คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
พิศล พิรุณ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 266 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8422/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหักวันควบคุม-บังคับค่าปรับในคดีเยาวชน: ศาลต้องหักวันควบคุมตามกฎหมาย และระบุระยะเวลาฝึกอบรมแทนค่าปรับให้ชัดเจน
พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการหักวันควบคุมและการบังคับค่าปรับไว้เป็นการเฉพาะ โดยมาตรา 85 วรรคแรก บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจระหว่างพิจารณาคดี ไม่ให้ถือเป็นการควบคุมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่ถ้าศาลพิพากษาหรือลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ให้ศาลหักจำนวนวันที่อยู่ในความควบคุมของสถานพินิจ" จากถ้อยคำตามบทบัญญัติมาตรา 85 วรรคแรก เห็นได้ว่า เป็นบทบังคับให้ศาลต้องหักวันที่จำเลยถูกควบคุมในกรณีศาลพิพากษาลงโทษหรือใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนทุกกรณี ไม่ได้ให้ศาลใช้ดุลพินิจแต่อย่างใด นอกจากนี้ตามมาตรา 145 วรรคแรก ซึ่งเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการบังคับค่าปรับในกรณีจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ดังนั้น ในการบังคับคดีตามคำพิพากษาจึงต้องนำวันถูกควบคุมดังกล่าวมาหักออกจากระยะเวลาควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามคำพิพากษาโดยผลของบทบัญญัติดังกล่าว ไม่ว่าคำพิพากษาของศาลจะระบุให้หักวันถูกควบคุมดังกล่าวไว้หรือไม่ก็ตามเพราะเป็นการบังคับคดีตามกฎหมาย ดังนั้น แม้คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่จำเป็นต้องระบุเรื่องนี้ไว้ก็ตาม แต่การที่ศาลชั้นต้นระบุในคำพิพากษาว่า ให้หักจำนวนวันที่จำเลยทั้งสองอยู่ในความควบคุมของสถานพินิจออกจากระยะเวลาฝึกอบรมก็เป็นการระบุการบังคับคดีตามกฎหมาย มิได้เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายแต่อย่างใด ส่วนการบังคับโทษปรับในกรณีที่เด็กหรือเยาวชนต้องโทษปรับแล้วไม่ชำระค่าปรับซึ่งตามมาตรา 145 วรรคแรก ให้ศาลส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมในสถานที่ที่ศาลเห็นสมควรตามเวลาที่ศาลกำหนด แต่ต้องไม่เกินหนึ่งปี คำพิพากษาของศาลจึงต้องระบุให้ชัดเจนว่า ให้ส่งตัวไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมซึ่งเป็นคนละกรณีกับกรณีมีการชำระค่าปรับตามวรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีมีการชำระค่าปรับหากเด็กหรือเยาวชนได้ถูกควบคุมตัวมาบ้างแล้ว ให้คิดหักระยะเวลาที่ถูกควบคุมตัวออกจากค่าปรับที่จะต้องชำระตามอัตราที่กำหนดในประมวลกฎหมายอาญา ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปรับจำเลยทั้งสองคนละ 25 บาท ก็ต้องระบุในคำพิพากษาให้ชัดเจนว่า หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับ ให้บังคับค่าปรับโดยให้ส่งตัวจำเลยทั้งสองไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมแทนค่าปรับเป็นระยะเวลาเท่าใดให้ชัดเจน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7860/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาแบ่งสินสมรสหลังหย่ามีผลผูกพัน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกร้องทรัพย์สินเพิ่มเติม
เมื่อมีการหย่ากันโดยจดทะเบียนหย่าย่อมมีผลนับแต่จดทะเบียนและให้จัดการแบ่งทรัพย์สินตามที่มีอยู่ในเวลาจดทะเบียนหย่า ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1531 และ 1532 (ก) ซึ่งมาตรา 1532 (ก) มีจุดมุ่งหมายให้มีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่คู่หย่าจะแยกจากกัน หากมีการตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินแล้ว ถือว่าเป็นการตกลงแบ่งทรัพย์สินตามมาตราดังกล่าว เป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 ส่วนบทบัญญัติมาตรา 1533 ที่บัญญัติว่า เมื่อหย่ากันให้แบ่งสินสมรสให้ชายและหญิงได้ส่วนเท่ากัน ก็ไม่ใช่บทบัญญัติเด็ดขาดโดยคู่หย่าสามารถตกลงให้แบ่งสินสมรสเป็นอย่างอื่นได้และในส่วนสินส่วนตัวก็ตกลงแบ่งกันอย่างใดก็ได้
เมื่อโจทก์จำเลยตกลงกันในขณะจดทะเบียนหย่าแล้วว่าให้จำเลยอุปการะเลี้ยงดูบุตร ให้บ้านและที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์จำเลย ให้โจทก์ออกจากบ้านดังกล่าว ให้รถยนต์ 2 คัน เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โดยจำเลยจ่ายเงินให้แก่โจทก์รวม 3,500,000 บาท โดยโจทก์ไม่ต้องชำระหนี้อีก ก็ต้องเป็นไปตามนั้น และลงลายมือชื่อโดยมีพยาน 2 คน และนายทะเบียนลงลายมือชื่อไว้ด้วย แม้บันทึกข้อตกลงจะไม่มีข้อความ "ทรัพย์สินอื่นนอกจากนี้โจทก์ไม่ติดใจเรียกร้อง" ก็ตาม แต่โจทก์เบิกความลอย ๆ ว่า ไม่มีการตกลงว่าจะไม่ขอแบ่งอีก โดยไม่มีพยานอื่นสนับสนุนคำเบิกความ จำเลยมีพยานบุคคลซึ่งเป็นคนกลางยืนยันถึงการเจรจาตามบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยได้ดำเนินการตามข้อตกลงแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีเหตุผลที่หย่ากันแล้วจะไม่เจรจาเกี่ยวกับทรัพย์สินให้เสร็จสิ้น จึงฟังได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินกันชัดเจน โดยโจทก์ตกลงเอาทรัพย์สินตามที่บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเท่านั้น ส่วนทรัพย์สินอื่นตามฟ้องนอกจากที่ตกลง หากมีชื่อของโจทก์หรือจำเลยก็ให้ตกเป็นของฝ่ายนั้น ส่วนหนี้สินให้จำเลยรับผิดชอบ ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาและเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วย ต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันตามมาตรา 850 ผลของสัญญาย่อมทำให้การเรียกร้องซึ่งโจทก์และจำเลยได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไป และทำให้โจทก์และจำเลยได้สิทธิตามที่แสดงในสัญญานั้นเป็นของตน ตามมาตรา 852 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกเอาทรัพย์สินตามฟ้องอีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7113/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสอบสวนเยาวชนต้องเป็นไปตามหลักการคุ้มครองสิทธิและไม่เป็นการประจาน การมีสหวิชาชีพเข้าร่วมฟังการสอบปากคำชอบด้วยกฎหมาย
บทบัญญัติมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 เป็นการบัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาที่เป็นเด็กในการจัดสถานที่ให้เหมาะสมและไม่ปะปนกับผู้ต้องหาอื่นหรือมีบุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอยู่ในสถานที่นั้นอันมีลักษณะเป็นการประจานเด็กและเยาวชน ในการสอบปากคำจำเลยในคดีนี้พนักงานสอบสวนได้จัดให้มีพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบปากคำจำเลยในชั้นสอบสวน นอกจากจะเป็นไปตามความประสงค์ที่จำเลยเป็นผู้ร้องขอให้บุคคลดังกล่าวเข้าร่วมฟังการสอบสวนแล้ว ยังเป็นไปตามวิธีการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กหรือเยาวชนที่กำหนดให้มีสหวิชาชีพ ในที่นี้คือพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาเข้าร่วมฟังการสอบสวนด้วยเพื่อเป็นการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเอง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 133 ทวิ และมาตรา 134/2 กรณีไม่อาจถือว่าพนักงานอัยการและนักจิตวิทยาที่เข้าร่วมฟังการสอบสวนดังกล่าวเป็นบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นการประจานจำเลยดังที่จำเลยกล่าวอ้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7111/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอนุญาตฎีกาที่ไม่ถูกต้องในคดีเยาวชนและครอบครัว และผลกระทบต่อการพิจารณาคดี
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 5 ปี 6 เดือน อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 4 จังหวัดขอนแก่น มีกำหนด 3 ปี นับแต่วันพิพากษา ริบของกลาง และศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนโดยเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งจำเลยไปฝึกและอบรมซึ่งมิใช่การลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 18 ต้องถือว่าศาลล่างทั้งสองมิได้ลงโทษจำคุกจำเลยเกิน 5 ปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 และมาตรา 183 ซึ่งกรณีนี้จำเลยจะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นขอให้ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกา และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตให้จำเลยฎีกาซึ่งไม่ถูกต้อง แต่อย่างไรก็ดีปรากฏว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้จนถึงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 และจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ซึ่งหากผู้พิพากษาหัวหน้าศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งคำร้องของจำเลยโดยถูกต้องว่าไม่มีอำนาจอนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ และศาลชั้นต้นสั่งไม่รับฎีกาของจำเลยแต่แรกแล้ว จำเลยย่อมมีเวลาเพียงพอที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดบกพร่องดังกล่าวด้วยการยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาเพื่อขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 อนุญาตให้จำเลยฎีกาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยยื่นคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นเสียใหม่ให้ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7073/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การตรวจ DNA ยืนยันความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ผู้เป็นบิดาเสียชีวิตแล้ว
การตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ เป็นการตรวจพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่มีผลในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในระดับที่มีความน่าเชื่อถือสูง และได้รับการยอมรับทางกฎหมายในการรับฟังดังปรากฏตาม ป.วิ.พ. มาตรา 128/1 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 160 การที่คณะแพทย์ศาสตร์มหาวิทยาลัย ข. ส่งผลการตรวจ ดี เอ็น เอ มาศาล โดยมิได้มีพยานบุคคลมาสืบประกอบ ซึ่งสามารถกระทำได้และศาลสามารถรับฟังผลการตรวจ ดี เอ็น เอ ประกอบพยานหลักฐานอื่นได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 130 และเนื่องจากผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเสียชีวิตไปแล้ว ไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะทำการตรวจพิสูจน์ ดี เอ็น เอ ได้ การใช้กระบวนการทางเลือกโดยให้ตรวจหาความสัมพันธ์ของบุคคลจาก ข. บิดาของผู้ตาย แล้วนำผลการตรวจพิสูจน์มาพิจารณาประกอบพยานหลักฐานอื่น จึงเป็นเรื่องที่ชอบจะกระทำได้ เมื่อผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับ ร. ในปี 2551 เมื่อ ร. คลอดผู้ร้องทั้งสอง ผู้ตายเป็นผู้แจ้งเกิดและยินยอมให้ผู้ร้องทั้งสองใช้นามสกุลผู้ตาย พฤติการณ์ที่ผู้ตายแสดงออกเป็นการยอมรับว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตร เมื่อพิจารณาประกอบผลการตรวจสารพันธุกรรม ดี เอ็น เอ ว่าผู้ร้องทั้งสองมีความสัมพันธ์เป็นหลาน - ปู่ กับ ข. บิดาของผู้ตาย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ผู้ร้องทั้งสองเป็นบุตรของผู้ตาย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7072/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การหย่า, ค่าเลี้ยงดูบุตร, อำนาจปกครองบุตร, สภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู, การเปลี่ยนแปลงสถานะทางครอบครัว
ในคดีหย่า ถ้าเหตุแห่งการหย่าเป็นความผิดของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแต่ฝ่ายเดียว และการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง อีกฝ่ายหนึ่งจะขอให้ฝ่ายที่ต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.พ.พ. มาตรา 1526 วรรคหนึ่ง แต่แม้จะได้ความว่าการหย่าเกิดขึ้นเนื่องจากเป็นความผิดของฝ่ายจำเลยก็ตาม แต่ศาลจะกำหนดค่าเลี้ยงชีพให้ได้ ต่อเมื่อมีข้อเท็จจริงว่าอีกฝ่ายหนึ่งยากจนลงด้วย โจทก์มีอาชีพรับจ้างตัดต่อภาพทางคอมพิวเตอร์ มีรายได้ประมาณเดือนละ 5,000 บาท โจทก์เป็นบุตรคนเดียวของบิดามารดา บิดารับราชการแต่เกษียณอายุแล้ว มารดาเป็นแม่บ้าน เมื่อแยกทางกับจำเลยแล้วโจทก์ต้องกลับไปพักอาศัยกับบิดามารดา ต้องช่วยค่าใช้จ่ายในบ้านด้วย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าการหย่าเป็นเหตุให้โจทก์ยากจนลง แต่เมื่อปรากฏจากรายงานผลการกำกับการทดลองปกครองเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ครั้งที่ 1 ของผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2557 ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2557 โจทก์ไปอยู่กินฉันสามีภริยากับ อ. ซึ่งเป็นคู่ครองใหม่ของโจทก์แล้ว แม้จะไม่ปรากฏว่าเป็นการอยู่กินฉันสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ก็ตาม แต่ก็เป็นพฤติการณ์ที่ศาลสามารถนำมาพิจารณาประกอบการกำหนดค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ได้ ศาลฎีกาสมควรกำหนดให้จำเลยชำระค่าเลี้ยงชีพแก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนถึงเดือนมิถุนายน 2557 และเมื่อปรากฏว่าโจทก์อยู่กินกันกับคู่ครองคนใหม่ซึ่งมีบุตรชายที่มีอายุมากกว่าบุตรสาวจำเลย 1 คน เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และพักอาศัยอยู่ร่วมกันโดยโจทก์นำบุตรพักนอนอยู่ห้องเดียวกับสามีใหม่ เป็นการไม่เหมาะสม และอาจเกิดอันตรายแก่บุตรสาวของจำเลยได้ ทั้ง อ. เคยทำร้ายร่างกายจำเลยจนถูกศาลชั้นต้นพิจารณาลงโทษไปแล้ว และโจทก์ก็มีบุตรกับสามีใหม่แล้ว โจทก์ยังไม่ได้ประกอบอาชีพเพราะมีภาระต้องเลี้ยงดูบุตรใหม่ สำหรับผู้เยาว์ โจทก์พาไปฝากบิดามารดาของโจทก์เลี้ยงบ้าง ทั้งโจทก์ยังนำผู้เยาว์ซึ่งอายุ 7 ปีแล้ว ไปนอนรวมห้องเดียวกับสามีใหม่ แสดงว่าบ้านพักอาศัยคับแคบ และสามีใหม่ของโจทก์มีบุตรชายติดมาด้วย 1 คน แสดงว่ารายได้ของโจทก์และสถานที่พักอาศัยของโจทก์ไม่เอื้ออำนวยให้โจทก์อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ให้ได้เหมาะสมตลอดจนปลอดภัยต่ออนาคตและสวัสดิภาพของผู้เยาว์ได้ จำเลยในฐานะบิดาย่อมเล็งเห็นสภาพข้อเท็จจริงที่โจทก์เลี้ยงดูผู้เยาว์รวมทั้งสภาพแวดล้อมและความประพฤติอุปนิสัยของบุคคลรอบข้างผู้เยาว์และหาหนทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์ได้ดี เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของผู้เยาว์ จึงเห็นสมควรให้ผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของจำเลย เมื่อศาลฎีกากำหนดให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวแล้ว จำเลยย่อมต้องเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ตามกฎหมาย จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์แก่โจทก์อีก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7069/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร: ผู้มีส่วนได้เสียต้องฟ้องภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แม้บิดาเสียชีวิตไปแล้ว
การฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีมีสิทธิโต้แย้งว่า เด็กมิใช่บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของตนได้ แต่ต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดตาม ป.พ.พ. 1542 แต่บทกฎหมายดังกล่าวไม่ได้สงวนไว้ใช้เฉพาะชายผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาเด็กเท่านั้น เมื่อ ด. ผู้ถูกอ้างว่าเป็นบิดาของจำเลยถึงแก่ความตายไปก่อนที่มีการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร ป.พ.พ. 1545 ได้เปิดช่องให้ผู้มีส่วนได้เสียฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรได้ อันได้แก่ผู้ที่มีสิทธิได้รับมรดกร่วมกับเด็ก หรือผู้ที่จะเสียสิทธิรับมรดกเพราะการเกิดของเด็ก เมื่อโจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ ด. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตร แต่ทั้งนี้ก็มีกำหนดระยะเวลาที่โจทก์จะใช้สิทธิทางศาลตามมาตรา 1544 (1) คือ ในกรณีที่ชายผู้เป็นหรือเคยเป็นสามีตายก่อนพ้นระยะเวลาที่ชายผู้เป็นสามีจะพึงฟ้อง ซึ่งมาตรา 1542 กำหนดระยะเวลาไว้ว่า ชายผู้เป็นสามีหรือเคยเป็นสามีต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็ก แต่ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก ดังนั้นเมื่อ ด. เป็นผู้ไปแจ้งเกิดว่า จำเลยเกิดเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2512 เท่ากับอย่างน้อย ด. ต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันเกิดของจำเลย คืออย่างช้าในวันที่ 30 เมษายน 2522 การที่ ด. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2544 ด. จึงไม่ได้ตายก่อนพ้นระยะเวลาที่จะฟ้องคดีไม่รับเด็กเป็นบุตรตามเงื่อนไขแห่งมาตรา 1544 (1) เมื่อ ด. ซึ่งเป็นบิดายังไม่มีอำนาจฟ้องคดีได้แล้ว โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของ ด. แม้เป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายก็ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จำเลยมิใช่บุตรของ ด. เช่นกัน ปัญหาดังกล่าวแม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ เพราะปัญหาเกี่ยวกับอำนาจฟ้องเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7032/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดทางอาญาจากการร่วมทำร้ายร่างกาย, การพิจารณาค่าสินไหมทดแทน และความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการส่งตัวจำเลยไปจำคุก
ผู้เสียหายทั้งสามไม่ได้ฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แต่การพิพากษาในคดีส่วนแพ่ง ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 ศาลฎีกาจึงต้องมีคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งด้วย และที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 5 ปี โดยวินิจฉัยว่าการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนในคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่จำเลย และให้ส่งตัวจำเลยไปจำคุกในเรือนจำ มีกำหนด 2 ปี นั้น เห็นว่า ไม่มีกฎหมายใดให้อำนาจกระทำได้จึงเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากจำเลยอุทธรณ์ฝ่ายเดียว ศาลฎีกาจึงไม่อาจกำหนดโทษจำเลยให้สูงกว่าโทษที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย โดยที่โจทก์มิได้ฎีกาขอให้เพิ่มเติมโทษ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6729/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ใบอนุญาตสถานบริการเป็นสิทธิเฉพาะตัว โอนไม่ได้ แม้เป็นสินสมรส
ใบอนุญาตประกอบกิจการร้านอาหารและสถานบริการชื่อ บ. คาราโอเกะ และ ป. คันทรีคลับ เป็นสิทธิเฉพาะตัวของผู้ได้รับใบอนุญาต เนื่องจากการจะได้รับอนุญาตหรือไม่ ต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.สถานบริการ พ.ศ.2509 มาตรา 4 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.สถานบริการ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2546 ซึ่งห้ามมิให้ผู้ใดตั้งสถานบริการ เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยคุณสมบัติของผู้ขอใบอนุญาตต้องเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 6 หากผู้ใดฝ่าฝืนตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องรับโทษตามมาตรา 26 ทั้งไม่มีบทบัญญัติอนุญาตให้มีการโอนใบอนุญาตแก่กันได้ แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในใบอนุญาตฯ ซึ่งเป็นทรัพย์สินเพราะเป็นสินสมรสของโจทก์จำเลยที่ประกอบธุรกิจขณะเป็นสามีภริยากัน แต่การที่จำเลยได้รับใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้รับอนุญาต ตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวที่ไม่ประสงค์ให้โอนใบอนุญาตกัน โจทก์ไม่อาจฟ้องบังคับให้ลงชื่อโจทก์ในใบอนุญาตให้ตั้งสถานบริการดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เงื่อนไขคุมประพฤติเด็กต้องมุ่งแก้ไขฟื้นฟู ไม่ซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนทางแพ่ง
แม้ ป.อ. มาตรา 74 (3) กำหนดให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมประพฤติเด็ก ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 โดยมาตรา 56 (5) กำหนดให้ศาลสามารถกำหนดเงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่เงื่อนไขดังกล่าว ย่อมต้องเป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันมิให้ผู้กระทำความผิดกระทำหรือมีโอกาสกระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งเน้นคุ้มครองสังคมและฟื้นฟูตัวผู้กระทำความผิดเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันก็เพื่อให้ผู้กระทำความผิดหลาบจำไม่ก่อเหตุซ้ำอีก โดยเงื่อนไขดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปในทำนองที่บัญญัติไว้ใน (1) (2) (3) หรือ (4) คือเป็นบทบังคับเกี่ยวกับตัวเด็กซึ่งเป็นผู้กระทำความผิด ทั้งมาตรการเยียวยาความเสียหายในทางแพ่งก็มีกฎหมายบัญญัติไว้ต่างหากแล้ว และคดีนี้ศาลพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องเป็นเงิน 520,000 บาท แล้ว การกำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติจำเลย โดยกำหนดให้จำเลยและผู้ปกครองเยียวยาความเสียหายแก่ผู้ร้องเดือนละ 2,000 บาท เป็นเวลา 1 ปี จึงเป็นการซ้ำซ้อนกับค่าสินไหมทดแทนที่ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับจากจำเลย และเงื่อนไขดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู หรือป้องกันไม่ให้กระทำความผิดขึ้นอีก ซึ่งไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 56 (5) การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเงื่อนไขการคุมประพฤติดังกล่าวจึงไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 และ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6
of 27