คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สุทธินันท์ เสียมสกุล

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 69 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6662/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขคำพิพากษาดอกเบี้ยเบิกเงินเกินบัญชีตามหลักเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยหลังการโอนหนี้
การที่บริษัทเงินทุน ธ. ทำสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้จากธนาคาร ด. ตามสัญญาซื้อขายหนี้เงินกู้โดยมีข้อตกลงว่าธนาคาร ด. ตกลงโอนสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากู้เงินและกู้เบิกเงินเกินบัญชีทั้งหมดให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. เมื่อธนาคาร ด. เป็นเจ้าหนี้จำเลยทั้งห้าในมูลหนี้เงินกู้และมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชี และสิทธิการเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ด. เป็นสิทธิที่อยู่ในสภาพเปิดช่องให้โอนกันได้ มิใช่สิทธิเฉพาะตัวหรือมีกฎหมายห้ามโอน การโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้รายนี้ย่อมกระทำได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 ทั้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมายตามมาตรา 150 ธนาคาร ด. จึงสามารถโอนสิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่บริษัทเงินทุน ธ. ได้ แม้บริษัทเงินทุน ธ. มิได้เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 แต่ไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดห้ามโอนสิทธิเรียกร้องที่เป็นหนี้ด้อยคุณภาพว่าจะต้องเป็นไปแต่เฉพาะตามกฎหมายพิเศษนอกเหนือจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และแม้บริษัทเงินทุน ธ. จะทำสัญญาซื้อหนี้เงินกู้จากธนาคาร ด. ภายหลังธนาคาร ด. ฟ้องคดีแล้ว โจทก์จึงรับโอนสิทธิเรียกร้องของธนาคาร ด. ได้ เนื่องจากโจทก์เป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์สามารถยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนธนาคาร ด. ในคดีนี้ได้โดยชอบตาม พ.ร.ก.บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ.2541 และแม้จะมิได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยที่ 1 และที่ 5 หรือจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ได้ยินยอมด้วยในการโอนนั้น มีผลเพียงว่าโจทก์ในฐานะผู้รับโอนจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ได้เท่านั้น หาได้ทำให้การโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด
ร. เป็นพนักงานสินเชื่อของโจทก์ มีหน้าที่ติดตามดูแลลูกค้าของโจทก์ สาขาราชประสงค์ และได้ตรวจสอบเอกสารของลูกค้ารวมทั้งฝ่ายจำเลยคดีนี้ และ ว. เป็นพนักงานบัญชีของโจทก์ มีหน้าที่ควบคุมดูแลฝ่ายบัญชีลูกค้าของโจทก์ รวมทั้งตรวจสอบเอกสารของลูกค้า ได้เบิกความรับรองพยานเอกสารว่ามีอยู่จริงและถูกต้อง แม้พยานโจทก์จะมิได้รู้เห็นขณะทำพยานเอกสาร แต่เป็นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับพยานเอกสาร และเมื่อได้ตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ แล้วก็สามารถรับรองความถูกต้องแท้จริงได้ การที่ศาลล่างทั้งสองรับฟังคำเบิกความของพยานทั้งสองจึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 (2)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6068/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความเป็นหุ้นส่วนจำกัด การแบ่งปันกำไร และการเลิกห้างหุ้นส่วน
พฤติการณ์ที่โจทก์ จำเลยที่ 2 และ พ. ร่วมกันยื่นคำร้องขอจดทะเบียนตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ถือว่าบุคคลดังกล่าวยอมผูกพันกันตามกฎหมายเพื่อทำกิจการร่วมกันด้วยจะประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำในฐานะผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 แล้ว ต่างจากที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเป็นหุ้นส่วนโดยไม่จดทะเบียนซึ่งต้องพิจารณาด้วยว่าการตกลงนั้นมีลักษณะเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนหรือไม่
การแบ่งเงินปันผลกำไรให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดต้องเป็นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1084 ส่วนจะมีการแบ่งกันเมื่อใด อย่างไร ย่อมเป็นไปตามสัญญาห้างหุ้นส่วน หากสัญญาห้างหุ้นส่วนไม่กำหนดไว้ก็ย่อมเป็นไปตามที่หุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจเห็นสมควร และถ้าหากผู้เป็นหุ้นส่วนตกลงกันไม่ได้ในเรื่องการจ่ายเงินปันผลและมีเหตุให้เลิกห้างหุ้นส่วน ผู้เป็นหุ้นส่วนนั้นอาจร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งเลิกห้างหุ้นส่วนและชำระบัญชีต่อไป
เงินส่วนกำไรของห้างหุ้นส่วนจะยังไม่เป็นเงินปันผลจนกว่าจะมีการตกลงให้จ่ายเงินกำไรนั้นเป็นเงินปันผล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5002/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อหลังลูกหนี้เสียชีวิต: ระยะเวลา 1 ปีนับจากทราบการเสียชีวิต
วันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องกรณีผู้ให้เช่าซื้อเรียกให้ผู้เช่าซื้อชดใช้ค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถกรณีผู้เช่าซื้อประพฤติผิดสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/12 เริ่มนับเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง มิใช่นับแต่วันที่ผู้ให้เช่าซื้อทราบถึงจำนวนค่าเสียหายเมื่อนำรถที่เช่าซื้อออกขายทอดตลาด
ค่าขาดราคารถที่เช่าซื้อ และค่าขาดประโยชน์กฎหมายมิได้บัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงต้องใช้อายุความทั่วไป 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ที่บัญญัติห้ามมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องบังคับตามสิทธิเรียกร้องอันมีต่อเจ้าหนี้มรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกกรณีที่ผู้เช่าซื้อเป็นลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องนั้น เมื่อโจทก์ผู้ให้เช่าซื้อรู้ถึงความตายของผู้เช่าซื้อแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2548 ย่อมต้องอยู่ภายใต้บัญญัติดังกล่าว ที่โจทก์ต้องฟ้องเรียกค่าขาดราคาและค่าขาดประโยชน์จากการใช้รถที่เช่าซื้อภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่รู้ถึงความตายดังกล่าว หรือภายในสิบปีนับแต่ผู้เช่าซื้อถึงแก่ความตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกในกำหนดเวลาดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4587/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรม แม้คำฟ้องมิได้ระบุชัดเจน ศาลใช้บทบัญญัติกฎหมายปรับใช้ได้
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า จำเลยเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นทายาทโดยธรรมของ ส. ผู้ตาย ตามคำฟ้องจึงเป็นการขอให้จำเลยในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายรับผิดในผลที่ผู้ตายกระทำละเมิดต่อโจทก์ ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้นจำเลยแถลงติดใจต่อสู้คดีเพียงว่า ผู้ตายไม่ได้เป็นผู้กระทำละเมิดและจำเลยไม่ได้เป็นตัวการในการกระทำละเมิดจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ มีผลเท่ากับจำเลยยอมรับว่าเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย จำเลยจึงเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง แม้คำขอบังคับของโจทก์จะมิได้ระบุไว้ให้จำเลยรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตาย แต่ศาลชั้นต้นย่อมยกบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวขึ้นปรับแก่คดีและพิพากษาให้จำเลยรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของผู้ตายได้ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4203/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การชำระบัญชีห้างหุ้นส่วนและการเรียกร้องเงินคืนหลังเลิกสัญญา โดยต้องมีการตรวจสอบทรัพย์สินและแบ่งกำไร
ป.พ.พ. มาตรา 1061 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อห้างหุ้นส่วนเลิกกันแล้วก็ให้จัดการชำระบัญชี เว้นแต่จะได้ตกลงกันให้จัดการทรัพย์สินโดยวิธีอื่นในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน หรือว่าห้างหุ้นส่วนนั้นศาลได้พิพากษาให้ล้มละลาย คดีนี้แม้โจทก์จะเป็นฝ่ายออกเงินลงทุน ส่วนจำเลยทั้งสองยอมให้ห้างหุ้นส่วนใช้ที่ดินของตนปลูกต้นสน แต่โจทก์กับจำเลยทั้งสองยังมีข้อโต้แย้งกันเกี่ยวกับจำนวนเงินลงทุนของโจทก์ รายได้ของห้างหุ้นส่วน ข้อตกลงในการแบ่งปันผลกำไร อีกทั้งโจทก์กับจำเลยทั้งสองต่างมิได้ตกลงให้มีการจัดการทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยโจทก์ไม่ยอมแบ่งรายได้ให้แก่จำเลยทั้งสองอ้างว่าต้องหักต้นทุนก่อน ในขณะที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไม่มีข้อตกลงเช่นนั้นและต่อมาจำเลยทั้งสองก็ตัดโค่นไม้สนจำนวนหนึ่งแล้วนำไปขาย จึงจำเป็นต้องมีการชำระบัญชีเพื่อตรวจสอบให้ทราบว่าต้นสนที่เหลือมีมูลค่าเท่าใด จะจัดการอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับต้นสนนั้น และห้างหุ้นส่วนมีผลกำไรหรือขาดทุนหรือไม่เพียงใด เพื่อที่จะได้เฉลี่ยกันในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนได้ถูกต้อง แม้ห้างหุ้นส่วนจะไม่มีหนี้สินต่อบุคคลภายนอกก็ตาม
เมื่อข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน มิใช่สัญญาร่วมลงทุนประเภทหนึ่ง การที่โจทก์เรียกเอาเงินลงทุนค่าบริหารจัดการ ค่าตัดโค่นต้นไม้ เงินค่าขายไม้สน ตลอดจนค่าขาดประโยชน์จากตอไม้ จึงเป็นการฟ้องขอให้คืนทุนกับเรียกค่าใช้จ่ายเพื่อจัดการงานของห้างหุ้นส่วนและการแบ่งกำไรของห้างหุ้นส่วนแก่โจทก์ มิใช่การเรียกเอาค่าเสียหายอันมิได้เกิดจากการประกอบกิจการร่วมกัน ตราบใดที่ยังไม่มีการชำระบัญชีโจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องเรียกให้จำเลยทั้งสองชำระเงินเกี่ยวเนื่องกับการดำเนินกิจการตามสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2418/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความประมาทเลินเล่อในการเก็บบัตรจอดรถ ไม่ถือเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดตามสัญญาประกันภัยรถยนต์
ร. รับบัตรจอดรถจากพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าแล้ววางบัตรไว้ที่คอนโซลภายในรถ แม้จะเป็นการกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังในการเก็บรักษาบัตรจอดรถ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่าก่อนที่จะเข้าไปซื้อของ ร. ได้ล็อกประตูรถไว้เรียบร้อยแล้วโดยไม่ได้เสียบกุญแจติดเครื่องยนต์ไว้กับรถยนต์ และได้จอดรถยนต์ไว้เพียง 30 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่ไม่นานเกินสมควร ข้อเท็จจริงตามพฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่ารถยนต์ที่จำเลยรับประกันภัยไว้ได้หายไปเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตามสัญญาประกันภัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2417/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายสิทธิเรียกร้องในคดีล้มละลาย การโอนสิทธิและอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสัญญาเช่าซื้อ
ตามสัญญาซื้อขายสิทธิเรียกร้อง ข้อ 1 ระบุว่า โจทก์ได้ซื้อสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายทั้งกลุ่มประเภทหนี้ตามมูลหนี้สัญญาเช่าซื้อจำนวนลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง 942 ราย (กลุ่ม จ) ตามประกาศของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ และข้อ 5 ระบุว่า เมื่อได้ชำระราคาครบถ้วนแล้วจึงจะถือว่าสัญญาฉบับนี้เป็นหลักฐานการโอนสิทธิเรียกร้องและถือว่าการโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์ โจทก์จะได้รับโอนสิทธิเรียกร้องเท่ากับสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีอยู่ในขณะที่การโอนสิทธิเรียกร้องบริบูรณ์โดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อจำกัดเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องตามมูลหนี้ที่ซื้อขาย ย่อมแสดงว่าการซื้อขายสิทธิเรียกร้องรายนี้ คู่สัญญาประสงค์ที่จะซื้อขายสิทธิเรียกร้องที่ผู้ล้มละลายมีต่อลูกหนี้ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันทั้งสัญญา หากสิทธิเรียกร้องของผู้ล้มละลายต่อจำเลยที่ 1 และ ห. ผู้ค้ำประกัน ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันมีอยู่เพียงใด โจทก์ซึ่งซื้อสิทธิเรียกร้องดังกล่าวมาก็ย่อมรับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่เท่าที่สิทธิและหน้าที่ของผู้ล้มละลายมีอยู่เพียงนั้น
สัญญาเช่าซื้อข้อ 6 กำหนดว่า เมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน เมื่อปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของเจ้าของแล้ว แต่ผู้เช่าซื้อละเลยหรือเพิกเฉยเสีย และไม่ปฏิบัติตามภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือนั้น เจ้าของมีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะบอกเลิกการเช่าซื้อ แสดงว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กัน ต้องปรากฏหลักฐานเป็นหนังสือบอกกล่าวของผู้ให้เช่าซื้อให้ชำระค่าเช่าซื้อเสียก่อนถ้าไม่ชำระภายใน 30 วัน ผู้ให้เช่าซื้อจึงจะมีสิทธิบอกเลิกการเช่าซื้อ และเมื่อผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกการเช่าซื้อแล้ว สัญญาเช่าซื้อจึงจะสิ้นสุดลง มิใช่ว่าเมื่อผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อสองงวดติด ๆ กันแล้ว สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงโดยไม่ต้องปรากฏหลักฐานการบอกกล่าวเป็นหนังสือและการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวก่อน การที่ผู้ให้เช่าซื้อไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา แต่ได้ไปยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย และการที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้รถยนต์ที่เช่าซื้อก่อนเลิกสัญญาโดยไม่ได้ชำระค่าเช่าซื้อนั้น จำเลยที่ 1 จำต้องใช้เงินเป็นค่าใช้ทรัพย์ให้แก่ผู้ให้เช่าซื้อตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคท้าย พร้อมดอกเบี้ย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคานั้นไม่ถูกต้อง จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดใช้ค่าขาดราคาซึ่งเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการผิดสัญญาและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อโดยชอบ ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเรื่องใดได้หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 500/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ประกันภัยรถยนต์: ความรับผิดของผู้รับประกันภัยแม้ผู้เอาประกันภัยมิได้เป็นผู้ขับขี่
แม้ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จะเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ตาม แต่ก็ไม่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ยกประเด็นดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยที่ 2 ไม่ได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์เพื่อตั้งเป็นประเด็นไว้ จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาได้อีก เพราะถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุที่ได้เอาประกันภัยค้ำจุนไว้กับจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัย โดยวันเกิดเหตุลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ไปส่งสินค้าให้แก่โจทก์ ย่อมถือได้ว่าลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง ตามเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เมื่อลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ขับรถคันที่จำเลยที่ 2 รับประกันภัยถอยหลังชนซุ้มเสาประตูโรมันค้ำยันและรองรับระเบียงหน้าบ้านของโจทก์แตกหักเสียหาย โจทก์ซึ่งเป็นผู้ต้องเสียหายจึงชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนตามที่ตนควรจะได้นั้นจากจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยโดยตรงตาม ป.พ.พ. มาตรา 887 วรรคสอง ซึ่งโจทก์สามารถฟ้องจำเลยที่ 2 ให้รับผิดได้โดยลำพัง เพียงแต่หากโจทก์ผู้ต้องเสียหายไม่ได้ฟ้องหรือเรียกตัวผู้เอาประกันภัยเข้ามาสู้คดีด้วย จะมีผลเพียงทำให้ผู้ต้องเสียหายไม่อาจเรียกค่าสินไหมทดแทนส่วนที่ยังขาดจากผู้เอาประกันภัยได้เท่านั้น หาได้มีผลถึงกับทำให้ผู้เอาประกันภัยไม่ต้องรับผิดต่อผู้ต้องเสียหายและทำให้ผู้รับประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ คดีนี้ การที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยรวมมากับจำเลยที่ ๒ ผู้รับประกันภัยโดยอ้างว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า จำเลยที่ 1 มิได้เป็นผู้ขับรถบรรทุกคันเกิดเหตุเอง ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับ จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามคำฟ้องของโจทก์นั้น หาทำให้มูลหนี้อันเกิดจากการกระทำละเมิดของลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ระงับสิ้นไปไม่ ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ในฐานะนายจ้างที่ลูกจ้างได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ตามกฎหมายก็ยังคงมีอยู่ เพียงแต่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ผิดไปมีผลทำให้จำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดตามฟ้องเท่านั้น ดังนั้น เมื่อความรับผิดของจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยยังคงมีอยู่ในขณะที่ลูกจ้างของจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อโจทก์และขณะนั้นจำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยซึ่งมีความรับผิดตามตารางกรมธรรม์ประกันภัยอยู่ก่อนแล้ว จำเลยที่ 2 จึงหาหลุดพ้นความรับผิดไปด้วยไม่ จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยค้ำจุนยังคงต้องผูกพันรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหาย กรณีหาใช่เรื่องมูลความแห่งคดีที่การชำระหนี้มิอาจแบ่งแยกกันได้ เมื่อจำเลยที่ 1 ผู้เอาประกันภัยหลุดพ้นความรับผิดอันจะเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ผู้รับประกันภัยต้องหลุดพ้นไปจากความรับผิดแต่อย่างใดไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 20102/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หุ้นส่วนจำกัด: การลงแรงช่วยเหลือครอบครัวไม่ถือเป็นข้อตกลงเป็นหุ้นส่วน
การเป็นหุ้นส่วนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1012 นั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้น สัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนจึงต้องเป็นการตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกันด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้แต่กิจการที่ทำนั้นโดยชัดแจ้ง โจทก์ทั้งเจ็ดเป็นบุตรของ ส. โดย ส. ประกอบอาชีพค้าขายมาก่อนโจทก์ทั้งเจ็ดกำเนิด ส. ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่โจทก์ทั้งเจ็ดในฐานะบิดากระทำต่อบุตร เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดเติบโตได้ช่วย ส. ค้าขายจนกระทั่งโจทก์ทั้งเจ็ดแต่งงานมีครอบครัวแล้วแยกครอบครัวไป ไม่ปรากฏโดยชัดแจ้งว่า ส. ตกลงร่วมค้าขายกับโจทก์ทั้งเจ็ดโดยให้โจทก์ทั้งเจ็ดลงแรงเป็นหุ้นและประสงค์แบ่งเงินกำไรกัน หรือหากต้องขาดทุนโจทก์ทั้งเจ็ดต้องรับผิดชอบอย่างไร การที่โจทก์ทั้งเจ็ดช่วยด้วยแรงงานจึงไม่เป็นการลงหุ้นด้วยแรง คงเป็นความสัมพันธ์ในครอบครัวระหว่างบิดาและบุตร การที่บุตรไม่แยกไปประกอบกิจการของตนเองแต่สมัครใจอยู่ช่วยเหลือและอาศัยกับบิดาต่อไป หาทำให้กิจการของบิดาเป็นกิจการของครอบครัวอันจะถือว่าเป็นสัญญาจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียนระหว่างบุตรและบิดาโดยปริยายไม่ โจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่เป็นหุ้นส่วนกับ ส. ตามบทกฎหมายดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15723/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ละเมิดของเจ้าหน้าที่: จำเลยต้องรับผิดชอบเหตุละเมิดจากความประมาทเลินเล่อของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมรถราชการ
ธ.ขับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุกลับมาที่สำนักงานเมื่อเวลาประมาณ 14 นาฬิกา หลังจาก ป.โทรศัพท์ตาม ธ. เพื่อให้นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนเมื่อเวลาประมาณ 15 นาฬิกาแล้ว ป. ก็ไม่ได้โทรศัพท์ติดต่อ ธ. อีกเลย และก่อนที่ ป. จะกลับบ้านเมื่อเวลาประมาณ 17 นาฬิกา ป. เห็นอยู่ว่า รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุจอดเก็บในช่องจอดรถ ซึ่งแสดงว่า ธ. กลับมาที่สำนักงานแล้ว แต่ ป. ก็ไม่ได้โทรศัพท์สั่งให้ ธ. นำกุญแจรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุมาส่งคืนตามระเบียบ จะถือว่า ป.ปฏิบัติงานตามหน้าที่อันสมควรแก่หน้าที่ความรับผิดชอบของตนแล้วหาได้ไม่ ส่วน ธ. ก็เข้าใจเอาเองว่า ป. กลับบ้านไปแล้ว แต่ก็ยังนั่งเล่นอยู่ที่บริเวณที่ทำการของจำเลยจนถึงเวลา 18 นาฬิกา โดยต่างฝ่ายต่างทอดธุระ ขาดความสำนึกไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำเสมือนหนึ่งว่าเป็นเรื่องปกติ แสดงให้เห็นถึงการปล่อยปละละเลย ย่อหย่อนไม่ควบคุมการใช้รถให้เป็นไปตามระเบียบของทางราชการ และเชื่อว่าจำเลยปล่อยปละละเลยให้เป็นเช่นนี้มาก่อนเกิดเหตุแล้ว ป.และ ธ. จึงไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติตามระเบียบ เข้าลักษณะที่จำเลยยินยอมให้ ธ. ใช้รถยนต์ตู้คันเกิดเหตุ อันเป็นหน้าที่ของพนักงานขับรถได้แม้เป็นเวลานอกราชการ เหตุละเมิดที่เกิดขึ้นในคดีนี้ จึงถือได้ว่าเป็นผลแห่งละเมิดที่เจ้าหน้าที่กระทรวงจำเลยได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกระทรวงจำเลยต้องรับผิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
of 7