คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ประมวญ รักศิลธรรม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 72 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รับฟังคำให้การชั้นสอบสวนประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ แม้ผู้เสียหายไม่จำหน้าคนร้ายได้ เหตุเกิดนานปี
แม้ในชั้นพิจารณาผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. เบิกความว่าจำหน้าคนร้ายไม่ได้เพราะเกิดเหตุมานานสิบกว่าปีแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็มีคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ส. ร. และ พ. ซึ่งคำให้การดังกล่าวระบุรายละเอียดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นสอดคล้องต้องกัน โดยเฉพาะผู้เสียหายไม่เคยรู้จักจำเลยมาก่อนแต่ก็ให้การถึงรูปพรรณสัณฐานของจำเลยไว้โดยละเอียด อีกทั้งคำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหาย ร. และ พ. พนักงานสอบสวนได้ปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ ยากที่พนักงานสอบสวนจะปั้นแต่งขึ้นเอง แม้บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนดังกล่าวจะเป็นพยานบอกเล่า แต่เมื่อพิจารณาจากสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงรับฟังคำให้การชั้นสอบสวนดังกล่าวประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง (1) แม้จำเลยจะไม่มีทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจของจำเลยเข้าร่วมในการสอบสวน แต่ตามบันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยระบุว่าก่อนสอบปากคำ พนักงานสอบสวนถามจำเลยว่าต้องการพบทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนหรือไม่ อย่างไร จำเลยตอบว่าไม่ต้องการ ดังนี้ แสดงว่าพนักงานสอบสวนได้แจ้งสิทธิดังกล่าวให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยสละสิทธิในการมีทนายความ เมื่อคดีมีเพียงอัตราโทษจำคุกไม่ใช่มีอัตราโทษประหารชีวิต กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะต้องจัดหาทนายความหรือบุคคลที่ไว้วางใจเข้าร่วมฟังการสอบสวนให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 134/1 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1362/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฟังพยานหลักฐาน – การนับโทษ – ข้อจำกัดตาม ป.วิ.อ. – การพิจารณาคดีอาญา
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 บัญญัติห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลย เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง การที่จำเลยที่ 1 ให้การและให้การเพิ่มเติมต่อพนักงานสอบสวนแตกต่างกันทั้งๆที่จำเลยที่ 1 เป็นผู้ศึกษาวิชากฎหมายระดับนิติศาสตรบัณฑิตจึงนับว่าเป็นข้อพิรุธ พยานหลักฐานดังกล่าวหาใช่พยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นๆ หรือความประพฤติในทางเสื่อมเสียของจำเลยที่ 1 อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2 ตามที่จำเลยที่ 1 อ้างแต่อย่างใด จึงไม่เป็นกรณีที่ต้องบังคับตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/2
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232 บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อ้างจำเลยเป็นพยาน หมายถึง จำเลยในคดีเดียวกันและกฎหมายมิได้ห้ามโจทก์อ้างผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับจำเลยมาเป็นพยานด้วย เมื่อคำเบิกความของจำเลยทั้งสองที่ศาลอุทธรณ์หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยนั้นเป็นคำเบิกความในคดีอื่น ไม่ใช่คำเบิกความของจำเลยทั้งสองในคดีนี้ จึงไม่ใช่กรณีที่โจทก์อ้างจำเลยทั้งสองเป็นพยาน อันจะต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.อ. มาตรา 232
เมื่อคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4863/2557 ของศาลแขวงพระนครใต้ โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาต ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2380/2555 ของศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษารอการลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งสองคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในคดีก่อนที่จะนับโทษต่อได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9797/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การกระทำชำเราเด็ก แม้ยินยอม ก็ยังเป็นละเมิดและมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย
ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายยังเป็นเด็กอายุ 13 ปีเศษ และพยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอม ที่จำเลยฎีกาในคดีส่วนแพ่งว่า เมื่อผู้เสียหายยินยอมให้จำเลยกระทำชำเรา จึงไม่เป็นละเมิด จำเลยไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้เสียหายนั้น ตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ต้องระวางโทษ..." แสดงว่า กฎหมายคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายยินยอม การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลย และมารดาผู้เสียหายย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแทนผู้เสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12978/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ปรึกษาภาษีอากรละเลยหน้าที่ให้คำแนะนำชัดเจน ทำให้โจทก์เสียประโยชน์ทางภาษี ถือเป็นการผิดสัญญา
เมื่อโจทก์มีหนังสือสอบถามจำเลยถึงการโอนเงินบำเหน็จเพิ่มเติมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพว่าจะถือเป็นรายจ่ายเพื่อคำนวณเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลปี 2549 ได้หรือไม่ จำเลยในฐานะที่ปรึกษาภาษีอากร มีหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่โจทก์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนหรือมีคำพิพากษาศาลฎีกาวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวด้วยแล้ว จำเลยยิ่งมีหน้าที่ต้องเสนอแนะแนวทางป้องกันความเสียหาย หรือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยอาจเสนอแนะโจทก์ให้ส่งข้อหารือไปยังกรมสรรพากรทันทีที่ได้รับหนังสือตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หรือให้โจทก์ยื่นคำขอคืนภาษีไว้ก่อน เพื่อมิให้การขอคืนภาษีขาดอายุความ แต่จำเลยก็มิได้กระทำ กลับมีหนังสือตอบข้อหารือโดยระบุเพียงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อธิบายหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยมิได้ตอบหรือให้ความเห็นอย่างชัดแจ้ง กลับปล่อยให้เป็นภาระของโจทก์ที่จะต้องไปตีความหรือหาคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่โจทก์ว่าจ้างจำเลยเป็นที่ปรึกษาภาษีอากรด้วยค่าจ้างที่สูงมาก ดังนี้ การที่จำเลยมิได้ตอบข้อหารืออย่างชัดแจ้งจึงไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง ข้อที่ 4 และ 5 ถือได้ว่า จำเลยมิได้ปฏิบัติตามสัญญาให้เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ จึงเป็นการผิดสัญญาจ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12091/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจับกุม ลักทรัพย์ และการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ: การยกฟ้องคดีอาญา
ก่อนจับกุมโจทก์ทั้งสองได้มีการจับกุม ช. กับพวกในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ช. ให้การว่าโจทก์ทั้งสองเป็นผู้ใช้จ้างวาน จึงมีการสอบสวน ขยายผลและจับกุมโจทก์ทั้งสองมาลงบันทึกประจำวันไว้ และตามสำเนารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีระบุว่า พันตำรวจเอก ส. ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลพระโขนง สั่งให้จำเลยทั้งสิบสามซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนปราบปรามนำตัว ช. ไปสอบสวนขยายผล โดยนัดโจทก์ที่ 2 มารับรถยนต์ที่หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนหากต้องไปขอหมายจับจากศาลชั้นต้นแล้วผู้ร่วมกระทำความผิดอาจหลบหนีไปได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 78 (3) ทั้งรถที่ถูกลักอยู่ที่บ้านของโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 2 เป็นผู้พาเจ้าพนักงานตำรวจไปทำการตรวจค้นเอง จึงไม่จำต้องขอหมายค้นจากศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92 (4) และมาตรา 94 การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาผู้มีอำนาจสั่งการโดยชอบ จึงไม่มีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157
ฟ้องของโจทก์ทั้งสองมิได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องที่จำเลยทั้งสิบสามร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ทั้งสองขณะโจทก์ทั้งสองถูกควบคุมตัว ฟ้องของโจทก์ทั้งสองจึงมิได้บรรยายถึงการกระทำที่อ้างว่าจำเลยทั้งสิบสามกระทำความผิด เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)
การที่จำเลยทั้งสิบสามจับกุมโจทก์ทั้งสองสืบเนื่องจากคำซัดทอดของ ช. กับพวก ต่อมามีการแจ้งข้อหาและทำหลักฐานการจับกุม การระบุวันที่จับกุมและบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนคลาดเคลื่อนไปบ้างเป็นเพียงรายละเอียด แต่สาระสำคัญมีความถูกต้องตามพฤติการณ์และข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และมีการนำสืบพยานหลักฐานในชั้นพิจารณาไปตามข้อเท็จจริงดังกล่าว ซึ่งจำเลยทั้งสิบสามอาจเชื่อว่าโจทก์ทั้งสองมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานเท็จ การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ทำพยานหลักฐานอันเป็นเท็จ หรือนำสืบพยานหลักฐานอันเป็นเท็จตาม ป.อ. มาตรา 162, 172, 173, 174, 179 และ 180
โจทก์ที่ 2 พาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นที่บ้านของโจทก์ที่ 2 โดยความยินยอมของโจทก์ที่ 2 เอง การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนตาม ป.อ. มาตรา 365 (3) ประกอบมาตรา 362
ของกลางทั้งหมดเจ้าพนักงานตำรวจนำไปเป็นของกลางคดีอาญา ทั้งโจทก์ทั้งสองได้อ่านข้อความในบันทึกการจับกุมที่ระบุว่ามีการยึดเงินสด ธนบัตรฉบับละ 1,000 บาท 20 ฉบับ รวมเป็นเงิน 20,000 บาท แล้วมิได้โต้แย้งว่าจำนวนเงินดังกล่าวไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงแต่อย่างใด เชื่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจบันทึกข้อความในบันทึกการจับกุมโดยถูกต้องแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสิบสามจึงไม่มีมูลเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 340

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11092/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การร้องสอดในคดีภาระจำยอม: เมื่อนิติบุคคลหมู่บ้านฟ้องแทนสมาชิกแล้ว ผู้ซื้อที่ดินรายอื่นไม่ต้องร้องสอดอีก
ผู้ร้องสอดเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรในนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วม ซึ่งจำเลยเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการจัดสรรที่ดิน และทางพิพาทเป็นที่ดินสาธารณูปโภคที่จำเลยในฐานะผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วม ซึ่งตาม พ.ร.บ.จัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 บัญญัติให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรร และให้เป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินจะต้องบำรุงรักษาสาธารณูปโภคให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินจัดสรรในนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วม ย่อมได้รับประโยชน์จากทางพิพาทซึ่งเป็นภาระจำยอมโดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย การที่จำเลยจดทะเบียนทางพิพาทในที่ดินสาธารณูปโภคที่จัดสรรให้เป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2093 ของธนาคาร อ. ย่อมเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิหรือประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินที่จัดสรรในหมู่บ้านนิติบุคคลจำเลยร่วมทุกรายรวมทั้งผู้ร้องสอด ผู้ร้องสอดจึงมีส่วนได้เสียที่ต้องถูกกระทบสิทธิจากการที่จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดสรรนำที่ดินสาธารณูปโภคเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของผู้ซื้อที่ดินที่จัดสรรไปจดทะเบียนให้เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2093
คำร้องของผู้ร้องสอดอ้างว่า ข้อพิพาทตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทบสิทธิหรือประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรที่มีอยู่จำนวนกว่าร้อยแปลงในนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วม และนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิร้องสอดเข้ามาในคดีนี้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้นิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมเข้าเป็นคู่ความในฐานะจำเลยร่วมตามคำร้องสอดก็ตาม แต่เมื่อคำร้องสอดของนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมที่ยื่นเข้ามานั้นตั้งข้ออ้างข้อเถียงโต้แย้งสิทธิและหน้าที่ในลักษณะเป็นปฏิปักษ์กับโจทก์ทั้งสองและจำเลย และเพื่อประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรร จำเลยร่วมจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่ความฝ่ายที่สามเสมือนเป็นโจทก์ยื่นคำฟ้อง ดังนี้ เท่ากับนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิเป็นโจทก์ฟ้องแทนผู้ซื้อที่ดินจัดสรรซึ่งเป็นสมาชิกนิติบุคคลหมู่บ้านจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 47 เกี่ยวกับกรณีที่กระทบสิทธิหรือประโยชน์ของสมาชิกจำนวนตั้งแต่สิบรายขึ้นไปตามมาตรา 48 (4) ย่อมไม่มีความจำเป็นที่ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินจัดสรรคนหนึ่งจะเข้ามาเป็นคู่ความในคดีเพื่อยังให้ได้รับการรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของตนอีก เพราะนิติบุคคลหมู่บ้านจำเลยร่วมได้ใช้สิทธิฟ้องแทนสมาชิกผู้ซื้อที่ดินจัดสรรทุกรายตามกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10675-10676/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีที่ดิน: สิทธิการได้รับอนุญาตทำประโยชน์ในที่ดินเขตปฏิรูปที่ดินสิ้นสุดลง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพิ่งมีมติให้เพิกถอนสิทธิของโจทก์ทั้งสองระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นกรณีที่จำเลยไม่สามารถระบุมติดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยานยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในกำหนดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคหนึ่ง และมีเหตุอันสมควรที่จะขออนุญาตยื่นพยานเอกสารดังกล่าวต่อศาลฎีกา เมื่อโจทก์ทั้งสองไม่คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสาร และพยานเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญเกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี ดังนี้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงรับสำเนาเอกสารดังกล่าวเป็นพยานในชั้นฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9270/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของห้างหุ้นส่วนจำกัดหลังการเปลี่ยนแปลงผู้จัดการ และการดำเนินการเพื่อรักษากิจการ
ในวันที่ 8 มีนาคม 2544 โจทก์โดย ท. ลงลายมือชื่อในใบคำขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนจำกัดโจทก์ โดยแก้ไขเพิ่มเติมผู้เป็นหุ้นส่วนจาก ท. เป็น ว. และเปลี่ยนให้ ว. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการแทน ท. ทั้ง พ. และ น. ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคน ลงลายมือชื่อให้ความยินยอมแล้ว และในวันเดียวกันโจทก์โดย ท. มอบอำนาจให้ ภ. ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงหุ้นส่วนผู้จัดการดังกล่าว การจดทะเบียนที่กระทำภายหลัง เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2544 อันเป็นเวลาภายหลังที่ ท. ถึงแก่กรรมแล้วตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2544 ก็เป็นไปตามเจตนาของ ท. และได้แจ้งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อจะได้มีการประกาศการเปลี่ยนแปลงลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้บุคคลภายนอกทั่วไปทราบเท่านั้น เมื่อนายทะเบียนฯ รับจดทะเบียนไว้แล้ว ตราบใดที่ยังไม่มีการร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวหรือมีการเปลี่ยนแปลงการจดทะเบียนนั้นเป็นอย่างอื่น ก็ยังถือได้ว่า ว. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของโจทก์โดยชอบ การที่ ภ.ได้ดำเนินการจดทะเบียนเพื่อให้ ว. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่มีจุดประสงค์ให้โจทก์ดำเนินกิจการต่อไปได้ และเป็นไปเพื่อปกปักรักษาประโยชน์ของ ท. ซึ่งเป็นตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 828 ประกอบกับปรากฏจากคำเบิกความของ ว. พยานโจทก์ว่า ว. เป็นบุตรชายคนโตของ ท. จึงนับว่าเป็นทายาทของ ท. หุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์คนเดิม ทั้งผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดตกลงให้ ว. เข้ามาเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการคนใหม่และตกลงให้ห้างฯ ยังคงอยู่ต่อไปมิได้ให้ห้างฯ เลิกไป ว. ย่อมเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการโจทก์โดยชอบ ทั้งยังได้ความว่าก่อนฟ้องคดีนี้ห้างฯ โจทก์ยังดำเนินกิจการอยู่โดย ว. เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โดยยังมิได้เลิกห้างฯ โจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3980/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ในที่ดินจากการครอบครองปรปักษ์ต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ โจทก์ครอบครองที่ดิน น.ส.3ก. ไม่สำเร็จ
โจทก์บรรยายฟ้องสรุปว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 ตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินกันโดยจำเลยที่ 1 ยอมยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วโจทก์เข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่าสิบปี ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 1 ไม่เคยตกลงแลกเปลี่ยนที่ดินพิพาทกับโจทก์ หากแต่โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะโดยวิสาสะด้วยความสัมพันธ์ฉันญาติ แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเท่าใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ดังนี้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์อันเนื่องมาจากโจทก์ครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ จึงเป็นการกำหนดประเด็นข้อพิพาทโดยตรงตามประเด็นที่โจทก์ฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีแล้ว
ทางราชการเพิ่งออกโฉนดที่ดินเลขที่ 54893 ให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2551 นับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2546 ยังไม่ถึงสิบปี แม้โจทก์จะอ้างว่าเข้าครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งในขณะนั้นทางพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินเดิมตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 2623 ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจนับระยะเวลาที่ครอบครองอยู่แต่เดิมมารวมเข้ากับระยะเวลาครอบครองที่ดินได้ เพราะการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์จะมีได้แต่เฉพาะที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เท่านั้น ฉะนั้น ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ไม่ว่าโจทก์จะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำฟ้องเรียกค่าเสียหายและการมอบอำนาจดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดิน ชอบด้วยกฎหมาย
ฟ้องเดิมโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นปาล์มน้ำมันและเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันและปลูกสร้างอาคารสำนักงาน และที่พักคนงานและลูกจ้าง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทั้งไม่มีสิทธิใด ๆ และไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถนำที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมาทำการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามอำนาจหน้าที่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การแก้ไขคำฟ้องอันสืบเนื่องมาจากการกระทำตามฟ้องเดิม จึงเป็นการแก้ไขคำฟ้องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 โดยหาจำต้องแก้ไขข้อหาหรือข้ออ้างได้เฉพาะการสละข้อหาในฟ้องเดิมบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องให้บริบูรณ์ไม่ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายนั้นชอบแล้ว
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 7 บัญญัติให้โจทก์เป็นทบวง มีฐานะเทียบเท่ากรม โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 7 เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้แทนโจทก์ย่อมมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินคดีแทนได้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 และคำสั่งของโจทก์ที่ 767/2548 เรื่องมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุแจ้งชัดว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรก็จะมอบอำนาจให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดปฏิบัติราชการแทนก็ได้ ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมอบอำนาจช่วงให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้จึงชอบแล้ว
of 8