คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 861

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 560 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 462/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนอง: การบอกกล่าวที่ชอบด้วยกฎหมาย และสิทธิเรียกร้องเบี้ยประกันภัย
ป.พ.พ. มาตรา 728 บัญญัติไว้เพียงว่า เมื่อจะบังคับจำนอง ผู้รับจำนองต้องมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่า ให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรเท่านั้น โจทก์จึงไม่ต้องระบุทรัพย์สินซึ่งจำนองไปในคำบอกกล่าวด้วย เมื่อจำเลยเป็นทั้งลูกหนี้และผู้จำนองย่อมทราบดีอยู่แล้วว่าทรัพย์สินซึ่งจดทะเบียนจำนองเป็นประกันการชำระหนี้เงินกู้ไว้แก่โจทก์คือ ห้องชุดเลขที่ 54/225 หาใช่ห้องชุดเลขที่ 0225 การที่หนังสือบอกกล่าวระบุทรัพย์สินซึ่งจำนองเป็นห้องชุดเลขที่ 0225 เห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องการพิมพ์ตัวเลขห้องชุดผิดพลาดอันเป็นเรื่องเล็กน้อย เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยทำการไถ่ถอนจำนองให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว ย่อมถือได้ว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว การบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมาย
ข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองข้อ 5. ระบุไว้ว่า ...ถ้าผู้จำนองไม่จัดการเอาประกันอัคคีภัยและผู้รับจำนองได้จัดการเอาประกันอัคคีภัยเอง ผู้จำนองยินยอมนำเงินค่าเบี้ยประกันภัยที่ผู้รับจำนองได้จ่ายไปมาชำระจนครบถ้วนภายใน 1 เดือน นับแต่วันที่ผู้รับจำนองได้แจ้งให้ทราบ... ตามข้อสัญญาดังกล่าวแสดงให้เห็นได้ว่าโจทก์จะมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระเบี้ยประกันภัยได้ก็ต่อเมื่อได้ทดรองจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยไปก่อนแล้วเท่านั้น ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเบี้ยประกันภัยในอนาคตที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4819/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าซื้อรถยนต์: การรับค่าสินไหมทดแทนซ้ำซ้อนจากทั้งผู้เช่าและประกันภัย ถือเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
ตามสัญญาเช่าซื้อตกลงกันไว้ว่า กรณีรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไป จำเลยผู้ให้เช่าซื้อจะได้รับชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 2 ทาง โดยได้จากโจทก์ผู้เช่าและจากบริษัทประกันภัย อันเป็นการเกินกว่าความเสียหายที่จำเลยได้รับ เมื่อโจทก์เป็นผู้เสียเบี้ยประกันภัยและจำเลยเป็นผู้รับประโยชน์ก็เพื่อโจทก์จะไม่ต้องเป็นภาระใช้ค่ารถให้แก่จำเลยจึงยอมเสียเบี้ยประกันภัย และจำเลยได้แสดงเจตนาขอค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแล้ว จนบริษัทประกันภัยอนุมัติให้จ่ายเงินให้จำเลย การที่จำเลยรับเงินค่าเช่าซื้อที่เหลือจากโจทก์หลังจากรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกลักไปเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต ต้องคืนเงินค่าเช่าซื้อดังกล่าวให้โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1550/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อยกเว้นความรับผิดประกันภัย: การใช้รถโดยบุคคลของอู่เริ่มเมื่อรถยนต์มอบให้อู่แล้ว
ข้อยกเว้นความรับผิดของผู้รับประกันภัยจำเลยที่ 3 ตามกรมธรรม์ประกันภัยข้อ 3.8.4 ที่ตกลงกันว่า การประกันภัยไม่คุ้มครองการใช้รถโดยบุคคลของอู่ เมื่อรถยนต์ได้มอบให้อู่ทำการซ่อมนั้น หมายถึงกรณีที่นำรถยนต์ที่เอาประกันภัยไปมอบให้แก่อู่เรียบร้อยแล้ว ต่อมามีการใช้รถโดยบุคคลของอู่ กรณีนี้อู่ของจำเลยที่ 2 ยังมิได้รับมอบรถยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นเพียงพนักงานของจำเลยที่ 2 ในการไปขับรถยนต์มามอบให้อู่ของจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้รถโดยบุคคลของอู่ของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 144/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ธนาคารมีหน้าที่สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยตามเลตเตอร์ออฟเครดิตหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่มีหน้าที่หากไม่มีข้อตกลงพิเศษ
ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตระบุให้จำเลยเป็นธนาคารผู้แจ้งเครดิตและเป็นธนาคารที่ได้รับการแต่งตั้งให้กระทำการแทนธนาคารผู้ยืนยันเครดิตในการรับ ตรวจสอบ และส่งต่อเอกสารและการส่งสินค้าออกของโจทก์เท่านั้น และไม่ปรากฎข้อความที่เป็นเงื่อนไขพิเศษให้จำเลยต้องสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยต่อการสลักหลังของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เอาประกันภัย ทั้งข้อความในกรมธรรม์ประกันภัยสำหรับสินค้าก็สอดคล้องตรงกับเงื่อนไขที่ระบุในเลตเตอร์ออฟเครดิต การที่ผู้ซื้อปฏิเสธไม่รับสินค้าและธนาคารผู้ยืนยันเครดิตไม่จ่ายเงินค่าสินค้าของโจทก์โดยอ้างว่า การสลักหลังกรมธรรม์มิได้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิต เมื่อโจทก์ไม่สามารถนำสืบได้ว่าธนาคารจำเลยทราบอยู่แล้วว่าต้องสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัย แล้วจงใจหรือประมาทเลิ่นเล่อมิได้สลักหลังกรมธรรม์ จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยต้องมีหน้าที่สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยในเอกสารของโจทก์ เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่า จำเลยมีหน้าที่และความรับผิดในการตรวจสอบเอกสารการส่งสินค้าออกให้แก่โจทก์และมีหน้าที่สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยดังที่โจทก์อ้าง การที่จำเลยจัดส่งเอกสารการส่งสินค้าไปให้ธนาคารผู้ยืนยันเครดิตโดยจำเลยมิได้สลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยสินค้าแต่ละงวดและเอกสารการส่งสินค้าออกมีข้อความไม่ตรงตามเงื่อนไขของเลตเตอร์ออฟเครดิต เป็นเหตุให้ผู้ซื้อปฏิเสธสินค้าของโจทก์และธนาคารผู้ยืนยันเครดิตปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าสินค้าโดยแจ้งสาเหตุว่า การสลักหลังกรมธรรม์ประกันภัยมิได้เป็นไปตามคำสั่งของธนาคารผู้เปิดเครดิต และใบตราส่งสินค้าระบุค่าใช้จ่ายอื่นด้วยนอกจากค่าระวางเรือ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยปฏิบัติผิดหน้าที่ตามสัญญาต่อโจทก์หรือความเสียหายของโจทก์เกิดจากการกระทำของจำเลย โจทก์ย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7104/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คำฟ้องไม่เคลือบคลุม แม้ไม่ได้ระบุรายละเอียดค่าเสียหายทั้งหมด การระบุค่าซ่อมโดยรวมเพียงพอแล้ว
โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนค่าเสียหายว่า เหตุที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ผ-9034 เชียงราย แล้ว รถยนต์คันหมายเลขทะเบียน ผ-9034 เชียงราย กระเด็นมาเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันหมายเลขเครื่อง เจ.ที 172 เอส.ซี 1100066869 หมายเลขเครื่องยนต์ 3 เอส-1996985 ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เป็นเหตุให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ได้ซ่อมแซมรถยนต์คันที่โจทก์ได้รับประกันภัยไว้จนอยู่ในสภาพใช้การได้ดีดังเดิมโดยเสียค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่เป็นเงิน 116,343 บาท คำบรรยายฟ้องของโจทก์ในส่วนนี้ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและอ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วว่า จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเฉี่ยวชนรถยนต์บุคคลอื่นแล้วทำให้กระเด็นมาเฉี่ยวชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 แล้วทำให้รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ได้รับความเสียหาย โจทก์ดำเนินการซ่อมแซมรถยนต์คันที่ได้รับประกันภัยไว้จนใช้การได้ดังเดิม โดยเสียค่าซ่อมแซมและค่าอะไหล่เป็นเงิน 116,343 บาท ส่วนการที่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันไว้จะได้รับความเสียหายในส่วนไหน เสียหายอย่างไร โจทก์ต้องเสียค่าซ่อมรายการใดบ้างนั้น เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้หาใช่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาซึ่งจะต้องบรรยายมาในคำฟ้องไม่ คำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4556/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกร้องค่าเสียหายจากประกันภัยหลังรถยนต์สูญหาย และอำนาจศาลในการพิพากษาจำเลยร่วม
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ร่วมกันใช้ราคารถยนต์พิพาท จำเลยทั้งสี่ให้การว่า รถยนต์พิพาทสูญหายไป เห็นว่าจำเลยทั้งสี่ไม่อาจคืนรถยนต์พิพาทแก่โจทก์ ซึ่งหากจำเลยทั้งสี่ต้องชำระราคารถยนต์พิพาทให้โจทก์ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้เอาประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าวไว้กับจำเลยร่วม และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันที่จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชดใช้ราคารถยนต์พิพาทให้โจทก์ ย่อมมีสิทธิไล่เบี้ยเรียกค่าทดแทนสำหรับความเสียหายของรถยนต์พิพาทจากจำเลยร่วมผู้รับประกันภัยรถยนต์คันดังกล่าว จำเลยทั้งสี่จึงขอให้เรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีนี้ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกจำเลยร่วมเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามที่จำเลยทั้งสี่ขอดังกล่าวแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายที่จำเลยร่วมต้องรับผิดตามสัญญาประกันภัยให้โจทก์ได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6459/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เขตอำนาจศาล: การฟ้องจำเลยต่างภูมิลำเนา กรณีสำนักงานสาขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับสัญญา
เหตุคดีนี้เกิดในเขตศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจำเลยที่ 1 ผู้ทำละเมิดมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดอุทัยธานี จำเลยที่ 2 เจ้าของรถยนต์และนายจ้างของจำเลยที่ 1 มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนจำเลยที่ 3 บริษัทผู้รับประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 มีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในเขตศาลแพ่งกรุงเทพใต้ แม้สำนักงานสาขาอุดรธานีของจำเลยที่ 3 จะเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยที่ 3 แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า สำนักงานสาขาอุดรธานีของจำเลยที่ 3 มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 2 อย่างใด คงได้ความเพียงว่าโจทก์ได้ไปติดต่อให้สำนักงานสาขาอุดรธานีชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังเกิดเหตุละเมิดแล้ว กรณียังถือไม่ได้ว่าถิ่นอันเป็นที่ตั้งของสำนักงานสาขาอุดรธานีของจำเลยที่ 3 เป็นภูมิลำเนาของจำเลยที่ 3 ในส่วนกิจการอันได้กระทำเกี่ยวกับการประกันภัยรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามต่อศาลชั้นต้น ( ศาลจังหวัดอุดรธานี) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1404/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าเสียหายจากสัญญากู้ยืมและอัตราดอกเบี้ยที่ตกลงกัน รวมถึงหน้าที่ชำระหนี้ในอนาคต
แม้จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญากู้เงินที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่ธนาคารโจทก์ โดยตกลงให้โจทก์ทำประกันภัยได้เองและจำเลยยอมชำระเบี้ยประกันคืนแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อหน้าที่ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระอันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 793/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประมาททางถนน: ผู้ขับชนท้ายต้องรับผิดชอบหากไม่ใช้ความระมัดระวังแม้ผู้ถูกชนกลับช่องทางไม่ปลอดภัย
ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน ขณะที่คนขับรถยนต์คันที่บริษัทโจทก์รับประกันภัยไว้ขับรถแซงรถคันหน้าขึ้นไปแล้วกลับเข้ามาในช่องเดินรถเดิม จำเลยซึ่งขับรถอยู่ห่างจากรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ทางด้านหลัง ย่อมมองเห็นตลอดเวลาและควรใช้ความระมัดระวังชะลอความเร็วของรถลงเนื่องจากเป็นเวลาหลังฝนตกถนนลื่น เพื่อป้องกันอุบัติเหตุและจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ การที่รถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้แล่นกลับเข้ามาในช่องเดินรถเดิมและอยู่ห่างรถยนต์ที่จำเลยขับประมาณ2 เมตร แต่จำเลยไม่สามารถห้ามล้อหยุดรถได้ทัน เป็นเหตุให้รถยนต์ที่จำเลยขับชนท้ายรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ แสดงว่าจำเลยไม่ได้ใช้ความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ จำเลยจึงเป็นฝ่ายประมาทยิ่งกว่าคนขับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยไว้ ต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายสองในสามส่วนให้แก่โจทก์ที่รับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามสัญญา และหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถึงกำหนด
สัญญากู้เงินระหว่างจำเลยผู้กู้กับโจทก์ผู้ให้กู้กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ไว้แล้ว แม้ตามสัญญาจำนองจะระบุว่าจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี แต่เมื่อสัญญาจำนองเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามอัตราที่ระบุในสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน การที่โจทก์ปรับเพิ่มดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราร้อยละ 11.50 ต่อปีตามสัญญากู้เงินเพราะเหตุที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนและค้างชำระติดต่อกันหลายงวด แม้เป็นการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญากู้เงินที่ให้สิทธิแก่ผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัด ข้อตกลงเช่นว่านี้มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าในเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรอันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้
การที่จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์จัดการทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้
of 56