คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12070/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยเกินอัตราหลายกรรมต่างกัน การพิจารณาโทษที่เหมาะสม
โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากผู้กู้แต่ละรายต่างวันเวลากัน รวม 35 วัน จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามฟ้อง การกระทำของจำเลยจึงมีเจตนาเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราจากผู้กู้แต่ละรายแยกต่างหากจากกันในแต่ละวันที่จำเลยกระทำความผิด จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11645/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย โมฆะ และสิทธิในการคิดดอกเบี้ยผิดนัด
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้เงินโจทก์กำหนดดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยสัญญากู้ระบุว่า ดอกเบี้ยตามกฎหมาย แต่โจทก์นำสืบว่า ขั้นแรกตกลงคิดดอกเบี้ยกันอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน ต่อมาลดลงเหลือร้อยละ 3 ต่อเดือน จำนวนเงินที่จำเลยชำระมาแล้วเป็นการชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย จำเลยยังมิได้ชำระต้นเงินกู้ทั้งยังค้างชำระดอกเบี้ยอีกสามหมื่นบาทเศษ จึงฟ้องเรียกต้นเงินกู้เต็มจำนวนกับดอกเบี้ยตามที่ระบุในสัญญานับตั้งแต่วันกู้ ดังนี้เป็นการนำสืบเรื่องรายละเอียดแห่งข้อเท็จจริงในมูลกรณีที่ฟ้อง เมื่อได้ความว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลย่อมมีอำนาจยกขึ้นปรับแก่คดีได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ทั้งการรับฟังพยานบุคคลว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารไม่สมบูรณ์ไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงเป็นโมฆะ
การที่จำเลยสมยอมชำระดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดแก่โจทก์ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 จำเลยไม่มีสิทธิเรียกคืนจึงจะให้นำไปหักดอกเบี้ยตามกฎหมายหรือหักจากยอดต้นเงินไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5162/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ปิดแสตมป์ไม่ครบก่อนฟ้องคดี ยังใช้เป็นหลักฐานได้ และดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมายเป็นโมฆะ
ป.รัษฎากร มาตรา 118 บัญญัติเพียงว่า ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์ครบจำนวนและได้ขีดฆ่าแล้วว่าจะใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้เท่านั้น หาได้บังคับถึงเวลาที่ปิดและได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ในขณะทำสัญญาไม่ ดังนี้ เมื่อหนังสือสัญญากู้ยืมเงินและหนังสือสัญญาค้ำประกันเงินกู้ได้ปิดอากรแสตมป์ครบจำนวนและขีดฆ่าแล้วก่อนฟ้องคดีย่อมรับฟังเป็นพยานหลักฐานในคดีได้ ส่วนโจทก์จะปฏิบัติการแก้ไขข้อบกพร่องในการปิดอากรแสตมป์ชอบด้วย ป.รัษฎากร มาตรา 113 หรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหากจากการปิดอากรแสตมป์
แม้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจะระบุว่า ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1.25 บาทต่อเดือน หรือเท่ากับร้อยละ 15 ต่อปี ถูกต้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 แต่โจทก์และจำเลยตกลงเรียกดอกเบี้ยสัญญากู้ยืมเงินกันในอัตราร้อยละ 3 บาทต่อเดือน หรือร้อยละ 36 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยจึงเป็นการไม่ชอบและตกเป็นโมฆะ เสียเปล่ามาตั้งแต่ต้น ผลเท่ากับไม่เคยมีข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอยู่ในสัญญา แต่กรณีเป็นหนี้เงินโจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7229/2552 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้ที่ไม่สมบูรณ์และการบังคับชำระหนี้เฉพาะส่วนที่สมบูรณ์ รวมถึงดอกเบี้ยจากสัญญาขายลดเช็ค
หนังสือสัญญากู้เงินซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อไว้ระบุจำนวนเงิน 500,000 บาท โดยจำเลยไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวจากโจทก์ แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีมูลหนี้เดิมเหลืออยู่เพียง 192,111.28 บาท จึงเป็นการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์จำนวน 192,111.28 บาท ได้ มิใช่ว่าสัญญากู้ไม่สมบูรณ์ทั้งหมด
สัญญาขายลดเช็คไม่มีกฎหมายห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราไว้เหมือนเช่นการกู้ยืมเงิน ดังนั้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือนในมูลหนี้เดิมจึงมิใช่เป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6465/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเงินกู้: ดอกเบี้ยเกินอัตรา, ข้อบกพร่องสัญญา, และการชำระหนี้
โจทก์เป็นบริษัทจำกัดที่ประกอบกิจการให้เช่าซื้อทรัพย์สินและให้กู้เงิน เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นสถาบันการเงินตามกฎหมาย การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ของโจทก์จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน และค่าธรรมเนียมที่โจทก์หักไว้ล่วงหน้าซึ่งคิดแล้วเกินอัตรร้อยละ 15 ต่อปี จึงฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายและตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวรวมทั้งค่าธรรมเนียมจากจำเลยทั้งสองได้ ต้องนำดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่โจทก์เรียกเก็บล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมดหักออกจากเงินต้นตามสัญญากู้
ส่วนดอกเบี้ยซึ่งกำหนดตามสัญญาในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี แต่โจทก์คิดจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 2.5 ต่อเดือน หรือร้อยละ 30 ต่อปี ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดให้เรียกดอกเบี้ยได้ ตกเป็นโมฆะ โจทก์จะกลับมาใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามกำหนดในสัญญาอีกไม่ได้ คงเรียกได้เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 อันเป็นวันถัดจากวันครบกำหนดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4738/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงินที่ไม่ตรงกับจำนวนเงินที่ได้รับจริง ศาลแก้ไขจำนวนหนี้และดอกเบี้ยให้ถูกต้องตามข้อตกลง
จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 20,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน แต่ได้รับเงินกู้จากโจทก์เพียง 16,000 บาท เพราะโจทก์หักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยล่วงหน้า 2 เดือน และโจทก์ให้จำเลยที่ 1 เขียนสัญญากู้ยืมเงินว่ากู้เงินโจทก์จำนวน 160,000 บาท อันผิดไปจากความจริง อย่างไรก็ตามที่สัญญากู้ระบุจำนวนเงินกู้ไว้จำนวน 160,000 บาท แต่จำเลยต่อสู้และนำสืบหักล้างฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินโจทก์เพียงจำนวน 20,000 บาท ก็เป็นเพียงการทำให้จำนวนหนี้ในสัญญากู้ไม่สมบูรณ์เท่านั้นหาใช่ทำให้เป็นสัญญากู้ปลอมแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงอาศัยสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้เงินกู้ยืมที่แท้จริงจำนวน 20,000 บาท ได้ จำเลยที่ 1 ผู้กู้และจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมจึงต้องร่วมรับผิดชดใช้ต้นเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่โจทก์ ทั้งนี้โดยจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธินำเงินจำนวน 4,000 บาท ซึ่งเป็นดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน รวม 2 เดือน ที่จำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์หักไว้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินมาหักชำระหนี้ต้นเงินได้ เพราะเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 และมาตรา 411 สำหรับข้อตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ที่ระบุไว้ในสัญญากู้ยืมเงินนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ขณะทำสัญญาคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะคิดดอกเบี้ยกันในอัตราดังกล่าวแต่ตกลงให้โจทก์คิดในอัตราร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 มีผลให้ดอกเบี้ยดังกล่าวตกเป็นโมฆะเสียแล้ว โจทก์จึงไม่อาจคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองได้ แต่เนื่องจากกรณีเป็นหนี้เงิน โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ซึ่งคดีนี้สัญญากู้ยืมเงินมีข้อตกลงให้ชำระเงินที่กู้ยืมคืนภายในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2544 อันเป็นกำหนดเวลาชำระหนี้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันผิดนัดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และเมื่อความรับผิดของจำเลยทั้งสองเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ แม้จำเลยที่ 2 มิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10852/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาซื้อขายบ้านเป็นโมฆะจากดอกเบี้ยเกินอัตรากฎหมาย ทำให้โจทก์ไม่มีสิทธิขับไล่จำเลย
จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 350,000 บาท และค้างชำระดอกเบี้ยโจทก์ต่อมาสามีจำเลยได้ทำสัญญาขายบ้านพิพาทให้โจทก์ในราคา 590,000 บาท โดยมีการโอนหนี้เงินกู้และดอกเบี้ยที่จำเลยค้างชำระโจทก์จำนวน 590,000 บาท แทนการชำระราคาบ้าน เมื่อพิจารณาดอกเบี้ยเงินกู้ที่จำเลยค้างชำระโจทก์แล้วนำมารวมกับต้นเงินกู้เป็นเงินที่ชำระราคาซื้อขายบ้านพิพาทนั้น เป็นการคิดดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อเดือน ซึ่งเป็นอัตราที่เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี เป็นดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา ฯ มาตรา 3 ประกอบ ป.พ.พ. มาตรา 654 ดอกเบี้ยดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ สัญญาซื้อขายบ้านพิพาทจึงเกิดจากหนี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้ราคาบ้านพิพาทที่กำหนดในสัญญาจะรวมเอาต้นเงินกู้ที่โจทก์มีสิทธิได้รับไว้ด้วยก็ตาม แต่โจทก์และสามีจำเลยมิได้มีเจตนาจะแบ่งแยกซื้อขายบ้านบางส่วนในราคาต้นเงิน 350,000 บาท ที่จำเลยค้างชำระอยู่ สัญญาซื้อขายบ้านพิพาทระหว่างโจทก์กับสามีจำเลยย่อมเป็นโมฆะทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 173 โจทก์จึงฟ้องขับไล่จำเลยออกจากบ้านพิพาทไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6236/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับในสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้าน: ศาลยืนเบี้ยปรับ 0.50% ต่อวัน ไม่ใช่ดอกเบี้ยเกินอัตรา
ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองระบุว่า ถ้าผู้กู้ผิดนัดไม่ชำระเงินกู้และดอกเบี้ยตามงวดชำระภายในกำหนด ผู้กู้ยินยอมให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดเพิ่มอีกในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน ของยอดเงินกู้ที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระหมดสิ้น เป็นเรื่องที่จำเลยยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น สูงกว่าอัตราที่ตกลงกันไว้ในสัญญาได้หากจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และมาตรา 383 วรรคหนึ่ง
ตามสัญญากู้เงินกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ซึ่งไม่เกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ไม่ต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ส่วนข้อสัญญาที่กำหนดให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อวัน เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องตามสัญญา มีลักษณะเป็นเบี้ยปรับหาใช่เป็นข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จึงไม่ขัดต่อ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ไม่ตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5298/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล, ดอกเบี้ยเกินอัตรา, สัญญาที่ไม่เป็นธรรม: คดีสินเชื่อส่วนบุคคล
ป.วิ.พ. มาตรา 4 (1) บัญญัติว่า คำฟ้อง ให้เสนอต่อศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือต่อศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นในเขตศาลไม่ว่าจำเลยจะมีภูมิลำเนาอยู่ในราชอาณาจักรหรือไม่ คำว่า มูลคดีเกิดขึ้น หมายถึง เหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้อง เมื่อโจทก์อนุมัติวงเงินสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย ณ ที่ทำการของโจทก์ ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ต่อมาจำเลยผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเห็นได้ว่าเหตุอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิที่ทำให้โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยเกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์ซึ่งเป็นสถานที่อนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลย อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลแขวงปทุมวัน ดังนั้น โจทก์จึงมีอำนาจเสนอคำฟ้องคดีนี้ต่อศาลแขวงปทุมวันได้ ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว การที่โจทก์ใช้โทรศัพท์แจ้งเรื่องการอนุมัติสินเชื่อบุคคลให้แก่จำเลยเป็นเพียงการอำนวยความสะดวกให้แก่จำเลยซึ่งเป็นลูกค้าเท่านั้น หาทำให้มูลคดีที่เกิดขึ้น ณ ที่ทำการของโจทก์เปลี่ยนแปลงไปไม่
โจทก์เป็นบริษัทจำกัดไม่ใช่สถาบันการเงินตามกฎหมาย ขณะทำสัญญายังไม่มีประกาศกระทรวงการคลังและประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลสำหรับผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน ดังนั้น การเรียกดอกเบี้ยเงินกู้จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี แม้โจทก์จะคิดผลประโยชน์ตอบแทนตามสัญญาเป็นค่าบริการครั้งแรก และค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินต่างหากจากดอกเบี้ยปกติที่เรียกเก็บโดยใช้ชื่อเรียกแตกต่างออกไป แต่ผลประโยชน์ดังกล่าวก็เป็นค่าตอบแทนที่จำเลยต้องใช้ให้แก่โจทก์จากการได้กู้ยืมเงิน ดังนั้น เงินที่โจทก์คิดเป็นค่าบริการครั้งแรกและค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินดังกล่าวจึงเป็นดอกเบี้ยของสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์ได้รับผลประโยชน์คิดเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดตามสัญญาได้แก่ ค่าบริการครั้งแรก ค่าธรรมเนียมการใช้วงเงินและดอกเบี้ยที่เรียกเก็บรายเดือน อันเป็นการคำนวณจากต้นเงินและดอกเบี้ยทั้งหมดที่คำนวณไว้ล่วงหน้าเป็นเวลา 2 ปี โดยจำเลยต้องผ่อนชำระต้นเงินและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์เท่ากันทุกเดือนโดยที่จำนวนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องชำระมิได้ลดลงตามสัดส่วนของต้นเงินที่ลดลง จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่ (Flat rate) เมื่อคำนวณเป็นดอกเบี้ยตามอัตราปกติ (Effective rate) ซึ่งเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี อันเป็นการฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 654 และ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 มาตรา 3 ข้อตกลงที่เกี่ยวกับผลประโยชน์จากการกู้ยืมในสัญญาในส่วนที่ถือเป็นดอกเบี้ยทั้งหมดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวจากจำเลย และต้องหักเงินค่าบริการครั้งแรกที่โจทก์เรียกเก็บไปแล้วออกจากต้นเงินที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาด้วย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 3/2550)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3288/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย: การชำระหนี้ครบถ้วนและการกลับสู่ฐานะเดิม
โจทก์เป็นเอกชนมิใช่สถาบันการเงิน การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ตามกฎหมายกำหนดให้คิดสูงสุดเพียงร้อยละ 15 ต่อปี แต่เมื่อโจทก์คิดดอกเบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 1 ในอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปี เป็นการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3 และ ป.พ.พ. มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะ ความข้อนี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ที่มุ่งรักษาความยุติธรรมมิให้มีการเอารัดเอาเปรียบกันจนเกินไป และผลของการเป็นโมฆะตามหลักประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์คู่ความย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม และขณะที่จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์นั้น จำเลยทั้งสองมีความผูกพันที่จะต้องชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อยู่ เพราะตามสัญญากู้ก็กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยมาทราบภายหลังว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 18 และ 24 ต่อปี ดังนั้น จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามอำเภอใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 407 ดอกเบี้ยที่เป็นโมฆะนั้นต้องคืนให้จำเลยทั้งสอง หรือไม่ก็นำไปชำระเงินต้นที่ยังค้างอยู่ เมื่อจำเลยทั้งสองนำสืบได้ว่าได้ชำระเงินให้แก่โจทก์ไปแล้วเป็นเงินรวมทั้งสิ้นเกือบ 17,000,000 บาท สูงกว่าจำนวนเงินที่กู้เพียง 13,000,000 บาทเศษ จึงถือว่าได้จำเลยทั้งสองได้ชำระหนี้เงินกู้โจทก์ครบแล้ว
of 11