการใด ๆ อันไม่ชอบด้วยหน้าที่ เพื่อให้ อ. เข้ารับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยสัสดีได้" ก็หาอาจลบล้างวัตถุประสงค์ที่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3648-3808/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการลดต้นทุนค่าแรง: การเลิกจ้างที่ชอบธรรมเมื่อมีความจำเป็นทางธุรกิจ
ก่อนการเลิกจ้างจำเลยยื่นข้อเรียกร้องขอแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยได้แจ้งถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่ทำให้จำเลยต้องประสบภาวะขาดทุน คือต้นทุนค่าแรง ทั้งค่าจ้างและสวัสดิการที่เป็นต้นทุนที่สูงมากให้สหภาพแรงงาน ร. ทราบแล้ว แต่การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้จนมีการนัดหยุดงานและแจ้งปิดงาน ต่อมาจำเลยทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างกับสหภาพแรงงาน ร. เนื่องจากจำเลยมีคำสั่งซื้อจึงต้องเปิดงาน แม้สหภาพแรงงาน ร. จะลดข้อเรียกร้องลงแต่ในส่วนที่เป็นสิทธิประโยชน์ที่เป็นตัวเงินยังคงมีอยู่จึงไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในส่วนของต้นทุนค่าแรง ยอดรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกปีไม่ว่าจำเลยจะขาดทุนหรือกำไร คือเงินเดือน ค่าแรงและผลประโยชน์อื่นของลูกจ้าง ก่อนเลิกจ้างจำเลยจัดโครงการสมัครใจลาออก โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด มีลูกจ้างเข้าร่วมโครงการไม่เพียงพอ จำเลยจึงจำเป็นต้องเลิกจ้างเฉพาะลูกจ้างประจำไม่เลิกจ้างลูกจ้างรายปีเพราะลูกจ้างรายปีไม่มีโบนัส ไม่มีการปรับค่าจ้าง ทั้งการเลิกจ้างลูกจ้างประจำก็มีหลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นลำดับไม่ได้เลือกปฏิบัติ แสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งเน้นลดต้นทุนค่าแรง จึงเป็นความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพื่อให้กิจการของจำเลยดำรงอยู่ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยกลั่นแกล้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งหนึ่งร้อยหกสิบเอ็ด จึงไม่ใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
of 95