คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1382

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,662 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 679-682/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับสถานะของที่ดิน
ที่ดินพิพาทในคดีนี้ โจทก์ได้มาโดยการซื้อมาจากเอกชน มิใช่ดำเนินการเวนคืนมาตาม กฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐ เพื่อให้ได้มาซึ่งแหล่งปิโตรเลียม เพื่อจัดสร้างโรงกลั่นปิโตรเลียม โรงแยกก๊าช ท่าเรือ คลังปิโตรเลียม หรือเพื่อใช้ในการวางระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นอันจำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับกิจการดังกล่าว จึงเป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางธุรกิจของโจทก์เท่านั้น ข้ออ้างที่ว่าใช้สำหรับเป็นทางออกหนีไฟของคลังก๊าช เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันอันตราย ก็เป็นเรื่องการปฏิบัติงานภายในหน่วยงานของโจทก์ ซึ่งมีสถานะทางกฎหมายเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชนและมีการดำเนินการทางธุรกิจในฐานะเดียวกับเอกชน ไม่เกี่ยวกับสาธารณประโยชน์ กรณียังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์อันร่วมกันเช่นทรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (3) การที่จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไว และจำเลยที่ 2 เข้าครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากบุคคลซึ่งรับโอนและครอบครองที่ดินพิพาทต่อจากนายประไวตั้งแต่ปี 2533 เรื่อยมาโดยสงบ เปิดเผย เป็นเวลาติดต่อกันมาเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จำเลยทั้งสี่สามารถยกอายุความการครอบครองขึ้นมาต่อสู้ได้
จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนาย อ. ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 รับโอนที่ดินพิพาทมาจากนายประไว โดยเริ่มต้นนายประไวซื้อที่ดินพิพาทมาจากพลอากาศตรีอำนวยเมื่อประมาณปี 2533 และมีการแบ่งแยกเป็นแปลงย่อยก่อนจดทะเบียนโอนมาเป็นของจำเลยทั้งสี่ การที่จำเลยทั้งสี่เข้าครอบครองปลูกบ้านอาศัยอยู่ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ โดยไม่เคยถูกผู้ใดโต้แย้งคัดค้านก่อนหน้านั้น จึงถือเป็นการครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยมาตลอด รวมเวลาของผู้โอนกับเวลาที่จำเลยทั้งสี่ครอบครองเกินกว่า 10 ปีแล้ว จำเลยทั้งสี่ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 อีกทั้งกฎหมายมิได้บัญญัติไว้อย่างแจ้งชัดว่า ผู้ที่จะได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินโดยการครอบครองนั้น จะต้องรู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ข้อสำคัญมีเพียงว่า การครอบครองนั้นมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตน มิใช่ครอบครองแทนเจ้าของกรรมสิทธิ์ เช่น เป็นผู้อาศัยหรือผู้เช่า แม้ผู้ครอบครองจะเข้าใจว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของตน แต่ความจริงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นอยู่ ก็หาทำให้สิทธิจากการครอบครองเสียไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15710/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ที่ดินธรณีสงฆ์ การแสดงเจตนาโอน และหน้าที่ตามกฎหมาย: ศาลฎีกาตัดสินกรณีโอนที่ดินสงฆ์โดยรัฐต้องตราพระราชบัญญัติ
โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสิทธิเป็นประเด็นแห่งคดีประการแรกว่า วัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาทและยกให้โจทก์ เพียงแต่วัด ช. จดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของแทน กับประการที่สอง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกแสดงเจตนาจะจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทคืนให้แก่โจทก์ แต่ภายหลังไม่ปฏิบัติตาม เป็นกรณีที่โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 โต้แย้งสิทธิต้องตามหลักเกณฑ์ในการนำคดีเข้าสู่ศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อสู้ว่า โจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อที่ดินพิพาทจากวัด ช. ผู้เป็นเจ้าของ กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกเพราะถูกข่มขู่และถูกกลฉ้อฉล ประเด็นข้อพิพาทมิใช่มีเพียงโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินหรือไม่เท่านั้น เพราะหากศาลวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท ยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยบันทึกว่ามีผลตามกฎหมายหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าโจทก์มิใช่เจ้าของที่ดินพิพาท เพราะการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์ รัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 33 (2) ประกอบมาตรา 34 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องแล้วด่วนพิพากษายกฟ้องนั้นหาชอบด้วยกระบวนพิจารณาไม่ เพราะยังมีประเด็นต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับบันทึกอันมีผลเกี่ยวกับเนื้อหาคดีที่ศาลต้องพิพากษาอีก ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยก่อน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ใช้ดุลพินิจหยิบยกวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทยังเป็นของวัด ช.ตามเดิมหรือไม่นั้น เป็นปัญหาเกี่ยวกับการโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์อยู่ในบังคับตาม พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยส่วนนี้ชอบแล้ว
แม้จะรับฟังตามบันทึกว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีหน้าที่จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ตามความประสงค์ของวัด ช. แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าวัด ช. เป็นเจ้าของที่ดินพิพาท การโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ธรณีสงฆ์จะกระทำได้ก็แต่โดยรัฐต้องตราเป็นพระราชบัญญัติเท่านั้น ดังนี้ การจะบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนโอนโดยตรงให้แก่โจทก์ ย่อมเป็นการพ้นวิสัย จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีหน้าที่จดทะเบียนโอนใส่ชื่อวัด ช. เป็นเจ้าของตามความเป็นจริงก่อน และจะหยิบยกอายุความได้สิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 มากล่าวอ้างมิได้ เพราะมีบัญญัติห้ามไว้ใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 34 วรรคท้าย แต่ศาลจะพิพากษาในคดีนี้มิได้เพราะเป็นการเกินคำขอต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ชอบที่จะไปว่ากล่าวกันระหว่างวัด ช. กับจำเลยที่ 1 และที่ 2 และเป็นเรื่องที่โจทก์จะต้องติดต่อกับวัด ช. ต่อไป ส่วนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำบันทึกยินยอมที่จะไปโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์และจะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทต่อไป ย่อมแสดงว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิได้ดอกผลในที่ดินพิพาทด้วย กับถือว่าเจตนาสละการครอบครองและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชดใช้ผลผลิตยางพาราในที่ดินพิพาท และห้ามยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14291/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องขับไล่ของเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม และประเด็นการครอบครองปรปักษ์ที่ต้องห้าม
ปัญหาว่า โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยจะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ก็ย่อมมีสิทธิที่จะยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1359 บัญญัติว่า "เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ อาจใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดเพื่อต่อสู้บุคคลภายนอก..." โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมแต่ผู้เดียวย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยโดยไม่จำต้องได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของรวมรายอื่นอีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้
ประเด็นว่าโจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบแล้วหรือไม่นั้นไม่ใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ จำเลยย่อมไม่อาจยกขึ้นอุทธรณ์ได้
จำเลยให้การโดยบรรยายมาในคำให้การข้อ 3 ว่า จำเลยได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินพิพาทมาตั้งแต่ปี 2529 จนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็โดยที่ดินพิพาทและบริเวณใกล้เคียงที่ดินพิพาทเป็นที่รกร้างว่างเปล่า สภาพของที่ดินเป็นที่ลุ่ม มีน้ำฝนขังในหน้าฝนและแห้งแล้งในหน้าแล้ง มีต้นหญ้ากกต้นวัชพืชขึ้นรกเต็มพื้นที่ ไม่มีการทำประโยชน์ในที่ดินแต่ประการใด จำเลยได้สอบถามชาวบ้านใกล้เคียงต่างบอกว่าไม่เห็นมีใครทำประโยชน์และไม่ทราบว่าเป็นที่มีเจ้าของ จำเลยเห็นว่าสภาพของที่ดินพอเป็นที่เลี้ยงสัตว์ได้ถ้าได้ถากถางต้นหญ้าต้นไม้ที่ขึ้นรกออก จำเลยจึงได้เข้าไปทำประโยชน์ โดยไม่ได้ขออนุญาตผู้ใดและไม่มีผู้ใดขัดขวางห้ามปราม ตามคำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย โดยจำเลยเป็นผู้แผ้วถางที่ดินพิพาทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นที่รกร้างว่างเปล่า แล้วเข้าครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี 2529 การที่จำเลยให้การในตอนหลังว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยการครอบครองปรปักษ์จึงขัดกับคำให้การในตอนแรก รูปคดีตามที่โจทก์ฟ้องและจำเลยให้การดังกล่าวจึงไม่มีประเด็นเรื่องการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 เพราะการครอบครองปรปักษ์จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะรับวินิจฉัยให้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ฎีกาของจำเลยในประเด็นการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง (เดิม)
จำเลยให้การในตอนหนึ่งว่า โจทก์ได้แสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาท เมื่อปี 2542 พร้อมกับแจ้งให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยไม่ยอมออกไป ตามคำให้การดังกล่าว แม้จะถือว่าเป็นการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แต่เมื่อนับตั้งแต่วันดังกล่าวจนถึงวันฟ้องก็ยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13969/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มจากที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ การครอบครองใน น.ส.3ก. ไม่นำซึ่งกรรมสิทธิ์
บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เสียก่อน จึงจะถูกอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้ ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครอง แม้จะมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นปรปักษ์ก็หาได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกับสิทธิครอบครองที่มีอยู่แต่เดิมไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส. 3 ก. ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทได้
โจทก์ฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้ศาลพิพากษาว่า โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้สิทธิครอบครองจะเป็นสิทธิในทรัพย์สินที่อยู่ในอันดับรองจากกรรมสิทธิ์ แต่ก็หาใช่สิทธิที่กฎหมายรับรองให้มีการร้องขอแสดงสิทธิได้เช่นเดียวกับกรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ไม่ กรณีจึงไม่อาจมีคำพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทไปเสียในคราวเดียวกันในชั้นนี้เพราะสิทธิครอบครองในที่ดินของผู้อื่นจะมีได้ก็แต่การแย่งการครอบครองเท่านั้น เมื่อจำเลยเป็นผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำเลยย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตามมาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เมื่อคดีไม่มีประเด็นพิพาทเรื่องแย่งการครอบครอง ประกอบกับไม่ได้ความว่าโจทก์เปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือตามมาตรา 1381 จึงต้องรับฟังว่าการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์เป็นการครอบครองแทนจำเลยตลอดมา กรณีไม่มีเหตุเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามคำขอของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13041/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องรื้อถอนรั้วและการสิ้นสภาพภาระจำยอมในโครงการจัดสรรที่ดิน ผู้จัดสรรต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินในโครงการเป็นผู้สร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทเอง เมื่อจำเลยมิได้ปิดกั้นที่ดินพิพาท จำเลยจึงมิได้เป็นฝ่ายกระทำละเมิดต่อโจทก์ กรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้รื้อถอนรั้วที่ปิดกั้นที่ดินพิพาท จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ทั้งการที่โจทก์ไม่จัดให้มีที่กลับรถเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงแผนผังโครงการที่มีที่กลับรถเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 32 เป็นการที่โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดให้โจทก์ต้องกระทำการดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 มาตรา 43 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้ สาธารณูปโภคที่ผู้จัดสรรที่ดินได้จัดให้มีขึ้นเพื่อการจัดสรรที่ดินตามแผนผังและโครงการที่ได้รับอนุญาตเช่นถนนสวนสนามเด็กเล่นให้ตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรและเป็นหน้าที่ของผู้จัดสรรที่ดินที่จะบำรุงรักษาสาธารณูปโภคดังกล่าวให้คงสภาพดังเช่นที่ได้จัดทำขึ้นนั้นต่อไป และจะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ประโยชน์แห่งภาระจำยอมลดไปหรือเสื่อมความสะดวกมิได้ ประกอบกับมาตรา 33 วรรคหนึ่ง ยังบัญญัติห้ามมิให้ผู้จัดสรรที่ดินทำนิติกรรมกับบุคคลใดอันก่อให้เกิดภาระผูกพันแก่ที่ดินอันเป็นสาธารณูปโภคและที่ดินที่ใช้เพื่อบริการสาธารณะ ทั้งนี้ พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 เป็นกฎหมายเฉพาะบัญญัติขึ้นเพื่อให้ความคุ้มครองประโยชน์ของผู้ซื้อที่ดินจัดสรรและประชาชนทั่วไป จึงไม่สามารถนำบทบัญญัติเกี่ยวกับการสิ้นไปของภาระจำยอมที่เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไปมาใช้บังคับแก่ภาระจำยอมที่เกิดขึ้น และยังเป็นประโยชน์แก่ที่ดินจัดสรรตาม พ.ร.บ.การจัดสรรที่ดิน พ.ศ.2543 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะได้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดสรรที่ดินก่อสร้างรั้วปิดกั้นที่ดินพิพาทที่ได้กันไว้เป็นที่กลับรถอันเป็นสาธารณูปโภคประเภทถนนของโครงการ แต่ที่ดินพิพาทอยู่ภายในรั้วบ้านของจำเลยก็ตาม จำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าได้ครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอันจะทำให้จำเลยได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ได้ ส่วนความเสียหายที่จำเลยได้รับ ชอบที่จะไปฟ้องร้องว่ากล่าวเอาแก่โจทก์เป็นอีกคดีหนึ่ง เนื่องจากจำเลยไม่ได้ฟ้องแย้งเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้มาด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10669/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิจำนอง vs. ครอบครองปรปักษ์: ผู้รับจำนองมีสิทธิเหนือที่ดิน แม้ผู้ครอบครองอ้างสิทธิ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ป. ที่จดทะเบียนจำนองไว้ต่อผู้คัดค้าน ผู้คัดค้านจึงมีสิทธิดีกว่าผู้ร้อง ผู้คัดค้านมิได้โต้แย้งว่ากรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเป็นของผู้คัดค้านหรือผู้คัดค้านซื้อมาจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล คำร้องขอครอบครองปรปักษ์ของผู้ร้องจึงเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้และเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องนั้น มิได้ทำให้สิทธิจำนองของผู้คัดค้านในฐานะผู้รับจำนองเสื่อมเสียหรือระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาททั้งสองแปลงได้จากการขายทอดตลาดในการบังคับคดีดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ผู้คัดค้านจึงมิได้มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งสองแปลง การที่ผู้ร้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อขอให้ศาลรับรองว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยการครอบครองปรปักษ์จึงมิได้เป็นการโต้แย้งสิทธิจำนองของผู้คัดค้านที่จะเข้ามาในคดีนี้ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9173/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ต้องมีเจตนาเป็นเจ้าของและแจ้งให้เจ้าของเดิมทราบ หากไม่แจ้งสิทธิครอบครองยังไม่สมบูรณ์
ผู้ร้องทั้งสามเป็นฝ่ายกล่าวอ้างในคำร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสามร่วมกันครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ต่อเนื่องกับการครอบครองยึดถือเพื่อตนของบิดามารดาของผู้ร้องทั้งสามแต่ละคนที่ บ. ผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทบอกยกที่ดินพิพาทให้ตั้งแต่ประมาณปี 2500 ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสามร่วมกันโดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้คัดค้านโต้แย้งว่า บ. ให้บิดามารดาของผู้ร้องแต่ละคนอาศัยอยู่ในที่ดินพิพาทโดยไม่มีค่าตอบแทนตั้งแต่ประมาณปี 2500 หลังจากนั้นบิดามารดาของผู้ร้องทั้งสามแต่ละคนตลอดจนผู้ร้องทั้งสามไม่เคยบอกกล่าวหรือแสดงเจตนาแก่ บ. หรือผู้คัดค้านซึ่งเป็นทายาทว่าจะเปลี่ยนลักษณะการครอบครองโดยจะไม่ครอบครองแทนอีกต่อไป ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่ผู้ร้องทั้งสาม
ผู้ร้องทั้งสามบรรยายคำร้องขอว่า ผู้ร้องทั้งสามครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของสืบต่อจากบิดามารดาที่ถึงแก่ความตายแล้วร่วมกันเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และมีคำขอให้ศาลมีคำสั่งว่าที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องทั้งสามร่วมกันโดยการครอบครองปรปักษ์ กรณีมิใช่คำร้องขอที่ประสงค์ขอให้ศาลมีคำสั่งว่า ที่ดินพิพาทตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องแต่ละคนโดยการครอบครองปรปักษ์ตามเนื้อที่ที่แยกกันครอบครองเป็นส่วนสัด จึงย่อมจะคิดแยกทุนทรัพย์ที่ดินตามที่ผู้ร้องแต่ละคนครอบครองอยู่ไม่ได้ ทุนทรัพย์ในคดีนี้ต้องถือตามราคาที่ดินพิพาททั้งแปลงที่คู่ความตีราคา 560,000 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6310/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์และการฟ้องคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อรับรองสิทธิ
การที่บุคคลใดครอบครองที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไว้ โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปีจนได้กรรมสิทธิ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 และมีความจำเป็นที่จะต้องใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้สิทธิของตนที่มีอยู่ได้รับการรับรองหรือคุ้มครองตามบทบัญญัติของกฎหมาย ย่อมมีสิทธิที่จะเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาทได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 และมาตรา 188 (1) แม้ผู้ร้องทราบดีว่า ผู้คัดค้านที่ 3 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท มิใช่ไม่ทราบว่าใครเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์หรือไม่ทราบชื่อเจ้าของกรรมสิทธิ์และในการรังวัดขอออกโฉนดที่ดิน ผู้คัดค้านที่ 3 ได้ให้การว่า ไม่ได้ขอออกโฉนดที่ดินทับที่ดินของใคร แต่ผู้ร้องก็มิได้กล่าวอ้างในคำร้องขอว่า ผู้คัดค้านที่ 3 ได้กระทำอย่างใด ๆ อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของผู้ร้องเลย คงบรรยายข้อเท็จจริงเพียงว่าหลังจากเจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 378 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 3 ผู้ร้องยังคงครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินด้านทิศตะวันตก เนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ โดยเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของโดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านหรือรอนสิทธิมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่ายี่สิบปีตามเงื่อนไขของการได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ประการเดียว และผู้ร้องก็เพียงขอให้ศาลมีคำสั่งแสดงว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ มิได้ขอให้บังคับเอาแก่ผู้คัดค้านที่ 3 ด้วย ดังนี้ เมื่อผู้ร้องประสงค์ที่จะให้สิทธิของผู้ร้องที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ได้รับการรับรองหรือคุ้มครอง โดยมิได้กล่าวหาว่าผู้คัดค้านที่ 3 หรือบุคคลคนอื่นใดโต้แย้งสิทธิของผู้ร้อง การที่ผู้ร้องเริ่มคดีโดยยื่นคำร้องขอต่อศาลอย่างคดีไม่มีข้อพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 188 (1) มิได้เริ่มคดีโดยฟ้องผู้คัดค้านทั้งสามอย่างคดีมีข้อพิพาท จึงเป็นการใช้สิทธิทางศาลที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 55 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์โดยสำคัญผิด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเจตนาเป็นเจ้าของสำคัญกว่าการรู้ว่าที่ดินเป็นของผู้อื่น
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์รวมทั้งทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลย โดยครอบครองที่ดินพิพาทโดยสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ด้วยไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6151/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์: แม้สำคัญผิดว่าที่ดินเป็นของตน ก็สามารถนับระยะเวลาครอบครองได้
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์โดยทำคันนาเป็นเส้นแบ่งอาณาเขตระหว่างที่ดินโจทก์และจำเลยดังกล่าวและปลูกต้นไม้รวมทั้งทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของจำเลย โดยครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของนับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว ดังนี้เมื่อที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามโฉนดที่ดินของโจทก์ แม้จำเลยจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินของจำเลยเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ได้ ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ด้วยไม่
of 167