คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 ม. 36 ทวิ วรรคหนึ่ง

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การได้มาโดยชอบด้วยกฎหมาย, การครอบครองเพื่อตนเอง, และผลกระทบต่อการจดทะเบียน
ที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง ส. เป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส. จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 และมีสิทธิขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองแก่โจทก์ได้ การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 มีชื่อ อ. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ส่วนความเป็นจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองต้องพิจารณาว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครอง อ.ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่อาจขายที่ดินพิพาทแก่กระทรวงการคลังได้ และการที่กระทรวงการคลังจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน มิได้มีการเข้าครอบครองยึดถือที่ดินเพื่อตนตามความเป็นจริง แม้จำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม" แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แตกต่างจากเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 การที่จำเลยที่ 1 โดยกระทรวงการคลังจัดซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13999/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินปฏิรูปฯ ยังเป็นที่ดินของรัฐ แม้มีการเพิกถอนสภาพสาธารณสมบัติ การครอบครองจึงไม่อาจอ้างสิทธิได้
ตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง กำหนดให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ได้มาก็เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิได้มุ่งหมายให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิใช้สอย จำหน่ายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 ดังนั้น เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภทพลเมืองใช้ร่วมกัน แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินอันเนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 26 (4) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดินวัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐที่จะเป็นผู้จัดให้ใช้ประโยชน์เท่านั้น
เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน และเป็นที่ดินของรัฐแล้วย่อมต้องห้ามมิให้บุคคลทั่วไปยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 หากการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเป็นการออกทับที่ดินที่บิดาจำเลยและจำเลยมีสิทธิครอบครองจริง ก็เป็นเรื่องที่จะต้องไปดำเนินการขอเพิกถอนหรือแก้ไขตามระเบียบกรมที่ดินว่าด้วยการเพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง พ.ศ.2529 และฟ้องขอให้เพิกถอนหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเท่านั้น หาใช่ฝ่าฝืนที่จะอยู่ในที่ดินของรัฐต่อไปได้ไม่
การที่จำเลยบุกรุกเข้าไปครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินของรัฐแต่ไม่ใช่ที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนใช้ร่วมกันหรือที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ การกระทำของจำเลยย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 108 ทวิ วรรคหนึ่ง เท่านั้น ทั้งการครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก็เป็นการครอบครองต่อเนื่องจากบิดาของจำเลยที่ครอบครองทำประโยชน์มาก่อนนานแล้ว จึงมีสาเหตุที่ทำให้จำเลยอาจเข้าใจไปได้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาก่อน และการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงเมื่อปี 2535 เป็นการออกทับที่ดินของจำเลย พฤติการณ์ในการกระทำความผิดของจำเลยจึงไม่ร้ายแรงนัก กรณีจึงมีเหตุสมควรรอการลงโทษให้จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8371/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดิน ส.ป.ก. กับการทำไม้หวงห้าม: ที่ดิน ส.ป.ก. ยังคงเป็นที่ดินของรัฐ
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 36 ทวิ วรรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ได้มาก็เพื่อนำไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มิได้มุ่งหมายให้ ส.ป.ก. มีกรรมสิทธิ์ เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิใช้สอย จำหน่าย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เมื่อที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติเป็นที่ดินของรัฐ แม้ถูกเพิกถอนสภาพจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติอันเนื่องจากการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ มาตรา 26 (4) ก็ตาม ก็ยังคงเป็นที่ดินของรัฐอยู่เพียงแต่เปลี่ยนประเภทของที่ดิน วัตถุประสงค์และการใช้ประโยชน์ในที่ดินและเปลี่ยนหน่วยงานของรัฐผู้ดูแลและใช้ประโยชน์ในที่ดินจากกรมป่าไม้เป็น ส.ป.ก. โดยให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 36 ทวิ ที่ดินพิพาทยังคงเป็นที่ดินของรัฐตาม ป.ที่ดิน มาตรา 2 ไม่อาจถือได้ว่า ส.ป.ก. เป็นบุคคลผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตามกฎหมายอื่นตามความหมายของ ป.ที่ดิน มาตรา 3 (2) ที่ดินพิพาทยังเป็นที่ดินที่มิได้มีบุคคลใดได้มาตามกฎหมายที่ดิน การที่ ส.ป.ก. ออกเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ก. จัดสรรในที่ดินของรัฐให้แก่เกษตรกร จึงเป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานะทางกฎหมายของที่ดินนั้น ดังนั้นที่ ส. ได้ที่ดินที่มีเอกสาร ส.ป.ก. 4-01 ก. ยังไม่อาจถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอื่นตามที่บัญญัติในมาตรา 3 (2) แห่ง ป.ที่ดิน ที่ดินดังกล่าวจึงยังมิได้มีบุคคลได้มาตาม ป.ที่ดิน และยังคงเป็นป่าตามมาตรา 4 (1) แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ การที่จำเลยที่ 1 ตัดฟันโค่นไม้ประดู่อันเป็นไม้หวงห้ามประเภท ก. ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 ก. ของ ส. โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ จึงเป็นความผิดฐานทำไม้หวงห้ามโดยไม่ได้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ