คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ม. 13

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 64 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1794/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าคล้ายคลึงกันในประเภทเดียวกัน อาจทำให้สาธารณชนสับสนถึงความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดสินค้าได้
เครื่องหมายการค้ารูปและคำว่า "ยาสตรีนิสิงเหจอมทอง" กับเครื่องหมายการค้าคำว่า "ยาสตรีสิงเห" มีการเรียกขาน และรูปลักษณะที่คล้ายกัน เมื่อเป็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ส่วนความแตกต่างอื่น เช่นคำว่า "จอมทอง" ก็มีขนาดเล็ก ไม่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้า เช่นเดียวกับความแตกต่างของข้อความประกอบเครื่องหมายการค้าว่า "สำหรับช่วยในการอยู่ไฟ" และ "ยาแผนโบราณสำหรับแทนการอยู่ไฟ" รวมทั้งโบ และวงกลมประกอบด้านล่างซึ่งมีอักษรอยู่ภายในหาใช่สาระสำคัญถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนสามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างเครื่องหมายการค้าได้ จึงมิใช่สาระสำคัญแห่งเครื่องหมายการค้าเช่นกัน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนคำวินิจฉัยเครื่องหมายการค้าที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย การพิจารณาความคล้ายคลึงของเครื่องหมายและการใช้โดยสุจริต
คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง หมายความเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น แต่หากเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ โดยศาลมิได้ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะกรณีปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อโจทก์โต้แย้งว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55
เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์เป็นอักษรโรมัน เขียนว่า "HIGHER" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เป็นภาษาไทยและอักษรโรมันเขียนว่า "ไฮเออร์ HI - ER" แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะมีอักษรโรมันเหมือนกันใน 2 ตัวแรก กับ 2 ตัวหลัง แต่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยรวมแล้วมีความแตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมีภาษาไทยกำกับไว้ด้วย และมีขนาดที่ใหญ่เห็นได้ชัดเจนกว่าอักษรโรมันแม้การเรียกขานจะคล้ายกัน แต่โจทก์ได้ขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสินค้าที่จะใช้กับเครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว ทำให้สินค้ามิได้เป็นประเภทเดียวกัน ถึงจะยังมีความใกล้เคียงเป็นสินค้าในจำพวกเดียวกันอยู่ แต่โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทโดยสุจริตมิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอันจะพึงห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: ความแตกต่างของเครื่องหมาย, ประเภทสินค้า, เจตนาใช้, และความสับสนของสาธารณชน
เครื่องหมายการค้าโจทก์ขอจดทะเบียนเป็นอักษรโรมันเขียนว่า "HIGHER" ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเป็นภาษาไทยและอักษรโรมันว่า "ไฮเออร์ HI-ER" มีความแตกต่างอยู่ที่เครื่องหมายที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีทั้งภาษาไทยและอักษรโรมัน แม้การเรียกขานอาจจะมีส่วนเหมือนกัน แต่การเรียกขานย่อมขึ้นอยู่กับสินค้าว่าแต่ละคนจะเรียกขานสินค้าอย่างไร สินค้าโจทก์และจำเลยแม้จะจำพวกเดียวกัน แต่เป็นคนละประเภทเมื่อพิจารณาองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การจัดจำหน่าย คุณภาพ และราคาสินค้าของโจทก์ ซึ่งแตกต่างจากสินค้าของจำเลย นอกจากนี้โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าโดยสุจริต มิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์ เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3), 13

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 385/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายกันจนสับสน และมีผลต่อชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้าเดิม
คำว่า ROZA เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าทั้งในลักษณะของภาษาเขียนและภาษาพูด โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าย่อมมุ่งหวังให้สาธารณชนรู้จักด้วยการอ่านและออกเสียง เสียงอ่านของคำว่า ROZA เป็นสำเนียงไทยว่า โรซ่า เมื่อพิจารณาคำว่า ROZA ของโจทก์กับคำว่า ROSA จะเห็นว่ามีอักษรโรมัน 4 ตัวเรียงกัน คงแตกต่างกันเฉพาะตัวที่ 3 คือ ตัว Z กับตัว S เท่านั้น ที่สำคัญคือตัวอักษรที่เป็นสระและมีผลต่อการออกเสียงคือตัว O และตัว A ทั้ง 2 คำใช้เหมือนกันและอ่านออกเสียงเป็น 2 พยางค์เช่นกัน ส่วนตัว S และ Z นั้น แม้จะเขียนแตกต่างกัน แต่การออกเสียงเป็นสำเนียงไทยก็คล้ายคลึงกันมาก ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในเครื่องหมายการค้าทั้งสองได้
โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า ROZA สำหรับสินค้าประเภทซอสมะเขือเทศ ซอสพริก ปลากระป๋อง น้ำมะเขือเทศ ส่วนเครื่องหมายการค้าคำว่า ROSA จดทะเบียนใช้กับสินค้าประเภทกาแฟ ชา ลูกกวาด น้ำผึ้ง เค้ก เมื่อเครื่องหมายการค้าคำว่า ROZA เป็นเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปตามนัยมาตรา 8 (10) ของ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 แม้จะเป็นการจดทะเบียนกับสินค้าต่างจำพวกกับที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ โจทก์ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเสียได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7631/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า: การใช้รูปช้างเป็นเครื่องหมายการค้าต้องไม่ทำให้สาธารณชนสับสน
แม้เครื่องหมายการค้า และ ของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีรูปช้างเป็นสาระสำคัญเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้า ของจำเลยที่ 1 แต่การนำรูปช้างซึ่งเป็นสัตว์ตามธรรมชาติหรือช้างเอราวัณซึ่งเป็นสัตว์ในวรรณคดีมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้านั้นบุคคลใดก็อาจนำไปใช้ได้ เพราะการที่บุคคลใดเลือกนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนก็มิได้หมายความว่าจะเป็นการตัดสิทธิบุคคลอื่นไม่ให้ใช้รูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณโดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำรูปช้างหรือรูปช้างเอราวัณไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำเครื่องหมายการค้าให้มีความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่ได้ใช้มาก่อนมากพอที่จะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของจำเลยที่ 1 มีข้อแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์หลายประการ ทั้งลักษณะของรูปช้างและส่วนประกอบอื่นของเครื่องหมายการค้าแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่า "TUSCO TRAFO" ในเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 และมีขนาดใหญ่พอ ๆ กับรูปช้าง จึงเป็นจุดเด่น นับได้ว่าเป็นสาระสำคัญส่วนหนึ่งของเครื่องหมายการค้าและอาจเรียกขานเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ได้ว่า ตราช้างทัสโก้ หรือตราทัสโก้ เมื่อเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มีส่วนสำคัญที่สามารถสังเกตเห็นความแตกต่างจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยง่ายเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าสินค้าของจำเลยที่ 1 ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวนั้นเป็นสินค้าเจ้าของเดียวกันกับของโจทก์หรือบริษัทในเครือของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้น เครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 ที่ขอจดทะเบียนไว้จึงไม่คล้ายเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ก่อนจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าอันจะถือว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 มิใช่เครื่องหมายการค้าอันพึงรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) ประกอบด้วยมาตรา 13
คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ซึ่งอัตราค่าทนายความที่ศาลจะกำหนดให้แก่ผู้ชนะคดีในศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ ต้องไม่เกิน 3,000 บาท ตาม พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบด้วยตาราง 6 ท้าย ป.วิ.พ. ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ กำหนดให้โจทก์ใช้ค่าทนายความแทนจำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นเงินจำนวน 5,000 บาท จึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 296/2546 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้า 'TWO WAY' เป็นคำทั่วไป การใช้โดยผู้อื่นไม่ละเมิด หากไม่ทำให้สับสน
คำว่า TWO WAY เป็นคำทั่วไปที่มีความหมายว่าสองทางซึ่งโดยปกติบุคคลทั่วไปย่อมสามารถจะนำคำนี้ไปใช้ได้อยู่แล้ว แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนคำว่า TWO WAY และ ทู เวย์ เป็นเครื่องหมายการค้าของตนแล้วก็ตาม โจทก์ไม่มีสิทธิหวงกันไม่ให้บุคคลอื่นใช้คำนี้โดยเด็ดขาด เพียงแต่ผู้ที่จะนำคำนี้ไปใช้เป็นส่วนประกอบเครื่องหมายการค้าของตนในภายหลังจะต้องทำให้เครื่องหมายการค้านั้นมีลักษระแตกต่างไปจากเครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดได้
เครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของโจทก์เป็นเครื่องหมายประกอบรูปลูกศรสลับหัวกันระหว่างคำว่า TWO กับWAY หรือ 2 กับ WAY อันเป็นการผสมคำกับรูปลูกศร ซึ่งเป็นลักษณะเบ่งเฉพาะที่โจทก์คิดประดิษฐ์ขึ้นมา แต่โจทก์กลับใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวประกอบเครื่องหมายการค้าคำว่า Tellme ของโจทก์ Tellme TWO WAY หรือPOWDERCAKE Tellme Creance 2 WAY อันมีลักษณะเป็นการขยายให้เห็นคุณสมบัติของแป้งแข็ง Tellme ของโจทก์ว่าใช้ได้สองทาง คือใช้ได้ทั้งผสมน้ำและไม่ผสมน้ำ แป้งแข็งไม่ได้มีเฉพาะยี่ห้อของโจทก์เท่านั้น ยังมียี่ห้ออื่นที่จำหน่ายอีก ยี่ห้อของแป้งผัดหน้าเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ใช้จะพิจารณา ดังนั้นการที่ ป. ใช้คำว่า "ทูเวย์เคค" มิได้ใช้เครื่องหมายรูปลูกศรสลับระหว่างคำว่า TWO กับ WAY และ 2 กับ WAY ไปประกอบกับคำว่า sun melon เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะเป็นสินค้าแป้งผัดหน้าชนิดเดียวกับโจทก์ก็เป็นเครื่องหมายที่มีรูปลักษณะและสำเนียงเรียกขานแตกต่างกันและจะถือว่า ป. มีเจตนาไม่สุจริตในการใช้คำว่า "ทูเวย์เคค" ประกอบคำว่า ซันเมลอน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดถึงแหล่งที่มาของสินค้าแป้งผัดหน้าไม่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3344/2545

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การลอกเลียนเครื่องหมายการค้า: ศาลพิพากษาเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกันจนอาจทำให้สาธารณชนสับสน
จำเลยอุทธรณ์โดยยกข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ให้การต่อสู้ไว้เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายเรื่องการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ ถือได้ว่าเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 38 ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 35 เป็นบทบัญญัติที่ให้บุคคลอื่นซึ่งอ้างว่าเป็นผู้มีสิทธิดีกว่าผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหรือเจ้าของเครื่องหมายการค้า ซึ่งจดทะเบียนไว้ก่อนแล้วมีสิทธิที่จะยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ภายในกำหนด 90 วัน หากไม่ยื่นภายในกำหนดดังกล่าวนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีอำนาจที่จะดำเนินการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอต่อไปได้ตามมาตรา 40 ส่วนเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนหากได้รับผลกระทบจากการรับจดทะเบียนของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวก็ยังคงมีสิทธิที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนการรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวได้ภายใน5 ปี นับแต่วันที่นายทะเบียนมีคำสั่งให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นตามมาตรา 40ทั้งนี้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่ง เพราะตามบทบัญญัติดังกล่าวหาได้มีข้อกำหนดจำกัดสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งได้จดทะเบียนไว้ก่อนว่าจะต้องยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ก่อนฟ้องคดีไม่
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า ARROW ที่ได้จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว การที่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ไว้สำหรับสินค้าจำพวกเดียวกันกับโจทก์และนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนให้ตามคำขอของจำเลยมีผลกระทบต่อสิทธิในเครื่องหมายการค้า ARROW ที่โจทก์จดทะเบียนไว้ก่อนแล้ว โดยเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีส่วนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ย่อมถือได้ว่าจำเลยได้กระทำการอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตั้งแต่จำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีอำนาจฟ้องจำเลยเพื่อขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นได้ตามมาตรา 67 วรรคหนึ่งไม่ว่าโจทก์จะได้ยื่นคำคัดค้านต่อนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามมาตรา 35 ไว้หรือไม่
เครื่องหมายการค้าของโจทก์ทุกเครื่องหมายมีสาระสำคัญอยู่ที่คำว่า ARROWส่วนคำอื่นหรือรูปลูกศรที่ประกอบคำว่า ARROW เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้น และความสำคัญของเครื่องหมายการค้าของโจทก์อยู่ที่เสียงเรียนขานคำว่า ARROW ซึ่งอ่านออกเสียงว่า "แอโร่"ยิ่งกว่าความหมายของคำที่แปลว่าลูกศร เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าประเภทคำในภาษาต่างประเทศเช่นเดียวกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ในส่วนที่เป็นคำและใช้อักษรโรมันมี 2 พยางค์ เท่ากัน โดยเฉพาะพยางค์หลังจะอ่านออกเสียงว่า "โร่"เหมือนกันส่วนพยางค์ต้นของโจทก์อ่านออกเสียงว่า"แอ"พยางค์ต้นของจำเลยอ่านออกเสียงว่า "แม" จึงนับได้ว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ เครื่องหมายการค้าของจำเลยจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะพึงรับจดทะเบียนให้ได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6(3) และ 13(2)จำเลยย่อมไม่มีสิทธิใช้และขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ได้ โจทก์ซึ่งใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ARROW มาก่อน มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดังกล่าวดีกว่าจำเลยและมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยได้
โจทก์เป็นผู้มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า MARROW ดีกว่าจำเลย ชอบที่ศาลจะพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเสียได้ ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 67 วรรคหนึ่ง จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลจะต้องพิพากษาให้จำเลยไปเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่าMARROW หรือให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยอีก และที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาตามคำขอของโจทก์โดยห้ามจำเลยใช้หรือเข้าเกี่ยวข้องในทางใด ๆ กับเครื่องหมายการค้า MARROW อีกต่อไปนั้น เป็นคำขอบังคับที่มุ่งบังคับถึงการกระทำในอนาคตซึ่งครอบคลุมถึงการกระทำของจำเลยที่เกินไปกว่าที่ปรากฏในคดีนี้ ศาลฎีกาจึงให้จำกัดข้อห้ามการกระทำของจำเลยเฉพาะในลักษณะเดียวกับที่ปรากฏในคดีนี้เท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า MAKITA และ MAKITO และการจดทะเบียนโดยไม่สุจริต ทำให้ถูกเพิกถอนได้
เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นอักษรโรมันคำว่า MAKITA อ่านว่า มากิต้า หรือ มากิตะ ซึ่งมีลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทุกตัวอักษร และตัวเขียนเล็กแบบอักษรประดิษฐ์กับอักษร M.E.W. ในรูปวงกลม ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นอักษรโรมันคำว่า MAKITO อ่านว่า มากิโต้ หรือ มากิโตะ มีลักษณะเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ทุกตัวอักษร ซึ่งทั้งสองคำจะประกอบด้วยจำนวนตัวอักษรโรมัน 6 ตัว เท่ากัน มีอักษร 5 ตัวหน้าเหมือนกัน โดยจัดวางเรียงชิดติดกันอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน ต่างกันแต่อักษรตัวสุดท้ายซึ่งของโจทก์จะเป็นตัวอักษร A ส่วนของจำเลยจะเป็นตัวอักษร O แม้จะเห็นความแตกต่างของตัวอักษรตัวสุดท้ายอย่างชัดเจนเมื่อเขียนเป็นอักษรโรมันลักษณะตัวพิมพ์ใหญ่ แต่หากเปรียบเทียบกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์คำว่า makita ในการเขียนเป็นอักษรประดิษฐ์ ซึ่งเขียนในลักษณะของตัวเขียนเล็กคือ makita จะเห็นได้ว่าอักษรตัวสุดท้ายคือ a จะมีลักษณะกลมคล้ายตัวอักษร o เพียงแต่ด้านล่างทางด้านขวาของตัวอักษร a จะมีหางลากออกมา ซึ่งหากบุคคลผู้ไม่คุ้นเคยกับอักษรโรมันอาจสังเกตไม่เห็นความแตกต่างได้ และเมื่อพิจารณาเสียงเรียกขานคำว่า makita กับ MAKITO แล้ว เสียงเรียกขานจะใกล้เคียงกันมาก กล่าวคือ พยางค์แรกออกเสียงเหมือนกัน พยางค์ท้ายสุดของโจทก์ออกเสียงเป็น ตะ หรือ ต้า ส่วนของจำเลยออกเสียงเป็น โต้ หรือ โตะ แม้โจทก์จะยังไม่ได้ใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MATIKA ซึ่งเขียนด้วยตัวพิมพ์ใหญ่กับสินค้าของโจทก์ คงใช้แต่เครื่องหมายการค้าคำว่า makita ซึ่งเขียนเป็นตัวพิมพ์เล็กและจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า MAKITO โดยเขียนเป็นตัวพิมพ์ใหญ่ก็ตาม แต่ข้อแตกต่างระหว่างตัวพิมพ์เล็กกับตัวพิมพ์ใหญ่ดังกล่าวหาใช่ข้อแตกต่างในสาระสำคัญอันจะไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดไม่ เครื่องหมายการค้าคำว่า MAKITO ของจำเลยจึงคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า makita ของโจทก์
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2539 จำเลยนำเครื่องหมายการค้าคำว่า MAKITO มาขอจดทะเบียนเพื่อใช้กับสินค้าจำพวกที่ 7 ประเภทเครื่องมือช่าง ในรายการสินค้า ใบเลื่อยใช้กับเครื่องเลื่อยไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าที่อยู่ในจำพวกเดียวกันกับสินค้าของโจทก์ จำเลยก็ยอมรับว่าสินค้าใบเลื่อยของจำเลยสามารถใช้กับเครื่องเลื่อยไฟฟ้าของโจทก์ได้ เครื่องหมายการค้า ของโจทก์ได้จดทะเบียนไว้ในประเทศไทยสำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 รายการสินค้ารวมถึงเลื่อยวงเดือนแบบมือถือทำงานด้วยกำลังไฟฟ้า เลื่อยชักแบบมือถือทำงานด้วยกำลังไฟฟ้าและเลื่อยสายพานแบบมือถือทำงานด้วยกำลังไฟฟ้าด้วยตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2510 ก่อนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MAKITO สำหรับสินค้าจำพวกที่ 7 รายการสินค้าซึ่งมีลักษณะอย่างเดียวกับสินค้าของโจทก์เป็นเวลาถึงประมาณ 27 ปี และปรากฏว่าสินค้าเครื่องมือช่างของโจทก์มีจำหน่ายในประเทศไทยมาประมาณ 30 ปี แล้ว ก่อนสินค้าของจำเลยมีวางจำหน่ายหลายปี การที่จำเลยผลิตสินค้าใบเลื่อยและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MAKITO เพื่อใช้กับสินค้าดังกล่าวซึ่งสามารถนำมาใช้กับเครื่องเลื่อยไฟฟ้าของโจทก์ได้ ย่อมส่อแสดงให้เห็นถึงความไม่สุจริตของจำเลยในการเลียนเครื่องหมายการค้าคำว่า makita ของโจทก์ โจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า MAKITO ดีกว่าจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า MAKITO ได้ ตามมาตรา 67 แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6121/2544

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เครื่องหมายการค้าไม่เหมือนหรือคล้ายกัน แม้มีรูปสี่เหลี่ยมเป็นส่วนประกอบ หากรูปลักษณ์และช่องทางการขายแตกต่างกัน
โจทก์เป็นผู้คิดประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าของโจทก์ และใช้เครื่องหมายการค้านั้นกับสินค้าของโจทก์มาก่อนจำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยประมาณ 3 ปี ทั้งสินค้าของโจทก์อยู่ในรูปวัตถุดิบ ไม่ได้จำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป แตกต่างจากสินค้าของจำเลยที่เป็นสินค้าสำเร็จรูป ลูกค้าของโจทก์และลูกค้าของจำเลยจึงเป็นคนละประเภท นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปซึ่งมีลักษณะประกอบด้วยรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบ 2 รูป เท่า ๆ กันวางอยู่ใต้รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทึบซึ่งมีด้านยาวขนาดเดียวกับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 2 รูป วางเรียงกันส่วนด้านกว้างมีความยาวเท่ากับรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส และระหว่างรูปสี่เหลี่ยมทั้ง 3 รูปนั้น โจทก์จงใจให้เกิดช่องว่างเป็นรูปอักษร T ประดิษฐ์ ซึ่งเป็นอักษรต้นของชื่อโจทก์ แต่เครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเพียงรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสพื้นทึบ 4 รูปเท่ากันวางเรียงกันในลักษณะสมดุล อยู่ข้างบน 2 รูป ข้างล่าง 2 รูป และระหว่างรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส 4 รูป มีช่องว่างเป็นรูปเส้นตรง 2 เส้น ตัดกันเป็นมุมฉากไม่มีใครเรียกสินค้าของจำเลยว่า ยาตราสี่เหลี่ยม และในการใช้เครื่องหมายการค้าของจำเลยมักจะใช้ชื่อจำเลยคำว่า CHINTA ประกอบด้วย ทำให้บางครั้งลูกค้าเรียกสินค้ายาของจำเลยว่า ยาชินต้า จึงมิใช่กรณีที่เครื่องหมายการค้าทั้งสองนี้มีการเรียกขานเหมือนกัน และช่องว่างของรูปสี่เหลี่ยมพื้นทึบในเครื่องหมายการค้าของจำเลยดังกล่าวไม่มีความหมายอะไรเป็นพิเศษ ความหมายอยู่ที่รูปสี่เหลี่ยมซึ่งหมายถึงทิศทั้งสี่เท่านั้น เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยมีรูปลักษณ์ของรูปสี่เหลี่ยมจำนวนรูปสี่เหลี่ยมรวมทั้งช่องว่างระหว่างรูปสี่เหลี่ยมที่มีการประดิษฐ์แตกต่างกัน ไม่ได้เรียกขานเหมือนหรือคล้ายกัน ตามพฤติการณ์ดังกล่าวสาธารณชนย่อมสามารถสังเกตข้อแตกต่างได้ไม่ยาก นอกจากนี้ลูกค้าก็เป็นกลุ่มคนคนละประเภท ทั้งโจทก์ได้ใช้และจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์นี้ในต่างประเทศมาก่อนจำเลย มิใช่กรณีที่เป็นการลอกเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลย แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยจะมีรูปสี่เหลี่ยมเป็นส่วนประกอบสำคัญก็ตาม ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์ไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7871/2543

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความคล้ายคลึงของเครื่องหมายการค้า 'Panabishi' และ 'Panasonic' อาจทำให้สาธารณชนสับสนถึงความเป็นเจ้าของสินค้า
เครื่องหมายการค้าของโจทก์คือเครื่องหมายการค้าเป็นรูปสามเหลี่ยมประดิษฐ์ และคำว่า "Panabishi" กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จดทะเบียนคำว่า "Panasonic" มีคำ 2 พยางค์แรกเป็นคำว่า Pana คำเดียวกัน แม้คำพยางค์อื่นที่นำมาประกอบในเครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายจะแตกต่างกัน แต่ปรากฏว่ามีตัวอักษรที่เหลือจำนวน 5 ตัวเท่ากัน ทำให้เข้าใจว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Panabishi" อยู่ในเครือเดียวกันกับสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Panasonic" นอกจากนี้จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า "Panasonic" ในสินค้าจำพวกที่ 8 (เดิม) สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าซึ่งรวมถึงเครื่องปรับอากาศและยื่นคำขอต่ออายุการจดทะเบียนสำหรับสินค้าจำพวกที่ 11 (ใหม่) รายการสินค้า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ ก่อนที่โจทก์จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "Panabishi" เกือบ 10 ปี แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์จะมีรูปสามเหลี่ยมอยู่ด้วย แต่คำว่า "Panabishi" และ "Panasonic" มีตัวอักษร 9 ตัวเท่ากัน มีลักษณะเด่นที่คำว่า "Pana" การเรียกขานก็คล้ายกัน และจำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้สำหรับสินค้าจำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องปรับอากาศ ซึ่งโจทก์ก็ขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์เพื่อใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของจำเลยคำว่า "PANA" และ "Panasonic" จึงนับได้ว่าคล้ายกัน จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้าหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า เมื่อเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าที่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยได้จดทะเบียนไว้แล้ว นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจึงมีอำนาจสั่งระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ ตาม พ.ร.บ. เครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13 จำเลยจึงมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านมิให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้
of 7