คำพิพากษาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย
ป.พ.พ. ม. 1367

พบผลลัพธ์ทั้งหมด 1,118 รายการ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครอง, โมฆะกรรม, ผู้มีส่วนได้เสีย, นิติกรรมจำนอง, ผลกระทบต่อสิทธิ
อันโมฆะกรรมนั้นเป็นการกระทำที่เสียเปล่า ไม่มีผลอย่างใดในทางกฎหมาย ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 172 วรรคหนึ่ง ทั้งผู้มีส่วนได้เสียไม่จำกัดเฉพาะคู่กรณีที่ทำนิติกรรมเท่านั้น แต่บุคคลใดที่ได้รับประโยชน์หรือเสียประโยชน์อันเกี่ยวกับโมฆะกรรม ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียทั้งสิ้น ดังนี้ หากจำเลยที่ 1 บังคับคดียึดทรัพย์จำนองที่ดินพิพาทขายทอดตลาดในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 913/2547 ของศาลชั้นต้น ย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียและถูกโต้แย้งสิทธิมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่เป็นโมฆะ โดยไม่จำต้องฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาทเสียก่อน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4138/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การแย่งการครอบครองที่ดิน, สิทธิการครอบครอง, การเช่าที่ดิน, และอายุความฟ้องขับไล่
จำเลยให้การต่อสู้ว่า ตนเองมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทดีกว่าโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การต่อมาว่า โจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาปี 2555 โจทก์รับโอนที่ดินมาจากมารดา การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเห็นได้ว่าคำให้การในตอนต้นของจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ส่วนคำให้การในตอนหลังกลับยอมรับสิทธิของโจทก์เรื่องจำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ คำให้การของจำเลยจึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง
จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ที่ดินส่วนนี้อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ก็เพียงทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน การที่จำเลยเช่าที่ดินส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเนื้อที่ 23 ไร่ 96 ตารางวาจากโจทก์ โดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนนี้ดีกว่าจำเลย โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 883/2564

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน – ผลของคำพิพากษาคดีก่อน – การบังคับคดีตามกฎหมาย
ผลของคดีก่อนถึงที่สุดว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ส่วนที่ทับที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครอง เป็นคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (1) ให้พึงเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่ ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ แม้คดีก่อนศาลมิได้มีคำสั่งให้ขับไล่โจทก์คดีนี้ แต่ ป.วิ.พ. มาตรา 348 วรรคสอง (ที่เพิ่มเติมใหม่) บัญญัติให้การบังคับคดีในกรณีที่ศาลพิพากษาให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาส่งคืนหรือส่งมอบอสังหาริมทรัพย์เฉพาะสิ่ง ให้นำบทบัญญัติในหมวด 4 การบังคับคดีในกรณีที่ให้ขับไล่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 30) พ.ศ.2560 มาตรา 21 ให้มีผลย้อนหลังไปใช้บังคับกระบวนการบังคับคดีในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาก่อนที่กฎหมายใช้บังคับด้วย ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยบังคับคดีโจทก์ในคดีก่อนได้ โจทก์ซึ่งยังไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาในคดีก่อนที่มีผลผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ไม่มีสิทธิในที่ดินและไม่อาจกล่าวอ้างสิทธิขึ้นใหม่เพื่อโต้แย้งว่าได้เปลี่ยนแปลงการยึดถือครอบครองที่ดินแทนจำเลยแล้ว

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8887/2563

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ นิติกรรมอำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินผิดกฎหมาย การได้มาซึ่งสิทธิครอบครองโดยอายุความ
ย. ตกลงขายและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้พันเอก พ. เมื่อปี 2519 ต่อมาปี 2520 เมื่อมีการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เนื่องจากติดข้อกำหนดที่ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่ง ป.ที่ดิน ย. และพันเอก พ. จึงทำสัญญาจำนองโดยไม่มีการกู้ยืมเงินจริง แต่ทำเพื่ออำพรางสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทที่ยังไม่อาจโอนสิทธิในที่ดินได้เพราะมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ สัญญาจำนองจึงเป็นนิติกรรมอำพราง ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 เมื่อสัญญาจำนองเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องบังคับไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยได้
การทำสัญญาการซื้อขายที่ดินพิพาทจึงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามกฎหมาย เป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 ดังนั้น การที่ ย. ทำสัญญาการซื้อขายและมอบให้พันเอก พ. ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท พันเอก พ. ก็หาได้สิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่เพราะอยู่ในกำหนดห้ามโอนตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อพ้นระยะเวลาห้ามโอนคือวันที่ 24 สิงหาคม 2530 พันเอก พ. และทายาทครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอย่างต่อเนื่องและเป็นผู้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาโดยตลอดตั้งแต่ พ.ศ.2528 ถึง พ.ศ.2559 โดยไม่ปรากฏว่า ย. หรือทายาทเข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทในช่วงระยะเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ย. หรือทายาทได้สละการครอบครองที่พิพาทให้แก่พันเอก พ. แล้ว ย่อมถือว่าพันเอก พ. ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา พันเอก พ. ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ.มาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1476/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดิน: การโอนสิทธิและผลของการครอบครองโดยชอบธรรม
โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา แต่ที่ดินพิพาทกลับมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ และมีชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับซื้อฝาก เป็นการรบกวนการครอบครองที่ดินพิพาท เท่ากับเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองโต้แย้งการครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ โจทก์จึงเสนอคดีของตนต่อศาลได้ ส่วนที่ดินพิพาทไม่ใช่แปลงเดียวกับที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. หรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความจะต้องนำสืบในชั้นพิจารณา โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ซื้อมาจากพระภิกษุ ป. และเข้าครอบครองทำประโยชน์ หาใช่เป็นการครอบครองที่ดินผิดแปลง แม้การให้ที่ดินพิพาทระหว่าง ส. กับพระภิกษุ ป. ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 แต่เมื่อ ส. สละการครอบครองและโอนการครอบครองโดยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่พระภิกษุ ป. การครอบครองของ ส. ย่อมสิ้นสุดลง พระภิกษุ ป. ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367, 1377 และ 1378 และแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างพระภิกษุ ป. กับโจทก์ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่เมื่อพระภิกษุ ป. ขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดยสละการครอบครองและส่งมอบที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์ได้เข้าครอบครองที่ดินพิพาท โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท ค. ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จึงไม่มีสิทธิจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งไม่ใช่มรดกของ ส. ให้แก่ ป. ป. ย่อมไม่ได้สิทธิครอบครอง ส่วนจำเลยที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท แต่ไม่ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ตามความจริง จึงไม่ใช่เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง และไม่มีสิทธิขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แม้การขายฝากระหว่างจำเลยทั้งสองจะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยสุจริต และเสียค่าตอบแทน ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 2 ได้สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่ศาลพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้อง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 113/2561

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินทำประโยชน์ทางมรดก การฟ้องขับไล่ผู้บุกรุก และค่าเสียหายจากการครอบครอง
ร. ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ตามที่กฎหมายกำหนด หาก ร. ทำผิดเงื่อนไข รัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐ เมื่อ ร. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ร. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ร. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ร. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนรับมรดกกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ร. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ร. ตาม ป.พ.พ. มาตรา1599 และมาตรา 1600 เมื่อมีผู้บุกรุกที่ดินพิพาท โจทก์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของ ร. ย่อมมีอำนาจฟ้องขับไล่ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1295/2560

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิครอบครองที่ดินพิพาท: โฉนดที่ดินมีน้ำหนักกว่าการครอบครอง
แม้โจทก์เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทอันจะทำให้โจทก์ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ส่วนฝ่ายจำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินพิพาท ก็ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ว่าเป็นผู้มีสิทธิครอบครองเช่นกัน แต่มาตรา 1367 เป็นเพียงบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครอง จึงต้องบังคับตามมาตรา 1373 ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่โจทก์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2864/2559

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดินจากการทำประโยชน์ – การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ – การเพิกถอนโฉนดที่ดิน – สิทธิของทายาท
ว. ได้รับคัดเลือกให้เข้าไปอยู่ในที่ดินพิพาทโดยเป็นการเข้าไปอยู่อาศัยในที่ดินของรัฐตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขดังที่กฎหมายบัญญัติ หากกระทำผิดเงื่อนไขรัฐจะเอาคืนเสียเมื่อใดก็ได้ ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นที่ดินของรัฐไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ว. แม้ที่ดินพิพาทยังเป็นของรัฐ แต่ ว. ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำประโยชน์ ว. จึงมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ตามมาตรา 1367 ที่สามารถใช้ยันกับราษฎรหรือประชาชนทั่วไปได้ และ ว. อาจได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหากปฏิบัติครบถ้วนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 สิทธิของ ว. ที่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทมีลักษณะทำนองเดียวกับสิทธิเหนือพื้นดินซึ่งสามารถโอนและรับมรดกกันได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1410 และมาตรา 1411 เมื่อ ว. ถึงแก่ความตาย สิทธิเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทย่อมเป็นกองมรดกของ ว. ตามมาตรา 1600 ตกแก่ทายาทโดยธรรมของ ว. ตามมาตรา 1599 ส่วนบ้านที่ปลูกอยู่บนที่ดินพิพาทนั้น ว. เป็นผู้ปลูกสร้างโดยได้รับอนุญาตให้เข้าอยู่และทำประโยชน์จากรัฐตามกฎหมายดังกล่าว บ้านจึงไม่เป็นส่วนควบของที่ดินพิพาท ตาม ป.พ.พ. มาตรา 146 บ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของ ว. เมื่อ ว. ถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท
ว. ยังไม่ได้ขอให้ออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 11 วรรคหนึ่ง เพื่อนำไปขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามมาตรา 11 วรรคสอง ว. ถึงแก่ความตายเสียก่อน จำเลยไม่ใช่ทายาทของ ว. แต่กลับกล่าวอ้างว่าเป็นทายาทแล้วขอเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท จากนั้นได้ขอออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์และดำเนินการออกโฉนดที่ดินเป็นชื่อของตน เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและเป็นการไม่ชอบ กระทบสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของ ว. ที่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 โจทก์มีอำนาจฟ้องให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้ แต่การที่โจทก์จะให้ใส่ชื่อโจทก์แทนจำเลยโดยไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินนั้นไม่อาจกระทำได้ เพราะโจทก์จะต้องไปดำเนินการตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ให้เป็นไปตามลำดับขั้นตอนโดยถูกต้องก่อน
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 สั่งค่าฤชาธรรมเนียมไม่ครบถ้วนโดยสั่งเฉพาะค่าทนายความ จึงเป็นการไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 167

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6157/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ การครอบครองปรปักษ์หลังพ้นกำหนดห้ามโอน และการขาดเจตนาครอบครองของผู้จัดการมรดก
ที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตาม ป. ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ นับแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2519 โจทก์ที่ 1 ซื้อที่ดินพิพาทจาก ค. และเข้าครอบครองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2525 ยังอยู่ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามกฎหมาย มีผลทำให้การโอนที่ดินพิพาทเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150
ป. ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2522 ก่อนครบกำหนดห้ามโอน แต่ผู้ร้องสอดที่ 1 เพิ่งยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ป. เพื่อกล่าวอ้างสิทธิที่ดินพิพาทในปี 2540 โดยก่อนหน้านั้นผู้ร้องสอดที่ 1 และทายาทของ ป. รวมทั้ง พ. ที่อ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทแทนไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวอ้างสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแต่ประการใด แสดงให้เห็นว่า ผู้ร้องสอดที่ 1 และทายาทของ ป. สละเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว เมื่อโจทก์ที่ 1 ยังครอบครองที่ดินพิพาทตลอดมาจนล่วงเลยระยะเวลาห้ามโอนต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลานานกว่า 10 ปี นับแต่ระยะเวลาห้ามโอนตามกฎหมายล่วงเลยไปแล้ว และโจทก์ที่ 1 เป็นผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทตลอดมา การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่ 1 จึงเป็นการยึดถือโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ย่อมได้ซึ่งสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน คือนับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2529 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิของ ป. และผู้ร้องสอดที่ 1 มีลักษณะเป็นการแย่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว และกรณีดังกล่าวโจทก์ที่ 1 มิได้ครอบครองแทน ป. หรือทายาทของ ป. จึงไม่จำต้องบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะการยึดถือไปยัง ป. หรือทายาท เมื่อผู้ร้องสอดที่ 1 ยื่นคำร้องสอดเข้ามาครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2540 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่ 9 ตุลาคม 2529 ที่โจทก์ที่ 1 แย่งการครอบครอง ผู้ร้องสอดที่ 1 จึงไม่มีอำนาจร้องสอดหรือฟ้องโจทก์ที่ 1 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1375 วรรคสอง

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5602/2558

ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ สิทธิในที่ดิน: การเพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย/จำนองเมื่อผู้ขาย/จำนองไม่มีสิทธิในที่ดิน และการไม่เกินคำขอ
โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจาก อ. และ อ. ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้ว ถึงแม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์และ อ. จะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ อันมีผลให้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับ อ. ตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 456 วรรคหนึ่ง แต่ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่า การโอนทรัพย์ให้แก่กันย่อมกระทำได้ โดยการส่งมอบการครอบครอง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1378 เมื่อ อ. ขายที่ดินพิพาทและส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โดย อ. ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในที่ดินพิพาทอีกต่อไป อันถือเป็นการแสดงเจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ และโจทก์ได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนต่อแต่นั้นมา โจทก์ย่อมได้ไปซึ่งสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทตามมาตรา 1367 โดยไม่จำต้องจดทะเบียนการได้มา ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นของโจทก์ อ. จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปโอนขายให้แก่จำเลยที่ 1 แม้การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 1 จะได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จำเลยที่ 1 ก็หาได้สิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เนื่องจากเป็นผู้รับโอนที่ดินพิพาทมาจาก อ. จึงไม่มีสิทธิดีกว่า อ. ผู้โอนเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของที่ดินพิพาทจึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้งขับไล่โจทก์ให้ออกไปจากที่ดินพิพาทและเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ได้
อ. ไม่มีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองกับ บ. เพราะไม่ใช่เจ้าของผู้ครอบครองที่ดินพิพาทต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 705 การจำนองที่ดินพิพาทจึงไม่มีผลตามกฎหมาย โดยไม่คำนึงว่า บ. รับจำนองไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อการจำนองไม่มีผลผูกพันโจทก์ โจทก์จึงย่อมมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับ บ. รวมไปถึงจำเลยที่ 2 ผู้รับโอนการจำนองจาก บ. ด้วยได้
การที่ อ. โอนขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่ บ. หลังจากนั้น บ. ได้โอนการจำนองที่ดินพิพาทไปยังจำเลยที่ 2 ย่อมถือเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ในที่ดินพิพาทอยู่ในตัว โดยจำเลยทั้งสองหาจำต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาททราบเรื่องดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทอันเป็นการกระทบสิทธิของโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
แม้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จะมิได้ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและการจำนองที่ดินพิพาท ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาท แต่เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ และการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 1 และการจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับ บ. ไม่มีผลตามกฎหมาย โจทก์ชอบที่จะขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทเสียได้ ดังนั้น การที่โจทก์ขอให้เพิกถอนชื่อจำเลยทั้งสองในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ในส่วนออกทับที่ดินพิพาท จึงพอถือได้ว่าเป็นการขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายและนิติกรรมจำนองในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั่นเอง เพื่อให้จำเลยทั้งสองสิ้นสิทธิในที่ดินพิพาทจะเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทอีกต่อไปไม่ได้ มิได้เป็นการพิพากษาเกินคำขอ
แม้จำเลยที่ 1 จะเคยให้การต่อสู้ในประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม แต่ในระหว่างการพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 ได้แถลงต่อศาลชั้นต้นขอสละประเด็นเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 4 เมษายน 2556 จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุมอีกต่อไป จำเลยที่ 1 จึงย่อมหมดสิทธิที่จะอุทธรณ์และฎีกาในเรื่องดังกล่าว การที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในเรื่องฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
of 112