คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 204

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,956 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9484/2554

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ลาภมิควรได้ สินค้าสูญหาย ผู้รับผิดชำระราคาพร้อมดอกเบี้ย
สินค้าข้าวสาลีขาวพิพาทที่บรรทุกในระวางเรือหมายเลข 5 มีเพียงสินค้าของบริษัท บ. กับของจำเลย โดยมีแผ่นพลาสติกทอปูกั้นสินค้าของแต่ละฝ่ายไว้ สินค้าของบริษัท บ. อยู่ด้านบน ส่วนสินค้าของจำเลยอยู่ด้านล่าง ตามใบตราส่งระบุว่าสินค้าของแต่ละฝ่ายมีน้ำหนัก 4,400 เมตริกตัน เท่ากัน และการฉีกขาดของแผ่นพลาสติกเกิดขึ้นในขณะที่ยังขนถ่ายสินค้าของบริษัท บ. ออกจากระวางเรือไม่เสร็จสิ้น การที่จำเลยขนถ่ายสินค้าส่วนที่เหลือในระวางเรือไปทั้งหมด และจำเลยได้รับสินค้าเกินกว่าที่ระบุในใบตราส่งไป 60.24 เมตริกตัน เชื่อว่าสินค้าของบริษัท บ. ได้ปะปนไปกับสินค้าที่จำเลยได้รับไป ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยได้มาซึ่งสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน ของบริษัท บ. โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้และเป็นทางให้บริษัท บ. เสียเปรียบ บริษัท บ. ย่อมมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวได้ในฐานะเป็นลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406 เมื่อโจทก์ผู้รับประกันภัยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนสำหรับการสูญหายของสินค้าดังกล่าวให้แก่บริษัท บ. ไปแล้ว โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของบริษัทดังกล่าวมาเรียกร้องเอาจากจำเลยได้ จำเลยจึงต้องคืนสินค้าข้าวสาลีขาว 60.24 เมตริกตัน แก่โจทก์
แม้โจทก์จะนำสืบว่าโจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท บ. ไปเป็นเงิน 470,315.31 บาท ก็ตาม แต่ค่าสินไหมทดแทนจำนวนนี้ได้คิดคำนวณราคาจากสินค้าที่สูญหายไป 65.03 เมตริกตัน เมื่อจำเลยได้รับสินค้าของบริษัท บ. ไว้เพียง 60.24 เมตริกตัน หากจำเลยไม่สามารถคืนสินค้าจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ จำเลยก็ต้องรับผิดใช้ราคาแทนโดยคำนวณราคาจากสินค้า 60.24 เมตริกตัน เท่านั้น ขณะที่จำเลยรับสินค้ามีการขนถ่ายขึ้นจากเรือ ซ. ลงเรือลำเลียง ยังไม่มีการตรวจสอบปริมาณหรือน้ำหนักของสินค้า อันถือได้ว่าจำเลยได้รับสินค้าพิพาทไว้โดยสุจริต และการครอบครองสินค้าพิพาทของจำเลยก่อนมีการทวงถามให้คืนเป็นไปโดยสุจริตตลอดมา แต่เมื่อโจทก์ทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าโดยอ้างสิทธิเหนือสินค้าพิพาทแล้ว จำเลยจึงตกอยู่ในฐานะทุจริตจำเดิมแต่เวลาที่ถูกเรียกคืนนั้น และตกเป็นผู้ผิดนัดซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยนับตั้งแต่เวลานั้นเป็นต้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง และมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 224 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยคืนสินค้าพิพาทและจำเลยได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2549 ครบกำหนด 7 วัน ที่จำเลยต้องคืนสินค้าในวันที่ 5 มิถุนายน 2549 แล้วจำเลยยังเพิกเฉย จึงถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2549

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10022/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้จากการผ่อนชำระเป็นงวด และผลของการผิดนัดเพียงหนึ่งงวด
ตามหนังสือรับชดใช้สินค้าขาดบัญชีไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง นับแต่วันผิดนัดซึ่งหนังสือรับชดใช้สินค้าขาดบัญชีดังกล่าวให้ชดใช้เป็นรายเดือน กำหนดชำระเสร็จใน 12 เดือน เริ่มชดใช้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2545 เป็นต้นไป อันเป็นการผ่อนชำระหนี้ให้แก่โจทก์เป็นงวด แม้ไม่ได้ระบุว่าผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด เมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามเวลาที่ตกลงไว้แม้แต่งวดหนึ่งงวดใดก็ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้ตามสัญญาทั้งหมดนับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2545 ไม่ใช่ผิดนัดเฉพาะเพียงงวดนั้นแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2888/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันภัยค้ำจุน: ผู้รับประกันภัยต้องรับผิดเมื่อผู้ขับขี่ได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัย
จำเลยที่ 4 ไม่นำสืบว่าเหตุใดจึงยอมรับทำสัญญาประกันภัยค้ำจุนรถยนต์คันนี้กับจำเลยที่ 3 ทั้งๆ ที่น่าจะทราบดีว่าจำเลยที่ 3 ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ตามพฤติการณ์เชื่อว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ทำสัญญาประกันภัยกับจำเลยที่ 4 โดยไม่เปิดเผยชื่อตัวการตาม ป.พ.พ. มาตรา 806 ตัวการซึ่งมิได้เปิดเผยชื่อจะกลับแสดงตนให้ปรากฏและเข้ารับเอาสัญญาใดๆ ซึ่งตัวแทนได้ทำให้แทนตนก็ได้ สัญญาประกันภัยค้ำจุนระหว่างจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงมีผลบังคับใช้ได้ การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสามีของจำเลยที่ 2 เจ้าของกรรมสิทธิ์นำรถยนต์คันนี้ไปใช้ย่อมถือได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยโดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยแล้ว และตามสัญญาประกันภัย หมวดที่ 2 ส่วนที่ 2 ข้อ 2.6 ระบุว่าการคุ้มครองความรับผิดของผู้ขับขี่บริษัทจะถือว่าบุคคลใดซึ่งขับขี่รถยนต์โดยได้รับความยินยอมจากผู้เอาประกันภัยเสมือนหนึ่งเป็นผู้เอาประกันภัยเอง
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิดแต่จำเลยที่ 4 เป็นเพียงผู้รับประกันภัยค้ำจุน มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความวินาศภัยอันเกิดขึ้นตามเงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในกรมธรรม์ไม่ใช่ผู้ทำละเมิดหรือต้องร่วมรับผิดกับผู้ทำละเมิดอย่างลูกหนี้ร่วม เมื่อกรมธรรม์กำหนดแต่เพียงวงเงินความเสียหายที่จำเลยที่ 4 จะต้องรับผิดโดยมิได้ระบุให้ร่วมรับผิดเช่นเดียวกับผู้ทำละเมิด จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดในดอกเบี้ยนับแต่วันที่ทำละเมิดเมื่อหนี้ตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ตามวันแห่งปฏิทินและโจทก์มิได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ตกเป็นผู้ผิดนัดก่อนที่โจทก์จะนำคดีมาฟ้อง จำเลยที่ 4 จึงต้องรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1198/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประกันตัวผู้ต้องหา: การผิดสัญญา, อายุความ, และเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากขณะยื่นฟ้อง พันตำรวจโท ป. ผู้ลงชื่อในใบแต่งทนายความได้ย้ายไปจากสถานีตำรวจทางหลวง 1 แล้ว จึงไม่มีอำนานหน้าที่ในวันที่ฟ้องคดีนั้น จำเลยไม่ได้ยกปัญหานี้ขึ้นต่อสู้ในคำให้การเพื่อให้เป็นประเด็นในคดี จึงเป็นฎาโดยยกข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้อง ถือได้ว่าเป็นการฎีกาข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง
จำเลยยอมรับว่าได้ทำคำร้รองขอประกันและทำสัญญาประกันตัว อ. บุตรชายจำเลยซึ่งต้องหาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสและทรัพย์สินเสียหาย ไปจากโจทก์ ซึ่งตามสัญญาประกันมีข้อความระบุในข้อ 1 ว่าผู้ประกันตนสัญญาว่าจะส่งตัวผู้ต้องหาให้ตามกำหนดนัดของเจ้าพนักงาน และข้อ 2 ระบุว่าถ้าหากผิดสัญญาข้อ 1 ผู้ประกันยินยอมใช้เงิน 50,000 บาท ทั้งปรากฏว่าด้านหลังของสัญญาประกันมีตารางกำหนดวันเวลาให้ผู้ประกันส่งผู้ต้องหาต่อผู้ให้ประกัน ซึ่งจำเลยได้ลงลายมือชื่อรับทราบกำหนดนัดดังกล่าวไว้ด้วย แสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่าจำเลยทราบดีว่าตนมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์เมื่อใด เมื่อจำเลยมิได้นำตัวผู้ต้องหามาส่งให้โจทก์ตามกำหนดนัด จำเลยผิดสัญญาประกันตั้งแต่วันดังกล่าวและต้องรับผิดชำระเงินแก่โจทก์ตามสัญญาประกัน
กรณีผิดสัญญาประกันตัวผู้ต้องหาไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงต้องเรียกใช้อายุความทั่วไป ซึ่งมีกำหนดสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 ส่วนสิทธิเรียกร้องในส่วนของดอกเบี้ยนั้นโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินห้าปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (1)
สัญญาประกันกำหนดให้จำเลยชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยผิดสัญญาไม่ส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่โจทก์ตามกำหนดนัด จึงเป็นข้อตกลงที่กำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากเห็นว่าสูงเกินส่วน ศาลสามารถลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 309/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อพิพาทสัญญาซื้อขายปุ๋ย, อายุความ, เบี้ยปรับ, และดอกเบี้ย: การพิจารณาความถูกต้องตามกฎหมาย
โจทก์เป็นองค์การของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร พ.ศ.2517 มาตรา 6 แม้โจทก์จะมีวัตถุประสงค์เพื่อซื้อและจัดให้มีการซื้อผลิตผลเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมในครัวเรือนของเกษตรกร รวมถึงเครื่องอุปโภคและบริโภคอันจำเป็นเพื่อจำหน่ายด้วย แต่ก็ต้องจำหน่ายในราคาอันสมควร และแม้สัญญาซื้อขายปุ๋ยจะระบุว่า ราคาที่เหลือผู้ซื้อจะชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่กำหนดโดยผู้ซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดราคาจำหน่ายปุ๋ย ก็มิได้แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์มุ่งแสวงหากำไรอันจะถือว่าเป็นการประกอบการค้า โจทก์จึงมิใช่ผู้ประกอบการค้าตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ต้องใช้อายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
ประกาศของโจทก์เรื่องราคาจำหน่ายปุ๋ยที่กำหนดหลักเกณฑ์การชำระค่าปุ๋ยไว้โดยให้มีการเสียดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นในกรณีที่ชำระค่าปุ๋ยล่าช้า เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เกิน 6 เดือน หรือ 9 เดือน ในอัตราลดหลั่นกันไป ถือได้ว่าเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้
สัญญาซื้อขายปุ๋ยไม่มีกำหนดเวลาชำระหนี้ไว้ทั้งจะอนุมานจากพฤติการณ์ทั้งปวงก็ไม่ได้ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม ป.พ.พ. มาตรา 203 วรรคหนึ่ง ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต่อเมื่อโจทก์ได้ทวงถามแล้ว โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ค่าปุ๋ย โดยกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือ แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือทวงถามดังกล่าวแล้วหรือไม่ จึงไม่อาจเริ่มนับวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดได้ ศาลจึงพิพากษาให้จำเลยทั้งยี่สิบชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินที่ค้างชำระนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8679/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การผ่อนเวลาชำระหนี้และการสละสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ย: การกระทำของเจ้าหนี้แสดงเจตนาสละสิทธิ
แม้จำเลยตกลงค้ำประกันหนี้ของกิจการร่วมค้าชนิดไม่มีเงื่อนไข และชนิดไม่เพิกถอน จำเลยต้องชำระหนี้ค้ำประกันแก่โจทก์ทันทีที่โจทก์เรียกให้ชำระ โดยไม่มีสิทธิที่จะคัดค้าน และไม่มีสิทธิเรียกให้โจทก์ไปเรียกร้องจากกิจการร่วมค้าก่อนก็ตาม แต่ตามที่โจทก์และจำเลยปฏิบัติต่อกัน จำเลยไม่ได้ชำระหนี้ภายในเวลาที่โจทก์กำหนด โจทก์ก็มิได้ถือเอากำหนดเวลาเป็นสาระสำคัญแต่ได้ผ่อนเวลาเรื่อยมา การที่จำเลยไม่ชำระหนี้ภายในระยะเวลาที่โจทก์ผ่อนเวลาให้ ถือไม่ได้ว่าจำเลยผิดนัด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 นอกจากนี้โจทก์ก็รับเงินที่ชำระโดยไม่อิดเอื้อน หรือขอสงวนสิทธิในการเรียกดอกเบี้ย เนื่องจากการชำระหนี้ที่ล่าช้า แต่โจทก์กลับออกใบเสร็จรับเงินให้จำเลยว่าได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากการค้ำประกันแล้ว และโจทก์ยังได้คืนหนังสือสัญญาค้ำประกันทั้ง 8 ฉบับ ให้จำเลยด้วย โจทก์จึงไม่ติดใจเรียกค่าเสียหายที่จำเลยชำระเงินล่าช้า แม้โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2541 เรียกให้จำเลยชำระค่าเสียหายดังกล่าว ก็เป็นการเรียกร้องภายหลังจากการชำระหนี้การค้ำประกันของจำเลยเสร็จเรียบร้อยแล้ว ย่อมไม่ทำให้โจทก์กลับมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวขึ้นมาอีก จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยเนื่องจากจำเลยชำระหนี้ให้โจทก์ล่าช้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3792/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความ: กำหนดเวลาชำระหนี้เป็นสาระสำคัญ การบังคับคดีชอบด้วยกฎหมาย
สัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสอง ได้กำหนดเวลาชำระหนี้แต่ละงวดไว้แน่นอนตามวันแห่งปฏิทิน ซึ่งหากจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้งวดใดงวดหนึ่งถือว่าจำเลยทั้งสองผิดนัดการชำระหนี้ทุกงวด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที แสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาที่ประสงค์ให้ถือเอาเวลาชำระหนี้ที่กำหนดไว้เป็นสาระสำคัญ และศาลชั้นต้นได้พิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว จึงผูกพันโจทก์และจำเลยทั้งสองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคแรก แม้โจทก์จะรับชำระหนี้งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 4 ซึ่งชำระไม่ตรงตามกำหนด โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดจากจำเลยทั้งสองก็เป็นเรื่องที่โจทก์ยังไม่ประสงค์จะบังคับคดีในขณะนั้นเท่านั้น ไม่ทำให้จำเลยทั้งสองพ้นจากความผูกพันที่จะต้องชำระหนี้งวดต่อไปให้ตรงตามกำหนด เมื่อจำเลยทั้งสองยังคงชำระหนี้งวดที่ 5 ไม่ตรงตามกำหนดอีก จึงเป็นผู้ผิดนัด
จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้บังคับคดีด้วยการยึดที่ดินของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 แม้โจทก์จะทราบมาก่อนว่าที่ดินดังกล่าวจำเลยที่ 2 ได้เสนอขายต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด และคณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์ครูสุพรรณบุรี จำกัด มีมติให้ซื้อจากจำเลยที่ 2 แล้ว ก็ไม่เป็นการใช้สิทธิบังคับคดีโดยไม่สุจริต

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 997/2551

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาโฆษณา, วันชำระหนี้, การผิดนัดชำระหนี้, ดอกเบี้ย, การส่งมอบเอกสาร
จำเลยให้การแต่เพียงว่า จำเลยขอให้การปฏิเสธว่าลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจของผู้มอบอำนาจไม่ใช่ลายมือชื่อของ ส. และ ว.ตราประทับก็ไม่ใช่ของบริษัทโจทก์ ซึ่งเป็นการให้การปฏิเสธลอยๆ แต่เพียงว่าตราที่ประทับในหนังสือมอบอำนาจไม่ใช่ตราของบริษัทโจทก์เท่านั้น ไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัย
ตามสัญญาโฆษณากำหนดวันชำระหนี้ไว้ว่า ชำระเงินหลังวันโฆษณาภายใน 30 วัน ส่วนวันโฆษณาคือวันที่ 4 และ 9 ธันวาคม 2540 ดังนั้น วันครบกำหนดชำระเงินคือภายในวันที่ 3 และ 8 มกราคม 2541 จึงถือได้ว่ามีกำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอนตามปฏิทิน แต่เมื่อพนักงานของโจทก์ไปส่งใบแจ้งหนี้และใบวางบิลให้แก่จำเลยแล้ว จำเลยระบุในใบรับวางบิลว่า โปรดมารับเงินวันที่ 13 มีนาคม 2541 โจทก์มิได้ทักท้วง แสดงว่าโจทก์และจำเลยมิได้ถือเอาวันที่ครบกำหนดชำระเงินตามสัญญาโฆษณา เป็นสาระสำคัญอีกต่อไปจำเลยจะผิดนัดต่อเมื่อโจทก์ได้เตือนให้ชำระหนี้แล้วจำเลยไม่ชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง จึงจะคิดดอกเบี้ยตามมาตรา 224 ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6109/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความฟ้องบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอม เริ่มนับจากวันที่จำเลยผิดนัดตามสัญญาประนีประนอม
สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 กำหนดไว้ว่า หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดหรือเดือนหนึ่งเดือนใด ให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับได้ทันที เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมกับค่าทนายความแก่โจทก์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ภายในกำหนดวันที่ 15 มิถุนายน 2538 ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ให้แก่โจทก์ให้เป็นไปตามคำพิพากษาตามยอมนั้นแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิบังคับคดีแก่จำเลยที่ 1 ได้ทันทีตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 4 ดังนั้น สิทธิเรียกร้องในการบังคับชำระหนี้ของโจทก์ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวซึ่งมีกำหนดอายุความ 10 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2538 มิใช่เริ่มนับในวันที่ 16 กรกฎาคม 2538 อันเป็นวันถัดจากวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์งวดแรกตามสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 1 โจทก์นำหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าวมาฟ้องคดีเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 พ้นกำหนด 10 ปีแล้ว จึงขาดอายุความ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5297/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความผิดนัดชำระหนี้ ศาลมีอำนาจบังคับคดีได้ทันที
โจทก์และจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมมีข้อความว่า จำเลยทั้งสองยอมชำระเงิน 500,000 บาท แก่โจทก์ ตกลงผ่อนชำระเป็นรายเดือนโดยนำเงินมาวางศาลเดือนละไม่น้อยกว่า 4,000 บาท ทกุเดือนติดต่อกัน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2545 งวดต่อไปชำระทุกวันที่ 22 ของเดือน โดยจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 8 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัด 2 งวดโดยไม่จำต้องติดต่อกันให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที คำพิพากษาตามยอมดังกล่าวได้กำหนดวันและจำนวนหนี้ที่ต้องชำระไว้แน่นอน ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่นำเงินมาวางศาลภายในกำหนดถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ผิดนัดไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามคำพิพากษา แม้ว่าโจทก์จะมาขอรับเงินที่จำเลยที่ 2 นำมาวางศาลภายหลังที่ผิดนัดแล้วก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 พ้นจากการเป็นผู้ผิดนัดโจทก์จึงขอให้บังคับคดีแก่จำเลยที่ 2 ได้ทันที
of 196