คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 861

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 560 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6686/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตีความข้อยกเว้นความรับผิดในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ต้องตีความโดยเคร่งครัดและเป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย
ผู้รับประกันภัยเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ ไว้ในกรมธรรม์ประกันภัย ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัย เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจึงต้องตีความโดยเคร่งครัด ถ้ามีข้อสงสัยต้องตีความให้เป็นประโยชน์แก่ผู้เอาประกันภัย ซึ่งตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ระบุว่า ผู้รับประกันภัยจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อรถยนต์สูญหาย โดยในกรณีรถยนต์สูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ และยักยอกทรัพย์ ผู้รับประกันภัยจะจ่ายค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนเงินเอาประกันภัย และมีข้อยกเว้นความรับผิดว่าการประกันภัยนี้ไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น เงื่อนไขที่ยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยนี้จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่าหมายถึงความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์ ที่กระทำโดยบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายหรือครอบครองตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ เท่านั้น เนื่องจากการลักทรัพย์ หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลดังกล่าวสามารถกระทำได้โดยง่ายจึงมีความเสี่ยงสูง กรมธรรม์จึงไม่อาจให้ความคุ้มครองได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อสูญหายเพราะถูก ว. ยักยอกไป ซึ่ง ว. เป็นผู้รับมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อจากจำเลยที่ 2 ผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 เพื่อนำไปขาย กรณีจึงไม่เข้าข้อยกเว้นความรับผิดตามเงื่อนไขความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ดังกล่าว จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยจึงไม่พ้นจากความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14426/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นความคุ้มครองประกันภัยรถยนต์กรณีรถหายจากบุคคลที่ได้รับมอบหมายเช่า การตีความขอบเขตความเสี่ยง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นคู่สัญญากับจำเลยผู้รับประกันภัยโดยตรง โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้และเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต จำเลยมิได้อุทธรณ์คัดค้านคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในส่วนนี้ คงอุทธรณ์เฉพาะในปัญหาว่า จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ เพราะโจทก์ยินยอมให้นำรถยนต์ออกให้เช่า เมื่อรถยนต์สูญหายจึงเข้าเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดตามกรมธรรม์ประกันภัย ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องจึงเป็นอันยุติแล้ว จำเลยจะยกขึ้นฎีกาอีกหาได้ไม่ ฎีกาในปัญหานี้จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (ที่ใช้บังคับในขณะยื่นฟ้อง) เห็นว่า ที่โจทก์ขอเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์จากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์ตามใบสลักหลังเอาประกันภัยรถยนต์นั้น จำเลยเรียกเก็บเบี้ยประกันภัยเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้รถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีความเสี่ยงภัยมากกว่าการใช้ส่วนบุคคล ซึ่งในใบสลักหลังเอาประกันภัยรถยนต์ มีข้อความระบุว่า 1. ให้ยกเลิกรายการใช้รถยนต์เดิม และใช้รถยนต์ตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายนี้แทน 2. ให้ปรับเบี้ยประกันภัยให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ในเอกสารแนบท้ายนี้ การเปลี่ยนแปลงนี้มีผลบังคับเฉพาะต่อรถยนต์ที่ระบุไว้ข้างต้น เงื่อนไขและสัญญาประกันภัยข้ออื่นๆ ไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น ผลบังคับของเงื่อนไขความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย จึงยังเป็นเช่นเดิม เพียงแต่การใช้รถยนต์ตามที่ระบุในตารางกรมธรรม์ประกันภัยเปลี่ยนแปลงจากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์ หากเกิดความเสียหายต่อรถยนต์ เช่น รถยนต์เกิดอุบัติเหตุในขณะนำรถไปใช้เพื่อการพาณิชย์ จำเลยก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายต่อรถยนต์ให้แก่โจทก์ ส่วนเงื่อนไขความคุ้มครองกรณีรถยนต์สูญหายยังต้องเป็นไปตามกรมธรรม์ประกันภัยในหมวดการคุ้มครองรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ ที่ระบุการยกเว้นความรับผิดของจำเลย ตามข้อ 5.1 ว่า ยกเว้นไม่คุ้มครองความสูญหายอันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า สัญญาเช่าซื้อ หรือสัญญาจำนำ หรือโดยบุคคลที่จะกระทำสัญญาดังกล่าวข้างต้น ซึ่งเงื่อนไขความคุ้มครองในหมวดนี้ยังคงมีผลบังคับโดยหาได้ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์จากการใช้ส่วนบุคคลเป็นการใช้เพื่อการพาณิชย์แต่อย่างใดไม่
การที่โจทก์ยินยอมให้ ป. นำรถยนต์ออกให้เช่า โดยโจทก์กับ ป. มีข้อตกลงแบ่งผลประโยชน์จากค่าเช่ารถยนต์ที่ได้รับ เช่นนี้ โจทก์เป็นผู้มอบการครอบครองรถยนต์เพื่อนำออกให้เช่าผ่าน ป. เมื่อ ศ. ทำสัญญาเช่ารถยนต์กับ ป. ซึ่งเป็นบุคคลที่โจทก์มอบหมาย ก็เท่ากับโจทก์มอบการครอบครองรถยนต์แก่ ศ. โดยการดำเนินการของ ป. นั่นเอง เหตุที่รถยนต์สูญหายมาจากการที่ ศ. ผู้เช่า ไม่ส่งคืนรถยนต์ จึงเป็นการยักยอกทรัพย์โดยบุคคลที่ครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า ย่อมเข้าเงื่อนไขการยกเว้นความรับผิดตามข้อ 5.1 ดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18403/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลบังคับใช้สัญญาประกันชีวิตเริ่มนับจากวันที่สาขาประกันภัยได้รับคำขอและเงิน หากไม่ปฏิเสธภายใน 30 วัน
สำเนาใบรับเงินชั่วคราวระบุข้อความเกี่ยวกับการรับประกันชีวิตว่า "การชำระเงินตามใบรับเงินชั่วคราวฉบับนี้พร้อมกับใบคำขอเอาประกันภัย... บริษัทจะพิจารณาออกกรมธรรม์... ให้ภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานสาขาที่ได้รับมอบอำนาจให้กระทำการได้รับใบคำขอเอาประกันภัยหรือคำร้องขอและได้รับเงินแล้ว หากบริษัทมิได้ออกกรมธรรม์...ให้ภายในเวลาที่กำหนด หรือปฏิเสธการขอเอาประกันภัยหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภัย ให้ถือว่าบริษัทตกลงรับสัญญาหรือคำร้องขอซึ่งบริษัทใช้อยู่ในกิจการหลังสุด โดยให้เริ่มมีผลใช้บังคับได้ตั้งแต่วันสิ้นระยะเวลา 30 วัน ดังกล่าวข้างต้น" แม้จำเลยจะนำสืบระเบียบการประกันชีวิตที่ รบ.2-137/2542 ประกอบคู่มือการตรวจใบคำขอเอาประกันภัยว่า สำนักงานสาขาของจำเลยไม่มีอำนาจในการพิจารณาแบบประกันชีวิตของผู้ตายและสำนักงานสาขาของจำเลยต้องส่งให้สำนักงานใหญ่พิจารณาอนุมัติและออกกรมธรรม์ก็ตาม แต่ระเบียบดังกล่าวเป็นเรื่องการบริหารภายในระหว่างสำนักงานสาขากับสำนักงานใหญ่ของจำเลยเท่านั้น จำเลยไม่อาจยกขึ้นเป็นเหตุปฏิเสธความรับผิดต่อบุคคลภายนอกได้ ดังนั้น ระยะเวลา 30 วัน ที่จำเลยต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันจึงต้องเริ่มนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานสาขาของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกัน สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตายเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2545 จำเลยจะต้องพิจารณาออกกรมธรรม์หรือปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันดังกล่าว คือภายในวันที่ 30 กันยายน 2545 แม้จำเลยจะมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2545 แจ้งผู้ตายว่า ขณะนี้การทำประกันชีวิตของผู้ตายอยู่ระหว่างขั้นตอนพิจารณาดำเนินการของบริษัท ซึ่งหากดำเนินการเรียบร้อยแล้วจะแจ้งผลให้ผู้ตายทราบอีกครั้งหนึ่ง โดยผู้ตายได้รับหนังสือดังกล่าวในวันที่ 27 กันยายน 2545 อันเป็นเวลาภายในกำหนด 30 วัน ก็ตาม แต่ข้อความในหนังสือดังกล่าวไม่มีลักษณะเป็นการปฏิเสธการขอเอาประกันหรือการแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกัน ไม่อาจรับฟังว่าจำเลยได้ปฏิเสธการขอเอาประกันหรือแจ้งเหตุขัดข้องในการรับประกันให้ผู้ตายทราบภายในกำหนดระยะเวลา 30 วัน สัญญาประกันชีวิตระหว่างจำเลยกับผู้ตายจึงมีผลใช้บังคับเมื่อสิ้นระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่สำนักงานสาขาสวรรคโลกของจำเลยได้รับใบคำขอเอาประกันและเงินค่าเบี้ยประกันจากผู้ตาย คือมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 0.01 นาฬิกา เป็นต้นไป การที่จำเลยมีหนังสือต่อมาอีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 10 ตุลาคม 2545 ปฏิเสธการรับประกันและคืนเงินค่าเบี้ยประกันไปยังผู้ตาย อันเป็นระยะเวลาภายหลังจากวันที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้วย่อมไม่ทำให้สัญญาประกันชีวิตที่เกิดขึ้นแล้วสิ้นผลไปได้ เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายด้วยอุบัติเหตุจมน้ำตายในวันที่ 1 ตุลาคม 2545 เวลา 23 นาฬิกา ภายในระยะเวลาที่สัญญาประกันชีวิตมีผลใช้บังคับแล้ว จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้เงิน 500,000 บาท ตามกรมธรรม์ประกันชีวิตให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13043/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประกันภัยรถยนต์: เจตนาทุจริตในการเช่ารถเพื่อฉ้อโกง ไม่เข้าข้อยกเว้นการคุ้มครองความสูญหาย
กรมธรรม์ประกันภัยระบุข้อยกเว้นความรับผิดไม่คุ้มครองความสูญหายของรถยนต์อันเกิดจากการลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ โดยบุคคลได้รับมอบหมายหรือครอบครองรถยนต์ตามสัญญาเช่า เมื่อ ส. ถูกออกหมายจับในข้อหายักยอกและฉ้อโกงรถจักรยานยนต์ของผู้ให้เช่าซื้อไปก่อนเกิดเหตุในคดีนี้เพียง 4 เดือน และ ส. เช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 เป็นเวลา 2 วัน โดยต้องคืนรถยนต์ในวันที่ 29 เมษายน 2547 แต่กลับแจ้งออกจากโรงแรมที่พักตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2547 ซึ่งเป็นวันที่เดินทางมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี พฤติการณ์น่าเชื่อว่า ส. ไม่มีเจตนาเช่ารถยนต์มาตั้งแต่ต้น โดยมีเจตนาทุจริตคิดหลอกลวงโจทก์ที่ 1 ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่าต้องการเช่ารถยนต์จากโจทก์ที่ 1 ทำให้โจทก์ที่ 1 มอบการครอบครองรถยนต์ให้ไป การกระทำของ ส. จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่ความผิดฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์ กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ที่ 1
แม้โจทก์ที่ 1 จะมีคำขอท้ายฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาพิพากษากลับให้บังคับตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ แต่โจทก์ที่ 1 ไม่ได้บรรยายฟ้องฎีกาว่าโจทก์ที่ 1 มีสิทธิได้ค่าขาดประโยชน์อย่างไร ทั้งไม่ปรากฏตามกรมธรรม์ประกันภัยว่าจำเลยต้องรับผิดในค่าขาดประโยชน์ จึงไม่กำหนดให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8518/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจ่ายค่าสินไหมทดแทนจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ กรณีผู้ตายไม่ได้เป็นฝ่ายผิดและมีผู้ต้องรับผิด
ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2540) ที่ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ข้อ 3 มีข้อความว่า ในกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ขับขี่ที่ประสบภัยเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย หรือไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่ประสบภัย จำนวนเงินเอาประกันภัยให้ลดลงเป็นจำนวนเงินค่าเสียหายเบื้องต้นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และในกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 2.3 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น... ข้อความในกฎกระทรวงและในกรมธรรม์ดังกล่าว จึงเป็นกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่และผู้ประสบภัยนั้นเองเป็นฝ่ายต้องรับผิดตามกฎหมายในอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นหรือไม่มีฝ่ายใดต้องรับผิดตามกฎหมาย เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า ผู้ตายซึ่งเป็นผู้ประสบภัยและเป็นผู้ขับขี่มิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดและมีผู้ต้องรับผิดต่อผู้ตายตามกฎหมายแล้ว เพียงแต่เจ้าพนักงานตำรวจยังไม่สามารถติดตามผู้ที่ต้องรับผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายได้เท่านั้น จึงไม่ใช่กรณีที่ไม่มีฝ่ายใดที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัย ทั้งไม่อาจตีความข้อความตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ดังกล่าวให้หมายความรวมถึงกรณียังไม่อาจติดตามผู้ต้องรับผิดมาได้ เนื่องจากข้อความดังกล่าวมีความชัดเจนอยู่ในตัวแล้วว่าจะต้องไม่มีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายเท่านั้น จำเลยในฐานะผู้รับประกันภัยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มจำนวนที่คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถกรณีเสียชีวิตตามกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6423-6424/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจัดทำระเบียบช่วยเหลือสมาชิกของสหกรณ์ เข้าข่ายประกอบธุรกิจประกันชีวิตโดยไม่ได้รับอนุญาต
พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มิได้นิยามคำว่าการประกอบธุรกิจประกันชีวิตไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติในลักษณะประกันภัยของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้ การที่จำเลยตกลงจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย และในกรณีเจ็บป่วยปีละไม่เกิน 5,000 บาท โดยสมาชิกต้องส่งเงินให้จำเลยเป็นรายปี ปีละ 12,000 บาท เป็นสัญญาประกันภัยตาม ป.พ.พ. มาตรา 861 ที่บัญญัติว่า อันว่าสัญญาประกันภัย คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งตกลงจะใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือใช้เงินจำนวนหนึ่งให้ในกรณีวินาศภัยหากมีขึ้นหรือในเหตุอย่างอื่นในอนาคตดังได้ระบุไว้ในสัญญา และในการนี้บุคคลอีกคนหนึ่งตกลงจะส่งเงินซึ่งเรียกว่า เบี้ยประกันภัย การที่ระเบียบของจำเลยใช้คำว่าให้สมาชิกบริจาคเงินให้แก่จำเลย แต่ความหมายที่แท้จริงคือเงินที่สมาชิกจะต้องส่งให้แก่จำเลยดังกล่าวเป็นเงื่อนไขเพื่อให้จำเลยใช้เงินในกรณีที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในอนาคตตามที่ระบุไว้ในระเบียบเช่นเดียวกับการส่งเบี้ยประกันภัย แม้ตามระเบียบของจำเลยใช้คำว่าบริจาคแทนเงินเบี้ยประกันภัย ก็ไม่มีผลทำให้เงินที่สมาชิกต้องส่งให้แก่จำเลยไม่เป็นเบี้ยประกันภัย โดยจำเลยมีฐานะเป็นผู้รับประกันภัย ส่วนสมาชิกมีฐานะเป็นผู้เอาประกันภัย และสมาชิกหรือบุคคลที่สมาชิกระบุในกรณีถึงแก่ความตาย เป็นผู้รับประโยชน์ตาม มาตรา 862 และการที่ระเบียบกำหนดเงื่อนไขว่า ในกรณีที่สมาชิกถึงแก่ความตาย จำเลยจะใช้เงินจำนวน 60,000 บาท จึงเป็นการใช้เงินโดยอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของบุคคล จึงเป็นการประกันชีวิตตาม มาตรา 889 เงินที่ได้รับจากสมาชิกตามระเบียบดังกล่าว ข้อ 14 กำหนดว่า เมื่อสิ้นปีทางบัญชีหากมีเงินเหลือให้ถือว่าเงินจำนวนนั้นเป็นรายได้ของจำเลย หากปีใดเงินไม่เพียงพอ ให้ถือว่าเงินจำนวนที่ขาดเป็นรายจ่ายของจำเลยการที่จำเลยดำเนินการตามระเบียบโดยมีสมาชิกจำนวน 350 คน จึงเป็นการประกอบธุรกิจประกันชีวิต แม้บุคคลที่จะเข้าเป็นสมาชิกจะต้องเป็นสมาชิกหรือครอบครัวและพนักงานของจำเลยเท่านั้นก็ตาม ก็ไม่ทำให้การกระทำไม่เป็นการประกอบธุรกิจ เมื่อจำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจประกันชีวิตจากรัฐมนตรีโดยคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 7 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ประกันชีวิต พ.ศ.2535 มาตรา 18

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10421/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยรถยนต์เช่าซื้อ: การตีความเจตนาคู่สัญญาเพื่อยืนยันความผูกพันและสิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน
ตารางกรมธรรม์และรายการคุ้มครองระบุว่า พ. เป็นผู้เอาประกันภัยและบริษัท ม. เป็นผู้รับประโยชน์ วัตถุประสงค์แห่งสัญญาประกันภัยย่อมมุ่งประสงค์ไปที่การประกันภัยรถยนต์คันที่ พ. เป็นผู้เช่าซื้อตลอดระยะเวลาที่เช่าซื้อเป็นสำคัญยิ่งกว่าวันเริ่มต้นแห่งสัญญาประกันภัยที่พิมพ์เป็นตัวอักษร แม้สัญญาเช่าซื้อช่วงจะระบุวันเริ่มต้นของสัญญาหลังวันเริ่มต้นของสัญญาประกันภัย การตีความวันทำสัญญาประกันภัยดังกล่าวย่อมต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงของคู่สัญญายิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนหรือตัวอักษรดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 171 จึงถือได้ว่า พ. ผู้เอาประกันภัยเป็นเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเหตุที่ประกันภัยขณะทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์แล้ว
รถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยถูกโจรกรรมไปจากลานจอดรถของจำเลย โจทก์ได้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ม. ไปแล้ว ย่อมรับช่วงสิทธิในค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยเท่านั้น ไม่อาจเรียกร้องให้จำเลยส่งคืนรถยนต์แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6337/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยและการส่งมอบสินค้า: ความคุ้มครองยังคงมีผลตลอดระยะเวลาขนส่ง แม้กรรมสิทธิ์จะโอนไปแล้ว
สิทธิตามสัญญาซึ่งกฎหมายบัญญัติต่างลักษณะกัน เมื่อเข้าลักษณะใดต้องใช้ลักษณะนั้นบังคับ จะยกเอาบทบัญญัติในเรื่องกรรมสิทธิ์โอนไปยังผู้ซื้อแล้วหรือไม่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ลักษณะซื้อขายมาเป็นข้อวินิจฉัยสิทธิของผู้ขายอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยไม่ได้ ในเรื่องสิทธิของผู้เอาประกันภัยอันเกิดแต่สัญญาประกันภัยจะมีเพียงใดก็ต้องเป็นไปตามสัญญาประกันภัย เมื่อโจทก์ที่ 1 (ผู้ขาย) และจำเลย (ผู้รับประกันภัย) ได้ตกลงประกันภัยทุกชนิดที่อาจเกิดขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งสินค้าจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ความคุ้มครองตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยจึงไม่สิ้นสุดลงเมื่อโจทก์ที่ 1 มอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งตามเงื่อนไขการซื้อขายแบบเอฟ. โอ. บี. แต่การคุ้มครองจะมีตลอดเวลาที่ผู้ขนส่งทำการขนส่งจากต้นทางกรุงเทพมหานครถึงปลายทางที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อสินค้าสูญหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยผู้รับประกันภัยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6011/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดความรับผิดผู้ขนส่ง, สินค้าสูญหาย, การประกันภัย, ข้อตกลงชัดแจ้ง, น้ำหนักและมูลค่าสินค้า
ผู้ส่งสินค้าได้ส่งมอบกล่องสินค้าให้พนักงานของจำเลยผู้ขนส่งพร้อมใบกำกับสินค้าและใบรับขนทางอากาศ ซึ่งจำเลยส่งมาให้ผู้ส่งสินค้ากรอกข้อความ โดยได้กรอกประเภทของสินค้าว่าสินค้าจำพวกเครื่องเพชร พลอย ทอง 18 เค แสดงว่าจำเลยผู้ขนส่งได้รับบอกสภาพแห่งของไว้ในขณะที่ส่งมอบแก่ตนแล้ว
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสินค้าสูญหายไปเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลย นั้น เป็นอุทธรณ์ที่เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางจึงไม่รับวินิจฉัย ทั้งข้อตกลงจำกัดความรับผิดของจำเลยไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยจึงใช้บังคับได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1922/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นความรับผิดในสัญญาประกันภัย: การลากจูงรถพ่วงเข้าข้อยกเว้น
โจทก์นำรถยนต์บรรทุก 10 ล้อ มาประกันภัยไว้กับจำเลย ในระหว่างอายุสัญญาประกันภัย ลูกจ้างของโจทก์ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวโดยมีรถพ่วงอยู่ด้วย ไปเกิดอุบัติเหตุชนการ์ดเลนคอสะพานเป็นเหตุให้การ์ดเลนคอสะพานและรถยนต์บรรทุกมีประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย ซึ่งตามสัญญาประกันภัยได้กำหนดถึงการคุ้มครองความรับผิดไว้ในสัญญา แต่ก็ได้กำหนดข้อยกเว้นรับผิดไว้หลายประการ โดยมีสัญญาข้อหนึ่งไม่คุ้มครองความรับผิดอันเกิดจากการใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูงหรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับบริษัท แสดงให้เห็นว่า ตามกรมธรรม์ประกันภัยจำเลยไม่ประสงค์จะคุ้มครองถึงกรณีที่มีการใช้รถยนต์คันที่เอาประกันภัยไปลากจูงหรือผลักดัน อันทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งหากผู้เอาประกันภัยประสงค์จะให้คุ้มครองถึงส่วนที่ลากจูงก็จะต้องแจ้งความจำนงให้ชัดเจนเพื่อผู้รับประกันภัยจะได้กำหนดเบี้ยประกันให้พอเหมาะกับความเสี่ยงที่มากขึ้น การที่โจทก์นำรถที่เอาประกันภัยไปลากจูงรถพ่วงอีกคันหนึ่งจึงเป็นการกระทำเข้าข้อยกเว้นความรับผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
of 56