คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.อ. ม. 391

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 125 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11466/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรโชกทรัพย์ด้วยการข่มขู่ทำร้ายร่างกายและการใช้กำลังบังคับให้จ่ายเงิน แม้เชื่อว่าผู้เสียหายลักทรัพย์ก็ต้องใช้สิทธิทางกฎหมาย
จำเลยทำร้ายร่างกายผู้เสียหายทั้งหกและขู่ผู้เสียหายทั้งหกจนผู้เสียหายทั้งหกหาเงินมาให้จำเลยคนละ 1,000 บาท แม้จำเลยจะปักใจเชื่อโดยสุจริตว่า ผู้เสียหายทั้งหกลักเงินจำเลยไป จำเลยก็ชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายโดยไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทั้งหกได้ในทันที จำเลยหามีสิทธิตามกฎหมายที่จะดำเนินการได้ด้วยตนเองไม่ ทั้งวิธีการที่จำเลยทำเป็นสิ่งที่ผิดต่อกฎหมาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกายและกรรโชกอันเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2633-2634/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและทำร้ายร่างกาย: ศาลพิจารณาการกระทำเป็นรายบุคคลและปรับบทลงโทษ
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้เสียหายซึ่งกระทำการตามหน้าที่ตาม ป.อ. มาตรา 296 แต่ความผิดดังกล่าวย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ตามมาตรา 391 ด้วย ถือได้ว่าความผิดตามฟ้องรวมการกระทำหลายอย่างซึ่งแต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง เมื่อทางพิจารณาได้ความว่าการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามมาตรา 391 ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยทั้งสองในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนแรกที่วิ่งเข้ามาต่อยผู้เสียหาย หลังจากนั้นผู้เสียหายถูกกลุ่มวัยรุ่นพยายามรุมล้อมให้เข้าไปในบริเวณที่มืด แต่ผู้เสียหายวิ่งหนีไปบริเวณสามแยกที่มีแสงสว่างจากไฟฟ้าสาธารณะริมถนน จากนั้นจึงถูกจำเลยที่ 2 กับวัยรุ่นอีกคนหนึ่งวิ่งเข้ามาต่อย พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองและวัยรุ่นอีกคนหนึ่งที่เข้ามาต่อยผู้เสียหายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าเป็นการตัดสินใจกระทำไปตามลำพังของจำเลยแต่ละคนโดยมิได้คบคิดกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่โดยใช้กำลังประทุษร้ายตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง เท่านั้น จะปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 140 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทลงโทษผู้กระทำความผิดตามมาตรา 138 วรรคสอง โดยร่วมกระทำความผิดด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไปไม่ได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกาด้วยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาฆ่าจากการยิงแม้พลาดเป้า ความผิดพยายามฆ่า และการพิพากษาเกินคำขอ
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหายโดยเจตนาฆ่าแต่ผู้เสียหายหลบหลีกได้ทันจึงไม่ถึงแก่ความตาย และมีคำขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายด้วย แต่พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้เสียหาย คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยชกต่อยผู้เสียหายซึ่งจำเลยนำสืบรับข้อเท็จจริงนี้ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหาย แต่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายตาม ป.อ. มาตรา 391 แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องและมีคำขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้ได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องซึ่งต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง นอกจากนี้การที่จำเลยใช้อาวุธปืนของกลางยิงโจทก์ร่วม กระสุนปืนถูกโจทก์ร่วมและยังทะลุพลาดถูก อ. ด้วยนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า อ. โดยพลาดซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องมาด้วย การที่ศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ข้อหาพยายามฆ่าผู้เสียหายและมิได้พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่า อ. โดยพลาดจึงไม่ชอบ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9650/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำเลยทำร้ายผู้ตายโดยชกต่อย แต่การฟ้องคดีล่าช้าเกินอายุความที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
ในคดีเกิดเหตุจำเลยร่วมกับพวกทำร้ายผู้ตายโดยใช้กำลังชกต่อย แม้จำเลยจะไม่มีส่วนร่วมในการฆ่าผู้ตายซึ่งเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นในภายหลัง แต่จำเลยก็ยังต้องรับผิดในการกระทำของตน อย่างไรก็ตามจากทางนำสืบของโจทก์ไม่ได้ความว่าการที่จำเลยชกต่อยผู้ตายเป็นเหตุให้ผู้ตายเกิดอันตรายแก่การหรือจิตใจอย่างไร ทั้งตามรายงานการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย ก็ระบุว่าผู้ตายมีเพียงบาดแผลลักษณะถูกฟันและแทงด้วยวัตถุของแข็งมีคมที่บริเวณใต้ราวนมข้างซ้าย 1 แผล กับที่ด้านข้างแขนซ้ายท่อนบนเหนือข้อศอก 1 แผลเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีบาดแผลอื่นที่น่าเชื่อว่าเกิดขึ้นจากการถูกจำเลยชกต่อยอีก เช่นนี้จำเลยจึงมีความผิดเพียงฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ซึ่งแม้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย แต่การจะลงโทษจำเลยตามที่ได้ความจากทางพิจารณาก็จะต้องพิจารณาว่าคดีขาดอายุความหรือไม่ด้วย ซึ่งความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนจึงมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2536 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2544 เป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8192/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ชิงทรัพย์โดยทำร้ายร่างกายและใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น ศาลพิจารณาความผิดตามบทบัญญัติที่เหมาะสม
จำเลยมาทวงหนี้จากผู้เสียหายโดยอ้างว่าเป็นหนี้ค่าอาหารบิดาจำเลย แต่ผู้เสียหายไม่ยอมให้ จำเลยจึงทำร้ายร่างกายผู้เสียหายและใช้อำนาจบังคับโดยพลการเอาเงินของผู้เสียหายไป แม้เงินที่เอาไปจะมีจำนวนเท่าที่ผู้เสียหายเป็นหนี้บิดาจำเลยแต่จำเลยก็ไม่มีสิทธิ์ใดๆ โดยชอบที่จะกระทำเช่นนั้นได้ กรณีถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาเอาเงินของผู้เสียหายไปโดยทุจริต การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เมื่อพิจารณาถึงผลการตรวจชันสูตรบาดแผลแล้ว ถือว่าเป็นบาดแผลเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม ป.อ. มาตรา 295 ก็ตาม แต่เมื่อตามทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 391 โดยการทำร้ายร่างกาย ย่อมรวมถึงการใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา 391 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยในการกระทำความผิดตามที่พิจารณาได้ความตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6371/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีอาญา, การรับสารภาพ, และดุลพินิจศาลในการลงโทษ
ความผิดฐานพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร ตาม ป.อ. มาตรา 371 และความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 ความผิดทั้งสองฐานมีอายุความหนึ่งปีตาม ป.อ. มาตรา 95 (5) โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันกระทำความผิด จึงเป็นอันขาดอายุความ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (6) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง, 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3630/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งทรัพย์โดยไม่เจตนาชิงทรัพย์ และความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ศาลฎีกาพิพากษาแก้โทษ
เหตุที่จำเลยทำร้ายทุบบริเวณท้ายทอยและหลังของผู้เสียหายที่ 2 ในตอนแรก มีสาเหตุจากการที่ผู้เสียหายที่ 2 เข้าไปปลุกจำเลยขณะหลับอยู่บนรถโดยสารมินิบัสของผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งขณะนั้นจำเลยมีการเมาสุรา เมื่อผู้เสียหายที่ 2 ถามจำเลยว่าจะลงจากรถหรือไม่ จำเลยตอบว่าลง และเดินไปที่ประตูด้านหลังของรถยนต์มินิบัสแต่กลับย้อนมาทำร้ายผู้เสียหายที่ 2 อีก ผู้เสียหายที่ 2 พยายามใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารต่อสู้กับจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารแล้วลงจากรถวิ่งหนีไปเป็นเพราะจำเลยเมาสุราและไม่ประสงค์จะต่อสู้กับผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารทำร้ายจำเลยด้วย การที่จำเลยแย่งเอากระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารจากผู้เสียหายที่ 2 ไป ก็เพราะไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายที่ 2 ใช้กระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตามมาทำร้ายจำเลยอีก หากจำเลยประสงค์จะชิงทรัพย์จำเลยอาจหยิบเอาเฉพาะเงินจากกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสาร ทิ้งกระบอกตั๋วไว้แล้วหลบหนีไปก็อาจกระทำได้ การที่จำเลยยังคงมีกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารติดตัวอยู่ ทำให้เห็นว่าจำเลยไม่ประสงค์ให้ผู้ใดนำกระบอกตั๋วเก็บเงินค่าโดยสารมาทำร้ายจำเลยอีก การกระทำของจำเลยแม้จะเป็นการพาเอาทรัพย์ไปจากผู้เสียหายที่ 2 แต่ไม่ได้เกิดโดยเจตนาทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 339
ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 339 ที่โจทก์ขอให้ศาลลงโทษจำเลย มีอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพและจำเลยไม่สืบพยานก็ไม่อาจพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดฐานนี้ได้ ศาลต้องฟังพยานโจทก์จนกว่าจะพอใจว่าจำเลยได้กระทำผิดจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 176 และเมื่อศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษายกฟ้องโจทก์ได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยมิได้ยกขึ้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215
การทำให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 295 นั้น จะต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยและบาดแผลของผู้เสียหายที่ 2 ประกอบกัน ผู้เสียหายที่ 2 ถูกจำเลยใช้กำปั้นและมือทุบตีบริเวณท้ายทอยและด้านหลังหลายครั้ง ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยแต่ไม่ปรากฏบาดแผล ทั้งตามคำฟ้องโจทก์บรรยายเพียงว่า จำเลยใช้กำลังประทุษร้ายบริเวณใบหน้าของผู้เสียหายที่ 2 จำนวน 2 ครั้ง การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นอันตรายแก่กายและจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 295 แต่เป็นเพียงความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ. มาตรา 391 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์ โดยใช้กำลังประทุษร้าย ซึ่งรวมการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายอยู่ในตัว ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจลงโทษในความผิดฐานทำร้ายร่างกายดังกล่าวได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ การพิจารณาบาดแผลและพฤติการณ์
การทำร้ายเพียงใดจะถือว่าเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจนั้น ต้องพิจารณาถึงการกระทำและบาดแผลที่ผู้เสียหายได้รับประกอบกัน โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนนี้ว่า จำเลยกับพวกที่หลบหนีร่วมกันรัดคอและตัวผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ถูกบริเวณหน้าผาก และน้ำก๋วยเตี๋ยวสาดถูกใบหน้าผู้เสียหายที่ 1 และขว้างชามก๋วยเตี๋ยวใส่ผู้เสียหายที่ 2 ที่หน้าอก 1 ครั้ง เมื่อพิเคราะห์รายงานผลการชันสูตรบาดแผลของแพทย์ ผู้เสียหายที่ 1 มีรอยถลอกที่แขนยาว 3 เซนติเมตร 2 แผล รอยบวมแดงกลางหน้าอก 2 เซนติเมตร และขอบตาบวมทั้งสองข้าง ส่วนผู้เสียหายที่ 2 มีบาดแผลฉีกขาดที่หน้าผากยาวประมาณ 3 เซนติเมตร 2 แผล และรอยบวมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตร ทั้งแพทย์ลงความเห็นว่า ลักษณะบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองใช้เวลารักษาประมาณ 7 วัน ซึ่งลักษณะของการกระทำและบาดแผลดังกล่าว นับได้ว่าผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแล้ว จำเลยจึงมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 195 ประกอบมาตรา 83

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7368/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำโดยเจตนาทำร้ายผู้อื่น ไม่ถึงแก่ความตาย ไม่เป็นตัวการร่วมกันฆ่า
ผู้ตายกับ ช. ชกต่อยกับ ก. และ ร. ระหว่างนั้น ว. วิ่งเข้าไปใช้อาวุธมีดฟันศีรษะผู้ตาย 9 ที แล้ววิ่งหนีไป ต่อมาจำเลยวิ่งไปใช้ขวดตีศีรษะผู้ตาย โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใดที่แสดงว่าจำเลย ก. ร. และ ว. ร่วมกันคบคิดจะฆ่าผู้ตายมาก่อน ผู้ตายกับจำเลยและพวกไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองอย่างรุนแรงถึงขนาดจะเอาชีวิตกันมาก่อน จำเลยไม่เคยรู้จักกับผู้ตาย เบื้องต้นจำเลยกับพวกมีวัตถุประสงค์มาเที่ยวงานวัด จำเลยไม่ทราบมาก่อนว่า ว. มีอาวุธ ก. กับ ร. ไม่ได้ชักชวนให้จำเลยไปทำร้ายผู้ตาย เหตุที่จำเลยใช้ขวดตีทำร้ายผู้ตายเกิดจากความไม่พอใจและหมั่นไส้ในกิริยาท่าทางและมีอาการเมาสุราเท่านั้น และเหตุที่จำเลยกับพวกวิ่งหนีไปขึ้นรถจักรยานยนต์ด้วยกัน เพราะเมื่อตอนมาเที่ยวงานวัดที่เกิดเหตุจำเลยกับพวกมาด้วยกันจึงต้องกลับด้วยกัน บาดแผลที่ผู้ตายได้รับมิใช่ผลโดยตรงที่เกิดจากการกระทำของจำเลย การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานเป็นตัวการร่วมกันฆ่าผู้อื่น การกระทำของจำเลยเป็นเพียงความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้ถึงอันตรายแก่กายและจิตใจ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 209/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การทำร้ายร่างกายไม่ถึงแก่ความตายหรืออันตรายร้ายแรง ไม่มีเหตุให้รับผิดชอบในความเสียหายทางจิตใจ
จำเลยที่ 1 ใช้กำลังชกต่อยที่หัวไหล่ขวาและบีบคอจนศรีษะของโจทก์กระแทกฝาห้องน้ำ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391 คดีถึงที่สุดแล้ว คดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีดังกล่าวว่าการทำร้ายของจำเลยที่ 1 ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของโจทก์ และเมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นผลมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ 1 โดยตรง กรณีไม่มีความจำเป็นต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหาย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป
of 13