คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,935 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ จำกัดทุนทรัพย์ฎีกา, การหักเงินช่วยเหลือค่าทำศพ, การรับวินิจฉัยเฉพาะประเด็น, และการนำสืบพยานนอกคำให้การ
ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าขาดไร้อุปการะ 240,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จ ซึ่งเท่ากับให้ร่วมชดใช้ค่าอุปการะแก่โจทก์คนละ 120,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ส่วนค่าปลงศพซึ่งโจทก์ทั้งสองได้ร่วมกันปลงศพที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยทั้งสองรับผิด 66,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดนั้น แม้จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสองมีสิทธิร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่เมื่อนำไปรวมกับค่าขาดไร้อุปการะตามสิทธิของโจทก์แต่ละคนแล้ว ไม่เกิน 200,000 บาท ทุนทรัพย์ที่พิพาทสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 กับโจทก์แต่ละคนในชั้นฎีกาจึงไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 มิได้ให้การต่อสู้ในเรื่องที่โจทก์ทั้งสองได้รับชดใช้จากบริษัทประกันภัยแล้วเป็นประเด็นไว้ตั้งแต่ในศาลชั้นต้น แม้จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะได้นำสืบในชั้นพิจารณาก็เป็นการนำสืบนอกคำให้การต้องห้ามมิให้รับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 ถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง
เงินที่จำเลยที่ 2 ช่วยค่าทำศพจำนวน 10,000 บาท เป็นการช่วยเหลือค่าปลงศพให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วนตามหลักมนุษยธรรม มิใช่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ช่วยค่าทำศพโดยยอมรับผิดและมิได้มอบให้ในฐานะเป็นค่าเสียหายส่วนหนึ่ง แต่เป็นการให้ในลักษณะร่วมทำบุญอันเป็นการสำนึกในศีลธรรม จึงนำมาหักกับจำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกร้องไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 812/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: โต้เถียงข้อเท็จจริงยุติแล้ว & ฎีกาแก้โทษที่ศาลล่างใช้ดุลยพินิจแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยอุทธรณ์เพียงขอให้ลงโทษสถานเบาเท่านั้น โดยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งรายงานการตรวจพิสูจน์ของกลาง ที่จำเลยฎีกาว่าการตรวจพิสูจน์ผิดพลาด จึงเป็นการโต้เถียงปัญหาข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วและเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกา อันเป็นปัญหาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 555/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาหมั้นโดยฝ่ายเดียวไม่ผูกพันคู่หมั้น และประเด็นการฎีกาที่ขัดต่อข้อที่ว่ากล่าวในศาลล่าง
จำเลยที่ 2 บอกโจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ไม่ต้องการสมรสกับโจทก์ เป็นการบอกเลิกสัญญาหมั้นของจำเลยที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีผลผูกพันโจทก์
โจทก์กับจำเลยที่ 2 สมัครใจเลิกสัญญาหมั้นกัน ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า จำเลยที่ 2 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นได้นั้น จำเลยทั้งสองมิได้ให้การต่อสู้คดีในปัญหาดังกล่าวไว้ แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 3 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวจะหยิบยกปัญหาเรื่องการบอกเลิกสัญญาของจำเลยที่ 2 ขึ้นวินิจฉัยก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือค้ำประกันผู้ต้องหาไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. แต่เป็นสัญญาต่างตอบแทน จึงใช้เป็นพยานหลักฐานได้
ฎีกาของจำเลยที่ว่าหนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาเป็นสัญญาค้ำประกัน เมื่อไม่ได้ปิดอากรแสตมป์จึงใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งฟ้องบังคับจำเลยไม่ได้ แม้จำเลยจะมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ แต่เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยจึงยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
หนังสือสัญญาค้ำประกันผู้ต้องหาที่จำเลยสัญญาว่าหาก ส. หลบหนี และศาลสั่งปรับโจทก์เป็นเงินเท่าใด จำเลยขอรับผิดชอบชดใช้เงินค่าปรับนั้นแทนโจทก์ทั้งสิ้น เป็นกรณีที่จำเลยแสดงเจตนาผูกพันรับผิดต่อโจทก์โดยตรง ไม่ใช่เรื่องที่จำเลยผูกพันต่อโจทก์ว่าจะชำระหนี้ในเมื่อ ส. ไม่ชำระหนี้ จึงไม่ใช่สัญญาค้ำประกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 680 หากแต่เป็นสัญญาต่างตอบแทนที่ใช้บังคับระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น และไม่อยู่ในลักษณะแห่งตราสารที่จะต้องเสียอากรตามบัญชีอากรแสตมป์ท้ายหมวด 6 แห่ง ป.รัษฎากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 512/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงใหม่ การบุกรุกและทำร้ายร่างกาย ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์
ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ว่า บาดแผลที่ผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ได้รับจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กาย และจำเลยทั้งสี่ได้กระทำความผิดฐานบุกรุกเพราะประสงค์จะเจรจากับผู้เสียหายที่ 2 ที่ทำร้ายร่างกายบุตรหลานของจำเลยทั้งสี่ถือว่ามีเหตุอันควรอันเป็นการฎีกาว่าไม่ได้กระทำความผิดตามคำฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การรับสารภาพแล้ว ข้อเท็จจริงจึงรับฟ้องได้ดังฟ้องโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จะฎีกาโต้แย้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงเป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ในชั้นฎีกาซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นฎีกาที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8457/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเกินกำหนดเวลา และอำนาจศาลในการวินิจฉัยข้อกฎหมายเพื่อความสงบเรียบร้อย
ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับอุทธรณ์ของจำเลยเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2545 จำเลยชอบที่จะยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2544 จำเลยยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545 เกินกำหนดเวลาที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นอุทธรณ์คำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งของจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบ มาตรา 246 และมาตรา 247 และถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกา ตามมาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8279/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจทนายในการดำเนินคดีและผลของการตกลงทำคำท้าต่อหน้าศาล
โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงท้ากันโดยถือเอาการปฏิบัติตามคำท้าเป็นข้อแพ้ชนะ เมื่อปรากฏว่าฝ่ายจำเลยทั้งสองไม่ไปศาลตามกำหนดนัดเพื่อรับผู้พิพากษาไปนำสาบานตนตามคำท้า ก็ถือว่าจำเลยทั้งสองไม่สามารถปฏิบัติตามคำท้าได้ ต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี จะอ้างว่าทนายจำเลยทั้งสองกระทำการฉ้อฉลโดยจำเลยทั้งสองไม่รู้เห็นยินยอมด้วยกับข้อตกลงตามคำท้าไม่ได้ เพราะจำเลยทั้งสองแต่งตั้งทนายความให้มีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาในทางจำหน่ายสิทธิได้ เช่น ยอมรับตามที่คู่ความอีกฝ่ายหนึ่งเรียกร้อง ทนายความของจำเลยทั้งสองย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจเต็มที่ต่อหน้าศาลว่า ข้อความที่ตกลงกับโจทก์นั้นเหมาะสม ไม่เสียเปรียบ รวมทั้งมีอำนาจต่อรองและไม่ยอมตกลงหากเห็นว่าจำเลยทั้งสองเสียเปรียบโดยไม่จำต้องแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบ อีกทั้งการตกลงรับคำท้ากับโจทก์ก็เพื่อให้คดีเสร็จไปโดยเร็ว เป็นผลดีแก่จำเลยทั้งสอง แม้ไม่ได้ปรึกษาหารือจำเลยทั้งสองก่อนก็ไม่ใช่เป็นเรื่องของการฉ้อฉลที่จำเลยทั้งสองจะขอให้เพิกถอนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 138 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8196-8199/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนังสือมอบอำนาจ, การฟ้องคดี, สัญญาเช่า, อำนาจตัวแทน, การประทับตราสำคัญ
พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 31 วรรคสาม บัญญัติว่า เจ้าอาวาสเป็นผู้แทนของวัดในกิจการทั่วไป หาได้บังคับว่าการกระทำกิจการแทนวัดจะต้องประทับตราสำคัญของวัดด้วยไม่ ทั้งไม่ปรากฏว่ามีตราสารจัดตั้งที่จำกัดอำนาจให้ต้องประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 แม้หนังสือมอบอำนาจที่ ส. มอบอำนาจให้ ป. มีอำนาจฟ้องคดีและทำนิติกรรมแทนโจทก์ที่ 1 จะปรากฏว่า ส. เพียงแต่ลงลายมือชื่อโดยมิได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ไว้ด้วยก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจช่วงจาก ป. จึงมีอำนาจฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
จำเลยให้การต่อสู้แต่เพียงว่าหนังสือมอบอำนาจไม่ได้ประทับตราสำคัญของโจทก์ที่ 1 ป. จึงไม่มีอำนาจทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินแทนโจทก์ที่ 1 ได้เท่านั้น จำเลยไม่ได้ให้การถึงว่าขณะทำหนังสือสัญญาเช่าไม่มีหลักฐานการตั้งตัวแทนเป็นหนังสือ สัญญาเช่าจึงไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249
หนังสือสัญญาเช่าที่ดินมีข้อสัญญาว่าเมื่อครบกำหนดระยะเวลาเช่า 3 ปี แล้ว โจทก์ที่ 1 ต้องต่อสัญญาเช่าออกไปอีกจนกว่าจะครบ 30 ปี แม้การทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินจะเป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็ตาม แต่เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการจดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมมีผลฟ้องร้องบังคับคดีได้เพียง 3 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 538 จึงเป็นการเช่าที่ไม่ต้องได้รับความเห็นชอบจากกรมการศาสนาตาม ข้อ 4 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2511) ซึ่งออกตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7874/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแก้ไขอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางอาคารชุด ต้องใช้เสียง 3 ใน 4 ของเจ้าของร่วมทั้งหมด ข้อบังคับที่ขัดแย้งกับ พ.ร.บ.อาคารชุดเป็นโมฆะ
มาตรา 49 (1) แห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 บัญญัติให้มติเกี่ยวกับเรื่องการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันในข้อบังคับตามมาตรา 32 (10) ต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด เมื่อคะแนนเสียงเจ้าของร่วมตามข้อบังคับของจำเลยที่ 1 มีจำนวน 1,000 คะแนน การประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมประจำปี 2543 มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 341.63 คะแนน ผลการนับคะแนนเสียงให้เปลี่ยนแปลงอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลางจากเดิมที่กำหนดไว้ตารางเมตรละ 100 บาทต่อปี เป็นตารางเมตรละ 180 บาทต่อปี โดยเสียงข้างมากเห็นด้วย 240.19 คะแนน แม้ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ข้อ 39.2 กำหนดให้มติเกี่ยวกับเรื่องการปรับอัตราเรียกเก็บค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ให้ใช้เสียงข้างมากจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมเท่านั้น แต่การประชุมเจ้าของร่วมเพื่อแก้ไขอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันหรือค่าใช้จ่ายส่วนกลางอยู่ในความหมายของมาตรา 49 (1) ตาม พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ข้อบังคับของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวจึงเป็นข้อบังคับที่ขัดหรือแย้งกับบทแห่ง พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ.2522 ซึ่งมาตรา 3 บัญญัติว่า บรรดากฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับอื่นในส่วนที่มีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัตินี้ หรือ ซึ่งขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทน การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนค่าใช้จ่ายร่วมกันจึงต้องได้รับคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ของจำนวนคะแนนเสียงของเจ้าของร่วมทั้งหมด มติที่ประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมดังกล่าวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้อง เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในศาลล่างทั้งสอง จำเลยที่ 2 ก็ยกขึ้นฎีกาได้ จำเลยที่ 2 เป็นผู้แทนของนิติบุคคลอาคารชุด มีอำนาจหน้าที่ปฏิบัติการเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลาง และการกระทำใด ๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ดังกล่าวตามมติของเจ้าของร่วม เมื่อจำเลยที่ 2 จัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญเจ้าของร่วมเกี่ยวกับเรื่องการปรับอัตราค่าใช้จ่ายส่วนกลางในกิจการของจำเลยที่ 1 ภายในขอบอำนาจและวัตถุประสงค์ของจำเลยที่ 1 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวร่วมกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7547/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับคดีจำนอง: อำนาจผู้จัดการกองทุน, สิทธิเจ้าหนี้บุริมสิทธิ, และประเด็นดอกเบี้ยที่ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาปฏิเสธคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองของผู้ร้องว่าเคลือบคลุม แต่โจทก์ก็ไม่ได้อ้างเหตุแห่งการปฏิเสธให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าคำร้องส่วนไหนเคลือบคลุม เคลือบคลุมอย่างไร จึงไม่เป็นประเด็นที่จะวินิจฉัย แม้ศาลล่างจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และถือว่าไม่ใช่ประเด็นที่ว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในศาลล่าง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทกองทุนรวมตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ผู้ร้องจึงต้องมีผู้จัดการกองทุนเพื่อดำเนินการต่างๆ แทน ตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 มาตรา 124 วรรคสอง เมื่อบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม ว. เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินกิจการของผู้ร้องจึงมีอำนาจดำเนินการต่างๆ แทนผู้ร้อง
คำร้องขอรับชำระหนี้จำนองมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยเพียงว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์ที่โจทก์ยึดไว้ในคดีที่มีการบังคับคดีในฐานะเจ้าหนี้บุริมสิทธิหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ในประเด็นเรื่องดอกเบี้ยที่ว่าผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตราเท่าไร จึงไม่เป็นสาระที่ควรได้รับการวินิจฉัยจากศาลฎีกา
of 294