คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.อ. ม. 220

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 493 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 409/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่อาจทำได้เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องด้วยเหตุต่างจากศาลชั้นต้น โดยอาศัย ป.วิ.อ. มาตรา 220
แม้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโดยอาศัยเหตุคนละเหตุกัน คู่ความก็ต้องห้ามมิให้ฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3327-3328/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การต่อสัญญาจ้างพนักงาน การประเมินผลการปฏิบัติงาน และความผิดฐานปลอมแปลงเอกสาร
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์ที่ 2 ข้อ 4.1 และ 4.2 ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3 และที่ 4 จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 โจทก์ที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ตามฟ้องข้อ 4.1 และ 4.2 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 4 ให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ฎีกาของโจทก์ที่ 2 ในส่วนนี้เป็นฎีกาที่ต้องห้าม ศาลฎีกาไม่รับไว้พิจารณา
การพิจารณาต่อสัญญาจ้างพนักงานตามภารกิจเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกเทศมนตรี โดยจะต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อต่อสัญญาจ้างด้วย โจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2547 สิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2551 การที่ในเดือนกันยายน 2551 ส. ปลัดเทศบาลปฏิบัติหน้าที่แทนนายกเทศมนตรีทำสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจมีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2555 นั้น เป็นกรณีพิจารณาต่อสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจต่อไป จึงต้องมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดหนองบัวลำภู ข้อ 34 และข้อ 44 เมื่อก่อนที่ ส. ต่อสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 ไม่ได้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 และไม่มีผลการปฏิบัติงานเฉลี่ยย้อนหลัง 2 ปี ไม่ต่ำกว่าระดับดี การที่ ส. ต่อสัญญาจ้างโจทก์ที่ 2 มีกำหนด 4 ปี จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีผลผูกพันเทศบาลตำบลสุวรรณคูหา จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกเทศมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับงบประมาณได้ สำหรับสัญญาจ้างพนักงานจ้างไม่ลงวันที่มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 สิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคม 2556 โจทก์ที่ 2 และพนักงานจ้างอีก 14 คน เขียนกรอกข้อความในแบบพิมพ์สัญญาจ้างตามคำบอกของจำเลยที่ 2 เมื่อเดือนกันยายน 2552 โดยไม่ปรากฏว่ามีการประเมินผลการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 และพนักงานจ้างอีก 14 คน เพื่อใช้ประกอบการต่อสัญญาจ้างแล้วหรือไม่ จึงอยู่ในขั้นเตรียมการที่จะเสนอให้จำเลยที่ 1 เพื่อพิจารณาต่อสัญญาจ้างหรือไม่เท่านั้น ยังไม่มีผลผูกพันเทศบาลตำบลสุวรรณคูหา เพราะจะต้องเสนอให้จำเลยที่ 1 พิจารณาเสียก่อนว่าเห็นชอบและอนุมัติตามระยะเวลาการจ้างดังกล่าวหรือไม่ การที่ ย. แก้ไขกำหนดระยะเวลาการจ้างและปีสิ้นสุดสัญญาและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อกำกับการแก้ไขนั้น เป็นอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดหนองบัวลำภู การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นการปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการ และการที่จำเลยที่ 1 ใช้สัญญาจ้างพนักงานแสดงต่อคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดหนองบัวลำภูก็ไม่เป็นความผิดฐานใช้เอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการปลอม และไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด
จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาและผู้ประเมินชั้นต้น ประเมินการปฏิบัติงานของโจทก์ที่ 2 ว่าควรปรับปรุง คณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานจ้าง ประกอบด้วยจำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 และ ส. เห็นด้วยกับการประเมินข้างต้นว่าไม่ผ่านการประเมิน อันเป็นดุลพินิจของผู้ประเมินและคณะกรรมการกลั่นกรองการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานจ้าง แบบประเมินผลการปฏิบัติงานพนักงานจ้างจึงมิใช่เอกสารปลอมหรือเอกสารเท็จ และฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8488/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยข้อฎีกาเรื่องนอกฟ้อง/นอกสำนวน เนื่องจากศาลชั้นต้น/อุทธรณ์ยกฟ้องตามมาตรา 220 ป.วิ.อ.
คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ข้อห้ามมิให้ฎีกาเช่นว่านี้ ย่อมห้ามมิให้ฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมาย เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา เมื่อปรากฏตามคำร้องของโจทก์ที่ร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีการะบุชัดเจนเจาะจงว่า โจทก์ประสงค์ขอให้ผู้พิพากษาดังกล่าวพิจารณาอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาหรือลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นพิเคราะห์คำร้องของโจทก์แล้วมีคำสั่งว่า ข้อความที่ตัดสินเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดจึงอนุญาตให้ฎีกา ย่อมมีผลเท่ากับเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาเฉพาะในปัญหาข้อเท็จจริงตามความประสงค์ของโจทก์หาได้มีผลเป็นการอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายแต่อย่างใดไม่ เมื่อโจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยนอกคำฟ้องและนอกสำนวนหรือไม่นั้น อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8261/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามเมื่อศาลอุทธรณ์ยกฟ้องในความผิดตามฟ้อง ทั้งหมด
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 กับร่วมกันมีอาวุธปืนไม่ทราบชนิดและขนาด โดยไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนฐานพยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 80, 86 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 288, 80, 83 และข้อหาร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีหมายเลขทะเบียนและมีกระสุนปืนไม่ทราบชนิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คดีจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1939/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยคดีอาญาฐานฆ่าผู้อื่น เนื่องจากฎีกาขอลงโทษในความผิดที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง
คดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ตาย อันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ผู้ตายไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) จึงยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของโจทก์ร่วมทั้งสอง ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 ซึ่งเท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ดังนั้น ที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ตามฟ้อง โดยกล่าวอ้างว่าการกระทำของจำเลยมิใช่การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ จึงเป็นการฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายกฟ้อง ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองมาจึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2909/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสั่งริบของกลาง: ศาลอุทธรณ์แก้คำพิพากษาคืนของกลาง โจทก์ฎีกาไม่ได้ เพราะศาลอุทธรณ์ไม่เปลี่ยนแปลงคำพิพากษายกฟ้อง
คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ให้ริบรถยนต์ของกลาง ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ ส่วนการยกฟ้องยังคงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่ารถยนต์ของกลางเป็นทรัพย์สินซึ่งคนร้ายได้ใช้ในการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์โดยตรง ศาลจึงมีอำนาจสั่งริบได้ตาม ป.อ. มาตรา 33 (1) นั้น ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12148/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาไม่รับวินิจฉัยประเด็นความผิดตาม ม.336 ทวิ เนื่องจากศาลชั้นต้นและอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องแล้ว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 335, 336 ทวิ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยไม่เข้าองค์ประกอบของความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 (7) (12) วรรคแรก และวรรคสอง ประกอบมาตรา 83 เท่ากับว่าศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ และศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 ที่ศาลชั้นต้นรับฎีกาของโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมายที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 336 ทวิ จึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9060/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 กรณีโจทก์ร่วมฎีกาโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลยที่ 2 เฉพาะในความผิดตาม ป.อ. มาตรา 199 ประกอบมาตรา 83 เพียงข้อเดียว ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จึงมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต่างพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 ดังกล่าว โดยอาศัยข้อเท็จจริง โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 อีกไม่ได้ เพราะต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220 เว้นแต่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 แต่โจทก์ร่วมฎีกาโดยไม่ปรากฏว่ามีผู้อนุญาตหรือรับรองให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221 ฎีกาของโจทก์ร่วมจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3309/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคำนวณโทษจำคุกเพื่อรับพระราชทานอภัยโทษ - ต้องพิจารณาทุกกระทงความผิด
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้คัดค้านทั้งสี่คำนวณวันต้องโทษจำเลยที่ 2 ตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 ผิดพลาด กรณีเป็นเรื่องชั้นบังคับคดี จึงไม่ต้องห้ามมิให้จำเลยที่ 2 ฎีกาตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2553 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2554 นั้น จำเลยที่ 2 เพิ่งยกขึ้นในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ป.อ. มาตรา 91 บัญญัติว่า "เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่ไม่ว่าจะมีการเพิ่มโทษ ลดโทษหรือลดมาตราส่วนโทษด้วยหรือไม่ก็ตาม เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกินกำหนดดังต่อไปนี้ (3) ห้าสิบปี สำหรับกรณีความผิดกระทงที่หนักที่สุดมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป เว้นแต่กรณีที่ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต" ตามบทบัญญัติดังกล่าว หมายความว่า กรณีที่จำเลยกระทำผิดหลายกรรมต่างกัน ศาลต้องลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป แต่เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และคำว่า "เว้นแต่กรณีศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิต" นั้น หมายความว่า หากความผิดกระทงใดกระทงหนึ่งมีโทษที่จะลงแก่จำเลยจริง ๆ เป็นโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้ว เมื่อนำเอาโทษจำคุกที่มีกำหนดเวลาในกระทงอื่นมารวม ศาลคงลงโทษจำเลยได้เพียงจำคุกตลอดชีวิตอย่างเดียวเท่านั้น คดีนี้ความผิดฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ ศาลวางโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ตลอดชีวิต จึงไม่อยู่ในเกณฑ์ที่จะนำเอาโทษจำคุกในความผิดฐานร่วมกันขายเมทแอมเฟตามีน 50 ปี ฐานมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต 3 ปี ฐานมีอาวุธปืนที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ 2 ปี และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตมารวมลงโทษแก่จำเลยที่ 2 ได้ แต่จำเลยที่ 2 ยังคงมีความผิดและต้องโทษจำคุกในความผิดทั้งสี่ฐานดังกล่าว มิใช่ว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกตลอดชีวิตเพียงอย่างเดียว
พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 มาตรา 3 บัญญัติให้ความหมายคำว่า กำหนดโทษ ทำนองเดียวกันว่า "กำหนดโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด หรือ กำหนดโทษตามคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายให้ลงโทษ หรือกำหนดโทษดังกล่าวที่ได้ลดโทษลงแล้วโดยการได้รับพระราชทานอภัยโทษหรือโดยเหตุอื่น" โทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุด ดังนี้ ในการพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 จะได้รับพระราชทานอภัยโทษตาม พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2547 พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2549 และ พ.ร.ฎ.พระราชทานอภัยโทษ พ.ศ.2550 เพียงใดจึงต้องพิจารณาตามกำหนดโทษจำคุกที่จำเลยที่ 2 ได้รับเป็นโทษซึ่งศาลได้กำหนดไว้ในคำพิพากษาและระบุไว้ในหมายแจ้งโทษเมื่อคดีถึงที่สุดแต่ละกระทง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5208/2557

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข่มขืนกระทำชำเราเด็กและผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว: โจทก์ฎีกาข้อหาเดิมไม่ได้ แต่ศาลแก้ให้จำคุก
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำชำเราผู้เสียหายหลายกรรมต่างกัน โดยเฉพาะความผิดที่ได้กระทำในวันที่ 13 สิงหาคม 2551 และวันที่ 12 กันยายน 2551 จำเลยได้กระทำโดยมีอาวุธปืน อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ แต่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 มาตรา 3, 4 รวม 4 กระทง และศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง เป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสี่ โจทก์จะฎีกาในข้อหาความผิดนี้หาได้ไม่ เพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
of 50