คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ม. 20

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4111/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลา และสิทธิการรับเงินโบนัสขึ้นอยู่กับดุลพินิจนายจ้าง
เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2555 จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและออกแบบการบริการ เป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาทำงาน 2 ปี และมีการต่อสัญญาทุก 2 ปี ฉบับสุดท้ายมีกำหนดระยะเวลาทำงานตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2559 จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2561 เห็นได้ว่า โจทก์กับจำเลยทำสัญญาจ้างกันไว้ 3 ฉบับติดต่อกัน สัญญาแต่ละฉบับกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้มีวันเริ่มต้นและสิ้นสุดเป็นการแน่นอน แม้จะมีข้อความในสัญญาจ้าง ฉบับที่ 2 และฉบับที่ 3 ข้อ 6 ข้อกำหนดอื่น ๆ (ง) การบอกเลิกสัญญา วรรคหนึ่ง ว่า "ตลอดระยะเวลาของการทดลองงานนานสี่ (4) เดือน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาฉบับนี้โดยแจ้งล่วงหน้าสอง (2) สัปดาห์ และไม่ต้องอ้างเหตุผล" แต่ก็ไม่มีผลบังคับเพราะโจทก์ทำงานและทำสัญญาจ้างกับจำเลยมาเป็นเวลาคราวละ 2 ปี รวม 3 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์และจำเลยประสงค์ให้มีระยะเวลาการทดลองงานมาใช้บังคับแก่กันเมื่อมีการต่อสัญญาจ้างใหม่ และการเลิกจ้างคดีนี้ก็เป็นกรณีเลิกจ้างเมื่อสิ้นสุดกำหนดระยะเวลาตามสัญญาจ้างฉบับที่ 3 อีกด้วย ส่วนที่มีการกำหนดเงื่อนไขไว้อีกว่า ตลอดระยะเวลาทดลองงานนายจ้างมีสิทธิบอกเลิกการจ้างลูกจ้างหากลูกจ้างฝ่าฝืนข้อตกลงในสัญญาฉบับนี้หรือลูกจ้างกระทำความผิดกฎหมายแห่งประเทศไทย ก็มีความหมายเพียงว่า ถ้าโจทก์ทำผิดสัญญาไม่ว่าข้อหนึ่งข้อใดโจทก์ยอมให้จำเลยเลิกจ้างหรือไล่โจทก์ออกจากงานได้ทันทีก่อนที่จะครบกำหนดเลิกจ้างตามสัญญาได้เท่านั้น มิใช่ข้อกำหนดหรือเงื่อนไขที่ทำให้ระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยประกอบธุรกิจโรงแรม โจทก์ทำงานในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายโฆษณาและออกแบบการบริการ มีหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก ได้แก่ ดูแลเกี่ยวกับการจัดการออกแบบเชิงสร้างสรรค์จากแนวความคิดไปสู่กระบวนการผลิต บริหารจัดการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างสรรค์ออกแบบปฏิบัติงานกับผู้แทนกลุ่มตลาดรวมทั้งเจ้าหน้าที่จัดลำดับชิ้นงาน เพื่อให้มีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์และบริการ โดยต้องรายงานผลไปยังรองประธานฝ่ายการตลาดของจำเลย อันไม่ใช่การจ้างงานในโครงการเฉพาะที่มิใช่งานปกติของธุรกิจหรือการค้าของจำเลยผู้เป็นนายจ้างซึ่งต้องมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของงานที่แน่นอน หรือในงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวที่มีกำหนดการสิ้นสุดหรือความสำเร็จของงาน หรือในงานที่เป็นไปตามฤดูกาลและได้จ้างในช่วงเวลาของฤดูกาลนั้น ซึ่งงานนั้นจะต้องแล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกินสองปี โดยนายจ้างและลูกจ้างได้ทำสัญญาเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ และเมื่อได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่มีความผิด จึงไม่เข้าข้อยกเว้นที่จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 และถือได้ว่าโจทก์ทำงานกับจำเลยติดต่อกันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 และครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จะได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 240 วัน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคหนึ่ง (4)
การเลิกจ้างที่จะถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมนั้นต้องพิเคราะห์ถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างมีเหตุอันสมควรหรือเพียงพอที่จะเลิกจ้างลูกจ้างหรือไม่ สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน และได้ความว่าจำเลยเลิกจ้างเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดสัญญาจ้างดังกล่าว จำเลยย่อมทำได้ตามที่ตกลงกันไว้ การเลิกจ้างไม่ได้กระทำโดยมีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์ ถือว่ามีเหตุสมควรที่จำเลยจะเลิกจ้างโจทก์ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
เงินโบนัสไม่มีกฎหมายบังคับว่านายจ้างต้องจ่ายเสมอไป หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจ่ายเงินโบนัสหรือสิทธิที่ลูกจ้างจะได้รับเงินโบนัส จึงต้องเป็นไปตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง คดีนี้มีข้อตกลงระหว่างจำเลยซึ่งเป็นนายจ้างกับโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างตามสัญญาจ้าง ข้อ 4 (ค) ว่า "การพิจารณาผลงานและการให้โบนัส-นายจ้างจะพิจารณาทบทวนผลงานของลูกจ้างเป็นระยะ ๆ เพื่อพิจารณาการปรับเงินเดือนรวมทั้งโบนัส ถ้ามี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของนายจ้างแต่เพียงฝ่ายเดียว" เมื่อจำเลยใช้ดุลพินิจพิจารณาไม่จ่ายโบนัสตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับโบนัสตามฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11912/2553

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงาน: เบี้ยเลี้ยงเป็นค่าจ้าง, การนับระยะเวลาทำงานต่อเนื่อง, การเลิกจ้างตามกำหนดสัญญา
พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 นิยาม "ค่าจ้าง" หมายความว่า "เงินที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกันจ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติเป็นรายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน หรือระยะเวลาอื่น..." ซึ่งตามสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือระบุเรื่องค่าจ้างและการจ่ายค่าจ้างไว้ในข้อ 3 และระบุค่าเบี้ยเลี้ยงไว้ในข้อ 3.2 เพียงว่า ค่าเบี้ยเลี้ยงวันละ 140 บาท ซึ่งศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยจ่ายค่าเบี้ยเลี้ยงให้โจทก์ที่ปฏิบัติงานบนเรือเป็นอัตราแน่นอนทุกเดือนระหว่างออกไปปฏิบัติงาน โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ซึ่งเป็นนายเรือทำงานประจำบนเรือจะต้องปฏิบัติงานที่อื่นใดนอกจากบนเรือดังกล่าว เบี้ยเลี้ยงที่จำเลยจ่ายโจทก์จึงเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างสำหรับระยะเวลาการทำงานปกติอันเป็นส่วนหนึ่งของค่าจ้างที่จำเลยจ่ายแก่โจทก์เป็นรายเดือน การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าเบี้ยเลี้ยงเป็นค่าจ้างเมื่อรวมกับเงินเดือนแล้วโจทก์จึงได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 84,200 บาท จึงชอบแล้ว
เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและเมื่อโจทก์และจำเลยมีเจตนาทำสัญญาจ้างคราวละ 6 เดือน การนับระยะเวลาทุกช่วงเข้าด้วยกันจึงมิชอบด้วยกฎหมายนั้นตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 บัญญัติว่า "การที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยนายจ้างมีเจตนาที่จะไม่ให้ลูกจ้างนั้นมีสิทธิใดตามพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่านายจ้างจะให้ลูกจ้างทำงานในหน้าที่ใด และการจ้างแต่ละช่วงมีระยะเวลาห่างกันเท่าใดก็ตามให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น" ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยจ้างโจทก์ทำงานตำแหน่งนายเรือตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2543 ถึงวันที่ 15 เมษายน 2547 โดยทำสัญญาจ้างแรงงานช่วงเวลาละ 6 เดือนต่อเนื่องกันอีก 6 ช่วง ซึ่งการทำสัญญาจ้างแรงงานในลักษณะดังกล่าวทำให้โจทก์มีระยะเวลาการทำงานไม่ติดต่อกัน สิทธิที่จะได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้างก็จะได้ไม่เท่าสิทธิตามที่บัญญัติในมาตรา 118 จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกัน เพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิในค่าชดเชยของโจทก์ตามมาตรา 20 การที่ศาลแรงงานกลางนับระยะเวลาการทำงานของโจทก์ทุกช่วงเข้าด้วยกัน เห็นว่า โจทก์ทำงานกับจำเลยครบสามปีแต่ไม่ครบหกปี จึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 (3) จึงชอบแล้ว แต่ในส่วนของการจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้านั้น เมื่อโจทก์นำเรือกลับถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครแล้วจำเลยบอกเลิกจ้างโจทก์ จึงเป็นการเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาการจ้างในสัญญาว่าจ้างคนประจำเรือข้อ 2 เช่นนี้ สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง จำเลยจึงมิต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
จำเลยจ้างโจทก์ให้เป็นคนประจำเรือตำแหน่งนายเรือ ซึ่งในวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างอาจเป็นวันที่โจทก์ยังนำเรือกลับมาไม่ถึงกรุงเทพมหานคร เพราะเรือยังอยู่ในความควบคุมของโจทก์ การที่โจทก์และจำเลยตกลงว่าการเดินทางกลับมาไม่ถึงมิให้เป็นการต่ออายุสัญญาจ้าง ซึ่งมีผลทำให้สัญญาจ้างครบกำหนดเมื่อเรือเดินทางกลับถึงกรุงเทพมหานครแล้ว ย่อมเป็นข้อตกลงที่ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ตกเป็นโมฆะแต่ประการใด ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับได้ จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทันทีที่โจทก์นำเรือกลับมาถึงท่าเรือกรุงเทพมหานครเป็นการเลิกจ้างเมื่อครบกำหนดเวลาตามสัญญาจ้าง ไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6237/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเลิกจ้างลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ: เหตุผลเพียงพอ, การพักงาน, ค่าชดเชย, และสิทธิลูกจ้าง
จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ โจทก์เป็นลูกจ้างของจำเลย โจทก์และจำเลยจึงอยู่ภายใต้บังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ฯ และระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ อันเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดเหตุ
โจทก์ทำสัญญาจ้างกับจำเลยหลายฉบับ และโจทก์ลาออกเพื่อรับบรรจุเป็นพนักงาน แต่โจทก์ก็ทำงานกับจำเลยต่อเนื่องมาตลอดโดยมิได้เว้นช่วงระยะเวลาใดตั้งแต่วันที่จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างในวันแรกของสัญญาจ้างฉบับแรก จนถึงวันที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ โจทก์จึงเป็นพนักงานซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีขึ้นไป จำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจฯ
การพิจารณาว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ มาตรา 49 หรือไม่นั้นโดยทั่วไปต้องพิจารณาถึงเหตุแห่งการเลิกจ้างว่านายจ้างเลิกจ้างลูกจ้างนั้นมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่เป็นสำคัญ แม้จำเลยระบุในหนังสือเลิกจ้างว่าเลิกจ้างโจทก์ระหว่างทดลองงาน แต่ก็ระบุถึงเหตุผลในการเลิกจ้างไว้ด้วยว่า โจทก์บกพร่องต่อหน้าที่และฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฯ ซึ่งจำเลยได้ยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างในคำให้การด้วย การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยข้อเท็จจริงตามที่ระบุไว้ในหนังสือเลิกจ้างและตามคำให้การจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
โจทก์ทราบเหตุการณ์ที่ ธ. ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานร่วมกันรื้อค้นกระเป๋าของผู้โดยสารแล้วกลับนิ่งเสียไม่รายงานผู้บังคับบัญชา นับว่าเป็นการบกพร่องต่อหน้าที่และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย การที่จำเลยเลิกจ้างมีเหตุผลเพียงพอ ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และพฤติกรรมของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริตตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 จำเลยเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1821/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาจ้างแรงงานสิ้นสุดตามกำหนด สิทธิค่าชดเชยพิจารณาจากระยะเวลาทำงานรวม
เมื่อลูกจ้างทำงานให้นายจ้างถึงวันที่ครบกำหนดระยะเวลาในสัญญาจ้างแรงงาน สัญญาจ้างย่อมสิ้นสุดลงโดยมิต้องบอกกล่าวล่วงหน้าตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 17 วรรคหนึ่ง นายจ้างจึงไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่ลูกจ้าง
สัญญาจ้างแรงงานที่มีการแบ่งทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้น ๆ หลายช่วงโดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกัน เพื่อแสดงว่าลูกจ้างไม่ได้ทำงานติดต่อกัน ถือว่านายจ้างมีเจตนาไม่ให้ลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องนับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้นตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมายแรงงาน: การรวมสัญญาจ้างช่วงเพื่อคำนวณค่าชดเชย
ตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์จำเลยมีเจตนาที่จะจ้างโจทก์ทำงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ติดต่อกันไป แต่มีการแบ่งเป็นสัญญาช่วงสั้น ๆ หลายช่วงโดยมีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกันไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานติดต่อกันโดยจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงต้องด้วยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20ที่ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3116/2544 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนับระยะเวลาทำงานต่อเนื่องเพื่อคำนวณค่าชดเชย แม้มีการทำสัญญาจ้างเป็นช่วงสั้นๆ หากมีเจตนาหลีกเลี่ยงกฎหมาย
การที่ศาลแรงงานกลางอาศัยบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 20 นำระยะเวลาตามสัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์แต่ละฉบับมานับรวมกันเพื่อเป็นฐานในการคำนวณค่าชดเชยนั้น เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า สัญญาจ้างระหว่างจำเลยและโจทก์ จำเลยมีเจตนาที่จะจ้างโจทก์ทำงานให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2538 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2542 ติดต่อกันไปแต่มีการแบ่งเป็นสัญญาช่วงสั้น ๆ หลายช่วง มีการกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาเป็นช่วง ๆ ต่อเนื่องกันไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ทำงานติดต่อกัน โดยจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ให้โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมาย จึงเข้ากรณีตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 20 ให้นับระยะเวลาการทำงานทุกช่วงเข้าด้วยกันเพื่อประโยชน์ในการได้สิทธิของลูกจ้างนั้น คำวินิจฉัยของศาลแรงงานกลางชอบด้วยกฎหมายแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1473/2538 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความผิดฐานใช้แรงงานเด็ก: นายจ้างต้องรู้ว่าลูกจ้างอายุต่ำกว่า 13 ปี
การที่นายจ้างจะมีความผิดฐานรับเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 13 ปีบริบูรณ์เข้าทำงานอันเป็นการใช้แรงงานเด็ก ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 10) ข้อ 20 ซึ่งออกตามความในข้อ 2 (3) แห่งประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16 มีนาคม 2515 ต้องได้ความว่านายจ้างรู้ว่าเด็กที่ตนรับเป็นลูกจ้างอายุต่ำกว่า 13 ปีบริบูรณ์ ซึ่งโจทก์จะต้องพิสูจน์ให้เห็นว่านายจ้างผู้รับเด็กเข้าทำงานรู้เช่นนั้น เมื่อโจทก์นำสืบไม่ได้ นายจ้างก็ไม่มีความผิด