คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.รัษฎากร ม. 65 ทวิ (1)

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ รายจ่ายค่าเช่ารถต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (18) หากผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าผู้รับเป็นผู้ให้เช่าที่แท้จริง
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) และมาตรา 65 ตรี (18) มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายรายจ่าย ต้องพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับก็ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งทางนำสืบของโจทก์มีรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวกับ ก. เพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของ ก. และบิลเงินสดที่ ก. ทำเรื่องเบิกเงินจากโจทก์ที่ปรากฏแต่ชื่อของ ก. เท่านั้น อ.ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ในชั้นที่เจ้าหน้าที่สรรพากรให้นำตัว ก. มาชี้แจง โจทก์ไม่สามารถติดต่อ ก. มาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงได้ ซึ่งก็ได้ความจาก ว. เจ้าพนักงานตรวจสอบเช่นกันว่า โจทก์ไม่สามารถนำตัว ก. มาให้ถ้อยคำได้และยังไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อด้วย ซึ่งมีข้อพิรุธที่โจทก์และ ก. ติดต่อทำธุรกิจกันมาเป็นระยะเวลานานมีมูลค่าหลายล้านบาท เฉพาะที่ปรากฏในชุดใบสำคัญจ่ายสำหรับการเช่ารถระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2551 มีการเช่ารถยนต์พร้อมคนขับจำนวนมาก โดยคนขับรถต้องไปรับพนักงานของโจทก์ในสถานที่แตกต่างกันเพื่อสำรวจข้อมูลทำแผนที่ เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งในการเช่ารถดังกล่าวตามปกติแล้วย่อมจะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของ ก. เพื่อติดต่อใช้รถในแต่ละครั้ง แต่โจทก์กลับไม่สามารถให้ข้อมูลติดต่อ ก. ได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์กับ ก. มีการทำหลักฐานเอกสารการเช่ากันเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการระบุตัวทรัพย์สินที่ให้เช่า คงมีเพียงตารางค่าเช่ารถเท่านั้น ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจให้เช่ารถจำนวนมาก นอกจากนี้ ฐ. กรรมการบริหารบริษัทโจทก์ยังเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัท อ. ซึ่งบริษัท อ. มี ณ.เป็นผู้ถือหุ้น และ ณ. ยังเป็นกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นบริษัท ม. ทำให้เห็นได้ว่าโจทก์กับบริษัท ม. มีความเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท ม. จ่ายค่าเช่ารถให้แก่ ก. สูงกว่าปกติ และบริษัท ม. ไม่สามารถนำตัว ก. มายืนยันว่ามีการรับเงินตามบิลเงินสดที่บริษัท ม. นำมาแสดงเป็นรายจ่ายต่อเจ้าพนักงานของจำเลยได้เช่นกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปฏิบัติการสอบยัน ณ ภูมิลำเนาของ ก. ก็ไม่สามารถเข้าตรวจได้เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและไม่พบตัว ก. เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงทำหนังสือเชิญ ก. ให้มาพบแล้วถึง 2 ครั้ง แต่ ก. ก็ไม่มาพบ แม้โจทก์จะประกอบการจริงและรายจ่ายที่เป็นค่าเช่ายานพาหนะสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 ตามกระดาษทำการวิเคราะห์แบบ ภ.ง.ด.50 จำนวน 10,621,603.57 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.71 ของรายได้ เป็นค่าเช่าที่จ่ายให้แก่ ก. 10,533,342 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าผู้ให้เช่ารายอื่น และโจทก์ชำระเงินค่าเช่ารถยนต์ให้แก่ ก. โดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อ ก. และขีดคร่อมประทับตราว่า A/C PAYEE ONLY ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็ตาม แต่โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถและผู้รับเงินค่าเช่ารถที่แท้จริง ทางนำสืบของโจทก์จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่า ก. เป็นผู้ให้เช่ารถที่แท้จริง เพราะหาก ก. เป็นผู้ให้เช่ารถยนต์แล้วน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับ ก. มากกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2550 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนบริษัทและการหักค่าเสียหายทางภาษี การลดทุนโดยลดจำนวนหุ้นไม่ถือเป็นรายจ่ายทางภาษีจนกว่าจะมีการขายหุ้นที่เหลือ
กรณีที่ ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า "รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ...(17) ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง ทั้งนี้ ภายใต้บังคับมาตรา 65 ทวิ..." นั้น มีเจตนารมณ์ห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงนั้นยังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น ในกรณีนี้รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา เมื่อคดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ซื้อหุ้นโดยถือไว้ในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผลจำนวน 16,119,840 หุ้น ในราคาตามมูลค่าหุ้น หุ้นละ 10 บาท โจทก์จึงมีมูลค่าทรัพย์สินในกรณีนี้คิดเป็นเงินจำนวน 161,199,400 บาท การลดทุนของบริษัท ล. ไม่ว่าจะเป็นการลดมูลค่าหุ้นแต่ละหุ้นให้ต่ำลงหรือลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่ให้น้อยลง เพื่อนำไปลดผลขาดทุนสะสมของบริษัท ล. มีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมของโจทก์ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดมูลค่าหุ้นหรือลดจำนวนหุ้น ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์มีมูลค่าลดลง ดังนั้น การลดจำนวนหุ้นของบริษัท ล. ซึ่งทำให้จำนวนหุ้นที่โจทก์ถืออยู่ลดลงนี้จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นดังกล่าวไปทั้งหมดผลขาดทุนจากการขายหุ้นดังกล่าวจึงจะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ เมื่อโจทก์ยังมิได้ขายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นไปทั้งหมด จึงถือว่ายังไม่มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของทรัพย์สินดังกล่าวที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ การลดจำนวนหุ้นของบริษัท ล. ตามกรณีพิพาทจึงเข้าลักษณะเป็น "ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่ตีราคาต่ำลง" ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ซึ่งต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตาม ป.รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5897/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลดทุนบริษัทส่งผลต่อมูลค่าหุ้น โจทก์นำส่วนลดมาหักเป็นรายจ่ายภาษีไม่ได้จนกว่าจะขายหุ้นออกไป
ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ที่บัญญัติมิให้นำค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธินั้น มีเจตนารมณ์ที่จะห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงนั้น ยังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา
โจทก์ซื้อหุ้นของบริษัท ล. โดยถือไว้ในลักษณะทรัพย์สินเพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผล การที่ต่อมาบริษัท ล. ลดทุนลงโดยลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่เพื่อลดผลขาดทุนสุทธิมีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมของโจทก์ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดจำนวนหุ้น ซึ่งเป็นผลให้มูลค่าทั้งสิ้นของเงินลงทุนในหุ้นอันเป็นทรัพย์สินของโจทก์มีมูลค่าลดลง แต่กรณีนี้จะถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ต่อเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นดังกล่าวไปทั้งหมดแล้วและมีผลขาดทุน เมื่อโจทก์ยังมิได้ขายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นไป จึงถือว่ายังไม่มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของทรัพย์สินดังกล่าวที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ กรณีเข้าลักษณะเป็น "ค่าของทรัพย์สินนอกจากสินค้าที่มีราคาต่ำลง" ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ซึ่งต้องห้ามมิให้นำไปคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ทวิ (1)
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 1/50)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2278/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีธุรกิจเฉพาะ และการหักรายจ่าย กรณีการตรวจสอบภาษีและการแก้ไขการประเมิน
ขณะที่เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกโจทก์ โจทก์ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 แต่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ถือว่าเจ้าพนักงานประเมินได้มีหมายเรียกโจทก์ในขณะที่โจทก์ยังไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 แม้โจทก์จะยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวภายหลัง เจ้าพนักงานประเมินก็มีอำนาจประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่โจทก์ สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 ได้ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 24
บริษัท ส. จำกัด เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุด ส่วนโจทก์เป็นบริษัทรับจ้างตกแต่งภายในห้องชุดโครงการอาคารชุดของบริษัท ส. จำกัด ดังกล่าว และจะเริ่มดำเนินการต่อเมื่อบริษัท ส. จำกัด ก่อสร้างอาคารชุดแล้ว โดยบริษัททั้งสองไม่มีการถือหุ้นระหว่างกัน โจทก์รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าในวันทำสัญญา ส่วนที่เหลือลูกค้าจะชำระเป็นงวดโดยบริษัท ส. จำกัด เป็นผู้รับแทนโจทก์ บริษัท ส. จำกัด ไม่ได้ส่งมอบเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ปรากฏว่าบริษัท ส. จำกัด และโจทก์ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาต่างตอบแทนกันว่า โจทก์ยอมให้สิทธิแก่บริษัท ส. จำกัด ยึดถือเงินค่างวดที่ลูกค้าชำระแก่โจทก์โดยโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยแล้วบริษัท ส. จะเสนอผลประโยชน์ใด ๆ ตอบแทนแก่โจทก์ และไม่ปรากฏว่าบริษัท ส. จำกัด ได้เรียกร้องให้โจทก์ต้องปฏิบัติเช่นนั้น หากบริษัท ส. จำกัด ประสงค์จะได้หลักประกันว่าโจทก์จะไม่ทิ้งงาน โจทก์ย่อมติดต่อขอหนังสือค้ำประกันของธนาคารมาวางเป็นหลักประกันก็ได้ เมื่อโจทก์ไม่ใช่บริษัทในเครือเดียวกันกับบริษัท ส. จำกัด ทั้งไม่มีหนี้สินต่อกัน โจทก์มีทุนจดทะเบียนเพียง 1,000,000 บาท แต่จำนวนเงินที่โจทก์มอบให้บริษัท ส. จำกัด ยึดถือไว้มีจำนวนนับร้อยล้านบาท ย่อมไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะให้บริษัท ส. จำกัด ยึดถือเงินดังกล่าวโดยไม่คิดดอกเบี้ย แม้ว่าโจทก์จะไม่มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามสัญญาตกแต่งและไม่มีภาระหนี้สินที่จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในขณะนั้นก็ตาม การที่โจทก์ยินยอมให้บริษัท ส. จำกัด ยึดถือเงินค่างวดล่วงหน้าที่ลูกค้าชำระให้แก่โจทก์โดยไม่มีดอกเบี้ยนั้นถือได้ว่าเป็นกรณีไม่มีเหตุอันสมควร ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (4) ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินดอกเบี้ยตามราคาตลาดในวันที่ให้กู้ยืมเงินได้
การที่โจทก์ให้บริษัท ส. จำกัด ยึดถือเงินค่างวดล่วงหน้าเข้าลักษณะเป็นการให้กู้ยืมเงิน และโจทก์ให้กู้ยืมเงินจำนวนมากอีกทั้งทำเป็นปกติธุระทุกเดือนในช่วงปี 2534 ถึง 2536 เห็นได้ชัดอยู่แล้วว่าเป็นการประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์ จึงไม่เป็นปัญหาที่จะต้องรอให้มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรวินิจฉัยว่ากิจการใดเป็นกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์หรือไม่ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 91/2 วรรคท้าย เสียก่อน เมื่อโจทก์ไม่คิดดอกเบี้ยกับบริษัท ส. จำกัด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจตาม ป. รัษฎากร มาตรา 91/15 (2) และ 91/16 (6) ที่จะประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะโดยกำหนดดอกเบี้ยรับแก่โจทก์ได้ โจทก์จึงต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
การที่จำเลยที่ 1 ได้ออกหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2535 และเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2536 ลงวันที่ 31 สิงหาคม 2541 มายังโจทก์ ดังนั้น ภาษีธุรกิจเฉพาะดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายที่ควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีอื่นมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และ 2536 โจทก์ไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และ 2536 เพราะต้องห้ามตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) ประกอบมาตรา 65 ตรี (9)
เอกสารที่โจทก์นำมาอ้างอิงในการตรวจสอบไต่สวนของเจ้าพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นเอกสารปลอม พฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นว่าโจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบภาษีโดยสุจริต จึงไม่มีเหตุสมควรงดหรือลดเบี้ยปรับสำหรับการประเมินภาษีทุกประเภท
คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมิน 4 ฉบับ คือ หนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และปี 2536 หนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2535 และหนังสือแจ้งการประเมินภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับเดือนภาษีมกราคมถึงธันวาคม 2536 ซึ่งหนังสือแจ้งการประเมินแต่ละฉบับมีรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนภาษี เบี้ยปรับเงินเพิ่ม และภาษีส่วนท้องถิ่นแตกต่างกัน และไม่เกี่ยวข้องกัน แม้ว่าการแจ้งการประเมินภาษีตามหนังสือแจ้งการประเมินทั้ง 4 ฉบับ จะมีที่มาจากการออกหมายเรียกและตรวจสอบภาษีโจทก์เพียงครั้งเดียว แต่เมื่อพิจารณาสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์แล้ว เห็นได้ชัดว่าคำฟ้องของโจทก์มีข้อหาแต่ละข้อหาไม่เกี่ยวข้องกันแยกจากกันได้ โจทก์จึงต้องเสียค่าขึ้นศาลทั้ง 4 ข้อหา
ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และ 2536 ไม่ปรากฏว่าโจทก์มีรายได้อื่นนอกจากรายได้ดอกเบี้ยรับ เนื่องจากงานในส่วนของโจทก์ที่เกี่ยวกับการตกแต่งภายในห้องชุดยังไม่เริ่ม ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถนำยอดเงินที่โจทก์อ้างว่าเป็นรายจ่ายที่โจทก์นำมาลงบัญชีไว้ในหมวดสินทรัพย์อื่นในงบดุลซึ่งมิได้ระบุเป็นรายจ่าย จึงไม่อาจทราบได้ว่าเป็นรายจ่ายในกรณีใดมาหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2535 และ 2536 ได้ ตาม ป. รัษฎากร มาตรา 65 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6647/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศเพื่อประโยชน์สำนักงานใหญ่ และการหักค่าภาษีที่ไม่สมควรเป็นรายจ่าย
เมื่อรายจ่ายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัทผู้รับจ้างที่ประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ ไม่ใช่รายจ่ายตามสัญญาการให้บริการด้านจัดหาพัสดุเคมีภัณฑ์และตามสัญญาการให้บริการด้านการบริหารที่โจทก์ทำกับบริษัทผู้รับจ้าง รายจ่าย ดังกล่าวจึงเป็นรายจ่ายที่โจทก์กำหนดจ่ายขึ้นเองโดยไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ที่แท้จริง ถือได้ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งมิใช่ รายจ่ายเพื่อกิจการของโจทก์ในประเทศไทยโดยเฉพาะตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (14)? โจทก์จึงไม่อาจนำรายจ่ายดังกล่าวมาคิดคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีพิพาทได้
การจัดเก็บภาษีจากการจำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 70 ทวิ ให้จัดเก็บจากจำนวนเงินกำไรที่จำหน่ายออกไปจากประเทศไทยเพื่อประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ มิใช่จัดเก็บจากจำนวนกำไรสุทธิ หากเป็นรายจ่ายที่แท้จริงของกิจการที่กิจการจ่ายออกไปจากประเทศไทย แม้จะเป็นรายจ่ายที่ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (1) ไม่ให้ถือเป็น รายจ่าย จำเลยก็ไม่มีอำนาจจัดเก็บภาษีจากจำนวนเงินดังกล่าวเพราะมิใช่จำนวนเงินกำไรที่แท้จริงของกิจการที่ได้มี การจำหน่ายออกไปจากประเทศไทย เมื่อสาขาของโจทก์ในประเทศไทยส่งเงินที่อ้างว่าเป็นส่วนเฉลี่ยรายจ่าย ซึ่งเป็น รายจ่ายที่โจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่ใช่รายจ่ายของโจทก์ที่แท้จริงให้แก่บริษัทผู้รับจ้างซึ่งเป็นบริษัทตั้งอยู่ใน ต่างประเทศ โดยโจทก์ให้บริษัทผู้รับจ้างเรียกเก็บหนี้จากผู้ว่าจ้างโจทก์ให้โจทก์ แล้วผู้ว่าจ้างโจทก์จะจ่ายเงินค่าตอบแทนดังกล่าวไปยังบริษัทผู้รับจ้าง ดังนี้ พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย เพื่อประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ในต่างประเทศ โจทก์จึงต้องเสียภาษีเงินได้ตาม ประมวลรัษฎากรมาตรา 70 ทวิ อีกส่วนหนึ่งด้วย
เมื่อไม่ปรากฏว่าสาขาของโจทก์ในประเทศไทยมีพฤติการณ์จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรที่แท้จริงออกไปจากประเทศไทย เพื่อผลประโยชน์ของสำนักงานใหญ่ใน ต่างประเทศ แม้เป็นกรณีมิใช่หนี้สูญที่แท้จริงหรือมิใช่หนี้สูญที่ได้ตัดจ่ายจากบัญชีของโจทก์จริง หรือโจทก์จำหน่ายหนี้สูญโดยไม่ปฏิบัติตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 181(พ.ศ. 2532) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นเป็นเรื่องที่โจทก์ไม่สามารถนำหนี้สูญจำนวนดังกล่าวมาคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ทวิ แม้จะเป็นผลให้โจทก์มีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นตามรายจ่ายต้องห้ามดังกล่าวก็ตาม แต่จะนำมาถือว่าโจทก์จำหน่ายเงินกำไรหรือเงินประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไร หรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยหาได้ไม่
ภาระภาษีการค้าและภาระภาษีอากรแสตมป์ที่เกิดขึ้นจากการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถกำหนดจ่ายได้จริงและแน่นอนจนกว่าหนี้ค่าภาษีอากรตามการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นที่ยุติโดยโจทก์มิได้อุทธรณ์การประเมิน หรืออุทธรณ์คำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จำเลยประเมินภาษีการค้าและอากรแสตมป์โจทก์เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2538 และโจทก์ชำระภาษีดังกล่าวในวันที่ 15 มีนาคม 2538 โดยมิได้อุทธรณ์การประเมิน รายจ่ายค่าภาษีการค้าและอากรแสตมป์ที่พิพาทจึงยังไม่สามารถกำหนดจ่ายได้จริงและแน่นอนในรอบระยะเวลาบัญชีที่ตรวจสอบ รายจ่ายดังกล่าวจึงไม่ใช่รายจ่ายซึ่งควรจะได้จ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปีที่ถูกตรวจสอบภาษีอากร

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2513

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงของผู้ฟ้องคดีในคดีภาษีอากร หากไม่นำสืบย่อมแพ้คดี
โจทก์ฟ้องกรมสรรพากรกับพวกเป็นจำเลย อ้างว่าการที่โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าป่วยการให้แก่ ป. เป็นการจ่ายเพื่อหากำไรมาให้โจทก์และโจทก์ได้จ่ายให้ ป. รับไปเป็นคราว ๆ มิใช่จ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินที่ได้จ่ายไปนี้ ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และให้จำเลยคืนเงินค่าภาษี จำเลยให้การปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่าเป็นดังที่โจทก์อ้างเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีในเงินดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ ถ้าโจทก์ไม่นำสืบก็ต้องแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 806/2513 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่นำสืบในคดีภาษี: การจ่ายค่าป่วยการและข้อยกเว้นรายจ่ายตามกฎหมาย
โจทก์ฟ้องกรมสรรพากรกับพวกเป็นจำเลย อ้างว่าการที่โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างหรือค่าป่วยการให้แก่ ป. เป็นการจ่ายเพื่อหากำไรมาให้โจทก์และโจทก์ได้จ่ายให้ ป. รับไปเป็นคราว ๆ มิใช่จ่ายจากผลกำไรที่ได้เมื่อสิ้นสุดรอบระยะเวลาบัญชีแล้ว โจทก์จึงไม่ต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินที่ได้จ่ายไปนี้ ขอให้ศาลเพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และให้จำเลยคืนเงินค่าภาษี จำเลยให้การปฏิเสธข้ออ้างตามฟ้องทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องนำสืบข้อเท็จจริงว่าเป็นดังที่โจทก์อ้างเพื่อนำไปสู่ข้อกฎหมายว่า โจทก์ไม่ต้องเสียภาษีในเงินดังกล่าวจะถูกต้องหรือไม่ ถ้าโจทก์ไม่นำสืบก็ต้องแพ้คดี