คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
นวลน้อย ผลทวี

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 271 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2659/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ต้องแสดงเจตนาหรือเหตุอันควรรู้ว่างานนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ การบรรยายฟ้องไม่ครบองค์ประกอบเป็นฟ้องที่ไม่ชอบ
โจทก์บรรยายฟ้องความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าแต่เพียงว่า จำเลยทั้งสามละเมิดลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ประเภทงานดนตรีกรรม งานบันทึกเสียงและงานโสตทัศนวัสดุของผู้เสียหาย โดยนำแผ่นซีดีที่บันทึกเนื้อร้อง ทำนองเพลง และภาพคาราโอเกะ ซึ่งได้มีผู้ทำซ้ำหรือดัดแปลงขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายออกเผยแพร่ต่อสาธารณชน โดยจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วว่าการเผยแพร่งานดังกล่าวของผู้เสียหายต่อสาธารณชนเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย แต่โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสามรู้อยู่แล้วหรือมีเหตุอันควรรู้ว่างานดังกล่าวได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ฟ้องของโจทก์ในความผิดดังกล่าวจึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบของความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 70 วรรคสอง ประกอบมาตรา 31 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2586/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิบัตร: การละเมิดต้องพิจารณาจากข้อถือสิทธิ การมีส่วนประกอบคล้ายคลึงกันไม่ถือเป็นการละเมิด
ลักษณะการประดิษฐ์ของจำเลยแตกต่างจากลักษณะพิเศษตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ 3 รายการ คือ ในลำดับที่ 1 แผ่นปิดกั้นด้านซ้ายตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเป็นแนวขอบกั้นด้านซ้ายที่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายอย่างน้อยหนึ่งแนวติดตั้งอยู่ สำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดด้านซ้ายจากภายนอก ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเป็นแนวขอบกั้นด้านซ้าย ไม่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายติดตั้งอยู่ แต่จะมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นที่มีรูสำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดจากภายนอก ลำดับที่ 3 แผ่นรองด้านล่างในข้อถือสิทธิตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณพื้นผิวของแผ่นรองด้านล่างเป็นแนวร่องเปิดด้านบนอย่างน้อยหนึ่งแนว หรือแนวร่องปิดด้านบนอย่างน้อยหนึ่งแนว สำหรับรองรับการยึดของนอตยึดด้านซ้ายที่สอดทะลุผ่านมาจากแนวร่องยึดด้านซ้าย ขณะที่แนวขอบด้านหนึ่งของแผ่นรองด้านล่างสอดเข้าด้านในระหว่างมุมบรรจบด้านหน้าซ้ายกับมุมบรรจบด้านหลังซ้ายของส่วนปิดกั้นด้านซ้าย ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณพื้นผิวของแผ่นรองด้านล่างของส่วนรองรับด้านล่างไม่มีแนวร่องเปิดด้านบนหรือแนวร่องปิดด้านบน แต่จะมีรูเจาะสำหรับรองรับการยึดของนอตยึดด้านล่างที่สอดทะลุมาจากส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นของแผ่นปิดกั้นด้านซ้าย ลำดับที่ 7 แผ่นปิดกั้นด้านขวาตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านขวาเป็นแนวขอบกั้นด้านขวาที่มีแนวร่องยึดด้านขวาอย่างน้อยหนึ่งแนวติดตั้งอยู่ สำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดด้านขวาที่สอดทะลุผ่านมาจากแนวร่องยึดด้านขวา ส่วนการประดิษฐ์ของจำเลย บริเวณขอบด้านนอกของแผ่นปิดกั้นด้านขวาเป็นแนวขอบกั้นด้านขวา ไม่มีแนวร่องยึดด้านขวาติดตั้งอยู่ แต่จะมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นของแผ่นปิดกั้นด้านขวาสำหรับรองรับการสอดผ่านของนอตยึดจากภายนอกลักษณะที่แตกต่างกันในลำดับที่ 1 ที่ 3 และที่ 7 ดังกล่าว ถือเป็นข้อสาระสำคัญเนื่องจากความมุ่งหมายในการประดิษฐ์ของโจทก์ต้องการแก้ไขปัญหาแผ่นป้ายแสดงสถานะด้านบนหลังคายานพาหนะแบบเก่าซึ่งใช้เวลามากในการประกอบติดตั้งยึดแต่ละส่วนเข้าด้วยกัน โดยการเปิดเผยการประดิษฐ์โดยสมบูรณ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์ระบุว่า การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรนี้ ส่วนประกอบต่าง ๆ จะสามารถติดตั้งเข้าด้วยกันหรือถอดออกจากกันได้โดยง่ายด้วยการขันยึดของนอต ดังนั้น วิธีการยึดของนอตจึงหาใช่รายละเอียดปลีกย่อยไม่ ตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์การประกอบแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายเข้ากับแผ่นรองด้านล่างใช้วิธีสอดนอตยึดจากภายนอกผ่านแนวร่องยึดด้านซ้ายโดยมีแนวร่องเปิดด้านบนของแผ่นรองด้านล่างรองรับการยึดของนอตยึดด้านซ้าย การประกอบแผ่นปิดกั้นด้านขวาเข้ากับแผ่นรองด้านล่างมีลักษณะเช่นเดียวกันคือใช้วิธีสอดนอตยึดจากภายนอกผ่านแนวร่องยึดด้านขวาโดยมีแนวร่องเปิดด้านบนของแผ่นรองด้านล่างรองรับการยึดของนอตด้านขวา การใช้นอตยึดในการประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์จึงต้องอาศัยแนวร่องซึ่งถือว่าเป็นลักษณะพิเศษเฉพาะที่โจทก์กล่าวอ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่ และขอรับความคุ้มครองตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์ แต่เมื่อพิจารณาการประดิษฐ์ของจำเลยปรากฏว่าแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาไม่มีแนวร่องยึดด้านซ้ายและแนวร่องยึดด้านขวา กับแผ่นรองด้านล่างไม่มีแนวร่อง โดยแผ่นปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาของจำเลยมีส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นด้านซ้ายและด้านขวา และมีรูเพื่อรองรับการสอดผ่านของนอตยึด แผ่นรองด้านล่างมีรูเจาะสำหรับรองรับนอตยึดที่ทะลุมาจากส่วนต่อยื่นด้านล่างจากขอบด้านนอกของแนวขอบกั้นด้านซ้ายและด้านขวา การประดิษฐ์ของจำเลยจึงมีลักษณะแตกต่างจากการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์อย่างชัดเจน
ตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ทศ ประกอบมาตรา 36 ทวิ สิทธิของผู้ทรงอนุสิทธิบัตรมีขอบเขตดังระบุในข้อถือสิทธิ ซึ่งการวินิจฉัยขอบเขตการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิต้องพิจารณาจากลักษณะของการประดิษฐ์ที่ระบุในรายละเอียดการประดิษฐ์และรูปเขียนประกอบด้วย ในกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ต้องนำลักษณะการประดิษฐ์ที่โจทก์ระบุไว้ในรายละเอียดการประดิษฐ์ตามข้อถือสิทธิมาเปรียบเทียบกับการประดิษฐ์ของจำเลย ส่วนที่แตกต่างกันเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงว่าการประดิษฐ์ของจำเลยไม่อยู่ในขอบเขตข้อถือสิทธิของโจทก์ในการพิจารณาเปรียบเทียบจึงไม่อาจละเลยส่วนดังกล่าวได้
การประดิษฐ์ตามอนุสิทธิบัตรของโจทก์มีส่วนประกอบแยกได้ดังนี้ คือ ส่วนปิดกั้นด้านซ้ายและด้านขวาที่มีลักษณะเป็นแผ่นสามเหลี่ยม แผ่นรองด้านหลัง ท่อแบนกลวงปิดกั้นด้านบนและแผ่นป้ายปิดด้านหน้าและด้านหลัง ส่วนประกอบต่าง ๆ ดังกล่าวเป็นสิ่งสามัญซึ่งใช้ในการประดิษฐ์ทั่ว ๆ ไปจำเลยจึงสามารถนำมาใช้ในการประดิษฐ์ได้ สำหรับรูปทรงภายนอกเมื่อประกอบเสร็จแม้จะมีความคล้ายคลึงกันก็ไม่เป็นเหตุให้การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์ เนื่องจากอนุสิทธิบัตรของโจทก์เป็นเรื่องการประดิษฐ์หาใช่เรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ไม่ จำเลยมิได้นำข้อถือสิทธิของโจทก์ในเรื่องแนวร่องซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่และได้รับความคุ้มครองตามข้อถือสิทธิในอนุสิทธิบัตรของโจทก์มาใช้ในการประดิษฐ์ป้ายไฟบนรถแท็กซี่ของจำเลย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดอนุสิทธิบัตรของโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2585/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระค่าธรรมเนียมรายปีสิทธิบัตร: ระยะเวลาการคำนวณและผลของการไม่ชำระตามกฎหมาย
หลักเกณฑ์การชำระค่าธรรมเนียมรายปีสำหรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 65 ประกอบมาตรา 43 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้ว ผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีเริ่มแต่ปีที่ 5 ของอายุสิทธิบัตรและต้องชำระภายใน 60 วัน นับแต่วันเริ่มต้นระยะเวลาของปีที่ 5 นั้น และของทุก ๆ ปีต่อไป เมื่อโจทก์ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 วันเริ่มต้นระยะเวลาของปีที่ 5 จึงเป็นวันที่ 1 เมษายน 2550 และต้องชำระภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ไม่ใช่ชำระได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2551 ดังที่โจทก์อุทธรณ์
พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 62, 65 ประกอบมาตรา 43 และประกาศกรมทรัพย์สินทางปัญญา เรื่อง การนับระยะเวลาตาม พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 ได้บัญญัติเรื่องการนับระยะเวลาค่าธรรมเนียมรายปีของผู้ทรงสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ชัดเจนแล้ว ไม่จำเป็นที่จำเลยทั้งสองต้องแสดงแผนผังแสดงวิธีการนับระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมปีที่ 5 ถึงปีที่ 10 ให้โจทก์ทราบอีก
โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมรายปี ปีที่ 9 แก่จำเลยที่ 1 วันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ที่ถูกโจทก์ต้องชำระระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2554 ถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2554 แต่เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีของจำเลยที่ 1 รับชำระไว้แล้วนั้น จำเลยทั้งสองนำสืบว่า เกิดจากข้อผิดพลาดของระบบฐานข้อมูลสิทธิบัตรซึ่งคณะกรรมการสิทธิบัตรรับฟังว่าผิดพลาดจริงและถือว่าการชำระค่าธรรมเนียมรายปี ปีที่ 9 เป็นการชำระที่พ้นกำหนดเวลา โจทก์มิได้โต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มิได้ชำระค่าธรรมเนียมรายปี ปีที่ 9 ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย การที่จำเลยที่ 1 ทำรายงานต่อคณะกรรมการสิทธิบัตรให้เพิกถอนสิทธิบัตรของโจทก์ แล้วต่อมาคณะกรรมการสิทธิบัตรเพิกถอนสิทธิบัตรดังกล่าวจึงชอบด้วย พ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ.2522 มาตรา 62, 65 ประกอบมาตรา 43 แล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2472/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีใหม่หลังมีคำพิพากษาต่างประเทศ: การกระทำโต้แย้งสิทธิ และการชำระหนี้
โจทก์ทั้งสองบรรยายสภาพแห่งข้อหาในส่วนของจำเลยที่ 1 สรุปความได้ว่า สืบเนื่องจากจำเลยที่ 1 รับขนสินค้าทางทะเลเพื่อส่งมอบให้แก่ผู้รับตราส่งที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ สินค้าได้รับความเสียหายระหว่างการขนส่ง โจทก์ที่ 1 กับบริษัท ฮ. จึงยื่นฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมในข้อหาผิดสัญญารับขนของทางทะเล ระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 สมัครใจจดทะเบียนเลิกบริษัททั้งที่ทราบอยู่แล้วว่าข้อพิพาทมูลผิดสัญญารับขนของทางทะเลดังกล่าวอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาล ต่อมาศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำเลยที่ 1 รับผิดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัท ฮ. พร้อมดอกเบี้ยและใช้ค่าฤชาธรรมเนียมใช้แทนแก่โจทก์ที่ 1 และบริษัท ฮ. จำเลยที่ 1 ทราบผลคำพิพากษาแล้ว ไม่ดำเนินการชำระหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าว ส่วนสภาพแห่งข้อหาที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 คือ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ชำระบัญชีบริษัทจำเลยที่ 1 ทราบผลคำพิพากษาแล้ว แต่เพิกเฉยไม่ชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ทั้งไม่เคยมีหนังสือแจ้งให้ทราบถึงการเลิกบริษัทของจำเลยที่ 1 และการแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชีแต่อย่างใด ส่วนข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา คือ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการจงใจทำให้โจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 2 ในฐานะผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้ตามคำพิพากษาจากบริษัท ฮ. ไม่ได้รับการเยียวยาความเสียหายอันเกิดจากความประมาทเลินเล่อในการประกอบวิชาชีพรับขนของทางทะเลของจำเลยที่ 1 และเป็นการจงใจไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม ส่วนจำเลยที่ 2 จงใจละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้ชำระบัญชีทำให้โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับชำระหนี้ และมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ย เห็นได้ว่า คำฟ้องเป็นการบรรยายรายละเอียดความเป็นมาของการกระทำของจำเลยทั้งสองโดยเท้าความถึงมูลหนี้ตามสัญญารับขนของทางทะเลซึ่งศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมพิพากษาให้จำเลยที่ 1 รับผิด ต่อมาจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเลิกบริษัทและแต่งตั้งจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระบัญชี โจทก์ทั้งสองทวงถาม แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ซึ่งเป็นการกระทำหลังจากที่ศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมพิพากษาแล้ว ซึ่งเป็นการบรรยายการกระทำของจำเลยทั้งสองอันเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ทั้งสองที่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ มาตรา 55 แล้ว ประกอบกับตามคำขอบังคับ แม้โจทก์ทั้งสองจะขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระต้นเงินซึ่งมีจำนวนพ้องกับหนี้ตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม ก็เป็นเพียงฐานการคำนวณความเสียหาย กรณีจึงเป็นการฟ้องคดีขึ้นใหม่โดยอ้างคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัมในฐานะมูลหนี้หรือหลักฐานประกอบข้ออ้างอย่างหนึ่ง มิใช่เป็นการร้องขอบังคับคดีเพื่อขอให้ศาลไทยออกหมายบังคับคดีให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลกรุงอัมสเตอร์ดัม โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2471/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่ผู้รับตราส่งตามใบตราส่งทางทะเลและผลของการไม่ปฏิบัติตามสัญญาขนส่ง
ใบตราส่งที่โจทก์ซึ่งเป็นนิติบุคคลต่างประเทศจัดทำขึ้นนอกราชอาณาจักรไม่อยู่ในบังคับต้องปิดอากรแสตมป์ ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118
ใบตราส่งระบุว่าจำเลยเป็นผู้รับตราส่งและเป็นผู้ที่ต้องได้รับแจ้งการมาถึงของสินค้า โดยมิได้ระบุไว้ชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำการในฐานะตัวแทนของ ย. ในใบตราส่งนั้นด้วย เมื่อมีเงื่อนไขการขนส่งแบบ ซีวาย/ซีวาย ข้อความดังกล่าวเป็นการกำหนดหน้าที่ให้โจทก์ต้องแจ้งการมาถึงของสินค้าให้จำเลยทราบและส่งมอบสินค้าให้แก่เจ้าหน้าที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย และเมื่อตู้สินค้าถูกขนส่งถึงท่าปลายทาง โจทก์ในฐานะผู้ขนส่งจะต้องส่งมอบตู้สินค้าทั้งตู้แก่จำเลยในฐานะผู้รับตราส่งเพื่อนำไปเปิดที่โกดังของตนเอง ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับแจ้งจากโจทก์ว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยแล้ว แต่จำเลยไม่ได้ปฏิเสธที่จะไม่รับสินค้า พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยยอมรับเอาหน้าที่ที่จะต้องรับมอบตู้สินค้าจากโจทก์ตามข้อกำหนดของใบตราส่งโดยเงื่อนไขของ ซีวาย ตัวหลังแล้ว เมื่อโจทก์ขนส่งสินค้ามาส่งมอบให้จำเลยและจำเลยยอมรับหน้าที่ตามใบตราส่งแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่รับตู้สินค้าและส่งคืนตู้สินค้าดังกล่าว แต่จำเลยหาได้ทำหน้าที่ของตนกลับมีหนังสือแจ้งขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งและไม่ได้ดำเนินพิธีการศุลกากรเพื่อส่งมอบตู้สินค้าแก่ ย. และนำตู้สินค้ามาคืนโจทก์ จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2470/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเรียกคู่ความเข้าสู่คดี: ตัวแทนต้องแสดงเหตุผลการไล่เบี้ยจากตัวการจึงจะเรียกได้
ตามคำให้การและคำร้องที่ขอให้เรียก ย. ม. และบุคคลอื่นเข้ามาเป็นจำเลยร่วม จำเลยอ้างเพียงว่า เพื่อให้จำเลยสามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นเพียงตัวแทนของ ย. ซึ่งเป็นผู้รับตราส่งที่แท้จริง โดยจำเลยไม่ได้แสดงเหตุให้เห็นว่าจำเลยอาจฟ้องหรือถูกบริษัทดังกล่าวฟ้องได้เพื่อใช้สิทธิไล่เบี้ยหรือเพื่อใช้ค่าทดแทน และไม่มีกฎหมายบังคับให้บุคคลดังกล่าวเข้ามาในคดี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3)
ที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ว่า หากศาลให้จำเลยรับผิดในฐานะตัวแทนต่อโจทก์ จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยและได้รับค่าสินไหมทดแทนจาก ย. และ ม. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 816 นั้น เห็นว่า มาตราดังกล่าวเป็นเรื่องตัวแทนจัดทำกิจการอันตัวการมอบหมายแก่ตัวแทนและเป็นเหตุให้ตัวแทนต้องเสียหาย โดยมิใช่ความผิดของตัวแทน ตัวแทนเรียกค่าสินไหมทดแทนจากตัวการได้ แต่ตามคำให้การจำเลยมิได้จัดทำกิจการอันใดแทน ย. ที่จำเลยอ้างว่าเป็นตัวการ จึงเป็นการยกข้อกฎหมายไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคำให้การ แต่ยกขึ้นอ้างเพื่อให้เข้าใจว่าจำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 57 (3) ข้างต้นเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2286/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำสั่งไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า เมื่อพบว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าเดิม
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะไม่ได้มีคำขอให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่การที่โจทก์บรรยายฟ้องชัดแจ้งว่าคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคำขอให้พิพากษาว่าเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนตามคำขอของโจทก์ ย่อมมีความหมายครอบคลุมถึงการเพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในตัวแล้ว การที่ศาลจะพิพากษาเพิกถอนคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าวจึงไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินเลยหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องแต่อย่างใด นอกจากนี้ที่โจทก์มีคำขอให้พิพากษาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายอันพึงรับจดทะเบียนได้และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอดังกล่าวนั้น เห็นว่า ข้อหาและข้ออ้างที่เป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องเป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าด้วยเหตุที่ว่าเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่ได้คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นดังกล่าว ประเด็นข้อพิพาทที่ต้องวินิจฉัยในคดีนี้จึงมีเฉพาะเกี่ยวกับเหตุที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์เท่านั้น ไม่มีประเด็นข้อพิพาทให้ต้องวินิจฉัยในข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับลักษณะอันพึงรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 รวมทั้งข้อพิจารณาอื่น ๆ เกี่ยวกับการพิจารณารับจดทะเบียนและขั้นตอนต่าง ๆ ที่ต้องดำเนินการในการรับจดทะเบียนตามบทบัญญัติมาตราอื่น ดังนั้น แม้คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอของโจทก์จะเป็นคำสั่งและคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งสมควรต้องเพิกถอนดังได้วินิจฉัยแล้วข้างต้นก็ตาม แต่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ายังต้องดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปตามขั้นตอนต่าง ๆ ในการพิจารณาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งมีอีกหลายขั้นตอน หาใช่โจทก์มีสิทธิขอให้บังคับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้เลยไม่ จึงไม่อาจพิพากษาให้ตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวได้ คงพิพากษาให้ได้แต่เพียงว่าให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า กับให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ต่อไปเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2285/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียง และความสุจริตของผู้ยื่นคำขอ
ขณะที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2540 กฎหมายที่ใช้บังคับในขณะนั้นคือ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แม้ต่อมาจะมี พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 ใช้บังคับ แต่มาตรา 27 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2543 บัญญัติว่า "บรรดา...คำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการ...ที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ถือว่าเป็นคำขอตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัตินี้" การพิจารณาเรื่องเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติ มาตรา 80 ประกอบ มาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ที่แก้ไขใหม่ มิใช่มาตรา 80 ประกอบ มาตรา 8 (11) (เดิม) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ดังนั้น เครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป ซึ่งตามประกาศดังกล่าว การพิจารณาเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ได้แก่ (1) สินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายนั้นจะต้องมีการจำหน่ายหรือมีการใช้ หรือมีการโฆษณาหรือได้มีการใช้เครื่องหมายโดยวิธีใด ๆ อย่างแพร่หลายตามปกติโดยสุจริต ไม่ว่าจะกระทำโดยเจ้าของหรือผู้แทนหรือผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายนั้นไม่ว่าในประเทศหรือต่างประเทศจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี (2) เครื่องหมายนั้นจะต้องมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เมื่อพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์แล้วจะเห็นได้ว่าลักษณะการส่งเสริมการขายของบริษัท ซ. ที่โจทก์จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการขายของโจทก์เป็นไปอย่างจำกัด อีกทั้งโจทก์มิได้มีหลักฐานการโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อสารมวลชนที่แสดงให้สาธารณชนทั่วไปได้รับทราบถึงเครื่องหมายรูปประดิษฐ์ศีรษะซีซาร์สในวงกว้าง ประกอบกับพยานเอกสารกับวัตถุพยานเท่าที่ นาง ว. พยานโจทก์เบิกความถึงมีปริมาณเพียงเล็กน้อยยังไม่เพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการโฆษณาหรือมีการใช้เครื่องหมายหรือบริการดังกล่าวอย่างแพร่หลายจนทำให้สาธารณชนทั่วไปหรือสาธารณชนในสาขาที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยรู้จักเป็นอย่างดี และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้บริโภค เครื่องหมายบริการของโจทก์จึงไม่เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป นอกจากนี้โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการในประเทศไทยเมื่อปี 2546 และยื่นคำขอจดทะเบียนในประเทศสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2549 กับยื่นคำขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2551 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่จำเลยที่ 1 ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการแล้วตั้งแต่ปี 2540 พฤติการณ์แห่งคดีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการเพื่อขอรับความคุ้มครองตามกฎหมายล่าช้ากว่าจำเลยที่ 1 เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานใดที่พิสูจน์ให้รับฟังได้ว่าเครื่องหมายบริการของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปและเชื่อมโยงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายบริการโดยไม่สุจริต เครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเครื่องหมายที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 80 ประกอบมาตรา 8 (9) , (10) กรณีจึงไม่มีเหตุให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายบริการของจำเลยที่ 1

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2216/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้าภายใต้ พรบ.เครื่องหมายการค้าฯ พิจารณาจากรูปลักษณ์, เสียงเรียกขาน และลักษณะสินค้า
ในการพิจารณาความคล้ายกันของเครื่องหมายการค้า นอกจากจะต้องพิจารณาในเรื่องรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานของเครื่องหมายแล้วยังคงต้องพิจารณาสินค้าที่นำมาขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับเครื่องหมายด้วยว่าเป็นสินค้าประเภทเดียวกันหรือมีลักษณะอย่างเดียวกันหรือมีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงถึงกันหรือไม่ รวมทั้งช่องทางจำหน่ายสินค้าและกลุ่มผู้ใช้สินค้าดังกล่าวว่าเป็นกลุ่มเดียวกันหรือมีความรู้ความชำนาญเฉพาะทางที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันหรือไม่
เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ที่โจทก์ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าคำว่า ของบุคคลอื่นจดทะเบียนไว้กับสินค้าจำพวก 1 เช่นเดียวกัน แม้ในส่วนรูปลักษณ์และเสียงเรียกขานมีความคล้ายกันเนื่องจากมีอักษรตัวท้ายแตกต่างกันเพียงตัวเดียวและมีเสียงเรียกขานที่คล้ายกัน แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์ ผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมผลิตสินค้าประเภทต่าง ๆ ส่วนผู้ใช้สินค้าที่เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นเป็นเกษตรกรที่ปลูกต้นยาง เมื่อกลุ่มผู้ใช้สินค้าและวัตถุประสงค์การใช้สินค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ โจทก์จะใช้วิธีติดต่อกับผู้ประกอบอุตสาหกรรมโดยตรงและไม่มีการวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป และในการจำหน่าย เสนอจำหน่าย และโฆษณาสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้า "" นั้นจะปรากฏชื่อและเครื่องหมายการค้าคำว่า "BIOMERIEUX" อยู่ด้วยเสมอ จึงช่วยสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์กับสินค้าของบุคคลอื่นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า
แม้เครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของโจทก์มีเสียงเรียกขานคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นคำว่า "" และเครื่องหมายการค้า "" แต่เมื่อเปรียบเทียบรูปลักษณ์ของเครื่องหมายการค้าทั้งสามแล้ว มีความแตกต่างในเรื่องจำนวนตัวอักษรและตัวอักษรที่ต่างกัน รูปลักษณ์เครื่องหมายการค้าทั้งสามจึงต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงรายการสินค้าตามคำขอจดทะเบียนแม้จะเป็นสินค้าจำพวก 9 เช่นเดียวกันทั้งสามเครื่องหมาย แต่เมื่อพิจารณารายการสินค้าตามคำขอของโจทก์เป็นสินค้าประเภทเครื่องและอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ เครื่องและอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์ที่ไม่ใช้ในทางการแพทย์ กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่จึงเป็นเจ้าของโรงงานอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ และสินค้าของโจทก์ถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา ส่วนสินค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "" เป็นหลอดแก้วที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ ซึ่งถูกใช้งานในห้องปฏิบัติการทางโลหิตวิทยา ซึ่งกลุ่มผู้ใช้สินค้าเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับทางการแพทย์ซึ่งย่อมต้องมีความรู้ความชำนาญในการเลือกใช้วัสดุอุปกรณ์เป็นอย่างดี จึงย่อมทราบความแตกต่างระหว่างสินค้าของโจทก์และของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า "" ของบุคคลอื่น ใช้กับรายการสินค้าที่เป็นอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับด้านการสื่อสารทางเสียง จึงไม่ใช่สินค้าที่มีลักษณะเดียวกับสินค้าโจทก์ ทั้งช่องทางการจำหน่ายของโจทก์เป็นการขายตรงต่อลูกค้าไม่มีวางจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป จึงยากที่กลุ่มผู้ใช้สินค้าของโจทก์จะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าของโจทก์กับของบุคคลอื่นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จึงไม่ต้องห้ามมิให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 13 และ 16

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2179/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้า - การใช้เครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
เมื่อพิจารณาภาพรวมของเครื่องหมายการค้าของจำเลยและของโจทก์แล้วปรากฏว่าเครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ประกอบด้วยรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก และคำว่า "BULLDOG" ที่ด้านล่างของรูปสุนัข ส่วนเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของก็เป็นรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงต่างมีรูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นสาระสำคัญและเป็นลักษณะเด่นของเครื่องหมาย และเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในส่วนรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายเห็นได้ว่าเป็นรูปร่างลักษณะของสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อก ยืนหันหน้าในท่าเดียวกัน ขาทั้งสี่ข้างล้วนอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน และมีรายละเอียดต่าง ๆ ตรงกันจนไม่อาจสังเกตเห็นความแตกต่างของรูปสุนัขของทั้งสองเครื่องหมายได้อย่างชัดเจน และมีลักษณะคล้ายกับการลอกเลียนกันมา คงมีข้อแตกต่างกันเพียงแต่ในรายละเอียดอื่นที่ไม่ใช่รูปสุนัข โดยในเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้มีเส้นตรงในแนวนอนลากผ่านด้านหลังขาทั้งสี่ช่วงล่างซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าสุนัขยืนอยู่บนพื้นราบ แต่รูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของไม่มีเส้นตรงเช่นนั้นประกอบอยู่ด้วยเท่านั้น ซึ่งหากไม่สังเกตให้ดีก็จะไม่พบความแตกต่างนี้ และแม้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนไว้จะมีคำว่า "BULLDOG" ประกอบอยู่ด้วยโดยที่เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่โจทก์กล่าวอ้างถึงไม่มีคำดังกล่าวประกอบหรือในบางครั้งก็มีคำว่า "MIRKA" ประกอบอยู่ด้วยอันเป็นความแตกต่างอีกข้อหนึ่ง แต่เป็นที่เห็นได้ชัดเจนว่าภาคส่วนรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าเป็นสาระสำคัญและมีลักษณะโดดเด่นยิ่งกว่าคำประกอบเหล่านั้น การที่เครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยมีรูปลักษณะของรูปสุนัขซึ่งปรากฏชัดเจนว่าเป็นสุนัขพันธุ์เดียวกันคือพันธุ์บูลด็อกในลักษณะที่คล้ายกับลอกเลียนกันมาดังกล่าว ย่อมทำให้สาธารณชนผู้ซื้อสินค้าอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของโจทก์และของจำเลยเช่นเดียวกันว่า "ตราสุนัข" หรือ "ตราหมา" หรือ "ตราหมาบูลด็อก" ได้ ด้วยความคล้ายกันอย่างมากโดยคล้ายกับลอกเลียนกันมาของรูปสุนัขดังกล่าว ประกอบกับความเป็นสาระสำคัญและลักษณะเด่นของรูปสุนัขในเครื่องหมายการค้าทั้งสองเช่นนี้ แม้จำเลยจะได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของจำเลยไว้สำหรับใช้กับสินค้าต่างจำพวกกับสินค้าที่โจทก์ส่งมาขายในประเทศไทยก็ตาม แต่สินค้าของโจทก์และของจำเลยต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง ย่อมอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้ว่าสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นสินค้าของเจ้าของเดียวกันหรือมีแหล่งกำเนิดของสินค้ามาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน เครื่องหมายการค้า ที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 จึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้า ที่โจทก์อ้างว่าเป็นเจ้าของและใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทรายและกระดาษทรายจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้
โจทก์มีหลักฐานสำเนาหนังสือโต้ตอบ สำเนาใบสั่งซื้อสินค้า และสำเนาสัญญาตัวแทนจำหน่ายมาแสดงให้เห็นว่ามีการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และวัสดุที่ใช้ในการขัดถูในประเทศไทยผ่านทางตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ตั้งแต่ปี 2532 ในขณะที่จำเลยนอกจากจะไม่ได้นำสืบพยานหลักฐานเกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ผ่านตัวแทนจำหน่ายของโจทก์ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2532 แล้ว ยังปรากฏว่าบริษัทที่จำเลยเคยเป็นผู้ถือหุ้นและกรรมการได้สั่งซื้อสินค้ากระดาษทรายของโจทก์มาจำหน่าย การที่โจทก์ประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้ากระดาษทรายและเครื่องมือเครื่องใช้ในการขัดถูโดยใช้เครื่องหมายการค้า มาตั้งแต่ปี 2486 การได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศต่าง ๆ สำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 และที่ 7 รวมทั้งจำเลยไม่ได้นำสืบโต้แย้งในเรื่องความเป็นเจ้าของสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและการที่จำเลยเข้ามาเกี่ยวข้องกับสินค้าของโจทก์ดังกล่าว และจำเลยไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้า มาก่อนที่โจทก์จะส่งสินค้าที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโดยบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่าย คงนำสืบเพียงว่าจำเลยเป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ล. ซึ่งจดทะเบียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 โดยประกอบกิจการขายปลีกเครื่องมือช่างและเครื่องมือเกษตร รวมทั้งไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง กระดาษทราย และผ้าทราย แต่หลักฐานที่จำเลยอ้างว่าจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่มีลักษณะเป็นเอกสารที่พิมพ์จากหน้าเว็บไซต์โฆษณาสินค้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดดังกล่าวก็ไม่ได้ระบุวันเวลาลงโฆษณา ส่วนพยานหลักฐานอื่นก็เป็นหลักฐานการสั่งซื้อสินค้าอันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ได้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น โจทก์จึงเป็นผู้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อกก่อนที่จำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารูปพันธุ์สุนัขบูลด็อก ทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 แม้โจทก์จะยังไม่เคยนำสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยแต่สินค้าที่โจทก์นำมาจำหน่ายในประเทศไทยและสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องต่างก็เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงเป็นสินค้าที่มีลักษณะอย่างเดียวกัน และการที่จำเลยใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกกับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดว่าโจทก์เป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเป็นแหล่งเดียว กับสินค้าของโจทก์ นอกจากนี้ เมื่อจำเลยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ที่ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่จำเลยเริ่มยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ทะเบียนเลขที่ ค4208 อีกทั้งยังปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยขอจดทะเบียนดังกล่าวและที่ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามทะเบียนเครื่องหมายการค้าเลขที่ ค227964 คล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อก ที่โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้แล้วที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสาธารณรัฐฟินแลนด์ ประกอบกับจำเลยอยู่ในวงการค้าขายสินค้าเครื่องมือช่างก่อสร้างจำพวกกระดาษทราย ผ้าทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง จำเลยย่อมรู้จักเครื่องหมายการค้าและสินค้าของโจทก์อยู่แล้วตั้งแต่ก่อนไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกในปี 2535 กรณีมีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยจงใจนำเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกของโจทก์ไปขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ที่พิพาทในคดีนี้ดีกว่าจำเลย กรณีมีเหตุสมควรให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ของจำเลย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67 เป็นบทบัญญัติที่กำหนดระยะเวลาให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า จึงเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง และเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยไม่ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การ จำเลยมีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวในชั้นอุทธรณ์ได้ ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคสอง กำหนดระยะเวลาห้าปีตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ต้องนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 มิใช่นับแต่วันที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นวันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน เมื่อจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2548 มีการประกาศโฆษณาคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าววันที่ 15 มิถุนายน 2548 และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 40 เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2551 จึงไม่เกินกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 40 ส่วนระยะเวลาที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์เป็นกรณีของการยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2535 ซึ่งจำเลยยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 3 ไม่ใช่การยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นคดีนี้ อีกทั้งจำเลยขาดต่ออายุทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว แม้จำเลยจะยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกและรายการเดิม แต่ก็ปรากฏว่ายังไม่ได้รับการจดทะเบียน กรณีดังกล่าวจึงไม่เกี่ยวข้องกับการนับระยะเวลาฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่พิพาทในคดีนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าทะเบียนเลขที่ ค227964 ภายในกำหนดระยะเวลา 5 ปี ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 67
เมื่อโจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกดีกว่าจำเลย การที่จำเลยขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับการใช้สินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องของจำเลย และนำสินค้านั้นออกขาย ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โดยไม่ชอบ โจทก์จึงมีสิทธิที่จะขอให้ห้ามจำเลยมิให้ใช้เครื่องหมายการค้ารูปสุนัขที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้ารูปสุนัขของโจทก์กับสินค้าไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องและสินค้าอื่นของจำเลย
รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ไม่ใช่สิ่งที่ใช้กันสามัญในการค้าขายสำหรับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้อง ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 17 เพราะสินค้าดังกล่าวมิใช่สินค้าสุนัขพันธุ์บูลด็อก แต่รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกเป็นรูปที่มีลักษณะบ่งเฉพาะเพราะเป็นภาพที่ประดิษฐ์ขึ้นตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (6) ส่วนคำว่า "BULLDOG" ก็ไม่ใช่คำที่เล็งถึงลักษณะและคุณสมบัติของสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องโดยตรง จึงเป็นคำที่มิได้เล็งถึงลักษณะหรือคุณสมบัติของสินค้านั้นโดยตรงอันมีลักษณะบ่งเฉพาะในตัวเองตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 7 วรรคสอง (2) รูปสุนัขพันธุ์บูลด็อกและคำว่า "BULLDOG" ย่อมมีลักษณะบ่งเฉพาะอันพึงรับจดทะเบียนสำหรับใช้กับสินค้าเครื่องมือที่ใช้ในการขัดถู ผ้าทราย กระดาษทราย และไฟเบอร์ตัดโลหะและกระเบื้องได้ ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (1)
of 28