คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 142 วรรคแรก

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 9 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7494/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารประกอบคำให้การ, ค่าธรรมเนียม, และการต่อสู้คดี: ศาลรับฟังได้หากจำเลยไม่ได้จงใจหลีกเลี่ยง
เอกสารท้ายคำให้การที่จำเลยอ้างถึงในคำให้การถือเป็นส่วนหนึ่งของคำให้การจึงไม่ต้องระบุอ้างเอกสารดังกล่าวในบัญชีระบุพยานอีก ศาลรับฟังได้
การที่จำเลยไม่เสียค่าอ้างเอกสารนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยจงใจฝ่าฝืนไม่เสียและศาลชั้นต้นก็มิได้สั่งเรียกเก็บ จึงมิใช่ความบกพร่องของจำเลย ไม่ควรยกเป็นเหตุไม่รับฟังเอกสาร
จำเลยให้การต่อสู้ใจความว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินจากโจทก์ตามฟ้อง ไม่เคยทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ โจทก์บังคับให้จำเลยลงลายมือชื่อในกระดาษเปล่า เป็นการปฏิเสธฟ้องโจทก์โดยสิ้นเชิงและอ้างที่มาแห่งสัญญากู้เงินตามฟ้องว่ามีความเป็นมาอย่างไร เป็นคำให้การที่ชัดแจ้งไม่ขัดกัน ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่เชื่อว่าจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์ตามฟ้องจึงมิใช่การวินิจฉัยนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7314/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดจากประมาทเลินเล่อของทนายความ/นิติกร และหนังสือรับสภาพหนี้
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นพนักงานของโจทก์ โดยมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันความเสียหายของจำเลยที่ 1 ขณะปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่โดยลำพังมิได้รับอนุญาตหรือได้รับมอบหมายจากโจทก์อันเป็นความประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์เสียหายอย่างร้ายแรง คิดเป็นเงินจำนวน 349,494.55 บาท จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ว่าจะชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้โจทก์ จึงถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง แล้ว หาเป็นคำฟ้องที่ขัดกันเองไม่ ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
จำเลยที่ 1 เป็นทนายความว่าความให้โจทก์ จึงถือว่าโจทก์เป็นตัวการและจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทน เมื่อโจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 รับผิดฐานะเป็นตัวแทนกระทำการโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ผู้เป็นตัวการเสียหายซึ่งมิได้มีบทบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะแล้วย่อมมีอายุความฟ้องร้องสิบปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 เดิม (มาตรา 193/30 ที่แก้ไขใหม่)หาใช่เป็นกรณีละเมิดที่ต้องใช้อายุความหนึ่งปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420, 448 ไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีภายในสิบปีแล้ว ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
เมื่อโจทก์ได้ทำบันทึกวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาลให้นิติกรหรือทนายความของโจทก์ทราบก่อนที่จำเลยที่ 1 ได้รับการบรรจุและแต่งตั้งเป็นนิติกรของโจทก์ว่าแม้ทนายความซึ่งได้แต่งตั้งโดยให้มีอำนาจให้ทำการประนีประนอมยอมความได้ก็ตาม หากจะประนีประนอมยอมความแล้ว ให้ทนายความเสนอความเห็นพร้อมด้วยรายละเอียดในเรื่องที่จะประนีประนอมยอมความต่อผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทน แล้วให้ผู้ได้รับแต่งตั้งเป็นตัวแทนเสนอขออนุมัติต่อการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโจทก์ก่อนทุกครั้ง ซึ่งบันทึกวิธีปฏิบัติดังกล่าวได้เวียนไปให้หน่วยงานต่าง ๆในสังกัดโจทก์ทราบ และได้รวบรวมไว้เป็นเล่มแต่ละปี สามารถตรวจสอบได้ง่ายและนิติกรทุกคนได้ทราบวิธีปฏิบัติดังกล่าวแล้ว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ทราบและต้องปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ทั้งก่อนวันที่จำเลยที่ 1 ทำการตกลงหรือประนีประนอมยอมความกับจำเลยในคดีดังกล่าว โจทก์ก็ได้ย้ำปรับความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการตกลงหรือประนีประนอมยอมความทางศาลให้ทนายความของโจทก์ซึ่งรวมทั้งจำเลยที่ 1 ให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด การที่จำเลยที่ 1 ทำการประนีประนอมยอมความกับจำเลยในคดีดังกล่าว โดยมิได้เสนอความเห็นพร้อมด้วยรายละเอียดในเรื่องที่จะตกลงหรือประนีประนอมยอมความต่อ อ. ผู้รับมอบอำนาจให้ฟ้องคดีเพื่อขออนุมัติต่อโจทก์ย่อมถือว่าจำเลยที่ 1 มิได้ปฏิบัติตามคำสั่งของโจทก์เกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการตกลงหรือประนีประนอมยอมความทางศาลอันเป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จะอ้างเพียงว่าเมื่อในใบแต่งทนายความให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจประนีประนอมยอมความได้แล้วจำเลยที่ 1 ย่อมมีอำนาจทำการตกลงหรือประนีประนอมยอมความตามที่จำเลยที่ 1 เห็นสมควรโดยพลการหาได้ไม่ เพราะในบันทึกวิธีปฏิบัติดังกล่าวระบุไว้ชัดแจ้งว่าแม้มีการมอบอำนาจให้นิติกรหรือทนายความประนีประนอมยอมความก็ให้นิติกรหรือทนายความเสนอขออนุมัติต่อโจทก์ทุกครั้งไป การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง เพราะทำให้โจทก์ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยที่จำเลยในคดีดังกล่าวต้องชำระให้โจทก์ตามคำพิพากษา การที่จำเลยที่ 1 รู้ว่าจำเลยที่ 1 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ ชำระเงินแก่โจทก์ หนังสือรับสภาพหนี้จึงมีผลใช้บังคับได้โดยสมบูรณ์
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 รับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ ดังนั้นเอกสารบันทึกวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาลและหนังสือย้ำความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการประนีประนอมยอมความทางศาล จึงมิใช่เป็นพยานหลักฐานอันเกี่ยวกับประเด็นโดยตรงในคดีซึ่งโจทก์จะต้องส่งสำเนาเอกสารนั้น ๆ แก่จำเลยที่ 3ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 แต่อย่างใด และโจทก์ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นประกอบถามค้านจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพยานจำเลยที่ 3 ในเวลาที่จำเลยที่ 1 เบิกความแล้ว เอกสารดังกล่าวจึงไม่ต้องห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐาน และการที่โจทก์นำสืบเอกสารดังกล่าวก็เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดหน้าที่โดยฝ่าฝืนคำสั่งของโจทก์ เป็นเหตุทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งถือว่าจำเลยที่ 1 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เช่นนี้เท่ากับเป็นการนำสืบว่าหนังสือรับสภาพหนี้ มีมูลหนี้ที่จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์จริง อันเป็นประเด็นโดยตรงในคดีตามฟ้องโจทก์ หาใช่เป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นไม่
เมื่อประเด็นสาระสำคัญแห่งคดีโดยตรงซึ่งภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยทั้งสามแล้ว การที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสามมีหน้าที่นำสืบก่อนในประเด็นข้อนี้ และเพื่อมิให้คดีล่าช้าจึงให้จำเลยทั้งสามนำสืบก่อนในทุกประเด็นข้ออื่นด้วยนั้น นับว่าชอบแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6722/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำสืบหลักฐานนอกคำฟ้องและคำให้การในคดีหนี้ค่าแชร์
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์แล้วผิดสัญญาไม่ชำระหนี้ค่าแชร์ ขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าแชร์ จำเลยให้การว่า ไม่เคยเป็นนายวงแชร์และไม่เคยมีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับโจทก์ประเด็นข้อพิพาทตามคำฟ้องและคำให้การจึงมีเพียงว่า จำเลยเป็นนายวงแชร์และเป็นหนี้ค่าแชร์โจทก์หรือไม่ แม้โจทก์จำเลยจะนำสืบว่าเกี่ยวกับหนี้ค่าแชร์นี้ จำเลยได้นำ พ.มาทำสัญญากู้เงินให้ไว้แก่โจทก์ก็ตาม ก็เป็นการนำสืบนอกคำฟ้องและคำให้การ คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทที่จะต้องวินิจฉัยว่าหนี้ค่าแชร์ระหว่างโจทก์จำเลยระงับไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่แล้วหรือไม่

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5953/2537 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ความรับผิดในฐานะผู้ครอบครองยานพาหนะ: จำเลยนั่งซ้อนท้ายรถ ไม่ใช่ผู้ขับขี่ ไม่ต้องรับผิด
โจทก์บรรยายฟ้องว่า การที่จำเลยเป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์และเป็นเจ้าของรถจักรยานยนต์คันที่ชนโจทก์จนโจทก์ได้รับอันตรายบาดเจ็บสาหัสจากการทำละเมิดของจำเลย จำเลยจึงต้องตกอยู่ในฐานะเป็นบุคคลที่ควบคุมดูแลยานพาหนะซึ่งเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเพียงแต่เป็นผู้นั่งซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์โดยไม่ได้เป็นผู้ขับรถจักรยานยนต์คันเกิดเหตุชนโจทก์ จึงจะให้จำเลยต้องรับผิดในฐานะผู้ครอบครองยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกลไม่ได้ เพราะเป็นการนอกฟ้อง เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องขอให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้ครอบครองรถจักรยานยนต์คันที่ชนโจทก์ในขณะเกิดเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 437

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5463/2537

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อำนาจฟ้องและการบอกเลิกสัญญา: ศาลรับฟังพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์การบอกเลิกสัญญาได้
คำฟ้องโจทก์แม้จะไม่ได้กล่าวหรือบรรยายว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแล้ว แต่จำเลยได้ให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยโดยชอบ คดีจึงมีประเด็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะโจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยหรือไม่ ดังนี้ ศาลย่อมฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบว่าโจทก์ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยแล้วหรือไม่ ได้ ไม่เป็นการฟังข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3731/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยไม่ปรากฏนิติกรรม การครอบครองปรปักษ์ และข้อยกเว้นสิทธิ
การที่ผู้ร้องทั้งสองอ้างว่าเป็นผู้ได้สิทธิครอบครองที่ดินโดยการจับจองมาแต่เริ่มแรก แต่ที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินมีโฉนดของผู้อื่น ถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสองเป็นผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่ง-และพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง นั่นเอง เพราะผู้ร้องทั้งสองไม่ได้ที่ดินมาโดยนิติกรรมจากผู้ใด และได้ความว่าผู้ร้องยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินดังกล่าวการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 นำมาตรา 1299 วรรคสอง มาปรับใช้กับคดีผู้ร้องทั้งสองแล้ววินิจฉัยว่า แม้จะฟังว่าผู้ร้องทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองผู้ร้องทั้งสองก็ไม่อาจยกข้อต่อสู้ขึ้นยันโจทก์ได้นั้น ไม่เป็นการวินิจฉัยคดีนอกประเด็น

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1429/2537 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากการเช่าซื้อผิดนัด: ค่าใช้ทรัพย์สิน ไม่ใช่ค่าเช่าค้าง
ตาม ป.พ.พ. มาตรา 574 บัญญัติไว้แต่เพียงว่า เมื่อมีการเลิกสัญญาเพราะผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิริบเงินที่ผู้ให้เช่าซื้อรับไว้และกลับเข้าครอบครองทรัพย์สินที่ให้เช่าซื้อเท่านั้น ฉะนั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างก่อนสัญญาเลิกกัน คงเรียกได้เพียงค่าที่จำเลยใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อตลอดเวลาที่ครอบครองอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรค 3และค่าเสียหายเพราะเหตุอื่นที่จำเลยต้องรับผิดนอกเหนือจากค่าเสียหายอันเกิดแต่การใช้ทรัพย์โดยชอบ
แม้คำฟ้องของโจทก์จะระบุมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้าง แต่ตามคำบรรยายฟ้องกล่าวว่า การที่จำเลยผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์จนโจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถที่เช่าซื้อกลับคืน ทำให้โจทก์เสียหาย คือจำเลยครอบครองใช้รถของโจทก์โดยไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 11 ถึงงวดที่ 17 เป็นเงิน 58,053 บาทจึงพอถือได้ว่าโจทก์ได้เรียกค่าเสียหายฐานใช้รถของโจทก์ตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองอยู่ ศาลย่อมพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2234/2515 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแบ่งมรดกโดยวิธีประมูล/ขายทอดตลาด ศาลตัดสินนอกคำฟ้องหรือไม่ และอำนาจฟ้องกรณีแบ่งมรดก
เมื่อจำเลยอุทธรณ์ จำเลยก็เห็นพ้องด้วยกับ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้แบ่งทรัพย์ระหว่างกันเองก่อนเมื่อไม่สามารถแบ่งได้ ให้ทายาทและจำเลยประมูลกันเองถ้าไม่ตกลงกันให้นำทรัพย์ออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดให้แบ่งกันตามส่วน และจำเลยยังมีคำขอท้ายอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์แบ่งทรัพย์โดยวิธีนี้อีก ดังนี้ จำเลยจะอ้างว่าศาลตัดสินนอกคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องไม่ ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคแรกเพราะโจทก์ฟ้องเรียกเป็นเงินและให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงิน ไม่ได้
กรณีฟ้องขอแบ่งมรดกเพราะผู้จัดการมรดกไม่แบ่งให้ทายาทตามสิทธิของทายาท มิใช่เป็นเรื่องแบ่งมรดกโดยสัญญาโจทก์ย่อมฟ้องได้โดยไม่ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือมาแสดงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1750 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 208/2508 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฎีกาข้อเท็จจริง: ประเด็นสำคัญของคดีต้องเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ไม่ใช่กระบวนการออกโฉนด
ในกรณีที่ประเด็นสำคัญแห่งคดีมีอยู่ว่าที่พิพาทเป็นของโจทก์จริงหรือไม่ แล้วจำเลยมาฎีกาว่าประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าจำเลยได้เคยเอาที่ดินที่เคยเช่าวัดบางส่วนกับเอาที่ดินของวัดที่ไม่ได้เช่าบางส่วนไปรวมออกโฉนดจริงหรือไม่ เช่นนี้ เมื่อประเด็นที่จำเลยว่าสำคัญเป็นประเด็นที่จำเลยยกกล่าวอ้างขึ้นมาเองเพื่อจะให้เข้ากับกฎหมายที่ประสงค์จะอ้างอิง และเพื่อที่จะให้ศาลวินิจฉัยไปตามประเด็นที่ยกขึ้นนั้น ดังนี้ เป็นฎีกาข้อเท็จจริง