คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สว่างภูวะปัจฉิม

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1673/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยึดเรือของกลางในคดีศุลกากร: การเรียกร้องคืนภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาเมื่อมีฟ้องคดี
ตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 24 ซึ่งได้แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12)พ.ศ.2497 มาตรา 3 บัญญัติว่า 'สิ่งใดๆ อันจะพึงต้องริบตามพระราชบัญญัตินี้พนักงานศุลกากร พนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจมีอำนาจยึดในเวลาใดๆ และ ณ สถานที่ใดๆ ก็ได้.
สิ่งที่ยึดไว้นั้น ถ้าเจ้าของหรือผู้มีสิทธิไม่มายื่นคำร้องเรียกเอาภายในกำหนดหกสิบวันสำหรับยานพาหนะที่ใช้ในการกระทำผิด สามสิบวันสำหรับสิ่งอื่นนับแต่วันยึด. ให้ถือว่าเป็นสิ่งของที่ไม่มีเจ้าของ. และให้ตกเป็นของแผ่นดิน' นั้น. ใช้บังคับเฉพาะกรณีการร้องขอคืนของกลางที่ถูกยึดโดยไม่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลเท่านั้น. หากพระราชบัญญัติศุลกากรฯประสงค์จะใช้บังคับแก่กรณีที่ได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลด้วย ก็คงจะได้บัญญัติกำหนดระยะเวลาเรียกร้องคืนของกลาง 'นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด' ไว้ดังเช่นที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1327 วรรคแรก. หากถือว่าของกลางตกเป็นของแผ่นดินแล้วพนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่จำต้องร้องขอให้ศาลพิพากษาริบของกลางที่ตกเป็นของแผ่นดินแล้วให้ยกเป็นของแผ่นดินอีก.
มาตรา 17 แห่งประมวลกฎหมายอาญาได้บัญญัติให้ใช้บทบัญญัติอันเป็นหลักทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ในภาค 1 ของประมวลกฎหมายอาญานี้ ในกรณีแห่งความผิดตามกฎหมายอื่นด้วย.เว้นแต่กฎหมายนั้นจะได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น. ส่วนพระราชบัญญัติศุลกากรฯ ดังกล่าวก็มิได้บัญญัติ.เกี่ยวกับการร้องขอคืนของกลางที่มีตัวผู้ต้องหาและมีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลไว้ด้วย. ฉะนั้นในคดีที่ได้มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลและศาลพิพากษาสั่งริบเรือของกลางที่ใช้ในการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 32. ต้องถือว่าเป็นการริบทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 วรรคแรก ผู้มีสิทธิเรียกร้องเอาเรือของกลางคืนได้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36.
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ไม่ขัดกันกับพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 24 ซึ่งแก้ไขโดยพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2497 มาตรา 3 เพราะใช้บังคับต่างกรณีกัน. ดังนี้จะนำพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469มาตรา 120 ซึ่งบัญญัติไว้ใจความว่า เมื่อใดพระราชบัญญัติศุลกากรแตกต่างกับบทกฎหมายอื่นให้ยกเอาบทบัญญัติในพระราชบัญญัติศุลกากรขึ้นใช้บังคับมาบังคับในกรณีที่มีการฟ้องคดีอาญาต่อศาลไม่ได้. (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 22/2512).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1618/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในลำเหมืองเมื่อฟ้องไม่ชัดเจน: เจ้าของที่ดินมีสิทธิใช้ประโยชน์และขัดขวางการสอดเข้าเกี่ยวข้อง
โจทก์ฟ้องตั้งรูปคดีกล่าวหาว่าจำเลยกระทำละเมิดเอาดินถมปิดลำเหมืองของโจทก์ ซึ่งตั้งอยู่ในป่าไม่มีเจ้าของ.มิได้ฟ้องว่าลำเหมืองอยู่ในที่ดินของจำเลย.และจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์ กระทำการกลบลำเหมืองอันเป็นภารจำยอม. เป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภารจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวก. ศาลจะวินิจฉัยว่าโจทก์ได้ทรัพย์สิทธิภารจำยอมในลำเหมืองโดยอายุความหาได้ไม่. เพราะนอกประเด็นในคำฟ้อง.
เมื่อฟ้องของโจทก์มิได้อ้างสิทธิ.ว่าโจทก์ได้ทรัพย์สิทธิภารจำยอมในลำเหมืองพิพาท. ก็ต้องถือว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ทรงทรัพย์สิทธิภารจำยอมในลำเหมืองพิพาท. จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ลำเหมืองพิพาทตั้งอยู่ย่อมมีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กลบลำเหมืองพิพาทเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้. บทบัญญัติมาตรา 1337 หาลบล้างสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ในอันที่จะใช้สิทธิของตนตามมาตรา 1336 ไม่.
กรณีที่จะเป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา421 นั้น. จะต้องเป็นการแกล้งโดยผู้กระทำมุ่งต่อผลคือความเสียหายแก่ผู้อื่นถ่ายเดียว. แต่ถ้าเป็นการกระทำโดยประสงค์ต่อผลอันเป็นธรรมดาแห่งสิทธินั้น. แม้ผู้กระทำจะเห็นว่าผู้อื่นจะได้รับความเสียหายบ้างก็ไม่เป็นละเมิด.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1124/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับฝากเงินเพื่อลงทุนโดยผิดกฎหมายธนาคารพาณิชย์ สัญญาไม่เป็นโมฆะหากผู้ฝากไม่รู้เห็น
การประกอบกิจการรับฝากเงินซึ่งต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถาม โดยให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้ฝากเป็นดอกเบี้ย. และใช้ประโยชน์เงินฝากนั้นในการให้พ่อค้าและผู้รู้จักชอบพอกู้ยืมโดยเรียกค่านายหน้าค่ารางวัล และดอกเบี้ยจากผู้กู้ยืมมีจำนวนสูงกว่าดอกเบี้ยที่จะจ่ายแก่ผู้ฝาก. หากกระทำเป็นปกติธุระย่อมเป็นการประกอบการธนาคารพาณิชย์ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมาย.
การใดอันมีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายซึ่งตกเป็นโมฆะกรรมนั้น ในสัญญาซึ่งเป็นนิติกรรมทำโดยบุคคลสองฝ่าย. ประโยชน์อันเป็นผลสุดท้ายที่ทั้งสองฝ่ายต้องการคู่กรณีทั้งสองฝ่ายจะต้องร่วมรู้กัน จึงจะเป็นวัตถุที่ประสงค์ของนิติกรรมสัญญานั้น.ถ้าคู่สัญญาแต่ฝ่ายเดียวรู้ถึงการกระทำของตนว่าเป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย. โดยอีกฝ่ายมิได้ร่วมรู้ด้วย. จะถือว่านิติกรรมสัญญานั้นมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมายหาได้ไม่.
แม้ผู้รับฝากเงินจะประกอบการธนาคารพาณิชย์โดยมิได้รับอนุญาต. แต่ผู้ฝากมิได้ร่วมรู้.ในการกระทำของผู้รับฝากซึ่งมีวัตถุที่ประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยกฎหมาย. ดังนี้นิติกรรมรับฝากเงินระหว่างผู้ฝากกับผู้รับฝากย่อมไม่เป็นโมฆะ. ผู้ฝากมีสิทธิเรียกเงินฝากคืนจากผู้รับฝากได้.
คดีล้มละลายที่ได้ยื่นฟ้องก่อนวันที่พระราชบัญญัติล้มละลาย (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2511 ใช้บังคับ. และยังค้างพิจารณาอยู่ในศาลหรืออยู่ในระหว่างปฏิบัติการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์. แม้จะมีการอุทธรณ์ฎีกา คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลหลังจากใช้บังคับพระราชบัญญัติฉบับนี้แล้ว. ค่าธรรมเนียมในการอุทธรณ์ฎีกาก็ยังคงเสียตามอัตราเดิมที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1119/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิการได้รับค่าทดแทนผู้เช่าเมื่อถูกเวนคืน หากสัญญาเช่าสิ้นสุดก่อนการครอบครองทรัพย์สิน
ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2497มาตรา 11(3). ผู้เช่าที่ดิน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างในที่ดินที่ต้องเวนคืน จะพึงได้รับเงินค่าทดแทนเฉพาะที่ผู้เช่าได้เสียหายจริง. โดยเหตุที่ต้องออกจากที่ดินโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างก่อนสัญญาเช่าระงับ.
เมื่อระหว่างคดีที่โจทก์ฟ้องเจ้าหน้าที่เวนคืนเกี่ยวกับเงินค่าทดแทนในการที่โจทก์จะต้องออกจากตึกที่เช่า. โจทก์ได้อยู่ในตึกที่โจทก์เช่าตลอดมาจนเกินกำหนดระยะเวลาที่เช่าตามสัญญาเช่า. ซึ่งโจทก์อ้างว่ามีผลใช้บังคับได้แล้ว โจทก์ย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับเงินค่าทดแทนเพราะการเช่าได้ระงับไปเสียแล้ว.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1111/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาค้ำประกันที่ไม่สมบูรณ์ตามกฎหมาย (อากรแสตมป์) ไม่อาจใช้เป็นหลักฐานในคดีได้ แม้จำเลยจะเคยให้การรับ
โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไป และจำเลยที่2 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ให้การว่า. ไม่มีเจตนาทำสัญญาค้ำประกันการกู้เงิน. แต่เป็นเรื่องเกี่ยวกับทำสัญญาซื้อขายที่ดินและห้องแถวกันจำเลยที่ 2 ค้ำประกันแต่เพียงว่า.จะไม่ให้จำเลยที่ 1 เข้าไปเกี่ยวข้องเรียกร้องเอาทรัพย์สินที่ซื้อขายคืนเท่านั้น. ดังนี้ จำเลยที่ 2 มิได้ให้การรับ. และเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะต้องพิสูจน์ให้ศาลเห็นว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงิน. ซึ่งจำเป็นที่โจทก์ต้องอ้างหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นพยานหลักฐานในคดีด้วย. เมื่อสัญญาค้ำประกันที่โจทก์อ้างปิดอากรแสตมป์เพียง 1 บาท แต่ตามประมวลรัษฎากรต้องปิด 10 บาท. เอกสารสัญญาค้ำประกันจึงใช้เป็นพยานหลักฐานไม่ได้.
โจทก์จะมีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมายประมวลรัษฎากรหรือไม่.ไม่สำคัญ. ถ้ามีการบกพร่องในเรื่องปิดอากรแสตมป์ไม่ครบบริบูรณ์แล้ว.ศาลก็รับฟังเอกสารนั้นๆ เป็นพยานไม่ได้.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความยินยอมในการปิดกั้นลำราง และผลกระทบต่อการฟ้องละเมิด/บังคับเปิดลำราง
โจทก์ยินยอมหรือสมัครใจให้จำเลยปิดกั้นลำรางพิพาท.เท่ากับโจทก์เต็มใจยอมรับผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่ตนในอนาคต. จะถือว่าจำเลยละเมิดต่อโจทก์ไม่ได้. โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย. และไม่มีอำนาจฟ้องให้ศาลบังคับจำเลยเปิดลำรางพิพาท. ลำรางพิพาทจะเป็นลำรางสาธารณะหรือไม่ก็ตาม. จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 246/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันตัวและการใช้กำลังสมควรแก่เหตุเมื่อถูกทำร้าย
จำเลยแทงผู้เสียหายในขณะผู้เสียหายใช้มือทั้งสองเค้นคอจำเลยอยู่. จำเลยว่าหายใจไม่ออก จำเลยไม่มีทางจะหลีกเลี่ยง ถ้าหากจำเลยไม่ใช้มีดแทงผู้เสียหาย. จำเลยอาจถึงแก่ความตายได้. เพราะผู้เสียหายรูปร่างใหญ่โตแข็งแรงกว่าจำเลย. ฉะนั้น การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้เสียหาย จึงเป็นการป้องกันตัวพอสมควรแก่เหตุ.

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 96/2512

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินความรุนแรงของการบาดเจ็บและการประกอบกรณียกิจปกติเกิน 20 วันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8)
ผู้เสียหายมีอาชีพพิมพ์ดีด. เพียงการที่ผู้เสียหายถูกทำร้ายได้รับอันตรายถึงบาดเจ็บเป็นเหตุให้ความสามารถในการพิมพ์หย่อนลง. กล่าวคือพิมพ์ได้ช้ากว่าอัตราที่พิมพ์ได้ตามปกติก่อนถูกทำร้ายเกินกว่า 20 วัน. ดังนี้ ไม่เรียกว่าเป็นการประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่า 20วันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 297(8).

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1798/2511

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องของกรมทางหลวง, ความรับผิดของผู้บังคับบัญชาต่อการยักยอกเงิน, และอายุความละเมิด
คดีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยสองคนรับผิดทางแพ่ง. ปรากฏว่าจำเลยคนหนึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล และมูลคดีก็เกิดขึ้นในเขตศาลนั้น ทั้งพยานหลักฐานส่วนใหญ่ก็อยู่ในจังหวัดนั้นด้วย.ทั้งโจทก์ก็ได้ยื่นคำร้องจนศาลสั่งอนุญาตให้โจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลได้. การที่ศาลรับฟ้องคดีนั้นไว้พิจารณาพิพากษาจึงเป็นการชอบแล้ว.
เดิมกรมทางหลวงมีชื่อว่ากรมทางหลวงแผ่นดิน สังกัดกระทรวงคมนาคม. ต่อมาได้มีกฎหมายบัญญัติให้กรมทางหลวงแผ่นดินอยู่ในสังกัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ. และให้โอนบรรดากิจการ ทรัพย์สิน หนี้สิน ข้าราชการ ฯลฯ ไปเป็นของกรมทางหลวงนั้น. โดยผลแห่งกฎหมาย หนี้สินและสิทธิเรียกร้องที่กรมทางหลวงแผ่นดินมีต่อจำเลยลูกหนี้ย่อมโอนไปยังกรมทางหลวงโจทก์. โดยมิพักต้องบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้แต่อย่างใด.และโจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยได้.
การที่จำเลยที่ 1 รับราชการอยู่ใต้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ได้ยักยอกเงินของทางราชการไปด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาเช่นนี้. จำเลยที่ 2 ต้องรับผิด.
กรณีละเมิดนั้น เมื่อโจทก์เพิ่งได้ทราบเรื่องจำเลยยักยอกจากการตรวจสอบบัญชีและหลักฐานการสอบสวนจากพนักงานเจ้าหน้าที่.และมาฟ้องคดีในเวลายังไม่ครบ 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รู้ตัวผู้กระทำละเมิดและรู้ถึงการกระทำละเมิด. คดีของโจทก์จึงยังหาขาดอายุความไม่.