คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ.2475 ม. 3

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 106 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7391/2547 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้อง, การมอบอำนาจ, อัตราดอกเบี้ย, ข้อตกลงยกเว้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์, ศาลรัฐธรรมนูญ
ข้อโต้แย้งว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญที่จะส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทย มาตรา 264 วรรคหนึ่ง จะต้องเป็นข้อโต้แย้งว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีตามคำร้องของจำเลยที่อ้างว่า พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 30 และ 31 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 29, 30, 48, 50, 89 และ 272 นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยมิได้รับโอนสินทรัพย์ในคดีนี้ของจำเลยเพราะเหตุสินทรัพย์ของจำเลยมีลักษณะไม่ครบถ้วนตามที่ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 31 บัญญัติว่า การใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยดังกล่าวจะชอบหรือไม่ เป็นเรื่องที่จำเลยจะต้องไปว่ากล่าวกับคณะกรรมการดังกล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งไม่เกี่ยวกับโจทก์ในคดีนี้ คดีนี้จึงไม่มีประเด็นที่จะต้องนำ พ.ร.ก.บรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยฯ มาตรา 30 และ 31 มาใช้ในการวินิจฉัยคดี บทบัญญัติดังกล่าวจึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดี คำร้องของจำเลยไม่ต้องด้วยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 264 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ยกคำร้องของจำเลยชอบแล้ว
ฎีกาของจำเลยที่ว่า การฟ้องคดีนี้ของโจทก์ในสภาวะที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจเป็นการพ้นวิสัย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 และจำเลยได้รับการรับรองคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 205 และ 219 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องนั้น จำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น ถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบแต่ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
การเป็นนิติบุคคลประเภทหุ้นส่วนบริษัทและอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลนั้น นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทจะต้องแต่งย่อรายการซึ่งได้จดทะเบียนส่งไปลงพิมพ์ในโฆษณาในหนังสือราชกิจจานุเบกษาและถือว่าเป็นอันรู้แก่บุคคลทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1021 และ 1022 จำเลยให้การแต่เพียงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัดหรือไม่ และ บ. มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์หรือไม่ จำเลยไม่ทราบ ไม่รับรอง และหนังสือมอบอำนาจท้ายฟ้องมิได้ระบุให้ จ. มีอำนาจฟ้องจำเลยต่อศาลในคดีนี้เท่านั้น เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้ง ไม่มีประเด็นที่โจทก์จะต้องนำพยานมาสืบ ทั้งยังฝ่าฝืนข้อสันนิษฐานเด็ดขาดตามกฎหมายอีกด้วย เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุว่า จ. มีอำนาจยื่นฟ้องและดำเนินคดีใดๆ ซึ่งสาขามีส่วนได้เสียหรือเกี่ยวข้องอยู่ และจำเลยมีหนี้สินค้างชำระอยู่แก่โจทก์ จ. ย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์ โดยโจทก์หาจำต้องระบุชื่อผู้ที่จะถูกฟ้องและศาลที่จะยื่นฟ้องในหนังสือมอบอำนาจด้วยไม่
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยที่ 5/2542 ลงวันที่ 22 เมษายน 2542 แล้วว่า พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงิน พ.ศ.2535 (ฉบับที่3)ฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 30 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้บังคับได้ในคดีทั้งปวงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 264 วรรคท้าย อีกทั้ง พ.ร.บ.ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ เป็นกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทย มีอำนาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่สถาบันการเงินอาจคิดได้จากผู้กู้ยืมหรือคิดให้ผู้ให้กู้ยืมสูงกว่าอัตราร้อยละสิบห้าต่อปีก็ได้ จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ
ป.พ.พ. มาตรา 733 เป็นเพียงบทสันนิษฐานถึงเจตนาของคู่กรณี หาใช่บทกฎหมายซึ่งเกี่ยวด้วยผลประโยชน์ของมหาชนโดยทั่วไปไม่ แต่เกี่ยวแก่คู่กรณีโดยเฉพาะ และหาได้เกี่ยวกับศีลธรรมตามที่นิยมกันในหมู่ชนทั่วไปหรือธรรมเนียมประเพณีของสังคมแต่อย่างใดไม่ จึงมิใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้รับจำนองและผู้จำนองอาจตกลงกันเป็นประการอื่นจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ย่อมกระทำได้ ข้อตกลงดังกล่าวมีผลบังคับตามกฎหมายหาตกเป็นโมฆะไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2654/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญา กู้ยืมเงินเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ศาลแก้ไขคำพิพากษาดอกเบี้ย
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14ขณะจำเลยทั้งสองทำสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติเกี่ยวกับดอกเบี้ยและส่วนลดให้สินเชื่อโจทก์จึงมีคำสั่งและประกาศอัตราดอกเบี้ยขั้นต่ำสำหรับลูกค้ารายใหญ่และรายย่อยชั้นดีโดยอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีทั้งประเภทเบิกเงินเกินบัญชีและเงินกู้แบบมีระยะเวลาอัตราร้อยละ 14.75 ต่อปี การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกค้ารายย่อยชั้นดีในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าอัตราตามคำสั่งและประกาศของโจทก์เป็นการปฏิบัติฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3(ก) การกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี จึงตกเป็นโมฆะ แม้ตามความจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็ไม่อาจทำให้ข้อตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ตกเป็นโมฆะกลายเป็นข้อตกลงที่ชอบด้วยกฎหมายไปได้ เมื่อข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นโมฆะแล้วเท่ากับสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีมิได้มีการตกลงเรื่องดอกเบี้ยกันไว้โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมได้อีกแต่เนื่องจากเป็นหนี้เงินโจทก์ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
การชำระดอกเบี้ยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วยความสมัครใจของลูกหนี้เป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจ โดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันต้องชำระ จึงไม่อาจนำมาหักชำระดอกเบี้ยและต้นเงินตามลำดับได้อีก ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบด้วยมาตรา 246,247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราตามกฎหมาย: สัญญาเป็นโมฆะ, ศาลแก้ไขคำพิพากษาได้เฉพาะในชั้นฎีกา
โจทก์เป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยเงินกู้ได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศของโจทก์ เมื่อตามคำสั่งและประกาศของโจทก์กำหนดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) อัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี แม้จะบวกค่าอัตราความเสี่ยงร้อยละ 2 ต่อปี ก็เป็นอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี มิใช่อัตราร้อยละ 16.5ต่อปี โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากจำเลยได้ไม่เกินอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น
สัญญากู้ยืมเงินมีข้อความว่า ผู้กู้ยืมยอมเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่กู้ยืมให้แก่ผู้ให้กู้ยืมในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี กำหนดส่งเป็นรายเดือนทุก ๆ เดือน โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่าดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ที่กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงิน เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์กำหนดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้นโดยตกลงคิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี หาได้ไม่ เพราะเป็นการนำสืบพยานบุคคลเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญากู้ยืมเงินต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
แม้ในทางปฏิบัติโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังวันทำสัญญาไม่ถึงอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ก็เป็นการคิดดอกเบี้ยในขณะจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญามิใช่คิดดอกเบี้ยในขณะทำสัญญา เมื่อโจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พุทธศักราช 2475 มาตรา 3(ก) ดอกเบี้ยตามสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นโมฆะ โจทก์ชอบที่จะได้เพียงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43052 และ 43053 ออกขายทอดตลาด เป็นให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 43051และ 43052 ออกขายทอดตลาด แต่ขณะโจทก์ยื่นคำร้องดังกล่าวโจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์แล้ว อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือข้อหลงผิดเล็กน้อยดังกล่าวย่อมอยู่แก่ศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143วรรคหนึ่ง มิใช่อำนาจของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1680/2546 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยกู้ยืมเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ ศาลแก้ไขคำพิพากษาการบังคับจำนอง
สัญญากู้ยืมเงินระบุอัตราดอกเบี้ยไว้ร้อยละ 19 ต่อปี โจทก์จะนำสืบพยานบุคคลว่า เป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่โจทก์กำหนดไว้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ความจริงตกลงคิดดอกเบี้ยขณะทำสัญญาไม่ถึงอัตราดังกล่าวไม่ได้ เพราะเป็นการสืบพยานบุคคลเพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารสัญญา ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 (ข)
ในทางปฏิบัติที่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยภายหลังวันทำสัญญาไม่ถึงอัตราที่กำหนดไว้ในสัญญา เป็นการคิดดอกเบี้ยในขณะจำเลยปฏิเสธการชำระหนี้ตามสัญญา มิใช่คิดดอกเบี้ยในขณะทำสัญญา เมื่อดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกขณะทำสัญญาเกินอัตราตามประกาศของโจทก์เป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 อันเป็นการต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 (ก) ดอกเบี้ยตามสัญญาจึงเป็นโมฆะ โจทก์ชอบที่จะได้ ดอกเบี้ยเพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ขณะโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งแก้ไขคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ระบุหมายเลขโฉนดที่ดินซึ่งให้บังคับจำนองผิดพลาด โจทก์ได้ยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แล้ว อำนาจที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดหรือ ข้อผิดหลงเล็กน้อยดังกล่าวย่อมอยู่แก่ศาลฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 143 วรรคหนึ่ง ไม่ใช่อำนาจของศาลชั้นต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6509/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดสูงสุดตามสัญญาเป็นโมฆะ ศาลใช้ดอกเบี้ยตามกฎหมายแพ่ง
จำเลยทำใบคำเสนอขอสินเชื่อจากธนาคารโจทก์โดยตกลงจะชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปี และในวันเดียวกัน จำเลยได้ทำสัญญากู้ยืมเงินให้แก่โจทก์ โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งจำเลยได้รับเงินกู้ไปเรียบร้อยแล้ว จะเห็นได้ว่า ใบคำเสนอขอสินเชื่อเป็นเพียงคำเสนอของจำเลยที่เสนอต่อโจทก์เท่านั้น ส่วนสัญญากู้ยืมเงินเป็นข้อตกลงในการทำสัญญาที่จัดทำขึ้นภายหลังที่โจทก์ได้พิจารณาคำเสนอของจำเลยแล้ว โจทก์จึงกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้นข้อความหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่โจทก์ให้จำเลยกู้ยืม จึงเป็นจำนวนที่ชัดแจ้งไม่มีข้อความเป็นที่น่าสงสัยหรือมีความเป็นสองนัยอันจะต้องตีความตามเจตนาอันแท้จริงของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธินำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมเงินว่าอัตราร้อยละ 19 ต่อปี เป็นอัตราดอกเบี้ยกรณีที่จำเลยผิดนัดเพราะต้องห้ามมิให้นำสืบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94(ข)
แม้โจทก์จะมีวิธีคิดในการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งในกรณีที่ไม่ผิดนัดและผิดนัดตามประกาศของโจทก์ก็ตาม แต่วิธีการปฏิบัติดังกล่าวก็เป็นเพียงแนวทางในการปฏิบัติของโจทก์ต่อจำเลยเท่านั้น หามีผลกระทบต่อข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยอัตราร้อยละ19 ต่อปี ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ได้ตกลงกันอย่างชัดแจ้งในสัญญากู้ยืมเงินไม่ข้อตกลงดังกล่าวของโจทก์จึงเป็นการเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 และเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ อย่างชัดแจ้ง จึงตกเป็นโมฆะ และแม้โจทก์จะมีสถานะเป็นสถาบันการเงินตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมของสถาบันการเงินฯ มาตรา 3(2) และพระราชบัญญัติดังกล่าวให้สิทธิโจทก์เรียกดอกเบี้ยได้เกินกว่าร้อยละ 15 ต่อปี ก็ตาม แต่ตามประกาศของกระทรวงการคลังและของโจทก์ที่ออกมาใช้บังคับในช่วงของการทำสัญญากู้ยืมเงินนี้กำหนดอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดสูงสุดในกรณีที่ลูกหนี้ปฏิบัติผิดเงื่อนไข หรือเบิกเงินเกินวงเงินให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 19 ต่อปีเท่านั้น ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปีที่โจทก์กำหนดไว้ในสัญญากู้ยืมเงินจึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยปฏิบัติผิดเงื่อนไขมิใช่อัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้าในกรณีเงินกู้ทั่วไป การที่โจทก์กำหนดในสัญญากู้ยืมเงินให้จำเลยเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปี จึงเกินกว่าประกาศและคำสั่งของโจทก์ซึ่งโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทั่วไปจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 14.5 ต่อปีเท่านั้น ข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยในอัตราร้อยละ 19 ต่อปีจึงตกเป็นโมฆะ จำเลยคงรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์เพียงอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5669/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างด้วยเหตุฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงาน กรณีช่วยเหลือลูกจ้างกู้ยืมเงิน
ผู้ร้องขอให้ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องเลิกจ้างผู้คัดค้านซึ่งเป็นลูกจ้างและกรรมการลูกจ้างโดยอ้างว่าผู้คัดค้านฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานที่ว่าลูกจ้างต้องไม่มีหนี้สินล้นพ้นตัว ไม่แสวงหาประโยชน์จากการกู้ยืมภายในบริเวณที่ทำการหรือโรงงานหรือหอพักที่นายจ้างจัดให้ ซึ่งเป็นกรณีร้ายแรงโดยผู้คัดค้านให้ลูกจ้างของผู้ร้องกู้ยืมเงิน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่ให้กู้ยืมเงินคือ บ. ไม่ใช่ผู้คัดค้านเหตุที่ผู้คัดค้านเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยก็เพราะ ม. ไปพบผู้คัดค้านแจ้งว่ากำลังเดือดร้อนต้องการใช้เงิน ผู้คัดค้านจึงรับไปติดต่อกับ บ. ลูกพี่ลูกน้องกับผู้คัดค้านซึ่งมีอาชีพปล่อยเงินกู้ให้อันเป็นการช่วยเหลือ ม. หลังจากที่ผู้คัดค้านติดต่อแล้ว บ. ยอมให้กู้ยืมโดยมอบเงินให้ผู้คัดค้านนำไปมอบให้ ม. การที่ผู้คัดค้านรับมอบเงินกู้จาก บ. นำไปให้ม. จึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องเพื่อช่วย ม. ให้ได้รับเงินกู้จาก บ. เช่นเดียวกัน แม้ บ. จะคิดดอกเบี้ยจาก ม. ถึงร้อยละ 10 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ และไม่ว่าผู้คัดค้านจะเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้คัดค้านได้รับผลประโยชน์ใดจากการกู้ยืมระหว่างม. กับ บ. การกระทำของผู้คัดค้านจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของผู้ร้องกรณีไม่มีเหตุสมควรที่ผู้ร้องจะเลิกจ้างผู้คัดค้าน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4936/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อัตราดอกเบี้ยในสัญญากู้ยืมสูงเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดเป็นโมฆะ แม้มิได้ยกขึ้นในศาลชั้นต้น
ปัญหาเรื่องอัตราดอกเบี้ยขัดต่อกฎหมายหรือไม่ เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้มิได้มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ก็มีอำนาจยกข้อกฎหมายดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142(5) ประกอบมาตรา 246
สัญญากู้ยืมระบุว่า ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยให้แก่ผู้ให้กู้ในอัตราสูงสุดตามประกาศของธนาคารโจทก์ แต่ตามประกาศกำหนดดอกเบี้ยของโจทก์ในขณะทำสัญญากู้ยืมกำหนดอัตราดอกเบี้ยเรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลาร้อยละ14.50 ต่อปี ไม่มีข้อความตอนใดในประกาศดังกล่าวที่กำหนดให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยได้ถึงร้อยละ 19 ต่อปี ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่ระบุในสัญญากู้ยืมจึงสูงกว่าที่โจทก์มีสิทธิจะเรียกเก็บได้ตามกฎหมาย และขัดต่อ พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯมาตรา 3(ก) ข้อกำหนดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี ในสัญญากู้ยืมจึงตกเป็นโมฆะ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4372/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ โมฆะเฉพาะส่วนของสัญญากู้ยืมและผลกระทบต่อสัญญาจำนอง: สัญญาจำนองยังใช้บังคับกับหนี้ที่สมบูรณ์
โจทก์นำเงินดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาท ที่จำเลยค้างชำระซึ่งเป็นดอกเบี้ยที่คิดในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯมาตรา 3 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 ไปรวมเข้ากับต้นเงิน 300,000 บาทที่กู้ยืม แสดงว่าโจทก์และจำเลยมีเจตนาที่จะแบ่งแยก การกู้เงินออกเป็นสองส่วน ส่วนที่หนึ่งคือกู้เงินจำนวน 300,000 บาท อีกส่วนหนึ่งคือ 60,000บาท เฉพาะนิติกรรมการกู้ยืมส่วนที่เป็นดอกเบี้ยจำนวน 60,000 บาทเท่านั้น ที่ตกเป็นโมฆะ ส่วนนิติกรรมการกู้ยืมเงินระหว่างโจทก์กับจำเลยในส่วนจำนวน 300,000 บาท ยังคงสมบูรณ์อยู่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 173 หนี้กู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลยในเงินส่วนนี้จึงเป็นหนี้ที่สมบูรณ์ เมื่อจำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้เงินกู้ในวงเงิน 360,000 บาทสัญญาจำนองประกันหนี้ จึงมีผลใช้บังคับได้ตามจำนวนหนี้ประธานที่สมบูรณ์ คือ จำนวน 300,000 บาท เมื่อโจทก์บอกกล่าวบังคับจำนองแล้วโจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับจำนองในหนี้ส่วนนี้ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3524/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญากู้เงิน: ข้อตกลงให้ชำระเพิ่มจากดอกเบี้ยตามอัตราแลกเปลี่ยน ถือเป็นดอกเบี้ยเกินอัตราเป็นโมฆะ
สัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยระบุว่า จำเลยกู้เงินโจทก์ 500,000 บาทโดยมิได้ระบุให้ใช้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐแต่อย่างใด ส่วนข้อความที่ระบุว่า "วันนี้ 1 อัตราดอลลาร์อเมริกันเท่ากับ24.29บาทในกรณีที่เงินดอลลาร์อเมริกันมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นผู้กู้ยอมชำระอัตราเพิ่มขึ้นด้วย" นั้น เป็นเพียงข้อตกลงที่ให้ผู้กู้ชำระเงินเพิ่มในกรณีที่เงินดอลลาร์สหรัฐมีอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มสูงขึ้น หาใช่เป็นการแสดงว่าเป็นการกู้เงินหรือต้องใช้เงินกู้เป็นเงินดอลลาร์สหรัฐไม่ จำเลยต้องชำระหนี้ตามจำนวนในสัญญาให้โจทก์เป็นเงินไทย ทั้งข้อตกลงดังกล่าวก็มิใช่เป็นเบี้ยปรับหรือการกำหนดค่าเสียหาย แต่เป็นการกำหนดให้ผู้กู้ต้องรับผิดเกินกว่าหนี้ที่ผู้กู้จะต้องชำระให้แก่ผู้ให้กู้อันเป็นการให้ค่าตอบแทนเพิ่มจากดอกเบี้ยที่ตกลงกันไว้ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน กรณีจึงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ มาตรา 3 ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 จึงตกเป็นโมฆะมิอาจบังคับได้ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยมิได้ฎีกาศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2167/2545 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระดอกเบี้ยเกินอัตราตามกฎหมาย แม้เป็นโมฆะ แต่การชำระโดยสมัครใจไม่อาจเรียกคืนหรือหักชำระหนี้ได้
จำเลยกู้เงินจากโจทก์จำนวน 200,000 บาท โดยตกลงคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 3 ต่อเดือน จำเลยได้ชำระ ดอกเบี้ยในอัตราดังกล่าวให้โจทก์ไปแล้ว 80,000 บาท แม้การกระทำของโจทก์ที่คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจะเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ. ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3 ประกอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 654 อันมีผลให้ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะ แต่เมื่อจำเลยชำระดอกเบี้ยดังกล่าวด้วยความสมัครใจตามที่ตกลงกับโจทก์ไว้ จึงเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจและเป็นการชำระหนี้อันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 407, 411 จำเลยจะเรียกเงินดอกเบี้ยจำนวนดังกล่าวคืน หรือนำมาหักชำระต้นเงิน 200,000 บาท หาได้ไม่
of 11