คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
ถมรัตน์ เลิศไพรวัน

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 84 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18303/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีน เนื่องจากข้อเท็จจริงถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนนั้น จำเลยที่ 1 ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ลงโทษประหารชีวิตจำเลยที่ 1 โดยขอให้ลงโทษสถานเบาและศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิ.อ. มาตรา 245 วรรคสอง มิได้วินิจฉัยเพราะจำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงเป็นอันถึงที่สุดตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิฎีกาในประเด็นดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 16263/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ผู้จัดการฝ่ายยานยนต์มีความรับผิดตาม พ.ร.บ.ความผิดนิติบุคคล แม้ไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียน และการกระทำหลายขั้นตอนถือเป็นความผิดหลายกรรม
พ.ร.บ.กำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด บริษัทจำกัด สมาคม และมูลนิธิ พ.ศ.2539 มาตรา 42 กำหนดผู้รับผิดไว้คือ บุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานซึ่งหมายความรวมถึงบุคคลผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องในกิจการงานที่ตนต้องรับผิดชอบ มิได้หมายถึงเฉพาะเพียงแต่ผู้แทนของนิติบุคคล ผู้มีอำนาจหน้าที่ที่ได้จดทะเบียนไว้ในหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนิติบุคคลนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการฝ่ายยานยนต์มีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเกี่ยวกับการบำรุงรักษาซ่อมแซมรถยนต์ จัดเตรียมสัญญาซื้อขาย จัดทำสัญญาเช่าพร้อมเอกสารประกอบ รวมทั้งทำหลักฐานการตรวจสภาพและการรับมอบรถ งานในหน้าที่ความรับผิดชอบของจำเลยที่ 2 จึงเป็นงานส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่จะต้องดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของบริษัท จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของผู้เสียหายตามบทกฎหมายดังกล่าว
การกระทำในวันเดียวกันหรือต่อเนื่องในคราวเดียวกันอาจเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันได้ หากลักษณะของความผิดเป็นการกระทำที่มีเจตนาแตกต่างกัน ต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกรรมกัน การที่จำเลยที่ 2 ลงแบบฟอร์มกับบันทึกข้อมูลรถยนต์ใหม่ลงในแฟ้มข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์และการทำสัญญาเช่า เป็นการกระทำต่างขั้นตอนกัน สามารถแยกการกระทำแต่ละอย่างต่างหากจากกันได้ และเป็นการกระทำที่มุ่งประสงค์ให้มีผลต่างกัน การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15991/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การฟ้องอาญาฐานก่อสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตและฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน หากฟ้องไม่ชัดเจนเรื่องวันกระทำผิดและวันปิดประกาศคำสั่ง ฟ้องอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 มาตรา 47 ทวิ กำหนดให้มีการปิดประกาศคำสั่งที่ให้ระงับการก่อสร้างและที่ให้รื้อถอนไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารหรือบริเวณที่มีการกระทำดังกล่าว และให้ถือว่าผู้ซึ่งจะต้องรับคำสั่งได้ทราบคำสั่งนั้นแล้วเมื่อพ้นกำหนดสามวันนับแต่วันที่ได้มีการปิดประกาศดังกล่าว ดังนั้น วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงเป็นวันเริ่มนับระยะเวลาที่ให้ถือว่าจำเลยทราบคำสั่งและมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในกำหนด มิฉะนั้นก็จะมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง วันที่ปิดประกาศคำสั่งจึงบ่งบอกวันกระทำความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่ง แต่คดีนี้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าปิดประกาศแจ้งคำสั่งดังกล่าวเมื่อใด ดังนั้น จึงไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยกระทำความผิดเมื่อใด จึงถือไม่ได้ว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดการกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ครบถ้วนแล้ว ฟ้องโจทก์ในความผิดทั้งสองฐานนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12082/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาเกี่ยวกับความถูกต้องของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดียาเสพติด และการอุทธรณ์ที่ไม่ชอบ
พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง บัญญัติให้คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์เฉพาะการกระทำซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้เป็นที่สุด และตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง คู่ความอาจยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องไปพร้อมกับฎีกาต่อศาลฎีกาภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันอ่านหรือถือว่าได้อ่านคำพิพากษาของศาลนั้นให้คู่ความฝ่ายที่ขออนุญาตฎีกาฟัง เพื่อขอให้พิจารณารับฎีกาไว้วินิจฉัยก็ได้ เมื่อจำเลยฎีกาโดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรา 19 วรรคหนึ่ง เฉพาะความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนั้น แม้จะเป็นความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นที่สุดตามมาตรา 18 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่กรณีที่กฎหมายบัญญัติให้คำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นที่สุดนั้น หมายถึง ต้องเป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ถูกต้องตามกฎหมายที่ให้อำนาจพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งเช่นนั้นได้ มิได้หมายความว่า แม้คำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะถึงที่สุดด้วย เมื่อความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 มีอัตราโทษอย่างสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแต่รอการลงโทษไว้ โจทก์จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา193 ทวิ การที่โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงขอให้ไม่รอการลงโทษ และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้และพิพากษาเกี่ยวกับความผิดฐานนี้นั้นเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาอันว่าด้วยอุทธรณ์ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในส่วนความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนจึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9500/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: ศาลฎีกาวินิจฉัยพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักกว่า และแก้ไขค่าขึ้นศาล
คดีนี้โจทก์ฟ้องขับไล่ จำเลยต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย และฟ้องแย้งห้ามมิให้โจทก์และบริวารเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลชั้นต้นกำหนดจำนวนทุนทรัพย์เป็นเงิน 240,000 บาท จึงเป็นคดีมโนสาเร่ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 189 ประกอบ พ.ร.ฎ.กำหนดจำนวนเงินในคดีมโนสาเร่ พ.ศ.2546 มาตรา 3 (1) ซึ่งเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามมาตรา 190 จัตวา วรรคหนึ่ง (เดิม) และตาราง 1 (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. (เดิม) ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นจากโจทก์ และจำเลยในส่วนของฟ้องแย้งเกินกว่า 200 บาท จึงไม่ถูกต้อง และต้องคืนเงินส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์และจำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7294/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยินยอมเข้าเสี่ยงภัยกับการใช้ความรุนแรงเกินกว่าที่ยินยอม การกระทำละเมิดและการรับผิดชดใช้ค่าเสียหาย
ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้ก่อเหตุท้าชกต่อยขึ้นก่อน เมื่อ ว. เข้าร่วมในการท้าทายและเกิดชกต่อยต่อสู้กัน จึงเท่ากับทั้งสองฝ่ายยินยอมเข้าเสี่ยงภัยจากการทะเลาะวิวาทนั้น ซึ่งหากเหตุการณ์ดำเนินไปเพียงเท่านี้ การกระทำของทั้งสองฝ่ายย่อมไม่ก่อให้เกิดความรับผิดฐานละเมิด แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ใช้มีดดาบเป็นอาวุธทำร้ายโจทก์ที่ 1 กรณีจึงต้องถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกินเลยไปกว่าที่โจทก์ที่ 1 ได้สมัครใจเข้าเสี่ยงภัยกับ ว. เหตุนี้การที่จำเลยที่ 1 ทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 1 ด้วยอาวุธมีดดาบให้ได้รับอันตรายแก่กาย จึงเป็นการกระทำโดยผิดกฎหมาย ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ทั้งสองมีอำนาจฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4112/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรื้อฟื้นคดีอาญา: พยานหลักฐานใหม่ต้องขัดแย้งและสำคัญแก่คดี ศาลอุทธรณ์มีอำนาจตัดสินและคำสั่งเป็นที่สุด
ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 8 เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำร้องแล้วส่งสำนวนการไต่สวนพร้อมความเห็นไปยังศาลอุทธรณ์เพื่อพิจารณาว่าจะสั่งรับคำร้องนั้นไว้เพื่อดำเนินการพิจารณาคดีนั้นใหม่หรือไม่ตามมาตรา 9 ซึ่งในการพิจารณาสั่งคำร้องนั้น มาตรา 10 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "...ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่าคำร้องนั้นไม่มีมูล ให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องนั้น" และวรรคสองบัญญัติว่า "คำสั่งของศาลอุทธรณ์ตามวรรคหนึ่งให้เป็นที่สุด" ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องหยิบยกขึ้นอ้างล้วนแต่ประกอบด้วยพยานหลักฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนและศาลได้วินิจฉัยชั่งน้ำหนักในคดีถึงที่สุดนั้นแล้วทั้งสิ้นหาใช่เป็นพยานหลักฐานใหม่อันขัดแย้งและสำคัญแก่คดีไม่ เหตุตามคำร้องจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.การรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาคดีใหม่ พ.ศ.2526 มาตรา 5 (1) (2) (3) เท่ากับเห็นว่า คำร้องของผู้ร้องไม่มีมูล คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 10 วรรคสอง ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3812-3814/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ - ขาดอายุความ - ความผิดฐานฉ้อโกง
จำเลยเป็นเสมียนตราอำเภอโนนแดง มีหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและบัญชีของอำเภอโนนแดง เงินค่าวัสดุก่อสร้างโครงการฝายประชาอาสาทั้งสี่โครงการรวม 1,308,104.40 บาท เป็นเงินที่ทางอำเภอโนนแดงต้องเบิกจากทางจังหวัดนครราชสีมาไปชำระให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น. และห้างหุ้นส่วนจำกัด ต. แต่จำเลยไม่ได้เป็นกรรมการรับเงินที่จะมีอำนาจหน้าที่ไปเบิกและรับเงินค่าวัสดุก่อสร้างดังกล่าว การที่จำเลยใช้คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับเงินซึ่งไม่ใช่คำสั่งที่ผู้ลงชื่อประสงค์จะตั้งจำเลยไปดำเนินการดังกล่าว ทั้งบางคำสั่งก็ตั้งกรรมการไม่ครบตามกฎระเบียบไปแสดงต่อเสมียนตราจังหวัดเพื่อขอเบิกและรับเงินโครงการดังกล่าว เมื่อได้รับเช็คแล้วนำเช็คไปเบิกเงินจากธนาคารเอาไปโดยทุจริต เป็นการกระทำในส่วนที่นอกอำนาจหน้าที่รับผิดชอบของตน ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเจ้าพนักงาน จึงไม่อาจลงโทษจำเลยฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 147 ตามฟ้องอันเป็นบทเฉพาะได้ แต่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์เงินดังกล่าว ซึ่งเป็นความผิดในตัวเองและเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำความผิดฐานเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องมาได้ อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นจำเลยไม่ได้รับมอบทรัพย์โดยชอบแล้วเบียดบังไว้โดยทุจริตอันจะเป็นความผิดฐานยักยอก แต่จำเลยได้รับเช็คจาก ก. เจ้าหน้าที่การเงินและบัญชีประจำที่ทำการปกครองจังหวัดนครราชสีมาโดยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อ ก. เพื่อให้เข้าใจว่าตนได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการรับเงินโดยชอบ จน ก. หลงเชื่อมอบเช็คดังกล่าวให้ไป แล้วจำเลยแสดงคำสั่งแต่งตั้งดังกล่าวต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารในการนำเช็คไปขอเบิกเงินสดจากธนาคารตามเช็คด้วย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นการหลอกลวงผู้อื่นแล้วได้มาซึ่งเช็คและเงิน ย่อมเป็นความผิดฐานฉ้อโกงตาม ป.อ. มาตรา 341 แม้โจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องและขอให้ลงโทษฐานนี้ก็ตาม แต่เมื่อศาลอาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานยักยอกได้ จึงเป็นการแตกต่างกันระหว่างการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง และยักยอก เมื่อจำเลยไม่หลงต่อสู้ จึงลงโทษจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงที่ได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม แต่อำเภอโนนแดงร้องทุกข์เมื่อล่วงพ้นกำหนด 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด คดีจึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3806/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในการส่งเอกสารตรวจพิสูจน์และการใช้ดุลพินิจของศาลในการพิจารณาคำร้อง
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 และคำร้องขอส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ก่อนแถลงหมดพยาน จำเลยดังกล่าวย่อมมีสิทธิทำได้เพราะในส่วนของการยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 สามารถยื่นได้ก่อนฝ่ายจำเลยจะสืบพยานเสร็จ การที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยดังกล่าวยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมครั้งที่ 3 จึงชอบแล้ว แต่การขอส่งพยานเอกสารดังกล่าวไปตรวจพิสูจน์เป็นคนละส่วนที่สามารถแยกพิจารณาจากกันได้ ทั้งผลการตรวจพิสูจน์เป็นเพียงความเห็นของผู้ตรวจพิสูจน์ที่ศาลต้องใช้ดุลพินิจในการรับฟังว่าสมควรเชื่อหรือไม่เพียงใด หาใช่บังคับให้ศาลต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามผลการตรวจพิสูจน์ จึงเป็นดุลพินิจศาลในการจะอนุญาตให้ส่งเอกสารไปตรวจพิสูจน์ตามคำร้องขอของคู่ความโดยพิจารณาว่าจะเป็นประโยชน์แก่คดีหรือไม่เพียงใด และต้องพิจารณาความเหมาะสมโดยคำนึงถึงคู่ความทุกฝ่ายด้วย หาใช่พิจารณาความต้องการของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายเดียวไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2566/2556

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาต่างตอบแทนพิเศษ, สัญญากู้, การคิดดอกเบี้ย, และการจำนอง: ศาลฎีกาตัดสินคดีพิพาทสัญญา
สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญาธรรมดา ต้องเป็นสัญญาที่คู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีภาระผูกพันเพิ่มขึ้นต่างหากจากการปฏิบัติตามสัญญาโดยปกติทั่วไป การที่จำเลยอนุมัติสินเชื่อให้โจทก์เพื่อจัดทำโครงการศูนย์การค้าในวงเงิน 27,000,000 บาท แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ขอสินเชื่อได้เป็นคราว ๆ ไป โดยให้โจทก์ทำสัญญากู้ไว้แก่จำเลย ดังนั้น จำนวนวงเงินที่โจทก์ได้รับอนุมัติจากจำเลย เป็นแต่เพียงจำนวนเงินขั้นสูงสุดที่โจทก์มีสิทธิได้รับการสนับสนุนจากจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่จำนวนเงินที่กำหนดไว้แน่นอนเพื่อผูกพันจำเลยตามที่ได้อนุมัติไว้แต่อย่างใด จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาสนับสนุนโครงการศูนย์การค้าของโจทก์เป็นสัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าสัญญากู้ธรรมดา
หนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ต่างประเภทกัน มีเงื่อนไขและวิธีการในการคิดดอกเบี้ยแตกต่างกันตามที่คู่กรณีตกลงกัน เมื่อโจทก์กับจำเลยตกลงกันให้จำเลยหักเงินในบัญชีกระแสรายวันเพื่อชำระหนี้เงินกู้ จึงเป็นข้อตกลงที่มีผลผูกพันใช้บังคับกันได้ ดังนั้น เมื่อโจทก์ไม่มีเงินเหลืออยู่ในบัญชีกระแสรายวันที่จะให้จำเลยหักชำระหนี้เงินกู้ จำเลยจึงตกลงยินยอมให้โจทก์เบิกเงินเกินบัญชีตามบัญชีกระแสรายวันเพื่อนำไปชำระหนี้เงินกู้ การคิดดอกเบี้ยของจำเลยในกรณีนี้จึงเป็นการคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลง หาใช่การคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ยแต่อย่างใดไม่
of 9