คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 31

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 51 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3159/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระภาษีหลังพ้นกำหนดไม่เป็นอุปสรรคการฟ้องคัดค้านการประเมินภาษี และการตีความ 'ค่าภาษีทั้งสิ้น'
เมื่อพิจารณาถึงความเชื่อมโยงจากมาตรา 38 วรรคหนึ่ง มาตรา 38 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 39 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว คำว่า "ค่าภาษีทั้งสิ้น" ตามมาตรา 39 ให้หมายความถึงค่าภาษีซึ่งถึงกำหนดชำระและค่าภาษีที่มีสิทธิผ่อนชำระ นอกจากนี้ พระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติเรื่อง "ค่าภาษี" ไว้ในหมวด 2 การเก็บภาษี ซึ่งเป็นเรื่องภาษีตามการประเมิน ส่วนคำว่า "เงินเพิ่ม" ถูกบัญญัติไว้ในหมวด 3 ค่าภาษีค้าง ในมาตรา 42 ถึงมาตรา 44 แยกกันต่างหาก โดยไม่มีบทบัญญัติกำหนดหรือนิยามคำว่า "ค่าภาษีทั้งสิ้น" ตามความหมายบทบัญญัติแห่งมาตรา 39 ให้รวมถึงเงินเพิ่มด้วย จึงไม่อาจตีความว่าก่อนการยื่นฟ้องต่อศาลผู้รับประเมินต้องชำระเงินเพิ่มอันเป็นภาษีอากรค้างด้วย ซึ่งแตกต่างกับกฎหมายอื่น หากต้องการให้เงินเพิ่มถือเป็นเงินค่าภาษีจะต้องมีบทบัญญัติไว้ชัดเจน อีกทั้งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ซึ่งบัญญัติให้อำนาจผู้บริหารท้องถิ่นออกคำสั่งยึด อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ซึ่งค้างชำระค่าภาษีเพื่อนำเงินมาชำระเป็นค่าภาษี เงินเพิ่ม ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่าย แสดงว่าวัตถุประสงค์ของกฎหมายต้องการให้แยกคำว่า "ค่าภาษี" ซึ่งเป็นค่าภาษีตามการประเมินในหมวด 2 กับคำว่า "เงินเพิ่ม" ในหมวด 3 ออกจากกัน ดังนั้น ค่าภาษีทั้งสิ้นตามความมุ่งหมายในมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงไม่อาจรวมถึงเงินเพิ่มอันเกิดจากการมิได้ชำระค่าภาษีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดด้วย
สิทธิฟ้องร้องคัดค้านการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินคงขึ้นอยู่กับความในมาตรา 31 กับมาตรา 39 เท่านั้น การชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 เป็นเพียงหลักปฏิบัติเบื้องต้นสำหรับผู้รับประเมินจะไปชำระค่าภาษีได้ที่ใดและเมื่อใด เป็นเรื่องของการเก็บภาษีในกรณีธรรมดาทั่วไป ซึ่งหากมิได้ชำระภายในเวลาที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 38 ตามมาตรา 42 บัญญัติให้ถือว่าเป็นค่าภาษีค้างชำระอันจะต้องเสียเงินเพิ่ม รวมทั้งอาจถูกบังคับคดียึดอายัดทรัพย์ขายทอดตลาด เพื่อเอาเงินมาเสียภาษีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 และมาตรา 44 ต่อไปด้วย อันเป็นคนละเรื่องกับสิทธิในการฟ้องคดี การไม่ชำระค่าภาษีตามมาตรา 38 จึงไม่ได้เป็นสาระสำคัญหรือเงื่อนไขในการฟ้องคดี เพราะหากเป็นกรณีพ้นกำหนดเวลาชำระค่าภาษีไปแล้ว ขณะฟ้องก็ต้องชำระค่าภาษีเสียก่อนฟ้องเช่นเดียวกัน
โจทก์ได้รับหนังสือแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) ประจำปีภาษี 2560 เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 เป็นค่าภาษีจำนวน 1,092,823.25 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินใหม่ (ภ.ร.ด.9) ซึ่งจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดตามการประเมินให้ชำระค่าภาษีจำนวน 1,092,823 บาท โจทก์ทราบคำชี้ขาดดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 และชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินเป็นเงิน 1,092,823 บาท ตามที่ได้ระบุไว้ในใบแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2560 ซึ่งเป็นเวลาก่อนโจทก์ฟ้องคดี แม้โจทก์จะไม่ได้ชำระเงินเพิ่มในวันดังกล่าว ก็ย่อมถือว่าโจทก์ได้ชำระค่าภาษีครบถ้วนตามคำชี้ขาดอันเป็นค่าภาษีทั้งสิ้นตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังที่ไม่สมเหตุสมผล โดยอ้างอิงราคามาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและราคาตลาด
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 30 บัญญัติว่า การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีแบบพิมพ์หรือต้องทำในลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นเรื่องแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ถึงผู้จัดการของโจทก์ แม้หนังสือฉบับดังกล่าวลงชื่อโดยปลัดเทศบาลของจำเลย แต่ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการลงชื่อในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีของจำเลย เมื่อหนังสือฉบับนี้ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าจำเลยได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แล้วมีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งประเมิน จึงถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการแจ้งคำชี้ขาดที่นายกเทศมนตรีของจำเลยแจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 30 และถือได้ในทำนองเดียวกันว่าได้?มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยื่นฟ้องคดีนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 31 ส่วนที่นายกเทศมนตรีของจำเลยมีหนังสือในครั้งหลังแจ้งคำชี้ขาดพร้อมกับส่งใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 อันเป็นการแจ้งคำชี้ขาดที่มีการนำแบบพิมพ์ ภ.ร.ด. 11 มาใช้ แต่หาได้มีการยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 ในครั้งแรกนั้นไม่ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับแรกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10775/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษี: รัฐวิสาหกิจต้องเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีก่อนฟ้อง หากไม่พอใจคำชี้ขาด
โจทก์ที่ 1 อ้างเหตุผลในคำฟ้องว่า การเข้าตรวจสอบทรัพย์สินของจำเลยไม่ชอบ การที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชี้ขาดให้โจทก์ที่ 1 ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินในแต่ละปี โดยคำนวณจากค่าเช่าช่วงและผลประโยชน์อย่างอื่นที่ผู้เช่าช่วงต้องชำระ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้รับนั้นไม่ถูกต้อง จำเลยเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดินมากเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำชี้ขาดให้จำเลยคืนเงินภาษีโรงเรือนและที่ดินส่วนที่เรียกเก็บเกินไปคืนแก่โจทก์ที่ 1 ถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ที่ 1 ไม่พอใจคำชี้ขาด เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควรตามมาตรา 31 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์ที่ 1 ต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาด การที่โจทก์ที่ 1 มิได้นำเรื่องคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน จึงเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์ที่ 1 จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 ตามสัญญาเช่า โจทก์ที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเกี่ยวกับการชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน แต่เนื่องจากทรัพย์สินที่พิพาทเป็นทรัพย์สินของโจทก์ที่ 1 ผู้รับประเมินซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ อีกทั้งเป็นกรณีที่โจทก์ทั้งสองเห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยประเมินและคำชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ให้โจทก์ที่ 1 เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินสูงเกินสมควร เมื่อโจทก์ที่ 1 มิได้นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาลดหย่อนค่ารายปี โจทก์ที่ 2 จึงไม่มีอำนาจฟ้องเช่นเดียวกับโจทก์ที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8457/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีภาษีโรงเรือนและที่ดิน: กรณีสัญญาเช่าทรัพย์สินและผลกระทบต่อการยกเว้นภาษี
กรณีที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ไม่ใช่กรณีที่ กทท. ไม่พอใจคำชี้ขาดเนื่องจากเห็นว่าจำนวนพื้นที่ประเมินไว้สูงเกินสมควร ซึ่งต้องนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียในฐานะเป็นผู้ชำระค่าภาษีแทน กทท. ย่อมมีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้ได้
สัญญาเช่านอกจากจะอนุญาตให้โจทก์เข้าบริหารประกอบการท่าเทียบเรือแล้ว ยังให้สิทธิโจทก์ใช้ทรัพย์สินของ กทท. โดย กทท. มีหน้าที่ต้องส่งมอบทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับท่าเทียบเรือบี 1 ให้แก่โจทก์ใช้ประโยชน์และพัฒนาท่าเทียบเรือ โดยโจทก์ต้องจ่ายค่าตอบแทน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เป็นการเช่าทรัพย์สินด้วย กทท. จึงไม่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และหาก กทท. ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินซึ่งประเมินไว้สูงเกินสมควร กทท. จะต้องนำเรื่องเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย เมื่อ กทท. ได้นำคำชี้ขาดเสนอ ครม. ภายในสามสิบวันแล้ว แต่ ครม. ยังไม่มีมติ กทท. จึงไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียจึงต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติของ มาตรา 31 วรรคท้าย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5430/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การประเมินค่ารายปีต้องเป็นไปตามกฎหมาย และการท่าเรือฯ ต้องดำเนินการตามขั้นตอนก่อนฟ้อง
โจทก์ฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่า ท่าเทียบเรือบี 3 เป็นทรัพย์สินของ กทท. ที่ใช้ในกิจการสาธารณะโดยตรง ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (2) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ จึงเป็นหน้าที่ของ กทท. ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษีตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งยกคำขอ กทท. ก็มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 เมื่อไม่ปรากฏว่า กทท. ได้ยื่นคำร้องขอยกเว้นภาษี พนักงานเจ้าหน้าที่จึงยังมิได้สอบสวนว่าทรัพย์สินนั้นควรจะได้รับยกเว้นหรือไม่ และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 24 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 โจทก์จึงไม่มีสิทธิยกปัญหานี้ขึ้นสู่การพิจารณาของศาลภาษีอากรกลางเพื่อโต้แย้งว่าทรัพย์สินที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 33 และมาตรา 34 กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรฯ มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246
ปัญหาว่าค่ารายปีควรเป็นเท่าใดนั้น เป็นกรณีที่โจทก์เห็นว่า จำนวนเงินที่พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินและจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดยืนตามการประเมินนั้นมีจำนวนสูงเกินสมควร กทท. จึงต้องนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรีภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับแจ้งคำชี้ขาดตามมาตรา 31 วรรคท้าย แต่ไม่ปรากฏว่า กทท. นำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนั้น เมื่อ กทท. ยังไม่ดำเนินการตามมาตรา 31 วรรคท้าย กทท.และโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4069/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: ผู้รับประเมินต้องยื่นคำขอยกเว้นตามกฎหมายก่อน หากไม่ทำ ไม่มีสิทธิฟ้องขอคืนภาษีย้อนหลัง
โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องว่า การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินไม่ชอบเนื่องจากโรงเรือนที่โจทก์ต้องเสียภาษีมีตามจำนวนที่แจ้งไว้ในปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 เท่านั้น ส่วนโรงเรือนอื่นในพื้นที่ของโจทก์ไม่ได้ใช้งานและไม่ได้ใช้เป็นที่ไว้สินค้าและประกอบการอุตสาหกรรม จึงเป็นการฟ้องขอคืนเงินค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินโดยอ้างว่าโรงเรือนอื่นของโจทก์นอกจากที่แจ้งไว้ในปีภาษี 2545 และปีภาษี 2546 ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (5) ซึ่งเป็นบทบัญญัติในภาค 1 ของ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 อันเป็นหน้าที่ของโจทก์ในฐานะผู้รับประเมินที่จะต้องจัดทำคำขอยกเว้นภาษียื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อที่พนักงานเจ้าหน้าที่จะได้สอบสวนให้แน่นอนก่อนว่าทรัพย์สินที่พิพาทควรได้รับยกเว้นภาษีหรือไม่ หากพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มีคำสั่งยกคำขอยกเว้นภาษี โจทก์ก็มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาชี้ขาดและฟ้องคดีต่อศาลตามลำดับภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เพื่อให้พิจารณายกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับโรงเรือนพิพาท และการที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ในคดีนี้ก็เป็นการโต้แย้งการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่การยื่นคำร้องขอให้จำเลยที่ 2 พิจารณาคำชี้ขาดของพนักงานเจ้าหน้าที่จำเลยที่ 1 ตามมาตรา 34 ประกอบมาตรา 25 และมาตรา 26 ที่สืบเนื่องมาจากการขอยกเว้นค่าภาษีตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะนำคดีขึ้นสู่ศาลเพื่อโต้แย้งว่าโรงเรือนที่พิพาทได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินในปีภาษีพิพาทได้อีกตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 33 และมาตรา 34 ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และมาตรา 246 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องในประเด็นนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13854/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การประเมินค่าเช่าที่ดินโรงเรียนเอกชน และการคืนค่าขึ้นศาล
จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดให้โจทก์เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน 709,532.42 บาท ซึ่งจำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 โดยปรับลดลง 1,704,192.58 บาท คำชี้ขาดจึงเป็นไปตามคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของโจทก์บางส่วนแล้ว แต่สำหรับในส่วนที่จำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดเห็นด้วยกับพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 นั้น หากโจทก์ไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธินำคดีไปสู่ศาลได้ เมื่อในส่วนที่จำเลยที่ 2 ไม่เห็นด้วยกับการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ไม่ใช่กรณีที่โจทก์ผู้รับประเมินไม่พอใจในคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่โจทก์มีสิทธินำคดีไปสู่ศาลเพื่อแสดงให้ศาลเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากจำเลยที่ 2 ได้มีคำชี้ขาดแล้วว่าการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ในส่วนนี้ไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้จึงไม่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์ตามการประเมินของจำเลยที่ 1 เพราะฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องเพิกถอนคำชี้ขาดในส่วนนี้ ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอุทธรณ์ แต่ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นสมควรยกปัญหานี้ขึ้นวินิจฉัยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 29 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 246 และมาตรา 142 (5)
นอกจากค่าธรรมเนียมการเรียนแล้ว โจทก์ยังเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อน ค่าบัตรร่วมงานประจำปี ค่าสมาชิกศิษย์เก่า แม้โจทก์เป็นองค์กรทางคริสต์ศาสนามีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ศาสนาให้การศึกษาและดำเนินกิจการด้านสาธารณกุศลต่าง ๆ อีกทั้งไม่ได้เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมการเรียนจากนักเรียนยากจน นักเรียนที่เป็นบุตรหลานของครูและพนักงานในโรงเรียน และนักเรียนบางรายซึ่งติดค้างไม่สามารถชำระค่าธรรมเนียมการเรียนได้ก็ตาม แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า โจทก์เป็นโรงเรียนเอกชนที่มีการเก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่น และค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จากนักเรียนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นการกระทำกิจการเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาอันไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9
สำหรับโรงเรียนของโจทก์เป็นกรณีที่ทรัพย์สินนั้นหาค่าเช่าไม่ได้ เนื่องจากเจ้าของดำเนินกิจการเอง ทางนำสืบไม่ปรากฏโรงเรียนที่ตั้งในเขตเดียวกับโรงเรียนโจทก์มาเทียบเคียงได้ แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินตามหลักเกณฑ์ที่มีการแบ่งทำเลเพื่อกำหนดค่าเช่ามาตรฐานสอดคล้องกับประกาศกระทรวงมหาดไทย โดยไม่ปรากฏว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินค่ารายปีโรงเรียนเอกชนอื่นแตกต่างออกไป นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังมีคำชี้ขาดลดค่ารายปีแต่ละปีโดยคำนวณลดลงปีละ 3 เดือน ตามที่โจทก์อ้างว่ามีการหยุดเทอมภาคฤดูร้อน ทั้งที่ปรากฏตามทางนำสืบว่า โจทก์มีการเรียกเก็บค่าเรียนภาคฤดูร้อนแสดงว่ามีการเรียนการสอนในระยะเวลาดังกล่าว คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เป็นคุณแก่โจทก์ในส่วนนี้ คำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18549/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รัฐวิสาหกิจมีหน้าที่เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีก่อนฟ้องร้องคดีภาษี หากไม่ปฏิบัติตาม ไม่มีอำนาจฟ้อง
โจทก์ผู้รับประเมินเป็นรัฐวิสาหกิจไม่พอใจคำชี้ขาดที่ชี้ขาดยืนตามการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เนื่องจากโจทก์เห็นว่า การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 มิได้นำค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วเป็นเกณฑ์สำหรับการพิจารณาเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งไม่มีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ว่าค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วนั้นไม่เหมาะสมอย่างไร กรณีดังกล่าวถือได้ว่า โจทก์ไม่พอใจคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 เนื่องจากเห็นว่า จำนวนเงินซึ่งประเมินไว้นั้นมีจำนวนที่สูงเกินสมควร อันเป็นการประเมินไม่ถูกต้องตามความใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงต้องนำเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย แม้กรณีของโจทก์จะเป็นการประเมินค่ารายปีจากทรัพย์สินที่มิได้เกิดจากการประเมินกิจการของโจทก์โดยตรง แต่เป็นการประเมินค่ารายปีจากทรัพย์สินที่โจทก์ให้บุคคลภายนอกหาประโยชน์ก็ตาม ซึ่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 31 วรรคท้าย หาได้บัญญัติให้เป็นทางเลือกของหน่วยงานของรัฐวิสาหกิจที่จะนำคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ไปเสนอต่อคณะรัฐมนตรีหรือฟ้องต่อศาลเพื่อพิจารณาก็ได้ การที่โจทก์มิได้นำเรื่องคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ที่เห็นด้วยกับการประเมินค่ารายปีและค่าภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำชี้ขาดของจำเลยที่ 2 ก่อน จึงเป็นการดำเนินการข้ามขั้นตอนที่กฎหมายบัญญัติไว้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน: สนามกอล์ฟปรับปรุงพื้นที่ถือเป็นทรัพย์สินต้องเสียภาษี
แม้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่จะมีมติยืน ตามการประเมิน โดยวินิจฉัยว่าสนามกอล์ฟพิพาทเป็นโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นแตกต่างจากการที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ประเมินว่า สนามกอล์ฟพิพาทเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น แต่ก็เป็นการวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันว่าสนามกอล์ฟเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินหรือไม่ประกอบกับคณะกรรมการฯ มีมติตามการประเมิน กรณีจึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในรายการอื่น คณะกรรมการฯ ย่อมมีอำนาจกระทำได้
แม้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 จะมิได้กำหนดความหมายของสิ่งปลูกสร้างไว้โดยเฉพาะ แต่ลักษณะสภาพของสะพาน ซุ้มต่างๆ และสิ่งต่างๆ ที่โจทก์ก่อสร้างขึ้นในบริเวณสนามกอล์ฟล้วนก่อสร้างขึ้นมาในพื้นที่สนามกอล์ฟทั้งสิ้นถือได้ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้าง ส่วนพื้นที่สนามกอล์ฟที่เหลือนอกจากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นสนามหญ้า บ่อน้ำ สระน้ำ ทะลสาบ บ่อทราย พื้นที่ปลูกต้นไม้ หรือพื้นที่ว่างเปล่าอื่นๆ นั้น ไม่มีสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับสิ่งปลูกสร้างตามมาตรา 6 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 สนามกอล์ฟพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3749/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสนามกอล์ฟ: พิจารณาความแตกต่างระหว่างสิ่งปลูกสร้างและที่ดินต่อเนื่อง
แม้คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 1 จะมีมติยืนตามการประเมิน โดยวินิจฉัยว่า สนามกอล์ฟพิพาทเป็นโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นแตกต่างจากการประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่ประเมินว่า สนามกอล์ฟพิพาทเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น คือ อาคารสโมสรและอาคารบริการต่างๆ ก็ตาม แต่ก็เป็นการวินิจฉัยในประเด็นเดียวกันว่าสนามกอล์ฟเป็นทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6 (1) หรือไม่ ประกอบกับคณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 1 มีมติยืนตามการประเมิน กรณีจึงไม่ใช่เป็นการวินิจฉัยเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในรายการอื่น คณะกรรมการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ของจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจกระทำได้
ปัญหาว่าพื้นที่บริเวณที่ดินสนามกอล์ฟจะเป็นสิ่งปลูกสร้างหรือเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับสิ่งปลูกสร้างหรือไม่นั้น แม้ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 จะมิได้กำหนดความหมายของสิ่งปลูกสร้างได้โดยเฉพาะ แต่ลักษณะสภาพของสะพาน ซุ้มต่างๆ และสิ่งต่างๆ ที่โจทก์ก่อสร้างในบริเวณสนามกอล์ฟล้วนก่อสร้างขึ้นมาเพื่อใช้ประโยชน์แก่บุคคลต่างๆ ในพื้นที่สนามกอล์ฟทั้งสิ้นถือได้ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้าง ส่วนพื้นที่สนามกอล์ฟที่เหลือนอกเหนือจากสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นสนามหญ้า บ่อน้ำ สระน้ำ ทะเลสาบ บ่อทราย พื้นที่ปลูกต้นไม้หรือพื้นที่ว่างเปล่าอื่นๆ ได้ความจากพยานหลักฐานโจทก์เพียงว่าเป็นการปรับปรุงพื้นที่ดินจากสภาพธรรมชาติเดิมขึ้นมาให้เหมาะสมกับการใช้สนามกอล์ฟเท่านั้น จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้นำสืบถึงข้อเท็จจริงในการปรับปรุงพื้นดินให้เป็นสนามกอล์ฟของโจทก์ว่า มีการจัดทำโครงสร้างอย่างใดที่พอจะถือได้ว่ามีสภาพที่เป็นสิ่งปลูกสร้างตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 5 ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าลักษณะพื้นดินสนามกอล์ฟของโจทก์นอกเหนือจากที่มีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างขึ้นมีสภาพเป็นสิ่งปลูกสร้างด้วย คงฟังได้เพียงว่าเป็นที่ดินซึ่งใช้ต่อเนื่องกับสิ่งปลูกสร้างตามความหมายใน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 6 วรรคสาม
of 6