คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 84

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 2,100 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้, บังคับจำนอง, ดอกเบี้ยผิดนัด, ทรัพย์มรดก: สิทธิเรียกร้องจากทรัพย์สินจำนองและจำกัดความรับผิด
โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8331/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ หน้าที่นำสืบของจำเลยผู้สลักหลังเช็ค, การรับฟังพยานสำเนาเช็คเมื่อต้นฉบับสูญหาย, การตีใช้หนี้
จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายเช็ค ส่วนจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อสลักหลังซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 900 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 989 บัญญัติให้บุคคลผู้ลงลายมือชื่อของตนในเช็คย่อมจะต้องรับผิดตามเนื้อความในเช็คนั้น เมื่อจำเลยทั้งหมดให้การต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้ตามเช็คแล้ว โดยจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ 2 คูหา ให้แก่โจทก์เป็นการตีใช้หนี้ อันเป็นการกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อที่จะไม่ต้องรับผิดตามเช็ค หน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงตกอยู่แก่จำเลยทั้งสอง การที่โจทก์นำสืบว่าจำเลยที่ 2 โอนสิทธิการเช่าอาคารพาณิชย์ตีใช้หนี้ตามเช็คฉบับอื่น เป็นเพียงการนำสืบแก้ข้อกล่าวอ้างที่จำเลยทั้งสองยกขึ้นโต้เถียงในคำให้การเท่านั้น หน้าที่นำสืบในประเด็นข้อนี้หาได้ตกอยู่แก่โจทก์ไม่
จำเลยทั้งสองมีหน้าที่นำสืบ แต่นำสืบให้รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามเช็คให้แก่โจทก์แล้วตามข้อกล่าวอ้าง หนี้ตามเช็คพิพาทจึงยังไม่ระงับสิ้นไป จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามเนื้อความในเช็ค
แม้โจทก์จะอ้างเอกสารซึ่งเป็นเพียงสำเนาภาพถ่ายเฉพาะด้านหน้าของเช็คก็ตาม แต่โจทก์อ้างว่าได้มอบต้นฉบับเช็คคืนแก่จำเลยทั้งสองไปแล้ว จำเลยทั้งสองคงคัดค้านเพียงว่าเอกสารดังกล่าวเป็นสำเนา มิได้คัดค้านว่า ต้นฉบับไม่มีหรือเอกสารปลอมหรือสำเนาไม่ถูกต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 125 ทั้งมิได้แถลงต่อศาลชั้นต้นว่า ต้นฉบับเช็คอยู่ที่จำเลยทั้งสองจริงหรือไม่ จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่โจทก์ไม่สามารถนำต้นฉบับมาได้โดยประการอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 93 (2) ศาลจึงรับฟังสำเนาเช็คดังกล่าวประกอบคำเบิกความของโจทก์ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5399/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ กรรมสิทธิ์รถยนต์: การพิสูจน์ความเป็นเจ้าของต้องด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือ การจดทะเบียนเป็นหลักฐานเบื้องต้น
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะคันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบ ผู้ร้องจึงมีหน้าที่นำสืบว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางตามที่กล่าวอ้าง แต่ผู้ร้องไม่ได้นำสืบ ย. เจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์กระบะของกลางตามสำเนารายการจดทะเบียน หรือเจ้าของร้านผู้ประมูลขายรถยนต์กระบะของกลาง มาเบิกความสนับสนุนว่าได้ขายรถยนต์กระบะของกลางให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องมีเพียงหนังสือมอบอำนาจกับแบบคำขอโอนและรับโอนว่า ย. ลงลายมือชื่อไว้ โดยผู้ร้องยังมิได้ไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของให้เป็นการถูกต้อง แม้หนังสือแสดงการจดทะเบียนรถมิใช่หลักฐานแสดงกรรมสิทธิ์ แต่ก็เป็นหลักฐานเบื้องต้นที่แสดงว่าผู้มีชื่อในเอกสารดังกล่าวเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ ข้ออ้างของผู้ร้องที่ว่าจะนำรถยนต์กระบะของกลางไปขายต่อและไม่ต้องการเสียภาษี จึงมิได้ไปดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อเจ้าของให้เป็นการถูกต้อง ไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5264/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การรับผิดของนายจ้างต่อการกระทำละเมิดของลูกจ้างในทางการที่จ้าง แม้ไม่ได้นำสืบซ้ำ หากจำเลยยอมรับ
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ชนกับรถยนต์คันที่โจทก์รับประกันภัยได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 2 ให้การต่อสู้ โดยมิได้ให้การปฏิเสธข้ออ้างดังกล่าวของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 โจทก์จึงไม่จำต้องนำสืบในข้อนี้อีก แม้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไว้จากจำเลยที่ 2 จะให้การต่อสู้ว่า จำเลยที่ 2 มิได้เป็นนายจ้างหรือใช้จำเลยที่ 1 ให้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปในทางการที่จ้าง แต่เมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ไปแล้ว คดีย่อมไม่มีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 3 อีกต่อไป การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจึงเป็นการไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3727/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิขอคืนของกลาง: เจ้าของต้องพิสูจน์ว่ามิได้รู้เห็นเป็นใจกับการกระทำผิด
การขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบตาม ป.อ. มาตรา 36 เป็นการใช้สิทธิทางศาล และเป็นส่วนหนึ่งของคดีอาญา ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ที่แท้จริงและมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยเท่านั้นที่มีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนได้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ร้องที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบแสดงให้ได้ความตามเงื่อนไขดังกล่าวก่อน โดยนอกจากนำสืบพิสูจน์ว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์บรรทุกของกลางแล้ว ผู้ร้องยังต้องนำพยานมาสืบให้เห็นว่าผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลยด้วย พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบขัดแย้งกันและมีพิรุธ ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่าขณะเกิดเหตุมีการยืมรถยนต์บรรทุกของกลางไปจากผู้ร้อง และผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดของจำเลย ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิร้องขอคืนของกลาง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8593/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การสันนิษฐานทรัพย์สินเกี่ยวข้องยาเสพติด เมื่อผู้ถูกลงโทษเคยเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ผู้ถูกตรวจสอบต้องพิสูจน์หักล้าง
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งริบทรัพย์ของจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้คัดค้าน ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปรามปราบผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 29 วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกผู้คัดค้านในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ย่อมถือได้ว่าผู้คัดค้านเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดมาก่อนตามบทบัญญติดังกล่าว ดังนั้น เงินหรือทรัพย์ของผู้คัดค้านที่มีอยู่หรือได้มาเกินฐานะหรือความสามารถในการประกอบอาชีพหรือกิจกรรมอย่างอื่นโดยสุจริต จึงถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นทรัพย์ที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ผู้คัดค้านมีหน้าที่นำสืบเพื่อพิสูจน์หักล้าง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6735/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสันนิษฐานทางกฎหมายเรื่องการถือหุ้นในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น สามารถนำสืบหักล้างได้ หากมีข้อพิพาทและยังไม่มีข้อเท็จจริงยุติ
แม้บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นจะระบุว่าจำเลยเป็นผู้ถือหุ้นพิพาท ต้องด้วยข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1141 แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามกฎหมายที่ไม่เด็ดขาด คู่ความมีสิทธินำสืบหักล้างได้ เมื่อข้อเท็จจริงตามคำฟ้องและคำให้การยังไม่อาจรับฟังเป็นยุติได้ การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องคำให้การแล้วเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้และมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยจึงไม่ชอบ ศาลชั้นต้นชอบที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่สืบพยานโจทก์ต่อไปและมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่งดสืบพยานและอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้โจทก์ชนะคดี โดยอุทธรณ์มาในฉบับเดียวกัน แต่เมื่อศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เฉพาะในปัญหาอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งงดสืบพยานโดยเห็นว่าข้อเท็จจริงยังไม่ยุติ เห็นสมควรให้ฟังพยานหลักฐานโจทก์จำเลยเสียก่อนโดยไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ขอให้โจทก์ชนะคดี และพิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตั้งแต่การสืบพยานโจทก์ต่อไปและพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้โจทก์อุทธรณ์ขอให้โจทก์ชนะคดีมาด้วยก็ตาม แต่ศาลอุทธรณ์ก็ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาตามคำฟ้องและคำให้การ เพราะยังไม่มีข้อเท็จจริงเนื่องจากศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย ต้องย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยจนสิ้นกระแสความแล้วพิพากษาใหม่ จึงเป็นกรณีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งตามตาราง 1 ข้อ (2) (ก) ท้าย ป.วิ.พ. กำหนดให้เสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6697/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การยอมรับเงื่อนไขการโอนที่ดินหลังสัญญาจะซื้อขาย โดยการสืบพยานคนกลาง ศาลต้องตัดสินตามคำเบิกความ
คู่ความท้ากันให้ศาลวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทเพียงข้อเดียวว่า ที่ดินพิพาทหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายแล้วสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 หรือไม่ หากสามารถจดทะเบียนโอนได้ โจทก์จะยอมแพ้ หากไม่สามารถโอนได้ จำเลยทั้งสี่จะยอมแพ้คดี และตกลงให้สืบพยานคนกลางเพียงปากเดียว โดยให้ศาลถามพยานว่าที่ดินพิพาทสามารถจดทะเบียนโอนให้ได้ตามกฎหมายหรือไม่ แล้วตัดสินคดีไปตามนั้น พยานคนกลางเบิกความตอบคำถามว่า ที่ดินพิพาทถึงแม้จะทำกัน (หมายถึงทำสัญญาจะซื้อจะขาย) ภายหลังที่ พ.ร.ฎ. กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2531 ใช้บังคับ หากคู่สัญญายืนยันรับผิดชอบกันเองก็สามารถที่จะโอนกันได้ตามกฎหมาย คำเบิกความของพยานคนกลางจึงตรงตามคำท้าและสมฝ่ายจำเลย เพราะรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทหลังจากทำสัญญาจะซื้อจะขายสามารถจดทะเบียนโอนได้ในวันที่ 3 ตุลาคม 2533 แล้ว โจทก์จึงต้องเป็นฝ่ายแพ้คดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5684/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากสัญญาเงินกู้, อัตราดอกเบี้ยสูงสุด, และอำนาจศาลในการลดเบี้ยปรับ
ตามหนังสือสัญญากู้เงินระหว่างบริษัทเงินทุนโจทก์กับจำเลยในข้อ 3 วรรคหนึ่ง ระบุว่า ผู้กู้ตกลงชำระดอกเบี้ยให้ผู้ให้กู้ในอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี และวรรคสองระบุว่า อัตราดอกเบี้ยตามวรรคหนึ่ง ผู้ให้กู้มีสิทธิเปลี่ยนแปลงให้สูงขึ้นหรือต่ำลงได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ผู้กู้ทราบล่วงหน้า แต่ต้องไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนดไว้ ข้อ 7 ระบุว่า ในกรณีดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้อันเป็นเหตุให้ผู้ให้กู้มีสิทธิดำเนินการตามข้อ 8 และข้อ 8 ระบุว่าในกรณีที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาดังกล่าวในข้อ 7 ผู้กู้ยินยอมให้ผู้ให้กู้คิดดอกเบี้ยในต้นเงินที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดที่ผู้ให้กู้ได้มีประกาศกำหนดให้เรียกเก็บจากผู้กู้ยืมได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย นับตั้งแต่วันที่ผู้กู้ตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาข้อตกลงตามข้อ 7 และข้อ 8 มีลักษณะเป็นการกำหนดเพื่อทดแทนค่าเสียหายของโจทก์ล่วงหน้าสำหรับกรณีเมื่อจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดผิดสัญญาที่ไม่ผ่อนชำระเงินกู้ให้แก่โจทก์ จึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ มิใช่เป็นกรณีที่โจทก์ใช้สิทธิที่จะเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้นในกรณีปกติตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3 วรรคสอง
จำนองเป็นเพียงอุปกรณ์ของหนี้ที่เป็นประกัน การที่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้จะมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยในหนี้ที่มีจำนองนั้นเป็นประกันในอัตราเพียงใด จึงขึ้นอยู่กับหนี้ที่จำนองนั้นเป็นประกันหรือหนี้ประธาน โจทก์จึงไม่อาจนำอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาจำนองมาใช้เรียกจำเลยได้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 เพียงแต่กำหนดให้ศาลมีอำนาจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน แต่การที่ศาลชั้นต้นกำหนดเบี้ยปรับให้ลดลงเหลืออัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตามปกติที่โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามสัญญาคืออัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี จึงมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด จึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว
การที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณาหาได้มีผลเป็นการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้องไม่ โจทก์ยังมีหน้าที่ที่จะนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานให้ศาลเห็นว่าคดีโจทก์มีมูลที่จะเรียกให้จำเลยรับผิดตามฟ้องได้โดยไม่ขัดต่อกฎหมายด้วยและศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์ได้รับชำระหนี้ตามจำนวนที่โจทก์พึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระจากจำเลยได้ตามกฎหมายเท่านั้น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5099/2548

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การบังคับจำนำตั๋วแลกเงินก่อนกำหนด การไถ่ถอนตั๋วแลกเงินก่อนครบกำหนดชำระ และความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้น
โจทก์บรรยายฟ้องว่า ฮ. เป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์โดยมีสำเนาหนังสือมอบอำนาจแนบมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวมี ป. และ จ. ร่วมกันลงลายมือชื่อเป็นผู้กระทำการแทนโจทก์ จำเลยให้การเพียงว่าขณะยื่นฟ้องคดี ป. มิได้เป็นรองประธานธนาคารโจทก์และ จ. มิได้เป็นเลขานุการผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์แล้ว จึงถือว่าจำเลยทั้งสองรับว่าบุคคลทั้งสองยังมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่ในขณะที่ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว และเมื่อในขณะฟ้องคดีนี้โจทก์ยังมิได้มีหนังสือเพิกถอนการมอบอำนาจดังกล่าว การมอบอำนาจดังกล่าวจึงยังสมบูรณ์อยู่และใช้บังคับได้ตามกฎหมาย แม้หากจะมีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งหรือเปลี่ยนตัวผู้มีอำนาจกระทำกิจการแทนโจทก์จาก ป. และ จ. ไปเป็นบุคคลอื่นภายหลังจากที่ทั้งสองคนลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจไว้โดยชอบแล้ว ก็หาทำให้กิจการของโจทก์ที่ได้กระทำไปแล้วโดยบุคคลทั้งสองต้องเสียไป หรือไม่สมบูรณ์แต่อย่างใด โจทก์ไม่จำต้องนำพยานหลักฐานมาสืบว่าขณะฟ้องคดีนี้บุคคลทั้งสองยังคงมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อยู่
จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งว่า โจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานมาสืบแสดงให้เห็นว่าโจทก์ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับปัจจัยชำระเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นการทำสัญญาและธุรกรรมเกี่ยวกับการซื้อขายเงินตราต่างประเทศของโจทก์ตามฟ้องจึงตกเป็นโมฆะ ปัญหาที่ว่าโจทก์ได้รับอนุญาตดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นปัญหาข้อเท็จจริงที่จะนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมายว่าการทำธุรกรรมดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือไม่ แต่จำเลยไม่ได้ยกข้อเท็จจริงดังกล่าวขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงเป็นข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง อุทธรณ์ข้อนี้จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 38 ประกอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคแรก
จำเลยจำนำตั๋วแลกเงินเป็นประกันหนี้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้รับจำนำโดยเป็นผู้ทรงที่ได้รับสลักหลังและรับมอบตั๋วแลกเงินไว้ในครอบครอง ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 926 และ 766 นั้น เมื่อมีการสลักหลังเพื่อจำนำตั๋วแลกเงิน ผู้ทรงย่อมใช้สิทธิทั้งปวงอันเกิดแต่ตั๋วนั้นได้ทั้งสิ้น และผู้รับจำนำตั๋วแลกเงินก็มีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วนั้นในวันถึงกำหนดได้โดยไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินเฉพาะที่ถึงกำหนดนำเงินมาหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ โดยโจทก์ไม่จำเป็นต้องบอกกล่าวบังคับจำนำแก่จำเลยที่ 1 ก่อน
ในกรณีจำนำทรัพย์สินตามปกติทั่วไปนั้น หากผู้รับจำนำจะบังคับจำนำก็ต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นเสียก่อน ถ้าลูกหนี้ไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าวผู้รับจำนำจึงชอบที่จะนำทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายทอดตลาดได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 764 วรรคหนึ่งและวรรคสอง โดยหากมีการตกลงให้จัดการแก่ทรัพย์สินนั้นเป็นประการอื่นนอกจากบทบัญญัติว่าด้วยการบังคับจำนำ ข้อตกลงเช่นนั้นย่อมไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 756 และแม้เฉพาะในกรณีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่ผู้จำนำนำมาจำนำเป็นประกันหนี้นั้น ผู้รับจำนำมีสิทธิเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกกล่าวบังคับจำนำก่อนก็ตาม แต่ก็ต้องเรียกเก็บเงินตามตั๋วแลกเงินในวันถึงกำหนดชำระเงินด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 766 การที่โจทก์ใช้วิธีการบังคับชำระหนี้จากตั๋วแลกเงินที่รับจำนำไว้ดังกล่าวโดยการนำไปไถ่ถอนก่อนครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วแลกเงินนั้น ไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ทั้งการไถ่ถอนหรือขอรับเงินตามตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดชำระเงินตามตั๋วนี้ ผู้จ่ายก็ชอบที่จะไม่จ่ายเงินได้จนกว่าจะถึงวันครบกำหนดชำระ แต่กรณีนี้ผู้จ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินนั้นยอมจ่ายเงินตามตั๋วแลกเงินให้แก่โจทก์ โดยมีการหักลดเงินตามตั๋วไว้ ทำให้ผู้จ่ายเงินได้ประโยชน์จากส่วนลดนั้น ขณะที่โจทก์ก็ได้ประโยชน์ได้รับเงินมาชำระหนี้ แต่จำเลยที่ 1 กลับเป็นฝ่ายต้องเสียประโยชน์จากการที่มีการนำเงินที่ได้จากการไถ่ถอนตั๋วแลกเงินก่อนวันครบกำหนดน้อยกว่าจำนวนเงินตามตั๋วซึ่งนำไปหักชำระหนี้ได้น้อยลง จำเลยที่ 1 ย่อมได้รับความเสียหายจากการกระทำอันมิชอบของโจทก์ดังกล่าว จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โจทก์ใช้เงินส่วนที่ขาดไปนั้น หรือคิดหักชำระหนี้เสียให้ถูกต้องได้
of 210