คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1382

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,662 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10002/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภาระจำยอมโดยการใช้ทางต่อเนื่องและสงบ อายุความ 10 ปี โดยไม่ถูกขัดขวาง
โจทก์ ญาติของโจทก์และผู้เช่าที่ดินพร้อมบ้านของโจทก์ต่างได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองเป็นทางเดินออกสู่ทางสาธารณะโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมแม้ที่ดินของจำเลยทั้งสองจะมีการโอนต่อกันมาหลายครั้งจนมาถึงจำเลยทั้งสองก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และบริวารได้ใช้ทางพิพาทในที่ดินดังกล่าวติดต่อกันมาโดยเจ้าของที่ดินที่รับโอนต่อกันมาจนถึงจำเลยทั้งสองต่างก็ทราบดีและไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน สิทธิในอันที่จะใช้ในทางพิพาทและระยะเวลาในการใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาถูกกระทบหรือสะดุดหรือหยุดลงไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์และบริวารใช้ทางพิพาทติดต่อกันตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพร้อมบ้านมาในปี 2530 จนถึงปี 2542 ที่จำเลยทั้งสองทำการถมดินและล้อมรั้วลวดหนามปิดกั้นทางพิพาทจึงเป็นการใช้เกินกว่า 10 ปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แล้ว
โจทก์ใช้ทางพิพาทเป็นทางเดินออกสู่ถนนสาธารณะเท่านั่น และโดยสภาพของทางพิพาทก็ไม่อาจใช้เป็นทางให้ยานพาหนะผ่านได้ นอกจากนี้ โจทก์และบุคคลที่เช่าบ้านของโจทก์เดินผ่านที่ดินของจำเลยทั้งสองออกสู่ทางสาธารณะโดยต้องเดินเลียบข้างเสาซึ่งจำเลยที่ 1 ทำไว้เพื่อปลูกบ้าน ซึ่งมีความกว้างไม่ถึง 2 เมตร ประกอบกับทางพิพาทส่วนที่ความกว้างที่สุดประมาณ 150 เซนติเมตร และส่วนที่แคบที่สุดประมาณ 120 เซนติเมตร จึงเห็นควรกำหนดให้ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยทั้งสองกว้าง 120 เซนติเมตร เป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8966/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิภาระจำยอมโดยการใช้ทางต่อเนื่องเกิน 10 ปี แม้โอนกรรมสิทธิ์ก็ไม่กระทบสิทธิ
โจทก์ได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะตั้งแต่ปี 2513 ในขณะที่ที่ดินของจำเลยทั้งสองยังเป็นกรรมสิทธิ์ของ ป. เป็นต้นมา เป็นเวลาเกินกว่าสิบปีแล้วก่อนที่ที่ดินของ ป. จะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. บิดาของจำเลยทั้งสองในปี 2537 และยกให้เป็นของจำเลยทั้งสองในปี 2545 โดย ป. ไม่ได้โต้แย้งหรือหวงห้ามแต่อย่างใด และปรากฏว่าที่ดินที่ ป. แบ่งขายให้โจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ ป. จึงได้บอกให้โจทก์ใช้ทางพิพาทในที่ดินของ ป. เป็นทางเดินเข้าออกสู่ทางสาธารณะเช่นนี้ย่อมมีเหตุผลให้ฟังได้ว่า ป. มีเจตนาให้โจทก์ใช้ทางพิพาทอย่างเป็นทางภาระจำยอม เพราะมิฉะนั้นโจทก์อาจจะไม่ตกลงซื้อที่ดินจาก ป. ดังนี้ การใช้ทางพิพาทของโจทก์จึงหาใช่ใช้โดยถือวิสาสะดังที่จำเลยทั้งสองฎีกาไม่ เมื่อโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทดังกล่าวเป็นทางเดินโดยสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปี ทางพิพาทย่อมตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แม้ต่อมาภายหลัง ป. จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ ว. บิดาจำเลยทั้งสองและ ว. จะยกให้จำเลยทั้งสองก็ตาม ก็หาทำให้สิทธิภาระจำยอมให้ทางพิพาทของโจทก์สิ้นไปไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7780/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ แม้มีสัญญาซื้อขายแต่ไม่ดำเนินการแบ่งแยกโฉนด และที่ดินใช้เป็นสุสาน
แม้หนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตอนท้ายระบุว่า ผู้จะขายจะไปยื่นคำขอแบ่งขายให้แก่ผู้จะซื้อที่สำนักงานที่ดินภายในกำหนดสองปีนับแต่วันทำหนังสือก็ตาม แต่โจทก์ที่ 2 และ บ. กับจำเลยทั้งห้าปล่อยเวลาล่วงเลยไปนานโดยมิได้ดำเนินการเพื่อแบ่งแยกโฉนด แสดงว่าคู่กรณีไม่ได้คำนึงถึงการที่จะทำการแบ่งแยกโฉนดที่ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายกันต่อไป ก่อนทำหนังสือสัญญาดังกล่าวจำเลยทั้งห้านำศพมารดาและบิดาไปฝังไว้ในบริเวณที่ดินพิพาท ต่อมาโจทก์ที่ 2 และ บ. นำศพญาติของโจทก์ทั้งสองจำนวน 15 ศพ ไปฝังไว้เป็นแนวเดียวกัน ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทข้อ 1 ระบุไว้ชัดว่าจำเลยทั้งห้าแบ่งขายที่ดินทางด้านทิศใต้ตามที่ทำฮวงซุ้ยไว้แล้วอยู่ตรงกลางใกล้กับทางด้านทิศตะวันตก (ไม่สุดแนวเขต) จำนวน 2 ไร่ถ้วน แสดงว่าก่อนหน้านี้จำเลยทั้งห้าใช้บริเวณที่ดินพิพาทเป็นสุสานฝังศพบิดามารดาจำเลยทั้งห้าอยู่แล้ว ทั้งตามลักษณะบริเวณที่ดินพิพาทซึ่งทำฮวงซุ้ยไว้แล้วนั้นเป็นที่ฝังศพเฉพาะคนตระกูลของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้า โดยฝังศพไว้ในลักษณะถาวร บนหลุมฝังศพมีการก่อปูนซีเมนต์ไว้อย่างมั่นคงแข็งแรง เมื่อถึงวันเช็งเม้งอันเป็นวันเซ่นไหว้บรรพบุรุษ ญาติผู้ตายคือฝ่ายโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งห้าต่างไปเคารพศพทุกปี อันเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีที่ชาวจีนทั่วไปต้องปฏิบัติตลอดไป โดยสภาพย่อมไม่มีการขุดศพออกจากที่ดินพิพาทแต่อย่างใด จึงไม่อาจให้ความยินยอมหรืออนุญาตกันได้ เพราะหากเจ้าของที่ดินไม่ยินยอมหรือไม่อนุญาตเมื่อใดก็จะต้องขุดศพออกจากที่ดินเมื่อนั้น ซึ่งจำเลยทั้งห้ารู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่แล้ว การที่จำเลยทั้งห้ารับเงินค่าซื้อที่ดินพิพาทจากโจทก์ที่ 2 และ บ. ครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา และยินยอมให้โจทก์ที่ 2 และ บ. นำศพญาติของโจทก์ที่ 2 และ บ. ฝังไว้ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2506 ตามพฤติการณ์ถือได้ว่าจำเลยทั้งห้าสละการครอบครองที่ดินพิพาทแก่โจทก์ที่ 2 และ บ. โดยเด็ดขาด โจทก์ที่ 2 และ บ. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เมื่อ บ. ถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 1 ร่วมกับโจทก์ที่ 2 ครอบครองที่ดินพิพาทโดยใช้เป็นสุสานฝังศพหรือฮวงซุ้ยติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปีแล้ว โจทก์ทั้งสองจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7423/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์: ผู้ร้องไม่จำเป็นต้องบรรยายสถานะบุคคลภายนอกของผู้คัดค้านในคำร้อง
ในชั้นยื่นคำร้องขอครอบครองปรปักษ์นั้น ผู้ร้องทั้งสองเพียงแต่บรรยายให้ปรากฏว่าผู้ร้องทั้งสองได้ครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบ โดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลา 5 ปี หรือ 10 ปี แล้วแต่กรณี ก็ถือว่าเป็นคำร้องที่ได้บรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามมาตรา 172 วรรคสอง แห่ง ป.วิ.พ. แล้ว ส่วนผู้คัดค้านจะเป็นบุคคลภายนอกและได้ทรัพย์ที่ผู้ร้องทั้งสองร้องขอครอบครองปรปักษ์มาโดยสุจริตหรือไม่ไม่ใช่สภาพแห่งข้อหาหรือข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่จำต้องบรรยายมาในคำร้องขอ การที่ศาลชั้นต้นงดสืบพยานผู้ร้องทั้งสองและพยานผู้คัดค้านแล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าผู้ร้องทั้งสองมิได้บรรยายให้ปรากฏในคำร้องว่า ผู้คัดค้านมิใช่บุคคลภายนอก และซื้อที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทโดยไม่สุจริต ผู้คัดค้านจึงได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริต ผู้ร้องทั้งสองจึงไม่อาจยกเรื่องการครอบครองปรปักษ์ซึ่งยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ขึ้นยันผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วได้แล้วพิพากษายกคำร้องขอ จึงเป็นการไม่ชอบ
แม้ตามอุทธรณ์และฎีกาจะขอให้ศาลสูงพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลล่างก็ตาม แต่เมื่อผลของคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 และศาลฎีกามีผลเพียงให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดีหรือไม่เท่านั้น จึงเป็นการขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันมิอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ดังนั้น จึงให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่ผู้ร้องทั้งสองและผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6035/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ต้องปราศจากเจตนาอื่นใด และต้องเป็นการครอบครองที่ต่อเนื่องโดยสงบ เปิดเผย
จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทโดย จ. และเจ้าของรวมคนอื่นให้จำเลยอยู่อาศัย เป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนเจ้าของ จำเลยจะครอบครองที่ดินพิพาทนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดิน จำเลยเพิ่งมาโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทภายหลังจากที่มีการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและโจทก์ให้จำเลยรื้อถอนบ้านออกไปจากที่ดินพิพาท นับถึงวันฟ้องยังไม่ครบ 10 ปี จำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5794/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์ในที่ดินมีโฉนด ผู้ครอบครองมีเจตนาเป็นเจ้าของและครอบครองนานเกิน 10 ปี ได้กรรมสิทธิ์
การที่ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยมีลักษณะเป็นการครอบครองเพื่อตนอย่างเป็นเจ้าของ ทั้งปรากฏว่าที่ดินที่ครอบครองนั้นเป็นที่ดินมีโฉนดที่บุคคลมีสิทธิเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้ แม้จะเป็นการครอบครองโดยเข้าใจว่าเป็นของตน โดยไม่ทราบว่าเป็นที่ดินมีโฉนดของบุคคลอื่นก็ถือได้ว่าเป็นการครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ หาใช่เป็นเรื่องถือไม่ได้ว่าผู้ร้องไม่มีเจตนาเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทไม่ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 2401 ตลอดมาด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของและทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่ผู้ร้องตั้งแต่ปี 2521 โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน ระยะเวลาที่ผู้ร้องครอบครองจนถึงวันยื่นคำร้องขอแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อศาลเป็นเวลาติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้องโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5438/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยอายุความ: การใช้สอยที่ดินต้องสงบ เปิดเผย และเจตนาได้สิทธิ
การได้สิทธิภาระจำยอมโดยอายุความ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิมาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วย ซึ่งได้แก่มาตรา 1382 กล่าวคือเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ต้องได้ใช้สอยอสังหาริมทรัพย์อื่นโดยความสงบ เปิดเผยด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอมในอสังหาริมทรัพย์นั้นติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จึงจะได้ภาระจำยอมเหนืออสังหาริมทรัพย์นั้น คดีนี้ได้ความว่า ทางพิพาทเกิดขึ้นจาก ท. บิดาจำเลยอนุญาตให้ ม. บิดาโจทก์ใช้เป็นทางออกไปสู่ทางสาธารณประโยชน์ การที่โจทก์และบุคคลในครอบครัวของโจทก์ใช้สิทธิเดินผ่านทางพิพาท จึงเป็นการอาศัยสิทธิของ ท. ทั้งปรากฏต่อมาว่าในปี 2535 ที่มารดาโจทก์เสียชีวิต โจทก์ได้ให้ ส. นำรถตักดินมาทำทางพิพาท จำเลยก็ห้ามไม่ให้ ส. ทำทาง แสดงให้เห็นว่าจำเลยยังหวงกันมิให้โจทก์หรือบุคคลอื่นใช้ทางพิพาทโดยพลการ จึงถือได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิและการอนุญาตให้ใช้จากฝ่ายจำเลย แม้จะใช้ทางพิพาทตลอดมาเกิน 10 ปี ก็ไม่ถือเป็นการใช้โดยความสงบ และโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาจะให้ได้สิทธิภาระจำยอม ทางพิพาทจึงไม่ตกอยู่ในภาระจำยอมโดยอายุความแก่ที่ดินโจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้องโจทก์พร้อมกับฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ถอนการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของจำเลย ให้โจทก์ชำระค่าเสียหายแก่จำเลยจนกว่าจะถอนการคัดค้าน กับให้โจทก์และบริวารขนย้ายลูกรังออกไปจากที่ดินพิพาทห้ามรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยต่อไปด้วย แต่ต่อมาปรากฏว่าทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินตามที่จำเลยยื่นคำขอให้แก่จำเลยแล้ว อันทำให้ฟ้องแย้งของจำเลยที่มีคำขอบังคับให้โจทก์ถอนการคัดค้านการออกโฉนดที่ดินของจำเลยและขอให้โจทก์ชำระค่าเสียหายอันเนื่องมาจากการคัคค้านดังกล่าวต้องตกไปโดยปริยาย ส่วนคำขออื่นตามฟ้องแย้งก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยยังติดใจที่จะเรียกร้องเอาจากโจทก์ต่อไปเพราะเมื่อศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ประเด็นเดียวว่าทางพิพาทเป็นทางภาระจำยอมหรือไม่ โดยไม่มีประเด็นตามคำขอในฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยก็ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านย่อมถือว่าจำเลยสละประเด็นแล้ว จึงไม่มีประเด็นในส่วนฟ้องแย้งของจำเลย ศาลชั้นต้นจึงต้องพิพากษายกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย ที่ศาลชั้นต้นฟังว่าทางพิพาทไม่ใช่ทางภาระจำยอมแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์โดยมิได้ยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วยนั้นไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4991/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ภาระจำยอมโดยอายุความและการย้ายทางจำยอม: การใช้ทางต่อเนื่องและประโยชน์ของเจ้าของที่ดิน
ตามหนังสือสัญญาซื้อขาย สัญญาข้อ 3 ระบุว่า น. ผู้ขายยอมให้ทางต่อเมื่อที่ดินส่วนอื่นได้ขายให้คนอื่น น. ได้ยินยอมจะให้ทางเดินกว้าง 2 เมตร ความยาวจนถึงถนนใหญ่ไม่ว่ากรณีใด ๆ เห็นได้ว่าข้อตกลงดังกล่าวเกิดจากการที่โจทก์ซื้อที่ดินจาก น. ซึ่งแบ่งขายที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินให้แก่โจทก์ เพื่อประสงค์ให้โจทก์มีทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะผ่านที่ดินของ น. อันมีลักษณะเป็นการได้ประโยชน์ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายมิใช่เป็นกรณีที่โจทก์อาศัยสิทธิของ น. แต่เพียงฝ่ายเดียว ข้อตกลงที่ให้โจทก์มีสิทธิใช้ทางพิพาทดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมอันเป็นทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แต่เมื่อโจทก์ยังไม่จดทะเบียนการได้มา จึงไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคแรก อย่างไรก็ตาม แม้การได้ภาระจำยอมโดยนิติกรรมของโจทก์จะไม่บริบูรณ์ดังกล่าวหากปรากฏว่าโจทก์ได้ใช้ทางพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาให้เป็นทางภาระจำยอมติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี โจทก์ก็มีสิทธิได้ภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 ประกอบมาตรา 1382
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของภารยทรัพย์อันตกอยู่ในภาระจำยอมแก่ที่ดินของโจทก์หาจำต้องเสนอค่าทดแทนแก่โจทก์จึงจะมีสิทธิขอย้ายทางภาระจำยอมไม่ ซึ่งการเสียค่าใช้จ่ายในการย้ายทางภาระจำยอมนั้นเป็นภาระหน้าที่ของจำเลยที่จะต้องเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด แต่ข้อสำคัญจำเลยจะต้องแสดงได้ว่าการย้ายนั้นเป็นประโยชน์แก่จำเลยและต้องไม่ทำให้ความสะดวกของโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ลดน้อยลง เมื่อพิจารณาทางพิพาทอันเป็นทางภาระจำยอมแล้วจะเห็นได้ว่าที่ดินของจำเลยทางด้านทิศตะวันตกของทางพิพาทประโยชน์ใช้สอยจะน้อยลงเนื่องจากถูกทางพิพาทแบ่งพื้นที่ของที่ดินของจำเลยเป็นสองส่วน โดยที่ดินทางด้านทิศตะวันตกเป็นที่ดินส่วนน้อย แต่หากทางภาระจำยอมย้ายไปอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของที่ดินจำเลย พื้นที่ส่วนที่เหลือของที่ดินจำเลยจะเป็นผืนเดียวกัน จำเลยย่อมใช้สอยประโยชน์ได้มากกว่า และการย้ายทางภาระจำยอมดังกล่าวก็ไม่ทำให้ความสะดวกของโจทก์ลดลงแต่ประการใด จึงสมควรย้ายทางภาระจำยอมโดยจำเลยต้องเป็นฝ่ายเสียค่าใช้จ่ายในการย้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4386/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์: สิทธิในที่ดินเกิดจากการครอบครองโดยสงบ เปิดเผย และเจตนาเป็นเจ้าของ
โจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบเปิดเผยและเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลากว่า 10 ปี แม้บ้านของโจทก์จะอยู่นอกเขตที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกซึ่งจดแม่น้ำลพบุรีแต่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่งอกริมตลิ่งเป็นส่วนควบกับที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3473/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์และผลกระทบต่อการบังคับคดี การยึดทรัพย์สินนอกคดี
ผู้ร้องอุทธรณ์และฎีกาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง มิใช่สินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย และหนี้ตามคำพิพากษามิใช่หนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ศาลจะต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลย หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นหนี้ร่วม โจทก์ก็ไม่อาจยึดที่ดินพิพาทเพื่อขายทอดตลอดชำระหนี้แก่โจทก์ได้เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องผู้ร้องเป็นจำเลยด้วยการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ยกปัญหาว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยก่อนแล้วฟังข้อเท็จจริงว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้อง และพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทของผู้ร้อง โดยไม่วินิจฉัยปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องหรือเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ
การที่ จ. ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทมาจากผู้ที่เป็นบิดามารดาและต่อมา จ. ก็ยกที่ดินพิพาทให้บุตรคือผู้ร้อง น่าเชื่อว่าหลังจาก จ. ได้รับยกให้ที่ดินพิพาทแล้ว จ. ได้ครอบครองทำประโยชน์ที่ดินพิพาทต่อจากบิดามารดาในฐานะเจ้าของจนกระทั่งยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้อง เมื่อ จ. ครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้ใดโต้แย้งคัดค้านมาเป็นเวลาประมาณ 30 ปี จ. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 แม้จะยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนจากบิดามารดามาเป็นชื่อ จ. ก็ตาม และเมื่อ จ. ยกที่ดินพิพาทให้แก่ผู้ร้องในปี 2510 ผู้ร้องก็ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ได้รับการยกให้จาก จ. ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องเพราะผู้ร้องได้มาก่อนจดทะเบียนสมรสกับจำเลยในปี 2519 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ในปี 2530 จึงไม่มีผลทำให้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้องกลายเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยแต่อย่างใด เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง โจทก์ก็ไม่อาจบังคับคดีเอาแก่สินส่วนตัวของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดีได้ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าหนี้ตามคำพิพากษาเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยกับผู้ร้องหรือไม่เพราะไม่มีผลต่อรูปคดี
of 167