คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.รัษฎากร (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ม. 37

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2637-2639/2521

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเสียภาษีของตัวแทนจำหน่ายและสาขาของบริษัทต่างชาติ: ภาษีเงินได้และภาษีการค้า
โจทก์ยื่นคำร้องต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขออนุมัติขยายกำหนดเวลาการยื่นอุทธรณ์ตามนัยมาตรา 3อัฏฐแห่งประมวลรัษฎากร เมื่ออธิบดีกรมสรรพากรไม่ยินยอมโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อหัวหน้าคณะปฏิวัติซึ่งมีอำนาจปกครองอยู่ในขณะนั้น และในที่สุดอธิบดีกรมสรรพากรได้มีหนังสือถึงโจทก์อนุญาตให้โจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ ดังนี้ เป็นการขยายกำหนดเวลาออกไปตามอำนาจของอธิบดีกรมสรรพากรที่มีอยู่แล้ว เมื่อโจทก์ยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายในกำหนด 30 วัน ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรขยายเวลาออกไปย่อมถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์โดยชอบแล้ว และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ย่อมใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันรับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
บริษัท อ. และ พ. ทำสัญญาซื้อขายอุปกรณ์โทรศัพท์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยบริษัท อ. แต่งตั้งให้โจทก์เป็นผู้ติดต่อเจรจาตกลงกับกระทรวงคมนาคมและเจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย โดยโจทก์ได้รับค่านายหน้า 2% ของราคาเอฟโอบี ที่ได้รับคำสั่งซื้อ และในการติดต่อขายอุปกรณ์ดังกล่าวโจทก์เป็นผู้ยื่นเสนอราคาหรือลดราคา และได้ขอยืดเวลาการเซ็นสัญญาแทนบริษัท อ. เมื่อองค์การโทรศัพท์ฯ ตกลงซื้อแล้วก็ได้แจ้งให้โจทก์ติดต่อบริษัท อ. ให้เข้ามาทำสัญญา การชำระราคาองค์การโทรศัพท์ฯเปิดเล็ตเตอร์ออฟเครดิตไปยังบริษัท อ. แล้วทำหนังสือแจ้งให้ทราบโดยผ่านโจทก์ โจทก์ได้รับค่านายหน้าเป็นคราว ๆ ที่สินค้าตามสัญญาทยอยเข้ามา และสำหรับกรณีของบริษัท พ. นั้น โจทก์ก็เป็นผู้เสนอขายอุปกรณ์โทรศัพท์ของบริษัท พ. โดยโจทก์อ้างว่าได้รับมอบให้เป็นนายหน้าตัวแทน ในหนังสือขององค์การโทรศัพท์ที่ขออนุมัติสั่งซื้อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมก็อ้างว่าการเสนอราคาของบริษัท พ. มีโจทก์เป็นตัวแทนในประเทศไทยใบสั่งซื้อก็ต้องผ่านโจทก์ สัญญาซื้อขายก็มีผู้จัดการบริษัทโจทก์ลงชื่อเป็นพยาน ประกอบกับโจทก์ยอมรับว่าโจทก์เป็นผู้จัดการติดต่อให้บริษัท อ. และ พ. เข้าทำสัญญาซื้อขายกับองค์การโทรศัพท์ฯ ในฐานะนายหน้า แสดงว่าโจทก์ได้แสดงออกโดยแจ้งชัดแล้วว่า โจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทยของบริษัท อ. และ พ. แล้ว ถือได้ว่าโจทก์ เป็นตัวแทนของบริษัททั้งสองดังกล่าวอันเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศในการขายอุปกรณ์โทรศัพท์ให้แก่องค์การโทรศัพท์ฯ โจทก์จึงมีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีเงินได้ตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา 76 ทวิ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 มาตรา 33
บทบัญญัติมาตรา 76 ทวิ อยู่ในส่วนที่ 3 ของหมวดที่ 3 ว่าด้วยภาษีเงินได้ แต่เรื่องภาษีการค้ามีบัญญัติอยู่ในหมวดที่ 4 ต่างส่วน ต่างหมวดกัน ดังนั้นการวินิจฉัยถึงความรับผิดในเรื่องภาษีการค้า จึงต้อง อาศัยบทบัญญัติในหมวด 4 ว่าด้วยภาษีการค้า จะนำบทบัญญัติ ใน มาตรา 76 ทวิ อันเป็นบทบัญญัติที่ให้สันนิษฐานเด็ดขาดในเรื่อง ภาษีเงินได้มาใช้กับเรื่องภาษีการค้าไม่ได้
โจทก์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่ายของบริษัท อ. เพื่อจุดประสงค์ในการเจรจากับกระทรวงคมนาคมและเจ้าหน้าที่องค์การโทรศัพท์ฯ โดยโจทก์ได้รับค่านายหน้า 2 เปอร์เซนต์ของราคาเอฟโอบีที่ได้รับคำสั่งซื้อ ต่อมามีบริษัทในเครือเดียวกับบริษัท อ. มีหนังสือถึงโจทก์ระบุว่าโจทก์เป็นตัวแทนในประเทศไทย และยืนยันข้อตกลงที่แต่งตั้งให้โจทก์เป็นตัวแทนนายหน้าโดยให้โจทก์กระทำการเป็นตัวแทนนายหน้าต่อหน่วยราชการหรือองค์การในประเทศไทย และในการเซ็นสัญญาซื้อขายโจทก์เป็นผู้ขอยืดเวลาเซ็นสัญญาแทนบริษัท อ. เมื่อองค์การโทรศัพท์ฯ จ่ายเงินตามสัญญาซื้อขายให้บริษัท อ. ก็ต้องแจ้งผ่านโจทก์ ดังนี้ บริษัทโจทก์มิได้กระทำการเป็นเพียงนายหน้าของบริษัท อ. เท่านั้นแต่ถือได้ว่าเป็นผู้ทำการแทนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 78ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร(ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 มาตรา 37 และเป็นสาขาของบริษัท อ. ผู้นำเข้าตามมาตรา 77 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18) พ.ศ. 2504 มาตรา 9 โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 1 การขายของชนิด 1(ก) จากรายรับของบริษัท อ. ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2504 ถึงเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2507
สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับบริษัท พ. ขายสินค้าให้องค์การโทรศัพท์ฯ ก็ปรากฏว่า โจทก์มีหนังสือเสนอขายสินค้าแทนบริษัท พ. โดยอ้างว่าโจทก์ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนนายหน้า ใบสั่งซื้อสินค้าที่องค์การโทรศัพท์กับบริษัท พ. ก็มีผู้จัดการส่งถึงบริษัท พ. ก็ต้องผ่านโจทก์สัญญาซื้อขายระหว่างองค์การโทรศัพท์ฯ กับบริษัท พ. ก็มีผู้จัดการบริษัทโจทก์ลงนามเป็นพยานด้วย ดังนี้ เห็นได้ว่าโจทก์ได้เข้าเกี่ยวข้องติดต่อทุกขั้นตอนในฐานะผู้ทำการแทนบริษัท พ. โจทก์จึงเป็นสาขาของบริษัท พ. ผู้นำเข้า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 77ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 18)พ.ศ. 2504 มาตรา 9 โจทก์จึงมีหน้าที่เสียภาษีการค้าจากรายรับของ บริษัท พ. ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2506 ถึง เดือนตุลาคม พ.ศ. 2507 และมกราคม ถึงสิงหาคม 2508

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 240/2504 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีการค้าข้าว: รายได้จากการตกลงซื้อขายถือเป็นรายได้ของสำนักงานกลาง
ระบบการเก็บภาษีการค้าตามประมวลรัษฎากรให้เรียกเก้ปตามรายรับของประเภทการค้าเป็นสำคัญ และต้องเรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์จากรายรับของสถานการค้าด้วย
การที่โจทก์ประกอบการค้าข้าวโดยให้สำนักงานกลางในเขตเทศบาลเป็นผู้ตกลงขายและรับเงินราคาข้าวส่วนข้าวไปเอาที่ฉางนอกเขตเทศบาลนั้น ต้องจัดเป็นรายรับของสำนักงานกลางอันโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเพิ่มเพื่อเทศบาล ฉะนั้น ที่โจทก์แยกยื่นบัญชีขอชำระภาษีการค้าว่าเป็นรายรับของโรงสีหรือฉางข้าวอื่นๆ จึงไม่ถูกต้อง
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 30/2503)