คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 ม. 56 วรรคสาม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 119 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1523/2566

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบำเหน็จลูกจ้างสถาบันศึกษาเอกชนภายใต้ พ.ร.บ.สถาบันศึกษาเอกชน: ระเบียบของสถาบันมีผลเหนือข้อตกลงสภาพการจ้าง
ข้อพิพาทระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างกับจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างประเภทสถาบันอุดมศึกเอกชนมีการคุ้มครองแรงงานไว้โดยเฉพาะตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 23 กิจการของจำเลยจึงไม่อยู่ภายใต้บังคับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ เพียงแต่ผู้ปฏิบัติงานต้องได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 การคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานและผลประโยชน์ตอบแทนของผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2549 อันเป็นกฎกระทรวงที่คุ้มครองให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนได้รับผลประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เมื่อ พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ให้นำกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์มาใช้บังคับ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 5
การที่จำเลยออกระเบียบเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ 2549 ใช้บังคับโดยให้ยกเลิกระเบียบวิทยาลัยอัสสัมชัญบริหารธุรกิจ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2525 ไม่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 10 หรือจำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานกับลูกจ้างขัดหรือแย้งกับข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้าง ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 20 จำเลยมีอำนาจออกระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 34 (2) แห่ง พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 โดยไม่จำต้องตกลงกับโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลย หรือโจทก์หรือลูกจ้างของจำเลยต้องยินยอมโดยชัดแจ้ง
แม้โจทก์จะเข้าเป็นลูกจ้างของจำเลยในขณะที่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 ใช้บังคับอยู่ก็ตาม แต่ พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2546 มาตรา 129 บัญญัติให้ผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนซึ่งได้รับแต่งตั้งตาม พ.ร.บ.สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ. 2522 เป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาเอกชนตาม พ.ร.บ.นี้ โจทก์จึงเป็นผู้ปฏิบัติงานในสถาบันอุดมศึกษาจำเลย และต้องอยู่ภายใต้บังคับระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 ที่ออกมาโดยชอบ ระเบียบมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ว่าด้วย บำเหน็จ พ.ศ. 2549 จึงยังคงใช้บังคับแก่ผู้ปฏิบัติงานของจำเลยทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วย การที่จำเลยจ่ายเงินบำเหน็จให้โจทก์ตามระเบียบดังกล่าวชอบแล้ว
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมายังไม่พอแก่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย เมื่อย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแล้ว ศาลแรงงานกลางไม่ต้องพิพากษาคดีใหม่หากเห็นว่าไม่เป็นให้ผลคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าหากศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่เป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ต้องพิพากษาคดีใหม่ การย้อนสำนวนในกรณีนี้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่จำต้องพิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง เพราะหากศาลแรงงานกลางไม่ได้พิพากษาคดีนั้นใหม่ ก็เท่ากับว่าไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษตรวจสอบเพราะถูกยกไปเสียแล้ว ดังนั้น ในส่วนของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษที่ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคดีนี้ศาลแรงงานกลางมิได้พิพากษาคดีใหม่ จึงไม่มีคำพิพากษาของศาลแรงงานกลางให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืน ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5566-5598/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างและการย้ายสถานที่ทำงาน ศาลต้องไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อวินิจฉัยว่าคำสั่งย้ายชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
กรณีนายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 120 วรรคหนึ่ง หมายถึง นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการแห่งเดิมไปตั้งสถานประกอบกิจการอีกแห่งหนึ่งในที่แห่งใหม่ มิใช่หมายความรวมถึงกรณีนายจ้างสั่งย้ายลูกจ้างไปทำงานที่สถานประกอบกิจการของนายจ้างอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อหน่วยงานที่จังหวัดระยองเป็นสำนักงานสาขาของจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยตั้งสถานประกอบกิจการขึ้นใหม่ที่จังหวัดระยอง หน่วยงานดังกล่าวจึงเป็นสถานประกอบกิจการของจำเลยอีกแห่งหนึ่งที่มีอยู่ก่อนแล้ว การที่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 ไปทำงานที่หน่วยงานดังกล่าวมิใช่กรณีที่นายจ้างย้ายสถานประกอบกิจการไปตั้ง ณ สถานที่อื่นตามกฎหมายดังกล่าว
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 บรรยายข้อเท็จจริงถึงเหตุเกี่ยวกับการเลิกจ้างในคำฟ้องว่า คำสั่งให้ย้ายไปทำงานที่หน่วยงานของจำเลยที่จังหวัดระยองเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 โดยมีเจตนาที่จะเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ส่วนจำเลยให้การต่อสู้ถึงการสั่งให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 ย้ายงานว่า เป็นไปตามสภาพการจ้าง ข้อกำหนด และระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย เมื่อโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 ทราบแล้วไม่ปฏิบัติตาม เป็นการจงใจฝ่าฝืนคำสั่ง ละทิ้งหน้าที่ และขาดงานติดต่อกันเกิน 3 วัน โดยไม่มีเหตุอันควร จึงเป็นหน้าที่ของศาลแรงงานต้องไต่สวนให้ได้ความว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 กล่าวอ้างหรือเป็นไปตามที่จำเลยต่อสู้ไว้ เมื่อข้อเท็จจริงที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 33 และจำเลยแถลงต่อศาลแรงงานกลางมิใช่เป็นการแถลงรับข้อเท็จจริงที่คู่ความอีกฝ่ายกล่าวอ้าง ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางสอบถามจากคู่ความจึงไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยในประเด็นนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10431/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องร้องค่าเสียหายจากการสูญเสียการได้ยินเนื่องจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ไม่ถือเป็นฟ้องซ้อนคดีเลิกจ้าง
คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ และคดีต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11269/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความคดีแรงงาน: สัญญาจ้าง, การผ่อนชำระหนี้, และการย้อนสำนวนเพื่อพิจารณาความรับผิด
โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแรงงานกลางเป็นคดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเกี่ยวกับการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงาน หาใช่เป็นคดีละเมิดอย่างเดียวไม่ เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างลูกจ้างมีข้อผูกพันตามสัญญาจ้างแรงงานต่อกัน นอกจากจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว ยังฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันเป็นการผิดสัญญาจ้างแรงงานด้วย และตามหนังสือรับรองและค้ำประกัน ข้อ 2 ก็ระบุว่า "หากปรากฏว่าระหว่างที่จำเลยที่ 1 ทำงานได้ทำความเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดให้แก่โจทก์ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดขึ้นโดยเจตนาหรือประมาท จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดในความเสียหายนั้นๆ และยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตามจำนวนที่เสียหายไปนั้นทั้งสิ้น รวมทั้งความเสียหายทั้งปวง ซึ่งโจทก์ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ด้วย โดยไม่จำกัดวงเงิน และให้ถือว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกหนี้ร่วม..." ข้อผูกพันของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์จึงหมายถึงจำเลยที่ 2 ค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจ้างแรงงานด้วย สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 มูลละเมิดระหว่างจำเลยที่ 1 และโจทก์ตามสัญญาจ้างแรงงานเกิดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2544 จำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เดือนละ 1,350 บาท ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2546 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2548 อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ขณะยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 10 ปี จึงมีผลทำให้อายุความในส่วนนี้สะดุดหยุดลงและเริ่มนับใหม่ถัดจากวันผ่อนชำระหนี้โจทก์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2548 ทั้งการที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดวันที่ 6 กันยายน 2550 ยังไม่พ้น 10 ปี นับจากวันที่ 17 ธันวาคม 2544 คดีโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสองจึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นฟ้องเคลือบคลุมนั้น โจทก์มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การแก้ฟ้องแย้ง และมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1987-2026/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลูกจ้างเหมาบริการมีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เช่นลูกจ้างประจำ ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบ
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 เป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานเป็นพนักงานขับรถและพนักงานคลังสินค้าซึ่งเป็นธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 กรณีจึงอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 11/1 วรรคสอง ที่บัญญัติให้ผู้ประกอบกิจการดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ หมายความว่าผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ถูกต้องตามระเบียบแบบแผนของผู้ประกอบกิจการโดยไม่เลือกว่าเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงหรือลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรง อันเป็นการกำหนดหน้าที่ให้ผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการให้สิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับตามมาตรา 11/1 วรรคสอง จึงเป็นสิทธิตามที่ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บัญญัติไว้โดยตรง ผู้ประกอบกิจการก็ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่ทำงานในลักษณะเดียวกันกับลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงนั้นได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการเช่นเดียวกัน และการกำหนดวันเวลาทำงานอันมีผลกระทบต่อการได้รับเงินค่าตอบแทนถือเป็นสิทธิประโยชน์ที่ผู้ประกอบกิจการจะเลือกปฏิบัติไม่ได้ ดังนั้นจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการจึงต้องดำเนินการให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ซึ่งเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์ในเงินค่าตอบแทนดังกล่าวให้ถูกต้องตามที่จำเลยที่ 1 จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 โดยต้องดำเนินการให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ได้รับในส่วนที่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นนายจ้างโดยตรงไม่จัดให้หรือจัดให้น้อยกว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 โดยใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับที่จำเลยที่ 1 จัดให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงของจำเลยที่ 1 ซึ่งหากจำเลยที่ 1 มีหลักเกณฑ์การกำหนดวันเวลาทำงานและการจ่ายเงินค่าตอบแทนให้ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกัน
สำหรับเงินโบนัสนั้น แม้เป็นสิทธิประโยชน์และสวัสดิการ แต่จำเลยทั้งสองจ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามการประเมินผลงานซึ่งมีการแบ่งเกรด เอ บี ซี และดี และขึ้นอยู่กับผลประกอบการของกิจการ ถือเป็นการวางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสที่เหมือนกัน ส่วนที่ปรากฏว่าในปี 2553 จำเลยที่ 1 จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงมากกว่าที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับจากจำเลยที่ 2 แต่ในปี 2554 จำเลยที่ 1 ก็จ่ายเงินโบนัสให้แก่ลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงต่ำกว่าที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับจากจำเลยที่ 2 จึงหาใช่ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ได้รับเงินโบนัสประจำปีในอัตราที่ต่ำกว่าลูกจ้างตามสัญญาจ้างโดยตรงทุกปีไม่ แต่เป็นการได้รับตามหลักเกณฑ์การจ่ายที่จำเลยทั้งสองกำหนดไว้เหมือนกันโดยดูจากผลงานของลูกจ้างและจากฐานผลประกอบการของแต่ละบริษัท ดังนั้นที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึง ที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 ได้รับเงินโบนัสประจำปีในช่วงดังกล่าวตามหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสประจำปีที่เหมือนกันจากจำเลยที่ 2 ถือเป็นการได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ
มาตรา 11/1 วรรคสอง บัญญัติให้เฉพาะผู้ประกอบกิจการเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้ลูกจ้างรับเหมาค่าแรงได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้น เฉพาะจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการเท่านั้นที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 11/1 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างโดยตรงของโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 12 ที่ 14 ถึงที่ 35 และที่ 37 ถึงที่ 42 และเป็นผู้ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้จัดหาโจทก์ดังกล่าวมาทำงานในธุรกิจในความรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 ไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18591-18632/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาสำหรับลูกจ้างงานขนส่ง แม้ไม่มีสิทธิค่าล่วงเวลา ก็ยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างตามชั่วโมง
เมื่อปรากฏว่างานที่โจทก์ทั้งสี่สิบสองทำเป็นงานขนส่งทางบกและจำเลยไม่ได้ตกลงจ่ายค่าล่วงเวลาให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบสอง แม้โจทก์ทั้งสี่สิบสองจะไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาก็ตามแต่ก็มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเท่ากับอัตราค่าจ้างต่อชั่วโมงในวันทำงานตามจำนวนชั่วโมงที่ทำ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 65 (9) ประกอบกฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2541) ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ข้อ 6 จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนการทำงานหากโจทก์ทั้งสี่สิบสองได้ทำงานล่วงเวลา หาใช่ว่าเมื่อลูกจ้างไม่มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาแล้วจะถูกตัดสิทธิมิให้ได้รับค่าจ้างธรรมดาไปด้วยไม่
เมื่อศาลแรงงานกลางยังไม่ได้ฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนเพียงพอที่ศาลฎีกาจะพิพากษาถึงการจ่ายค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาให้โจทก์แต่ละคนได้ จึงต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโจทก์แต่ละคนว่าได้ทำงานล่วงเวลาหรือไม่ ทำงานล่วงเวลาจำนวนกี่ชั่วโมง ได้รับค่าจ้างเฉลี่ยชั่วโมงละเท่าใด กรณีที่ศาลแรงงานกลางเห็นว่าข้อเท็จจริงที่ฟังใหม่จะเป็นผลให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลงก็ให้ศาลแรงงานกลางพิพากษาคดีส่วนนี้ใหม่ตามรูปคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4812/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องพิสูจน์เหตุผลความจำเป็นทางธุรกิจ และไม่มีตำแหน่งงานที่เหมาะสมกับทักษะลูกจ้าง
จำเลยทั้งสามทำสัญญาจ้างโจทก์ให้ทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 ถึงวันที่ 30 มีนาคม 2548 ตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายเอกสาร ต่อมาวันที่ 1 ธันวาคม 2546 จำเลยทั้งสามมีหนังสือเลิกสัญญาจ้างแก่โจทก์ให้มีผลเป็นการเลิกจ้างตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม 2547 เนื่องจากจำเลยทั้งสามมีความจำเป็นต้องลดรายจ่ายหรือตัดทอนรายจ่ายลง โดยอ้างว่าการเลิกจ้างเป็นไปตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง ซึ่งตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าว คือ สัญญาจ้างเอกสารหมาย จ.2 หรือ ล.7 ที่ระบุว่า "การสิ้นสุดสัญญาจ้างอาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนวันสิ้นสุดสัญญาตามข้อตกลงเนื่องจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือหลายเหตุการณ์ดังต่อไปนี้ (ก) การตัดทอนรายจ่าย - การเลิกจ้างลูกจ้างเนื่องจากขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะของลูกจ้าง" ดังนั้น การเลิกจ้างโจทก์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงต้องปรากฏข้อเท็จจริงด้วยว่าจำเลยทั้งสามไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสมแก่การใช้ทักษะในการทำงานของโจทก์ อีกทั้งจะต้องปรากฏว่ากรณีการเลิกจ้างดังกล่าวมีเหตุแห่งการเลิกจ้างและเป็นเหตุอันสมควรที่นายจ้างจะเลิกจ้างด้วย ซึ่งศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินจึงต้องลดค่าใช้จ่ายและไม่สามารถหาตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างให้โจทก์ต่อไปได้ การที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์จึงมิใช่กรณีที่ขาดตำแหน่งที่เหมาะสมกับทักษะการทำงานของโจทก์ เป็นแต่เพียงขาดตำแหน่งที่เหมาะสมกับค่าจ้างของโจทก์ และการเลิกจ้างโจทก์เพราะจำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินนั้น ก็ยังไม่ปรากฏว่าประสบปัญหาเพียงใด ถึงขนาดมีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ และตามหนังสือเลิกจ้างให้เหตุผลในการเลิกจ้างโจทก์ คือ ตามแผนการตัดทอนค่าใช้จ่าย ดังนั้น การจะพิจารณาว่าที่จำเลยทั้งสามเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงต้องให้ได้ข้อเท็จริงว่า จำเลยทั้งสามประสบปัญหาด้านการเงินเพียงใด มีความจำเป็นต้องเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ มีแผนการตัดทอนค่าใช้จ่ายอย่างไร ได้ดำเนินการตามแผนการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร และจำเลยทั้งสามขาดตำแหน่งที่เหมาะสมแก่ทักษะการทำงานของโจทก์หรือไม่ อย่างไร อันเป็นข้อเท็จจริงที่จะใช้วินิจฉัยข้อกฎหมายว่า การเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่ จึงให้ย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าว แล้วดำเนินการต่อไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองหรือวรรคสาม แล้วแต่กรณี
of 12