คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 383

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 488 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อสัญญาคิดดอกเบี้ยสูงเกินประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นโมฆะ
การคิดดอกเบี้ยของโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ที่กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยหรือส่วนลดที่ธนาคารพาณิชย์อาจเรียกได้และหากธนาคารพาณิชย์ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามย่อมมีความผิดทางอาญาตาม มาตรา 44 เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 กำหนดไว้ในข้อ 3 (1) และ (2) ให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา อัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี ส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี กับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์จะเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข และในข้อ 3 (4) กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยและส่วนลดจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยและส่วนลดได้ไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุด ที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข แต่ตามสัญญากู้เงินระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองที่ทำกันเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2537 ข้อ 2 ตกลงให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยนับแต่วันทำสัญญากู้เงินเป็นต้นไปอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับเรียกจากลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามประกาศธนาคารโจทก์ที่ใช้อยู่ในขณะทำสัญญานี้ เป็นข้อสัญญาที่ให้สิทธิโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ทั้งที่จำเลยทั้งสองยังไม่ได้ปฏิบัติผิดสัญญา ซึ่งโจทก์ยังไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้โดยชอบ โดยจะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในอัตรานี้ได้ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้อันเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาแล้วเท่านั้น จึงจะถูกต้องตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ข้อ 3 (4) ดังกล่าว ข้อสัญญาข้อนี้จึงเป็นข้อสัญญาที่ทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ให้โจทก์เรียกดอกเบี้ยโดยฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนต่อ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา 44 จึงเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ย่อมตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้ในทางปฏิบัติจริงโจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยทั้งสองในอัตราที่ต่ำกว่าที่ระบุไว้ในสัญญาก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้ข้อสัญญาที่ตกเป็นโมฆะนั้นกลับสมบูรณ์ขึ้นมาได้
ตามสัญญากู้เงิน ข้อ 4 ที่ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราตามที่ระบุในข้อ 2 ซึ่งหมายถึงอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข เป็นกรณีการคิดดอกเบี้ยนับแต่จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้แล้ว ซึ่งโจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไขได้ สัญญาข้อ 4 นี้จึงไม่ตกเป็นโมฆะ แต่เป็นสัญญาที่กำหนดค่าเสียหายเป็นดอกเบี้ยสูงเนื่องจากจำเลยทั้งสองผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนก็มีอำนาจพิพากษาลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 108/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้สิทธิเรียกร้องค่าปรับจากสัญญาจ้างก่อสร้างที่ล่าช้า ศาลพิจารณาความเหมาะสมของการบอกเลิกสัญญาและปรับลดค่าปรับ
จำเลยรับจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร เมื่อจำเลยส่งมอบงานงวดที่ 6 ล่าช้า โจทก์แจ้งสงวนสิทธิขอปรับตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้าง จำเลยไม่ยินยอม คู่สัญญาจึงทำข้อพิพาทเสนอให้อนุญาโตตุลาการพิจารณา โดยอนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดให้ขยายเวลาปฏิบัติตามสัญญาออกไปอีก 120 วัน นับแต่วันที่สัญญาสิ้นสุด จำเลยมิได้ทำงานงวดที่ 7 ถึงที่ 10 โจทก์จึงมีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยขอคิดค่าปรับจากจำเลยในช่วงเวลาที่ผิดสัญญา แต่แม้ตามสัญญาจะมีการกำหนดให้คิดเบี้ยปรับไว้ แต่เบี้ยปรับดังกล่าวก็เป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าอาจจะสูงหรือต่ำกว่าค่าเสียหายแท้จริงก็ได้ ซึ่งต้องปรับด้วย ป.พ.พ. มาตรา 383 วรรคแรก ที่ให้ศาลพิจารณาลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงเป็นจำนวนที่พอสมควรตามบทบัญญัติดังกล่าวได้ เมื่อศาลอุทธรณ์เห็นว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่เหมาะสมโดยมิได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยในเวลาอันสมควร การที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้เอาวันหลังจากอนุญาโตตุลาการมีคำวินิจฉัยและจำเลยทำหนังสือข้อตกลงขยายระยะเวลาปฏิบัติงานตามสัญญา 1 เดือนเศษ โดยการขยายระยะเวลาดังกล่าวไม่มีผลให้ปฏิบัติได้จริง เพราะมีคำวินิจฉัยเมื่อพ้นกำหนดเวลานั้นแล้ว คงมีผลเพียงเพื่อลดวันที่จำเลยจะต้องชำระค่าปรับและจำเลยไม่อาจดำเนินการตามสัญญาต่อไปได้อีก เป็นวันเลิกสัญญา เป็นการใช้ดุลพินิจที่ถูกต้องเป็นธรรมแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7916/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การคิดดอกเบี้ยผิดสัญญา, เบี้ยปรับ, การลดเบี้ยปรับ, และอำนาจศาลในการปรับปรุงเบี้ยปรับตามความเหมาะสม
การที่ธนาคารโจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 1 ไว้ในสัญญาทรัสต์รีซีทให้โจทก์เป็นฝ่ายมีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนอัตราใดอัตราหนึ่งในระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนในวันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้า หรืออัตราแลกเปลี่ยนที่ตกลงกันไว้ หรืออัตราแลกเปลี่ยนในวันครบกำหนดชำระเงินตามทรัสต์รีซีท เป็นเพียงข้อตกลงเพื่อทำให้โจทก์ไม่ต้องรับภาระในความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินเท่านั้น หาได้ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่อย่างใดไม่ ข้อตกลงดังกล่าวย่อมใช้บังคับกันได้ โจทก์จึงมีสิทธิเลือกใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นเงินบาทในวันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแก่ผู้ขายในต่างประเทศตามข้อตกลงในสัญญาดังกล่าวนั้นได้
สัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุว่า ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้ขายสินค้าหรือแม้จะมิได้นำสินค้าออกขายก็ดี จำเลยที่ 1 จะต้องนำเงินมาชำระค่าสินค้าในจำนวนและในกำหนดเวลาที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายแก่โจทก์ ตลอดจนยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ระบุไว้ตามรายละเอียดแนบท้ายในอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บได้ตามที่มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด (ระบุตัวเลขอัตราดอกเบี้ย) นับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระเงินค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ข้อความตามสัญญาข้อ 4 นี้ มีลักษณะกำหนดให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์ได้จ่ายค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไปตามเลตเตอร์ออฟเครดิตให้แก่โจทก์ภายในกำหนดเวลาที่ระบุในรายละเอียดแนบท้ายสัญญาทรัสต์รีซีท และให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่โจทก์ได้ชำระค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 กรณีเช่นนี้หากจำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามรายละเอียดแนบท้ายสัญญาดังกล่าว ย่อมไม่ถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ ทั้งในกรณีที่จำเลยที่ 1 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แก่โจทก์ ก็มีสัญญาข้อ 7 ระบุถึงการชำระดอกเบี้ยในกรณีผิดนัดไว้อีกข้อหนึ่ง ดังนี้ เห็นได้ว่าสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 เป็นข้อสัญญาที่ระบุถึงการคิดดอกเบี้ยในช่วงที่จำเลยที่ 1 ไม่ผิดนัดชำระหนี้เท่านั้น ในการเรียกดอกเบี้ยนี้โจทก์ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด ตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) หากฝ่าฝืนถือว่ามีความผิดที่ต้องรับโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 44 ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด ฉบับลงวันที่ 20 ตุลาคม 2536 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว มาตรา 14 ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดี และส่วนต่างสูงสุดที่จะใช้บวกเข้ากับอัตราดอกเบี้ยที่เรียกเก็บจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีนั้น และให้ธนาคารพาณิชย์เรียกดอกเบี้ยจากลูกค้าทุกประเภทได้ไม่เกินอัตราที่เรียกจากลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกส่วนต่างสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนด เว้นแต่ในกรณีลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ธนาคารพาณิชย์จะเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศกำหนดสำหรับลูกค้าที่ปฏิบัติผิดเงื่อนไข ดังนั้น โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดสูงสุดได้ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้แล้วเท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ยังมิได้ผิดนัดชำระหนี้ โจทก์จะเรียกดอกเบี้ยได้ไม่เกินอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดหรืออัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดีบวกด้วยส่วนต่างสูงสุดตามประกาศธนาคารโจทก์เท่านั้น แต่ตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 ระบุให้สิทธิแก่โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดภายใต้ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย โดยระบุอัตราดอกเบี้ยในขณะทำสัญญาทรัสต์รีซีทเท่ากับอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปที่ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาตามที่ระบุไว้ในประกาศธนาคารโจทก์ จึงเป็นอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินกว่าอัตราสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไป ตามประกาศธนาคารโจทก์ดังกล่าว สัญญาทรัสต์รีซีทจึงมีการระบุอัตราดอกเบี้ยในลักษณะที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สิทธิแก่โจทก์เรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ก่อนเวลาผิดนัดเกินกว่าอัตราดอกเบี้ยสูงสุดที่โจทก์เรียกได้จากลูกค้าทั่วไปที่ไม่ผิดนัดตามประกาศธนาคารโจทก์ อันเป็นการทำสัญญาฝ่าฝืนต่อประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์รวมทั้งโจทก์ปฏิบัติในเรื่องดอกเบี้ยและส่วนลด และเป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษทางอาญาตาม พ.ร.บ. การธนาคารพาณิชย์ พ.ศ. 2505 มาตรา 14 (2) และ 44 อันเป็นกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ข้อตกลงในเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
คดีนี้นอกจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดในมูลหนี้ตามคำขอเปิดเลตเตอร์ออฟเครดิตประกอบกับสัญญาทรัสต์รีซีทแล้ว โจทก์ยังฟ้องให้จำเลยรับผิดในมูลหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินซึ่งจำเลยที่ 1 ออกให้ไว้แก่โจทก์ เพื่อชำระหนี้ตามเลตเตอร์ออฟเครดิตและทรัสต์รีซีทดังกล่าวด้วย เมื่อปรากฏว่าตั๋วสัญญาใช้เงินตกลงให้โจทก์คิดดอกเบี้ยเอาจากจำเลยที่ 1 นับแต่วันออกตั๋วสัญญาใช้เงินแต่ละฉบับ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่มีการหักเงินจากบัญชีเงินฝากของโจทก์ชำระหนี้ค่าสินค้าแทนจำเลยที่ 1 ไป อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวนั้นไม่เกินอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสำหรับลูกค้าทั่วไปตามประกาศธนาคารโจทก์ จึงเป็นอัตราที่โจทก์มีสิทธิคิดได้ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยและประกาศธนาคารโจทก์ ดังนั้น แม้ข้อตกลงตามสัญญาทรัสต์รีซีท ข้อ 4 จะตกเป็นโมฆะดังวินิจฉัยมาข้างต้น แต่โจทก์ก็ยังมีสิทธิคิดดอกเบี้ยตามข้อตกลงในตั๋วสัญญาใช้เงินได้ และที่ตั๋วสัญญาใช้เงินระบุว่าในกรณีที่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้สินในวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินถึงกำหนดใช้เงิน จำเลยที่ 1 ยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราที่ระบุไว้ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดที่ธนาคารโจทก์ประกาศกำหนดไว้สำหรับลูกค้าที่ผิดนัดชำระหนี้หรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขตามสัญญาในแต่ละช่วงเวลา แต่อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นอัตราดอกเบี้ยที่ปรับสูงขึ้นเพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงิน ดังนั้น เงินค่าดอกเบี้ยส่วนที่สูงกว่าที่กำหนดไว้เดิมจึงถือเป็นเบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากสูงเกินส่วนศาลก็มีอำนาจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5644/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สัญญาประนีประนอมยอมความผูกพันจำเลย แม้ไม่มีหลักฐานกู้ยืมเป็นหนังสือ ดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15
โจทก์ฟ้องขอบังคับตามสัญญาประนีประนอมยอมความ แม้หนี้เดิมจะมาจากมูลหนี้การกู้ยืมเงิน แต่โจทก์มิได้ฟ้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืม โจทก์จึงไม่จำต้องมีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้กู้มาแสดงต่อศาล
หนี้ตามต้นเงินที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ เป็นหนี้จากมูลสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนี้กู้ยืมจึงไม่มีบทกฎหมายใดห้ามมิให้โจทก์เรียกหรือคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 15 ต่อปี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2793/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ดอกเบี้ยผิดสัญญาและเบี้ยปรับ: ศาลลดเบี้ยปรับได้หากสูงเกินสมควร, หนี้จำนองคิดดอกเบี้ยตามหนี้ประธาน
แม้โจทก์ซึ่งเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ จำกัด จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยเงินกู้จากผู้กู้ได้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่อง การกำหนดให้บริษัทเงินทุนปฏิบัติในการกู้ยืมเงินหรือรับเงินจากประชาชนฯ และตามประกาศของบริษัทโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อขณะทำสัญญากู้เงิน โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 14 ต่อปี และต่อมาได้ทำสัญญากู้เพิ่มกำหนดดอกเบี้ยใหม่เป็นอัตราร้อยละ 12.5ต่อปี แม้จะมีข้อตกลงต่อไปว่า ในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือชำระไม่ถูกต้องจำเลยยอมให้โจทก์เรียกให้ชำระหนี้ทั้งหมดและคิดดอกเบี้ยในเงินต้นที่ค้างชำระในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ก็ตาม ข้อตกลงดังกล่าวมีลักษณะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้า ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้เดิมจึงเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 383
หนี้จำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์ซึ่งจะต้องมีหนี้ประธานเสียก่อน การบังคับจำนองจึงจะกระทำได้ เมื่อหนี้กู้ยืมเงินซึ่งเป็นหนี้ประธานกำหนดอัตราดอกเบี้ยเท่าใดหนี้จำนองซึ่งเป็นหนี้อุปกรณ์จึงคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้เพียงเท่าดอกเบี้ยที่โจทก์คิดไว้จากหนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธาน ซึ่งตามสัญญากู้เงินเพิ่มเติมครั้งที่ 1จำเลยได้กู้ยืมเงินโจทก์เพิ่มอีก โดยระบุว่าจำเลยยอมชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปี จึงเป็นข้อตกลงตามเจตนาของคู่สัญญา อัตราดอกเบี้ยดังกล่าวจึงมิใช่เบี้ยปรับ แม้จำเลยผิดสัญญาโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยในอัตราร้อยละ 12.5 ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 วรรคหนึ่งศาลชั้นต้นลดเบี้ยปรับจากอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ลงโดยกำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งน้อยกว่าอัตราดอกเบี้ยก่อนที่จำเลยผิดนัดมีผลเป็นการงดเบี้ยปรับโดยสิ้นเชิงจึงไม่ถูกต้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1944/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ค่าสูญเสียจากสัญญาเช่าซื้อที่ไม่คืนทรัพย์ ไม่ใช่การชำระราคา จึงไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และศาลมีอำนาจปรับลดเบี้ยปรับได้
เมื่อสัญญาเช่าซื้อระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ได้เลิกกันแล้ว จำนวนเงินค่าสูญเสียตามสัญญาเช่าซื้ออันเนื่องจากการไม่คืนทรัพย์ที่เช่าซื้อที่ลูกหนี้ต้องรับผิดต่อเจ้าหนี้มิใช่เป็นการชำระราคาค่าเช่าซื้อที่ถึงกำหนดชำระแต่ละยอด อันจะก่อให้เกิดความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ ลูกหนี้จึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้มา
ค่าปรับที่เกิดจากข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้อันเนื่องจากลูกหนี้ชำระหนี้ล่าช้า โดยกำหนดให้เจ้าหนี้มีสิทธิได้รับเงินค่าปรับเป็นรายวัน เป็นข้อตกลงที่กำหนดค่าเสียหายกันไว้ล่วงหน้าวิธีหนึ่ง อันมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจปรับลดได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 และมาตรา 383

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1514/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาซื้อขาย: ศาลมีอำนาจลดจำนวนเบี้ยปรับได้ตามความเหมาะสม โดยพิจารณาจากความเสียหายที่แท้จริง
แม้เบี้ยปรับจะเป็นค่าเสียหายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแต่ก็มิใช่ถือเป็นการกำหนดค่าเสียหายที่เด็ดขาด เพราะหากเจ้าหนี้เห็นว่าเบี้ยปรับที่กำหนดไว้น้อยเกินไปก็ยังมีสิทธิเรียกร้องเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อการไม่ชำระหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 380 ขณะเดียวกันถ้าเป็นกรณีเรียกค่าเสียหายเป็นเบี้ยปรับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 ก็ให้อำนาจศาลที่จะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้โดยพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งข้อเท็จจริงทางหนึ่งย่อมได้จากการนำสืบของคู่ความ เมื่อโจทก์นำสืบเพียงว่าการผิดสัญญาของจำเลยที่ไม่ส่งมอบลิฟท์ทำให้ระยะเวลาและแผนงานของโจทก์ที่กำหนดไว้เสียหาย โดยไม่มีรายละเอียดอื่นใดจึงหามีความชัดแจ้งพอกับความเสียหายที่แท้จริงที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเบี้ยปรับเต็มตามจำนวนที่ตกลงไว้ในสัญญาไม่ แม้จำเลยจะมิได้ให้การและนำสืบหักล้าง แต่ศาลก็มีอำนาจใช้ดุลพินิจกำหนดให้เป็นจำนวนพอสมควรได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 928/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ข้อตกลงค่าปรับในสัญญาจ้างแรงงาน และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกัน
ข้อตกลงที่ลูกจ้างจะชดใช้ค่าเสียหายและค่าปรับให้แก่นายจ้างในกรณีที่ลูกจ้างก่อให้เกิดความเสียหายแก่นายจ้าง เป็นข้อตกลงในทางแพ่งโดยทั่วไปซึ่งนายจ้างและลูกจ้างสามารถทำข้อตกลงดังกล่าวได้ และค่าปรับก็มีลักษณะเช่นเดียวกับเบี้ยปรับคือเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้า หากสูงเกินส่วนศาลก็ลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างทำข้อตกลงชดใช้ค่าเสียหายพร้อมค่าปรับจำนวน 5 เท่า ของราคาทรัพย์หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่โจทก์ผู้เป็นนายจ้าง จึงไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ
แม้สัญญาค้ำประกันหมาย จ. 5 จะระบุว่าจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ยินยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ทุกประการก็ตาม แต่ความรับผิดดังกล่าวหมายถึงความเสียหายที่จำเลยที่ 1 ก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานให้แก่โจทก์ตามที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแรงงานหมาย จ. 3 เท่านั้น ส่วนข้อตกลงตามหนังสือแนบท้ายสัญญาจ้างหมาย จ. 4 ซึ่งจำเลยที่ 1 ตกลงจะชดใช้ค่าปรับอีกส่วนหนึ่งจำนวน 5 เท่าของค่าเสียหายแก่โจทก์ เพิ่งจัดทำขึ้นภายหลังจากจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันหมาย จ. 5 แล้ว โดยจำเลยที่ 2 มิได้ลงชื่อให้ความยินยอมด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดชำระค่าปรับจำนวน 5 เท่า แก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 169/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นตามสัญญา และหน้าที่ชำระเบี้ยประกันภัยที่ยังไม่ถึงกำหนด
สัญญากู้เงินระหว่างจำเลยผู้กู้กับโจทก์ผู้ให้กู้กำหนดข้อตกลงเกี่ยวกับดอกเบี้ยของหนี้เงินกู้ไว้แล้ว แม้ตามสัญญาจำนองจะระบุว่าจำเลยตกลงให้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 19 ต่อปี แต่เมื่อสัญญาจำนองเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยตามอัตราที่ระบุในสัญญากู้เงินซึ่งเป็นหนี้ประธาน การที่โจทก์ปรับเพิ่มดอกเบี้ยให้สูงกว่าอัตราร้อยละ 11.50 ต่อปีตามสัญญากู้เงินเพราะเหตุที่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้โจทก์เป็นประจำทุกเดือนและค้างชำระติดต่อกันหลายงวด แม้เป็นการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยโดยอาศัยข้อตกลงตามสัญญากู้เงินที่ให้สิทธิแก่ผู้ให้กู้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นได้ใหม่เมื่อใดก็ได้เมื่อผู้กู้ผิดนัด ข้อตกลงเช่นว่านี้มีลักษณะเป็นค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนซึ่งคู่สัญญากำหนดกันไว้ล่วงหน้าในเมื่อลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรอันเป็นเบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 เมื่อศาลเห็นว่าสูงเกินส่วนย่อมมีอำนาจลดลงได้
การที่จำเลยมีหน้าที่ตามสัญญาที่จะต้องเอาประกันภัยสิ่งปลูกสร้างซึ่งจำนองไว้แก่โจทก์ โดยจำเลยตกลงให้โจทก์จัดการทำประกันภัยได้เอง และจำเลยยินยอมชำระเบี้ยประกันภัยคืนแก่โจทก์ แต่เมื่อหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระเบี้ยประกันภัยภายหลังวันฟ้องเป็นหนี้ซึ่งยังไม่ถึงกำหนดชำระ อันเป็นหนี้ในอนาคต จะถือว่าจำเลยละเลยเสียไม่ชำระหนี้ของตนนั้นยังไม่ได้ กรณียังไม่มีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของโจทก์กับจำเลยตามกฎหมายที่จะฟ้องให้จำเลยรับผิดชำระหนี้ดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 162/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เบี้ยปรับสัญญาเช่าซื้อ: ศาลลดเบี้ยปรับได้ แต่ไม่งดเว้นทั้งหมด
สัญญาเช่าซื้อที่ให้โจทก์ได้รับเช่าซื้อค้างชำระก่อนเลิกสัญญาจนครบถ้วนแก่เจ้าของจนถึงวันที่โจทก์ได้รับรถยนต์คืนหรือวันบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อนั้น เป็นข้อสัญญาที่กำหนดความรับผิดในความเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ไว้ล่วงหน้ามีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับ ซึ่งถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แต่จะพิพากษาไม่ให้ค่าเสียหายส่วนนี้เสียเลยไม่ได้เพราะไม่มีบทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตราใดที่ให้อำนาจศาลที่จะงดเบี้ยปรับเสียทั้งหมด
of 49