คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ม. 8

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 99 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2210/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: วิธีการเทียบเคียงค่าเช่าและกำหนดค่ารายปีที่เหมาะสม
ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง และวรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2561 สำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กโดยไม่แสดงขนาดพื้นที่ แสดงจำนวนร้านค้าขาดไป และโจทก์นำส่งสัญญาเช่าร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กไม่ครบถ้วน ค่าเช่าที่โจทก์แสดงหลักฐานสัญญาเช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ โดยในการนำทรัพย์สินมาเทียบเคียงกันนั้น ทรัพย์ที่มีขนาดและพื้นที่เท่ากันควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่เท่ากันหรืออย่างน้อยต้องมีความใกล้เคียงกันจึงจะตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ความจากพยานจำเลยว่า จำเลยทำการประเมินภาษีโจทก์โดยการนำค่ารายปีเฉลี่ยที่เทียบเคียงได้จากห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยใช้วิธีการนำค่ารายปีที่ห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ในแต่ละร้านมาหารด้วยจำนวนเดือนที่ห้างสรรพสินค้า ท. นำออกให้เช่าแล้วหารด้วยพื้นที่ที่ได้จากการวัดจริงของร้านนั้น ๆ ในห้างสรรพสินค้า ท. จะได้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อเดือนของร้านค้านั้น แล้วนำค่าเช่าเฉลี่ยทั้งหมดมารวมกัน ได้ค่าเช่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 80,561 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ต่อ 36 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 2,238 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้วคิดเป็นค่าภาษี 9,685,247 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้คิดค่าเช่าเต็มทั้งปี คงคิดตามระยะเวลาที่โจทก์นำพื้นที่ออกให้เช่าจริง จึงคิดค่าภาษีจำนวน 9,581,412 บาท ส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กคิดคำนวณด้วยวิธีเดียวกัน ได้ค่าเช่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 224,757 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ต่อ 59 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 3,810 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้ว คิดเป็นค่าภาษี 1,207,237 บาท แต่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยมิได้คิดค่าเช่าเต็มทั้งปี คงคิดตามระยะเวลาที่โจทก์นำพื้นที่ออกให้เช่าจริง จึงคิดค่าภาษีจำนวน 775,543 บาท จึงเห็นได้ว่าวิธีการที่จำเลยใช้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อร้านมารวมคำนวณแล้วหารด้วยจำนวนร้านเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยของแต่ละร้านทั้งที่มีพื้นที่ใช้สอยแตกต่างกันจึงทำให้ไม่สะท้อนถึงค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือน ตามวิธีการคำนวณของจำเลยไปใช้คำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งเป็นทรัพย์สินเทียบเคียง กลับได้ค่ารายปีและค่าภาษีไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่ห้างสรรพสินค้า ท. ได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งวิธีการคำนวณที่เหมาะสมเมื่อนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนไปใช้กับทรัพย์สินที่มีขนาดหรือพื้นที่เท่ากับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้ว ทรัพย์สินนั้นก็ควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่ใกล้เคียง หรือเท่ากับค่ารายปีและค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการที่จำเลยใช้ในการหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จึงไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ขนาดเล็กเพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่คำนึงถึงค่าเช่าพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกัน จึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านในส่วนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กแล้ว เพราะเมื่อนำกลับไปคำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นและชอบด้วยกฎหมายแล้ว และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 และ 3721/2564 ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับวิธีการกำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่โรงเรือนของโจทก์สำหรับปีภาษี 2558 และปีภาษี 2560 ตามลำดับ โดยกำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่เท่ากับ 676.72 บาท และสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กเท่ากับ 2,673.05 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อไม่ปรากฏพฤติการณ์แห่งคดีว่าพื้นที่โรงเรือนของโจทก์มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะการใช้แตกต่างไปจากปีภาษี 2558 และปีภาษี 2560 แต่อย่างใด จึงให้กำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับปีภาษี 2561 พื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่เท่ากับ 676.72 บาท และพื้นที่ให้เช่าขนาดเล็กเท่ากับ 2,673.05 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2154/2565

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินสำหรับสถานพยาบาลที่เจ้าของดำเนินกิจการเอง ต้องประเมินตามรายรับจริงและหลักเกณฑ์ที่กำหนด
โจทก์เป็นเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยมีอำนาจประเมินค่ารายปีและค่าภาษีพิพาท โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ซึ่งจําเลยมีคำสั่งกรุงเทพมหานคร ที่ 1856/2550 เรื่อง การประเมินค่ารายปีของทรัพย์สิน ลงวันที่ 25 พฤษภาคม 2550 และบันทึกข้อความของกรุงเทพมหานครที่ กท. 1302/222 ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 เรื่อง การกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางเพื่อใช้ประกอบในการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ข้อ 19 โรงพยาบาล โพลีคลินิกระบุให้พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีโดยนํารายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปี ตามรายละเอียดที่ผู้รับประเมินแจ้ง หรือตรวจสอบจากงบแสดงฐานะการเงินของโรงพยาบาลนั้น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วย (เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้าฯ) ในอัตราร้อยละ 20 อันเป็นวิธีการกำหนดค่ารายปีตามบันทึกข้อความดังกล่าวของจําเลยเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ใช้เป็นแนวทางประกอบการประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งกำหนดอัตราค่าเช่ามาตรฐานกลางแบ่งตามประเภทของทรัพย์สินรวม 19 ประเภท โดยโรงเรือนของโจทก์จัดอยู่ในประเภท 19 โรงพยาบาล โพลีคลินิก และได้จําแนกประเภทของโรงพยาบาล โพลีคลินิก ออกเป็น 2 ประเภทอีกด้วย คือ 1.โรงพยาบาล โพลีคลินิก ที่สร้างอาคารเอกเทศเป็นสถานพยาบาลขนาดใหญ่ และ 2.โรงพยาบาล โพลีคลินิก ที่ดัดแปลงต่อเติมมาจากตึกแถว หลักเกณฑ์การกำหนดค่ารายปีพื้นที่ส่วนห้องพักผู้ป่วย ดังนั้น วิธีการกำหนดค่ารายปีของจําเลยตามบันทึกข้อความดังกล่าว จําเลยกำหนดขึ้นโดยคํานึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ซึ่งสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของมาตรา 8 วรรคสาม เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยมีแนวทางปฏิบัติเดียวกันในการเรียกเก็บภาษีโรงเรือนและที่ดิน กรณีโรงเรือนที่มีลักษณะพิเศษที่หาค่าเช่าไม่ได้ หรือที่เจ้าของใช้ประกอบกิจการเอง แต่การประเมินค่ารายปีและค่าภาษีสำหรับปีภาษีพิพาทแก่โจทก์ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยไม่ถือเป็นแนวทางปฏิบัติ เมื่อพิเคราะห์บัญชีและเอกสารของโจทก์จะเห็นได้ว่า มีการลงรายการทางบัญชีแต่ละช่วงเวลาโดยระบุชื่อนามสกุลของผู้ป่วยไว้อย่างละเอียด มีการลงบัญชีแยกประเภทไว้อย่างสมบูรณ์โดยมีผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองความถูกต้อง และรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตของ พ. มีข้อมูลรายได้สุทธิสอดคล้องถูกต้องตรงกับงบการเงินซึ่งจําเลยไม่เคยโต้แย้งถึงความถูกต้องแท้จริงของเอกสารทางบัญชีของผู้สอบบัญชีรับอนุญาต จึงน่าเชื่อว่าโจทก์แสดงรายการรายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปีตามแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน โจทก์ประกอบกิจการสถานพยาบาล มีรายได้หลายประเภท เช่น ค่ายา ค่าแพทย์ ค่าอุปกรณ์ และเครื่องมือทางการแพทย์ ค่าอาหาร รายได้จากผู้ป่วยนอกที่ไม่ได้นอนพักห้องผู้ป่วย รายได้จากผู้ป่วยในที่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล และรายได้ค่าบริการรักษาทางการแพทย์อื่น ๆ กำไรของแต่ละประเภทของปีภาษีย่อมแตกต่างกันไปแล้วแต่การให้บริการของโจทก์ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยประเมินค่ารายปีและภาษีจากราคาค่าห้องหรือค่าเตียงแต่ละประเภทคูณด้วยจำนวนครั้งที่ใช้ห้องหรือเตียงในแต่ละประเภทในปี 2557 และ 2558 ตามข้อมูลที่โจทก์นําส่งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และเปรียบเทียบสัดส่วนหรือค่าเฉลี่ยระหว่างรายได้ค่าห้องพักผู้ป่วยกับรายได้รวมหรือกำไรหลายปีมาเทียบแล้วนํามากำหนดค่ารายปีของปีภาษี 2558 และปีภาษี 2559 เป็นหลักเพื่อเรียกเก็บค่าภาษีแล้วบวกเพิ่มอีกร้อยละ 6.54 และร้อยละ 0.23 ตามลำดับ โดยให้เหตุผลว่าโจทก์แสดงค่าห้องพักผู้ป่วยน้อยกว่าความเป็นจริงจึงไม่ใช่ค่าเช่าอันสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ทั้งที่โจทก์แจ้งรายได้ค่าห้องพักผู้ป่วยจริงประจำปีภาษี 2558 จำนวน 32,993,614.42 บาท และประจำปีภาษี 2559 จำนวน 31,865,492.21 บาท โดยโจทก์มีรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรับรองว่าได้ทำการตรวจสอบรายได้ค่าห้องและส่วนลดค่าห้องของโจทก์สำหรับปี 2557 และปี 2558 แล้ว ทั้งจําเลยไม่เคยโต้แย้งหรือนําสืบถึงความไม่น่าเชื่อถือของรายงานของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตทั้งสองฉบับดังกล่าวแต่อย่างใด กรณีจึงรับฟังได้ว่าโจทก์มีรายได้ค่าห้องพักรับจริงในปี 2557 เป็นเงิน 32,993,614.42 บาท และปี 2558 เป็นเงิน 31,865,492.21 บาท การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจําเลยจึงไม่ชอบ ส่วนที่จําเลยอ้างว่าคณะกรรมการพิจารณาคําร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่มีมติให้แก้ไขการประเมินของเจ้าพนักงานโดยกำหนดค่ารายปีจากจำนวน ห้องพักผู้ป่วยและจำนวนเตียงคนไข้ที่มีการใช้งานในปี 2557 และปี 2558 ตามข้อมูลที่โจทก์อ้างส่ง โดยค่ารายปีห้องพักผู้ป่วยของโจทก์แยกต่างหากจากรายได้ค่าอาหาร จึงต้องกำหนดค่ารายปีพื้นที่ส่วนห้องพักผู้ป่วยต้องหักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ด้วยในอัตราร้อยละ 20 ตามหลักเกณฑ์ที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ดังกล่าว จากข้อมูลตารางสรุปที่แสดงรายละเอียดอัตราค่าเช่าห้องพักที่โจทก์จัดทำขึ้น จึงกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีจากห้องจำนวน 214 ห้อง จำนวนเตียงที่เปิดให้ใช้ 257 เตียง ในหนึ่งปี 365 วัน เมื่อคำนวณรายได้จากห้องพักผู้ป่วยแยกตามประเภทห้องผู้ป่วยโดยกำหนดราคาจากห้อง ห้องละ 300 บาท ถึง 4,600 บาท คูณจำนวนผู้ป่วยที่เข้าพัก (เตียง) ในปีภาษี 2558 จะมีรายรับจากห้องพักผู้ป่วยในปี 2557 เท่ากับ 102,405,200 บาท หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20 (กรณีไม่รวมค่าอาหาร) ตามหลักเกณฑ์ที่จําเลยกำหนดไว้จะได้ค่ารายปีเป็นเงินเท่ากับ 81,924,160 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 10,240,520 บาท และในปีภาษี 2559 จะมีรายรับจากห้องพักผู้ป่วยในปี 2558 เท่ากับ 99,155,400 บาท หักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 20 (กรณีไม่รวมค่าอาหาร) ตามหลักเกณฑ์ที่จําเลยกำหนดไว้จะได้ค่ารายปีเป็นเงินเท่ากับ 79,324,320 บาท คิดเป็นค่าภาษีเท่ากับ 9,915,540 บาท เห็นว่า วิธีการที่จําเลยใช้กำหนดค่ารายปีเป็นการกำหนดค่ารายปีและค่าภาษีแตกต่างจากแนวปฏิบัติ เมื่อคําชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครยังคงนําการประเมินค่ารายปีที่ไม่ชอบโดยนํารายได้ค่าห้องพักรวมกับค่าส่วนลดทางการค้าและค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์รวมเข้าด้วยกันเป็นฐานในการประเมินหาได้ประเมินตามแนวปฏิบัติ โดยนํารายรับจริงจากค่าห้องพักผู้ป่วยรวมตลอดปีตามรายละเอียดที่ผู้ประเมินแจ้ง หรือตรวจสอบจากงบแสดงฐานะการเงินของสถานพยาบาลนั้น ๆ หักด้วยค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่รวมอยู่ เช่น ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ เฟอร์นิเจอร์ และสิ่งอํานวยความสะดวกอื่น ๆ ในห้อง ในอัตราร้อยละ 20 คําชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงไม่ชอบด้วย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6128/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่ารายปีภาษีโรงเรือนและที่ดิน การเปลี่ยนแปลงค่าเช่ามาตรฐานกลาง และการพิจารณาปัจจัยตามกฎหมาย
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 18 มิได้บัญญัติบังคับให้นําค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง กฎหมายเพียงแต่ให้นํามาเป็นหลักในการคํานวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง และสําหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 ให้ความหมายว่า คือ จํานวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทําให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จํานวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดําเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคํานึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคํานวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอํานาจที่จะแก้ไขกําหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชําระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร
จําเลยประกาศกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งเป็นเวลานานสิบกว่าปี ลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ทั้งประกาศดังกล่าวไม่ได้มีการจําแนกประเภททรัพย์สินตามประเภทกิจการ โดยในส่วนของพื้นที่ต่อเนื่อง เช่น ถนนคอนกรีต กําหนดค่าเช่า 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลาดยางแอสฟัลต์ กําหนดค่าเช่า 3 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน สนามหญ้า ลานดิน กําหนดค่าเช่า 1 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งเป็นการกําหนดเป็นการทั่วไปไม่มีการจําแนกแยกประเภทดังเช่นบัญชีกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรประจําปีภาษี 2560 ที่แบ่งแยกตามประเภทของกิจการและลักษณะการใช้ประโยชน์ โดยบัญชีกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลาง ประจําปีภาษี 2560 ได้แยกประเภททรัพย์สินสําหรับกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้าออกมาโดยเฉพาะในรหัส 13 และในรายการที่ 13.9 คือ ลานใช้ประกอบการ ได้แก่ ลานคอนกรีต ค่าเช่า 8 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลานแอสฟัลต์ ค่าเช่า 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ลานหินคลุก ค่าเช่า 25 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และลานดิน ค่าเช่า 30 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้าย่อมใช้ลานดังกล่าวในการประกอบกิจการโดยตรง แตกต่างจากทรัพย์สินประเภทอื่นที่ลานคอนกรีต ลานแอสฟัลต์ หรือลานดินเป็นเพียงพื้นที่ต่อเนื่องหรือลานใช้ประโยชน์ ประกอบกับตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปีเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ 1/2559 และรายงานการประชุมปรึกษาหารือผู้ประกอบกิจการลานใช้ประโยชน์ในเขตเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ /1 2559 ปรากฏว่า ปัจจุบันมีการประกอบกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์จํานวนมากกว่าเดิม ผู้ประกอบการลานตู้คอนเทนเนอร์หรือลานจอดรถขนส่งสินค้าเช่าที่ดินทําลานตู้คอนเทนเนอร์อยู่ข้างบ้านเรือนประชาชนจํานวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม และยังได้ความจากคําเบิกความของ พ. ว่าการประกอบกิจการลานตู้คอนเทนเนอร์ต้องใช้รถบรรทุกในการขนส่งตู้สินค้าก่อให้เกิดปัญหาด้านสาธารณสุขต่อประชาชน เกิดเสียงดัง ฝุ่นละออง ปัญหาด้านการจราจรที่มีรถบรรทุกขนส่งตู้สินค้าบนผิวจราจรจํานวนมาก ทําให้พื้นผิวจราจรได้รับผลกระทบอย่างหนักจนชํารุด จําเลยต้องจัดสรรงบประมาณในการบํารุงรักษา ซ่อมแซมพื้นผิวการจราจร และจัดเจ้าหน้าที่ทําความสะอาดพื้นผิวจราจร เห็นได้ว่าเป็นกิจการที่ใช้ทรัพย์สินก่อให้เกิดมลภาวะแก่ชุมชน ซึ่งการกําหนดค่ารายปีนั้น จะต้องคํานึงที่บริการสาธารณะที่ทรัพย์สินได้รับประโยชน์ นอกจากนี้ในการกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางของลานตู้คอนเทนเนอร์ของจําเลยได้เทียบเคียงกับเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ ซึ่งมีผู้ประกอบการลานตู้คอนเทนเนอร์จํานวนมากเช่นเดียวกับจําเลยมีการกําหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางของลานหินคลุกประจําปีภาษี 2560 ในอัตรา 30 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ทั้งที่เขตพื้นที่ของเทศบาลนครเจ้าพระยาสุรศักดิ์ อยู่ห่างจากท่าเรือแหลมฉบังมากกว่าเขตพื้นที่ของจําเลยกลับมีราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางสูงกว่าเขตพื้นที่ของจําเลย พยานหลักฐานจําเลยที่นําสืบมาจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จําเลยกําหนดค่ารายปีและค่าภาษีในส่วนของลานแอสฟัลต์และลานหินคลุกโดยคํานึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทําเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 มาตรา 8 วรรคสามแล้ว
ส่วนที่จําเลยประกาศลดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางสําหรับลานตู้คอนเทนเนอร์และลานจอดรถขนส่งสินค้านั้น เป็นการลดชั่วคราวสําหรับปีภาษี 2561 ถึง 2563 ตามรายงานการประชุมคณะกรรมการพิจารณากลั่นกรองการประเมินค่ารายปีเทศบาลนครแหลมฉบัง ครั้งที่ 1/2560 ก็เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ มิได้เป็นเพราะการกําหนดค่ารายปีของปีภาษี 2560 ไม่ชอบแต่อย่างใด การประเมินและคําชี้ขาดของจําเลยจึงชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4794/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือน: การกำหนดค่ารายปีที่เหมาะสมและดอกเบี้ยกรณีชำระภาษีเกิน
ตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 ไม่ได้บัญญัติบังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงมาแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง เพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง สำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2495 ให้ความหมายว่า คือ จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่า ให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่นให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร จากข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติแล้วว่า โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้นโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายมากกว่าส่วนที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน และการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่ามากกว่าอาคารที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน เมื่อลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน ค่ารายปีในส่วนพื้นที่ขายย่อมสูงกว่าพื้นที่ที่ใช้เป็นสำนักงาน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ ดังนั้น การที่ปีภาษี 2561 พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดอัตราค่ารายปีในพื้นที่ขายของโจทก์สูงกว่าพื้นที่สำนักงานจึงชอบแล้ว แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่สำนักงานอัตราตารางเมตรละ 80 บาทต่อเดือน ซึ่งแตกต่างกันมากกับพื้นที่ขายที่กำหนดอัตราตารางเมตรละ 1,441.50 บาทต่อเดือน จากการใช้วิธีนำค่าเฉลี่ยจากค่าเช่าและอัตราค่าเช่าของเฉพาะผู้ประกอบการที่เช่าในพื้นที่ของโจทก์ โดยไม่คำนึงถึงค่าเช่าของโรงเรือนใกล้เคียงนั้น ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ เมื่อพิจารณาค่าเช่าของผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ของโจทก์กับค่าเช่าโรงเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโจทก์มาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์ ที่แม้ทรัพย์สินที่นำมาเทียบเคียงดังกล่าวจะมีพื้นที่และลักษณะการประกอบกิจการแตกต่างจากโจทก์ แต่ต่างก็อยู่ในทำเลที่ตั้งและได้รับบริการสาธารณะประโยชน์เช่นเดียวกับโจทก์อันสามารถนำค่าเช่าดังกล่าวมาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์ได้ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีส่วนพื้นที่ขายในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน
การที่จำเลยแก้ไขค่ารายปีของโจทก์เพิ่มขึ้นจากปีที่ล่วงแล้วจะต้องมีเหตุผลอันสมควรหรือมีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เห็นได้ว่ามีการพัฒนาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับการสภาพบ้านเมืองและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันหรือมีการจัดให้มีบริการสาธารณะที่ดียิ่งขึ้นแก่โจทก์กว่าปีที่ล่วงมา เมื่อราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยประเภทห้างสรรพสินค้าในส่วนสำนักงานและพื้นที่ต่อเนื่อง ตามบัญชีกำหนดราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตรในเขตเทศบาลตำบลโคกหล่อ ปี 2561 ยังไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะฟังได้ว่าเป็นอัตราที่มีเหตุผลตามภาวะเศรษฐกิจของเขตจำเลย จึงไม่อาจจะนำราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยประเภทห้างสรรพสินค้าในส่วนสำนักงานและพื้นที่ต่อเนื่องดังกล่าว มาเป็นเกณฑ์ในการประเมินค่ารายปีได้ เมื่อคดีนี้จำเลยเพียงแต่นำราคาค่าเช่ามาตรฐานกลางเฉลี่ยต่อตารางเมตร (ต่อเดือน) ของจำเลยมาเป็นเกณฑ์ประเมิน และทางนำสืบไม่ปรากฏหลักเกณฑ์อื่นที่เหมาะสมพอจะใช้คำนวณได้ ประกอบกับทรัพย์สินของโจทก์ส่วนพื้นที่สำนักงานและห้องน้ำ ห้องเครื่อง ห้อง A.H.U. และห้องไฟฟ้า พื้นที่ด้านหลังที่เก็บเงินซึ่งเป็นพื้นที่ส่วนที่โจทก์ใช้งานเอง มิได้ใช้ประโยชน์ในลักษณะแสดงสินค้าเหมือนกับพื้นที่ขาย ส่วนพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้าที่จำเลยอ้างว่ามีการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจมากกว่าและก่อให้เกิดรายได้มากกว่าลานจอดรถนั้น ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าลักษณะการใช้งานพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้าของโจทก์จะมีลักษณะแตกต่างไปจากพื้นที่ที่ให้รถเข้ามาจอดและขนส่งสินค้าขึ้นลงและก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจมากกว่าลานจอดรถอย่างไร ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษกำหนดค่ารายปีพื้นที่สำนักงานและห้องน้ำ ห้องเครื่อง ห้อง A.H.U. และห้องไฟฟ้า และพื้นที่ด้านหลังที่เก็บเงิน อัตรา 50 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน และพื้นที่รับสินค้าและที่พักสินค้า อัตรา 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนเท่ากับลานจอดรถนับว่าเป็นอัตราที่เหมาะสมแก่จำเลยในการจัดเก็บภาษีแล้ว
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งเวลานี้เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4537/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินค่าภาษีโรงเรือน: การพิจารณาประโยชน์ใช้สอยและลักษณะทรัพย์สินที่ถูกต้อง
ค่ารายปีนั้น มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ความหมายว่า จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป ดังนั้นโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายจากการจำหน่ายสินค้า ส่วนการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่า ลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เอง จึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ แต่การที่พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายอัตราตารางเมตรละ 640.70 บาท ต่อเดือน โดยวิธีเทียบเคียงจากพื้นที่ของโจทก์ที่นำออกให้บุคคลภายนอกเช่าซึ่งอยู่ในอาคารเดียวกันกับพื้นที่ขายของโจทก์เพียงประการเดียว ไม่เป็นการคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกัน ส่วนพื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่ต่อเนื่อง เดิมพนักงานเจ้าหน้าที่กำหนดค่ารายปีในอัตรา 6 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน ซึ่งจำเลยก็ได้ใช้อัตรานี้ในการกำหนดค่ารายปีของปีภาษี 2560 ด้วย แต่ปีภาษี 2561 จำเลยปรับขึ้นเป็น 10 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยไม่ปรากฏว่า เมื่อคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ มีเหตุสมควรใดจึงปรับเพิ่มค่ารายปีดังกล่าว การประเมินค่ารายปีและคำชี้ขาดของจำเลยจึงไม่ชอบ และเมื่อศาลฎีกาเคยวินิจฉัยว่า คำชี้ขาดค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินประจำปีภาษี 2559 ที่กำหนดค่ารายปีสำหรับพื้นที่ขายของโจทก์ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือนชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2613/2563 ประกอบกับไม่ปรากฏว่ามีปัจจัยอื่นที่จะทำให้ค่ารายปีในปีภาษี 2561 แตกต่างไปจากเดิม จึงเห็นควรกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายสำหรับปีภาษี 2561 ในอัตราตารางเมตรละ 220 บาทต่อเดือน และค่ารายปีพื้นที่ลานจอดรถและพื้นที่ต่อเนื่องในอัตราตารางเมตรละ 6 บาทต่อเดือน
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้น ให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละ 5 ต่อปี และมาตรา 7 แห่ง พระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 แห่ง ป.พ.พ. อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3721/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: หลักเกณฑ์การคำนวณค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตร และดอกเบี้ยกรณีคืนเงินภาษี
ตามมาตรา 8 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 ให้ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปีของทรัพย์สิน มาตรา 8 วรรคสาม วางหลักว่า "ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้... ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้ โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์..." ซึ่งคดีนี้ข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2560 สำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่โดยไม่แสดงขนาดพื้นที่ แสดงจำนวนร้านค้าขาดไปและโจทก์นำส่งสัญญาเช่าร้านค้าที่อยู่ในพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ไม่ครบถ้วน ค่าเช่าที่โจทก์แสดงหลักฐานสัญญาเช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ โดยในการนำทรัพย์สินมาเทียบเคียงกันนั้น ทรัพย์ที่มีขนาดและพื้นที่เท่ากันควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่เท่ากันหรืออย่างน้อยต้องมีความใกล้เคียงกันจึงจะตรงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่เมื่อได้ความจาก ร. เจ้าพนักงานประเมินพยานจำเลยว่า จำเลยทำการประเมินภาษีโจทก์โดยการนำค่ารายปีเฉลี่ยที่เทียบเคียงได้จากห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ขนาดใหญ่ ในปีภาษี 2558 มาเป็นฐานในการคำนวณภาษี โดยใช้วิธีการนำค่ารายปีที่ห้างสรรพสินค้า ท. ให้เช่าพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ในแต่ละร้านมาหารด้วยจำนวนเดือนที่ห้างสรรพสินค้า ท. นำออกให้เช่าแล้วหารด้วยพื้นที่ที่ได้จากการวัดจริงของร้านนั้น ๆ ในห้างสรรพสินค้า ท. จะได้ค่าเฉลี่ยต่อเดือนของร้านค้านั้น แล้วนำค่าเช่าเฉลี่ยทั้งหมดมารวมกัน ได้ค่าเฉลี่ยรวมทั้งสิ้น 80,561 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อ 36 ร้าน จะได้ค่าเช่าเฉลี่ย 2,238 บาท ต่อตารางเมตรต่อเดือน เมื่อนำมาคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์แล้ว คิดเป็นค่ารายปี 76,383,808 บาท ค่าภาษี 9,547,976 บาท จึงเห็นได้ว่าวิธีการที่จำเลยใช้ค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนต่อร้านมารวมคำนวณแล้วหารด้วยจำนวนร้านเป็นวิธีการคำนวณที่ไม่คำนึงถึงพื้นที่ใช้สอยของแต่ละร้านทั้งที่มีพื้นที่ใช้สอยแตกต่างกันจึงทำให้ไม่สะท้อนถึงค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านอย่างแท้จริง ดังจะเห็นได้จากการนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนตามวิธีการคำนวณของจำเลยไปใช้คำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งเป็นทรัพย์สินเทียบเคียง กลับได้ค่ารายปีและค่าภาษีไม่ใกล้เคียงความเป็นจริงที่ห้างสรรพสินค้า ท. ได้เสียภาษีโรงเรือนและที่ดินให้แก่จำเลย ซึ่งวิธีการคำนวณที่เหมาะสมเมื่อนำค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนไปใช้กับทรัพย์สินที่มีขนาดหรือพื้นที่เท่ากับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้ว ทรัพย์สินนั้นก็ควรจะมีค่ารายปีและค่าภาษีที่ใกล้เคียงหรือเท่ากับค่ารายปีและค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการที่จำเลยใช้ในการหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์จึงไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านเพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการคำนวณที่คำนึงถึงค่าเช่าพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกัน จึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านในส่วนของพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่แล้ว เพราะเมื่อนำกลับไปคำนวณกับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม และคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นและชอบด้วยกฎหมายแล้ว
หนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่โจทก์เป็นหนี้เงิน ปกติโจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างเวลาผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 39 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าศาลตัดสินให้ลดค่าภาษี ท่านให้คืนเงินส่วนที่ลดนั้นภายในสามเดือน โดยไม่คิดค่าอย่างใด" จึงเป็นบทยกเว้นความรับผิดเกี่ยวกับดอกเบี้ยของจำเลยที่จะต้องชำระแก่โจทก์ แต่มีระยะเวลาเพียงสามเดือนเท่านั้น เมื่อพ้นกำหนดนี้แล้ว หากจำเลยยังไม่ชำระ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดตามกฎหมายแก่จำเลยได้ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้จำเลยคืนเงินค่าภาษีแก่โจทก์ภายในสามเดือนนับแต่คำพิพากษาถึงที่สุด หากไม่คืนภายในกำหนดให้ชำระดอกเบี้ยจึงชอบแล้ว แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทน โดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราร้อยละ 2 ต่อปี ซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปี และมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวกำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระหนี้ตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ จึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าวและอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดย พระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3720/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: วิธีการคำนวณค่าเช่าและดอกเบี้ยผิดนัด
คดีเดิมโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) ซึ่งได้ความว่าสาเหตุที่ต้องประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) เนื่องจากจำเลยคำนวณค่ารายปีและค่าภาษี ปีภาษี 2558 ไม่ถูกต้องครบถ้วนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ พื้นที่ให้เช่าขนาดเล็ก ศูนย์อาหาร และเครื่องเล่นเด็ก จึงได้คำนวณใหม่และมีหนังสือแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) แก่โจทก์เพื่อเรียกเก็บภาษีในส่วนที่ขาด ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) คดีนี้เป็นการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินเพิ่มเติมจากการประเมินในปีภาษี 2558 และเป็นภาษีคนละจำนวนกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 ประกอบกับจำเลยได้มีหนังสือแจ้งคำชี้ขาดสำหรับการประเมิน ปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) แก่โจทก์เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2559 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องเพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 เป็นคดีต่อศาลภาษีอากรกลางเป็นคดีหมายเลขคดีดำที่ ภ.2/2559 ไว้ก่อนแล้ว และต่อมาคดีดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้มีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 ดังนั้น ที่จำเลยฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินปีภาษี 2558 (เพิ่มเติม) ในคดีนี้ จึงไม่เป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกันและไม่เป็นฟ้องซ้อนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบ พ.ร.บ. จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 17
ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อข้อเท็จจริงยุติแล้วว่าพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยเห็นว่าหลักฐานและสัญญาเช่าที่โจทก์นำส่งไม่สมบูรณ์และโจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดินแสดงพื้นที่โรงเรือนขาดไป ค่าเช่าที่โจทก์ตกลงกับผู้เช่าจึงมิใช่จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรจะให้เช่าได้ พนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยย่อมมีอำนาจประเมินค่ารายปีทรัพย์สินของโจทก์โดยเทียบเคียงกับค่ารายปีทรัพย์สินของห้างสรรพสินค้า ท. ซึ่งมีลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันได้ซึ่งโจทก์เคยฟ้องจำเลยเป็นคดีเกี่ยวกับการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน ปีภาษี 2558 และศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีคำพิพากษาแล้วตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3289/2563 โดยวินิจฉัยว่า วิธีการที่จำเลยใช้ในการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนเพื่อนำมาคำนวณหาค่ารายปีและค่าภาษีโรงเรือนและที่ดินของโจทก์ไม่เหมาะสม สำหรับวิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น เป็นการนำค่ารายปีของทุกร้านที่เช่าพื้นที่แบ่งเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่และพื้นที่ขนาดเล็กของห้างสรรพสินค้า ท. มาหารพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งพื้นที่เพื่อหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนก่อนแล้วค่อยนำไปคำนวณกับพื้นที่ของโจทก์และระยะเวลาการใช้ทรัพย์สิน ซึ่งเป็นวิธีการที่คำนึงถึงค่าเช่าและพื้นที่ของแต่ละร้านประกอบกันจึงเป็นวิธีการคำนวณหาค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรของพื้นที่รวมของทุกร้านตามที่แบ่งพื้นที่แล้ว เพราะเมื่อนำไปคำนวณกลับกับพื้นที่ของห้างสรรพสินค้า ท. แล้วจะได้ค่าภาษีที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงกับค่าภาษีของห้างสรรพสินค้า ท. วิธีการคำนวณของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงเป็นวิธีการที่เหมาะสมและคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้งและบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์คล้ายคลึงกันในเขตของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นนั้นแล้ว ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรในคดีดังกล่าวจึงกำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่เท่ากับ 676.72 บาท เมื่อคดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเฉพาะแต่ในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ ประกอบกับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในปีภาษี 2559 มีการใช้ทรัพย์สินในส่วนพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่ของโจทก์แตกต่างไปจากการใช้ทรัพย์สินของโจทก์ในปีภาษี 2558 อย่างไร จึงให้กำหนดค่าเช่าเฉลี่ยต่อตารางเมตรต่อเดือนสำหรับพื้นที่ให้เช่าขนาดใหญ่สำหรับปีภาษี 2559 เท่ากับ 676.72 บาท
ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกามี พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 ออกใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว ให้ยกเลิกมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. และให้ใช้ความใหม่แทนโดยกำหนดให้หนี้เงินนั้นให้คิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปีซึ่งปัจจุบันอัตราร้อยละห้าต่อปีและมาตรา 7 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าว กำหนดให้บทบัญญัติตามมาตรา 224 แห่ง ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดนี้ให้ใช้แก่การคิดดอกเบี้ยผิดนัดที่ถึงกำหนดเวลาชำระตั้งแต่วันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับจึงต้องกำหนดดอกเบี้ยตาม ป.พ.พ. ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกำหนดดังกล่าว และอัตราดอกเบี้ยตามมาตรา 7 อาจปรับเปลี่ยนโดยพระราชกฤษฎีกา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1147/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: การกำหนดค่ารายปีตามสภาพประโยชน์ใช้สอยและทำเลที่ตั้ง
มาตรา 18 แห่ง พ.ร.บ.โรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 บัญญัติว่า "ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วนั้น ท่านให้เป็นหลักสำหรับการคำนวณค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา" กฎหมายมิได้บังคับให้นำค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นค่ารายปีของปีต่อมาโดยตรง เพียงแต่ให้นำมาเป็นหลักในการคำนวณเท่านั้น เนื่องจากค่ารายปีย่อมอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงแล้วแต่พฤติการณ์และความเป็นจริง และสำหรับค่ารายปีนั้น มาตรา 8 ให้ความหมายว่า คือ จำนวนเงินซึ่งทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่ง ๆ ในกรณีทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี แต่ถ้าเป็นกรณีที่มีเหตุอันสมควรที่ทำให้พนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าค่าเช่านั้นมิใช่จำนวนเงินอันสมควรที่จะให้เช่าได้ หรือเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองหรือด้วยเหตุประการอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินค่ารายปีได้โดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ จึงแสดงว่าค่ารายปีที่จะใช้ในการคำนวณภาษีนั้น พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจที่จะแก้ไขกำหนดใหม่ในแต่ละปีที่จะต้องชำระภาษีได้เมื่อมีเหตุอันสมควร โจทก์ประกอบกิจการห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่จำหน่ายสินค้าให้แก่บุคคลทั่วไป โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์ในส่วนที่เป็นพื้นที่ขายมากกว่าส่วนที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน และการนำอาคารห้างสรรพสินค้าให้ผู้อื่นเช่าย่อมได้ค่าเช่ามากกว่าอาคารที่ใช้เป็นพื้นที่สำนักงาน เมื่อลักษณะการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินแตกต่างกัน ค่ารายปีในส่วนพื้นที่ขายย่อมสูงกว่าพื้นที่ที่ใช้เป็นสำนักงาน การที่ปีภาษี 2558 จำเลยกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายและพื้นที่สำนักงานในอัตราค่าเช่า 50 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนเท่ากันจึงไม่เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริง จำเลยย่อมมีอำนาจกำหนดค่ารายปีสำหรับปีภาษี 2559 ในส่วนพื้นที่ขายใหม่ได้โดยไม่จำต้องใช้ค่ารายปีของปีที่ล่วงแล้วมาเป็นหลักในการกำหนดค่ารายปี พื้นที่ขายเป็นพื้นที่ที่โจทก์ใช้ประโยชน์เองจึงเป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเอง พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินค่ารายปีโดยคำนึงถึงลักษณะของทรัพย์สิน ขนาด พื้นที่ ทำเลที่ตั้ง และบริการสาธารณะที่ทรัพย์สินนั้นได้รับประโยชน์ได้ การที่พนักงานเจ้าหน้าที่นำค่าเช่าของผู้ประกอบการที่เช่าพื้นที่ของโจทก์ซึ่งมีอัตราค่าเช่าระหว่าง 700 ถึง 5,000 บาท เฉลี่ยตารางเมตรละ 1,884 บาทต่อเดือน กับค่าเช่าโรงเรือนที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกับโจทก์ซึ่งมีอัตราค่าเช่าระหว่าง 240 ถึง 416 บาท เฉลี่ยตารางเมตรละ 289 บาทต่อเดือน มาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์นั้น แม้ทรัพย์สินที่นำมาเทียบเคียงดังกล่าวจะมีพื้นที่และลักษณะการประกอบกิจการแตกต่างจากโจทก์ แต่ต่างก็อยู่ในทำเลที่ตั้งและได้รับบริการสาธารณะเช่นเดียวกับโจทก์อันสามารถนำค่าเช่าดังกล่าวมาเทียบเคียงเพื่อกำหนดค่ารายปีพื้นที่ขายของโจทก์ได้ตามมาตรา 8

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5449/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดินย้อนหลังที่ไม่สมเหตุสมผล โดยอ้างอิงราคามาตรฐานที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจและราคาตลาด
พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 30 บัญญัติว่า การแจ้งคำชี้ขาดไปยังผู้ยื่นคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น ไม่ได้บัญญัติให้มีแบบพิมพ์หรือต้องทำในลักษณะใด เมื่อพิจารณาหนังสือของจำเลยฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 เป็นเรื่องแจ้งผลการพิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่ ถึงผู้จัดการของโจทก์ แม้หนังสือฉบับดังกล่าวลงชื่อโดยปลัดเทศบาลของจำเลย แต่ก็ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นการลงชื่อในฐานะเป็นผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกเทศมนตรีของจำเลย เมื่อหนังสือฉบับนี้ได้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่าจำเลยได้พิจารณาคำร้องขอให้พิจารณาการประเมินใหม่แล้วมีมติให้จัดเก็บตามการแจ้งประเมิน จึงถือได้ว่ามีผลเป็นอย่างเดียวกับการแจ้งคำชี้ขาดที่นายกเทศมนตรีของจำเลยแจ้งไปยังโจทก์เป็นลายลักษณ์อักษรตามมาตรา 30 และถือได้ในทำนองเดียวกันว่าได้?มีการวินิจฉัยชี้ขาดคำคัดค้านหรือคำอุทธรณ์นั้นเสร็จสิ้นแล้ว อันเป็นเหตุให้โจทก์ต้องยื่นฟ้องคดีนี้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในกำหนดเวลาดังกล่าวจึงไม่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามมาตรา 31 ส่วนที่นายกเทศมนตรีของจำเลยมีหนังสือในครั้งหลังแจ้งคำชี้ขาดพร้อมกับส่งใบแจ้งคำชี้ขาด ตามมาตรา 30 อันเป็นการแจ้งคำชี้ขาดที่มีการนำแบบพิมพ์ ภ.ร.ด. 11 มาใช้ แต่หาได้มีการยกเลิกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขความที่ได้แจ้งให้โจทก์ทราบตามหนังสือฉบับลงวันที่ 11 กันยายน 2558 ในครั้งแรกนั้นไม่ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดตามใบแจ้งคำชี้ขาดฉบับแรกได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8941/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน: กรอบเวลา 10 ปี, การแจ้งเหตุผลเพิ่มเติม, และการประเมินค่ารายปี
โรงเรียนที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 9 (3) จะต้องเป็นโรงเรียนสาธารณะ ซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล และต้องใช้ในการศึกษาเท่านั้น โรงเรียนของโจทก์เก็บค่าธรรมเนียมการเรียน ค่าธรรมเนียมอื่นและค่าใช้จ่ายอื่น ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคล โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ใช่ทรัพย์สินของโรงเรียนสาธารณะซึ่งกระทำกิจการอันมิใช่เพื่อเป็นผลกำไรส่วนบุคคลและใช้เฉพาะในการศึกษาจึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (3)
ศาสนสมบัติที่จะได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดินตามมาตรา 9 (4) จะต้องใช้เฉพาะในศาสนกิจเท่านั้นไม่อาจใช้ในการอื่นได้ โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์ได้สอนความรู้ทางวิชาการด้วย ไม่ได้ใช้เฉพาะด้านศาสนกิจเพียงอย่างเดียว โรงเรียนและสถานรับเลี้ยงเด็กของโจทก์จึงไม่ได้รับยกเว้นภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 9 (4)
โจทก์ยื่นแบบแจ้งรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.2) ประจำปีภาษี 2538 ถึงปีภาษี 2547 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ซึ่งตาม พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มาตรา 18 และ 19 กำหนดให้ผู้รับประเมินมีหน้าที่ยื่นแบบแจ้งรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี จึงเป็นกรณีที่โจทก์ไม่ยื่นแบบพิมพ์แสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจประเมินย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี นับแต่วันสุดท้ายแห่งระยะเวลาที่กำหนดให้ยื่นแบบพิมพ์ตามมาตรา 19 คือนับแต่วันสุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ในแต่ละปี พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินไปถึงโจทก์เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 แม้โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับการประเมินดังกล่าวมาแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 ของศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งศาลดังกล่าวพิพากษาให้เพิกถอนการแจ้งการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน เนื่องจากใบแจ้งรายการประเมินขาดรายละเอียด เหตุผล ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายซึ่งไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยชี้ขาดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้วก็ตาม ก็เห็นได้ว่า ศาลภาษีอากรกลางมิได้พิพากษาเพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครองแต่อย่างใด และแม้การประเมินภาษีโรงเรือนของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว จะไม่ได้จัดให้มีเหตุผลตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าว ก็มีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 จัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบภายหลังย่อมมีผลให้ถือว่า การประเมินครั้งแรกที่แจ้งให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2548 ที่ขาดเหตุผลมาแต่เดิมนั้นไม่เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์ ถือได้ว่าการประเมินดังกล่าวสมบูรณ์มาแต่เดิมแล้ว การนับระยะเวลาในการประเมินย้อนหลังไม่เกิน 10 ปี ตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) จึงนับจากวันที่ประเมินภาษีครั้งแรก ทั้งระยะเวลาย้อนหลังได้ไม่เกิน 10 ปี ก็เป็นเพียงระยะเวลาที่เป็นกรอบเวลาในการใช้อำนาจในการประเมินของจำเลยที่ 1 เท่านั้น มิใช่อายุความ การประเมินภาษีสำหรับปีภาษี 2538 จึงเกินกำหนด 10 ปี แล้ว ส่วนปีภาษี 2539 ถึงปีภาษี 2547 นั้น ไม่เกินกำหนดเวลาตามมาตรา 24 ทวิ วรรคสอง (1) พนักงานเจ้าหน้าที่จึงมีอำนาจประเมินย้อนหลังได้
มาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 มิใช่บทบัญญัติบังคับให้พนักงานเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทุกกรณีไป เพียงแต่หากพนักงานเจ้าหน้าที่ประสงค์จะได้รับความสะดวกตามสมควรในการตรวจตรา ก็ควรจะแจ้งให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประเมินทราบก่อน
เมื่อศาลภาษีอากรกลางมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 81/2555 แล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งรายการประเมินมายังโจทก์เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2556 และต่อมาได้มีการแจ้งเหตุผลเพิ่มเติมตามใบแจ้งรายการประเมินลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2556 เมื่อคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลางดังกล่าวมิได้เพิกถอนการประเมินอันเป็นคำสั่งทางปกครอง และมีผลให้จำเลยที่ 1 สามารถจัดให้มีเหตุผลและแจ้งให้โจทก์ทราบในภายหลังได้ โดยไม่มีข้อจำกัดที่ต้องกระทำก่อนจำเลยที่ 2 มีคำชี้ขาดที่ถูกเพิกถอนไปแล้ว ใบแนบใบแจ้งรายการประเมินภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภ.ร.ด.8) เพิ่มเติมดังกล่าวจึงเป็นการจัดให้มีเหตุผลในภายหลังโดยกระทำก่อนสิ้นสุดกระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ ตามมาตรา 41 วรรคสาม แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 ใบแจ้งรายการประเมินตามมาตรา 24 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 (ภ.ร.ด.8) จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วย พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาตรา 37 แล้ว
การกำหนดค่ารายปีต้องเป็นไปตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 เมื่อโรงเรือนของโจทก์เป็นกรณีที่หาค่าเช่าไม่ได้เนื่องจากเจ้าของทรัพย์สินดำเนินกิจการเองแล้ว พนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมประเมินค่ารายปีโดยเทียบเคียงกับโรงเรือนเลขที่ 70/32 ซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนเช่นเดียวกับโรงเรือนของโจทก์และอยู่ในทำเลที่ใกล้เคียงกับโจทก์ได้
of 10