คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นวลน้อย ผลทวี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 271 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5333/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ส่วนได้เสียในการขอเพิกถอนเครื่องหมายการค้า: พิจารณาความคล้ายคลึงของสินค้าและโอกาสสับสน
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แสดงให้เห็นว่า บุคคลที่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการได้มี 4 จำพวก คือ 1) นายทะเบียนเครื่องหมายการค้า 2) เจ้าของเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการนั้น 3) ผู้มีส่วนได้เสีย และ 4) บุคคลใด โดยกฎหมายกำหนดตัวบุคคลที่จะมีสิทธิขอเพิกถอนการจดทะเบียนไว้แตกต่างกันไปตามสาเหตุต่างกัน คดีนี้มีปัญหาเรื่องการเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 61 หมายความว่า ผู้นั้นต้องมีจุดเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับเครื่องหมายการค้าหรือเครื่องหมายบริการที่มาร้องขอให้คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเพิกถอนการจดทะเบียน
เครื่องหมายบริการตามเอกสารหมาย จ.1 และ จ.7 ของจำเลยร่วมใช้กับบริการในจำพวก 35 ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้ หรือใช้ และขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการที่คล้ายกับของจำเลยร่วม ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย
เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.6 จ.8 และ จ.9 ของจำเลยร่วม ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้ หรือใช้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยร่วม ทั้งใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันด้วย ถือว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย
เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.6 และ จ.9 ของจำเลยร่วมซึ่งใช้กับสินค้าในจำพวก 16 และ 9 ปรากฏว่าโจทก์มิได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกดังกล่าว ทั้งสินค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้แล้วก็มิได้มีลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าของจำเลยร่วม และไม่ปรากฏว่าโจทก์มีและจะใช้ หรือใช้เครื่องหมายการค้าของตนกับสินค้าในจำพวกดังกล่าว ถือไม่ได้ว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย
เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.2 ของจำเลยร่วมที่ใช้กับสินค้าในจำพวก 23 แม้โจทก์ไม่ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกดังกล่าวไว้ แต่รายการที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้กับสินค้าในจำพวก 24 เป็นสินค้า ผ้าคลุมเตียง ผ้านวม ผ้าปูที่นอน ผ้ารองผ้าปูที่นอน ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ผ้าเช็ดปาก ผ้าแขวนผนัง กระเป๋าผ้า และปลอกหมอน เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในจำพวก 23 ของจำเลยร่วมเป็นสินค้า ด้ายดิบและเส้นด้ายใช้ทำสิ่งทอแล้ว รายการดังกล่าว แม้จะต่างจำพวกกันแต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันอันอาจนำไปสู่การทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย
เครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.4 ของจำเลยร่วมที่ใช้กับสินค้าในจำพวก 8 แม้โจทก์ไม่ได้ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในจำพวกดังกล่าวไว้ แต่รายการที่โจทก์ขอจดทะเบียนไว้กับสินค้าในจำพวก 21 เป็นรายการสินค้า แก้วน้ำ ช้อน ส้อม มีด ชุดเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร (ยกเว้นมีด ส้อม และช้อน) ที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า และหม้ออาหารที่เป็นชุด เมื่อเปรียบเทียบกับสินค้าในจำพวก 8 ของจำเลยร่วมเป็นสินค้า ส้อมที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ช้อนที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า มีดที่ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า อาวุธประจำกาย มีดโกนแล้ว รายการดังกล่าว แม้จะต่างจำพวกกันแต่ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันอันอาจนำไปสู่การทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ถือว่าโจทก์มีส่วนได้เสีย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5328/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ตัวแทนค้าต่าง: การพิสูจน์อำนาจและการผูกพันตามสัญญาซื้อขาย
การเกิดขึ้นและการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายมีสาระสำคัญเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเจรจาต่อรองซึ่งเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า สัญญาเกิดขึ้นโดยใจสมัครของทั้งสองฝ่าย จากนั้นมีการนำส่งคำเสนอและคำสนองเป็นลายลักษณ์อักษรลงนาม โดยคู่สัญญาหรือตัวแทนปรากฏรายละเอียดของสินค้าที่เจรจาต่อรองกันแล้วว่าจะซื้อขายกัน จำเลยทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ติดต่อและประสานงานด้านข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและเอกสารที่ต้องใช้ในการซื้อขายและส่งมอบ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยมีอำนาจตัดสินใจในขั้นตอนการเจรจาต่อรอง การทำคำเสนอ และการชำระราคา ทั้งชื่อของผู้ซื้อกับตัวแทนผู้ซื้อก็ปรากฏโดยเปิดเผยในเอกสารที่เกี่ยวกับการซื้อขาย ลำพังแต่การตรวจสอบสินค้าขั้นสุดท้ายก่อนการส่งมอบแก่ผู้ขนส่งที่จำเลยมีส่วนเกี่ยวข้องมากที่สุดและเป็นขั้นตอนสุดท้ายในกระบวนการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขาย ยังไม่เพียงพอที่จะถือได้ว่าเป็นตัวแทนค้าต่างที่ทำสัญญาซื้อขายทั้งหกครั้งในนามของตนเองแทน อันอาจจะทำให้จำเลยต้องผูกพันตามสัญญาซื้อขายต่อโจทก์ หรือเป็นตัวแทนที่อยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาในต่างประเทศในอันที่จะต้องรับผิดแต่ลำพังตนเอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5305/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไม่ระงับ แม้ศาลศุลกากรจะงดฟ้องคดีศุลกากร เนื่องจากเป็นคนละกรรม
ปัญหาว่าสิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 เป็นอันระงับไปแล้วหรือไม่ แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ยกขึ้นอ้างในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง แต่เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสามจึงยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ได้
ความผิดฐานร่วมกันลักลอบนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ที่ยังมิได้เสียภาษีและมิได้ผ่านศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือร่วมกันช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้โดยประการใด ๆ ซึ่งหลอดไฟฟ้าดังกล่าวโดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่ลักลอบหนีศุลกากรตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27, 27 ทวิ และความผิดฐานร่วมกันนำหลอดไฟฟ้าฟลูออเรสเซนต์ดังกล่าวที่เป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐานเข้ามาเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักรโดยไม่ได้แสดงหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 มาตรา 21 และ 48 แต่ละฐานแยกออกจากกันได้ชัดเจนทั้งในแง่เจตนาในการกระทำ สภาพและลักษณะของการกระทำความผิดสำเร็จลง ตลอดจนบัญญัติกฎหมายที่บัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ต่างบทมาตรากัน จึงเป็นการกระทำความผิดคนละกรรมต่างกัน หาใช่เป็นความผิดกรรมเดียวกันไม่ ดังนั้น แม้ว่าความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรซึ่งจำเลยทั้งสามได้ทำความตกลงและอธิบดีกรมศุลกากรได้งดการฟ้องร้องจำเลยทั้งสามตามมาตรา 102 และสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (3) ดังที่จำเลยทั้งสามอ้าง แต่ก็ไม่ทำให้สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจำเลยทั้งสามในความผิดตาม พ.ร.บ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกันเป็นอันระงับไปด้วยแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4676/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า LIVE WITH CHIVALRY ไม่เป็นคำทั่วไปหรือลักษณะสินค้า ไม่ต้องแสดงปฏิเสธสิทธิ
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่จะเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นคำวินิจฉัยที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น มิเช่นนั้นผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องโดยเห็นว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นคำที่ไม่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าโดยตรง แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงได้รับการจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าให้โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์เท่ากับโต้แย้งว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีนี้ได้
ถ้อยคำที่เล็งถึงคุณลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอันจะถือว่าไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะและต้องห้ามมิให้นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้น จะต้องเป็นถ้อยคำที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กับลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าอย่างตรงไปตรงมาจนถึงขนาดที่ว่าทำให้สาธารณชนทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าทันที หรือหากสาธารณชนใช้วิจารณญาณเพียงเล็กน้อยก็สามารถเข้าใจได้เพราะเป็นคำบรรยายหรือพรรณนาถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรง เครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า "LIVE WITH CHIVALRY" และเครื่องหมายการค้าคำว่า "CHIVAS LIVE WITH CHIVALRY" ซึ่งมีคำว่า "LIVE WITH CHIVALRY" เป็นส่วนประกอบ โดยคำว่า LIVE แปลว่า มีชีวิต ดำเนินชีวิต อยู่ คำว่า WITH แปลว่า รวมถึง เกี่ยวกับ คำว่า "CHIVALRY" แปลว่า คุณสมบัติของอัศวิน รวมกันแล้วสื่อความหมายได้ว่า ดำเนินชีวิตตามวิถีอัศวิน เมื่อนำมาใช้กับสินค้าจำพวกที่ 32 และ 33 ซึ่งเป็นสินค้าประเภทเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์แล้ว คำว่า LIVE WITH CHIVALRY จึงไม่ใช่คำแปลหรือความหมายของลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ตามที่โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยตรง และไม่ทำให้สาธารณชนทราบถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าได้ในทันที ทั้งคำดังกล่าวไม่อาจทำให้สาธารณชนพิจารณาหรือคิดไตร่ตรองไปถึงสินค้าเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่มีคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านี้โดยตรงตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) แต่เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ ที่ทำให้ประชาชนหรือผู้ใช้สินค้าทราบและเข้าใจได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างไปจากสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าอื่น และเมื่อไม่ปรากฏว่าคำว่า "LIVE WITH" เป็นสิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อันเป็นสินค้าที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือมีลักษณะไม่บ่งเฉพาะ เนื่องจากคำว่า "LIVE WITH" ไม่ได้เป็นคำที่เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์โดยตรง ถือเป็นคำที่มีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองแล้ว การที่โจทก์ใช้คำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าคำว่า "LIVE WITH CHIVALRY" และเครื่องหมายการค้าคำว่า "CHIVAS LIVE WITH CHIVALRY" สำหรับสินค้าจำพวกที่ 32 และ 33 ซึ่งเป็นสินค้าจำพวกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ จึงไม่จำต้องแสดงปฏิเสธว่าไม่ขอถือเป็นสิทธิของตนแต่ผู้เดียวในอันที่จะใช้คำว่า "LIVE WITH" กับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4288/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาอนุญาโตตุลาการ: ศาลจำหน่ายคดีให้ไปดำเนินการตามสัญญา แม้ฟ้องว่าเป็นการละเมิด
สัญญากู้ยืมเงินกับสัญญาซื้อขายทองคำ มีข้อสัญญาที่คู่สัญญาตกลงให้ระงับข้อพิพาททั้งหมดหรือบางส่วนที่เกิดขึ้นแล้วหรือเกิดขึ้นในอนาคต ไม่ว่าจะเกิดจากนิติสัมพันธ์ทางสัญญาหรือไม่โดยวิธีอนุญาโตตุลาการ จึงเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการ ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยยื่นข้อเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการลอนดอน และต่อมาจำเลยได้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการลอนดอน จึงเป็นกรณีที่จำเลยใช้สิทธิเลือกที่จะเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการแล้ว ทำให้การระงับข้อพิพาทต้องใช้กระบวนการของอนุญาโตตุลาการตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ในสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาซื้อขายทองคำ การที่โจทก์ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่เสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อสัญญาอนุญาโตตุลาการ
เหตุบกพร่องของสัญญาที่โจทก์อ้างไม่ว่าจะเป็นนิติกรรมอำพรางหรือกลฉ้อฉล หรือข้อตกลงที่จำเลยให้โจทก์ชำระหนี้เงินกู้ด้วยทองคำโดยกำหนดราคาทองคำที่แน่นอนไว้ล่วงหน้าซึ่งต่ำกว่าราคาตลาดขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 656 วรรคสองและวรรคสาม หรือการกระทำของจำเลยที่ใช้อำนาจต่อรองสูงกว่า จัดทำสัญญาเอาเปรียบโจทก์ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 นั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาเนื้อหา และความสมบูรณ์ของสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาซื้อขายทองคำ จึงเป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวเนื่องกับสัญญาโดยตรง อีกทั้งการยกเหตุดังกล่าวถือเป็นการโต้เถียงในเรื่องความมีอยู่ของสัญญาและการมีผลใช้บังคับของสัญญาซึ่งอยู่ในอำนาจวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ การฟ้องคดีนี้จึงเป็นเรื่องสัญญาหาใช่มูลละเมิด
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่จำต้องวินิจฉัยในประเด็นที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องอันเป็นเนื้อหาข้อพิพาทซึ่งต้องระงับโดยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ และเมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางทำการไต่สวนแล้วเห็นว่า ไม่มีเหตุที่จะทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะ หรือใช้บังคับไม่ได้ หรือมีเหตุที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดี คำสั่งจำหน่ายคดีของศาลดังกล่าวจึงชอบด้วย พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4124/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์: การคุ้มครองแนวคิด vs. รหัสต้นทาง
เมื่อหน้าจอของเครื่องจีพีเอสของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมอดิพจน์ วี 10 ของโจทก์ กับหน้าจอของวัตถุพยานที่ใช้โปรแกรมเบสท์เทค 11 ของจำเลยที่ 1 หรือเรียกว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้ (User Interface) เป็นส่วนที่ทำให้ผู้ใช้สามารถส่งคำสั่งให้เครื่องทำงานตามที่ตนต้องการ และหลังประมวลผลตามคำสั่งของผู้ใช้แล้ว เครื่องคอมพิวเตอร์จะแสดงผลลัพธ์จากการประมวลผลการทำงานตามที่ผู้ใช้ได้สั่งการปรากฏว่ามีความเหมือนหรือคล้ายคลึงกัน โดยทั้งสองโปรแกรมต่างมีสัญลักษณ์ให้ส่งคำสั่งเพื่อให้เครื่องทำงานต่างๆ ซึ่งผู้สั่งหรือผู้ใช้จะใช้วิธีการสัมผัสที่หน้าจอเป็นการส่งคำสั่ง เพื่อให้เครื่องทำการประมวลผลแล้วแสดงผลที่ได้ที่หน้าจอของเครื่อง อันเป็นส่วนที่จัดว่าเป็นแนวความคิดว่าผู้ใช้เครื่องจะสื่อสารกับเครื่องอย่างไร และเครื่องจะตอบสนองต่อคำสั่งอย่างไร จึงถือไม่ได้ว่าส่วนเชื่อมประสานกับผู้ใช้นี้ เป็นสิ่งที่โจทก์สามารถผูกขาดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ได้แต่เพียงผู้เดียว ทั้งไม่ใช่สิ่งที่โจทก์จะได้รับความคุ้มครองในฐานะเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ การที่จะรับฟังว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่จะต้องปรากฏว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ได้ทำซ้ำหรือลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ถูกเขียนขึ้นโดยมีการทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์หรือไม่อย่างไร เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนหรือเปรียบเทียบให้เห็นว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์กับจำเลยที่ 1 มีส่วนเหมือนหรือคล้ายกันอย่างใดและในส่วนใดบ้างที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ทำซ้ำหรือดัดแปลงรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ ทั้งรายละเอียดของงานล้วนแล้วแต่เป็นแนวความคิดในการทำงานของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามที่ผู้ว่าจ้างประสงค์ ซึ่งถึงแม้จะมีความคล้ายคลึงกันแต่ก็เป็นความคล้ายคลึงในส่วนของแนวความคิด จึงหาใช่ข้อยืนยันหรือพิสูจน์ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของจำเลยที่ 1 ลอกเลียนรหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดมาจากโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์เสมอไป ประกอบกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์โดยใช้รหัสต้นทางหรือซอร์สโค้ดที่แตกต่างกันยังสามารถสั่งให้แสดงผลที่หน้าจอประมวลผลหรือที่เรียกว่าส่วนประสานกับผู้ใช้ออกมาเหมือนกันได้ และการดูชุดคำสั่งของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้วจดจำไปเพื่อเขียนชุดคำสั่งดังกล่าวขึ้นมาใหม่เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แต่หากดูชุดคำสั่งแล้วได้แนวคิดเพื่อไปเขียนชุดคำสั่งของตนเองเป็นโปแกรมขึ้นมาใหม่ย่อมเป็นไปได้มากกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในงานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่อประโยชน์ทางการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3995/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การละเมิดเครื่องหมายการค้า: การใช้เครื่องหมายที่คล้ายกันทำให้สับสน และเป็นเหตุให้ต้องถอนทะเบียน
เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเครื่องหมายมีลักษณะคล้ายกันหลายประการ คือ จำเลยใช้เลขอารบิคเช่นเดียวกัน การวางตำแหน่งเลข 9 วางอยู่ด้านหน้าอักษรโรมัน M และติดกับอักษรโรมัน M และจำเลยใช้อักษรโรมัน M เช่นเดียวกันกับของโจทก์ เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเครื่องหมายจึงมีสาระสำคัญหรือลักษณะเด่นเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ แม้เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวนอกจากมีคำว่า 9M และมีลวดลายประดิษฐ์ก็ตาม แต่ส่วนแตกต่างดังกล่าวเป็นเพียงรายละเอียดมิใช่ส่วนสาระสำคัญ และแม้สาธารณชนอาจไม่สับสนว่า 9M เป็น 3M เพราะเสียงเรียกขานต่างกัน แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเครื่องหมายที่ใช้เลขอารบิค อยู่ด้านหน้า M เหมือนกับของโจทก์ย่อมทำให้สาธารณชนสับสนได้ว่า เครื่องหมายการค้า 9M เป็นเครื่องหมายอีกเครื่องหมายของโจทก์ หรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับโจทก์ในทางใดทางหนึ่ง
โจทก์ใช้โฆษณาและจำหน่ายสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้า 3M อย่างแพร่หลายทั่วโลกจนทำให้สาธารณชนในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดีและมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับอย่างสูงในหมู่ผู้บริโภค เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป เครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเครื่องหมายดังกล่าวจึงเป็นเครื่องหมายที่ต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) และเครื่องหมายการค้าของจำเลยทั้งสองเครื่องหมายยังเป็นเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13
จำเลยเคยผลิตและเคยจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้า 9M แม้กล่องสินค้าของจำเลยไม่ได้พิมพ์ชื่อโจทก์หรืออ้างถึงความเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับโจทก์ แต่การใช้เครื่องหมายการค้า 9M ย่อมทำให้เกิดความสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ โดยผู้พบเห็นเครื่องหมายการค้าดังกล่าวบนกล่องสินค้าของจำเลยอาจเข้าใจไปได้ว่า จำเลยมีความเกี่ยวข้องหรือเกี่ยวพันกับโจทก์ได้ อันถือเป็นละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าและเครื่องหมายบริการตลอดชื่อทางการค้าของโจทก์แล้วย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายในช่วงที่จำเลยผลิตและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3753/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'VFLEX' เป็นคำประดิษฐ์ มีลักษณะบ่งเฉพาะ จึงรับจดทะเบียนได้
เครื่องหมายการค้าคำว่า "VFLEX" เป็นคำที่ไม่มีคำแปลหรือปรากฏในพจนานุกรม จึงเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น แม้โจทก์ไม่ได้ทำให้อักษร V มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากอักษรโรมัน V ซึ่งเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ คำดังกล่าวโดยรวมทั้งคำก็ยังเป็นคำประดิษฐ์อยู่ อย่างไรก็ดีแม้จะพิจารณาโดยการแยกคำ ความหมายก็หาได้ยุติดังที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยไม่ กล่าวคือ อักษร V ที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าอ้างถึงพจนานุกรมอักษรย่ออังกฤษ - ไทย โดยสุนทร ประสารพจน์ ว่า อักษรโรมัน V เป็นคำย่อของคำว่า Very แปลว่า มาก มากๆ อย่างยิ่ง แท้จริง นั้น ตามสำเนาพจนานุกรมดังกล่าว อักษร V มิได้เป็นคำย่อของ Very ซึ่งแปลว่า มาก มากๆ อย่างยิ่ง แท้จริง เท่านั้น แต่เป็นคำย่อของหลายสิ่ง เมื่อพิจารณาพจนานุกรมเล่มอื่นก็เช่นกัน ดังนั้นอักษร V จึงมีความหมายหลากหลายจนไม่อาจยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าหมายถึงสิ่งใด สำหรับคำว่า FLEX ตามสำเนาพจนานุกรม Oxford River Books English- Thai Dictionary หากเป็นคำนาม หมายถึงสายไฟ หากเป็นคำกริยาแปลว่า งอ คำว่า FLEX จึงไม่ได้แปลว่า โค้งงอ เพียงอย่างเดียว การที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาหาความหมายของคำว่า "VFLEX" โดยแยกคำเป็นภาคส่วน แล้วนำความหมายแต่ละภาคส่วนตามที่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าพิจารณาเลือกมารวมกัน เพื่อให้ความหมายของคำดังกล่าวว่าโค้งงอได้อย่างมาก โดยไม่ปรากฏหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนว่าเหตุใดคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าจึงหยิบยกความหมายนั้น ๆ มาใช้ จึงไม่ถูกต้อง เพราะอักษร V และคำว่า FLEX ต่างมีความหมายหลายอย่าง เมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีความหมายอย่างใดขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกใช้ความหมายใดของอักษร V กับความหมายใดของคำว่า FLEX นอกจากนี้การพิจารณาเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนได้หรือไม่นั้นต้องมองภาพโดยรวมของเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเองด้วย ทั้งการไม่สามารถหาความหมายของคำว่า "VFLEX" ที่ชัดเจนได้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนว่าคำดังกล่าวเป็นคำที่โจทก์ประดิษฐ์ขึ้น จึงเป็นเครื่องหมายการค้าที่มีลักษณะบ่งเฉพาะ และเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3377/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องคดีทรัพย์สินทางปัญญาต้องแสดงรายละเอียดการกระทำผิดที่ชัดเจน มิฉะนั้นศาลอาจยกฟ้อง
โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าโจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) เมื่อประมาณต้นปี 2555 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันถึงวันฟ้อง จำเลยได้ลงโฆษณาสินค้าทางอินเทอร์เน็ท ชื่อเว็บไซต์ www.เจ้าแม่อาหารเสริม.com อ้างว่าจำเลยเป็นผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารเสริมประเภทสาหร่ายแดงไบโอแอสติน (Bioastin) ซึ่งเป็นความเท็จ รายละเอียดปรากฏตามคำโฆษณาของจำเลยในเว็บไซต์ แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเอาชื่อ รูป และรอยประดิษฐ์ ไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) ในการประกอบการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์มาใช้หรือทำให้ปรากฏที่สินค้าหีบ ห่อ วัตถุที่ใช้หุ้มห่อ แจ้งความ รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้าหรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน โดยมีเจตนาเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าไซยาโนเทค ไบโอแอสติน (Bioastin) หรือการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ และจำเลยไขข่าวแพร่หลายซึ่งข้อความเท็จอย่างไรเพื่อให้เสียความเชื่อถือในสถานที่การค้า สินค้า อุตสาหกรรมหรือพาณิชย์การของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ โดยมุ่งประโยชน์แก่การค้าของจำเลยซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 272 (1) (3) และ 275 และโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า สินค้าที่จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด และโจทก์ และจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 108, 109 และ ป.อ. มาตรา 273, 274 หรือจำเลยเป็นผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักร จำหน่าย เสนอจำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมตามมาตรา 108 หรือที่เลียนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นตามมาตรา 109 อันจะเป็นความผิดตามมาตรา 110 (1) ประกอบมาตรา 108 หรือ 109 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ทั้งโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่า บริษัทไซยาโนเทค จำกัด เป็นเจ้าของสิทธิบัตรในผลิตภัณฑ์หรือกรรมวิธีใด และสินค้าที่จำเลยจำหน่ายหรือเสนอจำหน่ายนั้นเป็นสินค้าที่ผลิตขึ้นหรือใช้กรรมวิธีตามสิทธิบัตรของบริษัทไซยาโนเทค จำกัด อย่างไรอันจะเป็นความผิดตามมาตรา 36, 38 และ 85 แห่ง พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ซึ่งโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยมาอีกเช่นกัน ฟ้องโจทก์จึงมิได้แสดงข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับการกระทำนั้นๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาความผิดดังกล่าวได้ดีตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลิขสิทธิ์งานศิลปะ vs. เครื่องหมายการค้า: การใช้ภาพโดยไม่ได้รับอนุญาตไม่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์หากมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าแล้ว
เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดด ภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดกับอักษรโรมันคำว่า "DALMATINER" และภาพเขียนลายเส้นรูปสุนัขกระโดดและอักษรโรมันคำว่า "dalmatiner" จำนวน 3 ภาพ ขึ้นมาด้วยตนเอง ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวจึงเป็นงานศิลปกรรมประเภทจิตรกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และโจทก์มีขอบเขตแห่งลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 15 ที่จะทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดดังกล่าวให้ประโยชน์อันเกิดจากลิขสิทธิ์ในภาพเขียนนั้นแก่ผู้อื่น กับอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งภาพเขียนดังกล่าว เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ใช้ภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้ากับสินค้าเสื้อ กางเกง เสื้อกีฬา กางเกง กีฬา รองเท้ากีฬา และจดทะเบียนภาพเขียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้า โจทก์จึงไม่มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้สำหรับสินค้าดังกล่าวได้ และไม่อาจหวงกันผู้อื่นมิให้ใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าดังกล่าวได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดนี้จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 การที่โจทก์อนุญาตให้บริษัท ส. นำภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าเสื้อและกางเกง แล้วบริษัท ส. โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 นำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้กับสินค้าในจำพวก 25 รายการสินค้า เสื้อ กางเกง ต่อมาจำเลยที่ 1 โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 5 การที่จำเลยทั้งแปดได้ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าเสื้อและกางเกงจึงเป็นการใช้สิทธิแต่เพียงผู้เดียวตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 44 ในการใช้เครื่องหมายการค้านี้อย่างเครื่องหมายการค้าโดยชอบ การกระทำของจำเลยทั้งแปดหาใช่การกระทำต่อภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดซึ่งเป็นรูปแบบของการแสดงออกซึ่งความคิดที่ได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง แต่อย่างใดไม่ จึงไม่เป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในภาพเขียนรูปสุนัขกระโดดของโจทก์ และไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเพื่อการละเมิดลิขสิทธิ์แก่โจทก์
of 28