คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับผู้พิพากษา
บุณยเกียรติ์ อรชุนะกะ

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 320/2518

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: สิทธิของเจ้าของเครื่องหมายเดิม vs. ผู้จดทะเบียนภายหลัง, อายุความฟ้องเพิกถอน
โจทก์เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเช็คโกสโลวาเกียมี ฟ. เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจลงนามแทนโจทก์ ฟ. ได้มอบอำนาจให้อ. ฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ ซึ่งหนังสือมอบอำนาจได้มีการรับรองความถูกต้องและแท้จริงกันมาเป็นทอดๆ โดยมีโนตารีแห่งรัฐรับรองการมอบอำนาจของ ฟ. และกระทรวงยุติธรรมแห่งกรุงปร้ากรับรองลายมือชื่อและตราราชการของโนตารีแห่งรัฐกระทรวงการต่างประเทศของเช็คโกสโลวาเกียรับรองลายมือชื่อและตราราชการของกระทรวงยุติธรรมและสถานเอกอัครราชทูตแห่งสหรัฐอเมริกาประจำกรุงปร้ากรับรองลายมือชื่อและตราราชการของกระทรวงการต่างประเทศของเช็คโกสโลวาเกีย ดังนี้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงมีผลใช้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ไม่มีเหตุที่ศาลควรสงสัยว่าจะไม่ใช่ใบมอบอำนาจอันแท้จริง อ. ผู้รับมอบอำนาจจึงฟ้องคดีแทนโจทก์ได้
เครื่องยนต์ยี่ห้อ SLAVIA(สะลาเวีย) ซึ่งเป็นสินค้าที่ต้องจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 ในรายการสินค้าจำพวก 6 และจำพวก 7 นั้นเดิมผู้ผลิตในประเทศเช็คโกสโลวาเกียได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ในประเทศเช็คโกสโลวาเกียตั้งแต่พ.ศ.2465 ใน พ.ศ.2491 ผู้ผลิตได้โอนเครื่องหมายการค้านี้ให้แก่บริษัทสะลาเวีย มอเตอร์เวอร์คต่อมาพ.ศ.2501บริษัทสะลาเวียฯ ได้โอนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวให้แก่โจทก์อีกทอดหนึ่ง เครื่องหมายการค้านี้ได้มีการต่ออายุมาทุกสิบปี ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศเช็คโกสโลวาเกียและในประเทศต่างๆ อีกหลายประเทศ และได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสากลด้วย เครื่องยนต์ยี่ห้อ SLAVIA(สะลาเวีย) ได้มีจำหน่ายอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2478 และโจทก์ได้ตั้งให้จำเลยเป็นผู้แทนจำหน่ายเครื่องยนต์สะลาเวียของโจทก์ ต่อมาจำเลยเอาเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีอยู่ก่อนนานแล้วไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเป็นของตนเองดังนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่พิพาทดีกว่าจำเลย
โจทก์ยังมิได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้ารายพิพาทไว้ในประเทศไทย จึงยังไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแม้จำเลยนำเอาเครื่องหมายการค้ารายพิพาทมาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าของตนอันเป็นการขัดต่อประโยชน์ในทางการค้าของโจทก์ ก็ยังไม่ถึงกับเป็นเรื่องละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่โจทก์ก็อาจใช้สิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2474 มาตรา 41พระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติเรื่องอายุความเพื่อการนี้ไว้ จึงต้องนำบทบัญญัติทั่วไปอันว่าด้วยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 มาใช้บังคับโดยอนุโลมซึ่งให้เริ่มนับตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เมื่อสิทธิของโจทก์เป็นสิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนทะเบียนตราบใดที่ยังไม่มีทะเบียน โจทก์ก็ไม่อาจจะใช้สิทธิเรียกร้องให้เพิกถอนได้ อายุความในกรณีนี้จึงต้องเริ่มนับแต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีผลสมบูรณ์เป็นทะเบียน คือนับแต่วันจดทะเบียนเป็นต้นไป ดังนั้นเมื่อโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน 10 ปีนับแต่วันจดทะเบียน คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ