คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นวลน้อย ผลทวี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 271 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12452/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผลของการตกลงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายในสัญญาอนุญาตใช้สิทธิฯ การใช้สิทธิออกเสียงของผู้ถือหุ้น
แม้ในการตกลงกันตามบันทึกข้อตกลง จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทจำเลยที่ 1 และ ว. กับ อ. ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจำเลยที่ 1 ตกลงยินยอมด้วยกับข้อตกลงในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวและลงลายมือชื่อไว้ด้วย และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีข้อความระบุว่า เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และผู้ถือหุ้นเดิมของบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ได้ยอมรับในคำฟ้องแล้วว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการบริษัทผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทจำเลยที่ 1 กระทำการแทนและมีผลผูกพันบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ และบันทึกข้อตกลงดังกล่าวนั้นมีเพียงลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 โดยไม่มีตราสำคัญของบริษัทจำเลยที่ 1 ประทับไว้ดังเช่นในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ - ฮาวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้สัตยาบันการทำบันทึกข้อตกลงของจำเลยที่ 2 ในภายหลัง จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 แต่ได้ลงชื่อในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในฐานะผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่านั้น บันทึกข้อตกลงจึงไม่มีผลผูกพันถึงจำเลยที่ 1 ซึ่งไม่ได้ร่วมตกลงด้วย แต่ผูกพันเฉพาะจำเลยที่ 2 ให้ต้องปฏิบัติตามในฐานะผู้ถือหุ้นเท่านั้น
แม้ผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของจำเลยที่ 1 ได้ร่วมตกลงและลงชื่อในบันทึกข้อตกลงก็ตาม แต่การที่ผู้ถือหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 จะทำข้อตกลงให้มีผลเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้เพียงใด หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาว่าผู้ถือหุ้นนั้นมีสิทธิตามที่กฎหมายบัญญัติให้ไว้หรือไม่ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 1173 และ 1176 กำหนดให้ผู้ถือหุ้นมีสิทธิเพียงการเรียกประชุมและเข้าร่วมประชุมใหญ่กับลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ ซึ่งเป็นอำนาจในการเข้าครอบงำการบริหารจัดการบริษัท แต่หามีสิทธิเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหารจัดการในบริษัทโดยตรงไม่
บันทึกข้อตกลงข้อ 9 มีข้อตกลงในการเลิกบันทึกข้อตกลงว่า ในกรณีที่โจทก์ไม่สามารถใช้สิทธิจัดการบริษัทจำเลยที่ 1 ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4 โจทก์มีสิทธิที่จะบอกเลิกบันทึกข้อตกลงโดยบอกกล่าวให้คู่สัญญาอีกฝ่ายที่ผิดสัญญารับทราบเป็นหนังสือ และหากภายใน 10 วัน หลังจากที่ได้รับคำบอกกล่าว คู่สัญญาดังกล่าวยังคงเพิกเฉยให้ถือว่า บันทึกข้อตกลงเป็นอันเลิกกันทันทีเมื่อสิ้นระยะเวลา 10 วัน โดยให้ถือว่าสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ - ฮาว ที่จำเลยที่ 1 ทำไว้กับโจทก์เป็นอันเลิกกันทันทีด้วยนั้น ข้อตกลงในลักษณะดังกล่าวจึงมีผลต่อการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโนว์ - ฮาวในการผลิตผลิตภัณฑ์อันเป็นกิจการของจำเลยที่ 1 และอาจทำให้การดำเนินกิจการของจำเลยที่ 1 ต้องสิ้นสุดลงเนื่องจากไม่สามารถใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิดังกล่าวได้ บันทึกข้อตกลงข้อ 4 และข้อ 9 จึงเป็นการตกลงในเรื่องเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 โดยตรงซึ่งจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ 1 และ ว. กับ อ. ซึ่งเป็นเพียงผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจที่ตกลงกับโจทก์เช่นนั้นได้ และการออกเสียงลงคะแนนเป็นสิทธิเฉพาะตัวของ ว. และ อ. ผู้ถือหุ้นเท่านั้น บริษัทจำเลยที่ 1 ไม่มีอำนาจบังคับให้บุคคลดังกล่าวลงมติให้จำเลยที่ 2 พ้นจากตำแหน่งกรรมการจำเลยที่ 1 ได้ ทั้งตามบันทึกข้อตกลงข้อ 4 ไม่มีข้อความใดที่ระบุว่า จำเลยที่ 2 ตกลงยินยอมลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 แต่กลับมีข้อความอันเป็นลักษณะเป็นการบังคับให้จำเลยที่ 2 ลาออก โดยระบุว่า ผู้ถือหุ้นเดิมและโจทก์ตกลงใช้สิทธิออกเสียงลงคะแนนในบริษัทจำเลยที่ 1 และดำเนินการใด ๆ ที่จำเป็นเพื่อให้จำเลยที่ 2 ลาออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 และไม่มีข้อตกลงใด ๆ ในบันทึกดังกล่าวว่าจำเลยที่ 2 จะลาออกจากการเป็นกรรมการบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อผู้ถือหุ้นไม่มีอำนาจทำบันทึกข้อตกลงให้มีผลโดยตรงเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัทจำเลยที่ 1 ได้ การทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ข้อตกลงข้อ 4 ในบันทึกข้อตกลง ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุแห่งการผิดข้อตกลงดังกล่าวมาเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในวิทยาการหรือโน - ฮาวแก่จำเลยที่ 1 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10840/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การดำเนินคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การขาดนัดยื่นคำให้การ และการใช้บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 เป็นหลัก ส่วนกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับอื่น ๆ ที่ใช้กับคดีแพ่งและคดีอาญาโดยทั่วไปจะนำมาใช้ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวบัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะ ทั้งการนำมาใช้ก็เป็นการใช้โดยอนุโลมอีกด้วย เมื่อการดำเนินกระบวนพิจารณาในกรณีที่จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ มีข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 ข้อ 11 กำหนดไว้ว่า ในคดีที่จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ โดยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การด้วย ต่างกับการขาดนัดยื่นคำให้การในคดีแพ่งทั่วไปที่เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมาย ศาลไม่ต้องมีคำสั่ง และหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรต่อไป จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 198 และมาตราต่อไปมาใช้บังคับโดยอนุโลม แต่สำหรับคดีนี้ เนื่องจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ จึงจะนำบทบัญญัติมาตรา 198 วรรคสอง มาใช้บังคับยังมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10840/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญา: การขาดนัดยื่นคำให้การและการใช้บทบัญญัติมาตรา 198 วรรคสองโดยอนุโลม
การดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องใช้ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 และข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 เป็นหลัก ส่วนกฎหมายวิธีพิจารณาความฉบับอื่นๆ ที่ใช้กับคดีแพ่งและคดีอาญาโดยทั่วไปจะนำมาใช้ในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติและข้อกำหนดดังกล่าวบัญญัติหรือกำหนดไว้โดยเฉพาะ ทั้งการนำมาใช้ก็เป็นการใช้โดยอนุโลมอีกด้วย
กรณีที่จำเลยที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำให้การนั้น ข้อกำหนดคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2540 บัญญัติไว้เพียงข้อเดียว ได้แก่ข้อ 11 ดังกล่าว กล่าวคือ ในคดีของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง จำเลยที่ 3 จะขาดนัดยื่นคำให้การ นอกจากจำเลยที่ 3 มิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้ว ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางต้องมีคำสั่งแสดงว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การด้วย ต่างกับการขาดนัดยื่นคำให้การในคดีแพ่งทั่วไปที่เป็นการขาดนัดยื่นคำให้การโดยผลของกฎหมาย ศาลไม่ต้องมีคำสั่ง และหลังจากศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งว่าจำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การแล้ว ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องดำเนินกระบวนพิจารณาอย่างไรต่อไป จึงต้องนำ ป.วิ.พ. มาตรา 198 และมาตราต่อไปมาใช้บังคับโดยอนุโลม เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางยังไม่ได้มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 3 ขาดนัดยื่นคำให้การ จึงจะนำบทบัญญัติมาตรา 198 วรรคสอง มาใช้บังคับยังมิได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10839/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขัดแย้งคำพิพากษาต่างศาล: ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาเดิม แม้มีคำพิพากษาจากศาลต่างประเทศ
ตามคำร้องของจำเลยอ้างเหตุว่า ในมูลหนี้เดียวกันนี้และก่อนฟ้องคดีนี้ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง โจทก์ได้ฟ้องคดีต่อ "The High Court of Justice, Queen's Bench Division, Commercial Court" ประเทศสหราชอาณาจักร จนศาลดังกล่าวมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยชำระเงิน จำนวน996,498 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ ส่วนศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,687,289.24 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ จึงเป็นกรณีคำพิพากษาของศาลต่างรัฐกันขัดแย้งกันเรื่องจำนวนหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์ ทั้งโจทก์ได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าวไปแล้วบางส่วนด้วย หากบังคับคดีนี้ต่อไป จำเลยจะได้รับความเสียหายเกินความจำเป็น เมื่อพิจารณาคำร้องและอุทธรณ์ของจำเลยแล้ว เข้าใจได้ว่าเหตุที่มีความประสงค์จะขอให้ศาลงดการบังคับคดีเนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกากับคำพิพากษา "The High Court of Justice" ขัดแย้งกันในเรื่องจำนวนหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระ เห็นว่า จำเลยไม่ได้อ้างเหตุที่งดการบังคับคดี แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่จำเลยอ้าง ก็ไม่มีเหตุที่จะงดการบังคับคดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10546/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์ – พยานหลักฐานไม่เพียงพอ – จำเลยปฏิเสธ – ศาลยกฟ้อง
เมื่อโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาในข้อหาความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงให้ครบองค์ประกอบของความผิดฐานดังกล่าวและให้มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดดังที่โจทก์ฟ้องจริง จึงจะลงโทษจำเลยสำหรับความผิดดังกล่าวได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์รูปการ์ตูนหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์ รูปหุ่นยนต์บัมเบิลบี รูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม และรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์สของผู้เสียหาย โดยจำเลยนำเอากล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์จำนวน 24 ชิ้น กล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์บัมเบิลบีจำนวน 132 ชิ้น กล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์และของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม จำนวน 14 ชิ้น และกล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่มีรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์ส จำนวน 5,330 ชิ้น ของกลางซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่มีรูปการ์ตูนหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังนี้ โจทก์จึงต้องนำสืบพยานหลักฐานพิสูจน์ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ให้มีน้ำหนักและเหตุผลรับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยรวม 5 ประการ ได้แก่ ประการที่ 1 ข้อเท็จจริงที่ว่ากล่องบรรจุสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ของกลางจำนวน 24 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ดีเซ็ปติคอนส์ จำนวน 132 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์บัมเบิลบี จำนวน 14 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ออฟติมัส ไพรม และจำนวน 5,330 ชิ้น มีรูปหุ่นยนต์ทรานฟอร์มเมอร์สซึ่งมีผู้ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ประการที่ 2 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยรู้อยู่แล้วว่าสินค้าที่มีรูปหุ่นยนต์ดังกล่าวเป็นงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ประการที่ 3 ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยได้ขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปซึ่งสินค้าของเล่นหุ่นยนต์ที่บรรจุอยู่ในกล่องของกลางดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหาย ประการที่ 4 ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยในประการที่ 3 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อหากำไร และประการที่ 5 ข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยในประการที่ 3 และที่ 4 เป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษเพื่อการค้า
โจทก์มี ม. ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายมาเบิกความลอย ๆ เพียงว่า ม. พบว่ามีสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปประยุกต์ของผู้เสียหาย โดยไม่ปรากฏจากคำเบิกความของ ม. ว่ารูปการ์ตูนหุ่นยนต์ที่ปรากฏอยู่บนกล่องสินค้าของกลางเป็นงานที่ทำซ้ำและดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายเพราะเหตุใด รูปการ์ตูนดังกล่าวแตกต่างจากรูปการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายอย่างไร ม. เคยเห็นรูปการ์ตูนอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือไม่ก็ไม่ปรากฏ ทั้งไม่ปรากฏว่า ม. ได้นำวัตถุพยานของกลางไปตรวจสอบกับรูปการ์ตูนซึ่งเป็นงานศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายว่ารูปการ์ตูนบนกล่องสินค้าของกลางได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในรูปการ์ตูนของผู้เสียหายด้วยการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายอย่างไร นอกจากนี้ ม. พยานโจทก์เป็นเพียงพนักงานบริษัท ว. ซึ่งประกอบกิจการดูแลการละเมิดลิขสิทธิ์ให้แก่ผู้เสียหาย ทั้งโจทก์ก็ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบให้เห็นว่า จำเลยรู้อยู่แล้วว่าวัตถุพยานของกลางมีงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมรูปการ์ตูนของผู้เสียหาย พยานหลักฐานของโจทก์ดังกล่าวยังไม่มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังได้โดยปราศจากเหตุอันควรสงสัยว่า กล่องสินค้าวัตถุพยานของกลาง มีรูปการ์ตูนที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานศิลปกรรมรูปการ์ตูนของผู้เสียหายอันเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ที่โจทก์ฟ้อง
ส่วนที่พยานโจทก์เบิกความว่า เมื่อมีการจับกุมจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพว่าจำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมนั้น ถ้อยคำของจำเลยผู้ถูกจับตามบันทึกการตรวจค้นจับกุมดังกล่าวเป็นถ้อยคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิด จึงต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานและไม่อาจนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ว่า จำเลยได้กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) ดังที่โจทก์ฟ้อง ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบมาตรา 26 และ ป.วิ.อ. มาตรา 84 วรรคท้าย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10156/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของผู้ขนส่งสินค้าในสัญญาประกันภัยและการจำกัดความรับผิดตามใบรับขน
แม้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 1 ไม่มีสาขาในประเทศราชอาณาจักรสวีเดน ขั้นตอนในการดำเนินการขนส่งจะต้องอาศัย Agent หรือผู้รับขนส่งที่ประเทศต้นทาง ตามใบวางบิลของจำเลยที่ 2 มีการหักส่วนของกำไรที่เป็นของจำเลยที่ 1 ออกด้วย จำเลยที่ 1 มีกำไรจากค่าขนส่งส่วนหนึ่ง ค่าธรรมเนียมใบสั่งปล่อยสินค้า และค่าเงินที่ผันผวน เมื่อตรวจดูการโต้ตอบทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างพนักงานฝ่ายขายของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ขายระวางกับเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แล้ว เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 ได้ผลประโยชน์ในส่วนที่เป็นค่าระวาง (Air Freight) ด้วย เมื่อ ม. ติดต่อว่าจ้างจำเลยที่ 1 เพื่อการขนส่งสินค้าพิพาทตามภาระที่เกิดจากเงื่อนไขการส่งมอบแบบ FCA และต่อมาเมื่อการขนส่งเสร็จสิ้นจำเลยที่ 1 ได้รับค่าตอบแทนส่วนหนึ่งจากค่าระวางทั้งหมดที่เกิดขึ้นดังกล่าวจาก ม. แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ได้เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทเอง กรณีก็ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญาขนส่งกับ ม. ผู้ส่งที่แท้จริงตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 608 และ 610 แล้ว หากสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามมาตรา 616 และเมื่อจำเลยที่ 1 มอบหมายให้จำเลยที่ 2 ขนส่งสินค้าพิพาท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้ขนส่งอื่นที่ต้องรับผิดด้วยหากว่าสินค้าพิพาทเสียหายในระหว่างการขนส่ง ทั้งนี้ ตามมาตรา 617 และ 618
จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งสินค้าพิพาทแต่จำเลยที่ 2 มอบหมายต่อไปให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทมายังท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำเลยที่ 3 จึงอยู่ในฐานะเป็นผู้ขนส่งอื่นในการขนส่งที่มีผู้ขนส่งหลายคนหลายทอดตามความหมายในมาตรา 617 และ 618 แม้ใบรับขนของทางอากาศจะไม่มีชื่อของ ม. ปรากฏอยู่ แต่ข้อเท็จจริงฟังยุติว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทที่แท้จริง และถ้าข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าสินค้าเสียหายในระหว่างการขนส่งโดยจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 3 ย่อมมีความรับผิดต่อ ม. ผู้ซื้อในเงื่อนไขส่งมอบแบบ FCA นอกจากนั้นตามใบรับขนของทางอากาศของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของ แม้จะระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ส่งและจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับตราส่ง แต่ก็ระบุในช่อง Nature and Quantity of Goods ว่า CONSOLIDATED CARGO AS PER ATTACHED MANIFEST โดยมี Cargo Manifest แนบอยู่ในช่อง House Airway Bill/Consignee ระบุชื่อ ม. เป็นผู้รับตราส่งไว้ด้วย เช่นนี้ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบกิจการขนส่งย่อมรู้และเข้าใจอยู่แล้วว่าผู้รับสินค้าพิพาทที่ปลายทางที่แท้จริงคือ ม. ผู้รับตราส่งที่แท้จริงตามมาตรา 627 เมื่อโจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันภัยแล้วย่อมรับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 3 ได้
ตามใบรับขนของทางอากาศที่จำเลยที่ 3 ออกด้านหน้ามีช่องระบุข้อความให้ผู้ส่งทราบว่า ผู้ส่งสามารถกำหนดเพิ่มจำนวนจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งได้มากกว่าที่ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดไว้ ด้วยการชำระค่าระวางขนส่งเพิ่มเติมแก่ผู้ขนส่ง และที่ด้านหลังมีข้อความพิมพ์ไว้ ซึ่งมี Notice Concerning Carrier's Limitation of Liability กำหนดจำนวนจำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 3 ไว้ที่ 19 SDR ต่อน้ำหนักสินค้าที่เสียหายหรือสูญหาย 1 กิโลกรัม เมื่อด้านหน้าของใบรับขนของทางอากาศไม่ปรากฏว่ามีการระบุมูลค่าของสินค้าพิพาทไว้ในช่อง Value for Carriage ดังนี้ จำเลยที่ 3 ย่อมจำกัดความรับผิดไว้ได้ตามที่ปรากฏหลังใบรับขนของทางอากาศ
เมื่อความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างการดูแลของจำเลยทั้งสาม และโจทก์จ่ายเงินชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายให้แก่ผู้เอาประกันภัยไปแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนไปได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9971/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายบริการ "SINGAPOREAIR" ไม่เป็นเครื่องหมายบ่งเฉพาะและขัดต่อกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา
โจทก์นำสืบว่า โจทก์ประดิษฐ์คำว่า "SINGAPOREAIR" ขึ้นใหม่โดยนำคำว่า "SINGAPORE" และ "AIR" มาเรียงต่อกันเกิดเป็นคำใหม่และไม่มีคำแปลหรือความหมายตามพจนานุกรม แม้คำที่โจทก์นำมาเรียงต่อกันจะเป็นภาษาโรมันขึ้นใหม่เพราะเรียงอักษรติดต่อกันไป แต่โจทก์และประชาชนทั่วไปก็เรียกขานว่า สิงคโปร์แอร์ ซึ่งเป็นคำเรียกขานของคำเดิมที่นำมาเรียงต่อกันนั่นเอง คำว่า "SINGAPORE" ตามพจนานุกรมและความเข้าใจของคนทั่วไปหมายถึง ประเทศสิงคโปร์ และคำว่า "AIR" แปลว่า อากาศจึงไม่อาจถือได้ว่าคำว่า "SINGAPOREAIR" ไม่มีคำแปลดังที่โจทก์กล่าวอ้างได้ เมื่อเครื่องหมายบริการคำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์นำมาใช้กับบริการในจำพวก 39 รายการบริการการขนส่งทางอากาศ การขนส่งผู้โดยสาร การขนส่งสินค้า ฯลฯ ย่อมเป็นคำที่เล็งถึงลักษณะของการบริการโดยตรง จึงไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2)
คำว่า "SINGAPORE" แปลว่า สาธารณรัฐสิงคโปร์ ซึ่งเป็นชื่อของรัฐต่างประเทศ ถือได้ว่าเครื่องหมายบริการ คำว่า "SINGAPOREAIR" ของโจทก์มีชื่อของรัฐต่างประเทศอยู่ด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากผู้ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ของประเทศสิงคโปร์ให้นำคำว่า "SINGAPORE" มาใช้เป็นชื่อทางการค้า คำขอของโจทก์จึงต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (6)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9897/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาต้องไม่กลับคำวินิจฉัยเดิม การยึดทรัพย์สินบังคับคดีเพิ่มเติมต้องใช้วิธีอุทธรณ์
ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 143 นั้น การที่ศาลจะมีคำสั่งเพิ่มเติมเกี่ยวกับการแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อผิดหลงในคำพิพากษาได้จะต้องไม่เป็นการกลับหรือแก้คำวินิจฉัยในคำพิพากษาเดิม เมื่อศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ตรวจคำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางเทียบกับรายการที่ต้องมีในคำพิพากษาตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 แล้ว พบว่าคำพิพากษาของศาลดังกล่าวในหน้า 2 ตั้งแต่ข้อความว่า "พิเคราะห์พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบแล้ว คดีฟังได้ว่า" ถึงหน้า 7 บรรทัดที่ 7 สิ้นสุดที่ข้อความว่า "และประกาศของโจทก์เอกสารหมาย จ.24 ถึง จ.26" เป็นส่วนของเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ ส่วนหน้า 7 บรรทัดที่ 7 ตั้งแต่ข้อความว่า "คดีฟังได้ดังกล่าว" จนสิ้นสุดบรรทัดที่ 11 นั้นเป็นส่วนของเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อกฎหมาย หลังจากที่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามข้อความก่อนหน้านี้ ตามรายการในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ส่วนข้อความในหน้า 7 ตั้งแต่ข้อความว่า "พิพากษาให้..." เป็นต้นไปจนจบนั้นเป็นส่วนของคำวินิจฉัยของศาลตามรายการในพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ซึ่งเมื่อพิจารณารายละเอียดในส่วนของพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (4) ดังกล่าวแล้ว ไม่ปรากฏว่าศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้กล่าววินิจฉัยไว้โดยชัดแจ้งเป็นการเฉพาะเกี่ยวกับอำนาจของโจทก์ที่จะยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้า หลังจากการบังคับจำนองแล้วได้เงินไม่พอชำระหนี้ ว่าจะสามารถยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าเพื่อบังคับคดีได้อีกหรือไม่ และเมื่อพิจารณารายละเอียดต่อไปในส่วนของพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 141 (5) ก็ไม่ปรากฏเช่นกันว่า ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยให้โจทก์มีอำนาจยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าเพื่อบังคับคดีได้อีก ดังนั้น คำพิพากษาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทั้งสองส่วนจึงสอดคล้องกัน ไม่ใช่เรื่องที่คำพิพากษาเกิดข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยที่จะขอแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังโดยอาศัยพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 143 แต่โจทก์ต้องใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมาตรา 38 เมื่อโจทก์ไม่ได้ใช้สิทธิอุทธรณ์ คำพิพากษาดังกล่าวจึงถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 147 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9630/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งสินค้าทางทะเล: เงื่อนไข Free Out, หน้าที่ของผู้ขนส่ง, ภาระการพิสูจน์ความเสียหาย
ตามปกติแล้วผู้ขนส่งมีหน้าที่ส่งสินค้าจากท่าเรือต้นทางจนถึงท่าเรือปลายทางและมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ท่าเรือปลายทาง แต่ทั้งนี้อาจมีข้อตกลงกันเป็นพิเศษให้ผู้รับตราส่งเป็นผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเองได้ที่เรียกว่าเป็นเงื่อนไขแบบ Free Out เมื่อพิจารณาใบตราส่งไม่ปรากฏว่าได้ระบุเงื่อนไขดังกล่าวไว้และที่พยานจำเลยที่ 2 อ้างว่า สินค้าพิพาททำการขนถ่ายภายใต้ข้อกำหนด Free Out ตามไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอกสารนั้น เอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ส่งถึงตัวแทนจำเลยที่ 1 และยังเป็นเอกสารที่จำเลยที่ 1 ทำขึ้นฝ่ายเดียวโดยไม่ปรากฏว่าผู้ส่งหรือผู้รับตราส่งได้รับทราบและแสดงความตกลงด้วย จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าการขนส่งสินค้าพิพาทเป็นการขนส่งที่มีเงื่อนไขแบบ Free Out
แม้ข้อเท็จจริงไม่อาจฟังได้ว่าผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ขนถ่ายสินค้าพิพาทขึ้นจากเรือ ดังที่จำเลยที่ 2 กล่าวอ้าง หากแต่เป็นหน้าที่ของผู้ขนส่ง แต่เมื่อโจทก์อ้างว่าสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างที่อยู่ในความดูแลของจำเลยที่ 1 ผู้ขนส่ง โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9629/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ ความรับผิดของผู้รับขนและผู้ร่วมขนส่ง การจำกัดความรับผิดตามกฎหมาย
แม้จำเลยที่ 1 ทำหน้าที่เป็นตัวแทนทำสัญญาแทนตัวการซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศต้องรับผิดโดยลำพังตนเอง เว้นแต่ข้อความแห่งสัญญาจะแย้งกันกับความรับผิดของตัวแทนตาม ป.พ.พ. มาตรา 824 ก็ตาม แต่เมื่อใบตราส่งกำหนดเงื่อนไขข้อยกเว้นความรับผิดของตัวแทนผู้ขนส่งเอาไว้ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมมีผลผูกพันโจทก์ผู้ส่งและจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งซึ่งเป็นคู่สัญญา จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ผู้ขนส่งจึงไม่ต้องรับผิดโดยลำพังต่อโจทก์สำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สินค้า
แม้จำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้เกี่ยวกับการจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีอันเป็นประเทศที่เกิดความเสียหายแก่สินค้าที่ขนส่งตาม พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 31 โดยไม่ได้ให้การต่อสู้ถึงข้อจำกัดความรับผิดตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง แต่ความรับผิดของผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องย่อมเป็นไปตามที่ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 กำหนดไว้ แม้จำเลยที่ 2 จะมิได้นำสืบถึงรายละเอียดในกฎหมายภายในของประเทศสาธารณรัฐตุรกีให้รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 สามารถจำกัดความรับผิดตามกฎหมายภายในของประเทศที่เกิดความเสียหายมาตรา 31 ก็มีผลเพียงทำให้จำเลยที่ 2 ไม่อาจจำกัดความรับผิดได้ตามมาตรา 31 ซึ่งเป็นข้อยกเว้นของมาตรา 28 เท่านั้น หาได้ตัดสิทธิของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่ตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติให้จำกัดความรับผิดของจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องไว้เพียง 666.67 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือ 2 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน ต่อ 1 กิโลกรัม ของน้ำหนักทั้งหมดแห่งของที่สูญหาย แล้วแต่จำนวนเงินใดจะมากกว่าไม่
แม้จำเลยที่ 3 จะอุทธรณ์ว่าคดีอยู่ในบังคับแห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 แต่เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าคดีอยู่ภายในบังคับ พ.ร.บ.การขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 และจำเลยที่ 3 เป็นผู้ครอบครองเรือซึ่งต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์สำหรับความเสียหาย และเมื่อจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการขนส่งต่อเนื่องสามารถจำกัดความรับผิดได้โดยรับผิดในความเสียหายไม่เกินจำนวน 212,001.06 หน่วยสิทธิพิเศษถอนเงิน จำเลยที่ 3 ย่อมสามารถจำกัดความรับผิดได้ ตาม พ.ร.บ.ขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ พ.ศ.2548 มาตรา 28 วรรคหนึ่ง เช่นเดียวกับจำเลยที่ 2
of 28