คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1469

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 68 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 186/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนทรัพย์สินให้คู่สมรสเป็นสินส่วนตัว และการยินยอมโดยปริยายต่อการนำเงินจากการขายทรัพย์สินไปใช้เลี้ยงดูบุตร
โจทก์ยกที่ดินพิพาททั้ง 5 แปลง ให้แก่จําเลย มิใช่ให้จําเลยถือครองที่ดินแทนโจทก์ และตามสำเนาโฉนดที่ดินระบุว่า โจทก์ได้รับที่ดินโฉนดเลขที่ 30376 ดังกล่าวมาโดยการรับโอนมรดก ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อโจทก์จดทะเบียนให้ที่ดินแก่จําเลยโดยไม่ได้ระบุว่า ให้เป็นสินสมรส ที่ดินจึงเป็นสินส่วนตัวของจําเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1471 (3) และ 1474 (2) จําเลยย่อมเป็นผู้มีอำนาจจัดการที่ดินดังกล่าวได้เอง ตามมาตรา 1473 ดังนั้น การที่จําเลยจดทะเบียนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่บริษัท ผ. ไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 นิติกรรมการขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว โดยไม่จําต้องพิจารณาว่า โจทก์ได้ให้ความยินยอมในการขายที่ดินของจําเลยหรือไม่ ดังนั้น แม้โจทก์ได้จดทะเบียนให้ที่ดินดังกล่าวแก่จําเลยในระหว่างสมรส อันเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะบอกล้างเสียในระหว่างที่เป็นสามีภริยากันอยู่ก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่เมื่อจําเลยได้ขายที่ดินไปเสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้วก่อนวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ประกอบกับหลังจากปี 2559 โจทก็ไม่ได้ส่งค่าเลี้ยงดูบุตรให้แก่จําเลย เนื่องจากจําเลยผิดข้อตกลงเรื่องหย่า และโจทก์คิดว่าจําเลยมีเงินส่งเสียบุตร เพราะจําเลยขายที่ดินที่โจทก์ยกให้ไปแล้ว ถือได้ว่าโจทก์ได้ตกลงยินยอมโดยปริยายให้นําเงินที่ได้จากการขายที่ดินเป็นค่าใช้จ่ายในการอุปการะเลี้ยงดูจําเลยและบุตรของโจทก์ เฉพาะอย่างยิ่งบุตรโจทก์กําลังศึกษาอยู่ที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จึงไม่เป็นกรณีที่โจทก์จะฟ้องขอให้จําเลยคืนเงินที่ได้รับจากการขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3122/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรส: สิทธิการเช่าที่ได้มาระหว่างสมรสเป็นสินสมรส แม้จะมีการโอนสิทธิให้บุคคลภายนอก
การที่มารดาจำเลยที่ 1 ยกสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ให้ เมื่อไม่ปรากฏว่าเป็นการให้โดยเป็นหนังสือระบุว่ายกให้แก่ผู้ใด และหนังสือยกให้นั้นระบุว่าเป็นสินสมรส การจะฟังว่ามารดาจำเลยที่ 1 ยกให้โจทก์หรือจำเลยที่ 1 ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมไม่อาจรับฟังได้โดยถนัดนัก แต่สิทธิการเช่าเป็นทรัพย์สินที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้มาในระหว่างสมรส และกรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ป.พ.พ. มาตรา 1474 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส เช่นนี้จึงต้องฟังว่า สิทธิการเช่าที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยที่ 1 และมีคำขอให้แบ่งสินสมรสและคืนสินส่วนตัวคือ สิทธิการเช่าพิพาทแก่โจทก์และ ธ. ซึ่งเป็นบุตรโจทก์กับจำเลยที่ 1 ตามบันทึกข้อตกลง จำเลยที่ 1 ให้การว่า โจทก์สมคบกับบุคคลภายนอกฉ้อฉลหลอกลวงจำเลยที่ 1 ให้ทำบันทึกข้อตกลง และไม่ได้ให้จำเลยที่ 1 อ่านข้อความก่อนลงลายมือชื่อ จำเลยที่ 1 ยินยอมทำเอกสารดังกล่าวเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้คบชู้กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลเป็นการแสดงเจตนาที่แท้จริงของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 จะดำเนินการบอกล้างตามกฎหมายต่อไป เช่นนี้ ตามคำฟ้องของโจทก์และคำให้การของจำเลยที่ 1 ย่อมมีประเด็นข้อพิพาทว่า บันทึกข้อตกลงในส่วนที่เกี่ยวกับสิทธิการเช่าพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 1 ยกสิทธิการเช่าพิพาทเฉพาะส่วนของตนให้แก่โจทก์นั้นเป็นสัญญาระหว่างสมรสและมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 หรือไม่ ทั้งตามคำให้การของจำเลยที่ 1 ต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 จะดำเนินการบอกล้างตามกฎหมาย ซึ่งหมายถึงจำเลยที่ 1 จะดำเนินการบอกล้างการแสดงเจตนาที่จำเลยที่ 1 ทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวตามที่ให้การว่าถูกโจทก์กับพวกฉ้อฉลหลอกลวงก็ตาม แต่คำให้การของจำเลยที่ 1 ก็เห็นได้ชัดว่าเป็นคำให้การที่ปฏิเสธว่าบันทึกข้อตกลงไม่มีผลบังคับแก่จำเลย เท่ากับเป็นการบอกล้างบันทึกข้อตกลงดังกล่าวให้ไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 และโจทก์ ซึ่งเป็นประเด็นเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงเป็นสัญญาระหว่างสมรสและหยิบยกข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ขึ้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ได้บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว หาได้เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นไม่ และถือว่าคำให้การของจำเลยที่ 1 มีประเด็นการบอกล้างบันทึกข้อตกลงแล้ว
สิทธิการเช่าพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 มิใช่สินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ต้องหย่าขาดจากกัน คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในเรื่องการแบ่งสินสมรส ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า บันทึกข้อตกลงที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ถูกโจทก์กับ ธ. ร่วมกันฉ้อฉล และมีผลผูกพันสินสมรสเฉพาะในส่วนของจำเลยที่ 1 เพียงครึ่งหนึ่งที่ยกให้โจทก์และ ธ. อีกครึ่งหนึ่งเป็นสินสมรสในส่วนของโจทก์ และส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ยกให้ ธ. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกนั้นมีลักษณะเป็นการให้ เมื่อจำเลยที่ 1 บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสที่ทำไว้กับโจทก์แล้วเช่นนี้ ย่อมมีผลให้สิทธิการเช่าพิพาทเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ที่ยกให้แก่โจทก์กลับมาเป็นสินสมรสดังเดิม เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน สิทธิการเช่าพิพาทดังกล่าวต้องแบ่งให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 คนละครึ่งหนึ่ง โดยส่วนของจำเลยที่ 1 ครึ่งหนึ่งได้ตกเป็นสิทธิของ ธ. ไปแล้ว เท่ากับจำเลยที่ 1 และ ธ. มีส่วนแบ่งคนละหนึ่งในสี่ของสิทธิการเช่าพิพาท กรณีเช่นนี้เป็นเรื่องของการปรับบทกฎหมายในเรื่องการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมและการแบ่งสินสมรส ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความจากพยานหลักฐานอันเป็นประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีที่คู่ความนำมาสืบ มิใช่เป็นการวินิจฉัยถึงสิทธิของบุคคลภายนอกอันจะเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกประเด็นอย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3857/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินส่วนตัวซื้อที่ดินร่วมกับคู่สมรสมีสิทธิบอกล้างได้
จำเลยแก้ฎีกาอ้างข้อเท็จจริงว่าคุ้นเคยสนิทสนมกับ ฉ. และได้โทรศัพท์ขอบคุณ ฉ. ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่จำเลยไม่ได้นำสืบในชั้นพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย และที่จำเลยแก้ไขเพิ่มเติมคำแก้ฎีกา ก็ไม่ใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
เงินที่ ฉ. บิดาของโจทก์โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยมีจำนวนมากถึง 13,500,000 บาท ไม่ใช่จำนวนเล็กน้อยที่ ฉ. จะยกให้แก่จำเลยถึงกึ่งหนึ่งโดยเสน่หา ทั้งจำเลยไม่เคยโทรศัพท์ติดต่อขอเงินจาก ฉ. แม้ ฉ. จะเป็นบิดาของโจทก์แต่ก็หาเป็นข้อระแวงว่าจะเบิกความช่วยเหลือโจทก์ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยไม่ ดังนั้นเงินจำนวนดังกล่าวที่ ฉ. โอนเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นเงินที่ ฉ. ให้โจทก์โดยเสน่หาอันเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ เมื่อนำเงินดังกล่าวไปซื้อที่ดินและอาคารพิพาท เช่นนี้ ที่ดินและอาคารพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของโจทก์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1472 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ตกลงให้จำเลยจดทะเบียนซื้อขายที่ดินและอาคารพิพาทร่วมกัน และให้ใส่ชื่อโจทก์และจำเลยมีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวม จึงเป็นกรณีที่โจทก์และจำเลยทำสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินในระหว่างเป็นสามีภริยา ซึ่งโจทก์มีสิทธิบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากัน หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469
การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ในระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากันอยู่ ถือว่าเป็นการบอกล้างภายในกำหนดตามกฎหมายข้างต้น โจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนที่ให้โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม
อนึ่ง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นค่าฤชาธรรมเนียมประการหนึ่งตามตาราง 7 ท้าย ป.วิ.พ. ศาลชั้นต้นมิได้กำหนด ศาลฎีกาเห็นควรกำหนดให้ชัดแจ้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2236/2562

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในเงินทุนเรือนหุ้นสหกรณ์: ผลของสัญญาแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์และการยินยอมจัดการสินสมรส
เงินช่วยเหลือสมาชิกเสียชีวิตที่จำเลยจ่ายในกรณีเสียชีวิตของพลโท บ. ซึ่งเป็นสมาชิกของจำเลยไม่ใช่เงินที่พลโท บ. ได้มาระหว่างสมรสกับผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่ใช่สินสมรส
ใบสมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่พลโท บ. ทำไว้ มีข้อความระบุว่า "ข้าพเจ้ายินยอมให้ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่จ่ายเงินได้รายเดือนของข้าพเจ้า หักเงินค่าหุ้นรายเดือนและเงินงวดชำระหนี้..." จากข้อความดังกล่าวแสดงว่าเงินที่นำไปชำระค่าหุ้นรายเดือนนั้นเป็นเงินเดือนของพลโท บ. ซึ่งเป็นเงินที่ได้มาระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อชำระแล้วกลายเป็นทุนเรือนหุ้นของจำเลยที่สมาชิกมีสิทธิเรียกร้องต่อเมื่อความเป็นสมาชิกสิ้นสุดลง ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในทุนเรือนหุ้นจึงคงเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องสอดที่ 1 และพลโท บ. อยู่
ใบสมัครสมาชิกของพลโท บ. มีข้อความยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 มีข้อความระบุว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 ยินยอมให้พลโท บ. ทำนิติกรรมจัดการสินสมรสของตนและพลโท บ. กับจำเลยได้ทุกกรณีนับแต่วันสมัครสมาชิกและถือว่าคำยินยอมในเอกสารนี้เป็นคำยินยอมของผู้ร้องสอดที่ 1 ในการทำนิติกรรมทุกฉบับกับจำเลยจึงมีลักษณะเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่พลโท บ. และผู้ร้องสอดที่ 1 ได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างสมรสอันเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อพลโท บ. ซึ่งเป็นคู่สมรสฝ่ายหนึ่งตายก็ไม่มีคู่กรณีที่ผู้ร้องสอดที่ 1 ซึ่งเป็นคู่สมรสที่มีชีวิตอยู่ที่จะบอกล้าง จะนำระยะเวลา 1 ปี หลังการสมรสสิ้นสุดลงมาใช้บังคับไม่ได้ เนื่องจากการสมรสสิ้นสุดลงตามมาตรา 1469 ไม่รวมถึงกรณีที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตาย ดังนั้นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกที่พลโท บ. ทำไว้กับจำเลยจึงมีผลผูกพันผู้ร้องสอดที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4345/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลสมบูรณ์การหย่าจากคำพิพากษาตามยอม และสิทธิในการบอกล้างสัญญาประนีประนอมยอมความเกี่ยวกับทรัพย์สิน
ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์และจำเลยตกลงหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยจะไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรีในวันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากฝ่ายใดไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2555 โจทก์และจำเลยไม่อุทธรณ์ คดีจึงถึงที่สุดในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2555 การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยจึงมีผลสมบูรณ์ในวันดังกล่าว โดยไม่จำต้องไปจดทะเบียนการหย่า เพียงแต่จะอ้างเป็นเหตุเสื่อมสิทธิของบุคคลภายนอกผู้กระทำการโดยสุจริตไม่ได้เท่านั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 วรรคสอง
แม้ข้อตกลงจะระบุให้ไปจดทะเบียนหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี แต่ในวันที่ศาลพิพากษาตามยอมโจทก์และจำเลยไม่ได้ไปจดทะเบียนการหย่ากันที่ที่ว่าการอำเภอเมืองนนทบุรี โจทก์และจำเลยคนใดคนหนึ่งย่อมนำคำพิพากษาไปจดทะเบียนหย่าได้ ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยการจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ.2541 ข้อ 6 ระบุว่า ในการขอจดทะเบียนและบันทึกการหย่าจะร้องขอต่อนายทะเบียน ณ สำนักทะเบียนอำเภอแห่งใดแห่งหนึ่งก็ได้ และการจดทะเบียนหย่าโดยคำพิพากษาต้องนำสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้สามีภริยาหย่ากันและมีคำรับรองถูกต้องมาแสดงนั้นสามารถดำเนินการฝ่ายเดียวได้ ดังจะเห็นได้ในข้อ 22 (4) ที่ระบุว่า สำหรับในกรณีที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเพียงฝ่ายเดียวให้เก็บรักษาใบสำคัญการหย่าฉบับที่เหลือไว้และแจ้งให้อีกฝ่ายมารับไป การที่จำเลยนำสำเนาสัญญาประนีประนอมยอมความกับสำเนาคำพิพากษาตามยอมซึ่งมีคำรับรองถูกต้องไปจดทะเบียนการหย่าที่สำนักงานเขตลาดพร้าวจึงถูกต้องแล้ว การหย่าระหว่างโจทก์และจำเลยมีผลสมบูรณ์
สัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งศาลพิพากษาตามยอมแล้ว มีข้อตกลงในการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย การแบ่งทรัพย์สินและความรับผิดเกี่ยวกับหนี้สินอันเป็นหนี้ร่วมระหว่างโจทก์กับจำเลย จึงเป็นกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 เพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 ซึ่งมิได้มุ่งหมายให้เป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างสมรสโดยแท้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ที่โจทก์จะมีสิทธิบอกล้างได้ เพราะหากให้โจทก์ใช้สิทธิบอกล้างได้ในกรณีนี้ก็เท่ากับยอมให้โจทก์เปลี่ยนแปลงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาตามยอมของศาล ย่อมเป็นการไม่ชอบและขัดต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 145

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3376/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: สัญญาประนีประนอมระหว่างสามีภริยา ต้องให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยชี้ขาดเรื่องอำนาจศาล
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าบันทึกข้อตกลงสัญญาประนีประนอมยอมความที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างที่โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยากัน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 ซึ่งจะต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้น จึงไม่รับฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัวหรือศาลยุติธรรมอื่น ซึ่งตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ประธานศาลฎีกาแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด คำวินิจฉัยของประธานศาลฎีกาให้เป็นที่สุด ศาลชั้นต้นและศาลฎีกาหามีอำนาจวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวไม่ คำสั่งของศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องจึงไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15028/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกล้างนิติกรรมให้ทรัพย์สินระหว่างสมรส: สิทธิเรียกคืนทรัพย์สิน
โจทก์ยกบ้านพิพาทให้จำเลยในระหว่างสมรส เป็นนิติกรรมสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 บัญญัติให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างเสียในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันขาดจากการเป็นสามีภริยากันก็ได้ ตามทางนำสืบโจทก์ไม่ปรากฏแน่ชัดว่าโจทก์บอกล้างการให้เมื่อใด แต่เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องหย่าและขอให้เพิกถอนการให้บ้านพิพาท ให้จำเลยคืนบ้านพิพาทแก่โจทก์ ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาบอกล้างในขณะที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ สัญญาจึงไม่มีผลบังคับอีกต่อไป โจทก์มีสิทธิเรียกคืนบ้านพิพาทจากจำเลยได้โดยไม่จำต้องคำนึงว่าข้อเท็จจริงจะฟังได้หรือไม่ได้ว่าจำเลยประพฤติเนรคุณโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16037/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาให้ทรัพย์สินโดยเสน่หาขณะสมรส: สิทธิบอกล้างสัญญาและการกลับสู่ฐานะเดิม
สัญญาให้ทรัพย์สินโดยเสน่หา ทำขึ้นขณะที่โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยากัน ซึ่งข้อความในสัญญาเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์กับจำเลยโดยไม่มีข้อความใดในสัญญากล่าวถึงการระงับข้อพิพาทระหว่างโจทก์และจำเลย ดังนี้ ข้อตกลงตามสัญญาให้ทรัพย์สินโดยเสน่หาจึงเป็นสัญญาเกี่ยวกับทรัพย์สินโดยตรงที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันในระหว่างที่เป็นสามีภริยากัน จึงถือเป็นสัญญาระหว่างสมรส โจทก์มีสิทธิบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นผลให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์ จำเลยสิ้นผลผูกพัน ผลของการบอกล้างดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์จำเลยกลับคืนสู่ฐานะเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15067/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังหย่าต้องมีเหตุจากความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาอาจถูกบอกล้างได้
โจทก์ฟ้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูหลังหย่าซึ่งที่ถูกคือค่าเลี้ยงชีพนั้นจะต้องเป็นกรณีหย่าโดยคำพิพากษาของศาล และคดีต้องฟังได้ว่า เหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจึงจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 แต่คดีนี้โจทก์และจำเลยตกลงหย่ากันในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่ากัน จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ข้อตกลงตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐานนอกจากเรื่องหย่าแล้วยังมีเรื่องทรัพย์สินรวมทั้งเงินที่จำเลยตกลงแบ่งให้แก่โจทก์ โดยในขณะที่ตกลงกันนั้นโจทก์และจำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนหย่ากัน ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่สามีภริยาได้ทำไว้ต่อกันในระหว่างเป็นสามีภริยากัน จำเลยย่อมบอกล้างสัญญาดังกล่าวได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นผลให้ข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยสิ้นความผูกพัน โจทก์ไม่อาจบังคับให้จำเลยแบ่งทรัพย์สินรวมทั้งเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแลกเปลี่ยนทรัพย์สินระหว่างสมรสมีผลสมบูรณ์ แม้มีบุคคลภายนอกเกี่ยวข้อง และโจทก์ไม่สามารถบอกล้างสัญญาได้
โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กัน กรณีแม้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัว แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตาม ป.พ.พ. มาพิจารณาประกอบกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้วถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรส ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการระงับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้
of 7