คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นวลน้อย ผลทวี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 271 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8811/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลียนแบบเครื่องหมายการค้า: ศาลฎีกาตัดสินให้จำเลยมีความผิดและปรับ พร้อมริบสินค้า
เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีภาคส่วนที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการ คือ ประการแรก มีวงกลมสีฟ้าซึ่งด้านบนมีสีฟ้าอ่อนและด้านล่างมีสีฟ้าแก่และมีเส้นรอบวงเป็นสีขาวกับมีรูปประดิษฐ์ลายเส้นสีเขียวอ่อนและสีเขียวแก่รอบเส้นรอบวงสีขาวอีกชั้นหนึ่งเหมือนกัน ซึ่งภาคส่วนดังกล่าวมีความคล้ายกันมากจนยากที่บุคคลใดจะคิดประดิษฐ์ขึ้นเองได้โดยไม่ได้ลอกเลียนมาและเป็นภาคส่วนที่สำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ ประการที่สอง ภายในวงกลมมีเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่ในวงกลมเหมือนกัน เสียงเรียกขานมีความคล้ายคลึงกัน แม้ในส่วนของคำภาษาอังกฤษแม้โจทก์จะใช้อักษรโรมันคำว่า "CRYSTAL" ส่วนของจำเลยที่ 1 ใช้คำว่า "KISS" แตกต่างกัน แต่สำหรับคนไทยที่ไม่คุ้นเคยภาษาอังกฤษอาจไม่สามารถแยกความแตกต่างได้ ในส่วนที่เป็นอักษรไทยของโจทก์ใช้คำว่า "คริสตัล" ส่วนของจำเลยที่ 1 ใช้คำว่า "คิสส์" มีความคล้ายคลึงกัน จำเลยที่ 1 เลือกใช้อักษร "ค" เป็นอักษรตัวแรกซึ่งเป็นอักษรสำคัญของเครื่องหมายการค้าเหมือนของโจทก์ และเลือกใช้ลักษณะตัวอักษร "ค" และ "ส" คล้ายคลึงกับของโจทก์และมีขนาดใกล้เคียงกับของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 ทั้งในส่วนภาษาอังกฤษและภาษาไทยเป็นการใช้เสียงทับศัพท์ภาษาอังกฤษซึ่งล้วนเป็นภาษาต่างประเทศ ผู้ซื้อคนไทยซึ่งไม่มีความคุ้นเคยกับความหมายคำดังกล่าวย่อมไม่อาจแยกความแตกต่างได้ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 จะแตกต่างจากของโจทก์บางส่วนโดยไม่มีรูปดาวอยู่ในวงกลมที่ด้านบนและด้านล่าง แต่มีรูปริมฝีปากสีแดงอยู่ภายในวงกลมด้านล่างแต่รูปรอยดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดปลีกย่อยและมีขนาดเล็กไม่สามารถแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยที่ 1 ได้อย่างชัดเจน ประการที่สาม การวางโครงสร้างหรือวางตำแหน่งเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 อยู่ตรงกลางเช่นเดียวกับโจทก์ทั้งยังใช้พื้นตัวอักษรเป็นสีขาวเหมือนกัน ประการที่สี่ ลักษณะของขวดบรรจุภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 คล้ายคลึงกับของโจทก์โดยมีลักษณะของขวดและลวดลายคล้ายกับของโจทก์กับมีฝาขวดเป็นสีฟ้าเช่นเดียวกันกับฝาขวดของโจทก์ ประการที่ห้า จำพวกสินค้าของจำเลยที่ 1 เป็นน้ำดื่มเช่นเดียวกับโจทก์ และมีช่องทางจำหน่ายเช่นเดียวกับของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีสาระสำคัญคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์เกือบทุกประการ เมื่อจำเลยที่ 1 เคยผลิตน้ำดื่มโดยใช้เครื่องหมายการค้าอื่นซึ่งไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์มาก่อน การที่จำเลยที่ 1 เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์มีมูลเหตุจากน้ำดื่มของโจทก์เป็นน้ำดื่มที่มีภาพลักษณ์ที่ดีและยอดจำหน่ายสูง จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า "คิสส์" และ "KISS" ภายในรูปวงกลมสีฟ้าโดยมีเจตนาเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นนั้นอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109
จำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 จึงมีอำนาจกระทำการแทนจำเลยที่ 1 กับมีอำนาจสั่งการและควบคุมดูแลการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดซึ่งมีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดและต้องรับโทษสำหรับความผิดที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลได้กระทำตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 114
ที่โจทก์ขอให้จำเลยระงับหรือละเว้นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นั้น เป็นการขอตามมาตรา 116 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่กำหนดมาตรการการป้องกันความเสียหายโดยให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จะขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายค้าของโจทก์อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 หรือมาตรา 110 ระงับหรือละเว้นการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์หรือจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เพื่อป้องกันความเสียหายแก่โจทก์ที่จะเกิดการเลียนเครื่องหมายการค้าและจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของตน มิใช่บทกำหนดโทษแก่ผู้กระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 18 แต่อย่างใด ซึ่งการที่โจทก์จะขอให้ศาลบังคับตามมาตรา 116 นี้ ก็ต้องปรากฏในขณะที่ยื่นคำขอว่า มีหลักฐานแจ้งชัดว่า จำเลยได้กระทำหรือกำลังจะกระทำการเลียนเครื่องหมายการค้า หรือจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า หลังจากมีการฟ้องคดีแล้วจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์หยุดการขายน้ำดื่มภายใต้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสอง จึงไม่มีกรณีที่จะขอให้บังคับตามมาตรา 116 อีกต่อไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8664/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทหลังคำชี้ขาดเดิม & สัญญาทางปกครอง vs. สัญญาทั่วไป
ปัญหาที่เกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในการทำคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการไม่ใช่ปัญหาที่จะทำให้การยอมรับหรือบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อุทธรณ์ของผู้คัดค้านที่ว่าอนุญาโตตุลาการทำคำชี้ขาดเป็นภาษาไทยขัดกับสัญญาที่ให้ทำเป็นภาษาอังกฤษจึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่เข้าข้อยกเว้นอันจะไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตามมาตรา 45 (1) แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่รับวินิจฉัย
อนุญาโตตุลาการชุดแรกมีคำชี้ขาดให้ผู้ร้องและผู้คัดค้านปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องฝึกบินจนแล้วเสร็จ และให้เวลาแก่ผู้ร้องปฏิบัติและส่งมอบงานตามสัญญาแก่ผู้คัดค้านเป็นระยะเวลา 9 เดือน นับแต่วันทำคำชี้ขาด และให้ผู้ร้องติดตั้งอุปกรณ์สำหรับควบคุมกระแสไฟฟ้าแก่ผู้คัดค้านโดยไม่คิดมูลค่าตามที่ผู้ร้องแสดงความประสงค์ และภายหลังจากที่ผู้ร้องปฏิบัติถูกต้องตามคำชี้ขาดแล้วให้ผู้คัดค้านชำระเงินส่วนที่เหลือตามสัญญาอีกร้อยละ 10 ของมูลค่างานตามสัญญาแก่ผู้ร้อง โดยสิทธิและหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายนอกจากที่ชี้ขาดไว้เป็นอย่างอื่นในคำชี้ขาดให้เป็นไปตามที่ตกลงกันในสัญญา เมื่อผู้ร้องติดตั้งเครื่องฝึกบินแล้วเสร็จให้ผู้คัดค้านคืนเงินค่าประกันการปฏิบัติตามสัญญาจำนวน 228,850 ดอลลาร์สหรัฐ และเงินหลักประกันค่าชำระราคาล่วงหน้าจำนวน 1,144,250 ดอลลาร์สหรัฐ แก่ผู้ร้อง เห็นได้ว่าเป็นการชี้ขาดให้คู่สัญญายังคงมีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องฝึกบินต่อไปตามเดิมโดยเพียงแต่กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติตามสัญญาของผู้ร้องขึ้นใหม่ ต่อมาเมื่อการปฏิบัติตามสัญญาหลังจากที่อนุญาโตตุลาการชุดแรกมีคำชี้ขาดนั้นเกิดปัญหาพิพาทระหว่างกันอีกเกี่ยวกับเรื่องค่าปรับตามสัญญา ซึ่งเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าในการปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดแรกผู้ร้องส่งมอบเครื่องฝึกบินและอุปกรณ์ให้แก่ผู้คัดค้านล่าช้า จึงเกิดปัญหาข้อพิพาทขึ้นใหม่ในเรื่องค่าปรับตามสัญญาซึ่งมิใช่ข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการชุดแรกได้วินิจฉัยชี้ขาดไว้ แต่เป็นข้อพิพาทที่เกี่ยวด้วยสิทธิและหน้าที่ของผู้ร้องและผู้คัดค้านนอกจากที่อนุญาโตตุลาการชุดแรกชี้ขาดไว้เป็นอย่างอื่นในคำชี้ขาด การระงับข้อพิพาทจึงต้องเป็นไปตามที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านตกลงกันในสัญญา ผู้ร้องย่อมมีสิทธิอาศัยสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องฝึกบินเสนอข้อพิพาทนี้ให้อนุญาโตตุลาการชุดหลังวินิจฉัยชี้ขาดได้ อนุญาโตตุลาการชุดหลังจึงมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทที่เกิดขึ้นใหม่เกี่ยวกับการคืนเงินค่าปรับจำนวน 315,813 ดอลลาร์สหรัฐ ตามสัญญาได้ หาใช่เป็นการที่อนุญาโตตุลาการชุดหลังมีคำชี้ขาดอันมีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหรือขยายระยะเวลาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดแรกไม่
แม้กองทัพอากาศผู้คัดค้านจะเป็นส่วนราชการและมีฐานะเป็นนิติบุคคลซึ่งถือเป็นหน่วยงานทางปกครอง และสัญญาซื้อขายติดตั้งเครื่องฝึกบินระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านจะเป็นสัญญาที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง แต่สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของผู้คัดค้านโดยเฉพาะไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทานหรือสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามความหมายที่บัญญัติไว้ในมาตรา 3 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8660/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์: การกระทำผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์และการทำซ้ำ จำเป็นต้องลงโทษตามบทที่มีโทษหนักที่สุดตามกฎหมายอาญา
การกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 78 ประกอบมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 81 ประกอบมาตรา 47 วรรคหนึ่ง ผู้กระทำความผิดต้องมีหน้าที่นำภาพยนตร์และวีดิทัศน์ที่จะนำออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรไปผ่านการตรวจพิจารณาและได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ก่อน แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องให้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้มีหน้าที่ดังกล่าว การกระทำของจำเลยตามที่โจทก์บรรยายฟ้องย่อมไม่อาจเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 25 วรรคหนึ่ง และมาตรา 47 วรรคหนึ่ง อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 78 และมาตรา 81 ได้ ฟ้องของโจทก์ในความผิดฐานนี้จึงเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ แม้จำเลยให้การรับสารภาพ ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานนี้ได้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทำซ้ำ ดัดแปลง โดยผลิตแผ่นดีวีดี วีซีดี และเอ็มพี 3 งานดนตรีกรรม ภาพยนตร์ วีดิทัศน์ สิ่งบันทึกเสียง และโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหายทั้งยี่สิบสี่โดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบสี่ แล้วนำออกขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายแก่บุคคลทั่วไปอันเป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไรในทางการค้า โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่างานดังกล่าวเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งยี่สิบสี่และโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งยี่สิบสี่ เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ จำเลยจึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) กับความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องรวมกันมาในข้อเดียวกัน แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษเป็นกรรมเดียว จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องลงโทษตามมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 27 (1) และ 28 (1) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (1) เท่านั้น ไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8493/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเผยแพร่ภาพถ่ายที่ได้รับอนุญาตจากเว็บไซต์ลิขสิทธิ์ ไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
การกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 ประกอบมาตรา 31 เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยกระทำแก่งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น มีลักษณะเป็นการส่งเสริมให้งานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์แพร่หลายออกไป ซึ่งมีองค์ประกอบของความผิดคือ (1) ต้องเป็นการกระทำต่องานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ (2) ผู้กระทำรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ (3) กระทำเพื่อหากำไร (4) มีการกระทำตามมาตรา 31 (1) ถึง (4) ดังนั้น จึงต้องพิจารณาองค์ประกอบของความผิดข้อแรกก่อนว่า ภาพถ่ายพิพาทในคดีนี้ที่จำเลยเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นงานที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ การที่โจทก์เป็นสมาชิกประเภทช่างภาพของเว็บไซต์แห่งหนึ่งโดยมีสถานะเป็นผู้ส่งภาพ ส่วนบริษัท ด. ซึ่งรับทำโฆษณาให้จำเลยได้ขออนุญาตเว็บไซต์ดังกล่าวใช้ภาพพิพาทเพื่อทำโฆษณาให้จำเลยและชำระค่าใช้ภาพให้แก่เว็บไซต์ดังกล่าว โดยเว็บไซต์ชำระค่าตอบแทนการใช้ภาพให้แก่โจทก์แล้ว ภาพของโจทก์ตามโบรชัวร์จึงเป็นภาพและโบรชัวร์ที่ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย มิใช่ภาพที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ ที่จำเลยแจกจ่ายหรือเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งโบรชัวร์ดังกล่าวจึงเป็นการกระทำโดยได้รับอนุญาตไม่เป็นความผิดตามมาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2) และเมื่อบริษัท ด. ได้ขออนุญาตใช้ภาพจากเว็บไซต์แล้ว ถือได้ว่าเป็นการขออนุญาตใช้ภาพแทนจำเลยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8472/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์จากการให้เช่า VCD ภาพยนตร์: ศาลฎีกาตัดสินให้แก้เป็นว่าจำเลยมีความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์
องค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 ประกอบมาตรา 28 (3) คือ การกระทำแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ด้วยการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ ดังนี้ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวอันจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงตามมาตรา 28 (3) จะต้องเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่การกระทำต่อสำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อมตามมาตรา 31 (1) เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่บันทึกภาพและเสียงงานภาพยนตร์ดังกล่าวจำนวน 2 แผ่น อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่า เสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แม้ไม่ได้ระบุว่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ แต่ก็พอถือได้ว่าเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบแล้ว
สำหรับที่โจทก์มีคำขอให้แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ของกลางตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์นั้น ปรากฏว่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย มิใช่สิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่อาจสั่งให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และแผ่นของกลางดังกล่าวเป็นงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) จึงมิใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันต้องริบตามมาตรา 75

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8472/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดลิขสิทธิ์จากการให้เช่า VCD ภาพยนตร์ แม้ไม่ระบุต้นฉบับ/สำเนา ก็ถือว่าฟ้องได้ครบองค์ประกอบ
พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 บัญญัติว่า "การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งแก่โสตทัศนวัสดุภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียง อันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 15 (5) ทั้งนี้ไม่ว่าในส่วนที่เป็นเสียงและหรือภาพ ให้ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ถ้าได้กระทำดังต่อไปนี้ (1) ทำซ้ำหรือดัดแปลง (2) เผยแพร่ต่อสาธารณชน (3) ให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าว" องค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) คือ การกระทำแก่โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ หรือสิ่งบันทึกเสียงอันมีลิขสิทธิ์ด้วยการให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวโดยไม่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัตินี้ การให้เช่าต้นฉบับหรือสำเนางานดังกล่าวอันจะเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงตามมาตรา 28 (3) จะต้องเป็นการกระทำต่องานอันมีลิขสิทธิ์ที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้อนุญาตให้ทำขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิใช่การกระทำต่อสำเนางานที่เกิดจากการทำซ้ำหรือดัดแปลงโดยละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม ตามมาตรา 31 (1) เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองนำแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ที่บันทึกภาพและเสียงงานภาพยนตร์ดังกล่าวจำนวน 2 แผ่น อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกให้เช่า เสนอให้เช่าแก่บุคคลทั่วไป อันเป็นการกระทำเพื่อหากำไรและเพื่อการค้า โดยจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แม้ไม่ได้ระบุว่าแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นต้นฉบับหรือสำเนางานอันมีลิขสิทธิ์ แต่ก็พอถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กระทำผิดพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี และโจทก์ก็มีคำขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 28 และ 69 ซึ่งเป็นการอ้างมาตราในกฎหมายซึ่งบัญญัติว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นความผิด ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) (6) การบรรยายฟ้องของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการบรรยายฟ้องครบองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเพื่อการค้า ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3)
แผ่นวีซีดีภาพยนตร์ของกลางที่มีผู้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์จำนวน 2 แผ่น เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย มิใช่สิ่งที่ได้ทำขึ้นอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 จึงไม่อาจสั่งให้ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ได้ และแผ่นวีซีดีภาพยนตร์จำนวน 2 แผ่น ของกลางดังกล่าวเป็นงานภาพยนตร์อันมีลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวมาตรา 69 วรรคสอง ประกอบมาตรา 28 (3) จึงมิใช่สิ่งที่ได้ใช้ในการกระทำความผิดอันต้องริบตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.เดียวกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5994/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องซ้ำในความผิดละเมิดลิขสิทธิ์ แม้ผู้เสียหายต่างรายกัน หากมีเจตนาเดียวกัน คดีระงับตามกฎหมาย
จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเพื่อหากำไรซึ่งงานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายมาก่อนแล้ว เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 (2) แต่โจทก์ไม่มีคำขอให้ลงโทษจำเลยตามมาตราดังกล่าว ทั้งคดีก่อน โจทก์ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกัน มีวันเวลากระทำความผิดและสถานที่เกิดเหตุเช่นเดียวกับคดีนี้ เพียงแต่ผู้เสียหายต่างรายกันเท่านั้น การที่จำเลยเปิดเพลงคาราโอเกะที่ทำขึ้น โดยละเมิดลิขสิทธิ์จากเครื่องคอมพิวเตอร์ที่บันทึกงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายต่างรายหลายเพลงต่อเนื่องในวันเดียวกัน จึงเป็นเจตนาเดียวกัน แต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในคดีก่อนแล้ว คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับคดีดังกล่าวจึงระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5707/2558 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายสินค้าเลียนแบบเครื่องหมายการค้า: องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 110(1) ประกอบมาตรา 109
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยจำหน่าย เสนอจำหน่าย และมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้ารองเท้ากีฬาที่มีตราเครื่องหมายการค้าอันเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นสินค้าที่มีผู้ทำเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหาย โดยมิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร อีกทั้งโจทก์ขอให้ลงโทษตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 115, 117 ย่อมแสดงว่าโจทก์ประสงค์ให้ลงโทษการกระทำผิดของจำเลยฐานจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) แต่เหตุที่การปรับบทลงโทษต้องนำมาตรา 109 มาประกอบด้วยเนื่องจากองค์ประกอบของมาตรา 110 (1) เป็นการจำหน่าย เสนอจำหน่ายสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ตามมาตรา 108 หรือจำหน่าย เสนอจำหน่ายสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 ซึ่งมีลักษณะเป็นการนำสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นไปหาประโยชน์อันเป็นการส่งเสริมให้สินค้าดังกล่าวแพร่หลายหรือกระจายไปสู่ประชาชนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 ว่า บุคคลใด (1) เข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรอง หรือเครื่องหมายร่วมปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้า เครื่องหมายรับรองหรือเครื่องหมายร่วมของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 ..." องค์ประกอบของความผิดตามมาตรา 110 (1) จึงแตกต่างจากความผิดตามมาตรา 109 ซึ่งผู้เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนเลียนนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วย ดังนั้น การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ผู้กระทำเพียงมีเจตนาธรรมดา คือ รู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ก็เป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) แล้วโดยไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษว่าเพื่อทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นอีก คดีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์บรรยายฟ้องครบองค์ประกอบตามมาตรา 110 (1) แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5707/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิด พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า: เจตนาจำหน่ายสินค้าเลียนแบบต่างจากผู้เลียนแบบ
องค์ประกอบความผิดของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) แตกต่างจากความผิดตามมาตรา 109 ซึ่งผู้เลียนเครื่องหมายการค้าต้องมีเจตนาพิเศษ คือ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเครื่องหมายการค้าที่ตนเลียนนั้นเป็นเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นด้วย แต่การกระทำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ผู้กระทำเพียงมีเจตนาธรรมดา คือ รู้ว่าสินค้าที่ตนนำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร ก็เป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) แล้ว โดยไม่จำต้องมีเจตนาพิเศษดังกล่าวอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5446/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานปลอมเครื่องหมายการค้าและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงปลอมปน จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้าและ พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง
น้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีไว้เพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 จึงต้องริบตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115
เครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 ชอบที่จะริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
ขวดพลาสติกเปล่าสำหรับบรรจุน้ำมันหล่อลื่น กล่องกระดาษเปล่า ฝาครอบขวดน้ำมัน กระดาษฟอยล์ปิดปากขวด ม้วนเศษกระดาษฟอยล์สำหรับปิดปากขวดบรรจุน้ำมันซึ่งบรรจุอยู่ในถุง กล่องกระดาษที่ใช้สำหรับบรรจุแกลลอนน้ำมัน สติกเกอร์ติดขวด และแกลลอนเปล่าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรดังกล่าวนั้น แม้ไม่อาจถือว่าเป็นสินค้าน้ำมันหล่อลื่นที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพราะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ยังมิได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค่าน้ำมันหล่อลื่น โดยยังอยู่ในขั้นตระเตรียมการทำความผิด แต่ของกลางดังกล่าวถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด ชอบที่ศาลจะสั่งให้ริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
เมื่อน้ำมันหล่อลื่นของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 49 วรรคสอง ประกอบมาตรา 50 และเครื่องจักรสำหรับบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ใช้ในการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและทรัพย์สินที่ต้องส่งมอบแก่กรมธุรกิจพลังงานเพื่อทำลายหรือจัดการตามที่เห็นสมควรต่อไปตาม พ.ร.บ.การค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543 มาตรา 61
of 28