คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 391

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 125 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3151/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายสาหัส และการวินิจฉัยความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่า
พวกของจำเลยทั้งสามรุมทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง โดย ณ. ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 หลายครั้งเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัส ส่วนจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนตีศีรษะผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเจตนาของจำเลยที่ 2 เป็นคนละเจตนากับ ณ. ที่ใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 โดยมีเจตนาฆ่า ดังนี้ เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นหรือคบคิดกับ ณ. ในการใช้อาวุธมีดแทงผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 2 ย่อมไม่ต้องรับผิดในผลของการกระทำของ ณ. เมื่อตามผลการชันสูตรบาลแผลไม่ปรากฏบาดแผลจากการใช้อาวุธปืนตี คงมีเฉพาะบาดแผลที่ถูกแทง และทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 1 ได้รับอันตรายแก่การจากการกระทำของจำเลยที่ 2 แต่อย่างใด จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 เท่านั้น เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบ 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำความผิดที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8749/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดที่รวมการกระทำหลายอย่าง แม้ฟ้องเฉพาะความผิดฐานพยายามฆ่า และแก้ไขค่าเสียหายทางแพ่งตามผลคดีอาญา
ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 กับพวกในความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80 ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจด้วย ถือได้ว่าการกระทำความผิดตามฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ในการกระทำผิดตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1872/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นศาลและการระงับสิทธิฟ้องคดีอาญา ตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562
แม้ขณะที่ผู้เสียหายและจำเลยตกลงกันในคดีอาญาของศาลอาญาธนบุรี ยังไม่มีการประกาศใช้บังคับ พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 แต่ขณะที่จำเลยยื่นฎีกาคดีนี้พระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ดังนี้ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่จึงต้องพิจารณาตามกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะที่จำเลยยื่นฎีกา พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562 มาตรา 3 ให้คำนิยาม การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท หมายความว่า การดำเนินการเพื่อให้คู่ความมีโอกาสเจรจาตกลงระงับข้อพิพาททางแพ่งและทางอาญาโดยสันติวิธีและปราศจากการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาท ทั้งนี้ไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาลและในชั้นบังคับคดี ดังนั้น การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงไม่รวมถึงการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล เมื่อผู้เสียหายและจำเลยตกลงกันเกี่ยวกับคดีนี้ในคดีอาญาหมายเลขดำที่ อ. 78/2562 ของศาลอาญาธนบุรี ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญาธนบุรี จึงเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่ดำเนินการในชั้นศาล กรณีไม่เป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทตามคำนิยามดังกล่าว จึงไม่เข้าเงื่อนไขตามมาตรา 35 วรรคสอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงไม่ระงับไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ร่วมทำร้ายร่างกาย: ศาลฎีกาตัดสินความผิดฐานดูหมิ่นและทำร้ายต่อเนื่อง
การที่จำเลยที่ 1 พูดจาให้ร้ายผู้เสียหายขณะปฏิบัติหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านโดยใช้คำว่า "ปลัดส้นตีน" ซึ่งเป็นคำดูหมิ่นเหยียดหยาม เป็นการกระทำความผิดฐานดูหมิ่นเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ตาม ป.อ. มาตรา 136 สำเร็จแล้วกระทงหนึ่ง ส่วนการที่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวหรือความตกใจโดยการขู่เข็ญขณะที่ผู้เสียหายเข้าตรวจภายในร้าน โดยจำเลยที่ 1 พูดขึ้นว่า ไปเอาปืนมายิงให้ตาย อย่าให้ออกไปได้ แล้วจำเลยที่ 2 วิ่งไปหยิบไม้เบสบอลมาตีผู้เสียหาย 1 ที จำเลยที่ 1 เอาไม้กวาดไล่ตีผู้เสียหาย เป็นการกระทำต่อเนื่องกันไป โดยมีเจตนาเดียวกันคือทำร้ายผู้เสียหาย จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวกับการร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3486/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบรรยายฟ้องความผิดฐานพยายามทำร้ายร่างกายที่ไม่ชัดเจนถึงอันตรายร้ายแรง ทำให้ความผิดเป็นเพียงลหุโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 295 ประกอบมาตรา 80 และ 83 โดยโจทก์บรรยายฟ้องข้อ (ค) ว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายโดยใช้ท่อนไม้และขวดขว้างใส่ผู้เสียหายทั้งสองโดยมีเจตนาทำร้าย จำเลยทั้งสองกับพวกลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำนั้นไม่บรรลุผลเนื่องจากผู้เสียหายทั้งสองวิ่งหลบหนีได้ทัน ทำให้ท่อนไม้และขวดไม่ถูกร่างกายของผู้เสียหายทั้งสอง โจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นข้อเท็จจริงว่าหากจำเลยทั้งสองขว้างปาท่อนไม้และขวดถูกผู้เสียหายทั้งสอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสองได้อย่างแน่นอน อันเป็นองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวมาด้วย ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายให้เห็นขนาดของขวดและไม้มาพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ซึ่งหากขวดหรือท่อนไม้ขนาดไม่ใหญ่มากนักขว้างถูกผู้เสียหายทั้งสอง ไม่แน่นอนว่าจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจได้หรือไม่ ฟ้องโจทก์ข้อ (ค) ดังกล่าวนี้ จึงต้องแปลว่าเป็นการบรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองอาจไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้เสียหายทั้งสอง ตาม ป.อ. มาตรา 391 ประกอบมาตรา 80 และ 83 เท่านั้น เมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองในข้อนี้เป็นการพยายามกระทำความผิด จำเลยทั้งสองจึงไม่ต้องรับโทษตาม ป.อ. มาตรา 105

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16867/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำร้ายร่างกายจนถึงแก่ความตาย: เจตนาทำร้าย vs. ผลเกินเจตนา และความรับผิดร่วม
ก่อนเกิดเหตุผู้ตายทั้งสอง และผู้เสียหายทั้งสี่ข้ามเรือโดยสารจากคลองสานไปท่าเรือสี่พระยา ขณะเรือเทียบท่าเรือสี่พระยา กลุ่มวัยรุ่นประมาณ 10 คน มีจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 รวมอยู่ด้วยลงมาที่เรือ มีผู้ชกต่อยเตะถีบโดยมีคนพูดว่าวันนี้เปิดเทอมวันแรก กลุ่มผู้เสียหายข้ามฝั่งมาทำไม ให้ว่ายน้ำกลับไป มีลักษณะข่มขู่ให้โดดลงแม่น้ำ เป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ตกลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ผู้ตายทั้งสองจมน้ำหายไป ผู้เสียหายทั้งสี่มีผู้ช่วยขึ้นจากน้ำได้ แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกับพวกทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองจนตกลงไปหรือยอมกระโดดลงไปในแม่น้ำเจ้าพระยาก็ตาม แต่หากไม่ได้รู้เห็นเป็นใจด้วย น่าจะต้องห้ามปรามพวกของตนไม่ให้กระทำเช่นนั้น หรือหากห้ามปรามแล้วไม่ฟัง ก็น่าจะต้องรีบปลีกตัวออกมาทันที อีกทั้งเมื่อผู้เสียหายทั้งสี่และผู้ตายทั้งสองลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ออกไปจากที่เกิดเหตุพร้อมกับพวกคนอื่น แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกับพวกในการกระทำดังกล่าวด้วย แต่ก่อนเกิดเหตุไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่มีสาเหตุโกรธเคืองกันรุนแรงถึงขนาดจะต้องฆ่ากันให้ตายและเมื่อผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ลงไปอยู่ในแม่น้ำแล้ว จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 กับพวก ก็พากันออกมากจากเรือข้ามฟากที่เกิดเหตุ โดยไม่ได้ขัดขวางหรือห้ามไม่ให้ใครเข้าไปช่วยเหลือผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ กรณีมีเหตุให้เชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 เพียงแต่มีเจตนาทำร้ายผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ด้วยความคึกคะนองเพื่อให้เกิดความอับอาย โดยมิได้ประสงค์ให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตาย ก่อนที่จะมีคนช่วยเหลือขึ้นมาจากแม่น้ำ ผู้เสียหายทั้งสี่ยังสามารถพยุงตัวลอยอยู่ในน้ำได้ แสดงว่าขณะนั้นแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ไหลเชี่ยวมากนัก ขณะที่กระทำการดังกล่าวจำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ไม่น่าจะเล็งเห็นอยู่แล้วว่าอาจทำให้ผู้ตายทั้งสองและผู้เสียหายทั้งสี่ถึงแก่ความตายได้ แต่เมื่อการกระทำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเกินเจตนา กล่าวคือเป็นเหตุให้ผู้ตายทั้งสองถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ถึงที่ 6 ย่อมต้องมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายทั้งสองเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตาย และฐานร่วมกันทำร้ายผู้เสียหายทั้งสี่ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2273/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดอั้งยี่ซ่องโจรเพื่อฮั้วประมูลภาครัฐ ความผิดฐานพยายามกระทำความผิดต่อ พ.ร.บ.เสนอราคา
ผู้เสียหายที่ 2 ที่ถูกหน่วงเหนี่ยว ขวางทาง ฉุดรั้งและข่มขืนใจโดยถูกประทุษร้ายเพื่อให้ยอมไม่เข้าร่วมเสนอราคาไม่ได้ยอมตามที่ถูกกระทำดังกล่าว กลับได้เข้าไปยื่นซองเสนอราคาและร้องเรียนต่อเจ้าพนักงานที่เกี่ยวข้อง จนการจัดประกวดราคาในวันดังกล่าวถูกยกเลิก การกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกจึงเป็นเพียงการพยายามกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 6 และ ป.อ. มาตรา 337 วรรคแรก
เจตนาในการตั้งกลุ่มกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจรของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ก็เพื่อกระทำความผิดฐานต่าง ๆ ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐฯ จึงเป็นเจตนาเดียวกัน เป็นการกระทำกรรมเดียวแต่ผิดต่อกฎหมายหลายบท จึงต้องลงโทษในความผิดฐานเป็นอั้งยี่ตาม ป.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 209 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตาม ป.อ. มาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20388/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลงโทษความผิดฐานทำร้ายร่างกายเมื่อมีข้อสงสัยเรื่องตัวผู้เสียหายเป็นเจ้าพนักงาน และการใช้ดุลพินิจศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้าย แต่ความผิดดังกล่าวรวมการกระทำหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อจำเลยใช้กำลังทำร้ายดาบตำรวจ ว. แต่ไม่เป็นเหตุให้ดาบตำรวจ ว. ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นแต่ไม่เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ซึ่งมีบทลงโทษเบากว่าตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16527/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาทำร้าย vs. พยายามฆ่า: การประเมินความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน
การที่จำเลยขับรถยนต์กระบะชนรถจักรยานยนต์สายตรวจที่จอดขวางอยู่ก็เพื่อต้องการเปิดทางหลบหนีการจับกุม ซึ่งจำเลยย่อมเล็งเห็นผลได้ว่าอาจทำให้ผู้เสียหายที่ 3 ที่ยืนอยู่บริเวณที่รถจักรยานยนต์ดังกล่าวจอดได้รับบาดเจ็บได้ จึงมีเจตนาทำร้ายผู้เสียหายที่ 3 เมื่อผลการตรวจร่างกายผู้เสียหายที่ 3 คงมีอาการปวดแก้มก้น 2 ข้าง และปวดขาข้างขวาถึงเท้า รักษาให้หายภายใน 7 วัน หากไม่มีโรคแทรกซ้อนตามผลการตรวจชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ซึ่งอาการดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าผู้เสียหายที่ 3 ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยจึงมีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 391 และความผิดดังกล่าวก็เป็นความผิดอย่างหนึ่งที่รวมอยู่ในความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตามฟ้องซึ่งมีโทษเบากว่า ศาลย่อมลงโทษความผิดฐานนี้ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และ 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14482/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าหรือไม่? ศาลฎีกาตัดสินคดีใช้อาวุธปืนข่มขู่ ยิงไม่โดน ถือเป็นทำร้ายร่างกาย
วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยมีและพาอาวุธปืนพกรีวอลเวอร์ขนาด .22 ไปบริเวณโรงงานเชียงใหม่สุขสวัสดิ์ค้าไม้ เนื่องมาจากจำเลยเข้าใจว่าผู้เสียหายเป็นชู้กับภริยาของจำเลย จำเลยจึงไปพบผู้เสียหายยังสถานที่เกิดเหตุและสอบถามจำเลยว่า ชอบเป็นชู้กับภริยาชาวบ้านใช่ไหม แล้วใช้แขนซ้ายล๊อกคอผู้เสียหายและใช้มือขวาล้วงอาวุธปืนออกมาจากเอวจ่อที่บริเวณศีรษะของผู้เสียหาย ช. ท. และ ส. ซึ่งเป็นประจักษ์พยานโจทก์และอยู่บริเวณที่เกิดเหตุเบิกความสอดคล้องต้องกันว่า เห็นจำเลยกระทำดังกล่าว นอกจากนั้นผู้เสียหายยังเบิกความว่าผู้เสียหายได้สะบัดศีรษะเพื่อหลบและได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 1 นัด หลังจากนั้นจำเลยก็เดินออกไป การกระทำของจำเลยดังกล่าวจะเห็นได้ว่า จำเลยอยู่ห่างจากผู้เสียหายประมาณ 1 ฟุต โดยใช้มือล๊อกคอของผู้เสียหายไว้พร้อมใช้อาวุธปืนจ่อบริเวณศีรษะซึ่งเป็นระยะที่ใกล้ชิดกับศีรษะมาก หากจำเลยประสงค์ต่อชีวิตของผู้เสียหายแล้ว ย่อมเป็นการยากที่กระสุนปืนจะพลาดจากเป้าหมาย และขณะที่กระสุนลั่นจากอาวุธปืนไม่ปรากฏว่าประจักษ์พยานโจทก์คนใด เห็นว่า ปากกระบอกปืนยังคงจ่อเล็งอยู่ที่บริเวณศีรษะของผู้เสียหายหรือไม่ และการที่ผู้เสียหายเพียงแต่สะบัดศีรษะเพื่อหลบ แต่ก็ไม่ได้ลุกขึ้นวิ่งหนี จึงไม่ทำให้เป้าหมายของวิถีกระสุนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จำเลยย่อมสามารถที่จะยิงผู้เสียหายซ้ำได้อีก อีกทั้งหลังจากปืนลั่น 1 นัดแล้ว ไม่มีผู้ใดเข้าห้ามปรามหรือขัดขวางการกระทำของจำเลย และหลังเกิดเหตุ ป. ติดตามจับกุมจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนของกลาง ยังปรากฏกระสุนปืนอยู่ภายในรังเพลิงอีกจำนวน 5 นัด แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีโอกาสใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายได้อีก แต่จำเลยก็หาได้กระทำไม่ เมื่อก่อเหตุแล้วจำเลยก็ได้ขับรถจักรยานยนต์กลับไปยังสถานที่ทำงานของตน มิได้หลบหนีไปไหนจนกระทั่ง ป. ไปจับกุมจำเลยได้พร้อมอาวุธปืนของกลาง พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อว่า จำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่เป็นการใช้อาวุธปืนยิงเพื่อข่มขู่ผู้เสียหายเท่านั้น และการที่จำเลยใช้แขนล๊อกคอผู้เสียหายเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ อันเป็นความผิดตามที่พิจารณาได้ความซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย
of 13