คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
สมเกียรติ เจริญสวรรค์

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 45 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16524/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน: เหตุสุดวิสัยจากข้อพิพาทแนวเขต และบันทึกข้อตกลงแก้ไขสัญญา ทำให้จำเลยไม่ต้องรับผิด
โจทก์และจำเลยมีข้อตกลงกันตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดิน ที่กำหนดให้จำเลยซึ่งเป็นผู้จะขายและทายาทของ ส. ต้องไปจดทะเบียนถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทและยื่นคำขอแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยตามที่โจทก์ผู้จะซื้อเป็นผู้กำหนด นับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขาย ซึ่งจำเลยและทายาท ส. จะต้องดำเนินการตามข้อตกลงดังกล่าว แต่เมื่อภายหลังจากโจทก์กับจำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกัน ปรากฏว่าจำเลยมีข้อโต้แย้งเรื่องแนวเขตที่ดินพิพาทกับ อ. จนต่อมาจำเลยต้องฟ้องขับไล่ อ. ให้ออกจากที่ดินพิพาท ดังนั้น ระหว่างที่เป็นความคดีดังกล่าวกันอยู่เกี่ยวกับแนวเขตที่ดินพิพาท จำเลยจึงไม่มีทางที่จะดำเนินการให้แบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็นแปลงย่อยตามที่ระบุไว้ในสัญญาได้ และโจทก์กับจำเลยยังได้ทำบันทึกข้อตกลงท้ายสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท โดยจำเลยยินยอมให้โจทก์เลื่อนกำหนดการชำระเงินค่าที่ดินบางส่วน ตามสัญญาจะซื้อจะขาย ออกไปจนกว่าจะตกลงกันเรื่องที่ อ. รุกล้ำที่ดินพิพาทเสร็จเรียบร้อยก่อน การที่โจทก์ยังไม่ชำระราคา และไม่ไปจดทะเบียนรับโอนที่ดินพิพาท จึงเป็นไปตามข้อตกลงส่วนที่เพิ่มเติมในสัญญา ไม่ใช่ความผิดของโจทก์ โจทก์ไม่ได้เป็นผู้ผิดสัญญา จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะบอกเลิกสัญญากับริบเงินมัดจำได้ การบอกเลิกสัญญาของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย และสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาท ยังคงมีผลผูกพันโจทก์จำเลยคู่สัญญาอยู่ อีกทั้งเมื่อเหตุแห่งความขัดข้องที่ทำให้ไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ยังคงมีอยู่ กับไม่ได้มีข้อตกลงเพิ่มเติมให้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นอีก ดังนั้น การที่จำเลยยังไม่ไปขอแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ก็ย่อมไม่เป็นการผิดสัญญาจะซื้อจะขายเช่นกัน โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญากับเรียกค่าเสียหายเป็นคดีนี้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16134/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การซื้อขายฝากที่ดินโดยสุจริตของบุคคลภายนอกเมื่อคู่สมรสทำนิติกรรมโดยลำพังและแจ้งข้อมูลเท็จ
แม้โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย และที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่การที่จำเลยที่ 1 แจ้งจำเลยที่ 2 ผู้ซื้อฝากที่ดินพิพาทและเจ้าพนักงานที่ดินว่า จำเลยที่ 1 แยกกันอยู่กับโจทก์ ไม่สามารถตามโจทก์มาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมได้ ทั้งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 เจือสมกับที่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 2 ว่า ได้แยกกันอยู่กับจำเลยที่ 1 ตั้งแต่ปี 2553 ดังนั้น การที่ปรากฏจากการจดทะเบียนว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมแต่เพียงผู้เดียวมาหลายครั้ง โดยโจทก์ไม่เคยให้ความยินยอมย่อมทำให้มีเหตุให้จำเลยที่ 2 เชื่อโดยสุจริตว่าสามารถทำนิติกรรมได้ จึงไม่ถือว่าจำเลยที่ 2 มีความประมาทแต่อย่างใด เมื่อจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมขายฝากกับจำเลยที่ 1 โดยสุจริตในราคา 265,000 บาท ต่อมาเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถไถ่ถอนได้ก็มีการเพิ่มราคาให้เป็น 300,000 บาท ถือว่าเป็นราคาที่สมควรเพราะโจทก์อ้างในคำขอท้ายคำฟ้องว่า หากโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนโจทก์ไม่ได้ให้ใช้ราคา 230,672 บาท แก่โจทก์ จึงฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน เมื่อจำเลยที่ 2 นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปขายให้แก่จำเลยร่วมทั้งสองจึงถือว่าจำเลยร่วมทั้งสองได้รับความคุ้มครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1480 วรรคแรก ตอนท้าย โจทก์ไม่สามารถฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมได้
การฟ้องคดีของโจทก์เป็นการฟ้องเพิกถอนนิติกรรม เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมและจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังคงสมรสกันกรณียังไม่อาจแบ่งสินสมรสหรือให้ชดใช้ราคาแทนตามคำขอของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15200/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร: บรรลุนิติภาวะ หรือเมื่อไม่สามารถดูแลตนเองได้ และค่าฤชาธรรมเนียม
หน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นให้กระทำขณะเป็นผู้เยาว์ หรือหากต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่บรรลุนิติภาวะก็เฉพาะที่ทุพพลภาพหาเลี้ยงตัวเองไม่ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 แสดงว่าการอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องกระทำจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ ซึ่งอาจบรรลุนิติภาวะได้ทั้งการสมรสเมื่ออายุ 17 ปีบริบูรณ์ หรือมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ การที่ศาลล่างกำหนดค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้จำเลยซึ่งเป็นบิดาชำระเป็นช่วงระยะเวลาจนถึงบุตรผู้เยาว์อายุ 20 ปี นั้น จึงไม่ถูกต้อง เห็นควรแก้ไขให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูจนกว่าบุตรผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ส่วนการที่จำเลยฎีกาอ้างว่า มีภาระค่าใช้จ่ายมาก มีหนี้สิน และต้องเลี้ยงดูบุตรที่เกิดกับภริยาที่จดทะเบียนสมรสอีก 3 คน เพื่อขอลดค่าอุปการะเลี้ยงดูนั้น ล้วนเป็นเหตุส่วนตัวของจำเลยไม่เป็นเหตุให้ยกอ้าง และถ้าหากเป็นเช่นนั้นจำเลยสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ปรับเปลี่ยนแก้ไขได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/39
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 155 บัญญัติว่า ในการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องตลอดจนการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีครอบครัวเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูหรือค่าเลี้ยงชีพ ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องชำระค่าขึ้นศาลและค่าฤชาธรรมเนียม คดีนี้มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์เพียงเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดู ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับจึงไม่ชอบ เห็นควรให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่สั่งดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13357/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความตกไปเนื่องจากคู่ความผ่อนผันและไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้
เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความโดยตลอดแล้ว แสดงให้เห็นเจตนาว่าโจทก์ประสงค์จะนำที่ดินทั้งหมดกลับมาขายด้วยตนเอง แต่ใช้วิธีทยอยไถ่ถอนที่ดินจากธนาคารทีละจำนวน แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า คู่ความทั้งสองฝ่ายผ่อนผันเวลาให้แก่กันเช่นนี้ จะอ้างว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดผิดสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ หากจำเลยทั้งสามผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ชอบที่จะบังคับคดีให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ แต่โจทก์หาได้ดำเนินการไม่ และการที่จำเลยทั้งสามโอนที่ดินให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว ซึ่งที่ดินดังกล่าวถือเป็นสาระสำคัญของข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความ ทำให้การชำระหนี้ของจำเลยทั้งสามเป็นการพ้นวิสัยไปด้วย คู่ความทั้งสองฝ่ายจึงไม่อาจปฏิบัติตามสัญญาได้ และสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมตกไปไม่มีผลบังคับ เช่นนี้ คู่ความทั้งสองฝ่ายต่างต้องกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13349/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาลแขวง: คดีเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 300,000 บาท แม้มีคำขอต่อเนื่องอื่น
การที่โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์และการจำนองในที่ดินพิพาทที่อ้างว่าเป็นทรัพย์มรดกโดยมีคำขอบังคับท้ายฟ้องเน้นให้เพิกถอนและให้โอนคืนตามลำดับก็เพื่อเรียกร้องให้ได้ที่ดินพิพาทกลับคืนมาเป็นทรัพย์มรดกเพื่อประโยชน์แก่ทายาทของ ป. ผู้ตาย รวมทั้งประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสามด้วย คดีของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ และมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาทจำนวน 233,000 บาท ซึ่งไม่เกิน 300,000 บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวงสุพรรณบุรี แม้โจทก์จะมีคำขอให้กำจัดจำเลยที่ 1 ไม่ให้รับมรดกของ ป. ซึ่งเป็นคดีที่ไม่มีทุนทรัพย์มาด้วย ก็เป็นคำขอต่อเนื่องลำดับที่รองลงไป เมื่อศาลแขวงสุพรรณบุรีมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขอหลักดังกล่าวข้างต้นแล้ว ก็มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคำขออื่นที่รองลงไปนั้นได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12939/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความมีผลผูกพัน แม้ผู้ลงนามไม่เข้าใจผล และตัวแทนเชิดไม่ต้องทำเป็นหนังสือ
นิติกรรมใดจะไม่มีผลบังคับตามกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักโมฆะกรรมหรือโมฆียะกรรมในบรรพ 1 ลักษณะ 4 หมวดที่ 1 และที่ 2 แห่ง ป.พ.พ. ส่วนความไม่เข้าใจถึงผลของสัญญาประนีประนอมยอมความว่าเป็นการระงับข้อพิพาท ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะหรือโมฆียะ
ต. อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ที่ 1 มาประมาณ 30 ปี และอาศัยอยู่ด้วยกันกับโจทก์ที่ 2 ที่บ้านเกิดเหตุจากสภาพโจทก์ที่ 1 ย่อมทราบถึงการซ่อมรถและซ่อมบ้านที่บริษัท ว. เป็นผู้จัดการให้เป็นอย่างดีเมื่อซ่อมบ้านเสร็จ ต. รับมอบงาน โจทก์ที่ 1 ก็ไม่คัดค้าน ครั้นซ่อมรถเสร็จ ต. กับโจทก์ที่ 2 เป็นคนลงชื่อรับค่าซ่อมในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ที่ 1 ก็ไม่โต้แย้งคัดค้านว่า ต. และโจทก์ที่ 2 ไม่มีอำนาจกระทำการแทนตน พฤติการณ์ย่อมฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 รู้แล้วยอมให้ ต. และโจทก์ที่ 2 เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของตนในการรับค่าซ่อมบ้านและซ่อมรถตามสัญญาประนีประนอมยอมความ การเป็นตัวแทนเชิดนั้นไม่อยู่ในบังคับของ ป.พ.พ. มาตรา 798 ที่ต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือเหมือนการตั้งตัวแทนทั่วไป สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลบังคับถึงโจทก์ที่ 1 ด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12389/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำหน่ายยาเสพติด: แม้ไม่ร่วมจำหน่ายให้สายลับ แต่มีไว้เพื่อจำหน่ายก็มีความผิด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 มิได้มีส่วนร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับ จึงไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนให้แก่สายลับดังที่โจทก์ฟ้อง แต่พฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 แบ่งขายเมทแอมเฟตามีนให้แก่จำเลยที่ 1 ย่อมแสดงอยู่ในตัวว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองเมทแอมเฟตามีนไว้เพื่อจำหน่ายอยู่ก่อนแล้ว แม้โจทก์จะฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งย่อมมีความหมายเช่นเดียวกัน ทั้งมิใช่ข้อแตกต่างที่เป็นสาระสำคัญและจำเลยที่ 2 มิได้หลงต่อสู้ จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12177/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องแย้งเกี่ยวข้องกับฟ้องเดิม หักกลบลบหนี้ได้ หากเป็นหนี้เงินและถึงกำหนดชำระ
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระค่าสินค้าที่จำเลยที่ 2 สั่งซื้อให้แก่ลูกค้า จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์ โดยมีข้อตกลงว่า โจทก์ต้องจ่ายค่าบำเหน็จนายหน้าให้จำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์ค้างชำระค่าบำเหน็จนายหน้าจึงขอบังคับให้โจทก์ชำระค่าบำเหน็จนายหน้าแก่จำเลยที่ 2 โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นในวันเวลาต่างกันกับคำฟ้อง เช่นนี้ มูลหนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดชำระแก่โจทก์ก็เนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนในการสั่งซื้อสินค้าเพื่อส่งให้แก่ลูกค้า โดยโจทก์มีหน้าที่ต้องชำระค่าบำเหน็จนายหน้าให้แก่จำเลยที่ 2 ดังนั้น การที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้งให้โจทก์รับผิดชำระค่าบำเหน็จนายหน้าที่ค้างชำระแก่จำเลยที่ 2 จึงเกิดจากการสั่งซื้อสินค้าจากโจทก์เช่นเดียวกัน กรณีจึงเป็นหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจสั่งซื้อสินค้าระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 แม้จะไม่ใช่หนี้ค่าบำเหน็จของการสั่งซื้อค่าสินค้าตามฟ้องในครั้งนี้ก็ตาม แต่ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 เป็นมูลหนี้อันมีวัตถุเป็นอย่างเดียวกัน คือหนี้เงินและหนี้ทั้งสองรายถึงกำหนดชำระแล้ว จึงชอบที่จะนำมาหักกลบลบกันได้และพิจารณาพิพากษาไปในคราวเดียวกัน ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 หาใช่เป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11695/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องเรียกคืนที่ดินส่วนที่ส่งมอบเกินกว่าที่ตกลงกันไว้ในสัญญาซื้อขาย
การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ที่ผู้ขายส่งมอบทรัพย์สินน้อยหรือมากไปกว่าที่กำหนดในสัญญานั้น ป.พ.พ. มาตรา 466 วรรคหนึ่ง วางหลักไว้ว่า ผู้ซื้อจะปัดเสีย หรือจะรับไว้ และใช้ราคาตามส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก โดยมีมาตรา 467 บัญญัติต่อไปว่า "ในข้อรับผิดเพื่อการที่ทรัพย์ขาดตกบกพร่องหรือล้ำจำนวนนั้น ท่านห้ามมิให้ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ" แสดงว่านอกจากกฎหมายให้สิทธิผู้ซื้อที่จะฟ้องผู้ขายให้รับผิดในทรัพย์สินส่วนที่ส่งมอบขาดได้แล้ว ยังให้สิทธิแก่ผู้ขายที่จะฟ้องเรียกทรัพย์สินส่วนที่ส่งมอบล้ำจำนวนไปคืนจากผู้ซื้อได้ด้วย ซึ่งทั้งสองกรณี ไม่ว่าผู้ซื้อหรือผู้ขายจะเป็นผู้ฟ้อง ต้องฟ้องเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบ คดีนี้โจทก์ส่งมอบที่ดินที่ซื้อขายแก่จำเลยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2527 หากเนื้อที่ดินที่ส่งมอบล้ำจำนวนไปจากที่ระบุในสัญญา โจทก์ก็ต้องฟ้องให้จำเลยรับผิดคืนส่วนที่ล้ำจำนวนไปเสียภายในหนึ่งปีนับแต่เวลาส่งมอบคือต้องฟ้องภายในวันที่ 15 มิถุนายน 2528 ดังนั้น การที่โจทก์เพิ่งนำคดีมาฟ้องในปี 2555 จึงเป็นการฟ้องที่เกินกำหนดอายุความตามกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9647/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าของร้านเกมปล่อยปละละเลยให้เด็กเข้าไปใช้บริการเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด เข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และ พ.ร.บ.ภาพยนตร์ฯ
พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 มาตรา 26 บัญญัติว่า ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งกฎหมายอื่น ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ (8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใดหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า ประกอบกับเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัตินี้เพื่อให้เด็กได้รับการอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และมีพัฒนาการที่เหมาะสม อันเป็นการส่งเสริมความมั่นคงของครอบครัว รวมทั้งป้องกันมิให้เด็กถูกทารุณกรรมตกเป็นเครื่องมือในการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ หรือถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม ทั้งกฎกระทรวงซึ่งออกตามความมาตรา 59 แห่ง พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 ข้อ 12 (2) กำหนดวันเวลาและเงื่อนไขให้เด็กเข้าไปใช้บริการร้านวีดิทัศน์ก็เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กมิให้เข้าไปอยู่ในสถานที่อันอาจชักนำไปในทางเสียหาย โดยเล็งเห็นว่าเวลาดังกล่าวเป็นเวลาที่เด็กควรจะเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนหรือสถานศึกษา เพื่อศึกษาหาความรู้ พัฒนาตนเองในด้านการเรียน เพื่อเด็กจะมีการเจริญเติบโตและพัฒนาการให้สมวัย เพื่อเป็นพลเมืองดีมีอนาคต เป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของร้านเกมอยู่ในบังคับกฎกระทรวงข้างต้นได้ปล่อยปละละเลยให้เด็กซึ่งมิใช่บุคคลภายในครอบครัวของจำเลยเข้าไปในร้านในเวลาที่กฎหมายกำหนดห้าม แม้เด็กจะอยู่บริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อรอที่จะเล่นเกมแต่ยังไม่ได้ใช้บริการเล่นเกมหรือยังไม่ได้จ่ายเงินเพื่อซื้อบริการก็ตาม การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวแล้ว
of 5