คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิศล พิรุณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 266 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 73/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ขอบเขตการบังคับคดีตามสัญญาประนีประนอมยอมความ: การโอนกรรมสิทธิ์สังหาริมทรัพย์และการไถ่ถอนจำนอง
สภาพแห่งการบังคับคดีที่จะบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมก็ดี หรือชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองก็ดี มิใช่เรื่องที่เปิดช่องให้ทำได้โดยทางเจ้าพนักงานบังคับคดี โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจึงไม่อาจร้องขอต่อศาลชั้นต้นเพื่อให้ออกหมายบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275 ประกอบมาตรา 276 สำหรับหนี้ที่จำเลยจะต้องโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์ แม้รถยนต์ตามข้อ 1.7 ถึง 1.10 จำเลยโอนทะเบียนเป็นชื่อของบุตรแล้ว และรถยนต์ตามข้อ 1.11 โจทก์เป็นผู้มีชื่อทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ การโอนกรรมสิทธิ์จะต้องมีการส่งมอบทรัพย์ด้วย ข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยยังไม่ได้ส่งมอบรถยนต์ดังกล่าว ถือว่ายังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิขอให้ดำเนินการบังคับคดีทางเจ้าพนักงานบังคับคดีแก่จำเลยได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9126/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อุทธรณ์แก้โทษจำเลยที่ 2 คดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น ศาลฎีกายกคำขอฎีกาโจทก์เนื่องจากเกินกรอบที่กฎหมายอนุญาต
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษ ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกคนละ 9 ปี ฐานร่วมกันพาอาวุธมีดไปในเมืองฯ ปรับ คนละ 50 บาท เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสองไปฝึกและอบรม คนละ 6 ปี และ 7 ปี ตามลำดับ ซึ่งการเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวไปฝึกและอบรมเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ต้องถือว่าศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เกินกว่า 5 ปี ดังนั้น เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้ในส่วนจำเลยที่ 2 ว่ามีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 290 วรรคแรก จำคุก 1 ปี 6 เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปฝึกและอบรม 2 ปี จึงเป็นการแก้เฉพาะบทมิได้พิพากษาแก้โทษด้วย จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อย และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการฎีกาดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ฎีกาโจทก์จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว และเมื่อโจทก์มิได้ขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์มา จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8333/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนหย่าโมฆะ ผลต่อกรรมสิทธิ์ร่วมในทรัพย์สิน และสิทธิการรับมรดก
ภายหลังจากจำเลยกับ ส. จดทะเบียนหย่ากันแล้ว จำเลยกับ ส. ยังคงอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาพักอาศัยอยู่ที่บ้านเดียวกัน ทั้งจำเลยยังเป็นผู้ดูแล ส. เมื่อยามเจ็บไข้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจนกระทั่ง ส. ถึงแก่ความตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่า การจดทะเบียนหย่าระหว่างจำเลยกับ ส. กระทำขึ้นโดยมีเจตนาที่จะไม่ประสงค์ให้ผูกพันตามนั้น จึงเป็นโมฆะใช้บังคับมิได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคหนึ่ง แม้จำเลยจะเบิกความว่า เหตุที่จำเลยจดทะเบียนหย่าเพราะเหตุผลทางธุรกิจการค้าของจำเลย แตกต่างจากเหตุผลการหย่าในคำให้การก็ตาม ก็ไม่ทำให้ข้อต่อสู้ของจำเลยเสียไป เพราะเหตุผลการหย่าไม่ได้เป็นสาระสำคัญ สาระสำคัญอยู่ที่การแสดงเจตนา เมื่อการจดทะเบียนหย่าเป็นโมฆะ การสมรสยังคงมีอยู่ มีผลทำให้บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนหย่าเกี่ยวกับการยกที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้ ส. ใช้บังคับมิได้ จำเลยอ้างความเป็นโมฆะดังกล่าวใช้ยันโจทก์ซึ่งเป็นทายาทรับมรดกของ ส. ที่จะต้องรับไปทั้งสิทธิและความรับผิดต่าง ๆ ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8318/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ร่วมกันฆ่าและพยายามฆ่า: พยานหลักฐานหนักแน่น ศาลยืนตามอุทธรณ์และแก้ไขโทษจำคุก ส่วนค่าสินไหมทดแทนให้ร่วมรับผิด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งแปดตาม ป.อ. มาตรา 295 ซึ่งระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 4 และยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ที่กระทำต่อผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 ความผิดฐานนี้มีอัตราโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ถึงที่ 8 ตามฟ้อง เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ในฐานนี้ และศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์โดยพิพากษาแก้เป็นลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 4 ลงโทษจำเลยที่ 2, ที่ 3, ที่ 5, ที่ 6 และที่ 8 ว่ากระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 3 และที่ 4 นั้นเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนนี้ได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
ผู้เสียหายที่ 1 ถึงที่ 4 อ. ก. ว. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า เห็นจำเลยคนนั้น คนนี้ โดยบรรยายการกระทำของจำเลยแต่ละคน ซึ่งเหตุการณ์กลุ่มนักเรียนวิ่งไล่รุมทำร้ายกันย่อมมีคนร้ายจำนวนมาก วิ่งไล่กันไปมา ประจักษ์พยานแต่ละคนอาจเห็นเหตุการณ์โดยเบิกความเท่าที่ตนเห็นไม่มีพิรุธหรือน่าสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งจำเลย และผู้เสียหายที่ 2 ยืนยันว่า จำเลยที่ 1 และที่ 5 อยู่ในกลุ่มคนร้าย ผู้เสียหายที่ 3 เห็นจำเลยที่ 5 ถืออาวุธมีดวิ่งมาพร้อมจำเลยที่ 1 โดยมีจำเลยบางคนแทงผู้ตายและผู้เสียหาย หากจำเลยที่ 5 ไม่มีเจตนาร่วมกับจำเลยอื่น ก็ไม่น่าจะวิ่งตามไป แม้จะมิได้ใช้อาวุธมีดฟันทำร้ายผู้ใดก็ตาม แต่ย่อมเล็งเห็นได้ว่า พวกอาจทำร้ายผู้อื่นได้ และหลบหนีไปด้วยกัน จำเลยที่ 5 จึงเป็นตัวการร่วมกับพวกในการฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
เมื่อจำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 3, ที่ 6 ถอนฎีกา จึงต้องฟังว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6 ร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายและพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 1
ในส่วนของค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 แม้ผู้ร้องที่ 3 และผู้ร้องที่ 1 มิได้อุทธรณ์ฎีกาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 รับผิดในส่วนแพ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยให้เป็นไปตามผลแห่งคดีอาญาได้ เพราะเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่วินิจฉัยให้ร่วมรับผิดนั้นไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8151/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ คดีหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรส การแบ่งสินสมรส และค่าอุปการะเลี้ยงดู
การที่อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์อยู่กับโจทก์เรื่อยมาจนกระทั่งบรรลุนิติภาวะ โจทก์ย่อมหมดหน้าที่ที่จะให้การอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่ง แต่ในส่วนค่าอุปการะเลี้ยงดูจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1526 บัญญัติว่า ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว และการหย่านั้นจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สินหรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรส อีกฝ่ายหนึ่งนั้นจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ การที่จำเลยกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงทำให้ไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ อันเป็นความผิดของจำเลย จำเลยจึงไม่อาจเรียกค่าเลี้ยงชีพภายหลังการหย่าได้ อย่างไรก็ตามจำเลยสามารถเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูก่อนฟ้องจนถึงศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้หย่าได้ และสิทธิในการได้รับค่าอุปการะเลี้ยงดู ถึงแม้จำเลยจะมิได้ขอมา ศาลก็มีอำนาจกำหนดให้ได้ โดยคำนึงถึงความสามารถของผู้มีหน้าที่ต้องให้ ฐานะของผู้รับและพฤติการณ์แห่งกรณีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1598/38

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8063/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ: การใช้ปืนยิงตอบโต้หลังถูกทำร้ายด้วยท่อ PVC
การที่จำเลยมาหาผู้ตายที่บ้าน พ. เชื่อว่าเพื่อมาพูดคุยเรื่องที่ผู้ตายโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตำหนิจำเลย มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยอ้างว่า เหตุที่มาหาผู้ตายที่บ้าน พ. เพราะถูกผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์ของจำเลย เพราะเมื่อจำเลยมาถึงบ้าน พ. พ. ได้ยินจำเลยกับผู้ตายโต้เถียงกันเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กที่ผู้ตายด่าทอจำเลย ไม่ใช่โต้เถียงเรื่องที่ผู้ตายถีบรถจักรยานยนต์ของจำเลยแต่อย่างใด กรณีจึงมิใช่ผู้ตายเป็นฝ่ายเริ่มต้นก่อเหตุวิวาททำร้ายจำเลยก่อน แต่พฤติการณ์ที่ผู้ตายบอกจำเลยให้นำกระเป๋าสะพายไปเก็บที่รถจักรยานยนต์ เมื่อจำเลยหันหลังกลับมาผู้ตายหยิบท่อพลาสติกพีวีซีขนาดยาว 3.50 เมตร ด้วยมือทั้งสองข้างตีที่แขนซ้ายและลำคอของจำเลยจนปรากฏรอยเขียวช้ำ แสดงว่าผู้ตายใช้ท่อพลาสติกพีวีซีตีจำเลยโดยแรงและเป็นฝ่ายเริ่มทำร้ายจำเลยก่อน แต่เมื่อพิจารณาอาวุธที่ผู้ตายใช้เป็นท่อพลาสติกกลวง น้ำหนักไม่มาก ไม่สามารถใช้ทำอันตรายแก่ชีวิตได้ในทันทีทันใด และตีเพียง 1 ครั้ง แม้จำเลยจะมีสิทธิป้องกันตนให้พ้นจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายของผู้ตายและเป็นภัยที่ถึงตัวแล้ว แต่จำเลยก็สามารถหาวิธีป้องกันภยันตรายให้เหมาะสมกับพฤติการณ์แห่งคดี การที่จำเลยใช้ปืนพกจ้องเล็งไปที่ลำตัวในระดับหน้าอกของผู้ตายซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญแล้วยิงไป 1 นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายบริเวณราวนมด้านซ้าย หัวกระสุนปืนทะลุเข้าหัวใจ ทะลุออกบริเวณใต้ชายโครงด้านซ้ายจึงเป็นกรณีที่จำเลยป้องกันตนเองเกินกว่ากรณีจำเป็นต้องป้องกัน และไม่ใช่เป็นเรื่องที่กระทำไปด้วยความตื่นเต้นตกใจกลัว ถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตาย แต่เป็นการกระทำอันเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7851/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งสินสมรสที่ดิน เงินฝาก และหุ้นหลังการหย่าร้าง ประเด็นการพิพากษาเกินคำขอ และข้อจำกัดการฎีกา
คำฟ้องของโจทก์ข้อ 2.2 - 2.5 บรรยายบัญชีเงินฝากในธนาคาร ก. ธนาคาร ท. ธนาคาร อ. และธนาคาร พ. รวม 4 ธนาคาร แต่เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์และบรรยายในคำฟ้องอุทธรณ์ว่า ขออนุญาตอุทธรณ์เฉพาะทรัพย์สินดังต่อไปนี้ว่าเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ล. โดยไม่ได้อุทธรณ์ถึงบัญชีเงินฝากธนาคาร พ. แต่อย่างใด ทั้งในตอนท้ายอุทธรณ์ของโจทก์ยังมีคำขอในข้อ 2 ให้จำเลยทั้งสองแบ่งสินสมรสในส่วนที่เป็นเงินฝากธนาคารแก่โจทก์เพียง 35,872.73 บาท เท่านั้น การที่ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่า เงินฝากในธนาคาร พ. มีจำนวน 800,000 บาท เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับ ล. โจทก์จึงมีสิทธิได้รับกึ่งหนึ่งและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันแบ่งสินสมรสในส่วนเงินฝากธนาคารแก่โจทก์ 435,872.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยนั้นจึงเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่โจทก์อุทธรณ์ ไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7827/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผลิตพืชกระท่อมในเด็ก: ข้อกำหนดการสอบสวน และการใช้คำรับสารภาพเป็นหลักฐาน
การสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ซึ่งหากผู้ต้องหาร้องขอ ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็กและให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการสอบสวนนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เห็นว่าการถามเด็กหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงานสอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควรเป็นกรณีเฉพาะบางฐานความผิดเท่านั้น ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกาย อันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุกซึ่งผู้ต้องหาที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ นั้น มิได้หมายความรวมถึงความผิดต่อ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ซึ่งเป็นกรณีความผิดอื่น ทั้งผู้ต้องหาเป็นเด็กไม่ได้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมในการสอบสวน พนักงานสอบสวนจึงไม่จำต้องจัดให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการสอบสวนผู้ต้องหาด้วย ข้อเท็จจริงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ให้ไว้ต่อพนักงานสอบสวนจึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 134/2 ประกอบมาตรา 133 ทวิ ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แล้ว
พฤติการณ์ที่จำเลยเบิกความว่าไปที่ขนำและพบน้ำต้มพืชกระท่อมที่ยังเหลืออยู่ในหม้อซึ่ง ธ. กับพวกนั่งดื่มอยู่ จึงไปขอดื่มแล้วผสมกับโค้กและยาแก้ไอดื่มกิน โดยมีการกรองน้ำที่ได้จากการต้ม แต่จำเลยให้การชั้นสอบสวนว่า ขณะถูกจับกุมตนกำลังต้มน้ำพืชกระท่อมเพื่อดื่มกิน ดังนั้นไม่ว่าจำเลยต้มเองหรือน้ำต้มใบพืชกระท่อมที่ ธ. ต้มไว้อยู่แล้ว จำเลยมากรองเพื่อดื่มกินอย่างเดียว การกระทำของจำเลยมีลักษณะเป็นตัวการร่วมกันในการต้มใบพืชกระท่อม เมื่อปรากฏปริมาณที่ต้มถึง 2.6 ลิตร ทั้งยังมีอุปกรณ์เป็นหม้อ และใบพืชกระท่อมที่ยังไม่ต้มจำนวนมาก ประกอบกับมีคนจำนวนหลายคนมามั่วสุมรวมตัวกันและวิ่งหลบหนีไปได้ และมีการผสมยาแก้ไอและน้ำอัดลมลงไปในน้ำต้มใบพืชกระท่อมทำให้มีความรุนแรงขึ้น กระทบต่อคนในสังคมจำนวนมากหากได้ดื่มกิน การกระทำของจำเลยจึงเป็นการ "ผลิต" ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7826/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาคดีเยาวชนเกี่ยวกับอาวุธปืนและพืชกระท่อม: หลักฐานไม่เพียงพอและเงื่อนไขการคุมประพฤติ
บ. ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าที่ขนำที่เกิดเหตุมักจะมีวัยรุ่นมั่วสุมต้มและเสพน้ำต้มพืชกระท่อมเป็นประจำ บ. กับพวกรวม 6 คน จึงนำกำลังไปยังที่เกิดเหตุ พบจำเลยนั่งอยู่ปลายเตียงกำลังต้มใบพืชกระท่อมจึงได้ทำการตรวจค้น พบกระเป๋าสะพาย 1 ใบ วางอยู่บนชั้นวางของในขนำข้างประตูภายในมีอาวุธปืนพกลูกซองเดี่ยวขนาด 12 ไม่มีหมายเลขทะเบียน และกระสุนปืนลูกซองขนาด 12 จำนวน 3 นัด การที่พบจำเลยอยู่ในขนำที่เกิดเหตุเพียงคนเดียวและตรวจพบอาวุธปืนของกลางดังกล่าวอาจจะแสดงให้เห็นว่าจำเลยอาจจะมีส่วนร่วมหรือเป็นข้อพิรุธสงสัยที่แสดงว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดแต่ก็ไม่อาจรับฟังยืนยันเชิงตรรกะว่าจำเลยได้กระทำผิดนั้นจริง ในคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบให้ได้ความชัดตามข้อกล่าวอ้าง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 174 แต่พยานโจทก์ยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่าจำเลยมีอาวุธปืนและลูกกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
สำหรับความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท แม้ศาลไม่จำต้องสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพ แต่เมื่อการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด ก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยได้ พฤติการณ์ของจำเลยที่เพียงต้มใบพืชกระท่อมแล้วกรองเอาน้ำที่ได้จากการต้ม 1 ถุง ปริมาตร 700 มิลลิลิตร ถือว่าเป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการเสพและมีปริมาณเพียงเล็กน้อย การกระทำของจำเลยจึงยังไม่เป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (พืชกระท่อม) ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น ไม่ชอบ และแม้จำเลยจะไม่อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ถือเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 และมาตรา 225 ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7795/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัย เหตุจำเลยยกเหตุใหม่ในชั้นฎีกา เกินกว่าที่ต่อสู้ไว้ในศาลล่าง
โจทก์ฟ้องขอหย่าจำเลยอ้างเหตุโจทก์และจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินสามปี จำเลยให้การต่อสู้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เพียงประเด็นเดียวว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์และการแยกกันอยู่นั้นไม่ถึงขนาดที่มีเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขเกินกว่าสามปี ดังนั้น ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยมิได้สมัครใจแยกกันอยู่กับโจทก์แต่จำใจแยกกันอยู่กับโจทก์เนื่องจากโจทก์ยกย่อง อ. เป็นภริยาตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน จำเลยรู้สึกอับอายจึงแยกมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 59/9 นั้น จึงเป็นฎีกาที่จำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ทั้งในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยได้โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ว่า ไม่ชอบหรือไม่ถูกต้อง เพราะเหตุใด จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้งต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
of 27