คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สิริกานต์ มีจุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 40 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4456/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดจากการตัดต้นปาล์มและไม่นำเงินขายผลผลิตไปวางศาล, ดอกเบี้ยผิดนัดตามกฎหมาย, การคิดดอกเบี้ยหลัง พ.ร.ก.แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่ง
บริษัท ย. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ปลูกปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ มีโจทก์และผู้อื่นเป็นผู้ถือหุ้น กับมีจำเลยและผู้อื่นเป็นกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทน ก่อนคดีนี้ บริษัท ย. โดยจำเลย ฟ้องบุคคลอื่นอ้างว่าบุกรุกที่ดินสวนปาล์มน้ำมันในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดังกล่าว ระหว่างพิจารณาคดีก่อน ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้บริษัท ย. มีอำนาจเก็บผลผลิตปาล์มน้ำมันในที่ดินพิพาทฝ่ายเดียวแล้วนำเงินที่ได้จากการขายหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายมาวางศาลทุกเดือน หลังจากศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อนมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแล้ว จำเลยได้บริหารจัดการสวนปาล์มน้ำมันโดยมอบอำนาจให้บุคคลภายนอกรวมถึง ฉ. เข้าทำประโยชน์แทนบริษัท ย. ดังนี้ แม้บริษัท ย. จะไม่ได้ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันเอง แต่ก็ได้มอบอำนาจให้บุคคลอื่นทำแทน โดยบริษัท ย. ได้รับเงินเป็นค่าตอบแทน ถือได้ว่าเป็นเงินที่ได้รับจากการขายผลปาล์มน้ำมันที่จำเลยในฐานะกรรมการของบริษัท ย. ซึ่งต้องปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน ต้องนำมาวางต่อศาลพร้อมบัญชีรับ-จ่าย การที่ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทที่จำเลยมอบอำนาจให้ ฉ. ตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันได้ ฟังได้ว่า จำเลยตัดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทแล้วไม่นำเงินที่ได้จากการขายผลปาล์มน้ำมันหลังหักค่าใช้จ่ายพร้อมบัญชีรับ-จ่ายไปวางต่อศาลตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 8 คดีก่อน แต่กลับนำไปใช้เป็นการส่วนตัว ทำให้บริษัท ย. ไม่มีรายได้ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัทดังกล่าวซึ่งโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น
จำเลยหยุดเก็บผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทในวันที่ศาลมีคำสั่งออกหมายจับจำเลยฐานจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว จำเลยจึงหยุดกระทำละเมิดในวันดังกล่าว และต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ย. ถึงวันดังกล่าวเท่านั้น
การทำสวนปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุประสงค์หลักของบริษัท ย. ดังนั้น การบริหารจัดการเกี่ยวกับการปลูกหรือการตัดต้นปาล์มน้ำมันย่อมมีผลต่อรายได้ของบริษัท จึงต้องขอความเห็นชอบจากกรรมการอื่นด้วย การที่จำเลยในฐานะกรรมการบริหารจัดการงานไปโดยลำพังในการขุดคูและตัดต้นปาล์ม 20 ต้น แล้วเกิดความเสียหายแก่บริษัท ย. จึงเป็นการละเมิดและต้องรับผิดต่อบริษัท ย.
จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้ในปัญหาอำนาจฟ้องว่า ต้นปาล์มน้ำมันและผลปาล์มน้ำมันในสวนปาล์มน้ำมันที่พิพาทอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เป็นของป่า ไม่ตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ปลูก และไม่มีใครเป็นเจ้าของ จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3956/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ: หน่วยงานรัฐรับผิดละเมิดเจ้าหน้าที่ – ผูกพันตามคำพิพากษาเดิม
การที่โจทก์ฟ้องคดีก่อนแล้วมาฟ้องคดีนี้ แม้จำเลยที่ 2 คดีนี้และจำเลยในคดีก่อนจะเป็นนิติบุคคลแยกจากกัน แต่จำเลยในคดีก่อนและจำเลยที่ 2 คดีนี้ ต่างเป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งจะต้องรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ พ. (จำเลยซึ่งในคดีนี้) เป็นเจ้าหน้าที่ของตนได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่เช่นเดียวกัน ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 คดีนี้เป็นคู่ความเดียวกันกับจำเลยในคดีก่อน เมื่อโจทก์คดีนี้ฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการทำละเมิดของ พ. ซึ่งเป็นการฟ้องโดยอาศัยประเด็นที่ต้องวินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคดีก่อน และในคดีก่อนได้ถึงที่สุดไปแล้ว ดังนี้ โจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่ความในคดีนี้ต้องผูกพันตามคำพิพากษาในคดีก่อนด้วย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 อันต้องห้ามมิให้รื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 148 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3003/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำนำข้าวเปลือก/ข้าวสาร: สัญญาไม่ระงับ หากทรัพย์ยังอยู่ในการครอบครองของผู้รับจำนำ
จำเลยที่ 1 นำข้าวเปลือกและข้าวสารไปจำนำเป็นประกันหนี้ตามสัญญาสินเชื่อของจำเลยที่ 1 กับโจทก์ แล้วโจทก์ทำสัญญาเช่าโกดังของจำเลยที่ 1 เป็นที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำ แม้จำเลยที่ 1 ผู้จำนำมีสิทธิเข้าออกโกดังที่เก็บรักษาทรัพย์จำนำได้ตลอดเวลา แต่สัญญาจำนำไม่ได้ให้สิทธิจำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ การนำทรัพย์จำนำออกจากสถานที่เก็บรักษาเพื่อการไถ่ถอนทรัพย์จำนำก็ดี การนำทรัพย์จำนำไปขาย จำหน่าย จ่าย โอน หรือกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นเหตุให้เกิดภาระผูกพันหรือบุริมสิทธิใด ๆ กับทรัพย์จำนำก็ดี หรือการนำทรัพย์จำนำเข้าออกจากสถานที่เก็บรักษาก็ดี ล้วนแต่ต้องได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนทั้งสิ้น และไม่ถือว่าทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่การครอบครองของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด สัญญารักษาทรัพย์จำนำก็ระบุให้ผู้รักษาทรัพย์จำนำดูแลและรักษาทรัพย์จำนำเพื่อประโยชน์ของโจทก์และแทนโจทก์เท่านั้น อีกทั้งยังระบุไว้ชัดเจนว่าผู้รักษาทรัพย์จำนำมิได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลยที่ 1 และไม่ได้ครอบครองและดูแลรักษาทรัพย์จำนำแทนจำเลยที่ 1 รวมทั้งผู้รักษาทรัพย์จำนำไม่มีสิทธิเคลื่อนย้าย นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์หรือก่อให้เกิดภาระใด ๆ แก่ทรัพย์จำนำได้ เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ 1 ว่า คู่สัญญาประสงค์ให้ทรัพย์จำนำอยู่ในครอบครองของโจทก์ตลอดเวลา โดยจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำทรัพย์จำนำไปใช้ประโยชน์ในทางใด ๆ ในกิจการของจำเลยที่ 1 ได้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากโจทก์ก่อนเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้อนุญาตให้จำเลยที่ 1 นำทรัพย์จำนำออกไปใช้ประโยชน์ในกิจการของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด กรณีจึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ยอมให้ทรัพย์จำนำกลับคืนไปสู่ครอบครองของจำเลยที่ 1 สัญญาจำนำจึงหาระงับสิ้นไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1878/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากประกันภัยรถยนต์และการไล่เบี้ยผู้กระทำละเมิด ศาลฎีกาเห็นพ้องกับการยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยภาคบังคับให้รับผิดในมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัย ซึ่งเป็นคนละส่วนแยกต่างหากจากกันกับการฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดในมูลหนี้ละเมิด เมื่อกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถระบุจำนวนเงินคุ้มครองผู้ประสบภัยสำหรับการเสียชีวิตจ่ายเต็มตามจำนวนเงินคุ้มครองสูงสุด 300,000 บาท ต่อหนึ่งคนสำหรับการเสียชีวิต จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงต้องชําระแก่โจทก์และโจทก์ร่วมที่เป็นทายาทโดยไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดได้ แต่อย่างไรก็ตาม การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. โดย พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 มาตรา 22 บัญญัติว่า "การได้รับชดใช้ค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 ไม่ตัดสิทธิผู้ประสบภัยที่จะเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า "ให้ถือว่าค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นส่วนหนึ่งของเงินค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์" และมาตรา 31 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก หรือเกิดขึ้นเพราะความจงใจหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของเจ้าของรถ ผู้ขับขี่ ผู้ซึ่งอยู่ในรถ หรือผู้ประสบภัย เมื่อบริษัทได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทน....ไปแล้วจำนวนเท่าใดให้บริษัท...มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลดังกล่าวหรือมีสิทธิเรียกให้ผู้ประสบภัยคืนเงินดังกล่าวได้" อันหมายความว่าเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นแก่ผู้ประสบภัยจากรถ เมื่อผู้ประสบภัยได้รับค่าเสียหายเบื้องต้นแล้ว ผู้ประสบภัยยังสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. จากผู้ก่อความเสียหายได้อีก และในกรณีที่ความเสียหายเกิดจากบุคคลภายนอก เมื่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้จ่ายค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนไปแล้วจำนวนเท่าใด บริษัทก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้ก่อให้เกิดความเสียหายได้ ค่าเสียหายเบื้องต้นหรือค่าสินไหมทดแทนที่จะต้องจ่ายตามกรมธรรม์ประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถนี้จึงเป็นการจ่ายตามสัญญาประกันวินาศภัย ซึ่งค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขความคุ้มครองหมายถึงค่าเสียหายเบื้องต้นและค่าเสียหายส่วนที่เกินจากค่าเสียหายเบื้องต้นตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จำนวนเงินที่คุ้มครองผู้ประสบภัยดังกล่าว จึงเป็นค่าสินไหมทดแทนตาม ป.พ.พ. นั่นเอง
คดีนี้ผู้ตายขับรถยนต์คันที่เอาประกันภัยไว้กับจำเลยที่ 3 และความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ขับรถกระบะของจำเลยที่ 2 จึงเป็นกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากการกระทำของบุคคลภายนอก หากจำเลยที่ 3 ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนไป จำเลยที่ 3 ก็มีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกได้ ในกรณีนี้คือจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 การที่โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับ รวมทั้งฟ้องจำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยภาคบังคับ แม้การฟ้องจำเลยที่ 3 ให้รับผิดจะเป็นการฟ้องตามสัญญาประกันคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก็ตาม ในส่วนที่จำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดนี้ หากจำเลยที่ 3 ชดใช้ให้แก่ผู้ประสบภัยไปแล้วเท่าใดก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บุคคลภายนอกผู้กระทำละเมิดหรือผู้ก่อความเสียหายได้ ตามมาตรา 31 แห่งบทบัญญัติกฎหมายข้างต้น ดังนั้น เมื่อเป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่อาจใช้สิทธิไล่เบี้ยได้ แม้การฟ้องจะแยกจำนวนเงินที่แต่ละคนต้องรับผิด ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชําระเงินจำนวนดังกล่าว เพื่อไม่ให้ผู้ประสบภัยได้รับชดใช้เกินจำนวนความเสียหายที่ได้รับ และไม่ให้บุคคลภายนอกผู้ก่อความเสียหายต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่าที่ต้องรับผิด แต่เมื่อข้อเท็จจริงยุติว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมตามจำนวนความเสียหายที่กําหนดให้แล้ว ซึ่งต่อมาโจทก์และโจทก์ร่วมได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามคําพิพากษาจนเป็นที่พอใจแล้ว กรณีจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชําระค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมได้อีก เพราะจะทำให้โจทก์และโจทก์ร่วมได้รับค่าสินไหมทดแทนเกินจำนวนที่ได้รับความเสียหายจริง ทั้งหากจำเลยที่ 3 ชําระให้แก่โจทก์และโจทก์ร่วมแล้วก็ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ อันจะทำให้จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเกินไปกว่าจำนวนความเสียหายที่แท้จริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1509/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ มติลด/เพิ่มทุนผิดระเบียบ: การออกเสียงของผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสีย, การล้างผลขาดทุน, และผลกระทบต่อสิทธิผู้ถือหุ้นรายย่อย
การลดทุนจดทะเบียนด้วยวิธีการลดจำนวนหุ้นเพื่อนําทุนที่ชําระไว้แล้วไปตัดผลขาดทุนสะสมนั้น สามารถกระทำได้ แต่เนื่องจากหุ้นของผู้คัดค้านในขณะนั้นมีการชําระค่าหุ้นไม่เท่ากัน ซึ่งส่วนที่ขาดทุนสะสมได้เกิดขึ้นก่อนการลงมติพิเศษให้ลดทุนแล้ว ผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นจะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนต่อการขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้น วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย ก่อนที่จะลดทุนโดยการลดจำนวนหุ้นลง ผู้คัดค้านจะต้องให้ผู้ถือหุ้นที่ยังชําระค่าหุ้นไม่เต็มจำนวนค่าหุ้นชําระค่าหุ้นให้เต็มตามมูลค่าหุ้นเสียก่อน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่ถูกลดจำนวนหุ้นลงต้องสูญเสียเงินลงทุนในจำนวนที่เท่ากันในแต่ละหุ้น แต่กรณีนี้ขณะที่มีมติพิเศษให้ลดทุน หุ้นที่ถูกลดลงไปนั้นมีการชําระค่าหุ้นไม่เท่ากัน คือ หุ้นที่ชําระเต็มตามมูลค่าหุ้นแล้ว 25 บาท เมื่อถูกลดจำนวนหุ้นลง ผู้ถือหุ้นในส่วนนี้ก็ต้องสูญเสียเงินลงทุนไปหุ้นละ 25 บาท แต่ในส่วนหุ้นที่ชําระไม่เต็มตามมูลค่าหุ้นหรือชําระเพียง 6.25 บาท เมื่อถูกลดจำนวนหุ้นลงผู้ถือหุ้นในส่วนนี้ก็จะสูญเสียเงินลงทุนเพียง 6.25 บาท ซึ่งหุ้นที่มีการชําระค่าหุ้นเพียง 6.25 บาท ถือโดยบริษัท ท. เพียงรายเดียว เมื่อลดทุนโดยการลดจำนวนหุ้นลงจะทำให้บริษัท ท. ได้รับประโยชน์โดยไม่ต้องชําระค่าหุ้นในส่วนที่ถูกลดจำนวนลงเพราะเมื่อจำนวนหุ้นถูกลดลงไปแล้วก็ไม่มีผลผูกพันที่จะต้องชําระค่าหุ้นอีกต่อไป คงต้องชําระค่าหุ้นเฉพาะหุ้นที่ยังเหลืออยู่เพื่อให้เต็มตามมูลค่าหุ้นเท่านั้น ดังนั้น บริษัท ท. จึงเป็นผู้ถือหุ้นเพียงรายเดียวที่ได้รับประโยชน์จากมติการลดทุนโดยลดจำนวนหุ้นครั้งนี้ บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติพิเศษเพื่อลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ อันต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1185 เมื่อไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. เข้าด้วยแล้ว คะแนนเสียงที่ได้รับก็ไม่ถึงจำนวนสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 1194 ถือไม่ได้ว่าเป็นมติพิเศษให้ลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิตามมาตรา 1145 และมาตรา 1224 ประกอบมาตรา 1194 แต่เป็นมติพิเศษอันผิดระเบียบ กรณีมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านในวาระที่ 3 และที่ 4 เรื่องพิจารณาลดทุนจดทะเบียนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุน และเมื่อเป็นดังนี้แล้ว การลงมติในวาระที่ 5 และที่ 6 อันเป็นการลงมติให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของผู้คัดค้านและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของผู้คัดค้านให้สอดคล้องกับการเพิ่มทุน ซึ่งต้องอาศัยมติให้ลดทุนจดทะเบียนของผู้คัดค้านและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิของผู้คัดค้านให้สอดคล้องกับการลดทุนในวาระที่ 3 และที่ 4 เสียก่อน ย่อมมีผลเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายไปด้วย กรณีจึงมีเหตุที่จะต้องเพิกถอนมติที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านในวาระที่ 5 และที่ 6 เช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนต้องเป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นทุกราย ห้ามผู้ถือหุ้นที่มีส่วนได้เสียออกเสียง และมติพิเศษต้องเป็นไปตามกฎหมาย
การลดทุนจดทะเบียนเพื่อล้างผลขาดทุนสะสมของบริษัทสามารถกระทำได้ แต่การลงมติในการประชุมใหญ่ต้องกระทำให้ถูกต้องตาม ป.พ.พ. ว่าด้วยการประชุมใหญ่ ในการลดทุนโดยการลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้จากหุ้นละ 100 บาท เป็นหุ้นละ 25 บาท ผู้ถือหุ้นทุกรายจะต้องถูกลดมูลค่าหุ้นที่ได้ชำระแล้วในจำนวนที่เท่ากัน แต่ในส่วนของหุ้นที่ยังชำระไม่เต็มมูลค่าหุ้นโดยชำระเพียง 25 บาท การลดทุนจดทะเบียนโดยการลดมูลค่าหุ้นในหุ้นที่มีการชำระค่าหุ้นที่ไม่เท่ากันนี้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ถือหุ้นไม่เท่ากัน โดยผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วจะสูญเสียเงินลงทุนไปหุ้นละ 75 บาท ในขณะที่ผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นไปเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนลดทุน จะลดมูลค่าหุ้นที่ชำระแล้วจาก 25 บาท เป็นชำระค่าหุ้นแล้วหุ้นละ 6.25 บาท และผู้คัดค้านเรียกให้ชำระค่าหุ้นให้เต็มจำนวนอีกเพียงหุ้นละ 18.75 บาท เท่ากับผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนลดทุน สูญเสียเงินลงทุนไปเพียงหุ้นละ 18.75 บาท อันเป็นจำนวนที่ต่างกันมาก ไม่เป็นธรรมต่อผู้ถือหุ้นที่ชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าหุ้นก่อนลดทุน และการขาดทุนสะสมได้เกิดขึ้นแล้วก่อนการลงมติพิเศษให้ลดทุนผู้ถือหุ้นที่ยังมิได้ส่งเงินใช้เต็มจำนวนค่าหุ้นจะต้องรับผิดในจำนวนเงินที่ยังมิได้ส่งใช้ให้ครบถ้วนนั้นต่อการขาดทุนที่เกิดขึ้นแล้ว วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกคน ผู้คัดค้านจะต้องดำเนินการให้ผู้ถือหุ้นทุกรายชำระค่าหุ้นให้เต็มจำนวนค่าหุ้นเสียก่อนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ถือหุ้นทุกรายที่จะต้องสูญเสียเงินลงทุนในจำนวนที่เท่ากันในแต่ละหุ้น กรณีเป็นที่แน่ชัดว่าบริษัท ท. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่เต็มมูลค่าเพียงรายเดียวโดยชำระเพียงหุ้นละ 25 บาท ก่อนการลดทุน เป็นผู้ได้รับประโยชน์จากมติพิเศษในการประชุมนี้เพียงรายเดียว บริษัท ท. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นพิเศษในการลงมติพิเศษเพื่อลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิ จึงต้องห้ามมิให้ออกเสียงลงคะแนนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1185 เมื่อไม่นับคะแนนเสียงของบริษัท ท. เข้าด้วยแล้ว มติดังกล่าวก็ไม่ใช่คะแนนเสียงข้างมากไม่ต่ำกว่าสามในสี่ของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนตามมาตรา 1194 มติดังกล่าวจึงไม่เป็นมติพิเศษให้ลดทุนและแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิตามมาตรา 1145 และมาตรา 1224 ประกอบมาตรา 1194 แต่เป็นมติพิเศษอันผิดระเบียบ กรณีมีเหตุเพิกถอนมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของผู้คัดค้านในวาระพิจารณาลดทุนจดทะเบียนและพิจารณาแก้ไขหนังสือบริคณห์สนธิเพื่อให้สอดคล้องกับการลดทุน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2566 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิอุทธรณ์ของผู้รับประกันภัยค้ำจุนในคดีความรับผิดจากอุบัติเหตุ กรณีผู้ตายมีส่วนประมาท
แม้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียวตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 หรือประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 และความเสียหายของโจทก์เป็นพับ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ การอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 920/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของผู้รับประกันภัยในคดีประมาทเลินเล่อ ผู้ตายมีส่วนประมาท ความรับผิดเป็นพับ
แม้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ต้องนำสืบให้ได้ความตามคำฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าหรือไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่าจำเลยที่ 1 ประมาทแต่เพียงฝ่ายเดียวตามที่โจทก์กล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ ดังนี้ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ประมาทฝ่ายเดียว และให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัยย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ว่า ผู้ตายมีส่วนประมาทมากกว่าจำเลยที่ 1 หรือประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1 และความเสียหายของโจทก์เป็นพับ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ได้ การอุทธรณ์ในประเด็นดังกล่าว ถือเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ แม้จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมมีอำนาจวินิจฉัยให้มีผลถึงจำเลยที่ 1 ได้ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 585-586/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องสิ้นสุดเมื่อผู้ถือหุ้นถูกริบหุ้นและบริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน
ขณะยื่นคําฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นโจทก์มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลย โดยอ้างว่าจำเลยจัดประชุมเพื่อเพิ่มทุนจดทะเบียนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แย่งสิทธิการถือหุ้นและอำนาจบริหารของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรงจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ แต่เมื่อระหว่างพิจารณาได้ความว่า จำเลยริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดออกขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2556 เนื่องจากโจทก์ค้างชําระค่าหุ้น ต่อมาโจทก์ได้ขอรับเงินค่าหุ้นส่วนที่เหลือจากการขาดทอดตลาดแล้ว และคดีอาญาซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยและกรรมการจำเลยว่าร่วมกันลักทรัพย์โดยการริบหุ้นของโจทก์ทั้งหมดและนําหุ้นดังกล่าวออกขายทอดตลาดและรับของโจร ศาลฎีกามีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยและกรรมการจำเลยไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจร โจทก์จึงไม่มีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทจำเลยอีกต่อไป ทั้งข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ลาออกจากการเป็นกรรมการผู้จัดการจำเลยแล้วก่อนที่จะมีการจัดประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นตามฟ้อง จึงถือว่าโจทก์ไม่มีส่วนได้เสียโดยตรงที่จะยื่นฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นในคดีนี้อีกต่อไป อำนาจฟ้องของโจทก์จึงหมดลง
นอกจากนี้ การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 1/2554 ในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 โดยขอให้ใช้จำนวนและอำนาจกรรมการชุดเดิมก่อนวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 มีผลบังคับและมีอำนาจต่อไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2557 จำเลยจดทะเบียนแปรสภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด กรรมการชุดเดิมซึ่งถูกแต่งตั้งตามมติที่ประชุมใหญ่วิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 จึงหมดสภาพไปแล้วเนื่องจากจำเลยได้แปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และได้มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่แล้ว คําขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในวิสัยที่จะบังคับคดีให้เป็นไปได้อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขอบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคําขอท้ายฟ้องได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ก็มีอำนาจที่จะหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 466/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายหุ้น: สัญญาไม่ระบุเลขที่หุ้นไม่เป็นโมฆะ และการพิสูจน์กลฉ้อฉลต้องมีพยานหลักฐานสนับสนุน
สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นเป็นการตกลงซื้อขายหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 โดยโจทก์ตกลงซื้อหุ้นของบริษัท ท. จากจำเลยที่ 3 ในสัญญาระบุว่า การส่งมอบหุ้นจะทำโดยวิธีการสลักหลังภายใน 5 วันทำการ หลังจากผู้โอนได้รับการส่งมอบหุ้นจากบริษัท ร. สัญญาซื้อขายดังกล่าวยังมิใช่การดำเนินการโอนหุ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่จะต้องทำตามแบบที่กำหนดไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1129 วรรคสอง ทั้งบทมาตราดังกล่าวหาได้บัญญัติว่า ถ้ามิได้แถลงหมายเลขหุ้นที่โอนกัน การโอนหุ้นชนิดระบุชื่อย่อมเป็นโมฆะไม่ ดังนั้น สัญญาซื้อขายหุ้นและโอนหุ้นแม้มิได้ระบุหมายเลขหุ้นที่ซื้อขายก็ไม่ตกเป็นโมฆะ
of 4