คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1476 (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมของคู่สมรสและผลกระทบต่อบุคคลภายนอก
สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์ยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า ท. สามีชอบด้วยกฎหมายของโจทก์จดทะเบียนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 1 โดยไม่ได้รับความยินยอมของโจทก์ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองแก่จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ท. จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตและมีคำขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ท. กับจำเลยที่ 1 และนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 อันเป็นข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ในการจัดการสินสมรสของสามีภริยา ซึ่งกรณีดังกล่าวนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) บัญญัติให้สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง และหากสามีหรือภริยาจัดการสินสมรสไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1480 บัญญัติให้อำนาจแก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ แต่การฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมในกรณีนี้เป็นเพียงการขอให้เพิกถอนการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งจัดการไปโดยปราศจากอำนาจเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นกลับคืนมาเป็นสินสมรสตามเดิม ทั้งยังเป็นการดำเนินคดีเกี่ยวกับการสงวนรักษาสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1477 ซึ่งบัญญัติให้สามีภริยาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีสิทธิทำได้ ดังนั้น แม้โจทก์มิได้ฟ้องทายาทโดยธรรมหรือผู้จัดการมรดกของ ท. สามีโจทก์ที่ทำนิติกรรมจดทะเบียนโอนขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 1 เข้ามาเป็นจำเลยด้วย ก็หาทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7789/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สินสมรสและการเพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส
แม้จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเอง และปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียวถือกรรมสิทธิ์ แต่เป็นการได้ทรัพย์สินมาในระหว่างสมรส ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ใช้เงินสินส่วนตัวไปซื้อที่ดินดังกล่าวมา ที่ดินทั้งสองแปลงย่อมเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) เมื่อจำเลยที่ 1 นำที่ดินสินสมรสไปขายฝากแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และจำเลยที่ 2 ทราบถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรม การขายฝากนั้นได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10513/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ทำโดยคู่สมรสโดยไม่ได้รับความยินยอม และอำนาจฟ้องของคู่สมรส
การที่ อ. ภริยา ทำสัญญาขายฝากที่พิพาทให้แก่จำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่พิพาทไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แม้คำขอบังคับของโจทก์เพียงขอให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่พิพาท โดยมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ก็เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์สินของโจทก์คืน เท่ากับมีผลเป็นการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากด้วยเช่นกัน และการเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากดังกล่าวต้องเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนของโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้น ศาลก็มิอาจเพิกถอนทั้งหมดได้เพราะจะเป็นการพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7031/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขายฝากสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส และสิทธิของบุคคลภายนอก
ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์ที่ ว. ได้มาขณะที่ ว. มีโจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นสินสมรสที่สามีภริยาต้องจัดการร่วมกันหรือจัดการโดยได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง เมื่อมีการขายฝากที่ดินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่ปรากฏว่ามีการปลอมลายมือชื่อโจทก์ในฐานะผู้ให้ความยินยอมไปทำนิติกรรมขายฝาก จึงเป็นการทำนิติกรรมที่ ว. ทำไปลำพังฝ่ายเดียว เป็นนิติกรรมไม่สมบูรณ์ ซึ่งมีผลให้คู่สมรสที่ไม่ให้ความยินยอมอาจขอให้ศาลเพิกถอนได้ เว้นแต่นิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง แต่กฎหมายมิได้บัญญัติว่านิติกรรมนั้นเป็นโมฆะหรือโมฆียะ ดังนั้นตราบใดที่สัญญาขายฝากที่ดินยังไม่ถูกศาลเพิกถอน บุคคลภายนอกที่เป็นคู่สัญญาย่อมมีสิทธิสมบูรณ์ในที่ดิน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8739/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแจ้งความเท็จเรื่องสถานภาพสมรสเพื่อจำนองทรัพย์สินร่วม การกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137
จำเลยซื้ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดในระหว่างสมรสกับโจทก์ อาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นสินสมรส ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งในกรณีจำนองอสังหาริมทรัพย์ หากคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ การที่จำเลยให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินว่าเป็นโสดไม่เคยมีคู่สมรสไม่ว่าจะชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย จึงเป็นการแจ้งความอันเป็นเท็จอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 137
เมื่ออาคารชุดอุรุพงษ์คอนโดเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์และจำเลย อำนาจการจัดการจำนองอาคารชุดดังกล่าวจึงเป็นของโจทก์และจำเลยร่วมกัน แม้จำเลยจะมีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจำเลยก็ไม่มีอำนาจทำนิติกรรมโดยโจทก์ไม่ยินยอม การที่จำเลยแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินดังกล่าวย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายโดยไม่ต้องคำนึงว่าโจทก์ต้องร่วมรับผิดชำระหนี้จำนองหรือโจทก์มีสินสมรสเพิ่มขึ้นหรือไม่ โจทก์จึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจฟ้อง
การคุมความประพฤติจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 เป็นเพียงวิธีการที่ศาลกำหนดเงื่อนไขประกอบ การใช้ดุลพินิจรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยเท่านั้น บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มีหลักเกณฑ์ว่า ความผิดที่จะกำหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติต้องเป็นความผิดร้ายแรง หรือจำเลยต้องมีความประพฤติเสื่อมเสียหรือเป็นอันตรายต่อสังคม หรือติดยาเสพติดให้โทษดังที่จำเลยกล่าวอ้าง เมื่อปรากฏว่าศาลล่างทั้งสองรอการลงโทษจำคุกจำเลย การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 จึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10633/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมขายฝากสินสมรสโดยไม่สุจริต และประเภทคดีที่ต้องเสียค่าขึ้นศาล
โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาระหว่างสมรส จึงเป็นสินสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1474 (1) การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ซึ่งเป็นคู่สมรส นิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) และเมื่อจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้ทั้งหมดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นสินสมรสคืนให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นการฟ้องเรียกเอาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างมาเป็นของโจทก์ด้วย หากโจทก์ชนะคดีย่อมได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืน จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เฉพาะส่วนของโจทก์ หากโจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลอุทธรณ์พิพากษาเพิกถอนทั้งหมด และศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้เพิกถอนนิติกรรมทั้งหมด โจทก์ย่อมได้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดคืนมา จึงเป็นคดีฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7978/2542 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนนิติกรรมจำนองสินสมรสโดยไม่สุจริต และผลของการบอกล้างสัญญาระหว่างสมรส
จำเลยที่ 1 นำทรัพย์พิพาทซึ่งเป็นสินสมรสไปจำนองแก่ธนาคารจำเลยที่ 2 โดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ ซึ่งเป็นภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการฝ่าฝืนต่อ ป.พ.พ. มาตรา 1476 (1) แต่จำเลยที่ 2 กลับรับจำนองไว้ โดยอ้างว่า ว. ซึ่งเป็นภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสของจำเลยที่ 1 ให้ความยินยอมแล้ว ย่อมถือได้ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันทำนิติกรรมจำนองโดยไม่สุจริตและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองดังกล่าวได้ตามมาตรา 1480 วรรคหนึ่ง
บันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สินที่ให้จำเลยที่ 1 มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทนั้นเป็นสัญญาระหว่างสมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่า โจทก์ย่อมมีสิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 1469 การที่โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอหย่าและขอแบ่งสินสมรส และศาลแพ่งกรุงเทพใต้เห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิบอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว อันเป็นการใช้สิทธิบอกล้างในขณะที่โจทก์และจำเลยที่ 1 ยังเป็นสามีภริยากัน ดังนั้น เมื่อโจทก์บอกล้างสัญญาระหว่างสมรสแล้ว ย่อมทำให้สัญญาดังกล่าวสิ้นความผูกพัน ทำให้ทรัพย์สินกลับเป็นสินสมรสดังเดิม และเมื่อโจทก์นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาใหม่ภายในกำหนดระยะเวลาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง จึงต้องถือว่าขณะฟ้องคดีนี้ข้อตกลงเกี่ยวกับการจัดแบ่งทรัพย์สิน ซึ่งเป็นสัญญาระหว่างสมรสระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้สิ้นผลแล้ว ทรัพย์พิพาทจึงเป็นสินสมรสอยู่ขณะฟ้อง โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
การขอให้เพิกถอนนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 คู่สมรสต้องขอเพิกถอนนิติกรรมทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนหาได้ไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5979/2539

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การโอนขายสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส และการเพิกถอนนิติกรรม
โจทก์และจำเลยที่1ได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อพ.ศ.2529อันเป็นเวลาภายหลังที่บทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519ใช้บังคับแล้วที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อไม่ปรากฎว่าโจทก์และจำเลยที่1ได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรสการที่จำเลยที่1โอนขายที่ดินพิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่1เป็นเจ้าของแก่จำเลยที่2โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ได้ตรวจชำระใหม่พ.ศ.2519มาตรา1476(1)ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่10)พ.ศ.2533มาตรา10อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำนิติกรรมนั้นและเมื่อจำเลยที่2รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริตโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติบรรพ5แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา1480และการเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวจะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมดจะเพิกถอนเฉพาะส่วนโจทก์หาได้ไม่แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้นศาลก็มิอาจพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฎในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5979/2539 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนการซื้อขายที่ดินที่เป็นสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส และผลกระทบต่อผู้รับโอนที่ไม่สุจริต
โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาเมื่อ พ.ศ.2529 อันเป็นเวลาภายหลังที่บทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519ใช้บังคับแล้ว ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นสินบริคณห์ แต่เป็นสินสมรสตามบทบัญญัติที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่ได้ที่ดินพิพาทมา เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญากันไว้ในเรื่องทรัพย์สินเป็นพิเศษก่อนสมรส การที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ.2519 มาตรา 1476 (1) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.พ.พ.(ฉบับที่ 10) พ.ศ.2533 มาตรา 10 อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะทำนิติกรรมนั้น และเมื่อจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาโดยไม่สุจริต โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวได้ตามบทบัญญัติบรรพ 5 แห่ง ป.พ.พ.ที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 1480 และการเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายดังกล่าวจะต้องเพิกถอนนิติกรรมนั้นทั้งหมด จะเพิกถอนเฉพาะส่วนโจทก์หาได้ไม่ แต่เมื่อโจทก์ขอมาเพียงเฉพาะส่วนของโจทก์เท่านั้นศาลก็มิอาจพิพากษาให้เกินไปกว่าหรือนอกเหนือจากที่ปรากฏในคำฟ้อง