คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.วิ.พ. ม. 90

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 226 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2138/2555

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน: การซื้อขายโดยไม่สุจริตของผู้ซื้อที่รู้ว่าเป็นสินสมรส
แม้โจทก์จะยื่นบัญชีพยานระบุเอกสารหนังสือของสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องแจ้งผลการวินิจฉัยโดยฝ่าฝืนต่อ ป.วิ.พ. มาตรา 88, 90 แต่เอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานสำคัญในคดีที่จะพิสูจน์หักล้างคำเบิกความของ ว. เจ้าพนักงานที่ดินที่ว่า ต้นฉบับสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทตามเอกสารหมาย จ.2 ไม่มีข้อความตามหมายเหตุที่โจทก์กล่าวอ้าง ประกอบกับเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารราชการสามารถตรวจสอบถึงความมีอยู่จริงได้โดยง่าย เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม จึงชอบที่ศาลชั้นต้นจะรับเอกสารดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 87 เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับเอกสารดังกล่าวตามบัญชีระบุพยานที่ยื่นเพิ่มเติมต่อศาล โจทก์ได้ยื่นคำร้องคัดค้านไว้และอุทธรณ์คำสั่งพร้อมกับอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่หยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัย จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 243 (1) อันเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) และเห็นสมควรให้รับเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งฟังได้ว่าโจทก์ได้แจ้งคัดค้านการขายที่ดินพิพาทไว้ต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามข้อความที่มีหมายเหตุในสารบัญจดทะเบียนที่ดินพิพาทจริง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5721/2552

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การนำเอกสารใหม่เข้าสู่ชั้นฎีกาโดยมิชอบ และน้ำหนักพยานหลักฐานการรับจ้างก่อสร้าง
จำเลยเพิ่งจะอ้างส่งบันทึกคณะกรรมการเปิดซองสอบราคาและใบเสนอราคาเป็นเอกสารท้ายฎีกา โจทก์ไม่มีโอกาสหักล้างข้อเท็จจริงหรือโต้แย้งเอกสารดังกล่าวได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบในการต่อสู้คดี ทั้งจำเลยรู้ถึงความมีอยู่ของเอกสารดังกล่าวตั้งแต่แรกที่โจทก์ฟ้องคดี การที่จำเลยยื่นเอกสารดังกล่าวในชั้นฎีกาเป็นการนำเอกสารเข้าสู่สำนวนคดีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่อาจรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้ แม้ยังมิได้ฟ้องหย่า คดีกระทบสิทธิครอบครัว อุทธรณ์ได้
โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยโดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. จึงเป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาโดยตรง หาใช่คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัวไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 6
แม้รายการใช้โทรศัพท์จะเป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารให้จำเลย แต่เมื่อปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของบริษัท อ. บุคคลภายนอก โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2)
คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย เพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 460/2550

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ อายุความหนี้, บังคับจำนอง, ดอกเบี้ยผิดนัด, ทรัพย์มรดก: สิทธิเรียกร้องจากทรัพย์สินจำนองและจำกัดความรับผิด
โจทก์ฟ้องคดีนี้เกินกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของ ช. เจ้ามรดกทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานขาดอายุความ เนื่องจากสัญญากู้เงินรายนี้มีการจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันไว้ด้วย ดังนี้ แม้หนี้ตามสัญญากู้เงินอันเป็นหนี้ประธานจะขาดอายุความ โจทก์ก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคสาม ประกอบมาตรา 193/27 แต่คงบังคับได้เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของ ช. เจ้ามรดกได้ด้วยไม่ แม้หนังสือสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเป็นประกันจะมีข้อความระบุว่า เมื่อถึงเวลาบังคับจำนองเอาทรัพย์จำนองขายทอดตลาดได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกับค่าอุปกรณ์ต่างๆ เงินยังขาดอยู่เท่าใดผู้จำนองและลูกหนี้ยอมรับผิดชอบรับใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนก็ตาม
แม้โจทก์จะเป็นธนาคารพาณิชย์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และ พ.ร.บ.การธนาคารพาณิชย์ฯ มาตรา 14 ก็ตาม ประกาศดังกล่าวหาใช่ข้อกฎหมายอันถือเป็นเรื่องที่ศาลจะรับรู้เองได้ แต่เป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งที่คู่ความมีหน้าที่นำสืบ และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าเอกสารเกี่ยวกับเรื่องอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกจากจำเลยเป็นเอกสารที่ต้องห้ามรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 ซึ่งโจทก์ก็มิได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นที่สุดถือได้ว่าโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมานำสืบว่า โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินไปจากอัตราปกติตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ได้ ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ย่อมมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้ในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในระหว่างผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 224

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2549

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การใช้เอกสารประกอบการถามค้านพยานหลักฐานที่ไม่ต้องยื่นบัญชีพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 และ 90
เอกสารที่จำเลยใช้ประกอบการถามค้านโจทก์ ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานโดยโจทก์เองก็เบิกความรับรองข้อเท็จจริงตามเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานที่ไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3770/2549 เวอร์ชัน 2 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การมอบอำนาจขายที่ดิน และการซื้อขายที่ดินโดยชอบด้วยกฎหมาย ไม่เข้าข่ายฉ้อฉล
แม้จำเลยทั้งสามมิได้ระบุเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 เป็นพยานหลักฐานแต่ได้ใช้เอกสารเหล่านั้นประกอบการถามค้านโจทก์ที่ 1 ซึ่งอ้างตนเองเป็นพยานว่าโจทก์ที่ 1 ได้รับเงินที่จำเลยที่ 1 โอนให้แก่โจทก์ที่ 1 แล้วตามใบรับฝากเงินเอกสารหมาย ล.1 ทั้งโจทก์ที่ 1 เองก็เบิกความรับรองเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 โดยยืนยันว่าเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องเกี่ยวกับหลักฐาน การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 ตามเอกสารหมาย ล.2 และ ล.3 จำเลยที่ 1 จึงอ้างเอกสารเหล่านั้นเป็นพยานหลักฐานประกอบคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ได้ กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 แม้เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.4 มิได้ระบุไว้ในบัญชีพยานและส่งสำเนาให้โจทก์ทั้งสอง ก็หาต้องห้ามมิให้รับฟังเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด
โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์ทั้งสองและทราบดีว่าเมื่อจำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จำเลยที่ 2 จะต้องจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันหนี้เงินที่จำเลยที่ 3 กู้ยืมสหกรณ์ออมทรัพย์เพื่อนำเงินมาชำระค่าที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำในขอบอำนาจที่โจทก์ทั้งสองมอบอำนาจให้ไว้ หาใช่ร่วมกันสมคบกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฉ้อฉลโจทก์ทั้งสองไม่ โจทก์ทั้งสองจึงไม่อาจฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2500/2548 เวอร์ชัน 3 คำพิพากษาฎีกานี้ มีเนื้อหาจากเว็บทางการหลายรูปแบบ

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต้องไม่เป็นคำที่เล็งถึงคุณสมบัติของสินค้า และต้องแสดงให้เห็นถึงการใช้จริงหรือความแพร่หลาย
โจทก์ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย อุทธรณ์คำสั่งคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่มีคำสั่งไม่เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าต่อศาล และหากศาลพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าย่อมมีผลเป็นการเพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอยู่ในตัว โจทก์ฟ้องโดยมิได้อ้างว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าดีกว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียน เท่ากับมิได้อ้างว่าการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นโดยไม่จำต้องฟ้องเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นจำเลยด้วยได้
แม้โจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพ้นระยะเวลาตามกฎหมาย แต่โจทก์ยังมีสิทธิที่จะยื่นบัญชีระบุพยานไม่ว่าเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษาได้อีก หากโจทก์ขออนุญาตต่อศาลโดยแสดงเหตุอันสมควรที่ต้องยื่นบัญชีระบุพยานเช่นนี้ พร้อมกับสำเนาเอกสารที่อ้างในบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าวมาด้วย เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางใช้ดุลพินิจสั่งรับบัญชีระบุพยานของโจทก์เป็นพยาน จึงรับฟังเอกสารนั้นเป็นพยานหลักฐานได้
การนำคำว่า "ชวนป๋วย" และ "ปี่แป่" ซึ่งเป็นชื่อสมุนไพรจีนที่มีคุณสมบัติใช้เป็นยาแก้ไอและขับเสมหะมาประกอบกับคำว่า "กอ" ที่หมายถึงน้ำเชื่อม และจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าคำว่า "ชวนป๋วยปี่แป่กอ" จึงเป็นการนำเอาคำที่เล็งถึงคุณสมบัติและลักษณะของสินค้ายาน้ำแก้ไอนั้นโดยตรงซึ่งไม่มีลักษณะบ่งเฉพาะมาขอจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้ายาน้ำแก้ไอ จึงไม่ชอบที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7812/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ เอกสารใช้ถามค้านพยานแล้วนำสืบเป็นพยานได้ แม้ไม่ได้ระบุในบัญชีพยาน
ใบสั่งซื้อสินค้าเป็นเอกสารที่โจทก์ใช้ในการถามค้านจำเลยที่ 2 ที่อ้างตนเองเป็นพยาน เมื่อจำเลยที่ 2 เบิกความรับรองเอกสารนั้นแล้ว โจทก์จึงอ้างส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาลชั้นต้น จึงมิใช่พยานหลักฐานสนับสนุนข้ออ้างหรือข้อเถียงของโจทก์ แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุเอกสารดังกล่าวไว้ในบัญชีระบุพยานของโจทก์ และมิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 7 วัน ก็ไม่ต้องห้ามมิให้รับฟัง กรณีไม่อยู่ในบังคับ ป.วิ.พ. มาตรา 88 และมาตรา 90 จึงรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4004/2547

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การพิจารณาคดีล้มละลาย: การรับฟังพยานหลักฐานเพื่อหักล้างหนี้สินและทรัพย์สิน
วิธีการนำสืบพยานหลักฐานในคดีล้มละลายนั้น พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ จึงต้องนำบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาใช้บังคับโดยอนุโลมตาม พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 153 (เดิม) ซึ่ง จาก ป.วิ.พ. มาตรา 87 (2) และ พ.ร.บ.ล้มละลายฯ มาตรา 14 แสดงว่า เพื่อให้ศาลพิจารณาให้ได้ความจริง และจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีโดยฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 88 กฎหมายให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานเช่นว่านั้นได้ และการที่จำเลยนำสืบพยานเอกสารซึ่งเป็นสำเนาสมุดเงินฝากออมทรัพย์ของจำเลยโดยมิได้ยื่นบัญชีระบุพยาน และมิได้ส่งสำเนาบัญชีระบุพยานให้แก่โจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 ก็เพื่อหักล้างคำพยานโจทก์ที่นำสืบถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่กฎหมายสันนิษฐานว่า มีหนี้สินล้นพ้นตัว และให้เห็นว่าตนมีเงินซึ่งพอชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ควรตกเป็นบุคคลล้มละลายอันถือได้ว่าเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ศาลล่างทั้งสองจึงมีอำนาจที่จะรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 686/2546

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ ฟ้องซ้ำ-ฟ้องไม่เคลือบคลุม-การคำนวณหนี้-เอกสารประกอบพยาน-การส่งเอกสารต่อศาล
หนังสือมอบอำนาจทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ตัวแทนกระทำกิจการใดโดยเฉพาะเจาะจง ทั้งการฟ้องคดีก็มิได้ระบุตัวบุคคลผู้เป็นลูกหนี้หรือบุคคลที่จะถูกฟ้องว่าเป็นบุคคลใด ย่อมมีผลเป็นการมอบอำนาจให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกระทำการมากกว่าครั้งเดียว โจทก์จึงใช้หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวฟ้องลูกหนี้ของโจทก์ได้ทุกคดีโดยไม่มีจำกัดจำนวนคดีและตัวบุคคล แม้โจทก์จะเคยใช้หนังสือมอบอำนาจฟ้องจำเลยมาแล้ว โจทก์ก็มีอำนาจใช้หนังสือมอบอำนาจฉบับเดิมมาฟ้องจำเลยในคดีนี้อีก
โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงินรวม1,500,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงสุดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และมีการจำนองทรัพย์สินเป็นประกันหนี้ หลังจากนั้นมีการสั่งจ่ายเช็คเบิกเงินจากบัญชีเรื่อยมา ระยะหลังจำเลยเบิกเงินจากบัญชีจำนวนมากแต่นำเงินเข้าหักทอนบัญชีจำนวนน้อย โจทก์จึงบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนอง โจทก์คำนวณหนี้คิดเพียงวันที่ 12 เมษายน 2539 ซึ่งเป็นวันเลิกบัญชีเดินสะพัด จำเลยเป็นหนี้โจทก์1,877,571.48 บาท ตามบันทึกการคำนวณดอกเบี้ยเอกสารท้ายฟ้อง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของฟ้อง ถือว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาพอให้จำเลยเข้าใจได้แล้ว ส่วนขั้นตอนของการคำนวณดอกเบี้ยแต่ละเดือนและยอดสรุปของหนี้แต่ละเดือนเป็นอย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
แม้ในคดีแรกโจทก์เคยฟ้องจำเลยในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนองศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาว่ายอดหนี้สำหรับหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีคำนวณไม่ถูกต้องจึงให้ยกคำขอของโจทก์ในส่วนนี้ แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคดีในส่วนนี้มาฟ้องใหม่ภายในกำหนดอายุความ และต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีที่สองในมูลหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีรายเดียวกันอีก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้ฟ้องโดยคำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนดไว้ โจทก์ฟ้องและนำสืบในประเด็นเดิม จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ซึ่งคดีทั้งสองดังกล่าวยังถือไม่ได้ว่าได้มีคำพิพากษาชี้ขาดประเด็นแห่งคดีแล้ว การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้อีก จึงมิใช่เป็นการรื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน ทั้งคดีนี้โจทก์ได้คำนวณดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ที่ศาลชั้นต้นได้กำหนดไว้ในคดีก่อนแล้ว จึงมิใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดมาแล้วในคดีเดิม ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือฟ้องซ้ำ
of 23