คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 249

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,935 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2494/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบอกเลิกสัญญาเช่าที่ดินเกษตรกรรมและการบอกเลิกสัญญาเนื่องจากผิดสัญญา ข้อตกลงในสัญญาเช่ามีผลผูกพัน
การบอกเลิกการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมซึ่งต้องแจ้งการบอกเลิกต่อประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมมีคำวินิจฉัยก่อน บังคับเฉพาะแต่การเช่านาซึ่งหมายถึงเพาะปลูกข้าวหรือพืชไร่ และพืชไร่หมายความว่าพืชซึ่งต้องการน้ำน้อยและอายุสั้นหรือสามารถเก็บเกี่ยวครั้งแรกได้ภายในสิบสองเดือนตามที่ พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฯ ให้คำนิยามไว้ ดังนี้ ต้นมะพร้าวจึงไม่ใช่พืชไร่แต่เป็นพืชเกษตรกรรมอื่น ไม่อยู่ในบังคับให้ต้องแจ้งการบอกเลิกการเช่าต่อประธานคณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพื่อให้มีคำวินิจฉัย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ข้อตกลงในสัญญาเช่าห้ามผู้เช่าขุดคู บ่อน้ำในที่ดินที่เช่า เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากผู้ให้เช่า เป็นข้อกำหนดลักษณะการใช้ที่ดิน เป็นสาระสำคัญของสัญญาเช่า เมื่อจำเลยที่ 1 รับว่าขุดคูและบ่อน้ำในที่ดินที่เช่าโดยได้รับอนุญาตด้วยวาจา จำเลยที่ 1 จึงผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่า เมื่อจำเลยทั้งสองให้การเพียงว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญาเนื่องจากกระทำไปโดยได้รับอนุญาตจากผู้ให้เช่า ดังนี้ ข้อที่จำเลยที่ 1 ฎีกาจึงเป็นเรื่องนอกคำให้การ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กำหนดข้อตกลงว่า กรณีผู้เช่ากระทำผิดสัญญา ผู้ให้เช่ามีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ทันทีและผู้เช่ายอมให้ผู้ให้เช่าทรงไว้ซึ่งสิทธิจะเข้ายึดถือครอบครองที่เช่าได้โดยพลัน แม้การที่โจทก์เข้ารื้อถอนต้นมะพร้าวออกจากที่ดินที่เช่าจะเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นผลสืบเนื่องจากข้อตกลงในสัญญาเช่าที่ให้สิทธิโจทก์เข้ายึดถือครอบครองที่ดินที่เช่า ถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องเกี่ยวกับคำฟ้องเดิม หลังจากโจทก์ใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า ต่อมาอีกประมาณปีเศษโจทก์จึงเข้าปรับสภาพที่ดินให้เป็นดังเดิม ซึ่งเมื่อขณะจำเลยที่ 1 ขุดคูและบ่อน้ำ จำเลยที่ 1 ยอมรับจะปรับสภาพที่ดินให้เป็นไปดังเดิมภายหลัง ดังนี้ที่โจทก์เข้าปรับสภาพที่ดินรวมถึงรื้อถอนต้นมะพร้าวของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องที่โจทก์กระทำตามข้อตกลงในสัญญาเช่า แม้จำเลยที่ 1 จะได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากโจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2303/2553 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาเช่าที่ดิน - ตัวการไม่เปิดเผยชื่อ - ความรับผิดในค่าเสียหาย - การหักเงินค้ำประกัน
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์แทนจำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ การที่โจทก์ไม่พิจารณาเปลี่ยนชื่อผู้เช่าที่ดินจากจำเลยเป็นจำเลยร่วมตามที่จำเลยร่วมร้องขอ ก็เพราะจำเลยไม่เคยเปิดเผยต่อโจทก์ว่าทำสัญญากับโจทก์ในฐานะตัวแทนของจำเลยร่วม แม้โจทก์จะเพิ่งทราบว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการในการทำสัญญาเช่าที่ดิน ก็เป็นสิทธิของโจทก์จะเลือกฟ้องตัวการหรือตัวแทนให้รับผิดตามสัญญาได้ เพราะถึงอย่างไรจำเลยในฐานะตัวแทนก็ไม่จำต้องรับผิดเป็นส่วนตัวต่อโจทก์อยู่แล้ว จึงมิใช่โจทก์ประสงค์ที่จะผูกพันกับจำเลยโดยตรงเท่านั้น จำเลยร่วมจึงต้องรับผิดตามสัญญาเช่าต่อโจทก์
ปัญหาว่า จำเลยนำสืบแก้ไขเอกสารเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94 หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยร่วมมิได้ยกขึ้นว่ากล่าวในคำฟ้องอุทธรณ์ จำเลยร่วมก็ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับโจทก์ การที่จำเลยนำสืบว่า จำเลยทำสัญญาดังกล่าวในฐานะเป็นตัวแทนของจำเลยร่วมซึ่งเป็นตัวการไม่เปิดเผยชื่อ จึงเป็นเพียงนำสืบความจริงว่าจำเลยร่วมเป็นตัวการเพื่อให้จำเลยร่วมเข้ามารับผิดตามสัญญาแทนจำเลยเท่านั้น มิใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในสัญญาเช่าที่ดินอันต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 94
ปัญหาว่าคำฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมหรือไม่ มิใช่เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่ศาลจะยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง เมื่อจำเลยร่วมมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 จำเลยร่วมจึงไม่อาจยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 591/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินจากการซื้อประมูลทอดตลาด: ผู้ซื้อได้สิทธิแม้ผู้ขายเดิมไม่มีสิทธิสมบูรณ์
แม้จำเลยครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาก่อน ป. ซื้อที่ดินพิพาทและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาว่า จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในคดีที่ ป. เป็นโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทตามคดีแพ่งของศาลชั้นต้นก็ตามแต่เมื่อปรากฏว่าก่อนหน้านั้น ป. นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองแก่ ก. ในปี 2530 และถูก ก. ฟ้องบังคับจำนองที่ดินพิพาทต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2531 แต่ ป. ไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม ก. จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาด และโจทก์เป็นผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ก็ต้องถือว่า ก. ยึดสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทจาก ป. แล้วหากจำเลยเป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จำเลยก็ต้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทในคดีที่ ก. เป็นโจทก์ฟ้องบังคับจำนองแก่ ป. ก่อนเอาที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อจำเลยไม่ได้ยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทและศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ขายแล้ว แม้ ป. ไม่ได้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท เจ้าพนักงานบังคับคดีย่อมมีอำนาจนำที่ดินออกขายทอดตลาดได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 308 เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีนำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดและโจทก์เป็นผู้ซื้อทอดตลาดที่ดินพิพาทได้ โจทก์จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจากการซื้อทอดตลาด สิทธิของโจทก์ผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจึงมิเสียไป ถึงแม้ภายหลังจะพิสูจน์ได้ว่าที่ดินพิพาทนั้นมิใช่ของ ป. ลูกหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 อันเป็นข้อยกเว้นหลักกฎหมายที่ว่า "ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน"
เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของและมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย การที่จำเลยปลูกห้องแถว 5 ห้อง รุกล้ำเข้าไปในที่ดินพิพาทย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์เสียหาย จำเลยจึงต้องใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แต่จำเลยมิได้ยกข้อโต้แย้งเกี่ยวกับจำนวนค่าเสียหายที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดให้จำเลยใช้แก่โจทก์ขึ้นอ้างไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา ฎีกาของจำเลยในส่วนค่าเสียหายจึงไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และเมื่อจำเลยไม่ได้เป็นเจ้าของมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีบังคับคดีรื้อถอนห้องแถว 5 ห้อง ของจำเลยออกจากที่ดินพิพาทตามคำพิพากษา การกระทำของโจทก์จึงไม่เป็นละเมิดต่อจำเลย โจทก์จึงไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตามฟ้องแย้ง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 590/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิพากษาเกินคำฟ้องในเนื้อที่ดินพิพาท ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าไม่เกินคำฟ้องเนื่องจากเป็นประเด็นที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมที่ว่า ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาเกินคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองในเนื้อที่ดินที่ฟ้องหรือไม่ แม้เป็นประเด็นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 แต่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำเลยและจำเลยร่วมจึงยกขึ้นในชั้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าโจทก์ที่ 2 เป็นผู้มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์โดยรับในอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทฟังเป็นยุติว่ามีเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ เมื่อคำฟ้องของโจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ จำเลยร่วมให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทมีเนื้อที่ประมาณ 130 ไร่ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9889/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดหลายกรรมต่างกันในคดียาเสพติด: การจำหน่ายเฮโรอีนหลายครั้งถือเป็นกรรมต่างกัน
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) เมื่อระหว่างวันที่ 30 เมษายน 2547 ถึง 5 พฤษภาคม 2547 จำเลยกับพวกร่วมกันมีเฮโรอีน 30 แท่ง ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย (ข) เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2547 จำเลยกับพวกร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าวในข้อ (ก) 15 แท่ง ให้แก่ อ. และ บ. ในราคา 2,100,000 บาท (ค) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2547 จำเลยกับพวกร่วมกันจำหน่ายเฮโรอีนดังกล่าวในข้อ (ก) 15 แท่ง ให้แก่ อ. และ บ. ในราคา 2,100,000 บาท ดังนี้ฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดสามกรรมต่างวาระกัน ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องเท่ากับจำเลยยอมรับแล้วว่าได้กระทำความผิดสามกรรมต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน หาใช่กรรมเดียวไม่
โจทก์ฟ้องจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยกับพวกร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนสองกรรมตามฟ้อง จำเลยอุทธรณ์ขอให้ลงโทษสถานเบาโดยมิได้อุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบประกอบคำรับสารภาพของจำเลยไม่อาจรับฟังลงโทษจำเลยฐานร่วมกับพวกมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนสองกรรมตามฟ้องได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยกับพวกร่วมกันมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเฮโรอีนสองกรรมตามฟ้อง ทั้งศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายืนในส่วนนี้ การที่จำเลยฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่น จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลล่างทั้งสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9591/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดในฐานะตัวการตัวแทนและขอบเขตการฎีกาในประเด็นที่มิได้ยกขึ้นว่ากันในศาลอุทธรณ์
โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 4 รับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 มิได้บรรยายว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน จำเลยที่ 4 เป็นตัวการ อันเป็นหลักแห่งข้อหาที่จะให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะตัวการตัวแทนตามมาตรา 427 การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 4 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะตัวการตัวแทนจึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างกระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 4 โจทก์ไม่อุทธรณ์ปัญหานี้จึงยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของโจทก์ในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9157/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจศาล: การไม่สอบถามก่อนสั่งไม่รับฟ้องคดีปกครอง และผลกระทบต่อกระบวนการพิจารณา
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์เนื่องจากโจทก์มิได้เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ การที่โจทก์ฎีกาขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมหรือไม่ โดยมิได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ฎีกาของโจทก์จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ในกรณีที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีที่โจทก์ได้ยื่นฟ้องไว้เป็นคดีปกครองไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม ก่อนมีคำสั่งไม่รับฟ้องศาลชั้นต้นจะต้องสอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครองมาก่อนหรือไม่ หากมีกรณีดังกล่าว ศาลชั้นต้นจะต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 12 วรรคสอง กล่าวคือ ศาลชั้นต้นต้องส่งเรื่องไปให้คณะกรรมการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลเพื่อพิจารณาวินิจฉัย หรือหากปรากฏว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเป็นศาลแรก และศาลชั้นต้นเห็นว่าเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นศาลต่างระบบที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องเสียก่อนและศาลชั้นต้นต้องแนะนำโจทก์ให้แจ้งต่อศาลปกครองด้วยว่า เคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง
ในกรณีที่ศาลชั้นต้นไม่รับฟ้องเนื่องจากเห็นว่าคดีอยู่ในอำนาจของศาลปกครอง หากโจทก์อุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นต้องมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์เนื่องจากโจทก์จะต้องฟ้องคดีต่อศาลระบบอื่นที่มีอำนาจ หากศาลในคดีหลังเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจศาลนั้นก็ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 12 วรรคสอง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันทีโดยมิได้สอบถามโจทก์เสียก่อนว่า โจทก์เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองแล้วและศาลปกครองไม่รับฟ้องหรือไม่ หากโจทก์ยังไม่เคยฟ้องคดีต่อศาลปกครองศาลชั้นต้นต้องแจ้งให้โจทก์ไปฟ้องคดีต่อศาลปกครองโดยระบุไว้ในคำสั่งไม่รับฟ้องดังกล่าวด้วยว่า ให้โจทก์แจ้งต่อศาลปกครองว่าเคยยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นแล้วและศาลชั้นต้นไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฟ้องทันที โดยมิได้ดำเนินการดังกล่าว ครั้นเมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์จึงเป็นการไม่ชอบ อันมีผลทำให้กระบวนพิจาณาต่างๆ ที่กระทำภายหลังจากนั้นไม่ชอบไปด้วย ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน เมื่อความปรากฏแก่ศาลฎีกา ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยและเห็นสมควรให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 247

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8414/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดของข้าราชการในการอนุมัติเงินกู้โดยมิชอบ และการสนับสนุนการทำสัญญาปลอมแปลงเอกสารเพื่อเอื้อประโยชน์แก่ผู้อื่น
ในการพิพากษาคดี ศาลชั้นต้นวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 6 และที่ 7 ไม่เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำ และวินิจฉัยประเด็นพิพาทประการต่อไปว่า คดีของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยทั้งเจ็ดขาดอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 448 วรรคหนึ่ง แล้ว จึงพิพากษายกฟ้องโดยมิได้วินิจฉัยประเด็นพิพากษาข้ออื่นๆ อีก โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่า คดีของโจทก์ทั้งสองไม่ขาดอายุความ และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานละเมิดแก่โจทก์ทั้งสองตามฟ้อง ดังนี้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคดีไม่ขาดอายุความ แม้ว่าคำฟ้องอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสองจะมิได้อุทธรณ์คัดค้านประเด็นพิพาทข้ออื่นๆ ไว้ เนื่องจากศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้ แต่เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 4 เห็นว่าโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งเจ็ดได้สืบพยานมาจนเสร็จสิ้นเพียงพอที่จะวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นๆ ที่ยังมิได้วินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปเสียทีเดียวได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทอื่นๆ ที่ศาลชั้นต้นยังมิได้วินิจฉัยให้คดีเสร็จไปเสียทีเดียวโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก็ได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยผู้แทนของกระทรวงมหาดไทยโจทก์ที่ 1 มีคำสั่งลงโทษทางวินัยแก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2533 แต่คำสั่งดังกล่าวสรุปการกระทำของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นการทุจริต หากแต่เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ราชการบกพร่องเท่านั้น โจทก์ที่ 2 จึงได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อพิจารณาหาตัวผู้รับผิดทางแพ่ง แต่ผลการสอบสวนก็ยังไม่ปรากฏชัดแจ้ง ต่อมาวันที่ 12 ตุลาคม 2538 อธิบดีกรมการปกครองมีบันทึกเสนอปลัดกระทรวงมหาดไทยสรุปความได้ว่า กองการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครองมีความเห็นว่า ผลการสอบสวนมีข้อเท็จจริงเพียงพอที่จะดำเนินคดีอาญาและฟ้องคดีแพ่งเรื่องละเมิดแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 และที่ 3 และผู้เกี่ยวข้องได้และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยลงนามรับทราบวันที่ 14 ตุลาคม 2538 ส่วนโจทก์ที่ 2 ได้รับหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวจากปลัดกระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2538 จึงต้องถือว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เพิ่งรู้ตังผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตั้งแต่วันดังกล่าว ซึ่งเมื่อนับถึงวันฟ้องคือวันที่ 11 ตุลาคม 2539 ยังไม่พ้นกำหนด 1 ปี คดีของโจทก์ทั้งสองจึงยังไม่ขาดอายุความตาม ป.พ.พ.มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
การสอบสวนทางวินัยเพราะเหตุบกพร่องต่อหน้าที่ราชการเป็นคนละเรื่องกับการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่ง เพราะหลักเกณฑ์ความรับผิดทางวินัยกับความรับผิดทางแพ่งเป็นคนละกรณีกัน การบกพร่องต่อหน้าที่ราชการซึ่งต้องรับผิดทางวินัยอาจไม่เข้าเกณฑ์ความรับผิดทางแพ่งฐานละเมิดก็ได้ เมื่อผลของคำสั่งลงโทษทางวินัยยังไม่ปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชอบทางแพ่งหรือไม่ โจทก์ที่ 2 ชอบที่จะตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบทางแพ่งอีกได้ มิใช่เป็นการกระทำโดยไม่ชอบหรือมีเจตนากระทำเพื่อขยายอายุความฟ้องคดีละเมิด
บทบัญญัติของกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางอาญาและในทางแพ่ง เป็นคนละส่วนแยกออกต่างหากจากกันดังนั้น แม้พนักงานอัยการจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีอาญาแก่จำเลยที่ 1 แล้วโจทก์ทั้งสองก็ฟ้องคดีเพื่อเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดทางแพ่งต่อโจทก์ทั้งสองได้
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของโจทก์ทั้งสองโดยเห็นว่าคดีของโจทก์ขาดอายุความและได้วินิจฉัยด้วยว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีดังกล่าว จำเลยที่ 1 และที่ 5 ต่างมิได้อุทธรณ์หรือแก้อุทธรณ์ตั้งประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำไว้ การที่จำเลยที่ 1 และที่ 5แพ้คดีในชั้นอุทธรณ์แล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 5 หวนกลับมาหยิบยกประเด็นเรื่องฟ้องซ้ำขึ้นกล่าวอ้างอีก จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเกี่ยวกับจำเลยที่ 1 บรรยายไว้ชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย จำเลยที่ 1 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ซึ่งเป็นข้าราชการด้วยกัน และจำเลยที่ 6 กับที่ 7 ซึ่งเป็นเอกชน จงใจปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต หรือปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย และขอให้บังคับจำเลยทุกคนชำระเงินค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง โดยระบุรายละเอียดด้วยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 แต่ละคนมีตำแหน่งหน้าที่ราชการอะไร และจำเลยแต่ละคนมีส่วนปฏิบัติหน้าที่ในโครงการแทรกแซงตลาดข้าวเปลือกนาปี ในฤดูการผลิตปี 2528/2529 และ 2529/2530 ด้วย ความประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบหลักทรัพย์ที่จำเลยที่ 6 และที่ 7 นำมาเป็นหลักประกันให้ดี ไม่เรียกหลักทรัพย์ประกันเงินกู้ให้เพียงพอและไม่รักษาผลประโยชน์ของทางราชการ เป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองได้รับความเสียหาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นการแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเพียงพอที่จำเลยที่ 1 จะเข้าใจข้อหา และสามารถให้การต่อสู้คดีของโจทก์ทั้งสองได้ จึงเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง
สัญญากู้เป็นเพียงเครื่องมือที่จำเลยทั้งเจ็ดใช้ในการฉ้อฉลกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองก็มิได้ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้เงิน หากแต่เป็นการฟ้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดฐานกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่ชอบที่จะนำข้อตกลงในสัญญากู้มาอ้างว่าโจทก์ทั้งสองอาจจะเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่าร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนท้ายได้ คงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันรับผิดในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามมาตรา 224 วรรคหนึ่งตอนต้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7625/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หนี้จากการซื้อขายสินค้าล่วงหน้า vs. สัญญากู้ยืม: หนี้ไม่มีมูลหากเป็นหนี้บริษัทต่อบริษัท
บริษัท ส. ที่โจทก์เป็นกรรมการได้มอบเงินให้บริษัท ซ. ที่จำเลยเป็นกรรมการเป็นค่าสินค้าที่โจทก์ชำระให้แก่จำเลยล่วงหน้า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ใช่หนี้ตามข้อตกลงในฐานะส่วนตัวของโจทก์กับจำเลย แต่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ส. กับจำเลยในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ซ. ต่อมาบริษัท ซ. จะต้องคืนเงินแก่บริษัท ส. แต่ได้ทำในรูปสัญญากู้ยืมที่จำเลยลงลายมือชื่อรับผิดต่อโจทก์ หนี้ที่จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์จึงเป็นหนี้ที่บริษัท ซ. มีต่อบริษัท ส. ไม่ใช่เป็นหนี้ของจำเลยในฐานะส่วนตัว สัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยไม่ได้นำสืบว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ ทั้งจำเลยให้การว่าจำเลยไม่ได้กู้ยืมเงินโจทก์ จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินกับโจทก์โดยไม่มีเจตนาผูกพันตามสัญญา จึงรับฟังไม่ได้ว่าหนี้กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ตามที่โจทก์อ้าง กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์จำต้องกล่าวในฟ้องถึงการแปลงหนี้ด้วยหรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6613/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้าม: โจทก์ฎีกาประเด็นตัวการร่วมที่ศาลชั้นต้นตัดสินเป็นผู้สนับสนุนแล้ว ถือเป็นการยกประเด็นใหม่
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสามกับ อ. ร่วมกันแผ้วถางป่า ขุดดิน และต้นไม้ ปลูกที่อยู่อาศัย ก่อสร้าง และยึดถือครอบครองป่า ซึ่งเป็นการฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับ อ. เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดเป็นผู้สนับสนุน และโจทก์มิได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานเป็นตัวการร่วม ความผิดฐานเป็นตัวการร่วมจึงยุติไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น การที่โจทก์กลับมาฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามฐานเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับ อ. ตามฟ้อง จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ มาตรา 15
of 294